กรรม ตอนที่ 04


    หรือว่าเมื่อได้ยินเสียงแล้ว โสตทวารวิถีจิตเกิดดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือว่าบางท่านในขณะนี้กำลังคิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วมโนทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้

    นี่แสดงให้เห็นว่า จุติจิตซึ่งกระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จะเกิดในขณะไหนได้ทั้งสิ้น หลังจากวิถีจิตทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ หรือหลังจากภวังคจิตก็ได้

    เพราะฉะนั้นชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตจะเกิดเป็นมรณาสันนวิถี ซึ่งเลือกไม่ได้ เหมือนในขณะนี้เอง ถ้าเป็นทางตาที่เห็น จักขุทวารวิถีดับหมด แล้วจุติจิตเกิด ขณะนั้นมีกรรมนิมิตอารมณ์ ถ้าขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ แล้วมีท่านผู้หนึ่งจุติจิตเกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ คือ สิ้นชีวิตลง หลังจากที่จักขุทวารวิถีดับไปแล้ว ขณะนั้นมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นกรรมนิมิตอารมณ์สำหรับปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป ถ้าในขณะที่โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้น ได้ยินเสียงดับไปแล้วหมด ชวนะสุดท้ายที่กำลังได้ยินในขณะนี้ จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ในขณะนั้นมีเสียงเป็นกรรมนิมิตอารมณ์

    2592 ความหมายของกรรมนิมิต

    ประวิทย์ ทำไมถึงชื่อว่ากรรมนิมิตอารมณ์

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเป็นนิมิต เป็นเครื่องหมายที่จะให้กรรมนั้นทำให้ปฏิสนธิเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าจิตทุกดวงต้องมีอารมณ์ และโดยเฉพาะปฏิสนธิจิตของชาติต่อไป จะต้องมีอารมณ์เดียวกับชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตของชาตินี้ ซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า จุติจิตของใครจะเกิดขึ้นในขณะไหน หลังเห็น หลังได้ยิน หรือหลังนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ถ้าขณะนี้ท่านผู้ใดกำลังนึกคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดทางมโนทวารวิถี แล้วจุติจิตก็เกิดต่อทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ สิ้นชีวิตลง บุคคลนั้นมีกรรมเป็นอารมณ์ เพราะเหตุว่าคิดถึง ระลึกถึงกรรมหนึ่งกรรมใด

    เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่า กรรมอารมณ์ หรือกรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นอารมณ์ของจิตใกล้จะจุติ ซึ่งจะเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป แต่เหมือนเดี๋ยวนี้ ไม่ต่างกันเลย กรรมนิมิต ก็คือในขณะที่เห็น ได้ยิน ในขณะนี้เอง แล้วจุติจิตเกิด เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นกรรมนิมิตของปฏิสนธิจิตในชาติหน้า

    ประวิทย์ ถ้าคิดถึงกรรมที่ทำมาแล้ว ก็เป็นกรรมอารมณ์ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ถ้าคิดถึงกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นกรรมอารมณ์

    ถ้าเห็นสถานที่ที่จะเกิด ขณะนั้นก็เป็นคตินิมิตอารมณ์ บางคนอาจจะเห็นเป็นไฟนรก บางคนก็อาจจะเห็นเป็นสวนนันทวันที่รื่นรมย์ หรือแล้วแต่ว่าจะปฏิสนธิในภพใดภูมิใด อุปมาเหมือนกับเห็นในฝัน ซึ่งดูเหมือนจริง

    เพราะฉะนั้นก็เป็นคตินิมิตสำหรับผู้ที่จะปฏิสนธิหลังจากที่จุติจิตของบุคคลนั้นดับลง แต่ให้ทราบว่า ก็คืออารมณ์ตามปกติธรรมดาอย่างนี้เอง แต่ที่ใช้คำว่า คตินิมิตบ้าง กรรมนิมิตบ้าง หรือกรรมอารมณ์บ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิจิตในชาติหน้า เพราะเหตุว่าเป็นอารมณ์ของชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตของชาตินี้ ขณะนี้เห็น จุติจิตยังไม่เกิด เพราะฉะนั้นก็เป็นรูปารมณ์ แต่ถ้าเห็นแล้วจุติจิตเกิด ก็เป็นกรรมนิมิตของปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป

    ประวิทย์ คตินิมิตทางทวารทั้ง ๖ ใช่ไหมครับ ไม่จำเป็นต้องเป็น..

