แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90


    ครั้งที่ ๙๐


    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน

    ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน

    ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน

    ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยสุขเวทนานั้น

    ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยทุกขเวทนานั้น

    ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น

    เมื่อเธอเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด

    เมื่อเธอเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด

    ย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งหมดในโลกนี้แหละ อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นของเย็น เพราะสิ้นชีวิต เบื้องหน้าแต่กายแตก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน จะพึงลุกโพลงได้ ก็เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ เพราะหมดน้ำมันและไส้ ประทีปน้ำมันไม่มีเชื้อ พึงดับไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    ในพระสูตรทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นการเจริญสมาธิ แต่จะไม่สิ้นสุดลงด้วยพยัญชนะที่เป็นเรื่องของสมาธิเท่านั้น แต่จะต้องการรู้ความจริงเป็นอริยสัจจธรรม เช่นข้อความที่ว่า

    เมื่ออานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล

    ถ้าเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมรู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่ายินดี

    ซึ่งเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า ความรู้สึกมีทุกขณะจิต ไม่เคยขาดเลย บางครั้งเป็นอุเบกขา หรือใช้พยัญชนะว่า อทุกขมสุขเวทนา บางครั้งก็เป็นสุขเวทนา บางครั้งก็เป็นทุกขเวทนา แต่เป็นเครื่องระลึกว่า แม้เวทนานั้นก็ไม่เที่ยง ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกในขณะนั้นตามความเป็นจริงจึงจะละการยึดถือเวทนาต่างๆ นั้นได้

    แม้เป็นผู้เคยเจริญอานาปานสติ และบรรลุฌานขั้นต่างๆ ก็ตาม ก็ยังจะต้องระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่เกิดในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพความรู้สึกแต่ละชนิดที่ไม่เที่ยง และไม่พัวพัน ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน

    การเจริญสมาธิต้องเป็นผู้ที่สะสมมาในการเจริญสมาธิด้วย สังเกตดูจากชีวิตในขณะนี้ก็ได้ ทุกคนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และในวันหนึ่งๆ ก็มีการเห็น มีการได้ยิน มีการคิดนึก มีสักกี่ท่านที่เจริญสมาธิ

    เมื่อการเจริญสมาธิมีน้อย และสมาธินั้นก็มีทั้งอารมณ์ที่หยาบ หรืออารมณ์ที่ประณีต โดยเฉพาะเรื่องของลมหายใจ ถึงแม้ว่าเป็นสิ่งที่มี แต่ก็เป็นสิ่งที่ประณีต

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสมาธิ มีสักกี่ท่านที่เจริญอานาปานสติจริงๆ โดยการระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจที่กระทบที่ปรากฏทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด จนกระทั่งจิตสงบขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ยาก อย่างอสุภกัมมัฏฐานยังหยาบกว่า มีท่านผู้ฟังหลายท่านที่สงสัยว่า ควรที่จะรู้ลักษณะของลมหายใจเพื่อจะได้หายสงสัย และเพื่อที่จะได้ช่วยผู้อื่นด้วย

    ความจริงการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่อัตตาตัวตนที่จะไปจงใจต้องการรู้นามไหนรูปไหนเลย แล้วแต่ว่าสติจะระลึกทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ้าผู้ใดเคยสะสมอบรมมาที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปบ่อยขึ้น ชินขึ้น สติจะไประลึกที่ลมหายใจก็เป็นเรื่องของสติเอง แต่ไม่ใช่ว่าเวลานี้ไม่ปรากฏ แต่อยากรู้ว่า ลมหายใจนั้นเป็นอย่างไร การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ว่าทุกท่านจะรู้นามละเอียดหมดตามที่พระสัพพัญญุตญาณได้ทรงแสดงไว้ แต่ผู้ใดจะรู้มากจะรู้น้อยจะรู้ประเภทไหนชนิดไหนก็แล้วแต่สติปัญญาที่ได้อบรมสั่งสมมา

    เพราะฉะนั้น บางท่านศึกษาปริยัติมาก ก็อยากจะหายสงสัย เพื่อแก้ความสงสัยของตัวท่านเอง และของผู้อื่นด้วย ถ้ายังเป็นตัวตนที่ต้องการจะรู้ ไม่มีหนทางที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ตรงกันข้าม เจริญสติเรื่อยๆ รู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น สติจะระลึกรู้นามหรือรูปที่ละเอียดอย่างไรก็ได้ ตามควรแก่บุคคลนั้นๆ

