แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81


    ครั้งที่ ๘๑


    จะเห็นได้ว่า ที่เรายึดถือว่าเป็นตัวตนนั้น เพราะยังไม่รู้ชัดในลักษณะของรูปแต่ละรูปนั่นเอง ที่ตามีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่ตาไม่ใช่ที่จักขุปสาท ทั่วทั้งตัวต้องมีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ว่าจักขุปสาทเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องอาศัยดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นปัจจัยโดยสหชาตปัจจัย เกิดพร้อมกันไม่ใช่แยกกันเกิด ไม่ใช่ว่าดิน น้ำ ไฟ ลมเกิดส่วนหนึ่ง จักขุปสาทเกิดอีกส่วนหนึ่ง

    เป็นเรื่องของแต่ละท่านซึ่งไม่เคยรู้ว่า ลักษณะของนามธรรมก็ตาม รูปธรรมก็ตามแต่ละชนิดๆ นั้น ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น เกิดขึ้นนิดเดียว แล้วก็ดับหมดไป

    อย่างการเห็น อาศัยเพียงจักขุปสาทที่ยังไม่ดับกระทบกับสีที่กำลังปรากฏที่ยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นขึ้นนิดเดียวเท่านั้นเอง เป็นขันธ์ เกิดแล้วตั้งอยู่แล้วก็ดับไป มีอายุที่สั้นมากชั่วขณะนิดเดียวเท่านั้นเอง เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถน้อมระลึกลักษณะที่แท้จริงของแต่ละรูปแต่ละนามได้

    สำหรับอินทรีย์ต่อไป คือ โสตินทรีย์ ได้แก่ โสตปสาทรูป เป็นรูปที่มีลักษณะเป็นใหญ่ในการรับกระทบเสียง รูปอื่นไม่สามารถรับกระทบเสียงได้ ทำให้เกิดโสตวิญญาณ คือ ธรรมชาติที่รู้เสียง

    อินทรีย์ที่ ๓ คือ ฆานินทรีย์ ได้แก่ ฆานปสาทที่สามารถรับกระทบกลิ่น เป็นใหญ่ในการรับกระทบกลิ่น

    จากนั้นเป็น ชิวหินทรีย์ ได้แก่ ชิวหาปสาทซึ่งเป็นรูปที่เป็นใหญ่ในการรับกระทบกับรส

    กายินทรีย์ เป็นรูปที่เป็นใหญ่ในการรับกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง

    รูปต่างๆ เหล่านี้ มีความผ่องใสสามารถเป็นใหญ่ในการรับกระทบสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ได้นั้น มีกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น

    นอกจากนั้นที่เป็นอินทรีย์ คือ มนินทรีย์ ได้แก่ จิต หรือใช้คำว่าวิญญาณก็ได้ ซึ่งที่เป็นอินทรีย์นั้นเพราะเป็นธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ ท่านที่ศึกษา ปรมัตถธรรมคงจะทราบว่า ธรรมชาติที่รู้อารมณ์นั้นมี ๒ ปรมัตถ์ คือ จิตปรมัตถ์ กับ เจตสิกปรมัตถ์

    เจตสิกปรมัตถ์ เช่น สัญญา เป็นธรรมชาติที่จำอารมณ์ที่จิตรู้ในขณะนั้น ทุกๆ ขณะที่จิตเกิดขึ้นต้องมีธรรมชาติที่จำ หมายรู้ในอารมณ์ที่ปรากฏ นั่นเป็นเจตสิก แต่ว่าเจตสิกทั้งหมดไม่ใช่ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรู้ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์นั้นได้แก่ จิต จิตทั้งหมดจึงเป็นมนินทรีย์

    มน + อินทรีย์ เป็นมนินทรีย์ หมายความถึงธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในลักษณะรู้

