แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
ครั้งที่ ๙๔
บุคคลจะได้อายุยืนเพราะทรัพย์ก็หาไม่
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นแลว่า เป็นของน้อย ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ทั้งคนมั่งมีและคนยากจน ย่อมถูกต้องผัสสะเหมือนกัน
คนมั่งมีหรือว่าคนยากจนก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ต้องรับกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ไม่มีความต่างกันเลย
ทั้งคนพาล และคนฉลาดก็ต้องถูกผัสสะเหมือนกันทั้งนั้น แต่คนพาลถูกอารมณ์ที่ไม่พอใจเบียดเบียน ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะความเป็นคนพาล
ส่วนนักปราชญ์อันผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้นแล ปัญญาจึงจัดว่าประเสริฐกว่าทรัพย์ เพราะปัญญาเป็นเหตุให้บรรลุนิพพาน แต่คนพาลไม่ปรารถนาจะบรรลุ
แต่ละคนที่ฟังเป็นประเภทไหน ถ้าไม่ปรารถนาที่จะบรรลุก็เป็นประเภทคนพาล
แต่คนพาลไม่ปรารถนาจะบรรลุ พากันทำกรรมชั่วต่างๆ อยู่ในภพน้อยภพใหญ่เพราะความหลง ผู้ใดทำกรรมชั่วแล้ว ผู้นั้นจะต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏฏะสงสารร่ำไป บุคคลผู้มีปัญญาน้อย เมื่อมาเชื่อต่อการทำของบุคคลผู้ที่กระทำกรรมชั่วนั้น ก็จะต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ร่ำไปเหมือนกัน
โจรผู้มีธรรมอันชั่วช้า ถูกเขาจับได้พร้อมทั้งของกลาง ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตน ฉันใด หมู่สัตว์ผู้มีธรรมอันชั่วช้า ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตน ฉันนั้น
กามทั้งหลายอันงามวิจิตร มีรสอร่อยน่ารื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปแปลกๆ ดูกร มหาบพิตร เพราะอาตมาภาพได้เห็นโทษในกามคุณทั้งหลายจึงออกบวช สัตว์ทั้งหลาย ทั้งหนุ่ม ทั้งแก่ ย่อมตกไปเพราะร่างกายแตก เหมือนผลไม้หล่น ฉันนั้น
ดูกร มหาบพิตร อาตมภาพเห็นความไม่เที่ยง แม้ข้อนี้ จึงออกบวช
ท่านกล่าวต่อไปว่า
ความเป็นสมณะอันไม่ผิดนั้นแล ประเสริฐ
ที่ว่า ความเป็นสมณะอันไม่ผิด เพราะเหตุว่าสมณะแปลว่าผู้สงบ ผู้ที่ออกบวชเป็นสมณะนั้นก็มีมากมาย แต่ความเป็นสมณะอันไม่ผิดนั้นแล ประเสริฐ
อาตมาภาพออกบวชด้วยศรัทธา เข้าถึงการปฏิบัติชอบในศาสนาของพระชินเจ้า บรรพชาของอาตมาภาพไม่มีโทษ อาตมาภาพไม่เป็นหนี้บริโภคโภชนะ อาตมาภาพเห็นกามทั้งหลายโดยความเป็นของอันไฟติดทั่วแล้ว เห็นทองทั้งหลายโดยเป็นศาสตรา เห็นทุกข์จำเดิมแต่ก้าวลงในครรภ์ เห็นภัยใหญ่ในนรก จึงออกบวช
ถ้าพูดถึงนรก เวลานี้คงไม่ค่อยกลัวเพราะว่ายังไม่ถึง แต่พรุ่งนี้จะไปอยู่ที่ไหน ทราบไหม ก็ไม่มีใครทราบอีกเหมือนกัน วันหนึ่งก็อาจจะต้องไปก็ได้ แต่ว่าผู้ที่เห็นภัยใหญ่ในนรกอย่างท่านพระรัฐปาละ ท่านก็กล่าวว่า เห็นภัยใหญ่ในนรกจึงออกบวช
อาตมาภาพเห็นโทษอย่างนี้แล้ว ได้ความสังเวชในกาลนั้น ในกาลนั้น อาตมาภาพเป็นผู้ถูกลูกศร คือ ราคะเป็นต้นแทงแล้ว บัดนี้บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว พระศาสดาอันอาตมาภาพคุ้นเคยแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอาตมาภาพทำสำเร็จแล้ว อาตมาภาพได้ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ที่กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตต้องการนั้นแล้ว บรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงแล้ว
