แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84


    ครั้งที่ ๘๔


    ข้อความต่อไปที่ว่า มีความเพียร ลักษณะของสัมมาวายามะ คือ เพียรระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ เวลาที่ระลึกรู้ลักษณะของกายในกายนั้น ก็ต้องมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ คือ ตามระลึกสิ่งที่เกิดและกำลังปรากฏ ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่ปรากฏ ขณะนี้ทุกคนเจริญได้ มีเห็น มีสี มีได้ยิน มีเสียง มีความเพียรได้ มีสัมปชัญญะได้ มีสติได้เนืองๆ บ่อยๆ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    ถ้าเป็นในหมวดของกาย ที่ท่านกล่าวไว้

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    ข้อความอธิบายใน สติปัฏฐานวิภังค์ มีว่า

    ที่ว่ากำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ก็คือ กายนั่นเองชื่อว่าโลก แม้ อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่าโลก นี้เรียกว่าโลก

    ถึงแม้ในขณะที่ระลึกที่กาย ขันธ์ ๕ ปรากฏก็ได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นขันธ์หนึ่งขันธ์ใด เพราะฉะนั้น ก็กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก

    ถ้าพิจารณากาย เห็นกายในกาย กายนั่นเองชื่อว่าโลก กายก็เป็นโลกด้วย ความหมายของอภิชฌา คือ ความกำหนัด

    ความกำหนัดนักแห่งจิตอันใด นี้เรียกว่า อภิชฌา

    โทมนัส ความหมายคือ ความไม่สบาย ความทุกข์ ความไม่แช่มชื่นทางใจ นี้เรียกว่า โทมนัส

    เวลานี้ถ้าเพลินไป สติไม่ระลึกในกายก็เป็นอภิชฌา ถ้าไม่แช่มชื่น ไม่พอใจ ไม่พิจารณาสภาพลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นโทมนัส

    ที่จะกำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่เลือก ไม่ติดข้อง

    ที่ว่าเห็นเวทนาในเวทนา ก็โดยนัยเดียวกัน คือ ความรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง แล้วก็กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เวทนานั้นเองชื่อว่าโลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่าโลก นี้เรียกว่าโลก

    เห็นจิตในจิต ก็โดยนัยเดียวกัน คือ ในบางคราวก็พิจารณารู้จิตของตนเอง และบางคราวก็พิจารณารู้จิตของบุคคลอื่นว่า ขณะนั้นกำลังมีราคะ หรือว่าปราศจากราคะ มีโทสะหรือปราศจากโทสะ เป็นต้น กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ จิตนั่นเองชื่อว่าโลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่าโลก นี้เรียกว่าโลก

    ไม่ใช่กำจัดที่อื่นเลย กำจัดอภิชฌาโทมนัสในโลก คือ ในขันธ์ ๕ ที่ปรากฏ

    ที่ว่าเห็นธรรมในธรรม ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกนั้น ก็แสดงเรื่องของนิวรณ์ เรื่องของโพชฌงค์ ที่ว่ากำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ คือ ธรรมเหล่านั้นเองชื่อว่าโลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่าโลก นี้เรียกว่าโลก

    นี่เป็นเรื่องของอุทเทสวาระ

    อย่าคิดจำกัดสติ ไม่ว่าจะเป็นกายก็ระลึกได้ เวทนาก็ระลึกได้ จิตก็ระลึกได้ ธรรมทั้งหลายก็ระลึกได้ ไม่ว่าจะเป็นภายในที่ตนเอง หรือที่บุคคลอื่นที่เป็นภายนอก สติก็ระลึกได้ ถ้าจำกัด ก็เป็นตัวตน และไม่เป็นการเจริญปัญญาด้วย จำกัดไม่ให้ปัญญาเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน

    เพื่อประกอบความมั่นใจของท่านผู้ฟังให้เข้าใจชัดเจนว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่เว้นสิ่งใด ขอกล่าวถึง พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุปกรณ์ สติปัฏฐานกถา ซึ่งเป็นคำถามตอบของท่านสกวาทีกับปรวาที

