กรรม ตอนที่ 05


    พระราชศรัทธาทำให้พระองค์ตรัสให้จัดที่บรรทมใกล้พระมหาเจดีย์ เพื่อที่จะได้ทอดพระเนตรดูพระมหาเจดีย์ที่สร้างไว้ก่อนที่จะสวรรคต

    ลำดับนั้น ซึ่งครั้งนั้นเมื่อพระมหาติสสะเถระซึ่งนั่งอยู่ใกล้พระมหาเจดีย์ทางทิศทักษิณของพระมหาเจดีย์ ขณะนั้นพระภิกษุก็ได้ทำการสาธยายพระสุตตันตปิฎก ด้วยสามารถนิกายทั้ง ๕

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    รถ ๖ คัน มาจากเทวโลกทั้ง ๖ ได้ตั้งอยู่ในอากาศเบื้องพระพักตร์ของพระราชา พระราชาให้สวดคัมภีร์จำเดิมแต่ต้นว่า ท่านทั้งหลายจงนำคัมภีร์แห่งบุญมา

    บางท่านอาจจะจดไว้ว่า ได้บริจาค ได้ทำกุศลในชีวิตของท่านที่ไหนบ้าง แต่สำหรับพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยก็มีบันทึกซึ่งเป็นคัมภีร์บุญของท่าน

    ครั้งนั้น กรรมไรๆ มิได้ยังพระราชาให้ชื่นชม พระราชาตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย จงกล่าวสวดต่อไปอีกเถิด” ภิกษุผู้กล่าวคัมภีร์ กล่าวแล้วว่า พระราชาผู้ปราชัยในการรบที่จุลลังคณิยะ เสด็จเข้าไปสู่ป่านั้นนั่นเทียว ประทับนั่งแล้ว ทำก้อนภัตรก้อนหนึ่งเป็น ๔ ส่วน แล้วถวายภิกษาแก่พระมหาติสสเถระ ผู้อยู่ที่โพธิยมาลกทิศ

    เพียงเท่านี้พระราชาระลึกถึงกุศลที่ทำให้พระองค์ปีติโสมนัสอย่างยิ่ง จึงตรัสว่า “จงหลีกไปเถิด ดังนี้”

    ตรัสถามภิกษุสงฆ์แล้วว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เทวโลกไหนแลเป็นที่น่ารื่นรมย์กว่า ดังนี้”

    ภิกษุสงฆ์ตอบว่า “มหาบพิตร ภพดุสิตเป็นที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ทั้งปวง” ดังนี้ พระราชากระทำกาลแล้ว ดำรงอยู่แล้วบนรถที่มาจากภพดุสิตนั่นแหละ ได้เสด็จไปสู่ภพดุสิต

    นี้เป็นเรื่องในการให้ผลของกรรมมีกำลัง คือพหุลกรรม

    ถ้าจะให้ทุกท่านผู้ฟังนึกถึงกรรมที่มีกำลังที่เป็นกุศลในขณะนี้ นึกออกไหม

    ทรงเกียรติ ขณะนั้นไม่ใช่อาสันนกรรมหรือครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่พระราชาปราชัยในการรบที่จุลลังคณิยะ ไม่ใช่อาสันนกรรม

    ทรงเกียรติ ก็ขณะนั้นท่านกำลังมีพระเจดีย์เป็นอารมณ์ และพระภิกษุกำลังสวด ก็มีเสียงสวดเป็นอารมณ์ก็ได้

    ท่านอาจารย์ แต่แม้กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้พระองค์เกิดโสมนัสปีติ จนถึงตอนที่ภิกษุผู้กล่าวคัมภีร์กล่าวว่า พระราชาผู้ปราชัยในการรบที่จุลลังคณิยะ เสด็จเข้าไปสู่ป่านั้นนั่นเทียว ประทับนั่งแล้ว ทำก้อนภัตรก้อนหนึ่งเป็น ๔ ส่วน แล้วถวายภิกษาแก่พระมหาติสสเถระ ผู้อยู่ที่โพธิยมาลกทิศ

    ทรงเกียรติ สวรรค์ทั้งหมดมี ๖ ชั้น และดุสิตนี่เป็นชั้นที่ ๔ แต่สูงขึ้นไปอีก ๒ ชั้น คือ นิมมานรดี และปรนิมมิตตสวัสตี ถ้าเทวดาขับรถมารับ เขาจะเลือกชั้นดุสิตทุกที ไม่ว่าจะเป็นธัมมิกอุบาสก หรือพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ก็เหมือนกัน เลือกชั้นดุสิตทุกที เพราะเหตุใดครับ