คุ้นเคยกับพระผู้มีพระภาคแล้วหรือยัง คุ้นโดยวิธีไหน เจริญสติปัฏฐานแล้วก็รู้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นคืออย่างไร เป็นความจริงแค่ไหน ในพระไตรปิฎก เถรคาถาก็ดี เถรีคาถาก็ดี ท่านอาจจะคิดว่า เป็นคำพูดธรรมดาๆ แต่ไม่ใช่ธรรมดา เพราะเหตุว่าท่านรู้แจ้งในธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่รู้แจ้งสัจธรรม ก็ย่อมสามารถที่จะมีพยัญชนะ หรือว่ามีคำภาษิต คำคาถาที่เแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจจิตใจ ความบริสุทธิ์ของปัญญาของท่านที่หมดจดจากกิเลสแล้ว
มีอีกข้อความหนึ่งที่ใคร่จะให้ท่านผู้ฟังได้ฟังโดยตรงจากพระไตรปิฎก เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของชีวิตในครั้งอดีต ให้ท่านได้ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในครั้งกระโน้น
ขุททกนิกาย เถรีคาถา ติงสนิบาต สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา ข้อ ๔๗๒มีข้อความที่ท่านพระสุภาเถรีกล่าวคาถาตอบนักเลงเจ้าชู้ที่ยืนกั้นทาง ในขณะที่พระสุภาภิกษุณีกำลังเดินไปสู่สวนอัมพวัน อันเป็นสถานที่รื่นรมย์ของหมอชีวกโกมารภัท เมื่อนักเลงเจ้าชู้รำพันเรื่องความสุข ความสำราญต่างๆ ของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่มีสาระ แต่เป็นข้อความที่ไพเราะ และยาวมาก จะขอกล่าวถึงบางตอนที่เป็นสาระที่ท่านพระสุภาเถรีได้กล่าวกับนักเลงผู้นั้น
เมื่อนักเลงนั้นประกาศความประสงค์ของตนอย่างนั้นแล้ว พระเถรีเมื่อจะประกาศความที่สรีระเป็นสภาพที่เต็มด้วยอสุภะต่างๆ จึงได้กล่าวตอบว่า
ก็เป็นเรื่องของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เรื่องของปฏิกูลนั่นเอง
ในร่างกายซึ่งเต็มไปด้วยอสุภะ อันจักทอดทิ้งไว้ในป่าช้า มีอันแตกทำลายไปเป็นธรรมดานี้ อะไรเล่าที่ท่านเข้าใจว่าเป็นแก่นสาร ท่านเห็นสิ่งใดแล้วมีความพอใจในสิ่งนั้น ขอจงบอกแก่เรา
ท่านพระเถรีอยากจะทราบว่า จิตใจของผู้นั้นคิดอย่างไร ยึดมั่นในสิ่งใด นักเลงนั้นก็กล่าวตอบมีข้อความว่า
นัยน์ตาทั้งสองของพระสุภาเถรี เหมือนนัยน์ตาลูกเนื้อ และเหมือนนัยน์ตานางกินรีที่เที่ยวไปภายในภูเขา ความรักเกิดขึ้นอย่างแรงกล้า เพราะเห็นดวงตาทั้งคู่ เพราะเห็นหน้าซึ่งเปรียบปานดังดอกบัวปราศจากมลทิน งามดังแผ่นทองคำ
ถึงแม้ว่านักเลงนั้นจะไปไกลสักเท่าไร ก็จะไม่นึกถึงอะไรเลยนอกจากดวงตาทั้งคู่ที่บริสุทธิ์ ทั้งยาวทั้งกว้างของพระสุภาเถรีเท่านั้น สิ่งอื่นที่จะเป็นที่รักยิ่งไปกว่าดวงตาของพระสุภาเถรีนั้นไม่มีเลย
พระสุภาเถรีตอบว่า
ท่านปรารถนาเราผู้เป็นธิดาของพระพุทธเจ้า ชื่อว่าปรารถนาจะดำเนินไปโดยทางผิด ชื่อว่าแสวงหาดวงจันทร์มาเป็นของเล่น ปรารถนาจะโดดขึ้นภูเขาสิเนรุ บัดนี้ ความกำหนัดในอารมณ์ใด อารมณ์นั้นไม่มีแก่เราในโลกพร้อมทั้งเทวโลก เราทราบว่า สภาพอันน่ารื่นรมย์แม้ทุกชนิดไม่มีแก่เรา และเรากำจัดเสียได้แล้วพร้อมทั้งรากด้วยมรรคญาณ สภาพอันน่ารื่นรมย์เป็นเหมือนถูกทิ้งไปในหลุมถ่านเพลิง เหมือนถูกดื่มยาพิษ เราทำให้พินาศแล้วแต่ยอด เราเห็นว่าสภาพอันน่ารื่นรมย์แม้ทุกชนิดมิได้มีแก่เรา และเรากำจัดเสียแล้วพร้อมทั้งรากด้วยมรรคญาณ เบญจขันธ์นี้อันหญิงใดไม่พิจารณาแล้ว ท่านจงเล้าโลมหญิงเช่นนั้น ท่านมาเล้าโลมเราผู้รู้ตามเป็นจริงนี้ ย่อมจะลำบากเปล่า เพราะว่าสติของเรามั่นคงดีแล้วในการด่า การไหว้ และในสุขทุกข์
