แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87


    ครั้งที่ ๘๗


    ต่อไปข้อความที่ว่า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับการสังขาร หายใจเข้า

    กายสังขาร เครื่องปรุงแต่งกายให้ดำเนินไป ได้แก่ ลมหายใจนั่นเอง เพราะฉะนั้น เวลาที่ยังไม่พิจารณาลมหายใจ แล้วเริ่มพิจารณา ที่จะมีลมหายใจปรากฏได้ในขณะที่พิจารณานั้น ลมนั้นต้องหยาบในขณะที่เริ่มพิจารณา แต่เมื่อมีสติระลึกที่ลมหายใจมากเข้า ลมก็ยิ่งละเอียดขึ้นทุกที เพราะลมหายใจนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ถ้าจิตหยาบลมหายใจก็หยาบ ถ้าจิตละเอียดขึ้นสงบขึ้น ลมหายใจก็ละเอียดขึ้นประณีตขึ้นด้วย

    ผู้ที่เจริญอานาปานสติต้องรู้ชัดว่า จะต้องมีสติรู้ลมหายใจที่หยาบ แล้วก็ละเอียดขึ้นๆ และถ้าเป็นอานาปานสติสมาธิ ในขณะที่เป็นอุปจารสมาธิ ลมหายใจก็หยาบกว่าขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิขั้นปฐมฌาน และจะละเอียดขึ้นตามลำดับ

    สำหรับการเจริญวิปัสสนานั้น ก่อนพิจารณาลมหายใจ ลมหายใจก็หยาบ แต่ในขณะที่พิจารณารู้ลักษณะของลม คือ รู้ลักษณะของมหาภูตรูป ในขณะนั้นก็ละเอียดขึ้น หรือว่าในขณะที่ปัญญารู้ลักษณะของนามรูป รู้ปัจจัยของนามรูป ก็จัดว่าหยาบกว่าในขณะที่รู้สภาพความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน คือ ไตรลักษณะของนามรูป

    ท่านได้อธิบายความหมายของพยัญชนะ ระงับ หรือ ดับสงบกายสังขาร อีกความหมายหนึ่งว่า

    ย่อมระงับความน้อมไปข้างหน้า ความน้อมไปข้างๆ ความน้อมไปทุกส่วน ความน้อมไปข้างหลัง ความหวั่น ความไหว ความโยก ความโคลงแห่งกาย ด้วยกายสังขารปานใด จักระงับ

    ที่เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าเวลาที่พิจารณาลมหายใจแล้วขาดสติ สภาพของการขาดสติไม่ใช่การที่สติตั้งมั่นนั้น ก็เป็นลักษณะของโมหะ ความไม่รู้ตัว เมื่อมีความไม่รู้ตัวเกิดขึ้น ก็ย่อมจะมีความน้อมไปข้างหน้าบ้าง ความน้อมไปข้างๆ บ้าง ความน้อมไปทุกส่วน หรือว่าความน้อมไปข้างหลัง ความหวั่น ความไหว ความโยกความโคลงแห่งกายเกิดขึ้นได้

    ขณะนี้ไม่เห็นมีใครโคลง โยก หรือตัวน้อมไปข้างหน้า ตัวน้อมไปข้างหลัง ไปข้างๆ ก็เป็นผู้ที่เป็นปกติ แต่ถ้าเจริญอานาปานสติสมาธิแล้วขาดสติ จะมีอาการที่น้อมไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง หรือว่า เอียงไปข้างๆ บ้าง

    การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญปัญญา กำลังเห็น สติระลึกรู้ว่า ที่กำลังเห็นก็เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรม หรือระลึกว่าสิ่งที่กำลังปรากฏนี้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ในขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ความจริงอย่างนี้ จะมีความโยก ความน้อมไปข้างหน้าข้างหลังไหม