    อย่างเวลาที่เห็นแล้วชอบ ลักษณะที่ชอบรู้อารมณ์ไหม ถ้าไม่รู้อารมณ์จะชอบได้อย่างไร ชอบก็ต้องชอบในสิ่งที่จิตกำลังรู้ ถ้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ความชอบเกิดขึ้น ก็ชอบในสิ่งที่เห็นทางตา ถ้าเป็นเสียง จิตกำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ มีความชอบเกิดขึ้นในเสียงนั้น

    เพราะฉะนั้น ความชอบก็เป็นธรรมชาติที่รู้ ที่ชอบในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ แต่ลักษณะของความชอบนั้น ไม่ใช่เป็นลักษณะที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ โดยลักษณะที่เป็นใหญ่แล้ว จิตทั้งหมดเป็นมนินทรีย์

    อินทรีย์ต่อไป อินทรีย์ที่ ๗ คือ อิตถินทรีย์

    อินทรีย์ที่ ๘ คือ ปุริสินทรีย์

    สำหรับอิตถินทรีย์ เป็นลักษณะของเพศหญิง จะเป็นมารยาท หรือว่ากิริยาอาการต่างๆ ที่เป็นหญิง

    ปุริสินทรีย์ เป็นธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง มีมารยาท มีกิริยาอาการของลักษณะที่เป็นชายที่เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งเป็นใหญ่ด้วย เมื่อรูปชนิดนี้มี เกิดขึ้น ก็ทำให้ปรากฏเป็นผิวพรรณ เป็นลักษณะกิริยาอาการต่างๆ ตามเพศซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วกาย ทำให้สิ่งที่ปรากฏนั้นปรากฏเป็นลักษณะอาการของผู้หญิงเป็นเพศหญิง หรือว่าเป็นลักษณะอาการของเพศชาย

    นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนมองเห็น และมีสัญญาการจำได้หมายรู้ แต่ให้ทราบว่าที่เป็นลักษณะของหญิง ลักษณะของชายที่ต่างกันนั้น เพราะมีรูปที่เป็นใหญ่ซึมซาบอยู่ทั่วตัว จัดว่าเป็นอินทรีย์ชนิดหนึ่ง

    อินทรีย์ที่ ๙ คือ ชีวิตินทรีย์ ชีวิตตินทรีย์นี้มี ๒ อย่าง คือ นามชีวิตินทรีย์ กับ รูปชีวิตินทรีย์ รูปชีวิตตินทรีย์ กรรมทำให้รูปนี้เกิดขึ้นเพื่อตามรักษาสหชาตธรรม คือ รูปที่เกิดร่วมกันให้ดำรงตั้งอยู่

    นี่คือชีวิตของเราวันหนึ่งๆ ซึ่งถ้ากระจัดกระจายออกเป็นลักษณะต่างๆ ก็จะเห็นลักษณะของรูปแต่ละชนิด การงานของรูปแต่ละชนิดด้วย อย่างจักขุปสาทที่เกิดดำรงอยู่ก็เพราะมีชีวิตตินทรีย์เกิดร่วม ด้วยรักษาให้รูปนั้นดำรงอยู่ไม่ให้เสื่อมเสียไปด้วยอำนาจของกรรม

    หรือว่าโสตปสาทที่ยังดีอยู่ ที่เป็นที่ประชุมต่อกับเสียง ทำให้เกิดการได้ยิน ก็เป็นเพราะมีรูปชีวิตินทรีย์ซึ่งกรรมทำให้เกิดขึ้นร่วมด้วย ทำให้รักษาโสตปสาทไม่ให้เสื่อมหรือว่าไม่ให้เสียไป ทำให้มีการได้ยิน นี่ก็เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ที่ตัว

    ส่วนนามชีวิตินทรีย์นั้น คือ เจตสิกที่เกิดพร้อมกับนามธรรม คือ จิตและเจตสิกที่มีจิตเกิดดับสืบต่อกันไปในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ก็เป็นเพราะมีนามชีวิตตินทรีย์เกิดกับจิตทุกดวง เมื่อไหร่ดับนามชีวิตตินทรีย์แล้วไม่มีการเกิดอีกเลย ก็จะไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยินอีกต่อไป