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังจะเลือกรถคันไหน แทนที่จะนึกถึงพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัย นึกถึงท่านผู้ฟังเอง จะเลือกรถของสวรรค์ชั้นไหน ถ้าเลือกได้ จะเลือกคันไหน

    ทรงเกียรติ ดุสิต

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกัน ก็ไม่น่าสงสัยถึงจิตของผู้ที่ฝักใฝ่ในพระธรรม เพื่อจะได้อบรมเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้น

    นิภัทร เรื่องพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยที่อาจารย์บรรยายนี้ อยู่ในคัมภีร์อะไร

    ท่านอาจารย์ มโนรถปุรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกายค่ะ

    นิภัทร แสดงว่าคัมภีร์นี้แต่งในสมัย ...

    ท่านอาจารย์ หลังพระมหินทรเถระ

    นิภัทร คล้ายๆ กับบันทึกเรื่องราวในสมัยนั้น เพราะสังเกตดูว่า แม้แต่การกระทำของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย พระท่านก็เอาไปแต่งไปเขียนไว้เรียบร้อยแล้ว

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวอย่างของกุศลกรรม และอกุศลกรรม

    สำหรับข้อความในอรรถกถา โดยมากก็อธิบายพระสูตรต่างๆ ซึ่งอรรถกถารุ่นแรกมีในสมัยของพระมหินทรเถระ แต่เมื่อท่านพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งอยู่หลังปรินิพพาน ๙๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ ปี ได้ไปแปลอรรถกถารุ่นพระมหินทรเถระ ซึ่งเป็นรุ่นแรก ก่อนสมัยของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย พระพุทธโฆษาจารย์เมื่อแปลแล้ว ท่านก็เรียบเรียงคัมภีร์ต่างๆ เป็นภาษามคธ แทนคัมภีร์ภาษาสิงหล เพราะฉะนั้นจึงมีเรื่องหลังพระมหินทรเถระ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นอรรถกถาในสมัยโน้น ไม่ใช่ในสมัยนี้ เพราะเหตุว่าได้อธิบายตามแนวของอรรถกถาของพระมหินทรเถระทั้งนั้น เพียงแต่ว่ามีตัวอย่างเรื่องราวในสมัยนั้นประกอบ แต่เป็นเรื่องราวก่อนสมัยของพระพุทธโฆษาจารย์

    2741 พหุลกรรม

    สำหรับเรื่องของพหุลกรรม เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ว่า เมื่อไม่มีครุกรรมฝ่ายกุศล เพราะเหตุว่าท่านผู้ฟังคงจะไม่ได้อบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต ยากแสนยากที่จะให้จิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิ โดยไม่เสื่อมพอที่จะเป็นปัจจัยที่จะให้ฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต

    เพราะฉะนั้นก็เป็นอันหมดหวังเรื่องของครุกรรมทางฝ่ายกุศล ทางฝ่ายอกุศล ครุกรรมมี ๕ ประการ ในสมัยนี้ ก็มีเพียงการฆ่ามารดา ๑ การฆ่าบิดา ๑ การทำสังฆเภท ๑ ส่วนการฆ่าพระอรหันต์ และการทำโลหิตพระผู้มีพระภาคให้ห้อ ก็คงจะไม่มีผู้ใดได้กระทำ

    เพราะฉะนั้นเรื่องของอนันตริยกรรมซึ่งเป็นครุกกรรมฝ่ายอกุศลสำหรับผู้ที่จะทำก็เป็นส่วนน้อยมาก

    เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีครุกรรมทั้งฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล พหุลกรรม คือกรรมที่มีกำลังเป็นได้ทั้งฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมทราบด้วยตัวของท่านเองว่า ทางฝ่ายอกุศล กรรมใดที่ได้กระทำแล้วเดือดร้อนใจ นั่นแหละเป็นพหุลกรรมทางฝ่ายอกุศล หรือว่าทำแล้วไม่เคยร้อนใจเลย