    ท่านสกวาทีถามว่า

    ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานหรือ

    เวลาที่ศึกษาพระไตรปิฎก ก่อนที่จะดูคำตอบ ท่านก็อาจจะตอบเองได้ และก็ดูว่าตรงกันไหม ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานหรือ

    ปรวาทีตอบว่า

    ถูกแล้ว

    สกวาทีถามว่า

    ธรรมทั้งปวงเป็นสติ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติพละ เป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ จาคานุสติ อานาปานสติ มรณานุสติ กายคตาสติหรือ

    ท่านสกวาทีไม่ยอมที่จะให้ผ่านไปง่ายๆ มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ชัดเจน ถ้ากล่าวว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน ถ้าอย่างนั้นธรรมทั้งปวงก็เป็นสติ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติพละ เป็นพุทธานุสติ เป็นจาคานุสติ เป็นอานาปานสติ เป็นมรณานุสติ เป็นกายคตาสติหรือ

    ปรวาทีตอบว่า

    ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

    คำว่าสติปัฏฐาน หมายถึงสติเจตสิก ซึ่งเป็นองค์ของมรรคมีองค์ ๘ อย่างหนึ่งและหมายถึงอารมณ์ของสติปัฏฐานอีกอย่างหนึ่ง

    กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสติปัฏฐานเพราะเป็นอารมณ์ของสติ สติที่ระลึกเป็นไปในกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสติปัฏฐาน

    สติขั้นทาน ระลึกเป็นไปในทาน ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    สติขั้นวิรัติทุจริต ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    สติที่ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ ละความโกรธความโลภต่างๆ ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่สติปัฏฐานเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม

    สติ เป็นสติปัฏฐานด้วย และสิ่งที่สติระลึกรู้เป็นสติปัฏฐานด้วย เพราะฉะนั้น ข้อความข้างต้นที่สกวาทีถามว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานหรือ ปรวาทีจึงตอบว่า ถูกแล้ว

    หมายความถึง สติปัฏฐานในความหมายของอารมณ์ของสติ คือ สติระลึกรู้ได้ แต่สำหรับที่สกวาทีถามว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติพละ เป็นพุทธานุสติ เป็นจาคานุสติ อานาปานสติ มรณานุสติ กายคตาสติหรือ ปรวาทีจึงกล่าวว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

    เย็น ร้อน อ่อน แข็ง จะเป็นสตินทรีย์ไม่ได้ เป็นสติพละไม่ได้ เป็นพุทธานุสติไม่ได้ ไม่ใช่ระลึกถึงพระพุทธคุณ เป็นจาคานุสติไม่ได้ เพราะเหตุว่าที่สกวาทีถามครั้งที่ ๒ นั้น หมายถึงสติเจตสิก ซึ่งเป็นมรรคหนึ่งในมรรคมีองค์ ๘

    สกวาทีย้อนถามอีกว่า

    ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานหรือ

    ปรวาทีตอบว่า

    ถูกแล้ว

    คำถามกับคำตอบ เข้าใจกันระหว่างคน ๒ คน ที่รู้เรื่องความหมายของสติทั้ง ๒ ประการ คือ รู้ทั้งสติที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ และรู้ทั้งสติปัฏฐานที่เป็นอารมณ์ของสติด้วย เพราะฉะนั้น จะพูดกันอย่างไร จะตอบกันอย่างไร ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ขณะนั้นถามถึงสติอะไร เมื่อถามถึงว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานหรือ ปรวาทีตอบว่า ถูกแล้ว ก็ต้องเป็นในความหมายที่ว่า เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ทุกอย่าง

    สกวาที เพื่อความแจ่มแจ้งก็ได้ถามต่อไปว่า

    จักขวายตนะ เป็นสติปัฏฐานหรือ

    ปรวาทีกล่าวว่า

    ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

    ถ้าปรวาทีตอบอย่างนี้ ปรวาทีตอบโดยนัยที่ว่า จักขวายตนะ คือ จักขุปสาท ไม่ใช่สติเจตสิก เพราะฉะนั้น ที่ว่าจักขวายตนะเป็นสติปัฏฐานหรือ ปรวาทีกล่าวตอบว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ในความหมายที่ว่า จักขวายตนะไม่ใช่สติเจตสิก