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะพอปรากฏได้ง่าย คือ ทุกคนมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ก็แสดงไว้ก่อนโดยนัยของการเทศนาเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายว่า สิ่งที่มีนั้นแต่ละลักษณะก็เป็นใหญ่ในลักษณะของตนๆ และในลักษณะที่เป็นใหญ่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งทุกคนมีเหมือนกัน แล้วยังต่างไปตามเพศ คือ เพราะอิตถินทรีย์ และปุริสินทรีย์

    และแสดงให้เห็นอีกว่า ที่จักขุยังมี โสตะยังมี ฆานะยังมี ชิวหายังมี กายยังมี มนินทรีย์ยังมี หรือว่าอิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ ที่เป็นไปได้นั้นก็เป็นเพราะมีชีวิตินทรีย์รักษาไว้นั่นเอง เมื่อยังมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นไปอยู่ ธรรมชาติเหล่านี้ก็ต้องเป็นไป

    อินทรีย์ต่อไป คือ สุขินทรีย์ ได้แก่ความรู้สึกที่เป็นสุข มีตาแล้ว มีหูแล้ว มีจมูกแล้ว มีลิ้นแล้ว มีกายแล้ว มีใจแล้ว มีอิตถินทรีย์แล้ว มีปุริสินทรีย์แล้ว มีชีวิตดำรงอยู่แล้ว ไม่ใช่เท่านั้น แต่ยังมีความรู้สึกที่เป็นสุข สุขินทรีย์เป็นธรรมชาติที่เป็นใหญ่ สามารถทำให้สหชาตธรรม คือ ธรรมที่เกิดร่วมนั้นเป็นไปตามตน

    เวลาที่มีความรู้สึกเป็นสุข จิตในขณะนั้นก็พลอยเป็นสุขไปด้วย เวลาที่เห็น อารมณ์อะไรแล้วรู้สึกชอบ ก็เป็นสุข ธรรมชาติอื่น คือ จิตและเจตสิกอื่นๆ ในขณะนั้น ก็เป็นความสุข เป็นความสบาย ถ้าเป็นทางกาย กระทบสัมผัสกับสิ่งใดที่ทำให้รู้สึกว่าสบาย เมื่อความรู้สึกสบายเกิดขึ้น ใจก็สบายไปด้วย ความรู้สึกสบายนั้นจึงเป็นใหญ่ในการทำให้ธรรมชาติที่เกิดร่วมด้วยนั้นเป็นไปตามลักษณะของตน

    ต่อไปเป็นทุกขินทรีย์ โดยนัยเดียวกัน คือ ถ้าขณะใดที่กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่สบาย เกิดความรู้สึกไม่สบายขึ้น ใจก็ไม่สบายด้วยในขณะนั้น นี่เป็นเรื่องที่มีอยู่ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะในตำรา มีจริงๆ ที่ตัวของทุกท่าน และแต่ละลักษณะนั้นก็เป็นใหญ่ตามสภาพของตน

    อินทรีย์ที่ ๑๒ คือ โสมนัสสินทรีย์ ซึ่งเป็นใหญ่ในลักษณะของสภาพของความเป็นสุข

    อินทรีย์ที่ ๑๓ โทมนัสสินทรีย์ ก็เช่นเดียวกัน

    อินทรีย์ที่ ๑๔ อุเบกขินทรีย์ ความรู้สึกเฉยๆ ก็เป็นใหญ่ ถ้าเวลาที่ความรู้สึกเฉยๆ เกิดขึ้นแล้ว ใจก็เฉยด้วย นี่ก็เป็นเพราะอำนาจของอุเบกขา ซึ่งเป็นอุเบกขินทรีย์