    การร้อนใจจะดีหรือไม่ดีเป็นเรื่องน่าคิด การร้อนใจเป็นอกุศล อกุศลไม่ว่าจะเป็นขณะใดก็ตามย่อมให้ผลเป็นทุกข์ แต่ว่าไม่มีใครสามารถจะบังคับจิตไม่ให้ร้อนใจได้ ถ้ากรรมที่ได้ทำแล้วเป็นกรรมหนัก หรือเป็นกรรมที่มีกำลังทางฝ่ายอกุศล ฉันใด ทางฝ่ายกุศลก็เช่นเดียวกัน ถ้ากรรมใดที่ทำแล้วเกิดปีติโสมนัสอย่างยิ่ง กุศลนั้นก็เป็นพหุลกรรม คือ กรรมที่มีกำลัง

    2742 กุศลที่มีกำลัง เป็นกุศลที่มีกุศลเป็นบริวาร

    สำหรับกุศลกรรมที่ทุกท่านทำอยู่ ที่จะพิจารณาดูว่า กุศลกรรมใดเป็นกุศลที่มีกำลัง ก็คือกุศลที่มีกุศลเป็นบริวาร หรือว่าเพราะเสพคุ้น

    การทำกุศลแต่ละครั้ง จะเห็นได้จริงๆ ว่า ทำไมบางครั้งกุศลจิตเกิดมาก และบางครั้งกุศลจิตเกิดน้อย เพราะฉะนั้นกุศลที่จัดว่าเป็นกุศลที่มีกำลัง ก็ต้องเป็นกุศลที่มีกุศลเป็นบริวาร จึงจะแสดงให้เห็นว่าเป็นกุศลที่ผ่องใส และมีกำลัง ซึ่งถ้าพิจารณาในชีวิตประจำวัน ท่านที่สนทนาธรรม ท่านที่แสดงธรรม หรือท่านที่ศึกษาธรรม ขณะที่ท่านกำลังแสดงธรรมก็ดี หรือสนทนาธรรมกันก็ดี มีความสำคัญตนเกิดขึ้นแทรกในขณะนั้นบ้างหรือเปล่า ทางที่จะรู้ว่าเป็นกุศลที่มีกำลังหรือไม่ใช่กุศลที่มีกำลัง ก็ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลล้วนๆ หรือว่าเป็นกุศลที่มีอกุศลเกิดแทรกบางขณะ เพราะว่าผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลขั้นพระอรหันต์ ย่อมยังคงมีความสำคัญตน จะมากหรือจะน้อยต้องแล้วแต่การสะสมของแต่ละบุคคล

    ทุกท่านที่เกิดมามีความรักตน เมื่อมีความรักตนจึงต้องการให้ตนสำคัญ จึงมีความสำคัญในตน แม้ในเรื่องของการศึกษาธรรม การแสดงธรรม หรือการสนทนาธรรม ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็จะขาดการระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลโดยตลอดหรือว่ามีอกุศลประเภทใดเกิดแทรกบ้าง

    บางท่านบางขณะอาจจะไม่ใช่ความสำคัญตน แต่อาจจะเป็นการหวังอะไรบ้างหรือเปล่า บางคนอาจจะหวังลาภ หวังยศ หวังชื่อเสียง หรือแม้แต่เพียงหวังคำชมในความสามารถ ในความเก่ง ในความขยัน ในความตั้งใจศึกษา ในขณะเหล่านั้นกุศลจะมีกำลังเท่ากับขณะที่ไม่หวังหรือเปล่า

    นี่ต้องเป็นผลของการเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติจึงสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศล และสภาพธรรมใดเป็นอกุศล หรือว่าในการสนทนาธรรม มีโทสะ มีความขุ่นใจ มีความไม่แช่มชื่นใจ ไม่พอใจ เกิดขึ้นบ้างไหมถ้าบุคคลอื่นไม่เห็นด้วย หรืออาจจะเป็นผู้ที่ไม่มีเหตุผลในการขัดแย้ง

