กรรม ตอนที่ 06


    ท่านอาจารย์ ถ้าเรื่องจริง แต่เป็นเรื่องที่ถ้าบุคคลหนึ่งรู้ก็อาจจะพอใจหรือไม่พอใจในอีกบุคคลหนึ่ง แต่จำเป็นต้องรู้เพื่อประโยชน์ที่จะไม่เกิดอกุศลจิต ที่จะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะนั้นเป็นปิสุณาวาจาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็นครับ เพราะว่าผมไม่ได้คิดว่า เขาจะได้มีความพอใจในตัวผมอย่างยิ่ง และเขาจะได้โกรธคนอื่น ไม่ได้คิดอย่างนั้นครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีความขุ่นใจ มีความไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ บ้างไหมคะ

    ผู้ถาม ถ้าไม่มี สมมติว่าไม่มี

    ท่านอาจารย์ สมมติค่ะ แต่จิตใจไม่ใช่เราจะสมมติ แต่เป็นเรื่องที่สติจะต้องระลึกตรง ความเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้นที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น จนสามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ และกุศลจิต และอกุศลจิตก็เกิดดับสลับกันรวดเร็วมากทีเดียว ถ้าในขณะที่คิดว่าเพื่อประโยชน์ ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ขณะที่มีความขุ่นเคืองใจในขณะนั้นด้วย ขณะที่กำลังขุ่นเคืองใจนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ผู้ถาม อกุศลครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นถึงความเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิต ซึ่งทุกท่านต้องเป็นผู้ตรง ด้วยเหตุนี้บางคนก็จะสงสัยว่า ทำไมเป็นพระโสดาบันแล้วยังมี ปิสุณาวาจา หรือว่าสัมผัปปลาปวาจา ใช่ไหมคะ แต่พระโสดาบันก็ยังมีโลภะที่จะสนุกสนานรื่นเริง พูดเรื่องอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องของธรรม เรื่องใดซึ่งไม่เป็นประโยชน์ เรื่องนั้นเป็นสัมผัปปลาปวาจา แต่เมื่อพระโสดาบันบุคคลก็ยังมีโลภะ เพราะฉะนั้นสัมผัปปลาปวาจาก็ยังต้องมี หรือว่าในชีวิตที่จะต้องเกี่ยวข้องกับคนทั้งหลาย ทุกคนมีการสะสมมาต่างๆ กัน ไม่เหมือนกันเลย พระโสดาบันท่านก็อยู่ท่ามกลางบุคคลที่มีอัธยาศัยต่างๆ กัน ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกัน ท่านจะไม่พูดกับคนนั้น ท่านจะไม่คบหาสมาคมกับบุคคลนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้ามีการรู้จักเกี่ยวข้องกัน ใช่ไหมคะ แต่ถ้ามีเรื่องอะไรที่จะเกิดขึ้น ที่จะทำให้โลภมูลจิตเกิด แม้พระโสดาบัน โลภมูลจิตของท่านก็ต้องเกิด มีเรื่องอะไรที่โทสมูลจิตจะเกิด แม้พระโสดาบัน โทสมูลจิตของท่านก็เกิด แล้วเหตุการณ์ต่างๆ ก็ย่อมมีการกระทำทางกาย ทางวาจา ซึ่งดูเสมือนเป็นปิสุณาวาจา

    ผู้ถาม ดูเสมือน ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ดูเสมือน และก็ต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็น ขณะใดไม่เป็น ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ นอกจากตัวเอง

    ผู้ถาม ถ้าเผื่อสมมติว่า ได้ยินว่าเขากล่าวผิด แต่ไม่มีความโกรธเขา แต่เกรงว่าผู้ที่ได้ยินได้ฟังอื่นจะเข้าใจผิด ก็แอบบอกเขา โดยที่ไม่มีความขุ่นใจในคนอื่น จะชื่อว่า ปิสุณาวาจาหรือไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ สติสัมปชัญญะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า กุศลเป็นกุศล แล้วอกุศลก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะจะต้องไวพอที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิตซึ่งเกิดดับสลับอย่างเร็วมาก และเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล

