เมตตา ตอนที่ 17


    ความละอายในที่นี้ ผมสงสัยว่า ละอายต่อบาปทั้งปวง หรือเฉพาะบาปข้อนี้

    ท่านอาจารย์ ความละอาย คือ สภาพของหิริเจตสิก มีหลายระดับ หลายขั้น เช่นเดียวกับเจตสิกอื่นๆ เวลาที่เห็นแล้วเกิดโลภะ ละอายในอกุศลที่เป็นโลภะ ที่พอใจในสิ่งที่เห็นไหม ทุกคนชอบสิ่งที่น่าดู เห็นดอกไม้สวยๆ เห็นอาหารที่สีสัน น่ารับประทาน เกิดโลภะ ความชอบใจขึ้น ละอายใจไหมที่มีโลภะ ที่ชอบหรือพอใจในสิ่งที่เห็น ยังเลย แต่ว่าเวลาที่จะฆ่าสัตว์ เกิดหิริ ความละอายในการที่จะกระทำใน สิ่งที่ชั่ว ที่เบียดเบียนประทุษร้ายชีวิตของสัตว์อื่น เพราะฉะนั้น ขั้นของความละอายซึ่งเป็นหิริก็มีหลายขั้น สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ย่อมมีความละอายมากกว่าผู้ที่เป็นปุถุชน และพระอริยบุคคลแต่ละขั้นก็มีความละอายที่ละเอียดขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ซึ่งดับกิเลสได้ เพราะว่าละอายแม้อกุศล คือ โลภะ ที่เห็นแล้วเกิดความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ หรือว่าละอายในโลภะเมื่อได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ก็เกิดความพอใจขึ้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นขั้นๆ สำหรับปุถุชนก็ละอายที่จะกระทำ ทุจริตกรรม อกุศลกรรม แต่ยังไม่ละอายเวลาได้มาโดยทางสุจริต ใช่ไหม

    ผู้ฟัง พระอรหันต์ต้องมีเมตตาธรรมอย่างนี้บ้างไหม ถ้าพระอรหันต์มีเมตตาอย่างนี้เป็นปกติ ทำไมท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงปรินิพพานด้วยศัสตราวุธ

    ท่านอาจารย์ อดีตกรรม ท่านไม่ได้กระทำกรรมตอนที่ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ได้กระทำแล้ว

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่า ถ้าอยู่ในสภาพความเป็นพระอรหันต์ ย่อมอยู่เหนือกรรม กรรมนั้นย่อมตามไม่ทัน จะต้องเป็นอโหสิกรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าปรินิพพานแล้ว ไม่มีจิต เจตสิก รูปที่จะรับผลของกรรมใดๆ เกิดอีกแต่ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพาน ยังมีปัจจัยที่จะให้อดีตกรรมให้ผลได้

    ผู้ฟัง ผมมีประสบการณ์เกี่ยวกับการมีเมตตา ในที่ทำงานผมมักจะถูกคนพูดเสียดสีอยู่ตลอดเวลา แต่ผมไม่ได้เอาใจใส่ต่อสิ่งเหล่านี้ จิตให้อภัยอยู่เสมอ ไม่ได้คิดโกรธ กลับถึงบ้านก็ไม่ได้คิดโกรธ นอนก็ไม่ได้นึกถึง อยากจะขอเสริมที่อาจารย์พูดไว้ว่า การให้อภัย หรือว่าไม่มีอกุศลจิตนั้น เป็นเรื่องที่ดีจริง ผมได้อดทนต่อสิ่งเหล่านี้มาเป็นเวลาถึง ๔ ปี จึงหมดปัญหานี้ ขอยืนยันให้อาจารย์ทราบ

    หลังจากนั้นก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับการแผ่เมตตาอีกพอสมควร คือ ที่บ้านผมมีหนูมาก วิ่งขวักไขว่ในห้องครัว อกุศลจิตเกิดแล้วในตอนนั้น ไปซื้อกับดักมาอันหนึ่ง ในขณะที่ซื้อกับดักหนูนั้นจิตต่อต้านว่า นี่เรากำลังจะกระทำอกุศลกรรม ซื้อมาแล้วก็วางไว้หลายวัน ว่าจะทำหรือไม่ทำ หนูก็วิ่งกันเพ่นพ่าน ในที่สุดก็โมหมูลจิตเกิดขึ้น ก็จับเสีย ๒ ตัว บางทีขณะที่เราวางกับดักไว้นี่ เกิดหิริโอตตัปปะขึ้นมา ต้องมาปลดออก เก็บสิ่งเหล่านั้นเสีย ในที่สุดก็หันมาใช้เมตตา อย่างที่อาจารย์พูด โดยปกติผมมักจะทำภาวนาอยู่เสมอๆ คือ ทำสมาธิ รู้สึกว่าไม่ดีขึ้นเลย เพราะว่าเราทำบาปแล้ว จิตเขาบอก ในที่สุดก็แผ่เมตตาว่า อย่ามายุ่งกันเลย ให้ที่อยู่ที่อาศัยก็ดีแล้ว อย่ามายุ่ง ได้ผล หลังจากนั้น ไม่มีปรากฏให้เห็นอีกเลย จนกระทั่งบัดนี้ จึงอยากจะเรียนยืนยัน สิ่งที่อาจารย์ได้พูดไว้ ให้ทุกท่านได้ทราบด้วย