    นี่เป็นสิ่งซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะพิจารณาว่ากุศลขณะใดเป็นกุศลที่มีกำลัง และขณะใดเป็นกุศลที่ไม่มีกำลัง นอกจากจะเพราะมีกุศลเป็นบริวาร ทำให้กุศลนั้นมีกำลังแล้ว ก็ยังเป็นเพราะการเสพคุ้น คือ กระทำบ่อยๆ หรือว่าเมื่อนึกถึงกุศลที่ได้กระทำแล้ว จิตใจก็ยังเบิกบานผ่องใส ปราศจากอกุศล ขณะนั้นก็แสดงว่าเป็นกุศลที่มีกำลัง เพราะเหตุว่าทุกท่านก็จะต้องเคยทำกุศลมาแล้ว มากบ้าง น้อยบ้าง แต่บางครั้งก็ลืมกุศลนั้น ไม่ได้นึกถึงเลย แต่กุศลบางครั้งที่ได้ทำแล้วมีกำลัง ทำให้ระลึกถึงด้วยความปีติโสมนัสบ่อยๆ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่ากุศลกรรมที่ได้ทำแต่ละครั้งนั้น ก็ย่อมมีทั้งกุศลที่มีกำลัง และกุศลที่ไม่มีกำลัง

    2743 อโหสิกรรมทางธรรม - ทางโลก

    ถาม ขอเท้าความถึงคราวที่แล้ว เรื่องอโหสิกรรม คือ ขอยกตัวอย่างเรื่องจริงเลย คือมีศิษย์ผู้หนึ่งได้คิดในใจต่ออาจารย์ผู้สอนพระอภิธรรมว่า ไม่น่าจะมาเคี่ยวเข็ญสอนเราเลย และก็ยังคิดเลยไปอีกด้วย แต่ตอนหลังรู้ตัวก็ไปขอขมาจากท่านอาจารย์ผู้นั้น ท่านก็ให้อภัย อันนี้จะถือว่าเป็นอโหสิกรรมไหมคะ ที่ว่าจะไม่มีกรรมติดต่อกันอีก

    ท่านอาจารย์ คำว่า “อโหสิกรรม” หมายความว่า กรรมที่ได้ทำแล้ว เพราะฉะนั้น กรรมที่ได้ทำแล้ว มีทั้งที่เป็นกุศล และมีทั้งที่เป็นอกุศล กรรมที่ได้ทำแล้ว เปลี่ยนได้ไหม เปลี่ยนไม่ได้ แต่ทำกรรมใหม่ได้ไหม ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ว่ากรรมใดเป็นอกุศล แม้ว่าอกุศลนั้นจะได้ทำไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อรู้ว่าเป็นอกุศล ก็ทำกรรมที่เป็นกุศลเสีย

    ผู้ถาม แต่เขาก็ยังคงมีความขุ่นข้องใจมาจนทุกวันนี้

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นโทษ

    ผู้ถาม ทีนี้คำว่า อโหสิกรรมของชาวโลกนี่ ก็เข้าใจกันไปอีกอย่างหนึ่ง แต่อโหสิกรรมในอรรถกถาที่ท่านกล่าวมานี้ ก็แยกออกไปอีกอย่างหนึ่ง อยากจะให้ท่านอธิบายให้ละเอียดด้วย

    ท่านอาจารย์ อโหสิกรรมของชาวโลก คงจะหมายถึงการขออภัย และการให้อภัย ซึ่งจะทำให้จิตของผู้ขออภัยสบายขึ้น ถ้าได้ขออภัย แล้วก็บุคคลนั้นก็ให้อภัยด้วย

    2744 อโหสิกรรมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิเมื่อครบองค์

    ผู้ถาม อย่างในอรรถกถาที่ว่า อโหสิกรรม คือ กรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็ย่อมได้รับผลต่อไปแน่ ถ้าเผื่อว่าเขาจะจุติ เขาเกิดระลึกถึงกรรมนี้ขึ้นมาได้ ก็นำปฏิสนธิได้หรือคะ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าจะครบองค์หรือเปล่า ถ้าครบองค์ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิได้ ท่านผู้ฟังเคยโกรธไหมคะ เวลาโกรธ เคยคิดอะไรในใจไหม ถ้ายังไม่แสดงออกมาทางวาจา อาจจะเป็นเพียงแค่คิดในใจ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าคิดเลย ถูกไหมคะ ทุกคนน่ะค่ะ แต่ว่าเป็นการล่วงออกมาถึงขั้นกรรมที่ครบองค์ทางกาย ทางวาจาหรือเปล่า เด็กๆ ก็โกรธ ผู้ใหญ่ก็โกรธ ผู้ที่สูงอายุก็โกรธ เด็กโกรธ และเด็กอาจจะแสดงกิริยาอาการด้วยความไม่รู้ เด็กอาจจะตีต่อยหรือทำร้ายสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ก็ได้ ด้วยความไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลกรรม ผู้ใหญ่รู้ไหม บางท่านรู้ บางท่านไม่รู้ แล้วเป็นกรรมไหมคะ ผู้ที่ไม่รู้แต่ทำแล้ว เป็นกรรมไหมคะ เป็น ผู้ที่รู้แล้วทำ เป็นกรรมไหมคะ ก็เป็นทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นจะด้วยความไม่รู้หรือด้วยความรู้ แต่ว่ากายกรรมหรือวจีกรรมย่อมเกิดเพราะกุศลจิต และอกุศลจิต