    อย่างท่านที่เคยสะสมมาในการเจริญอานาปานสติมาในครั้งอดีตในครั้งพุทธกาล มีความชำนาญในฌาน ในสมาธิ และเวลาที่ได้ฟังการเจริญสติปัฏฐาน จิตของท่านก็น้อมไปสู่ลมหายใจเพราะเคยเจริญ แต่สติจะต้องระลึกรู้ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของลม และละความยึดถือว่าเป็นตัวตน นั่นสำหรับท่านที่เคยเจริญอานาปานสติมา

    แต่ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทในสมัยนี้ อย่าคิดที่จะเจริญสติปัฏฐานตามแบบของผู้หนึ่งผู้ใด อย่างเช่น ท่านได้ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์เพื่อเป็นบรรพชิต แล้วท่านก็คิดว่าท่านจะต้องประพฤติอย่างนั้น ในปฐมยาม หรือในมัชฌิมยาม ในปัจฉิมยาม จะต้องให้จิตสงบ ระลึกชาติ หรือรู้จุติปฏิสนธิ แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม นั่นเป็นการพยายามทำตามแบบ แต่ตัวท่านไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่จะไปทำตามแบบนั้นแบบนี้ เมื่อผู้ที่ได้เคยเจริญอานาปานสติมาก่อน ท่านจะเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็ต้องตั้งต้นด้วยอานาปานสติ นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปทำตามแบบ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานให้ถูกต้อง ซึ่งแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกันเลย มีการเห็น มีการได้ยินจริง แต่บางคนเป็นโลภะ บางคนเป็นโทสะ บางคนเป็นกุศลจิต บางคนเป็นอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น แล้วแต่นามรูปประเภทใดเกิดกับบุคคลใด ผู้นั้นก็มีสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดกับตน เป็นอัธยาศัยของตนจริงๆ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปทำตามแบบบุคคลอื่น ถ้าสติของใครจะเกิดระลึกรู้ที่ลมหายใจ จะทำอย่างไร การละกิเลสยากเหลือเกิน ยากจริงๆ และเวลาระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป อาจจะพอใจยินดีอยู่ในขณะนั้น หรืออาจจะไม่พอใจ เป็นโทมนัส ไม่ชอบในอารมณ์นั้นก็ได้ กลัว หวั่นไหว ก็เป็นลักษณะของตัวตนอีกแล้ว

    ถ้าผู้ใดไม่เจริญสติตามปกติจนกระทั่งชินกับนามและรูป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนามรูปประเภทใดก็เป็นแต่เพียงนามเป็นแต่เพียงรูปเท่านั้น และรู้ชัดขึ้น ละคลายเพิ่มขึ้น จึงจะเป็นหนทางให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ได้

    แต่ก่อนที่จะถึงขั้นนั้นก็ยาก มีแต่ความหวั่นไหว ไม่พิจารณานามรูปที่กำลังปรากฏ หรือว่าดีใจตื่นเต้น ก็เลยจดจ้องต้องการที่จะให้รู้ชัดขึ้น นี่เป็นสติที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ละเอียดขึ้น แล้วก็ละคลายมากขึ้น

    . การเจริญสติปัฏฐานทางโสตทวาร เมื่อเสียงกระทบทางโสตทวาร เราก็รู้เพียงสักแต่ว่าเสียง หากเรามีสติรู้เพียงสักแต่ว่าเสียงอย่างนี้ เราจะฟังอะไรไม่รู้เรื่อง ถ้าหากว่าเราจะรู้ ก็จะเป็นการรู้บัญญัติไป สำหรับข้อนี้จะผิดหรือถูก ขอให้อาจารย์ช่วยวินิจฉัยด้วย