    เป็นปกติธรรมดา นั่งอย่างนี้ก็ระลึกได้ พิจารณารู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นปกติ หรือว่าเสียงที่กำลังปรากฏทางหู สติก็ระลึกรู้ว่าลักษณะนี้เป็นของจริง ปรากฏทางหูนิดเดียวเท่านั้นแล้วก็หมดไป ในขณะที่รู้ของจริงๆ อย่างนี้เป็นปกติ ไม่มีความโยก ความโคลง ความน้อมเอียงไปของกาย

    เพราะฉะนั้น ในอานาปานสติสมาธิ ท่านจึงได้ทรงแสดงไว้ที่ว่า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจะระงับกายสังขาร หายใจเข้า

    เมื่อลมที่หยาบละเอียดขึ้นๆ สติก็ระลึกรู้ หรือขณะใดที่หลงลืมสติ จิตประเภทโมหะเกิดขึ้น ทำให้กายโน้มไป เอียงไป โยกไป โคลงไปเกิดขึ้น ผู้ที่มีสติระลึกได้ก็จะระงับกายสังขาร คือ ลมหายใจอันเป็นเหตุทำให้กายนั้นโยกไป เอียงไป ซึ่งเกิดขึ้นเพราะขาดสติทำให้เป็นไป

    กายสังขาร สังขารที่ปรุงแต่งกายให้ดำรงอยู่ ได้แก่ ลมหายใจ ที่ร่างกายจะดำรงอยู่ไม่เสื่อมไป เน่าไป แตกทำลายไป ก็เพราะมีลมหายใจเป็นส่วนประกอบปรุงแต่งให้ดำรงสภาพนั้นอยู่ เพราะฉะนั้น เวลาที่เจริญอานาปานสติสมาธิ ลมหายใจจะละเอียดขึ้น ถ้าขาดสติ ไม่รู้สึกตัว ก็จะมีการโยก การโคลงของกาย เมื่อระลึกได้ ก็ศึกษา หรือสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขาร หายใจออก ไม่ปล่อยให้เอนไป โยกไป โคลงไป มีสติระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจ

    การผิดปกติ คือ การโยกไป การโคลงไป การน้อมไปข้างหน้า การน้อมไปข้างหลัง การน้อมไปข้างๆ จะหมดสิ้นไปได้ ก็เพราะมีสติระลึกแล้วก็รู้ว่า จะระงับกายสังขารที่โยกไป โคลงไปนั้น เป็นผู้มีปกติ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ระงับกายสังขาร หายใจออก หายใจเข้า

    ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อานาปานสังยุต กัปปินสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    ณ พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหากัปปินะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นความไหว หรือความเอนเอียงแห่งกายของภิกษุนั้นหรือหนอ

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใดข้าพระองค์ทั้งหลายเห็นท่านผู้มีอายุนั้น นั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ หรือนั่งอยู่ในที่ลับรูปเดียว ในเวลานั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายมิได้เห็นความไหว หรือความเอนเอียงแห่งกายของท่านผู้มีอายุนั้นเลย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความไหว หรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสมาธิใด ภิกษุนั้นได้สมาธินั้นตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ความไหว หรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหว หรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสมาธิเป็นไฉน

    เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ

    ผู้ที่เจริญอานาปานสติสมาธิแล้ว จะไม่มีความหวั่นไหว หรือความเอนเอียงแห่งกาย หรือแม้ความหวั่นไหว หรือความกวัดแกว่งแห่งจิต

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหว หรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

    ข้อความต่อไปเหมือนกับในมหาสติปัฏฐาน อานาปานบรรพ จนถึงข้อความที่ว่า

    ย่อมสำเหนียกว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืน หายใจออก หายใจเข้า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหว หรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี

    การที่จะเจริญสมาธิให้จิตสงบระงับที่ลมหายใจเป็นเรื่องที่จะต้องรู้วิธีเจริญให้ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจจะขาดสติไป หลงลืมสติไป ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจได้