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าทำสมาธิ ทำอย่างไร

    ผู้ฟัง เดิมที ผมทำโดยไม่รู้อะไร ผมภาวนาแบบพุทโธ ทำไปแบบไม่รู้อะไร เพื่อให้จิตนิ่ง พอถึงเวลา จิตจะตกไปตรงนี้ จนกระทั่งภาวนาไปๆ จนไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน หายใจหรือไม่หายใจก็ไม่รู้ ไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น มีแต่จิตดิ่งอยู่ตรงนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นเป็นอะไร เพราะไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อน ไม่เคยมีครูบาอาจารย์มาก่อน จนกระทั่งมาอ่านหนังสือทีหลังว่า เขาเรียกว่าอัปปนาสมาธิ หรืออะไรก็ไม่ทราบ ตอนนั้นทำไม่ได้หวังอะไร หวังให้จิตมีสมาธิพอสมควรเป็นใช้ได้

    ท่านอาจารย์ พอใจไหมในผลที่ได้กระทำแล้ว

    ผู้ฟัง ตอนนั้นพอใจมาก เหมือนเด็กไม่รู้อะไร เพราะว่าเราไม่เคยอ่านหนังสือว่าเป็นอะไร จะไปถามอาจารย์ก็ไม่รู้จะไปถามอาจารย์ที่ไหน สาเหตุ คือ ไปรับศีลจากพระสุปฏิปันโนมารูปหนึ่ง ก็เพียรพยายามที่จะทำอย่างนี้ กินเวลาถึง ๖ เดือน

    ท่านอาจารย์ เริ่มทำอย่างไร ที่ว่ากินเวลาถึง ๖ เดือน

    ผู้ฟัง เวลาจะปฏิบัติสมาธิ ระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระอรหันต์สาวกทั้งหลาย พระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย พระคุณของบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ขอจงสถิตอยู่เหนือเศียรเกล้าของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าจะปฏิบัติสมาธิจิต ณ บัดนี้ ขอบารมีได้ปกแผ่มาให้ข้าพเจ้าได้สมาธิจิตด้วย และก็เริ่มปฏิบัติ กินเวลาถึง ๖ เดือน

    ท่านอาจารย์ เริ่มอย่างไร

    ผู้ฟัง เริ่มภาวนาพุทโธ

    ท่านอาจารย์ ท่องหรือ

    ผู้ฟัง ให้ดูลมเข้าออก ดูให้รู้ว่าไปลึกแค่ไหน ไปสุดแค่ไหน และออกอย่างไร ในที่สุดลมนี้จะละเอียดขึ้นๆ ละเอียดจนเรารู้สึกว่า เราจะไม่หายใจ จะตายหรืออย่างไรไม่ทราบ นานเท่าไรผมไม่ทราบ จิตก็ถอน

    ท่านอาจารย์ มีข้อปฏิบัติ ๒ อย่าง ข้อปฏิบัติที่ได้ปฏิบัติแล้ว เริ่มจากการไม่รู้ และเมื่อปฏิบัติไปถึง ๖ เดือนแล้ว ก็ยังคงไม่รู้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง รู้ว่าถึงอัปปนาสมาธิ

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าเป็นสมาธิ แต่ก็ยังเกิดสงสัยว่า จะตายหรือเปล่า ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ในขณะที่สงสัยว่า จะตายหรือเปล่า เป็นกุศลหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ทราบเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ กุศลไม่เป็นอย่างนั้น ปัญญาไม่เป็นความสงสัย

    ผู้ฟัง รู้แต่เพียงอย่างเดียวว่า เอ๊ะ แปลกดี ตรงตามที่ครูอาจารย์ได้บอกไว้ในหนังสือที่อ่านว่า ต้องเป็นไปทางนั้น เพียงเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่จะมีการเจริญสมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องของการประสบพบเห็นสิ่งที่แปลกซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน ซึ่งเป็นชีวิตจริงๆ ทุกขณะ ขณะหนึ่งต้องดับไปก่อน ขณะต่อไปจึงเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว ถ้าปัญญาไม่สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดดับสืบต่อกันตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ ไม่มีหนทางที่จะดับกิเลสได้เลย

    ถ้ายังมีความพอใจที่จะเห็นสิ่งแปลกๆ ซึ่งไม่เคยเห็น หรือมีความพอใจที่เข้าใจว่าสงบ แต่ความจริงเป็นความกลัวว่าจะตายหรือเปล่า ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่ความสงบ ไม่ใช่ความรู้ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงเหมือนขณะที่กำลังเห็นตามปกติเดี๋ยวนี้ หรือว่ากำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ของจริงแท้ๆ ไม่ต้องสร้างขึ้นให้ผิดจากความเป็นจริง และต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้เอง จนกระทั่งประจักษ์ถึงความเกิดขึ้นและดับไปได้ จึงจะดับกิเลสได้จริงๆ ซึ่งเป็นหนทางที่ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาตั้งแต่ขั้นต้น และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากความรู้ และความรู้นั้นเองจะค่อยๆ เจริญขึ้น เริ่มจากความรู้ขั้นการฟัง