    ผู้ถาม สมมติรู้ว่าไม่พอใจเขาแล้ว แอบบอกทีหลัง ชื่อว่า ปิสุณาวาจา ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ จะทำอะไรก็ตามแต่ เป็นผู้ตรง แล้วก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นเพราะกุศลจิต หรือเป็นเพราะอกุศลจิต

    ผู้ถาม ชื่อว่า ปิสุณาวาจาหรือไม่ก็ได้ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ การกระทำทุกอย่างมองดูแล้ว ชาวโลกคิดอย่างหนึ่ง แต่สภาพธรรมจริงๆ ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะของบุคคลนั้นเอง จึงจะรู้ได้ อย่างทาน การให้ ทุกคนก็รู้ว่า ให้สิ่งซึ่งบุคคลอื่นพอใจที่จะรับ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ เป็นกุศล ใช่ไหมคะ โดยทั่วไป เป็นทุกกรณีหรือเปล่าคะ

    ผู้ถาม ไม่ครับ

    ท่านอาจารย์ แต่ชาวโลกถือเป็นทาน ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นผู้ตรงค่ะ

    ผู้ถาม แล้วสัมผัปปลาป คำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ทุกชนิดเลยใช่ไหม หมายความว่า ถ้าไม่พูดถึงเรื่องทาน ศีล การอบรมเจริญภาวนา คำพูดอื่นทั้งหมดเป็นคำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ ถ้าท่านผู้ฟังไปหาผู้หนึ่งผู้ใด แล้วก็ถามถึงทุกข์สุขของเขา เป็นสัมผัปปลาปหรือเปล่า แม้แต่ท่านพระอานนท์ ท่านพระสารีบุตร หรือแม้แต่พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสปราศรัยกับผู้ที่ไปเฝ้าถึงทุกข์สุข เป็นสัมผัปปลาปวาจาหรือเปล่า

    ผู้ถาม ไม่เป็นครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับจิตในขณะนั้น ไม่ใช่การที่จะไต่ถามถึงทุกข์สุขก็จะต้องเป็นสัมผัปปลาปวาจา

    สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ คำพูดที่เป็นประโยชน์ ย่อมไม่ใช่สัมผัปปลาปวาจา

    2825 อาสัณณกรรม

    สำหรับเรื่องของอาสันนกรรม คือ กรรมที่ทำเมื่อใกล้จะสิ้นชีวิต ถ้ากรรมอื่นที่เป็นครุกรรมไม่มี พหุลกรรมไม่มี กรรมนั้นก็ให้ผล

    ถ้าไม่มีเลยทั้งครุกรรม พหุลกรรม อาสันนกรรม ก็ยังไม่พ้นจากกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้กระทำแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะให้ผล คือ กรรมที่พ้นแล้วจากกรรม ๓ อย่างเหล่านั้น กรรมที่ไม่ใช่ครุกรรม ไม่ใช่พหุลกรรม และไม่ใช่อาสันนกรรม เมื่อได้กระทำไปแล้วครบองค์ก็เป็นเหตุให้ปฏิสนธิ

    เคยคิดถึงกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้กระทำบ้างไหมคะ มด ยุง ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังจะคิดว่าเล็กน้อยหรือเปล่า เพราะว่าเป็นตัวเล็กๆ และก็คงจะไม่มีใครเลยที่เกิดมาแล้วไม่เคยฆ่ายุง ฆ่ามด ฆ่านะคะ อย่าลืม วธกเจตนา เจตนาฆ่า มี การกระทำได้สำเร็จลงไปแล้ว แล้วก็รู้ว่าเป็นสัตว์ที่มีชีวิตจึงฆ่า

