กรรม ตอนที่ 19


    ข้อความในอรรถกถาชัมพุกเถรคาถาที่ ๕ มีว่า

    พระเถระแม้นี้ได้ทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน

    ต้องกระทำบุญมาแล้วอย่างมากทีเดียวในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ

    ก่อสร้างบุญไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าติสสะ บังเกิดในเรือนมีตระกูล ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา เชื่อพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระศาสดา ไหว้ต้นโพธิพฤกษ์แล้ว บูชาด้วยการพัดวี

    ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลก และมนุษยโลก ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ บังเกิดในเรือนมีตระกูล ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว บรรพชาในพระศาสนา เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในอารามอันอุบาสกคนหนึ่งได้สร้างไว้ อันอุบาสกนั้นอุปัฏฐากอยู่

    ภายหลังวันหนึ่ง พระขีณาสพเถระรูปหนึ่ง คือพระอรหันต์องค์หนึ่ง ผู้ครองจีวรปอนๆ มาจากป่า บ่ายหน้าไปยังบ้านเพื่อโกนผม อุบาสกนั้นเห็นเข้าแล้ว เลื่อมใสในอิริยาบถ ให้ช่างกัลบกปลงผม และหนวด ให้บริโภคโภชนะอันประณีต ถวายจีวรดีๆ นิมนต์ให้อยู่ด้วยคำว่า ขอท่านจงอยู่ในที่นี้แหละขอรับ

    ภิกษุเจ้าอาวาสเห็นดังนั้นมีความริษยา และมีความตระหนี่เป็นปกติ

    นี่แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้จะให้ทานสักเท่าไรพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ แต่เมื่อกิเลสยังไม่ดับ ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้มีความริษยา และมีความตระหนี่เกิดขึ้น

    ภิกษุเจ้าอาวาสกล่าวกะพระเถระผู้ขีณาสพว่า การที่ท่านเอานิ้วมือถอนผมเป็นอเจลกะ เลี้ยงชีพด้วยอาหารคือคูถ และมูตรยังประเสริฐกว่า การอยู่ในที่นี้ด้วยอาการอย่างนี้ของผู้อันอุบาสกลามกนี้บำรุงอยู่ ดังนี้

    คือไม่อยากให้ท่านอยู่ที่นั่น ก็คิดว่าควรจะไปอยู่ที่อื่น

    เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้ว เข้าไปยังเวจกุฎีในขณะนั้นนั่นเอง เอามือกอบคูถกิน และดื่มมูตรเหมือนคดข้าวปายาสฉะนั้น

    ด้วยทำนองนี้ดำรงอยู่ตลอดอายุ ทำกาละแล้วไหม้ในนรก มีคูถ และมูตรเป็นอาหารอีก ด้วยเศษแห่งวิบากของกรรมนั้นนั่นแล แม้เกิดในหมู่มนุษย์ได้เป็นนิครนถ์มีคูถเป็นภักษา ๕๐๐ ชาติ

    เป็นไปได้ไหมคะอย่างนี้ ผลของกรรมซึ่งยังไม่หมด คือ ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้

    ท่านบังเกิดในกำเนิดมนุษย์อีก บังเกิดในตระกูลแห่งคนทุกข์ยาก เพราะกำลังแห่งกรรมแห่งการว่าร้ายพระอริยเจ้า เขาให้ดื่มน้ำนม นมสดหรือเนยใส ก็ทิ้งสิ่งนั้นแล้ว ดื่มเฉพาะน้ำมูตรเท่านั้น เขาให้บริโภคข้าวสุก ก็ทิ้งข้าวสุกนั้น แล้วเคี้ยวกินแต่คูถเท่านั้น

    รสดีๆ ที่อร่อยก็ทิ้งหมด เพราะกรรม ทำให้ไม่สามารถจะบริโภคได้ เติบโตด้วยการบริโภคคูถ และมูตรด้วยอาการอย่างนี้ แม้เจริญวัยแล้วก็บริโภคแต่คูถ และมูตรเท่านั้น คือตั้งแต่เด็กมาก็บริโภคอย่างนั้น จนกระทั่งโตก็ยังบริโภคอย่างนั้น