    ท่านอาจารย์ ทางมโนทวารอย่างเดียว ถึงได้ว่าเหมือนเห็นในความฝัน

    2593 กรรมนิมิต - คตินิมิต กับ ทวาร

    นิภัทร ๓ คำนี้ คือ กรรม กรรมนิมิต คตินิมิต ผมยังเข้าใจสับสนอยู่ กรรมนี่หมายความว่า เวลาจะจุติ นึกถึงการกระทำที่ได้เคยกระทำมาแล้ว ส่วนกรรมนิมิตนึกถึงเรื่องราวที่กระทำอย่างนั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ กรรมนิมิตเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร ถ้าเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในขณะนี้ เสียงก็เป็นกรรมนิมิตได้ กลิ่นก็เป็นกรรมนิมิตได้ แล้วแต่ว่าในขณะที่ได้กลิ่นแล้ว จุติจิตเกิด แล้วปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อ เพราะฉะนั้นกลิ่นนั้นก็เป็นกรรมนิมิตได้ หรือว่าจะเป็นการนึกถึงเครื่องหมาย สิ่งที่เตือนให้ระลึกถึงกรรมก็ได้ เป็นนิมิตของกรรมได้ทางมโนทวาร เช่น นึกถึงปืน ถ้าเคยเป็นฆาตกร หรืออาวุธร้ายต่างๆ ที่ใช้ อาจจะคิดถึงเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่ว่าไม่ได้คิดถึงเป็นเรื่อง แต่เห็นสิ่งที่ปรากฏ ที่เป็นการกระทำ หรืออาจจะคิดถึงสบง จีวร ที่เคยทอดกฐิน อย่างนั้นก็เป็นกรรมนิมิตได้

    เพราะฉะนั้นกรรมนิมิตเป็นได้ทั้ง ๖ ทวาร ส่วนคตินิมิตเป็นได้เฉพาะทางมโนทวารอย่างเดียว คตินิมิตไม่ใช่การนึก แต่เป็นการเห็นทางมโนทวารเหมือนฝันเห็น เหมือนเห็นในความฝันเพราะเหตุว่าเป็นทางมโนทวาร

    นิภัทร เช่นเห็นรูปปราสาทราชวัง หรือเห็นเป็นเปลวไฟอะไรอย่างนั้น แต่คล้ายๆ เป็นฝันอย่างนั้นใช่ไหม กรรมกับกรรมนิมิตเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกรรมอารมณ์ ระลึกถึงกรรม ต้องเฉพาะมโนทวาร แต่ที่ใช้คำว่า กรรมนิมิตนี่ทั้ง ๖ ทวาร

    นิภัทร คตินิมิตเกิดได้ทาง ...

    ท่านอาจารย์ มโนทวารทวารเดียว

    2594 มรณาสัณณวิถี กับ ผู้เจริญสติปัฏฐาน

    ถาม เมื่อกี้ที่ว่า มรณาสันนวิถี ฝันเห็นสิ่งสวยๆ งามๆ ได้ยินเสียงเพลงเพราะๆ ตอนนั้นก็จะเป็นโลภะ หรือราคะ ก็เป็นอกุศล แล้วจะไปดีหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ยากที่จะเป็นกุศล แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน สติระลึกลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้นได้

    ผู้ถาม ถ้าอย่างนั้นก็ยากที่จะรู้ว่าจะไปไหน ถึงแม้ว่าจะทำบุญทำกรรมอะไรก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดจะมีความเข้าใจธรรมในขณะนี้ แล้วจุติจิตเกิด ชวนะสุดท้ายเป็นกุศล ก็เป็นมหากุศลญานสัมปยุตได้ แต่ข้อสำคัญก็คือ ท่านจะไม่มีจุติจิตเกิดในขณะที่กำลังฟังพระธรรม แต่อาจจะเป็นขณะอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าฟังบ่อยๆ เรื่อยๆ โดยเฉพาะในยามป่วยไข้ ซึ่งก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้แน่ว่า จุติจิตจะเกิดเมื่อไร ก็ยังสามารถมีปัจจัยที่จะให้มหากุศลจิตเกิดตามกรรม