    เพราะฉะนั้นถ้ากรรมหนัก เช่น ครุกรรม ไม่มี กรรมที่มีกำลัง เช่น พหุลกรรมไม่มี กรรมที่ใกล้จะสิ้นชีวิต คือ อาสันนกรรมไม่มี ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ กรรมหนึ่งกรรมใดทำให้จิตที่เศร้าหมองหรือจิตที่ผ่องใสเกิดขึ้น ถ้าเป็นกุศลกรรมอย่างอ่อนๆ ที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตก่อนที่จะจุติผ่องใส ถ้าเป็นอกุศลกรรมอย่างเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้จิตเศร้าหมองเป็นอกุศลเกิดก่อนจุติ

    เพราะฉะนั้นถ้าอกุศลจิตที่เศร้าหมองเกิดก่อนจุติ ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ คือ เกิดในนรก หรือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย ถ้าเป็นผลของกุศล ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ คือ เกิดในมนุษยภูมิ หรือว่าในสวรรค์ ๖ ชั้นที่เป็นกามภูมิ

    เรื่องของกรรมทั้ง ๔ ยังมีข้อสงสัยไหมคะ การให้ผลโดยกาล และการให้ผลโดยประเภทของกรรม โดยลำดับของความหนักเบาของกรรม

    2846 การจำแนกกรรมโดยกิจ

    ต่อไปก็คือ กรรมที่กระทำกิจโดยกิจต่างกัน

    ข้อความใน มโนรถปุรณีอรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ จำแนกกรรมไว้ คือ ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม อุปปัชชเวทนียกรรม อปรปริยายเวทนียกรรม แสดงถึงการให้ผลโดยกาล ครุกรรม พหุลกรรม อาสันนกรรม กฏัตตาวาปนกรรม การให้ผลโดยลำดับของกรรมที่เป็นกรรมที่มีกำลัง หรือกรรมที่ไม่มีกำลัง

    ต่อไปก็คือ การให้ผลโดยกระทำกิจมี ๔ คือ ชนกกรรม ๑ อุปถัมภกกรรม ๑ อุปปีฬกกรรม ๑ อุปฆาตกกรรม ๑

    กรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วแต่ว่าจะกระทำกิจใดใน ๔ กิจ

    ชนกกรรม คือ กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

    อุปถัมภกกรรม คือ เมื่อวิบากอันกรรมอื่นทำให้เกิดแล้ว กรรมที่เป็นอุปถัมภกกรรมย่อมตามสนับสนุนความสุข และความทุกข์ คือ ทำให้การได้รับวิบากที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์นั้นยืดยาวต่อไป คือ อุปถัมภ์ให้ความสุขดำรงต่อไปอีก หรือว่า อุปถัมภ์ให้ความ ทุกข์ดำรงต่อไปอีก เพราะว่าทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรมย่อมเป็นอุปถัมภกกรรม คือทำ กิจอุปถัมภ์ได้

    สำหรับอุปปีฬกกรรม คือ เมื่อวิบากอันกรรมอื่นให้เกิดแล้ว อุปปีฬกกรรมย่อมบีบ คั้นเบียดเบียนความสุขความทุกข์ คือ ไม่ให้ความสุขก็ดี หรือความทุกข์ก็ดีในขณะนั้น ยืดยาวต่อไป นั่นเป็นกิจของอุปปีฬกกรรม

    ส่วนอุปฆาตกกรรม ซึ่งก็เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้างนั้นเป็นกรรมที่กำจัดกรรม ที่มีกำลังอ่อนอย่างอื่นเสีย ขัดขวางวิบากของกรรมนั้น แล้วก็ย่อมจะทำโอกาสแก่วิบาก ของตน

    เพราะฉะนั้นถ้าจะจำแนกกรรมโดยกิจ ไม่มีใครสามารถรู้ได้โดยประจักษ์แจ้งว่า กรรมที่ได้กระทำแล้วในชาติก่อน และในอดีตอนันตชาติมาแล้ว กรรมใดทำให้ปฏิสนธิ จิตในชาตินี้เกิดขึ้น กรรมนั้นเป็นชนกกรรม