    ผู้ฟัง เมื่อ ๒ – ๓ อาทิตย์ก่อน ผมได้ฟังรายการวิทยุยานเกราะ ๗๙๒ ซึ่งมีอาจารย์วรรณสิทธิ์ กับคุณนิยม ฤทธิ์เสือ สนทนาธรรมกัน และมีคนถามอาจารย์วรรณสิทธิ์ว่า เวลานี้มีคนปฏิบัติหายใจเข้าให้ท่องพุท หายใจออกให้ท่องโธ เขาใช้ คำว่า พุท เข้า โธ ออก ถามว่า เป็นอานาปานสติ หรือว่าเป็นพุทธานุสสติ อาจารย์ตอบว่า พุท เข้า โธ ออก เป็นคำสอนนอกพุทธศาสนา ในพุทธศาสนาไม่มีคำสอนนี้ทั้ง ๓ ปิฎก ท่านกล่าวว่า ถ้าเป็นการเจริญอานาปานสติ ต้องรู้ลมหายใจ เข้าก็รู้ ออกก็รู้ ไม่ใช่ พุท เข้า โธ ออก ผมขอเล่าให้ท่านทั้งหลายพิจารณา

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังพิจารณาแล้ว มีความเห็นประการใดบ้างไหม

    ผู้ฟัง ผมคิดว่า ไม่นอกศาสนา คือ ในศาสนามีทุกสิ่งทุกอย่าง นอกศาสนาไม่มีอะไร เพราะนอกศาสนาไม่มีสมมติ ไม่มีบัญญัติ ในศาสนาจึงจะมี คนที่พูดอะไรออกมา ปฏิบัติอย่างไรก็ถูก ถูกในศาสนานี้ เหมือนอย่างอาจารย์บอกว่า คนที่ แทงตลอดนี้ อะไรๆ ก็อยู่ในตัวหมด คือ ไปเห็นที่อื่นไม่ได้ต้องเห็นในตัว เหมือนกับนาย ก. ถามนาย ข. ว่า คนนั้นไปไหนมา เขาตอบว่า คนนั้นออกจากเหตุไป ครั้นมาก็บอกว่า มาหาเหตุ และถามว่า เหตุอยู่ที่ไหน เหตุก็อยู่ที่ตัวท่าน เรื่องนี้อยากจะให้อาจารย์พิจารณา และพูดให้ฟังด้วย

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมมีทั้งกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอกุศลธรรมก็ต้องเป็นอกุศลธรรม อกุศลธรรมจะเป็นกุศลไม่ได้ ความเห็นผิดมีจริง ไม่ใช่ไม่มี เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดไม่ใช่ความเห็นถูก ความเห็นถูกก็มีจริง และความเห็นถูกไม่ใช่ความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติที่ไม่ทำให้จิตสงบเป็นสมถภาวนา หรือไม่ได้ทำให้เกิดปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาภาวนา ข้อปฏิบัติเหล่านั้นเมื่อไม่ใช่สมถภาวนา ไม่ใช่วิปัสสนาภาวนา จะเป็นอะไร

    เป็นการปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติกันจริง ไม่ใช่ว่าไม่ได้ปฏิบัติ แต่การปฏิบัตินั้นเป็นอะไร เมื่อไม่ใช่สมถภาวนาและไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็ต้องเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ถูกไหม เพราะฉะนั้น ไม่ควรเจริญ ไม่ใช่ว่าข้อปฏิบัติใดๆ ก็ควรเจริญกันทั้งสิ้น ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิดจะเจริญทำไม นอกจากจะเพิ่มมิจฉาทิฏฐิให้มากขึ้น

    ควรอบรมเจริญสัมมาทิฏฐิ ข้อปฏิบัติที่ถูก สัมมาปฏิบัติ ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ ถ้าไม่พิจารณา เพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าให้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ประพฤติปฏิบัติตามโดยความไม่รู้ ไม่ได้เข้าใจอะไรเลยว่า ทำไมจึงทำอย่างนั้น มีเหตุผลอะไร ปัญญารู้อะไร ในขณะนั้นทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อต้องการเห็นสิ่งอื่น ซึ่งไม่ใช่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ก็ไม่มีประโยชน์

    เพราะฉะนั้น การปฏิบัติใดก็ตามที่ไม่ใช่สมถภาวนาและไม่ใช่สติปัฏฐาน ย่อมเป็นมิจฉาทิฏฐิ การปฏิบัติผิด ซึ่งไม่ควรกระทำ ไม่ควรเจริญ ไม่ใช่ว่าทำอะไรก็ได้ ทำไปเถอะดีทั้งนั้น แต่ดีไม่ได้ เพราะว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