ท่านจงรู้ว่า ธรรมอันเป็นปัจจัยปรุงแต่งเป็นของไม่งาม ใจของเราไม่ติดอยู่ในอารมณ์ทั้งปวงเลย เราเป็นสาวิกาของพระสุคตเจ้า เป็นผู้ดำเนินไปสู่นิพพานด้วยญาณ กล่าวคือ อัฏฐังคิกมรรค มีลูกศรอันถอนขึ้นได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ยินดีอยู่ในเรือนว่างเปล่า ก็รูปภาพทำด้วยใบลาน หรือท่อนไม้ ที่บุคคลทำให้งดงาม ผูกด้วยเชือก หรือเอาไม้ตอกตะปูติดไว้โดยอาการต่างๆ ทำให้เหมือนกับจะฟ้อนรำได้ เราเคยได้เห็นมาแล้ว เมื่อแก้เชือกและถอนตะปูออกจากรูปนั้น และแยกออกจากกันแล้ว โดยทำให้เป็นแผนกๆ เรียงรายไว้ เมื่อทำรูปนั้นโดยเป็นชิ้นๆ อย่างนี้ ไม่พึงได้ชื่อว่ารูป
นี่ก็แยกกายออกเป็นส่วนๆ
เมื่อเป็นอย่างนั้น บุคคลพึงตั้งความสำคัญใจไว้ในรูปนั้น จะเป็นประโยชน์อะไร ร่างกายนี้ก็เหมือนกับรูปไม้ฉะนั้น เว้นจากธรรมมีธาตุ ๔ เป็นต้นแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ บุคคลพึงตั้งความสำคัญใจไว้ในร่างกายนั้น จะเป็นประโยชน์อะไร เหมือนบุคคลได้เห็นรูปภาพอันนายช่างผู้ฉลาดวาดเขียนไว้ที่ฝาด้วยหรดาลฉะนั้น
ปัญญาสำหรับมนุษย์ของท่านหาประโยชน์มิได้ เพราะท่านมีความเห็นวิปริต ในร่างกายนั้น แน่ะท่านผู้บอด ท่านเข้าไปยึดถืออัตภาพอันว่างเปล่า เป็นเหมือนพยับแดดที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า และเหมือนดังต้นไม้ทองที่ปรากฏในความฝัน
จะฝันอย่างไรก็ฝันได้ ฝันให้มีต้นไม้ ดอกไม้จริงๆ ที่เป็นทองทั้งนั้น ก็คงจะฝันได้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครยังคงยึดถือรูปร่างกายซึ่งวิปริตหรือปฏิกูล เป็นของว่างเปล่า เหมือนพยับแดดที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า เหมือนดังต้นไม้ทองที่ปรากฏในความฝัน
เป็นดังเช่นรูปยนต์ที่คนเล่นกลแสดงแล้ว ในท่ามกลางแห่งชน
จะแสดงอย่างไรก็ได้ทุกอย่าง ดูเหมือนกับว่าของจริง แต่ว่าความจริงแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่เป็นจริง ทุกวันๆ นี้ก็เป็นนามและรูปแต่ละชนิดประชุมรวมกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วทุกๆ ขณะทีเดียว จะย้อนกลับไปหารูปเก่าเพียงเมื่อสักครู่นี้ก็ไม่ได้แล้ว ก็เป็นของที่เสื่อมไปสิ้นไป
เป็นดังเช่นรูปยนต์ที่คนเล่นกลแสดงแล้ว ในท่ามกลางแห่งชน ดวงตาเป็นดังฟองน้ำ ปรากฏเหมือนโพรงไม้ มีฟองน้ำตั้งอยู่กลางตา เป็นของมีขี้ตา และน้ำตา เกิดเป็นต่อมดำๆ มีสีต่างๆ กัน
พระสุภาเถรีผู้มีดวงตางาม มีใจไม่ข้องอยู่ในอารมณ์ไหนๆ ได้ควักดวงตาออกจากเบ้าตา แล้วส่งให้นักเลงนั้น พร้อมกับกล่าวว่า เชิญท่านเอาดวงตานั้นไปเถิด เราให้ดวงตานั้นแก่ท่าน
เมื่อสักครู่นี้สวยเหลือเกิน อย่างกับตาของนางกินรี แต่พอออกจากตามาอยู่ที่ฝ่ามือ ปฏิกูลไหม แต่ท่านพระเถรีก็ใคร่ที่จะให้บุคคลผู้นั้นได้ประจักษ์ความเป็นปฏิกูล สภาพที่แท้จริงของร่างกาย ท่านก็ควักดวงตาออกจากเบ้าตา แล้วส่งให้นักเลงนั้น