    2847 ชนกกรรม

    ปฏิสนธิจิตในชาตินี้เกิดแล้ว เพราะกรรมหนึ่งเป็นชนกกรรม คือ เป็นกรรมที่ทำ ให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากเกิด ฉันใด กรรมที่ได้ทำแล้วในชาตินี้ และในชาติก่อนๆ ๆ ทั้ง หมด กรรมหนึ่งจะเป็นชนกกรรม คือ จะทำให้ปฏิสนธิจิตของชาติหน้าเกิดขึ้นต่อจากจุติจิตของชาตินี้ ซึ่งย่อมเป็นได้ทั้งกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม

    สำหรับกรรมที่เป็นชนกกรรม เมื่อทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้ว ก็ยังทำให้ ภวังคจิตเกิดต่อ และนอกจากภวังคจิตเกิดแล้ว ก็ยังทำให้จักขุวิญญาณ จิตเห็น โสตวิญญาณ จิตได้ยิน ฆานวิญญาณ จิตได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณ จิตลิ้มรส กายวิญญาณ จิต ที่รู้โผฏฐัพพะที่กระทบสัมผัสเกิดขึ้นด้วย เช่น ถ้าเกิดในสกุลที่พรั่งพร้อมมั่งคั่ง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็ย่อมกระทบสัมผัส กับอารมณ์ที่น่าพอใจทั้ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    กรรมที่เป็นชนกกรรมทำกิจอุปถัมภ์ให้ได้รับผลของกรรมนั้นด้วยตามควร ก่อนที่กรรมอื่นจะให้ผล แต่ไม่ได้หมายความว่า จะมีแต่เฉพาะกรรมนั้นกรรมเดียว เพราะว่าทุกคนเกิดมาแล้ว ไม่ ว่าจะเกิดในสกุลใดก็ตามแต่ ไม่ว่าจะเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งหรือขัดสน ก็ย่อมมีโอกาส ที่กรรมอื่นจะทำให้วิบากจิตเกิด ซึ่งอาจจะทำให้ได้รับความไม่สะดวกสบายต่างๆ ทำให้ ป่วยไข้ได้เจ็บต่างๆ นั่นก็เป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งให้ผล ถ้าผู้นั้นเกิดในภูมิมนุษย์ เพียบพร้อมด้วยความสุขสมบูรณ์ แต่ก็ยังมีอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วให้ผล หรือผู้ที่เกิด ในสกุลที่ขัดสน ก็ยังมีกุศลกรรมในอดีตที่ทำให้มีการเห็นบ้าง การได้ยินบ้าง การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า กรรมที่ได้กระทำแล้ว ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นอีก แล้วแต่ว่ากรรมใดมีโอกาสพร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้ผล กรรมนั้นก็เกิดขึ้นทำกิจของกรรมนั้น ในชีวิตของแต่ละคนซึ่งเกิดมา ตอนเป็นเด็ก ชนกกรรมทำให้ปฏิสนธิ แล้วก็ยัง ทำให้วิบากจิตเกิดสืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนั้น ในสกุลนั้น ในฐานะนั้น แต่ว่าในชีวิต ของแต่ละคนก็มีการขึ้น และลงตามกรรมที่เกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ก็ย่อมแล้วแต่ว่าใน ขณะนั้นกรรมอื่นจะให้ผล ย่อมสามารถจะให้ผลได้หลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว

    2848 ปวัตติกาล - อุปถัมภกกรรม - อุปปีฬกกรรม

    เพราะฉะนั้นชีวิตแบ่งออกเป็น ปฏิสนธิกาล หรือ ปฏิสันธิกาล ตามภาษาบาลี คือ ในขณะที่ปฏิสนธิ และเมื่อพ้นจากขณะปฏิสนธิ คือ เมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้วตลอดไป จนถึงจุติ ชื่อว่า ปวัตติกาล