    ผู้ฟัง การแผ่ส่วนกุศลก่อนนอน กับการเจริญเมตตาภาวนาต่างกันอย่างไร สุ. ไม่ต่าง ถ้าจิตขณะใดประกอบด้วยเมตตา จะเป็นการคิดนึก หรือการแผ่ส่วนกุศล ขณะนั้นเป็นเพราะจิตที่เมตตาจึงแผ่ ถ้าไม่เมตตาก็ไม่แผ่ เพราะฉะนั้น เมตตามีทั้งการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา และคิดนึกด้วยใจ

    ผู้ฟัง ก่อนนอนผมมักกราบที่หมอน อย่างที่พูดๆ กันว่า เป็นการแผ่ส่วนบุญ ผมภาวนาว่า ขอให้ทานที่ผมได้กระทำมา ขอให้ศีลที่ผมได้รักษามา ขอให้ภาวนา คือ ๓ อย่างนี้ที่เรียกว่าบุญ ขอให้ไปถึงกับพ่อแม่ ให้พ่อแม่ก่อน ซึ่งท่านตายไปแล้ว ต่อไปผมก็ให้กับบุคคลทั่วๆ ไป และแผ่มาถึงคนที่เคยล่วงเกินกัน ทั้งฝ่ายที่ล่วงเกินผม และผมล่วงเกินเขาด้วยวาจา โดยมากก็แค่วาจา เมื่อผมคิดอย่างนี้แล้ว รู้สึกละอายเหลือเกินว่า สิ่งที่ผมทำไปแล้วน่ารังเกียจเหลือเกิน ผมก็แผ่เมตตาให้เขามากเป็นพิเศษ ผมนึกภาพว่าผมไปกราบขอโทษเขา แต่ผมยังไม่ทราบว่าเป็นเมตตา หรือเป็นการแผ่ส่วนบุญกุศล เท่าที่เคยทำอยู่เป็นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตที่คิดถึงคนอื่นด้วยความหวังดี ด้วยความปรารถนาดี ใช่ไหม

    ผู้ฟัง เป็นการแผ่อย่างหนึ่ง ใช่ไหม ความจริงผมอยากเจริญเมตตามากๆ แต่ว่าผมสงสัยมานาน เท่าที่อ่านตำราทางพระธรรมรู้สึกว่า วิธีที่พูดไว้นั้นไม่สามารถจะให้เกิดเมตตาจิตขึ้นได้มากๆ ผมเข้าใจว่า ถ้าหากเรารู้สภาพจิตเป็นประจำวันว่า ขณะนั้นสภาพธรรมนั้นเป็นเมตตา จิตที่เป็นเมตตาก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ผมก็หมั่นสังเกตดูว่า ขณะไหนเป็นเมตตา เมตตาก็จะเกิดง่ายขึ้น นี่เป็นประสบการณ์ของผม

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญเวลาที่โทสะเกิด เห็นชัดว่าไม่ใช่เมตตา เพราะฉะนั้น ต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า โลภะก็ไม่ใช่เมตตาด้วย จึงจะเจริญเมตตาได้ เพราะว่าเวลาที่เมตตาต้องไม่ใช่อกุศลจิต ต้องไม่ใช่ทั้งโลภมูลจิตและโทสมูลจิต บางท่านอาจจะคิดว่า เวลาที่ไม่เป็นโทสมูลจิต ขณะนั้นเป็นเมตตา แต่ว่าบางที หรือส่วนใหญ่เวลาที่ไม่เป็น โทสมูลจิตจะเป็นโลภมูลจิต นี่เป็นเหตุที่การอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นความสงบ คือ สมถภาวนา หรือสติปัฏฐาน จะขาดสติสัมปชัญญะไม่ได้ จึงจะรู้ชัดในสภาพของจิตในขณะนั้นว่า เป็นเมตตา หรือว่าเป็นโลภะ

    ผู้ฟัง อย่างเช่นลูก ใกล้เคียงกันมากว่า จะเป็นเมตตา หรือเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ เมตตาลูกได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ มีโลภะกับลูกได้ไหม ทั้ง ๒ อย่าง เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะจะทำให้รู้ลักษณะที่ต่างกันว่า ขณะนี้กำลังเป็นเมตตา หรือว่าขณะนี้กำลังเป็นโลภะ และเป็นสภาพธรรมที่ตรง เมื่อเป็นปัญญา ปัญญารู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ถ้าไม่ใช่ปัญญาอาจจะเข้าใจว่า โลภะเป็นเมตตา แต่เวลาที่ปัญญาเกิด ปัญญาสามารถรู้ลักษณะของเมตตาว่า ต่างกับลักษณะของโลภะ เพราะฉะนั้น จึงต้องอบรมเจริญปัญญาจึงจะรู้ได้