    ถ. ขณะที่บุคคลกำลังเจริญอานาปานสติอยู่นั้น สติย่อมระลึกรู้ถึงลมหายใจเข้า หรือลมหายใจออก เมื่อสติไม่สามารถระลึกรู้ในลมนี้ได้ ย่อมเรียกว่าขาดสติ กระผมใคร่จะทราบว่า เมื่อสติไม่สามารถระลึกรู้ในลมหายใจนี้ได้ แต่ไประลึกรู้ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางกายบ้าง เช่นนี้จะเรียกว่าขาดสติไหม

    สุ. ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปไม่ชื่อว่าขาดสติ แต่ที่ท่านจัดเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานมีหลายๆ บรรพ ก็เพราะเหตุว่าสิ่งที่สติกำลังระลึกรู้นั้นเป็นส่วนของกาย จึงจัดเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่หมายความว่า ไม่ให้รู้อย่างอื่น จะรู้อย่างอื่นก็ได้ แต่ในขณะที่รู้อย่างอื่น ไม่ใช่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ขณะที่ระลึกรู้ลมหายใจเพียงนิดเดียว แล้วจิตระลึกรู้นามอื่นรูปอื่น แล้วแต่ว่าจะเป็นจิต หรือเป็นเวทนา หรือจะเป็นกายส่วนอื่นที่ไม่ใช่ลมหายใจ ก็เป็นสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่อานาปานบรรพ

    การเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่ได้มุ่งที่จะให้สติอยู่ที่ลมหายใจ แต่ถ้าเป็นการเจริญอานาปานสติสมาธิมุ่งที่จะให้จิตสงบอยู่ที่ลมหายใจ เพราะเหตุว่าอานาปานสติสมาธิสามารถที่จะให้จิตสงบระงับเป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิถึงขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานได้ แต่ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ก็แล้วแต่สติจะระลึกที่ใด ถ้าระลึกที่ลมหายใจนิดเดียว ก็ไม่ใช่อานาปานสติบรรพที่เจริญอย่างสมาธิ แต่ว่าเป็นการระลึกรู้กายส่วนหนึ่ง คือ ลมหายใจนิดเดียวเท่านั้น แล้วก็ระลึกรู้กายส่วนอื่นได้ ถ้าเนื่องกับกายก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่า เราชักยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่า เราชักสั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว

    เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจะเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจะเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจะระงับกายสังขาร หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจะระงับกายสังขาร หายใจเข้า

    ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง

    พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง

    พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    ถึงแม้ว่าจะเป็นลมหายใจ ก็เป็นแต่เพียงเครื่องระลึกเท่านั้น เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานถึงแม้ในหมวดของอานาปานบรรพ ไม่ใช่ให้เจริญอย่างสมาธิ แต่ข้อความสำคัญ คือ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    เพราะฉะนั้น โดยนัยของการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ให้จดจ้อง เพียงให้ระลึกรู้ลักษณะของกายว่า เป็นกายเท่านั้น แล้วก็ละการยึดถือ ขณะที่พิจารณากายก็รู้สภาพตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน

    อย่างลักษณะของเย็นที่กำลังปรากฏ ลักษณะเย็นนั้นไม่ใช่ตัวตน หมดแล้ว พอลักษณะร้อนปรากฏ หมดอีก ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่พิจารณากาย สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่คิด ถ้าคิด สติก็ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็คิดว่านามรูปไม่เที่ยง ร่างกายไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน แต่นี่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏจริงๆ ลักษณะเย็น ไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตน ลักษณะแข็งไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตน ลักษณะอ่อนที่ปรากฏไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตน สติกำลังระลึกรู้ลักษณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เพียงคิด

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่จงใจจะรู้ที่ลม หรือไม่ใช่ลม แล้วแต่สติจะระลึกรู้นามรูปใดๆ ระลึกได้ทั้งนั้น

    คงจะมีหลายท่านเหมือนกันที่เพ่งจ้อง กำหนดลมหายใจ แล้วระลึกได้บ้างไหมว่า กำลังจดจ้อง หรือกำลังต้องการที่จะให้สงบ หรือจะให้รู้ชัด แต่ที่จริงปัญญารู้แล้วละ ไม่ยึดถือ ไม่ใช่ไปจดจ้อง นี่เป็นความต่างกันของสมาธิกับปัญญา