    พวกมนุษย์เมื่อไม่อาจจะห้ามจากการบริโภคคูถ และมูตรนั้น จึงละทิ้งเสีย เขาอันพวกญาติละทิ้งเสียแล้ว จึงบวชเป็นนักบวชเปลือย ไม่อาบน้ำ ครองผ้าเปื้อนด้วยธุลี และฝุ่น ถอนผม และหนวด ห้ามอิริยาบถอื่น เดินด้วยเท้าเดียว ไม่ยินดีการนิมนต์ ถือเอาโภชนะที่ผู้ต้องการบุญ อธิษฐานเข้าอยู่ประจำเดือนให้ ด้วยปลายหญ้าคาเดือนละครั้ง กลางวันเลียด้วยปลายลิ้น ส่วนกลางคืนไม่เคี้ยวกินด้วยคิดว่าคูถสดมีตัวสัตว์ จึงเคี้ยวกินแต่คูถแห้งเท่านั้น

    เมื่อเขาทำอยู่อย่างนี้ล่วงไป ๕๕ ปี มหาชนสำคัญว่า เป็นผู้มีตบะมาก มีความปรารถนาน้อยอย่างยิ่ง จึงได้น้อมไปหาเขา โอนไปหาเขา

    ยังมีคนที่อุตส่าห์จะเห็นผิด เห็นว่าการปฏิบัติอย่างนั้นเป็นการมักน้อย เพราะเหตุว่าทำมานานมากทีเดียว ถึง ๕๕ ปี เพราะฉะนั้นก็ทำให้บางบุคคลที่มีความโน้มเอียงไปในทางเห็นผิด ไม่มีเหตุผล เกิดความเลื่อมใส

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นธรรมอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตรุ่งเรืองอยู่ในภายในดวงหทัยของเขา เหมือนประทีปในหม้อฉะนั้น แล้วพระองค์เสด็จไปในที่นั้นแสดงธรรม ให้เขาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ให้เขาได้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้ขวนขวายวิปัสสนา ให้ดำรงอยู่ในพระอรหัต

    เมื่อท่านดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ในเวลาปรินิพพาน เมื่อแสดงว่า ท่านปฏิบัติผิดในชั้นต้น อาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้บรรลุธรรมที่พระสาวกควรบรรลุ ท่านจึงได้กล่าวคาถานี้ว่า

    เราเอาธุลี และฝุ่นทาตัวอยู่ตลอด ๕๕ ปี บริโภคอาหารเดือนละครั้ง ถอนผม และหนวด ยืนอยู่ด้วยเท้าข้างเดียว งดเว้นการนั่ง กินคูถแห้ง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชื้อเชิญ เราได้ทำบาปกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติเป็นอันมากเช่นนั้น ถูกโอฆะพัดไปอยู่ ได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ขอท่านจงดูสรณคมน์ และความที่ธรรมเป็นธรรมอันดีเลิศ วิชชา ๓ เราได้บรรลุแล้ว เราได้ทำกิจพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว

    4739 สนทนาธรรมจากชัมพุกเถรคาถา

    ทุกคนที่กำลังเป็นภวังคจิตในขณะที่นอนหลับสนิท จะไม่ทราบเลยว่า วิบากกรรมที่จะเกิดในวันต่อไปเป็นอย่างไร จะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร จะมีความสำคัญตน จะมีความริษยาจนกระทั่งถึงกระทำกรรมที่ทำให้บริโภคมูตร และคูถ

    ใครทราบว่า ท่านจะไม่เป็นอย่างท่านพระชัมพุกเถระบ้างคะ ท่านได้เป็นผู้ที่ทำทาน และได้สร้างบุญในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เป็นอันมาก แต่แม้กระนั้นก็ประมาทกิเลสไม่ได้เลย เหมือนกับที่ทุกท่านเกิดมาจนถึงวัยนี้ ตอนที่เป็นเด็กก็ไม่ทราบว่า เมื่อท่านเติบโตขึ้น ท่านจะผ่านเหตุการณ์อะไรๆ ในชีวิตในแต่ละวัน จนกระทั่งแม้ในขณะนี้ก็ไม่ทราบว่า พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นทุกท่านก็จะต้องเป็นผู้เจริญกุศลทุกประการที่ควรจะเจริญได้เมื่อมีโอกาสจะเจริญ

