กรรม ตอนที่ 14


    3853 กรรมเป็นเรื่องละเอียด

    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ และก็ต้องพิจารณามาก เพราะเหตุว่าเรื่องกรรมนั้นคงจะไม่ใช่วิสัยของคนทั่วๆ ไปที่จะเข้าใจได้โดยถ่องแท้ โดยละเอียด

    ข้อสำคัญที่จะต้องทราบก็คือว่า กรรมได้แก่เจตนาเจตสิกเท่านั้น แต่ถ้ากล่าวโดยนัยกว้าง กรรมก็ได้แก่จิตที่เกิดร่วมกับอกุศลเจตนาหรือกุศลเจตนา

    เพราะฉะนั้นบางครั้งจะพูดกว้างว่า อกุศลจิต แต่ถ้าโดยเจาะจงก็ต้องหมายถึงเฉพาะเจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต เช่น กายกรรม ๓ ปาณาติบาต การฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ในขณะนั้นต้องมีพยาปาท ต้องมีความไม่พอใจ ต้องมีความโกรธถึงขั้นรุนแรงที่สามารถจะกระทำปาณาติบาตได้ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความโกรธเพียงเล็กน้อย ความขุ่นใจนิดหน่อย จะไม่มีการฆ่าเลย เพราะฉะนั้นสภาพของจิตซึ่งประกอบด้วยโทสะจะต้องมีกำลังขึ้นจึงสามารถที่จะกระทำการฆ่าได้ เพราะฉะนั้นแม้ในขณะนั้นจะเป็นกายกรรม จะปราศจากพยาปาทได้ไหม และถ้าอ่านตามตัวหนังสือ พยาปาทก็เป็นมโนกรรม เพราะเหตุว่ากายกรรมมี ๓ คือ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ วจีกรรมมี ๔ คือ มุสาวาท ๑ ผรุสวาจา ๑ ปิสุณาวาจา ๑ สัมผัปปลาปวาจา ๑ มโนกรรมมี ๓ คือ อภิชฌา ๑ พยาปาท ๑ มิจฉาทิฏฐิ ๑

    เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินเพียงชื่อหรือตามตัวอักษร ก็ต้องคิดว่าในขณะใดมีความโกรธเป็นพยาปาท ขณะนั้นเป็นมโนกรรม แต่ถ้าจะพิจารณาถึงลักษณะสภาพของความโกรธหรือความผูกโกรธที่เป็นโทสะที่มีกำลังแล้ว ใช้คำว่าพยาปาทได้ เช่นเดียวกับโลภะ เป็นสภาพที่ต้องการอารมณ์ ยึด ติด ไม่สละอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ขณะที่มีความพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต แต่ยังไม่ใช่ทุจริต เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงความชอบ ความติด การไม่สละ แต่เมื่อใดที่มีการคิดเพ็งเล็งอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นทุจริต และมีการถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้มาเป็นของตน อันนั้นก็เป็นอกุศลกรรมที่เป็นอทินนาทาน แต่ว่าในขณะนั้นต้องพิจารณาว่ามีอภิชฌาไหม ต้องมี เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นแต่เพียงความต้องการหรือไม่สละในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ แต่ยังถึงขั้นถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน

    นั่นก็แสดงว่ามีความต้องการ มีอภิชฌา มีความเพ่งเล็ง อยากจะได้ทรัพย์สิ่งของของคนอื่น เพราะฉะนั้นถ้าจะติดที่คำว่ามีอภิชฌา ท่านผู้ฟังก็อาจจะเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นมโนกรรม เพราะใช้คำว่าอภิชฌา แต่ความจริงจะใช้คำว่า โลภะ จะใช้คำว่า อภิชฌาก็ได้ หรือจะใช้คำว่าโทสะ หรือคำว่าพยาปาทก็ได้ แต่ว่าการที่จะพิจารณาว่า เป็นกรรมที่เป็นกายกรรมหรือวจีกรรมหรือมโนกรรมก็ต้องเป็นความละเอียดกว่านั้น

    3854 มโนกรรมทวาร

    ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ว่าด้วยมโนกรรมทวาร มีข้อความว่า

    กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ๒๙ คือ อกุศลจิตมี ๑๒ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง รวมเป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง และมหากุศลจิต ๘ ดวง รวมเป็น ๒๐ ดวง รูปาวจรกุศลจิต คือ รูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ รวมเป็น ๕ ดวง และอรูปาวจรกุศลจิตอีก ๔ ดวง รวมเป็นรูปาวจรกุศลจิต และอรูปาวจรกุศลจิตเป็นมหคตกุศลจิต ๙ ดวง รวมทั้งหมดก็เป็นกุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ๒๙ อันเป็นไปในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ รูปพรหมภูมิ และอรูปพรหมภูมิ ชื่อว่า มโนกรรม และมโนทวาร