    แต่ถ้าในความหมายที่ว่า เป็นอารมณ์ของสติ ก็เป็นสติปัฏฐาน เพราะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานแล้ว ต้องใช่

    สกวาทีถามต่อไปอีกว่า

    จักขวายตนะเป็นสติปัฏฐานหรือ

    ปรวาทีตอบว่า

    ถูกแล้ว

    ที่ตอบว่า ถูกแล้ว เพราะเป็นอารมณ์ของสติ ถ้าตอบว่า ไม่ถูก หรือไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่าไม่ใช่สติ

    สกวาที ถามต่อไปถึงโสตายตนะ คือ โสตปสาท เรื่อยไปถึงชิวหาปสาท กายปสาท ถามถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ด้วยว่า เป็นสติปัฏฐานหรือ ไม่เว้นอะไรเลย ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน

    ถ. สมมติว่าเวทนาเกิดขึ้น เรามีสติรู้ชัดแล้วว่า เวทนานี้เป็นเวทนาที่เกิดขึ้นในตนเอง ทีนี้เวทนาที่เกิดขึ้นในผู้อื่น เราสามารถรู้ได้ในลักษณะของเวทนา หรือในลักษณะอื่นครับ

    สุ. เคยเห็นคนอื่นโกรธไหม รู้ด้วยว่าคนอื่นโกรธ ระลึกถึงความโกรธของคนอื่น ความไม่แช่มชื่น ความไม่สบายของคนอื่นในขณะนั้น ไม่ใช่ระลึกถึงขน ผม เล็บ ฟัน หนัง แต่ระลึกถึงสภาพลักษณะของความรู้สึกในขณะนั้นของบุคคลนั้น สติระลึกได้ รู้ลักษณะของจิตได้ สิ่งที่มีเป็นเครื่องระลึก เพื่อการรู้ชัด ถ้าใครค้าน ก็ค้านกับพระสัพพัญญุตญาณที่ปรากฏในพระไตรปิฎก และข้อเท็จจริง หรือความจริงด้วย

    ถ้าเข้าใจมหาสติปัฏฐานแล้ว สติจะเกิดได้บ่อยขึ้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกอย่างไรก่อน แล้วก็รู้ชัดต่อไปในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน แม้แต่รูปซึ่งเห็นทางตา เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะมิทธะ ธรรมทุกอย่างเป็นสติปัฏฐาน คือ เป็นอารมณ์ให้สติระลึกได้

    ท่านสกวาทีก็ถามต่อไปว่า

    จักขวายตนะเป็นสติปัฏฐาน (เป็นสิ่งที่ระลึกได้) แต่จักขายตนะนั้นไม่เป็นสติหรือ

    ปรวาทีตอบว่า

    ถูกแล้ว

    เพราะจักขวายตนะเป็นสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ให้สติระลึกรู้ได้ แต่จักขวายตนะไม่ใช่สติ

    สกวาทีถามว่า

    สติเป็นสติปัฏฐาน แต่สตินั้นไม่เป็นสติหรือ

    ปรวาทีกล่าวว่า

    ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

    เพราะเหตุว่า สติเป็นสติปัฏฐาน และก็เป็นสติด้วย ไม่เหมือนจักขวายตนะ ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่สติ ไม่เหมือนกับเสียง กลิ่น รส ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่สติ แต่สำหรับสติ เป็นสติปัฏฐาน และก็เป็นสติด้วย

    แล้วสกวาทีก็ถามว่า

    เพราะสติปรารภธรรมทั้งปวง ตั้งมั่นได้ ฉะนั้น ธรรมทั้งปวงจึงชื่อว่าสติปัฏฐานหรือ

    ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อสติสามารถที่จะปรารภระลึกลักษณะของสิ่งทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งปวงจึงชื่อว่า สติปัฏฐานหรือ