    2745 อนันตริยกรรมที่เป็นสังฆเภท

    ถาม อนันตริยกรรมที่เป็นสังฆเภทนี่ อุบาสกอุบาสิกาทำได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ

    ผู้ถาม เพราะเหตุใดจึงทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะทำลายพระภิกษุสงฆ์ให้แยกจากกันได้ เพราะเหตุว่าอุบาสกอุบาสิกาไม่มีกิจที่จะเกี่ยวข้องในเรื่องของสังฆกรรม

    ถาม สังฆเภทนี่เป็นอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ การทำลายสงฆ์ให้แตกกัน เช่น แยกการกระทำอุโบสถกรรม และสังฆกรรมอื่นๆ ต้องเกี่ยวกับการกระทำสังฆกรรม หรือกิจของสงฆ์ที่ทรงบัญญัติไว้ให้ทำร่วมกัน ถ้าเมื่อสงฆ์เกิดแตกความสามัคคี ไม่กระทำสังฆกรรมร่วมกัน ก็เป็นสังฆเภท คือ ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน

    ถาม ...

    ท่านอาจารย์ สงฆ์ตามพระวินัย แล้วแต่ว่าจำกัดไว้ว่า ในกิจนี้ประกอบด้วยคณะ คือ สงฆ์กี่บุคคล สำหรับดิฉันเองไม่ได้ศึกษาในทางพระวินัยเลย ได้ยินได้ฟังได้รับทราบบ้างนิดๆ หน่อยๆ เพียงส่วนน้อย และเพียงอ่านข้อความจากพระวินัยปิฎกเท่านั้น

    2821 กรรมที่ไม่ครบองค์ ไม่ทำให้ปฏิสนธิ

    ถาม กรรมที่ไม่ครบองค์ทำให้ปฏิสนธิได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ กรรมไม่ครบองค์ไม่ทำให้ปฏิสนธิค่ะ

    ผู้ถาม คือผมเคยได้ยินเรื่องอนันตริยกรรม เขามีความตั้งใจจะยิงสัตว์ สัตว์หลบไปโดนบิดามารดา ปรากฏว่าเป็นอนันตริยกรรม

    ท่านอาจารย์ มีความตั้งใจ หมายความว่ามีเจตนา มีการฆ่า ซึ่งครบองค์

    ผู้ถาม แต่เขาไม่มีเจตนาจะฆ่าสัตว์นั้นนี่ครับ

    ท่านอาจารย์ มีเจตนาฆ่าค่ะ

    ผู้ถาม แต่ไม่ใช่สัตว์นั้น

    ท่านอาจารย์ มีเจตนาฆ่า เจตนาฆ่าจะเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้

    ผู้ถาม ฆ่าใครก็ได้หรือครับ

    ท่านอาจารย์ เมื่อเจตนาฆ่าเกิดขึ้น ก็ต้องเป็นองค์หนึ่งของปาณาติบาต

    2822 อาสัณณกรรม กับ ผู้รักษาประตูชาวทมิฬ

    ทุกท่านจะต้องจากโลกนี้ไป เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะลืมเลย ช้าหรือเร็ว เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลกรรมเป็นเรื่องที่ควรจะได้กระทำมากๆ บ่อยๆ เนืองๆ แล้วก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ว่า เมื่อถึงเวลาใกล้จะจุติที่จะจากโลกนี้ กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าครุกรรมไม่มี พหุลกรรมไม่มี กรรมต่อไปที่จะให้ผลทำให้ปฏิสนธิ คือ อาสันนกรรม