    ผู้ฟัง ผมไม่ใคร่ชอบดุคนใช้ และไม่สบายใจเลยถ้าได้ยินใครดุ หรือผมจะดุเอง โดยปกติแล้วตลอดชีวิตผมจะดุไม่เกิน ๑ หรือ ๒ ครั้ง อย่างนี้จะถือว่าเป็นเมตตาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ อย่าวัด โดยนำเอาเหตุการณ์ทั้งหมดมาถามเป็นเรื่อง เพราะว่าเป็นเรื่องของขณะจิตซึ่งเกิดดับเร็วมาก และสติสัมปชัญญะของบุคคลนั้นเองเท่านั้นที่รู้ว่า จิตของตนเองประกอบด้วยเมตตาหรือเปล่า บุคคลอื่นไม่สามารถรู้ได้ คนหนึ่งอาจจะไม่ดุว่าใคร แต่โกรธในใจ ความขุ่นเคืองมีหลายระดับ ความไม่พอใจนิดหน่อยมี ในขณะนั้นก็เป็นอกุศล เป็นโทสะ แต่ไม่ถึงกับล่วงออกไปเป็นการดุหรือว่ากล่าวด้วย คำแรงๆ แต่ยังมีความขุ่นเคืองใจซึ่งเป็นลักษณะของโทสะ เป็นอกุศล แต่ขณะใดที่มีความหวังดี ปรารถนาดี เกื้อกูลอนุเคราะห์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดในขณะนั้น จะรู้สภาพของจิตที่หวังดี ซึ่งต่างกับขณะที่กำลังโกรธ หรือว่าต่างกับขณะที่เป็นโลภะ จึงจะรู้ได้ว่า ตนเองเป็นผู้ที่มีเมตตาจริงๆ หรือเปล่า

    เวลาที่เมตตาเกิดจริง ผู้นั้นก็รู้ว่าเป็นเมตตาจริงๆ และยังรู้ด้วยว่า ตัวเองมีเมตตามากน้อยเท่าไรในวันหนึ่ง เมตตากับใครแล้วบ้าง และยังไม่มีเมตตากับใคร ซึ่งควรจะมี

    ผู้ฟัง เรื่องการเจริญสติปัฏฐานประจำวัน เนื่องจากผมเรียนทางโลกๆ มา ผมก็มักจะนึกถึงเหตุผลทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่อเสียงเกิดขึ้นปรากฏทางหู ผมรู้ด้วยเหตุผลว่า ผมได้ยิน ความดังก็ดี ความรู้เรื่องก็ดี อยู่ที่ผม ไม่ใช่อยู่ที่เกิดอย่างนั้น เมื่อผมนึกอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ทำให้สติเกิดบ่อยขึ้น และผมมักจะสนใจที่จะพิจารณา ผมไม่ทราบว่าผมมีโยนิโสมนสิการ หรือว่าจะผิดหรือถูกอย่างไรไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ การที่สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และศึกษาจนกว่าจะเป็นความเข้าใจชัดจริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้น เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ ซึ่งได้แก่เจตสิกที่จะปรุงแต่งให้แต่ละขณะเป็นกุศลจิตที่เกิดพิจารณาอย่างนั้น หรือว่ามนสิการอย่างนี้ ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นสติปัฏฐานจริงๆ โดยที่ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมและปัญญารู้ ซึ่งจะต้องถึงวันนั้นในวันหนึ่ง แต่กว่าจะถึง ก็แล้วแต่ว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้นึกอย่างนี้ พิจารณาอย่างนั้น และอาศัยการฟัง การสังเกต การอบรมด้วย จนกว่าจะเป็นสติปัฏฐานจริงๆ

    เพียงฟังอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าสติปัฏฐานจะสามารถจะเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมและรู้ชัดทันที แต่เพราะอาศัยการฟังแล้ว ฟังอีก และมีปัจจัยที่จะให้ตรึก นึก มนสิการอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง จนกระทั่งสติระลึกที่ลักษณะที่กำลังปรากฏ และปัญญาเริ่มโน้มไปศึกษาที่ลักษณะนั้น และค่อยๆ รู้ขึ้น ขณะนั้นจึงเป็นสติปัฏฐาน

    ต้องปรุงแต่งจริงๆ สมกับคำว่า สังขารขันธ์ คือ ปรุงแต่งจิตแต่ละขณะที่เป็นกุศลธรรม ซึ่งกว่าจะเป็นสติปัฏฐานจะต้องอาศัยการปรุงแต่งจากการฟัง จากการพิจารณาตามการสะสมของจิต จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้องเป็นสัมมาสติ ซึ่งแต่ละคนจะรู้ด้วยตัวของท่านเองว่า กว่าจะเกิด ยาก แต่เมื่อเกิดแล้วก็สะสมอยู่ต่อไปในจิต และวันหนึ่งๆ อกุศลก็เกิด ทับถมบ่อยเหลือเกิน กว่าจะมีปัจจัยเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้อีก มากบ้าง น้อยบ้าง ก็อบรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ ในคราวก่อนมีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเกิดความสงสัยว่า เวลาที่นึกหวังดีต่อบิดามารดาของท่าน ขณะนั้นจะเป็นโลภะหรือเป็นเมตตา เพราะสภาพธรรมใกล้ชิดกันมากระหว่างโลภะกับเมตตา ถ้าเป็นการนึกถึงพระคุณของมารดาบิดา และมีความหวังดี มีความปรารถนาดีต่อท่าน โดยฐานะที่ท่านเป็นผู้มีพระคุณมากมาย ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เป็นเมตตา ไม่ใช่โลภะ เพราะฉะนั้น อย่าลืม ในขณะใดที่มีความรัก ขณะนั้นเป็นโลภะ แต่ขณะที่มีการระลึกถึงความเป็นผู้มีพระคุณ และมีความหวังดี ต่อท่าน ขณะนั้นเป็นเมตตา