    เพราะฉะนั้น ในปวัตติกาลของแต่ละชีวิต ก็ย่อมแล้วแต่ว่ากรรมใดจะให้ผลใน ขณะไหน โดยที่ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า พรุ่งนี้ ทุกคนกรรมใดจะให้ผล มีใครรู้ได้ไหม น้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ โจรผู้ร้าย สารพัดอย่าง โรคภัยที่จะเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลย แต่ให้ทราบว่าวิบากทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้เพราะแต่ละกรรม แล้วแต่ว่าเมื่อกรรมหนึ่งเป็นชนกกรรมแล้ว กรรมอื่นย่อมเป็นอุปถัมภกกรรมบ้าง หรือว่าเป็นอุปปีฬกกรรมบ้าง เป็นอุปฆาตกกรรมบ้าง

    สำหรับอุปถัมภกกรรม ถ้าท่านผู้ใดกำลังสบายมีความสุขพร้อมอยู่ ความสุขนั้น สั้นหรือยาว แล้วแต่ว่ากรรมที่อุปถัมภ์นั้นจะมีหรือไม่มี ถ้าไม่มีกรรมที่จะอุปถัมภ์ กรรมที่ให้ ผลที่ทำให้ท่านเป็นสุข อาจจะเพียงเล็กน้อย ชั่วคราว แล้วความทุกข์ก็เกิดขึ้น โดยที่ไม่มีกุศลกรรมอื่นอุปถัมภ์ แต่ถ้าท่านมีช่วงของชีวิตที่กำลังเป็นสุขสบายเพราะกรรมหนึ่ง แต่ก็ยังมีกรรมอื่น ซึ่งเป็นกุศลกรรมพร้อมที่จะอุปถัมภ์เป็นปัจจัย ก็ทำให้ชีวิตที่กำลังสุข สบายนั้นมีกาลยืดยาวต่อไปอีก เพราะเหตุว่ามีกรรมอื่นอุปถัมภ์

    แต่สำหรับอุปปีฬกกรรม เมื่อท่านกำลังสุขสบายอยู่ และมีความทุกข์เกิดคั่น แทรกทำให้ความสุขสบายนั้นลดน้อยลง หรือว่าสั้นลง ขณะนั้น ก็เป็นเพราะอกุศลกรรมหนึ่งเป็นอุปปีฬกกรรม ย่อมบีบคั้นหรือเบียดเบียนความสุขในขณะนั้นให้สั้นลง เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า เคยรับประทานอาหารอร่อยๆ อาจจะเกือบทุกมื้อเลย หรือมื้อหนึ่งก็ได้ซึ่งรับประทานอาหารอร่อยมาก เป็นกุศลวิบากหรือเปล่า เป็นผลของกุศลกรรมหรือเปล่าในขณะนั้น เป็น แต่เพียงคำเดียวซึ่งเคี้ยวพริกเผ็ดๆ สี่ห้าเม็ดไป ขณะนั้นกรรมอะไร ตัดรอนความสุขหรือกุศลวิบากในขณะนั้นที่กำลังเกิดให้สั้นหรือว่าน้อยลง แต่คงจะไม่มีใครคิดว่า การที่เคี้ยวพริกเผ็ดๆ ไปสักคำ จะเป็นอุปปีฬกกรรม เพราะว่าในขณะนั้นกำลังมีความอร่อยมาก และการที่อกุศลวิบากจะเกิดขึ้นก็เป็นชั่วขณะ เล็กๆ น้อยๆ สั้นเหลือเกิน แต่ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ทำไมเกิดได้ ถ้าไม่มีอกุศลกรรม เบียดเบียนความสุข

    2849 อุปปีฬกกรรม - อุปฆาตกกรรม

    ถาม ในตัวอย่างที่อาจารย์บอกเมื่อกี้ ขณะที่กำลังทานอาหารอร่อย แล้วเคี้ยว ถูกพริกเผ็ดๆ ขณะนั้นอาจารย์บอกว่าเป็นอุปปีฬกกรรม อาจจะเป็นอุปฆาตกกรรม เพราะว่ากระทำโอกาสของกรรมอื่นให้หมด และทำโอกาสของตนให้เกิดขึ้น คือ ขณะนั้นทำให้ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ซึ่งถ้าเป็นผลของกรรมของตัวเองก็ต้องเป็นอุปฆาตกกรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าลิ้นขาดไปละก็เป็นอุปฆาตกกรรมแน่ๆ แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถึงขั้นนั้น ก็เป็นเพียงอุปปีฬกกรรม ชั่วนิดชั่วหน่อยได้ไหม