ในทันใดนั้น ความกำหนัดในนัยน์ตาของนักเลงนั้น ได้หายไปแล้ว
จะยังคงรักดวงตา ๒ ดวงที่อยู่ในฝ่ามือนั้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นักเลงนั้นได้ขอให้พระเถรีนั้นอดโทษด้วยคำว่า
ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ขอความสวัสดีพึงมีแก่ท่าน การประพฤติอนาจารเช่นนี้ จักไม่มีอีกต่อไป
ความประพฤติอนาจาร คือ การประพฤติที่ไม่สมควร
ท่านพระสุภาเถรีกล่าวว่า
ท่านกระทบกระทั่งชนเช่นนี้ เหมือนกอดไฟอันลุกโพลงฉะนั้น
นักเลงกล่าวว่า
เราดุจจับอสรพิษ ขอความสวัสดีพึงมีแก่เราทั้งหลายบ้าง ขอท่านจงอดโทษให้เราทั้งหลายเถิด
ก็พระภิกษุณีนั้นพ้นจากนักเลงนั้นแล้ว ได้ไปสู่สำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ได้ชมเชยบุญลักษณะอันประเสริฐ จักษุได้เกิดมีขึ้นเหมือนเดิม
นี่เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์จริงๆ ในครั้งโน้น แล้วท่านเหล่านั้นพิจารณาธรรมอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดสติ การระลึกได้ ไม่ประมาท ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางกายก็ได้ ทางใจก็ได้ ผมก็ได้ ขนก็ได้ เล็บก็ได้ ฟันก็ได้ หนังก็ได้ บางทีหนังบางส่วนใกล้ๆ เล็บอาจจะหลุด อาจจะลอกออกมา ระลึกได้ไหม หวีผม ผมร่วง ระลึกได้ไหม ทุกอย่างที่เป็นของจริงที่เกิดขึ้นที่ปรากฏนั้นเป็นสติปัฏฐานทั้งหมด ทั้งภายในและภายนอก
ในปฏิกูลมนสิการบรรพ ถ้าแสดงให้เห็นความเป็นปฏิกูลของอาการทั้ง ๓๒ ท่านก็คงจะรู้สึกว่าเป็นปฏิกูล แต่ก็เพียงชั่วขณะที่ฟังเท่านั้นเอง
ถ. ปฏิกูลมนสิการบรรพแสดงถึงอวัยวะต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในร่างกาย แสดงถึงความไม่สะอาดของอวัยวะเหล่านั้น ทีนี้การพิจารณา หรือเจริญสติปัฏฐานเพื่อจะรู้รูปของอวัยวะเหล่านั้น จะเจริญสติปัฏฐานไปในลักษณะใด จึงจะรู้ว่านี่คือรูป ถ้าจะเจริญในฐานะที่ว่า รูปเหล่านี้ไม่สะอาด กระผมก็รู้สึกว่า จะเป็นเรื่องคิดนึกมากไป ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายด้วย
สุ. ถ้าเข้าใจมหาสติปัฏฐานว่าปกติธรรมดา ผู้ที่ยังไม่ได้อบรมไม่ได้เจริญสติจนกระทั่งเป็นปกติแล้วก็เป็นผู้ที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น ในมหาสติปัฏฐานจะเห็นได้ว่า ในแต่ละบรรพนั้นก็ล้วนแต่เป็นโลก เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกเพื่อจะได้รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่สติกำลังระลึกได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิด กำลังนึก กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ กำลังมีจิตของคนอื่นเป็นอารมณ์ กำลังมีความรู้สึกของคนอื่นเป็นอารมณ์ กำลังมีรูปใดๆ ทั้งสิ้นที่เป็นของจริงที่มีปรากฏให้รู้ได้ ทั้งผม ทั้งขน ทั้งเล็บ ทั้งฟัน ทั้งหนัง
เพราะเหตุว่าบางท่านนั้นไม่สามารถที่จะพิจารณาธาตุโดยตรง ที่มีอยู่ที่กายได้ ที่กายนี้ ธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานก็มี ๔ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่เพราะเหตุว่าไม่ระลึก แต่อาจจะเป็นผู้ที่ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ เสียก่อน แล้วจึงจะรู้ชัดในลักษณะของสิ่งนั้น โดยความเป็นธาตุอีกทีหนึ่ง