    มารดาบิดาก็เช่นเดียวกัน มารดาบิดารักบุตรแน่นอน ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต แต่มารดาบิดาที่ได้ฟังธรรม ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ได้รู้ลักษณะสภาพที่ต่างกันของเมตตากับโลภะ มารดาบิดาย่อมมีเมตตาต่อบุตรเพิ่มขึ้นแทนโลภะได้ มิฉะนั้นแล้ว ก็บุตรของเรา ความรักบุตรมาก บางทีมากจนกระทั่งสามารถประทุษร้ายบุตรของคนอื่นได้ ซึ่งอย่างนั้นไม่ใช่ลักษณะของเมตตาต่อบุตร แต่เป็นลักษณะของความรักบุตร ซึ่งเป็นโลภะ

    อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต เมตตาสูตร แสดงอานิสงส์ของเมตตาไว้ ๑๑ ประการ คือ เพิ่มขึ้นอีก ๓ ประการ ข้อความมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการ

    ไม่ใช่นิดๆ หน่อยๆ วันหนึ่งเมตตาบ้าง ไม่เมตตาบ้าง แต่ว่า เสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว

    ข้อความต่อไป

    ๑๑ ประการเป็นไฉน คือ ย่อมหลับเป็นสุข ๑ ย่อมตื่นเป็นสุข ๑ ย่อมไม่ฝันลามก ๑ ย่อมเป็นที่รักแห่งมนุษย์ทั้งหลาย ๑ ย่อมเป็นที่รักแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย ๑ เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา ๑ ไฟ ยาพิษ หรือศัสตราย่อมไม่กล้ำกรายได้ ๑ จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว ๑ สีหน้าย่อมผ่องใส ๑ เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ ๑ (เวลาที่จะตายไม่หลง) เมื่อไม่แทงตลอดคุณอันยิ่ง ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภแล้วด้วยดี พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการนี้แล ฯ

    จบ สูตรที่ ๕

    ข้อที่เพิ่มอีก ๓ ประการจาก เมตตสูตร ข้อ ๙๑ คือ จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว ๑ สีหน้าย่อมผ่องใส ๑ เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ ๑

    อานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการข้างต้น มีข้อความเหมือนกันกับใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค เมตตากถา ข้อ ๕๗๔ - ข้อ ๕๘๗ ซึ่งเป็นเรื่องของการอบรมเจริญเมตตาที่สงบมั่นคงขึ้น เมื่อประกอบด้วยอินทรีย์ ๕ และพละ ๕

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเมตตาจริงๆ โดยไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย ก็ย่อมจะเป็นการยาก เพราะเมตตาที่จะเป็นความสงบมั่นคงขึ้นนั้น ต้องประกอบด้วยอินทรีย์ ๕ และพละ ๕ ที่ใช้คำว่ามั่นคง หมายความว่า ไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจึงจะรู้ได้ว่า ขณะใดหวั่นไหว และขณะใดไม่หวั่นไหว

    ขณะนี้หวั่นไหว หรือไม่หวั่นไหว ถ้าไม่รู้ ก็จะต้องอบรมเจริญความรู้ขึ้น

    เรื่องของการที่จะละกิเลสต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่คิดถึงเมื่อวานนี้ หรือว่าคิดถึงพรุ่งนี้ แต่เดี๋ยวนี้เอง ถ้าปัญญาจะเกิด ปัญญาก็เกิดเดี๋ยวนี้ ถ้าจะอบรมเจริญปัญญา ก็อบรมเจริญเดี๋ยวนี้ เพราะว่าขณะก่อนก็ผ่านไปแล้ว และขณะต่อไปก็ยังไม่มาถึง เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาเกิดในขณะนี้ ถึงปัญญานั้นจะดับ ก็สะสมสืบต่อในจิตดวง ต่อๆ ไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ปัญญามั่นคงขึ้น และที่มั่นคง ก็คือไม่หวั่นไหว

    ขณะนี้ทุกท่านต้องทราบว่า กำลังหวั่นไหวหรือเปล่า ถ้าเป็นอกุศล หวั่นไหวแน่นอน แต่ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จะรู้ได้ว่า หวั่นไหวมาก หรือว่าหวั่นไหวน้อย ก็เพราะว่ากุศลจิตเกิดมาก หรืออกุศลจิตเกิดมาก