    สุ. เสียงเป็นของจริง นามที่รู้เสียงก็เป็นของจริง นามที่รู้ความหมายของเสียงก็เป็นของจริง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน เสียงก็ไม่ใช่ตัวตน ปรากฏแล้วก็หมดไป ธรรมชาติที่ได้ยินก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป เมื่อธรรมชาติที่ได้ยินดับไปแล้วยังเป็นปัจจัยให้จิตต่อๆ ไปเกิดขึ้น รวมทั้งจิตที่รู้ความหมายของเสียงที่ได้ยินด้วย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติระลึกรู้ว่า ที่กำลังรู้เรื่องในขณะนี้ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งไม่ใช่รูปธรรม แต่ไม่ใช่มีผู้หนึ่งผู้ใดไปกั้นเป็นอัตตาว่าให้รู้เพียงแค่เสียง อย่าให้รู้เรื่อง เพราะเหตุว่าสภาพที่รู้เรื่องเป็นของจริง รูปรู้อะไรไม่ได้ รูปรู้ความหมายของสิ่งต่างๆ ไม่ได้ แต่นามธรรมนั้นเป็นธรรมชาติที่รู้ได้ ดังนั้น ขณะใดที่รู้ความหมายของเสียง รู้เรื่องที่กำลังได้ยิน ขณะนั้นสติก็รู้ว่า สภาพที่รู้นั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

    ถ้าการเจริญสติปัฏฐานยับยั้งให้มีเพียงแค่เสียงกับได้ยิน ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่เกื้อกูลแก่สาวก แต่ที่ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุ อริยสัจจธรรมเป็นพระอริยสาวกเมื่อได้ฟังธรรม ธรรมเกื้อกูลอุปการะให้ท่านเข้าใจ และมนสิการพิจารณารู้ชัดในลักษณะธรรมทั้งปวงที่เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนตามความเป็นจริง ทางตา มีนามมีรูป ทางหู มีนามมีรูป ทางจมูก มีนามมีรูป ทางลิ้น มีนามมีรูป ทางกาย มีนามมีรูป ทางใจ มีนามมีรูป

    สภาพของจิตที่รู้เรื่อง เป็นจิตชนิดหนึ่งซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ทางใจว่า ลักษณะนั้นเป็นนามชนิดหนึ่ง ถ้าเริ่มระลึกรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูปที่เกิดดับสืบต่อกัน ก็จะประจักษ์ว่า แต่ละนามแต่ละรูปนั้นไม่ใช่ประเภทเดียวกัน เกิดดับสืบต่อกันจริง แต่ว่าเป็นนามแต่ละชนิด เป็นรูปแต่ละชนิด

    บรรพต่อไปใน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่า เราเดิน เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า เรายืน เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่า เรานั่ง เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า เรานอนหรือเธอตั้งกายไว้ ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้างพิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    จบอิริยาบถบรรพ

    ถ. ข้อความว่า เมื่อเดินอยู่ ก็รู้ว่าเราเดิน เมื่อนั่งอยู่ ก็รู้ว่าเรานั่ง อย่างนี้ เป็นต้น คำว่า รู้ว่าเรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดินอย่างนี้ เรานี้คืออะไร

    สุ. บางทีพยัญชนะ หรือว่ารูปประโยคในภาษาต่างๆ ก็อาจจะทำให้สงสัย หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เพราะเหตุว่าบางประโยคนั้นไม่มีประธานก็ไม่ได้ หรือว่า ถ้าไม่มีประธาน ก็ไม่ชัด

    เวลาที่เดิน ถ้าไม่มีพยัญชนะว่า รู้ว่าเราเดิน ก็อาจจะคิดว่าคนอื่นเดิน ถ้าศึกษาสอบทานพิจารณาไตร่ตรองธรรมย่อมจะเข้าใจอรรถในที่นั้นไม่คลาดเคลื่อน เพราะเหตุว่าสติปัฏฐาน เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม ไม่มีคำว่า อัตตาเลย ไม่มีตัวตน

    การเห็นกายในกาย คือ ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ก็เห็นพิจารณารู้ตามความเป็นจริงว่า เห็นกายว่าเป็นกายไม่ใช่ตัวตนนั้น เพราะมีลักษณะอย่างไร กายนั้นมีลักษณะอย่างไรจึงไม่ใช่ตัวตน

    ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานกล่าวว่า เห็นกายในกาย ไม่ใช่เห็นตัวตนในกาย หรือไม่ใช่เห็นว่ากายเป็นตัวตน แต่ว่าเห็นกายในกาย คือ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็มีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่กายตามความเป็นจริง คือ การเห็นกายในกาย

    ถ. ท่านอาจารย์ได้กรุณาอธิบายคำว่า กายในกายแล้ว เพราะฉะนั้น คำว่า เราตัดทิ้งไป แต่อยากจะทราบต่อไปว่า พยัญชนะที่ใช้คำว่า รู้ชัดว่า เดิน นั่ง นอน ยืน รู้ชัดอย่างนี้ หมายความถึงรู้ชัดอะไรแน่ รู้ชัดอิริยาบถที่เดิน หรือรู้ชัดนอกจากนี้

    สุ. ถ้าจะว่ารู้ชัดในอิริยาบถ ชัด คืออย่างไรที่ว่าชัด อิริยาบถมี คือ เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง ที่รู้ชัดนั้น คือว่า รู้ชัดในรูปที่ปรากฏในอิริยาบถนั้นๆ

    กำลังยืน มีรูปประชุมรวมกัน ที่ทรงอยู่ในลักษณะอาการยืน ก็รู้ชัดในรูปที่ปรากฏในอิริยาบถยืนนั้น

    กำลังนั่ง มีรูปมากมายหลายรูปที่ประชุมรวมกันอยู่ เป็นอิริยาบถนั่ง การรู้ชัด ชัด คือ ลักษณะของรูปที่ปรากฏในอิริยาบถนั่ง

    นี่เป็นการเตือนให้ระลึก มหาสติปัฏฐานไม่ให้หลงลืมสติ แม้ขณะที่กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน หรือกำลังเดิน และคำว่ารู้ชัด คือ มีลักษณะของรูปปรากฏให้รู้ชัดว่าเป็นกายไม่ใช่ตัวตน เคยยึดถือกายที่กำลังนั่งว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เพราะเหตุว่า ไม่เคยรู้ลักษณะของรูปใดรูปหนึ่งที่ปรากฏในขณะนั้นเลย จึงได้ยึดถือรูปที่ประชุมรวมกันที่ทรงอยู่ในลักษณะยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง เดินบ้าง ว่าเป็นเรา ถ้ารูปแตกย่อยกระจัดกระจายเป็นแต่ละรูปแต่ละส่วน จะไม่ยึดถือเลยว่าเป็นเรา แต่เพราะเหตุว่า มาประชุมรวมกันต่างหาก จึงได้ยึดถือว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น การรู้ชัด หมายความว่า ต้องมีลักษณะของรูปปรากฏจึงจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะว่ามีลักษณะอย่างนั้นๆ เมื่อรูปนั้นปรากฏที่กายที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน สติระลึกรู้ลักษณะนั้น ปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนนั้น

    สำหรับพยัญชนะที่ว่า สติกับสัมปชัญญะ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สติสูตร มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพปาลิวัน ใกล้เมืองเวสาลี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุสาสนีของเรา สำหรับเธอทั้งหลาย

    บางท่านอาจจะคิดว่า ท่านกำลังเจริญสติปัฏฐาน มีสติสัมปชัญญะ แต่ถ้าท่านจะตรวจสอบกับพระสูตรนี้ ท่านจะทราบว่า ท่านมีสติสัมปชัญญะตามที่ได้ทรงแสดงไว้หรือไม่

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    พิจารณาเวทนาในเวทนา ... พิจารณาจิตในจิต ... พิจารณาธรรมในธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีสติ อย่างนี้แล

    ผู้ใดชื่อว่าเจริญสติ มีสติ ผู้นั้นพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างไร

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมกระทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ กระทำความรู้ตัวในการเหลียว ในการแล และกระทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า และเหยียดออก กระทำการรู้สึกตัวในการกิน การดื่ม การลิ้ม กระทำการรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ กระทำการรู้สึกตัวในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างนี้แล ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุสาสนีของเรา สำหรับเธอทั้งหลาย

    ไม่ผิดปกติเลย ไม่ว่าจะกำลังก้าวไป ถอยกลับ เหลียว แล คู้เข้า เหยียดออก กิน ดื่ม ลิ้ม ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book แนวทางเจริญวิปัสสนา
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 34
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