    ถาม อุปฆาตกกรรมต้องรุนแรง ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ตัดรอนทีเดียว

    ทรงเกียรติ เรื่องของทางลิ้น ขณะกำลังรับประทานปลาจาระเม็ดอร่อย แล้ว เผลออย่างไรก้างติดคอ ต้องนำส่งโรงพยาบาล ถามว่าเป็นอุปปีฬกกรรม หรืออุปฆาตกกรรม

    ท่านอาจารย์ ใครตอบ สภาพธรรมก็เป็นแล้ว แต่จะเป็นอย่างไรแล้วแต่ท่านผู้ฟังจะวินิจฉัยด้วย ไม่ใช่ดิฉันเป็นผู้ตอบผู้เดียวได้ ทุกคนต้องวินิจฉัย เพราะเหตุว่าอุปปีฬก กรรม เป็นเพียงกรรมที่เบียดเบียน ไม่ถึงกับตัดรอน ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์ ขณะใดที่ความทุกข์กำลังเกิดเป็นเวลานาน แต่ความสุขก็เกิดทำให้ความทุกข์นั้นลดน้อยลงไป ขณะนั้นกุศลกรรมเป็นอุปปีฬกกรรม เบียดเบียนความทุกข์ซึ่งควรจะยาวนาน ต่อไปให้สั้นลง แต่ว่าถ้าเป็นอุปฆาตกกรรมแล้ว กำจัดกรรมที่มีกำลังอ่อนอย่างอื่น ขัดขวางวิบากของกรรมนั้นเลย แล้วก็ทำโอกาสแก่วิบากของตน อย่างเช่นพระเจ้าอชาต ศัตรู ควรจะได้เป็นพระอริยบุคคลเมื่อได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่อกุศลกรรมที่ได้กระทำ คือ ปิตุฆาต ตัดรอนมรรคผลไม่ให้เกิดขึ้น อย่างนี้เป็นอุปฆาตกกรรม บางคนท่านผู้ฟังอาจจะได้ทราบข่าวต่างประเทศที่มีคนหนึ่งตาบอดอยู่นานมาก ทีเดียว วันหนึ่งก็เกิดมองเห็น อันนี้ก็เป็นอุปฆาตกกรรมฝ่ายกุศล ซึ่งตัดรอนทางฝ่ายอกุศล

    เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาดูเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจาก หลัง จากที่ชนกกรรมให้ผลทำให้ปฏิสนธิแล้ว ก็ยังมีกรรมอื่นเป็นอุปถัมภกกรรม คือ อุปถัมภ์กรรมที่กำลังเป็นอยู่ให้เป็นอยู่ต่อไปนานๆ หรืออุปปีฬกกรรม คือ เบียดเบียนกรรมที่กำลังให้ผลอยู่ ให้ผลน้อยลง สั้นลง อุปมาเหมือนกับตัดหรือทำลายต้นไม้ พุ่มไม้ เถาวัลย์ที่กำลังเจริญ ทำให้ต้นไม้ กอไม้ เถาวัลย์นั้นไม่อาจเจริญขึ้น นั่นคือกิจของอุปปีฬกกรรม และสำหรับอุปฆาตกกรรมก็มีทั้งที่เป็นกุศลบ้าง ที่เป็นอกุศลบ้าง ในชีวิตของแต่ละคน ก็อาจจะพิจารณาชีวิตของท่านเองได้ว่า ขณะใดเป็นกรรมใด เพราะว่าบางท่านก็คงจะมีอุปฆาตกกรรม