    ปรวาทีกล่าวตอบว่า

    ถูกแล้ว

    สกวาทีถามต่อไปอีกว่า

    เพราะผัสสะปรารภธรรมทั้งปวง ตั้งมั่นได้ ฉะนั้น ธรรมทั้งปวงจึงชื่อว่าผัสสปัฏฐานหรือ

    เวลานี้เรามีทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจด้วย สีก็มี เสียงก็มี กลิ่นก็มี ถ้ามีรสปรากฏกระทบลิ้น ก็มีรส กายเย็น ร้อน อ่อน แข็งก็มี แต่ทำไมคนหนึ่งเห็น คนหนึ่งได้ยิน คนหนึ่งรู้เย็น คนหนึ่งคิดนึก แล้วแต่ผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์

    ถ้าผัสสะกระทบกับสัททารมณ์ คือ เสียง โสตวิญญาณก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเราจะมีทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เวลาที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดจะปรากฏนั้น เพราะผัสสเจตสิกกระทบกับอารมณ์นั้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อผัสสเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว สกวาทีก็ถามว่า เพราะผัสสะปรารภธรรมทั้งปวง ตั้งมั่นได้ ฉะนั้น ธรรมทั้งปวงจึงชื่อว่า ผัสสปัฏฐานหรือ ก็เมื่อสติระลึกธรรมทั้งปวงได้ แล้วก็ชื่อว่าสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เมื่อผัสสะสามารถกระทบอารมณ์ได้ทุกอย่าง สกวาทีก็ถามว่า เพราะผัสสะปรารภธรรมทั้งปวงตั้งมั่นได้ ฉะนั้น ธรรมทั้งปวงจึงชื่อว่า ผัสสปัฏฐานหรือ

    ปรวาทีตอบว่า

    ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

    จะใช้คำว่า สมาธิปัฏฐาน หรือมหาสมาธิปัฏฐานก็ไม่ได้ การเจริญสติเพื่อรู้ชัดในลักษณะ ไม่ใช่ให้เป็นสมาธิ จะระลึกทางตานิดหนึ่ง เสียงนิดหนึ่ง ได้ยินนิดหนึ่ง ระลึกที่นามอะไรบ่อย รูปอะไรบ่อย เป็นเรื่องของสติที่จะพิจารณาแล้วก็รู้ชัดขึ้นๆ ตามปกติทีเดียว สัมปชัญญะบริบูรณ์ทุกอย่าง แทนที่จะคิดนึกด้วย เห็นด้วย ได้ยินด้วย ไกลออกไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ก็มีการระลึกได้เกิดขึ้น รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดทีละอย่าง จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด

    เป็นเรื่องของสติ ไม่ใช่เรื่องของสมาธิ ไม่ใช่เรื่องของผัสสะ ไม่ใช่เรื่องของเอกัคคตา ไม่ใช่เรื่องของเจตนา ไม่ใช่เรื่องของเจตสิกอื่นๆ เพราะฉะนั้น จะใช้เจตสิกอื่นเป็นปัฏฐานไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเวลาที่ผัสสะกระทบกับสีทางตา จักขุวิญญาณ การเห็นเกิดขึ้น ไม่ได้ระลึกอะไร แต่ว่ามีผัสสะ เพราะฉะนั้น จะเป็นผัสสปัฏฐานไม่ได้ หรือว่าเจตนาเกิดกับจิตทุกดวง เจตนาที่เกิดกับจิตทุกดวงไม่ใช่เจตนาปัฏฐาน เพราะฉะนั้น สติเท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน

    สกวาทีก็ถามต่อไปถึงเวทนา ถึงสัญญา ถึงเจตสิกอื่นๆ และถึงจิตอื่นด้วย ว่า เมื่อจิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งปวงชื่อว่า จิตปัฏฐานหรือ ซึ่งปรวาทีก็กล่าวว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

    สกวาทีถามต่อไปอีกว่า

    สัตว์ทั้งปวงเป็นผู้ตั้งสติมั่น เป็นผู้ประกอบด้วยสติ เป็นผู้มั่นคงด้วยสติ สติเป็นธรรมชาติเข้าไปตั้งมั่นแก่สัตว์ทั้งปวงหรือ