    2595 กรรมนิมิต-จุติจิต-ปฏิสนธิจิต

    ประวิทย์ สมมติว่าขณะที่ใกล้จะตาย เห็นจีวร แล้วจุติจิตเกิดต่อจากวิถีนั้น ขณะนั้นปฏิสนธิจิตจะเป็นกรรมของกุศลที่เห็นนิมิตนั้น คือ สบงจีวร หรือจะเป็นผลของกรรมที่ถวายผ้าไตร

    ท่านอาจารย์ ขณะก่อนจุติจะมีอะไรเป็นอารมณ์ และจิตจะเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ใช่กระทำกรรมนั้นทันทีในขณะก่อนจะจุติ เพราะเป็นชั่วขณะที่รวดเร็วเหลือเกิน ถ้าคิดถึงทางตาที่กำลังเห็น แล้วก็มีภวังคจิตเกิด มีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ มีจักขุวิญญาณจิตเกิด มีสัมปฏิจฉนะเกิด มีสันตีรณะเกิด มีโวฏฐัพพนะเกิด ชวนะ ๗ ขณะเกิด ตทาลัมพนะเกิด ภวังค์คั่น ก่อนที่จะถึงมโนทวารคั่น และก่อนที่จะถึงการได้ยิน แต่ก็ดูเสมือนรวดเร็วเหลือเกิน

    เพราะฉะนั้นก็ยากแสนยากที่ใครสามารถจะให้กุศลจิตเกิดก่อนจุติ เพราะไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจุติจิตจะเกิดเมื่อไร

    เพราะฉะนั้นควรที่จะได้พิจารณาการให้ผลของกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ว่าต้องเป็นกรรมที่ได้กระทำสำเร็จแล้วกรรมหนึ่งกรรมใดเป็นชนกกรรม หมายความถึงกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติจิต ไม่ใช่ว่าจะขวนขวายทำตอนที่จุติจิตจะเกิด ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นไปได้ ทุกคนต้องทำให้กุศลจิตเกิดก่อนจุติจิต แต่เมื่อเป็นไม่ได้ ก็แล้วแต่ว่ากรรมใดจะให้ผล ซึ่งต่อไปจะทราบได้ว่า ในประเภทของกรรมต่างๆ นั้น กรรมใดจะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ที่จะทำชนกกิจ คือเป็นชนกกรรม แต่ต้องเป็นกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่จะมารีบด่วนกระทำก่อนจุติจิตจะเกิด เพราะว่าไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่าจุติจิตจะเกิดเมื่อไร

    เพราะฉะนั้นกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งหมดในสังสารวัฏ กรรมหนึ่งกรรมเดียวจะทำให้กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ หรือกรรมอารมณ์เกิดขึ้นปรากฏเป็นอารมณ์ของชวนจิตสุดท้ายก่อนจุติ เลือกไม่ได้เลย แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นกรรมซึ่งกระทำในขณะนั้นทันที แต่จะเป็นกรรมที่กระทำใกล้กว่านั้นอีกก็ได้ คือ ก่อนที่จะถึงมรณาสันนวิถี คือ ก่อนที่จะเป็นชวนะสุดท้ายได้ อาจจะเป็นชั่วโมงหนึ่ง วันหนึ่ง สองวัน หรืออะไรก็ได้ หรืออาจจะเป็นหลายเดือนหลายปีมาแล้ว หรืออาจจะเป็นหลายชาติมาแล้ว หรืออาจจะเป็นหลายกัปมาแล้วก็ได้

    ยังมีข้อสงสัยไหมคะในเรื่องนี้

    2661 ลำดับการให้ผลของกรรม

    สำหรับลำดับการให้ผลของกรรม โดยประเภทของกรรม คือ

    ประเภทของกรรมที่มีกำลังในการให้ผล มี ๔ คือ ครุกรรม ๑ พหุลกรรม ๑ อาสันนกรรมหรือยทาสันนกรรม ๑ กฏัตตาวาปนกรรม ๑

    สำหรับลำดับการให้ผลของกรรม โดยประเภทของกรรม คือ

    ครุกรรม เป็นกรรมหนัก ย่อมให้ผลก่อน

    พหุลกรรม คือ กรรมที่มีกำลัง หรือกรรมที่เสพคุ้น เพราะเหตุว่าบางกรรมถึงทำไปแล้วก็ไม่ได้นึกถึงอีกเลย ก็มีใช่ไหมคะ แต่บางกรรมทำแล้วไม่ลืม ทำแล้วยังระลึกบ่อยๆ เพราะฉะนั้นกรรมที่มีกำลังหรือเสพคุ้น คือ ทำไปแล้วก็ยังระลึกถึงอีกเนืองๆ นั้นเป็นพหุลกรรม