    หมายความว่าจิตทุกดวงที่เป็นอกุศลประกอบด้วยเจตนาเจตสิก เพราะฉะนั้นจิตทุกดวงที่เป็นกุศล และอกุศล โดยที่ยังไม่กระทำกรรมทางหนึ่งทางใด กุศลเจตนา และอกุศลกรรมเจตนาทั้งหมดนั้นชื่อว่า มโนกรรม ในขณะที่ยังไม่ได้กระทำกรรมทางกายหรือทางวาจา

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมากที่จะพิจารณาว่า กำลังของอกุศลย่อมเพิ่มขึ้นจากโลภมูลจิตธรรมดา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ เมื่อมีการเห็นแล้วที่จะยับยั้งไม่ให้เกิดโลภมูลจิต ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งปัจจัยที่จะไม่ให้โลภมูลจิตเกิดเมื่อเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่ามีการสะสมโลภะเนิ่นนานมาในสังสารวัฏ จนกระทั่งเป็นธรรมที่เป็นปกติที่มีกำลังที่โลภะจะเกิดขึ้น เมื่อมีการเห็นสิ่งที่พอใจ แต่ว่าในขณะนั้นเป็นอกุศลเจตนาแล้ว เพราะเหตุว่าเกิดกับอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้นการที่จะกล่าวว่าเป็นกรรมบถ เป็นทาง หรือเป็นคติที่จะให้เกิดผลข้างหน้า ก็ต้องพิจารณาว่า ต้องเป็นทุจริตกรรมด้วย ไม่ใช่เป็นแต่เพียงโลภมูลจิตเกิดขึ้นก็จะเป็นกรรมทั้งหมด เป็นกรรมบถที่เป็นทางไปสู่อบายภูมิ แต่ต้องมีกำลังขึ้นจนถึงกับกระทำกรรมทางหนึ่งทางใด คือ ที่ชื่อว่าเป็นกายกรรมเพราะเรียกตามทวาร หรือเพราะเหตุว่าการกระทำนั้นส่วนมากสำเร็จโดยทวารนั้น เช่น ปาณาติบาต การฆ่า ทุกคนต้องทราบว่าต้องสำเร็จลงด้วยกายกรรม ต้องมีการกระทำทางกาย ถ้าไม่มีการกระทำทางกาย ปาณาติบาตก็สำเร็จไปไม่ได้ ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะสำเร็จโดยวจีทวาร คือการใช้คนอื่นให้ทำก็จริง แต่ที่การสิ้นชีวิตจะมีได้ ก็ต้องอาศัยการกระทำทางกาย เป็นกายกรรม เพราะฉะนั้นเมื่ออาศัยกาย ปาณาติบาตจึงเป็นกายกรรม เพราะว่าส่วนมากเกิดทางกายทวาร

    เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ที่จะแยกเรื่องของกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ซึ่งถ้าท่านผู้ใดสนใจก็สามารถที่จะศึกษาค้นคว้าได้จากอัฏฐสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ ว่าด้วยกรรม และว่าด้วยมโนกรรมทวาร เพราะเหตุว่าข้อความละเอียดก็มีกล่าวว่า มโนกรรมที่เป็นอกุศลย่อมเกิดขึ้นได้ทางทวารทั้ง ๓

    อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่าสำหรับทางฝ่ายอกุศล กายกรรมเกิดได้ทางกาย และทางวาจา วจีกรรมก็เกิดโดยนัยเดียวกัน คือเกิดทางกายทวารก็ได้หรือทางวจีทวารก็ได้ แต่สำหรับมโนกรรมนั้นกว้างขวางกว่า คือเกิดได้ทั้งกายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร สำหรับอกุศลกรรม ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศล กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้ใดสนใจในเรื่องของกรรม ก็ต้องศึกษาอีกต่อไป

    3855 ปุถุชนยังมีโลภะให้ล่วงอกุศลกรรมได้

    พระอนาคามีบุคคลยังมีโลภะ แต่ว่าไม่มีอกุศลกรรมบถที่จะให้ไปสู่อบายภูมิตั้งแต่พระโสดาบัน

    เพราะฉะนั้นเรื่องของอภิชฌาหรือโลภะของแต่ละบุคคล ก็ต้องตามระดับขั้น แต่ยังเป็นปุถุชนอยู่ โลภะก็มี ถ้าจะใช้คำว่า อภิชฌาสำหรับปุถุชน ก็ต้องมีทั้งที่เป็นโลภะธรรมดา หรือที่เพ่งเล็งต้องการอยากได้ของของบุคคลอื่นถ้าเป็นอกุศลกรรม แต่ถ้าไม่ใช่อกุศลกรรม ก็เป็นเพียงความยินดี ต้องการ ไม่สละวัตถุที่กำลังเป็นอารมณ์