    ในเมื่อสัตว์ทั้งปวงมีจิต แล้วก็มีเจตสิกที่เกิดกับจิตด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อสัตว์ทั้งปวงมีจิต มีเจตสิก จะกล่าวว่าสัตว์ทั้งปวงเป็นผู้ตั้งสติมั่น เป็นผู้ประกอบด้วยสติ เป็นผู้มั่นคงด้วยสติ สติเป็นธรรมชาติเข้าไปตั้งมั่นแก่สัตว์ทั้งปวงหรือ

    ปรวาทีก็กล่าวตอบว่า

    ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

    ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องเจริญสติกันใช่ไหม เจริญสติ ต้องรู้ว่าลักษณะของสติคืออย่างไรจึงจะเจริญถูก เจริญสติ คือ การระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพื่อให้พิจารณาต่อไป ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค

    ข้อความที่ว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไร มีคำอธิบายว่า

    ย่อมพิจารณาเห็นกองธาตุดิน โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ย่อมพิจารณาเห็นธาตุน้ำ ไฟ ลม กองผม ขน ผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ทุกส่วน โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    กายปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนั้น ด้วยสติและญาณนั้น

    เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงเรียกการพิจารณาเห็นกายในกายว่า สติปัฏฐานภาวนา

    ประการต่อไป ภิกษุมีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่อย่างไร

    ย่อมพิจารณาเห็นสุขเวทนา โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ย่อมพิจารณาเห็นทุกขเวทนา โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ย่อมพิจารณาเห็นอทุกขมสุขเวทนา โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ต่อไปในเรื่องของจิต มีข้อความว่า

    ภิกษุมีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไร

    ย่อมพิจารณาเห็นจิตมีราคะ (คือ เป็นโลภมูลจิต) โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ย่อมพิจารณาเห็นจิตปราศจากราคะ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ย่อมพิจารณาเห็นจิตมีโทสะ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ย่อมพิจารณาเห็นจิตปราศจากโทสะ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    เรื่อยไปทีเดียว ทุกชนิดทุกประเภทของจิต เป็นผู้มีปกติพิจารณา ไม่ใช่เลือกเวลา ไม่ใช่เลือกสถานที่ ไม่ใช่เลือกอารมณ์ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปกติพิจารณาเพื่อรู้ เพื่อละการที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นตัวตน

    สำหรับประการต่อไป

    ภิกษุมีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่อย่างไร

    ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เว้นกาย เวทนา จิต เสียแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลายที่เหลือจากนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ทรงแสดงประเภทต่างๆ ที่จัดเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    เป็นเรื่องที่ทุกท่านจะต้องไตร่ตรอง เทียบเคียง พิจารณากับความเป็นจริงด้วย ธรรมดาปกติจริงๆ แต่โดยมากมักจะเข้าใจว่าเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น เจริญเท่าไรก็ไม่เป็นสติปัฏฐาน เป็นสมาธิเสียเป็นส่วนมาก

    ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นจิตตั้งมั่นที่อารมณ์นั้นด้วย แต่ไม่ใช่ในลักษณะของการเจริญสมถภาวนา เพราะเอกัคคตาเจตสิกนั้นเกิดกับจิตทุกดวง แต่สติไม่ได้เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ในขณะที่สติระลึกที่ลักษณะของนามหรือรูปใดๆ เอกัคคตาก็ตั้งมั่นในนามหรือรูปที่กำลังปรากฏนั้น

    เป็นต้นว่า เวลานี้อาจจะกระทบเย็น แต่ถ้าสติไม่ได้ระลึกรู้ที่ลักษณะใด ลักษณะนั้นก็ไม่ได้ปรากฏสภาพที่เป็นลักษณะนั้นชัดเจน แต่เมื่อใดท่านระลึกลักษณะจริงๆ ปกติของธรรมชาตินั้น ลักษณะนั้นก็ปรากฏชัดในขณะนั้น เพราะสติระลึกที่นั่น และเอกัคคตาก็ตั้งมั่นที่นั่น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book แนวทางเจริญวิปัสสนา
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 34
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