    2850 เรื่องของกรรมกับความเข้าใจในเหตุผล

    เพราะเหตุว่าหลักธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอกุศลกรรมบถ หรืออกุศลกรรมบถ หรือในเรื่องของกรรมประเภทต่างๆ ก็เพื่อที่จะให้ผู้ที่ศึกษาได้พิจารณา ได้เข้าใจในเหตุผล แทนที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะเป็นผู้ตอบ เพราะเหตุว่าเรื่องของกรรมในชีวิตประจำวันก็มีมาก ถ้าสติเกิด และได้ระลึก ในเมื่อได้ศึกษาเรื่องของกรรม ก็อาจจะเห็นได้ว่า ในวันหนึ่งๆ เป็นเรื่องของกรรมประเภทไหน เช่น ถ้ามีอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ เสื้อผ้าขาด ก็คงจะเป็นชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ถ้าได้ศึกษาเรื่องของกรรม ก็จะทราบได้ว่าเป็นกรรมอะไร เป็นอกุศลกรรมที่เป็นอุปปีฬกกรรม ไม่ถึงกับเป็นอุปฆาตกกรรม เพราะเหตุว่าการที่จะเป็นอุปฆาตกกรรมได้นั้น ก็ต้องเป็นกรรมที่มีกำลัง สามารถที่จะตัดรอนกรรมอื่นที่กำลังให้ผล เพื่อที่จะให้วิบากของตนเกิดขึ้น และเรื่องของกรรมก็มีมาก ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองในพระไตรปิฎก และในอรรถกถา เช่นในมโนรถปุรณีอรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๔ พระสูตรที่ ๔ นิทานสูตร ข้อ ๔๗๓ ก็จะมีเรื่องของกรรมทุกประเภท พร้อมทั้งตัวอย่างด้วย

    2881 กรรมเป็นเหตุแห่งวิบากเพราะ ...

    สำหรับในวันนี้ก็ขอกล่าวถึงเรื่องของกรรมโดยนัยของพระอภิธรรม ซึ่งข้อความในมโนรถปูรณีอรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต พรรณนาสีหสูตร อธิบายผลอันเกิดแต่เหตุ อันเป็นฐานะที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบชัดด้วยพลญาณ มีข้อความว่า

    กรรมเป็นเหตุแห่งวิบากเพราะ คติสมบัติหรือวิบัติ ๑ อุปธิสมบัติหรือวิบัติ ๑ กาลสมบัติหรือวิบัติ ๑ ปโยคสมบัติหรือวิบัติ ๑ ซึ่งมาแล้วในพระอภิธรรมปิฎกนั่นแหละ โดยนัยเป็นต้นว่า อัตเถกัจจานิ ปาปกานิ กัมมสมาทานานิ คติสัมปัตติปฏิพาฬหานิ นะ วิปัจจันติ ซึ่งแปลความว่า “กัมมสมาทานฝ่ายบาปบางอย่าง อันคติสมบัติห้ามไว้ ย่อมไม่ให้ผล มีอยู่ ดังนี้”

    นี่ก็เป็นเรื่องของกุศลกรรม และอกุศลกรรม ซึ่งยังไม่ได้โอกาสที่จะเกิดขึ้นกระทำกิจของกรรมนั้นๆ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าเหตุได้กระทำไปแล้วก็จริง แต่ว่าโดยกิจ คือ บางกรรมกระทำชนกกิจ คือ ทำกิจให้ปฏิสนธิเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าการที่แต่ละบุคคลจะได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์ หรือว่าเป็นเทวดา หรือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ตามแต่ ย่อมแล้วแต่ปฏิสนธิจิต เมื่อปฏิสนธิในโลกมนุษย์ ก็ชื่อว่า มนุษย์ และก็ถ้าวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิในสวรรค์ ยังคงเรียกมนุษย์หรือเปล่า ก็เปลี่ยนเป็นเทพแต่ละบุคคล หรือว่าเวลาที่สัตว์เดรัจฉานเกิดขึ้น ที่ชื่อว่า สัตว์เดรัจฉานก็เพราะปฏิสนธิจิตนั่นเอง ซึ่งเป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิในภูมินั้นๆ

    2882 คติสมบัติ - คติวิบัติ

    เพราะฉะนั้น กรรมที่เป็นเหตุแห่งวิบาก เพราะคติสมบัติหรือวิบัติ



    หมายเลข 3
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