    อีกกรรมหนึ่ง คือ อาสันนกรรม บางแห่งใช้คำว่า ยทาสันนกรรม ได้แก่ กรรมที่ทำใกล้จะจุติ

    และอีกกรรมหนึ่ง คือ กฏัตตาวาปนกรรม คือ นอกจากครุกรรม พหุลกรรม และอาสันนกรรมแล้ว ก็เป็นกฏัตตาวาปนกรรม กรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้กระทำที่ไม่ใช่ครุกรรม ไม่ใช่พหุลกรรม ไม่ใช่อาสันนกรรม

    นี่คือประเภทของกรรมที่มีกำลังในการให้ผล

    ถาม ต่อไปก็คืออาจิณณกรรม ใช่ไหมคะ ต่อจากอาสันนกรรม

    ท่านอาจารย์ ข้อความในมโนรถปูรณี ไม่มีอาจิณณกรรม

    ผู้ถาม หายไปไหนไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ไม่หายค่ะ แต่จะเหมือนกับพหุลกรรม คือ กรรมที่มีกำลังหรือกรรมที่เสพคุ้น กรรมที่ระลึกถึงบ่อยๆ

    ผู้ถาม อาจิณณกรรมก็คงจะรวมกับพหุลกรรมได้ ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ

    2662 ครุกรรมทางฝ่ายกุศล

    สำหรับในเรื่องของครุกรรม ก็คงจะทราบว่าทางฝ่ายกุศล ได้แก่ มหัคคตกรรมได้แก่พวกฌานจิตที่ไม่เสื่อม เพราะฉะนั้นก่อนจะจุติ เมื่อฌานจิตเกิดก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดในรูปพรหมภูมิ ถ้าขณะนั้นรูปาวจรกุศลจิตเกิดก่อนจุติ ถ้าผู้นั้นสามารถที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาได้ถึงขั้นอรูปฌาน ก็แล้วแต่ว่าอรูปฌานขั้นใดเกิดก่อนจุติจิต ก็เป็นครุกรรม เป็นมหัคคตกรรมฝ่ายกุศลที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมบุคคล ตามขั้น ตามภูมิของอรูปาวจรกุศลกรรมนั้นๆ ทางฝ่ายอกุศลกรรมก็ได้แก่ อนันตริยกรรม ซึ่งได้เคยกล่าวถึงแล้ว

    มีท่านผู้ใดมีตัวอย่างของกรรมที่เกิดขึ้นจริงๆ ในชีวิตของท่านบ้างไหม ซึ่งวิจิตรมาก และแต่ละขณะ จะเห็นได้ว่าไม่มีใครสามารถจะจัดสรรผลของกรรมให้เป็นไปตามความต้องการได้เลย มีวิถีทางของกรรมนั้นๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นไป ทำให้วิบากนั้นๆ เกิดขึ้นต่างๆ กันไป แต่ละขณะ แต่ละภพ แต่ละชาติ

    2663 ความหมายของพหุลกรรม

    ขอกล่าวถึงเรื่องของพหุลกรรม ตามตัวอย่างในมโนรถปุรนี อรรถกถา นิทานสูตร ข้อความมีว่า

    ส่วนในกรรมทั้งหลายอันเป็นกุศล และอกุศล กรรมใดเป็นกรรมมีมาก กรรมนั้นชื่อว่า พหุลกรรม พหุลกรรมนั้นอันบัณฑิตพึงทราบด้วยสามารถการเสพบ่อยๆ อันตนได้แล้วตลอดกาลนาน

    เพราะฉะนั้นบางท่านก็ใช้คำว่า อาจิณณกรรม แต่ข้อความในอรรถกถาใช้ พหุลกรรม

    อีกอย่างหนึ่ง พหุลกรรมอันใดเป็นธรรมชาติมีกำลัง เป็นการทำด้วยความโสมนัสในกรรมอันเป็นกุศลทั้งหลาย เป็นการทำด้วยความเดือดร้อนใจในกรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลาย กรรมนั้นชื่อว่า พหุลกรรม