    พระประภาส เรื่องของพระชัมพุกะ ก่อนที่ท่านจะบรรลุ ท่านประพฤติผิดเนื่องจากรับผลของอกุศลวิบาก เช่น ได้กินคูถ ในขณะที่อกุศลวิบากก็เป็นเพียงอุเบกขาเวทนา ทำไมท่านจึงรู้สึกยินดีในการปฏิบัติผิดๆ เนื่องจากความเห็นผิดที่สั่งสมมา ซึ่งวิบากก็เป็นเพียงผลของกรรม ซึ่งไม่สามารถจะทำให้เห็นผิดได้ แสดงว่าท่านติดในรสแบบนี้หรือเปล่า เจริญพร ถ้าเผื่อคนที่ไม่ได้เจริญกุศลในเรื่องเหล่านี้ ขณะที่รสปรากฏก็ดี ขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏ แล้วก็ไม่มีปัญญาที่จะพิจารณา การที่จะเกิดอกุศลกรรมหรือเกิดความเห็นผิดในชวนะได้ ก็เพราะว่าสติไม่เกิดขึ้นรู้จักวิบากจริงๆ ซึ่งเป็นผลของกรรมใช่ไหม เป็นกัมมสกตาญาณ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นท่านยังไม่ได้ฟังพระธรรมในชาตินั้น แต่ท่านได้สะสมความเห็นถูกในพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ แต่เพียงการประมาทที่ทำให้กิเลสกำเริบด้วยความริษยา ก็ทำให้ท่านกระทำกรรมที่เป็นผลทำให้มีความโน้มเอียงที่จะทำให้ยินดีพอใจในสิ่งซึ่งไม่น่าจะยินดีพอใจ แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ท่านก็ได้เป็นพระโสดาบัน และในเวลาไม่นานท่านก็ได้เป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าท่านไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ไม่มีโอกาสจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    นี่ก็เป็นเรื่องของการสะสมทั้งฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะมีการคิดวิจิตรต่างๆ และการกระทำที่วิจิตรต่างๆ ไปในทางอกุศลได้ ตามกำลังของการสะสมในอดีต จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะได้ทราบว่า การสะสมของแต่ละบุคคลนั้น ยังเหนียวแน่นหนาแน่นกั้นที่จะให้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกิดหรือเปล่า เช่น อย่างพวกเดียรถีย์ผู้มีความเห็นอื่น ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วไม่ยอมเลื่อมใส นั่นก็มีเจ้าค่ะ

    นั่นก็แสดงถึงความต่างกันของการสะสม

    4753 วิบากจิต ๑๙ ประเภทที่ทำปฏิสนธิกิจ

    สำหรับกิจที่ ๑ ปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำกิจนี้เป็นวิบากจิต คือ เป็นจิตที่เป็นผลของกรรมหนึ่ง ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม จิตที่ทำกิจปฏิสนธิก็ต้องเป็นอกุศลวิบากจิต หรือถ้าเป็นผลของกุศลกรรม จิตที่ทำกิจปฏิสนธิก็ต้องเป็นกุศลวิบากจิต แต่ว่าจิตที่ทำปฏิสนธิกิจทั้งหมด มี ๑๙ ดวง ไม่ใช่มีเพียง ๒ดวง ในจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ๑๙ ดวง เป็นอกุศลวิบากเพียง ๑ ดวงเท่านั้น อีก ๑๘ ดวงเป็นกุศลวิบาก