    มีความมั่นคงที่จะเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วหรือยัง เพราะในตอนต้นๆ ในตอนแรกๆ ย่อมมีปัจจัยที่จะทำให้หวั่นไหวไปทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง ถ้ายังติดในเรื่องของสมาธิซึ่งเป็น มิจฉาสมาธิ ขณะนั้นหวั่นไหว เพราะไม่ใช่กุศลที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่มีความพอใจ มีความยินดี มีความต้องการที่จะเห็นหรือที่จะประสบกับสิ่งซึ่งไม่ใช่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้

    ผู้ฟัง ผู้ที่เจริญเมตตาได้อานิสงส์ ๑๑ ประการนี้ จะต้องเจริญถึงปฐมฌานจึงจะได้อานิสงส์ หรือไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ พิสูจน์กับตนเอง อานิสงส์ ๑๑ ประการที่ทรงแสดงไว้ เพื่อให้พิสูจน์ว่า ตัวท่านได้รับอานิสงส์ ๑๑ ประการแล้วหรือยัง

    ผู้ฟัง พิสูจน์ไม่ได้ เช่น ศัสตรายิงไม่เข้า แทงไม่ออก จะไปพิสูจน์ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ หลับเป็นสุขหรือเปล่า ขั้นต้นๆ ยังไม่ต้องถึงศัสตรา หลับเป็นสุขหรือเปล่า ตื่นเป็นสุขหรือเปล่า ฝันไม่ลามกหรือเปล่า เป็นที่รักของมนุษย์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ผมคิดว่า ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยโสมนัสเวทนามักจะเป็นที่รัก เพราะว่าหน้าตายิ้มแย้ม อยู่ที่ไหนก็ครึกครื้น เพราะฉะนั้น บุคคลที่ปฏิสนธิด้วยโสมนัสเวทนามักจะเป็นที่รักกับคนทั่วๆ ไป

    ท่านอาจารย์ ต้องอาศัยอานิสงส์อื่นๆ เทียบเคียง ไม่ใช่แต่เฉพาะอย่างเดียว ถ้าคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส หัวเราะ ร่าเริง สนุกสนาน แต่ว่าคดโกงคนอื่น เบียดเบียนคนอื่น ยังคงเป็นที่รักไหม

    ผู้ฟัง เป็นจำนวนน้อยคน

    ท่านอาจารย์ หรือว่าเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ยังคงเป็นที่รักไหม สนุกสนานร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ฉลาดที่จะเอาเปรียบ และเห็นแก่ตัว ยังคงเป็นที่รักไหม

    ผู้ฟัง อย่างนี้รักไม่ลง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยหลายประการ และอย่าคิดถึงแต่อานิสงส์ หวังอานิสงส์ แต่ควรจะให้อานิสงส์เป็นเครื่องวัดกุศลธรรมที่มีอยู่ในตัวว่า มากน้อยแค่ไหน พอที่จะถึงหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุขแล้วหรือยัง

    ผู้ฟัง อานิสงส์ในอารมณ์ ๔๐ ของสมถภาวนา อ่านแล้วน่าปรารถนาทั้งนั้น ตั้งแต่ปฐวีกสิณ เป็นต้น อยากจะเจริญอารมณ์นั้นๆ ทั้ง ๔๐

    ท่านอาจารย์ แสดงว่าหวั่นไหวแล้ว ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ยังต้องการอานิสงส์อยู่

    ท่านอาจารย์ หวั่นไหวแล้ว ต้องรู้จักตัวเองว่า ในขณะนั้นหวั่นไหวแล้ว บารมี ๑๐ นี้ ไม่ใช่เพื่อที่จะได้ผลหรืออานิสงส์อื่น แต่บารมีทั้ง ๑๐ ไม่ว่าจะเป็นทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี วิริยบารมี การที่จะอบรมเจริญกุศลต้องมีวิริยะ ต้องมี ความเพียร ขันติบารมี ต้องมีความอดทนที่จะเป็นกุศล ที่จะไม่โกรธ ไม่พยาบาท ที่จะเอื้อเฟื้อ ที่จะเป็นมิตรไมตรี ที่จะเจริญกุศลทุกอย่าง สัจจบารมี อธิษฐานบารมี ความมั่นคงไม่หวั่นไหวที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ทั้งหมดนี้ คือ ชีวิตประจำวันทุกๆ ขณะในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ มีความมั่นคงจริงๆ เป็นอธิษฐานบารมี ซึ่งไม่ใช่หวังผลของกุศลที่จะเป็นอย่างอื่น นอกจากอบรมเจริญกุศลเพื่อขัดเกลากิเลสที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเท่านั้น ถ้ายังไม่เป็นอธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นอย่างนี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ถ้ายังไม่มีวิริยะ ไม่มีขันติ ความอดทน ไม่มีความพากเพียรที่จะไม่โกรธ ที่จะไม่พยาบาท ที่สามารถจะเป็นมิตรได้กับทุกคน ก็ยังไม่พร้อม ยังไม่พอที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม อย่าคิดว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นเรื่องง่ายๆ โดยไม่ต้องอาศัยบารมี หรือว่าการอบรมอะไรเลย แต่ว่าต้องพร้อมทั้ง ๑๐ บารมี มากหรือน้อยตามขั้นของการเป็นพระอริยบุคคล ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องบำเพ็ญบารมีอย่างมาก ถ้าเป็นพระอัครสาวกหรือพระมหาสาวก ก็น้อยลงตามลำดับ แต่ถ้าหวังอยู่เรื่อยๆ เจริญไป หวังไป พอใจไป เฉพาะที่จะได้อานิสงส์ต่างๆ ของกุศล นั่นก็ไม่มั่นคง หวั่นไหวไปแล้ว