จับผม ก็ถูกแข็งๆ จับเล็บก็แข็งอีก แต่ก็ไม่ได้ระลึกรู้ในลักษณะที่แข็งนั้น แต่พอจิตระลึกถึงความเป็นปฏิกูลก่อน แล้วก็ระลึกรู้ลักษณะของความเป็นธาตุ
ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ฑีฆนิกาย มหาวรรค ได้กล่าวถึงอุเทศวารกถา อานาปานบรรพ อิริยาบถบรรพ สัมปชัญญะบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ต่อไปก็เป็น ธาตุมนสิการบรรพ
ธาตุมนสิการบรรพ ใน มหาสติปัฏฐานสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติโดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
คนฆ่าโค หรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ขยัน ฆ่าโคแล้ว แบ่งออกเป็นส่วน นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติโดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้น ในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
จบธาตุมนสิการบรรพ
ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติ
ถ้าตรวจสอบเทียบเคียงในพระไตรปิฎก เป็นปกติทุกอย่าง จะเป็นสติระลึกรู้สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ไม่ต้องทำอะไรช้าๆ เพื่อที่จะให้สติเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ในขณะที่กำลังเป็นปกติ
สำหรับโดยความเป็นธาตุ มีปรากฏให้รู้ได้ที่กายนี้โดยที่ไม่จำเป็นต้องไประลึกถึงโดยความเป็นปฏิกูล
คำว่า ธาตุ หมายความถึงสภาพที่มีปรากฏแต่ละลักษณะตามความเป็นจริงของธาตุนั้นๆ
ธาตุดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ธาตุดินมีลักษณะแข็ง ธาตุไฟ มีลักษณะเย็นหรือร้อน ธาตุลม มีลักษณะตึงหรือไหว
เดินเมื่อยๆ เข้ามีตึงระลึกรู้ได้ เป็นธาตุแต่ละชนิดที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล สำหรับธาตุมนสิการบรรพก็โดยนัยเดียวกัน คือ เป็นสมถกัมมัฏฐานก็ได้ เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ได้ เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ของสมถภาวนาทั้งหมดนั้น เพื่อให้จิตแน่วแน่ตั้งมั่นคงอยู่ที่อารมณ์เดียว แต่จุดประสงค์ของการเจริญวิปัสสนานั้นเพื่อรู้ชัด แล้วละ
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 62
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 63
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 66
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 68
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 73
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 75
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 77
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 78
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 89
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 91
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 93
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120