    ลองคิดถึงการเกิดขึ้นในโลก ในจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นภพภูมิไหน ที่เป็นภูมิต่ำ ภูมิใหญ่ ภูมิเล็ก ภูมิน้อย ในอบายภูมิ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นอรูปพรหม ทั้งหมดนี้จิตที่ทำกิจปฏิสนธิจะมี ๑๙ ดวง แต่ว่าเป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรมเพียง ๑ ดวงเท่านั้น

    สำหรับอกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิจะทำให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ๑ หรือเป็นเปรต ๑ เป็นอสุรกาย ๑ หรือเกิดในนรก ๑

    4754 ศึกษาปฏิสนธิจิตเพื่อไม่ประมาทในการเจริญกุศล

    ถ้าพูดเรื่องปฏิสนธิจิต ทุกท่านก็รู้สึกว่าผ่านมาแล้ว ไม่น่าจะสนใจ เพราะว่าเสร็จแล้ว หมดแล้ว หลายปีแล้ว แต่อย่าลืมว่า กำลังจะเกิดอีกข้างหน้า น่าสนใจไหมคะ ปฏิสนธิจิตในสังสารวัฏฏ์จะไม่หยุดเลย ตราบใดที่ยังมีกรรม และกรรมทุกคนมีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้นก็น่าที่จะไตร่ตรอง สังวร พิจารณาดูถึงปฏิสนธิจิตในภพต่อไปว่า กรรมใดจะทำให้เกิดในภพภูมิใด แม้ว่าไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ว่าเพราะไม่สามารถจะรู้ได้ จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศล เพราะเหตุว่าถ้าประมาท และทำอกุศลกรรมอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตของชาติหน้า หลังจากจุติของชาตินี้เป็นอกุศลวิบาก คือ เป็นผลของอกุศลกรรมซึ่งจะทำให้เกิดในนรก หรือว่าเกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

    น่าสนใจไหมคะ ปฏิสนธิจิต เมื่อไรก็ไม่ทราบ วันไหนก็ไม่ทราบ อาจจะเป็นขณะนี้หรือเย็นนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือปีต่อไป ก็เป็นได้

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่า สำหรับอกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก

    4755 อกุศลกรรมหนัก-เบาก็ตามในอดีตนำปฏิสนธิได้

    กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำไป ไม่ว่าเป็นกายกรรมก็ตาม วจีกรรมก็ตาม กรรมหนักก็ตาม หรือกรรมเบาเพียงเล็กน้อยก็ตาม กรรมเหล่านั้นทั้งหมดเวลาให้ผลจะทำให้อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากเกิดในภูมิหนึ่งภูมิใดที่เป็นอบายภูมิ และทุกคนยังระลึกถึงอกุศลกรรมของตนเองได้ว่า มี แม้ในชาตินี้ แต่การที่ปฏิสนธิจิตจะเกิดในชาติหน้า ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเฉพาะผลของกรรมในชาตินี้ชาติเดียว แม้ว่ากรรมในอดีตอนันตชาติที่ได้กระทำแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นชนกกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น หลังจากจุติจิตของชาตินี้ดับลง

    4756 กามาวจรวิบากให้ผลปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ

    สำหรับอีก ๑๘ ดวงเป็นกุศลวิบากทั้งหมด ซึ่งก็คงจะได้ทราบว่า แบ่งออกเป็นภูมิๆ คือ เป็นกามาวจรวิบาก เป็นผลของกุศลกรรมที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเรากระทำกันอยู่ การกระทำบุญกุศลของเราในปัจจุบันชาติก็ต้องเป็นไปกับรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง เพราะฉะนั้นเวลาที่ให้ผล ก็ให้ผลทำให้กุศลวิบากจิตเกิดขึ้นในกามภูมิที่เป็นสุคติภูมิ

    สำหรับจิตที่ทำให้ปฏิสนธิในกามสุคติภูมิมีทั้งหมด ๙ ดวง

    4757 การให้ผลของอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก

    สำหรับจิตที่ทำให้ปฏิสนธิในกามสุคติภูมิมีทั้งหมด ๙ ดวง คือ เป็นกุศลวิบากอย่างอ่อนๆ ให้ผลทำให้อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์ หรือในสวรรค์ชั้นต้น แต่เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยความสมบูรณ์พร้อมทางกาย เช่น อาจจะเป็นผู้ที่พิการ หรือทางใจก็อาจจะเป็นผู้ที่บ้า หรือว่าสติปัญญาอ่อน นี่ก็เป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อน