    อย่างท่านที่ท่องคาถา ลองพิจารณาสภาพของจิตในขณะที่ท่องจริงๆ เพื่อที่จะได้ทราบว่าท่องทำไม แต่ละครั้งที่ท่อง ไม่ว่าจะเป็นคาถาอะไร คาถามีหลายอย่าง ใช่ไหม ที่จะให้เป็นที่รัก เมตตามหานิยมหรืออะไร คาถากันไฟ หรือคาถากันงู คาถากันขโมย หรือว่าคาถาอะไร ก็มีมากมายหลายอย่าง ขอให้พิจารณาจิตในขณะที่ท่องคาถาว่า ขณะนั้นเป็นจิตอะไร รักชีวิต รักตนเองที่สุดยิ่งกว่าใครจึงท่อง ใช่ไหม

    ท่องคาถาเมตตามหานิยมเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อตัวเอง หรือจะเป็นคาถาอื่นๆ ก็ตาม เพราะรักตัวเองที่สุด เพราะฉะนั้น จึงหวังที่จะได้รับผลจากการท่อง แต่ขณะนั้นไม่ใช่อธิษฐานบารมีที่จะมั่นคง ไม่หวั่นไหว และก็ไม่ได้มุ่งหวังผลใดๆ ทั้งสิ้น เพียงเจริญกุศลเพื่อที่จะขัดเกลาอกุศลให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    เข้าใจว่าคาถาคงมีมากกว่าที่กล่าวถึงแล้ว บางท่านก็หวั่นไหวไปในเรื่องต่างๆ และมีผู้ที่ท่านคิดว่าจะอำนวยประโยชน์ให้ ท่านก็ท่องคาถาบูชาบุคคลเหล่านั้น เคยได้ยินคาถาที่ท่องสำหรับแต่ละบุคคลไหม สำหรับบูชาบุคคลนั้นบ้าง บุคคลนี้บ้าง โดยเฉพาะเจาะจง หวังอะไรจึงท่อง ถ้าไม่หวังจะท่องไหม เพราะฉะนั้น เวลาท่องให้ทราบว่า เพราะหวัง เป็นโลภมูลจิต

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บรรยายถึงอานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการ ก็อยากจะเจริญเมตตา ซึ่งการเจริญเมตตาเจริญนี้ได้ทั้ง ๓ ทวาร คือ กาย วาจา ใจ และผมก็รู้แล้วว่า ขณะที่ท่องขณะนั้นจิตไม่ได้ประกอบด้วยเมตตา เพราะฉะนั้น จะเจริญเมตตาทางกาย ทางวาจา ทางใจอย่างไร เจริญไม่ถูก ขออาจารย์ช่วยแนะนำด้วย

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังเห็นใคร มีความรู้สึกดูหมิ่นหรือเปล่า หรือว่าไม่ชอบคนนั้น นึกชังในอาการที่ปรากฏ ในกิริยาท่าทางบ้างไหม

    ผู้ฟัง ก็มีอยู่

    ท่านอาจารย์ นั่นไม่ประกอบด้วยเมตตา เพราะฉะนั้น เวลาที่จะประกอบด้วยเมตตา คือ มีความรู้สึกเป็นมิตร มีไมตรีกับคนนั้นด้วยใจจริง ไม่มีความรู้สึกเป็นเราเป็นเขา ไม่รังเกียจ หรือว่าไม่ขุ่นเคืองใจในกิริยาท่าทางของบุคคลนั้น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะแสดงกิริยาอาการอย่างไรก็ตาม เพราะเหตุว่าคนเราไม่เหมือนกัน บางทีอาจจะชอบในกิริยาอาการอย่างหนึ่ง และไม่ชอบในกิริยาอาการอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้น ถ้าสติเกิดจะรู้ได้ว่าไม่ประกอบด้วยเมตตา

    ขณะที่ไม่ชอบในกิริยาท่าทีอาการของบุคคลอื่น หรือว่าในขณะที่ถือตัว หรือว่า ดูหมิ่นคนอื่น ในขณะนั้นไม่ประกอบด้วยเมตตา



    หมายเลข 3
    5 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