    ท่านที่เคยกระทำอกุศลกรรม และยังรู้สึกเดือดร้อนใจ ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นอกุศลกรรมที่มีกำลัง เป็นพหุลกรรม จึงทำให้แม้ว่ากรรมนั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว ก็ยังติดตามเดือดร้อนใจอยู่ ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศล ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศลก็ตรงกันข้าม คือ พหุลกรรมอันใดเป็นธรรมชาติมีกำลัง เป็นการทำด้วยความโสมนัสในกรรมอันเป็นกุศลทั้งหลาย กุศลกรรมนั้นก็เป็นพหุลกรรม คือ เป็นกรรมที่มีกำลัง

    ข้อความในมโนรถปุรณี ได้ยกตัวอย่างพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัย ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังได้ไปประเทศศรีลังกา ก็จะได้เห็นพระมหาสถูปใหญ่ ซึ่งชาวลังกาเรียกว่า พระมหาถูปะ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งกล่าวได้ว่ามากที่สุด และพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยเป็นผู้สร้างพระมหาถูปะนั้น และกุศลที่ท่านได้กระทำไว้ในพระศาสนามีมากทีเดียว แต่กุศลที่จะเป็นพหุลกรรมก็ได้แสดงว่า ในบรรดากุศลกรรมทั้งหลายที่พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยได้ทรงกระทำแล้วนั้น กุศลกรรมใดเป็นพหุลกรรม

    ซึ่งก็ขอเรียนให้ทราบเพิ่มเติมว่า อรรถกถาหลังพระมหินทรเถระนั้นมี ไม่ใช่มีแต่เฉพาะสมัยท่านพระมหินทรเถระซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชเท่านั้น เพราะเหตุว่าพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยเป็นหลานของพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ ซึ่งเป็นพระสหายของพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกทรงส่งพระโอรส และพระธิดาไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ประเทศศรีลังกาในสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ แต่พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยเป็นหลานของพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ เพราะฉะนั้นตัวอย่างในอรรถกถาก็มีแม้หลังพระมหินทรเถระด้วย ไม่ใช่มีเฉพาะในสมัยของพระเจ้ามหินทรเถระซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าอโศกเท่านั้น

    2664 พระเจ้าฑุฎฐคามณีอภัย

    ข้อความในมโนรถปูรณี อรรถกถา มีว่า

    ดังได้สดับมา พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยนั้น ทรงพ่ายแพ้ในการสู้รบที่จุลลังคณิยะ คือ สนามรบย่อย และได้เสด็จขึ้นม้าหนีไป มีอุปัฏฐากของพระองค์ชื่อติสสะอำมาตย์ติดตามไปเพียงผู้เดียว พระเจ้าทุฏฐคามณิได้เข้าไปสู่ดงแห่งหนึ่ง ได้ประทับนั่ง ขณะนั้นรู้สึกหิวมาก ก็ตรัสว่า “พี่ติสสะ ความหิวเบียดเบียนพวกเราเหลือเกิน เราจักทำอย่างไรกัน”

    ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งมีชื่อเสียงมากทีเดียว แต่แม้กระนั้นก็ยังมีเวลาที่จะเป็นทุกข์เดือดร้อน เพราะความหิว

    ติสสะอำมาตย์จึงกล่าวว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ข้าวสุกแห้งดุจทองก้อนหนึ่ง อันข้าพระองค์นำมาวางไว้แล้ว ในระหว่างผ้าสาฎกมีอยู่”

    คือติสสะอำมาตย์ได้นำข้าวสุกแห้งห่อผ้าสาฎกไปด้วยก้อนหนึ่ง

    ซึ่งพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยก็ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นก็ขอให้นำข้าวสุกแห้งนั้นมา และเมื่อทอดพระเนตรเห็น ก็ได้ตรัสให้ติสสะอำมาตย์แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ซึ่งติสสะอำมาตย์ก็ได้ทูลถามว่า “พวกเรามีเพียง ๓ เท่านั้น เพราะเหตุใดสมมติเทพจึงให้แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน”

    มีพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัย ๑ มีติสสะอำมาตย์ ๑ และมีม้าทรง ๑ แต่ว่าพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยให้แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน

    ซึ่งพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยก็ได้ตรัสว่า “พี่ติสสะ จำเดิมแต่กาลใดมา เราระลึกถึงตน อาหารอันเราไม่ได้ถวายแล้วแก่พระผู้เป็นเจ้า เคยบริโภคแล้ว ไม่มีเลย”

    แสดงว่าด้วยศรัทธาของพระองค์ ไม่เคยมีสักมื้อเดียว ที่จะเสวยพระกระยาหารโดยที่ไม่ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ท่านจะต้องถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ก่อนแล้วจึงบริโภคทุกครั้ง และมีครั้งหนึ่งซึ่งบังเอิญท่านเสวยแกงพริกโดยที่ไม่ได้ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ พอทรงระลึกขึ้นได้ก็ให้สร้างพระสถูปใหญ่เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงกรรมที่ได้เสวยอาหารก่อนที่จะได้ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงกุศลของอดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนามากพระองค์หนึ่ง

    ซึ่งอำมาตย์นั้นก็ได้แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ สำหรับถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ส่วนหนึ่ง สำหรับพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยส่วนหนึ่ง สำหรับติสสะอำมาตย์ส่วนหนึ่ง สำหรับม้าส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อแบ่งเสร็จแล้ว ติสสะอำมาตย์ก็ได้ทูลถามว่า “สมมติเทพ เราจักได้พระผู้เป็นเจ้าแต่ที่ไหน ในป่าอันเขาทอดทิ้งแล้ว”

    ในที่นั้นย่อมไม่มีพระภิกษุสงฆ์เลย แต่พระราชาตรัสว่า

    “ข้อนี้ไม่ใช่ภาระของท่าน ถ้าศรัทธาของเรามีอยู่ เราจักได้พระผู้เป็นเจ้า ท่านอันเราอนุญาตแล้ว จงประกาศกาลเถิด”

    หมายความว่า ด้วยศรัทธาของพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัย แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงทราบว่าจะต้องมีพระภิกษุสงฆ์มารับอาหารของพระองค์แน่ๆ

    ติสสะอำมาตย์ได้ประกาศถึง ๓ ครั้งว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กาลนี้เป็นกาลแห่งอาหาร ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กาลนี้เป็นกาลแห่งอาหาร”

    ซึ่งครั้งนั้นพระโพธิยมาลกมหาติสสะเถระ ได้ยินเสียงนั้นด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ จึงใคร่ครวญอยู่ว่า เสียงนั้นเป็นเสียง ณ ที่ไหน ดังนี้ ทราบแล้วว่า วันนี้พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยปราชัยในการรบ เสด็จเข้าไปสู่ดง ประทับนั่งแล้ว ให้แบ่งก้อนภัตรก้อนหนึ่งออกเป็น ๔ ส่วน ให้ประกาศกาลว่า เราจักบริโภคส่วนหนึ่ง ดังนี้ แล้วคิดว่าในวันนี้เราควรทำการสงเคราะห์พระราชา เมื่อพระมหาติสสะเถระทราบดังนั้นแล้ว ก็ไปด้วยมโนคติ คือ ด้วยใจ แล้วได้ยืนอยู่ข้างหน้าพระราชา

    เมื่อพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยทอดพระเนตรเห็น ทรงมีจิตเลื่อมใสแล้ว ก็ได้ตรัสว่า “พี่ติสสะ ท่านจงดูเถิด”

    แสดงให้เห็นว่า แม้ในป่าดงที่กันดารอย่างนั้น ก็ยังมีพระเถระที่มารับอาหาร

    ดังนี้แล้ว ทรงไหว้พระเถระ แล้วตรัสว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านจงให้บาตรเถิด” พระเถระนำบาตรออกแล้ว พระราชาทรงใส่ส่วนของพระเถระ กับด้วยส่วนของตนลงในบาตรแล้ว

    คืออาหารนั้นมี ๔ ส่วนจริง สำหรับถวายพระเถระส่วนหนึ่ง สำหรับพระองค์เองส่วนหนึ่ง สำหรับติสสะอำมาตย์ส่วนหนึ่ง สำหรับม้าส่วนหนึ่ง แต่ด้วยพระทัยที่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง พระราชาทรงใส่ส่วนของพระเถระกับด้วยส่วนของตนลงในบาตรแล้ว

    ทรงไหว้แล้ว ตรัสว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ชื่อว่า การสิ้นไปแห่งอาหารจงอย่ามี ในกาลไรๆ ” ดังนี้ ได้ประทับยืนอยู่แล้ว