    ที่กล่าวถึงอินทรีย์ต่างๆ เหล่านี้ เป็นเพราะในพระไตรปิฎก หรือในการเจริญสติปัฏฐานนั้นพูดถึงเรื่องของอินทรีย์ ๕ อย่าง แต่ไม่ใช่มีอินทรีย์เฉพาะ ๕ อย่าง มีทั้งหมดถึง ๒๒ ประการ และทั้งหมดที่กล่าวถึงแล้วเป็น ๑๔ ประการ

    ประการที่ ๑๕ ได้แก่ สัทธินทรีย์ ซึ่งได้แก่ศรัทธานั่นเอง เป็นธรรมชาติที่ผ่องใส น้อมใจไปในกุศลธรรม เป็นธรรมชาติที่ควรเจริญ อย่างตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดมีขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย รวมทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนา ซึ่งมีเป็นปกติประจำวันอยู่แล้ว

    แต่ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากธรรมชาติที่เกิดปรากฏแล้วก็หมดไปซึ่งเป็นลักษณะของทุกขลักษณะ ถ้าไม่อาศัยอินทรีย์ต่อไป ๕ ประการ ก็ไม่สามารถพ้นได้เลย

    อินทรีย์ต่อไปนั้น ได้แก่ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ นั่นเอง

    ทุกครั้งที่จิตใจผ่องใสปราศจากอกุศลธรรม ในขณะนั้นเป็นลักษณะของศรัทธา ซึ่งเป็นใหญ่ในการที่ทำให้สหชาตธรรมมีความผ่องใสในขณะนั้น สังเกตดูเวลาที่จิตใจเป็นกุศล ผ่องใสไหม ไม่เดือดร้อนเลย เบาสบาย ผ่องใส และไม่ใช่เฉพาะแต่ศรัทธาเท่านั้น แม้แต่เวทนาความรู้สึกซึ่งจะเป็นโสมนัสหรืออุเบกขาก็ตาม ก็ไม่เดือดร้อน ไม่เหมือนกับเวลาที่อุเบกขาเวทนาเกิดกับอกุศลธรรม แต่เวลาที่อุเบกขาเวทนาเกิดร่วมกับศรัทธา สภาพที่ผ่องใส ก็ทำให้จิตใจและสหชาตธรรมนั้นผ่องใสด้วย เพราะฉะนั้น อินทรีย์ ๕ นี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรเจริญ

    ในการเจริญสติปัฏฐานจะขาดอินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่ได้เลย คือ จะต้องมีศรัทธา สภาพที่เชื่อ หรือว่าน้อมใจในการที่จะรู้ลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ เพราะเวลานี้มีอารมณ์ปรากฏอยู่ แต่ถ้าไม่เกิดศรัทธาที่จะพิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ปัญญาก็ไม่สามารถจะรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้

    การเห็นกำลังมี ถ้าไม่มีศรัทธาที่จะพิจารณาเพื่อจะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมที่เห็น ปัญญาก็ไม่รู้ชัด

    การได้ยินก็มี เสียงก็ปรากฏ แต่ถ้าไม่เกิดศรัทธาที่จะพิจารณาให้รู้ชัด การรู้ชัดก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น อินทรีย์ ๕ จึงขาดศรัทธาไม่ได้ เมื่อขาดศรัทธาไม่ได้ ศรัทธาก็เป็นธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการที่ทำให้ผ่องใส ครอบงำความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา เพราะฉะนั้น เทียบลักษณะของจิตใจในวันหนึ่งๆ ได้ว่า บางคราวก็เป็นผู้ที่ขาดศรัทธา แต่เวลาที่มีศรัทธา ในขณะนั้นก็เปลี่ยนจากบุคคลที่ไม่มีศรัทธาแล้ว เพราะเหตุว่า สัทธินทรีย์นี้เองที่เป็นธรรมชาติที่ครอบงำความเป็นผู้ไม่มีศรัทธากลายเป็นผู้มีศรัทธา