    ข้อความในมโนรถปุรณีอรรถกถาอุปมาว่า

    เหมือนกับโคที่อยู่ในคอก โคที่อยู่ใกล้ประตู ถึงแม้ว่าจะเป็นโคที่ไม่มีกำลัง หรือว่าเป็นโคชรา แต่ว่าเมื่ออยู่ใกล้ประตูก็ย่อมออกไปก่อนโคอื่นๆ ซึ่งมีกำลัง หรือที่อยู่ในคอกนั้นทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นถ้าครุกรรมไม่มี พหุลกรรมไม่มี กรรมที่ทำใกล้จะจุติย่อมเป็นอาสันน

    กรรม ทำให้ปฏิสนธิเกิดขึ้นในภูมิต่อไป

    ข้อความในมโนรถปุรณีอรรถกถา ได้กล่าวถึงเรื่องคนรักษาประตูชาวทมิฬคนหนึ่ง ชื่อ มธุอังคณะ เขาออกไปตกปลาแต่เช้าตรู่ แล้วฆ่าปลา แล้วแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน แลกเอาข้าวสารด้วยปลาส่วนหนึ่ง เอานมส้มด้วยปลาส่วนหนึ่ง และปรุงปลาส่วนหนึ่ง โดยทำนองนี้ เขาทำปาณาติบาตเป็นเวลา ๕๐ ปี จนถึงในขณะที่แก่ลง ไม่สามารถที่จะลุกขึ้นได้

    ขณะนั้นพระจุฬบิณฑปาติกติสสะเถระผู้อยู่ในคีรีวิหารคิดว่า สัตว์นี้เมื่อเราเห็นอยู่ จงอย่าพินาศ ท่านได้ไปยืนอยู่ที่ประตูเรือนของคนรักษาประตูนั้น ซึ่งภรรยาของคนรักษาประตูนั้นก็ได้บอกสามีว่า “นาย พระเถระมาแล้ว” คนรักษาประตูนั้นก็กล่าวว่า “เราไม่เคยไปสู่สำนักของพระเถระเป็นเวลา ๕๐ ปี เพราะคุณอะไรของเราพระเถระจักมา ท่านทั้งหลายจงกล่าวกับพระเถระนั้นเถิดว่า นิมนต์ไปเถิด” ดังนี้

    ก็เป็นธรรมดาที่คนรักษาประตูจะแปลกใจ เพราะว่าไม่เคยไปวัดเลย แต่ทำไมพระจุฬบิณฑปาติกติสสะเถระจึงได้มาถึงบ้านของท่าน เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีกิจ ไม่มีธุระที่จะเกี่ยวข้องด้วย คนรักษาประตูก็ได้บอกภรรยาให้นิมนต์ท่านไปเสีย

    ภรรยานั้นกล่าวแล้วว่า “ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด” ดังนี้

    แม้ว่าท่านจะไปถึงบ้านแล้ว ก็ยังไม่คิดว่าท่านจะทำประโยชน์อะไรให้ เพราะฉะนั้นก็นิมนต์ท่านไปโปรดสัตว์ข้างหน้า

    พระเถระก็ได้ถามหญิงนั้นว่า “ความเป็นไปแห่งสรีระของอุบาสกเป็นอย่างไร”

    หมายความถึงสุขสบายดี หรือว่าป่วยไข้ขนาดไหน

    หญิงนั้นก็ได้กล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อุบาสกเป็นคนมีกำลังอันโทษประทุษร้ายแล้ว”

    อ่อนกำลังลงไปจนไม่สามารถจะลุกขึ้น

    เพราะฉะนั้นพระเถระก็ได้เข้าไปสู่เรือน ทำให้เขาเกิดสติขึ้น แล้วกล่าวว่า “ท่านจะรับศีลไหม” ซึ่งอุบาสกนั้นก็กล่าวว่า “ขอรับ ท่านผู้เจริญ ท่านจงให้เถิด” ดังนี้

    พระเถระก็ได้ให้สรณะ ๓ แล้วเริ่มที่จะให้ศีล ๕ แก่เขา ลิ้นของเขาตกไปในกาลแห่งคำว่า “ปัญจสีลานิ” พระเถระก็ได้ออกไป ด้วยคิดว่าคุณมีประมาณเท่านี้จะสมควร