    ถ้าเป็นสมาธิ ก็ให้จดจ้องอยู่ที่เดียว ไม่ให้ไปสู่อารมณ์อื่น แต่ถ้าเป็นปัญญาพิจารณา รู้ แล้วละ แต่ขอให้ผู้ที่เจริญสติพิจารณาว่า ถ้าปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทั่วถ้วนจริงๆ จะคลายความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ไหม

    ถ้าจำกัดปัญญาให้รู้เพียงเล็กน้อย ทางตาให้รู้แค่นั้น ทางหูให้รู้แค่นี้ ไม่ให้ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปทั้งปวง ไม่ว่าภายใน หรือภายนอก อย่างนั้นแล้วก็ไม่สามารถละความหวั่นไหว ความเห็นผิด การยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้

    การหลงลืมสติในวันหนึ่งๆ มีมาก เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากำลังมีสิ่งใดเป็นอารมณ์ ภายใน หรือภายนอกก็ได้ เพราะว่าปกติเป็นผู้ที่หลงลืมสติ ก็ควรเป็นผู้ที่ระลึกได้ ไม่ว่ากำลังมีกายภายใน หรือภายนอกเป็นอารมณ์ เวทนาภายใน หรือภายนอกเป็นอารมณ์ จิตภายใน หรือภายนอกเป็นอารมณ์

    ถ. (ไม่ได้ยิน)

    สุ. ถ้าคิดก็ต้องรู้ว่าเป็นนามชนิดหนึ่ง การเจริญสติปัญญาจะต้องรู้ละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น มากขึ้น ทั้งๆ ที่กำลังหายใจเข้าหรือออกก็ตาม ยาวหรือสั้นก็ตาม ถ้าในขณะนั้นมีความพอใจเกิดขึ้น สติระลึกรู้สภาพที่พอใจว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งก็ได้

    การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นอานาปานบรรพ หรือว่ากายหมวดอื่นก็ตาม บางท่านคิดว่าจะต้องรู้เฉพาะกายเท่านั้น คือ รู้เฉพาะรูปเท่านั้น นั่นผิดหรือถูก

    นามรูปปริจเฉทญาณ รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูป เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าผู้เจริญสติปัฏฐานจะเลือกเจริญเพียงหมวดเดียว และก็รู้แต่เฉพาะอย่างเดียว บางท่านเข้าใจว่า สติปัฏฐานมี ๔ เลือกได้ตามใจชอบ ใครจะเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็รู้กาย ใครจะเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็รู้เวทนา ใครจะเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็รู้จิต คิดว่าเลือกได้ แต่ว่าขอให้ระลึกถึงความจริงว่า มีใครบ้างที่จะให้สติรู้เฉพาะกายอย่างเดียวได้

    ขณะระลึกที่ลมหายใจ ท่านที่เคยระลึกที่ลมหายใจสังเกตบ้างหรือเปล่าว่า มีอะไรบ้างนอกจากลมหายใจที่ปรากฏ ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่ทราบ หรือถ้าจดจ้องให้อยู่ที่ลมหายใจเป็นการเจริญสมาธิ ก็จะไม่ทราบเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จะทราบได้ว่า แม้ในขณะที่หายใจเข้า ในขณะที่หายใจออก มีสภาพธรรมใดที่ปรากฏ และสติก็ระลึกรู้สภาพของธรรมนั้นได้ ไม่ใช่ให้รู้แต่เฉพาะกาย หรือว่าไม่ใช่ให้รู้แต่เฉพาะลมหายใจ เพราะถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น เป็นอัตตาที่จงใจ บังคับให้ระลึกรู้แต่เฉพาะที่ลมหายใจเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book แนวทางเจริญวิปัสสนา
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 34
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