    สำหรับวิริยินทรีย์ คือ ความเพียร หรือวิริยะนั้นก็เช่นเดียวกัน เป็นใหญ่ เพราะเหตุว่าครอบงำความเกียจคร้านในการเจริญสติปัฏฐาน ต้องมีความเพียรมาก ต้องมีความอดทนมาก เพราะเหตุว่าการเห็นมีจริง แต่กว่าจะรู้ชัด สีมีจริง กำลังปรากฏ แต่กว่าจะรู้ชัดต้องอาศัยการระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ซึ่งเป็นความเพียรอย่างยิ่ง และก็เป็นความอดทนอย่างมากทีเดียว เพราะฉะนั้น ลักษณะของความเพียรนั้นก็เป็นอินทรีย์ เป็นลักษณะที่เป็นใหญ่ที่ครอบงำความเกียจคร้าน

    สตินทรีย์ ก็เช่นเดียวกัน สภาพความเป็นใหญ่ของสติ ทำให้เกิดการระลึกได้ขึ้น เพราะฉะนั้น ลักษณะที่ระลึกได้นั้นจึงเป็นลักษณะที่เป็นใหญ่ เป็นสตินทรีย์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    สมาธินทรีย์ เป็นลักษณะของธรรมชาติที่ตั้งมั่นในอารมณ์โดยชอบ ธรรมดาสมาธินั้น ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก แต่เอกัคคตาเจตสิกนั้นเกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เกิดกับกุศลจิตก็ได้ แต่ถ้ากล่าวถึงอินทรีย์ ๕ แล้ว ต้องเป็นไปในกุศล

    ปัญญินทรีย์ เป็นธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรู้ถูก ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ครอบงำอวิชชา ความไม่รู้

    เวลานี้ถ้าไม่รู้สึกตัว จะไม่ทราบเลยว่าอวิชชาครอบงำหรือไม่ ขณะที่กำลังเห็น ไม่ระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ขณะนั้นอวิชชาครอบงำ และก็นานมาแล้วด้วยในวัฏฏะ ไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ และถ้าสติไม่ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ อวิชชาก็ยังคงครอบงำไปอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่ปัญญาเกิดขึ้น ปัญญานั้นเป็นใหญ่ในการรู้ถูก ในการเข้าใจสภาพธรรมถูกต้องว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขณะนั้นปัญญาก็ครอบงำอวิชชา หมายความว่าสามารถที่จะละหรือขจัดอวิชชาได้

    ลักษณะที่เป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ของปัญญานั้น เปรียบเหมือนกับแสงสว่าง เวลาที่ปัญญาเกิดขึ้นย่อมทำให้รู้ทั่วในธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นอกุศล และทั้งที่เป็นกุศล ทั้งที่ควรเสพ ควรเจริญ และที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรเจริญ ทั้งที่เลว หรือประณีต ทั้งที่เข้ากันได้ และเข้ากันไม่ได้

    อุปมาเหมือนกับผู้ที่เป็นหมอยา รู้จักยาชนิดต่างๆ อย่างดีว่าอย่างไหนเป็นที่เหมาะที่สบายสำหรับคนไข้ หรืออย่างไหนไม่เหมาะไม่สบายสำหรับคนไข้ นี่ก็เป็นเรื่องของปัญญาซึ่งเป็นอินทรีย์ชนิดหนึ่ง

    ในขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป จะขาดศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาไม่ได้

    อินทรีย์ต่อไป เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาขึ้น เพื่อที่จะแสดงให้เห็นความไม่เป็นโมฆะของข้อปฏิบัติ เวลาที่สติเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปครั้งหนึ่ง มีผลไหม ถ้าไม่มีก็ไม่ควรเจริญ แต่เพราะเหตุว่าข้อปฏิบัตินี้ไม่ไร้ผล ข้อปฏิบัตินี้ไม่เป็นโมฆะ ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามใด ละความไม่รู้ลักษณะของนามนั้นในขณะนั้น ละความสงสัยในลักษณะของนามนั้นในขณะนั้นทีละเล็กทีละน้อย และปัญญาก็เพิ่มพูนสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ

    ด้วยเหตุนี้การบรรลุอริยสัจจธรรมจึงมีได้ ปัญญาที่บรรลุอริยสัจจธรรมนั้นเป็นอินทรีย์อีกขั้นหนึ่ง คือเป็นอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรู้ทั่วถึงสิ่งที่ยังไม่รู้ทั่วถึง

    สิ่งที่ไม่รู้นี้มีมาก ถ้าสติไม่ระลึกรู้นามรูปทางตา ก็ยังเป็นอวิชชาอยู่ ยังหมดไม่ได้เลย ถ้าสติไม่ระลึกรู้นามรูปทางหู ก็ยังเป็นอวิชชาอยู่ ยังหมดไม่ได้ จะชื่อว่ารู้ทั่วถึงธรรมแล้วไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติต้องเจริญปัญญา ละความไม่รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จนกระทั่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลรู้แจ้งอริยสัจเมื่อใด เมื่อนั้นจึงจะชื่อว่า อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ คือ ปัญญาที่เป็นธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรู้ทั่วถึงสิ่งที่ยังไม่รู้ทั่วถึง ลักษณะของนิพพานเป็นอย่างไรไม่สงสัยเลยสำหรับผู้ที่อบรมปัญญาจนกระทั่งปัญญานั้นถึงขั้นอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์

    อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์นั้น เป็นแต่เพียงปัญญาที่เป็นใหญ่ที่เกิดร่วมกับ โสตาปัตติมัคคจิต เพราะฉะนั้น ยังมีกิเลสเหลืออยู่ที่จะต้องละคลายให้ค่อยๆ หมดไป

    ปัญญาที่มีในขั้นต่อๆ ไปนั้น ก็เป็นธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรู้ทั่วถึงธรรมที่รู้แล้วนั่นแหละอีกครั้งหนึ่ง ชื่อว่า อัญญินทรีย์

    ที่ทรงบัญญัติขั้นต่างๆ ของปัญญา ก็บัญญัติตามสภาพลักษณะธรรมที่เป็นจริง คือ เวลาที่ปัญญารู้แจ้งอริยสัจเป็นครั้งแรกนั้นก็เป็นปัญญาที่รู้ทั่วถึงธรรมที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน อุปมาเหมือนกับคนที่ไม่เคยไปที่หนึ่งที่ใด เมื่อไปถึงที่นั่นก็ทราบได้ว่า นี่เป็นที่ๆ ยังไม่เคยไปถึงเลย ปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจก็เหมือนกันเป็นปัญญาขั้นต้นของโสตาปัตติมรรคจิตที่รู้ทั่วถึงธรรมที่ยังไม่เคยรู้ แต่โสตาปัตติผลจิตเป็นปัญญาที่เป็นใหญ่ในการรู้ทั่วถึงธรรมที่รู้แล้วนั้นแหละอีกครั้งหนึ่ง เพราะเหตุว่าโสตาปัตติมรรครู้แล้วเรื่อยไปจนกระทั่งถึงสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล ถึง อรหัตตมรรค ก็ยังเป็นปัญญาที่เป็นใหญ่ขั้นอัญญินทรีย์

    แต่ว่าปัญญาที่เป็นอินทรีย์ขั้นสุดท้าย คือ อัญญาตาวินทรีย์นั้นเป็นธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในภาวะของการเป็นผู้รู้ทั่วถึงแล้ว คือ เป็นพระอรหันต์ หมดกิจที่จะกระทำในพระศาสนา หรือในพรหมจรรย์ เป็นผู้ที่รู้ทั่วถึงจริงๆ เพราะดับกิเลสได้หมดสิ้น นี่ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เจริญได้ อบรมได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book แนวทางเจริญวิปัสสนา
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 34
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