    หมายความว่า เพียงรับศีลได้เท่านี้ก็เป็นประโยชน์พอแล้วสำหรับอุบาสกผู้นี้

    อุบาสกนั้นก็สิ้นชีวิต และเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งในขณะที่เกิด เขาก็ใคร่ครวญว่า การที่เขาได้เกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานั้นเป็นผลกรรมอะไร เมื่อได้ทราบเหตุที่ตนได้สมบัติแล้วเพราะอาศัยพระเถระ จึงมาจากเทวโลก ไหว้พระเถระแล้ว ได้ยืนที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ซึ่งเมื่อพระเถระกล่าวว่า “ใครนั่น”

    เทพบุตรนั้นก็กล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นผู้รักษาประตูของทมิฬ”

    พระเถระก็ถามว่า “ท่านเกิดที่ไหน”

    เทพบุตรนั้นก็ตอบว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าบังเกิดในเทวโลกชั้นจาตุมหาราช ถ้าว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ให้ศีล ๕ ไซร้ ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้บังเกิดแล้วในเทวโลกเบื้องบน ข้าพเจ้าจะทำอย่างไร” ดังนี้

    พระเถระกล่าวว่า “ดูก่อนบุตรน้อย เจ้าไม่อาจจะถือเอา”

    เทพบุตรนั้นก็ไหว้พระเถระแล้วไปสู่เทวโลกนั่นเอง

    นี่เป็นเรื่องของอาสันนกรรม

    2823 พระโสดาบัน กับ อกุศลกรรมทางกาย วาจา

    ถาม เรื่องอกุศลกรรมบถ ๑๐ พระโสดาบันละเพียง ๕ เท่านั้น พระโสดาบันก็ยังมีทางที่จะล่วงอกุศลกรรมบถ เช่น ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา หรือสัมผัปปลาป หรือพยาปาท อภิชฌาต่างๆ พระโสดาบันก็ยังมีได้ แต่ทำไมไม่ส่งผลให้เกิดในอบายล่ะครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงขั้นที่ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ดับกรรมที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ พระโสดาบันบุคคลยังไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้นการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นอกุศล ยังมี ไม่ใช่พระโสดาบันจะไม่พูด ไม่ใช่พระโสดาบันจะไม่ทำ ไม่ใช่พระโสดาบันจะไม่คิด และเมื่อยังมีอกุศลจิตอยู่ ก็ย่อมมีอกุศลทางกาย ทางวาจา แต่ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ พระโสดาบันจะไม่คิดฆ่าใคร แต่พระโสดาบันก็โกรธ

    ผู้ถาม ในเมื่อพระโสดาบันยังมีพยาปาท ในเมื่อพยาปาทมีได้ ก็ต่อเมื่อคิดว่าให้คนนั้นจะตาย

    ท่านอาจารย์ เปล่าเลย ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนั้นเลยค่ะ พยาปาทไม่ได้หมายความว่า ให้ตายค่ะ เพียงแต่ท่านผู้ฟังไม่ชอบใคร แล้วอยากจะให้เขาเดือดร้อนนิดหน่อย มีไหมคะ

    ผู้ถาม คำว่า “พินาศ” หมายถึงตายหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ปาณาติบาต เป็นการฆ่าแน่ แต่พยาปาทไม่ใช่ฆ่า

    ผู้ถาม คิดปองร้าย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คิดที่จะให้คนอื่นเดือดร้อนบ้างเล็กๆ น้อยๆ นี่ได้หรือไม่ได้คะ

    ผู้ถาม คือต้องการให้สัตว์อื่นพินาศ ถ้ายังไม่มีความโกรธเกิดขึ้น ไม่มีความต้องการให้สัตว์อื่นพินาศ กรรมบถก็ยังไม่แตก

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนหิว แล้วก็มีพระโสดาบันรู้สึกว่า เขาหิวอีกหน่อยก็ไม่เป็นไร ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไหมคะ เขาคนนั้นที่กำลังหิว ควรจะได้อาหารแล้ว แต่ว่าหิวอีกหน่อยก็ไม่เป็นไร เป็นกุศลหรืออกุศล ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไหม แต่ไม่ใช่ขั้นที่จะถึงกับฆ่า ไม่ถึงกับต้องการให้เขาสิ้นชีวิตค่ะ

    เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ระดับจิตของแต่ละบุคคล ซึ่งทำให้เกิดกาย วาจาต่างๆ กัน จะเปรียบเทียบได้ว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมทำให้จิตใจละคลาย และไม่สามารถที่จะล่วงทุจริตกรรมที่เป็นศีล ๕



    หมายเลข 3
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