    ก่อนนั้นทุกท่านคงจะทราบถึงความหิวได้ว่า เวลาที่หิวมากๆ เป็นอย่างไร แต่แม้อย่างนั้น พระราชาก็ยังได้ถวายส่วนของตนกับทั้งส่วนของพระเถระด้วย โดยไม่ได้คิดถึงความหิวของพระองค์ซึ่งมีแต่ก่อนเลย

    แม้ติสสะอำมาตย์ก็กล่าวว่า “เมื่อเราเห็นพระลูกเจ้า เราไม่อาจเพื่อบริโภค” ดังนี้แล้ว เกลี่ยส่วนของตนลงในบาตรของพระเถระ

    เมื่อพระราชายังไม่บริโภค ติสสะอำมาตย์ก็ไม่อาจที่จะบริโภคส่วนของตนได้ เพราะฉะนั้นก็ได้ถวายส่วนของตน โดยเกลี่ยส่วนของตนลงในบาตรของพระเถระ

    พระราชาทรงแลดูม้าแล้ว ทรงทราบว่า ม้านี้หวังการใส่ส่วนของตนลงในบาตรของพระเถระ ดังนี้ ใส่ส่วนนั้นลงในบาตรนั้นแล้ว ไหว้แล้วส่งพระเถระไปแล้ว

    ไม่เหลือเลยสักส่วนเดียว

    ซึ่งเมื่อพระเถระได้รับอาหารบิณฑบาตจากพระเจ้าทุฏฐคามณิแล้ว ท่านได้นำไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์

    พระเจ้าทุฏฐคามณิยังทรงหิวอยู่ พระองค์ทรงดำริว่า “เราเป็นผู้อันความหิวเบียดเบียนยิ่งแล้ว จะเป็นความดีหนอ ถ้าบุคคลพึงส่งก้อนข้าวที่เหลือมา”

    ยังคิดถึงว่าจะได้บริโภคอาหารที่ไหน อย่างไร เพราะฉะนั้นคนที่กำลังหิวทุกคน ต้องหวังที่จะได้อาหาร เพราะฉะนั้นพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยคิดหวังที่จะได้อาหารส่วนที่เหลือ

    พระเถระทราบจิตของพระราชาแล้ว กระทำภัตรอันมีประมาณยิ่งให้เพียงพอแก่อัตภาพของชนทั้ง ๓ เหล่านั้น โยนบาตรขึ้นไปในอากาศ บาตรมาวางในพระหัตถ์ของพระราชา แม้ภัตรก็เพียงพอแก่ชนทั้ง ๓

    พระราชาล้างบาตรแล้ว ดำริว่า “เราจะไม่ส่งบาตรเปล่ากลับคืนไป” จึงเปลื้องผ้าสาฎกเบื้องบนออก เช็ดน้ำแล้ว วางผ้าสาฎกไว้ในบาตร โยนบาตรขึ้นไปในอากาศ ด้วยอธิษฐานว่า “ขอบาตรนี้จงไปตั้งอยู่ในมือของพระผู้เป็นเจ้า” บาตรไปตั้งอยู่ในมือของพระเถระแล้ว

    นี่คือเมื่อประมาณสี่ร้อยกว่าปีหลังจากที่พระผู้มีพระภาคทรงปรินิพพานแล้ว

    ลองคิดถึงกรุงเทพรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ กว่าปี ก็ไม่ห่างไกลจากสมัยนี้เท่าไร เพราะฉะนั้น ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานได้ประมาณ ๔๐๐ กว่าปี ย่อมมีพระอรหันต์ที่ยังทรงคุณวิเศษ ตามข้อความในมโนรถปุรณี

    2665 การให้ผลของพหุลกรรมที่เป็นกุศล

    ในกาลต่อมา พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยได้สร้างพระมหาเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

    ซึ่งข้อความในอรรถกถากล่าวว่า

    พระมหาถูปะหรือพระมหาเจดีย์นั้นประกอบด้วย ๑๒๐ ห้อง แต่ว่าพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยสร้างพระมหาถูปะยังไม่เสร็จเรียบร้อย ก็ใกล้เวลาที่จะสวรรคต พระราชศรัทธาทำให้พระองค์ตรัสให้จัดที่บรรทม


    หมายเลข 3
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