    ทรงเกียรติ์ ที่นี้ในธรรมบท ท่านกล่าวว่า ถ้าเป็นโลภะ ยังไม่ล่วงกรรมบถ ต่อเมื่อมีจิตคิดว่า ไฉนหนอสิ่งนี้จะเป็นของเรา กรรมบถถึงจะแตก ท่านแสดงว่าองค์ของอภิชฌามี ๒ ได้แก่ สิ่งของเป็นของคนอื่น ๑ มีจิตน้อมมาเพื่อตน ๑ แต่สิ่งของที่สวยๆ งามๆ เห็นแล้ว ต้องเห็นว่าเป็นของสวย มีความชื่นชมยินดีในสิ่งของนั้น แต่ในขณะที่ชื่นชมยินดีสิ่งของนั้น อภิชฌายังไม่แตก เป็นเพียงโลภะ ต่อเมื่อใดมีจิตที่น้อมมาว่า ไฉนหนอสิ่งนี้พึงเป็นของเรา ช่วงนั้นกรรมบถถึงจะแตก

    ท่านอาจารย์ ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่นำเรื่องนี้มากล่าวขึ้น เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของอกุศลกรรมบถทางมโนทวาร ซึ่งต้องอาศัยการพิจารณาโดยละเอียด ที่ว่า “ไฉนหนอ สิ่งนี้พึงเป็นของเรา” ถ้าผิดเพี้ยนไปจากประโยคนี้ เหมือนกันไหม หรือว่าต้องพูดอย่างนี้เท่านั้น ถ้าไม่พูดประโยคนี้ เป็นประโยคอื่น ยังคงเป็นมโนกรรมอภิชฌาหรือไม่ การที่จะวัดว่า อกุศลจิตหรืออกุศลเจตนานั้นถึงขั้นอกุศลกรรมหรือยัง ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามารดาบอกลูกว่า เดี๋ยวจะให้เสือกิน เป็นอกุศลกรรมบถไหมคะ เป็นวาจาที่น่าฟังเผ็ดร้อนไหมคะ กล่าวออกไปแล้วด้วย ในขณะนั้นจิตเป็นอะไร เวลาที่รักลูก เมตตาลูก กับเวลาที่โกรธ วาจาต้องต่างกัน เพราะฉะนั้นถ้ามารดาท่านหนึ่งจะบอกบุตรว่า เดี๋ยวจะให้เสือกินซะ ขณะนั้นจิตเป็นโทสมูลจิต มีกำลังที่จะทำให้ไหววาจาทางวจีทวารออกไป ครบองค์ของวจีทุจริตหรือเปล่า แต่ว่าเป็นอกุศลกรรมหรือเปล่า หรือว่าเป็นอกุศลกรรมบถหรือเปล่า

    การพูดมีหลายอย่าง หลายลักษณะ พูดเล่น พูดจริง ทีเล่นทีจริง บางทีบางท่านอาจจะกลั่นแกล้งคนอื่นนิดๆ หน่อยๆ เป็นอกุศลกรรมบถครบองค์ไหม จะพาไปสู่อบายภูมิ สมควรไหมคะ หรือว่าไปได้ ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ

    เพราะฉะนั้นถ้ามีโลภมูลจิตเกิดขึ้น พอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังไม่เป็นทุจริตกรรม ถ้าต้องการซื้อหามาในทางสุจริต ก็เป็นแต่เพียงโลภมูลจิต แต่ถ้าถึงกับคิดขโมย มีแผนการจริงๆ ไม่ใช่ว่าอยากจะได้ แล้วพูดว่า ไฉนหนอของนี้พึงเป็นของเรา ถ้าพูดเท่านั้นว่า แหม ของนี้สวย ทำอย่างไรจะได้ อย่างนี้จะเป็นทุจริตกรรมไหมคะ แต่ต้องมีอกุศลเจตนาที่จะกระทำทุจริตจริงๆ วางแผนการหรือคิดในใจที่จะประกอบทุจริตกรรม ขณะนั้นก็เป็นมโนกรรม ต้องมีการกระทำที่สมควรแก่การที่จะเป็นอกุศลกรรมบถ

    เพราะฉะนั้นเปลี่ยนคำ เปลี่ยนประโยคได้ จะพูดหรือไม่พูดก็ได้ เพียงแต่คิดแต่ไม่ใช้ประโยคนี้ก็ได้ หรือถ้าจะใช้ประโยคนี้ แต่ในใจไม่ได้คิดที่จะทำทุจริต ได้ไหมคะ เพราะฉะนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับอกุศลเจตนา โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของอกุศลกรรมบถ อย่าลืมนะคะ ว่าเป็นเรื่องของทุจริตกรรม

    สำหรับพยาปาท ก็โดยนัยเดียวกัน ถ้าโกรธ ทุกคนโกรธ แล้วยังไม่มีการคิดทำร้ายคนอื่น ขณะนั้นก็ยังเป็นเพียงอกุศลเจตนาที่เป็นอกุศลจิต ยังไม่ถึงกับเป็นอกุศลกรรมบถ แต่ถ้าคิดจริงๆ ที่จะทำร้ายจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่พูดว่า เดี๋ยวจะให้เสือกิน ขณะนั้นก็ต้องเป็นอกุศลกรรมบถทางใจ และจะล่วงออกเป็นทางกายหรือทางวาจา เมื่อการกระทำนั้นเกิดขึ้น แต่ถ้ายังไม่ล่วงออกไปก็เป็นมโนกรรมทางมโนทวาร



    หมายเลข 3
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