    4758 มหาวิบากญานวิปยุตต์ และ ญานสัมปยุตต์

    แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่มีกำลังขึ้น ก็ยังต้องแยกออกเป็น ๒ ประเภทว่า เป็นผลของกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นกุศลกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เช่น การให้ทาน หรือในขณะที่ไม่ศึกษาพระธรรม ไม่ใช่การเข้าใจพระธรรม ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา ก็จะทำให้มหาวิบากทำกิจปฏิสนธิ แต่เป็นมหาวิบากประเภทที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นก็เป็นชีวิตที่แต่ละท่านก็พอที่จะเลือกอบรมได้ว่า ต้องการปฏิสนธิชนิดไหน ถ้าต้องการปฏิสนธิที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ชาตินั้นทั้งชาติก็ไม่มีความสนใจในพระธรรมถึงขั้นที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    สำหรับบางท่านที่เป็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ก็ทำให้มหาวิบากปฏิสนธิประกอบด้วยปัญญา บางท่านยังไม่ค่อยจะสนใจศึกษาพระธรรม หรือถึงแม้ว่าศึกษาแล้ว ก็แล้วแต่ระดับขั้นของปัญญาที่สะสมมาว่าเป็นปัญญาขั้นไหน ถ้าเป็นปัญญาที่มีกำลัง ก็สามารถเข้าใจพระธรรมได้อย่างรวดเร็ว และบางท่านก็สามารถเพียงฟังก็สามารถรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ประจักษ์แจ้งการเกิดดับ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลได้

    เพราะเหตุว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ว่าปรากฏกับผู้ที่สะสมปัญญามาน้อยหรือมาก หรือไม่ได้สะสมปัญญามาเลย ถ้าสะสมปัญญามา ก็เข้าใจทันที ถ้าสะสมปัญญามามาก ก็สามารถประจักษ์แจ้งการเกิดดับของกำลังเห็นในขณะนี้ได้ กำลังได้ยินในขณะนี้ได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายกุศลวิบาก ๑๘ ดวง ก็ต้องมีการประณีตเพิ่มขึ้นตามขั้นของเหตุซึ่งได้กระทำแล้ว

    4759 ปฏิสนธิจิตจะเกิดอีกโดยไม่รู้ว่าที่ไหน และเมื่อไร

    ทุกคนปฏิสนธิจะเกิดอีก แล้วไม่ทราบว่าจะเป็นที่ไหน จะได้พบกันอีกหรือไม่ ถ้าเกิดในสวรรค์ พบกันก็จำได้ เพราะว่าพวกเทพทั้งหลายเป็นโอปปาติกกำเนิด เป็นกำเนิดที่สามารถระลึกถึงชาติก่อนว่า จุติด้วยสภาพอย่างไร และด้วยผลของกรรมอะไร จึงทำให้ปฏิสนธิในเทพชั้นนั้นๆ แต่ถ้าเกิดเป็นมนุษย์อีก ต่างคนต่างเกิดเป็นมนุษย์ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่า คนนี้ชาติก่อนเคยพบกันหรือเปล่า หรือเคยรักเคยชังกันสถานใด ถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็จำกันไม่ได้เลย ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า ใครเป็นใครในชาติไหน

    4760 การปฏิสนธิช่างวิจิตรตามกรรม

    มีข้อสงสัยไหมคะในเรื่องนี้ ปฏิสนธิจิตบางประเภทก็ทำให้เกิดในไข่ เช่น ไก่ ตุ๊กแก จิ้งจก แม้แต่เพียงดูการปฏิสนธิ ก็จะเห็นได้ว่า ช่างวิจิตรตามกรรม กรรมบางประเภทก็ทำให้เกิดในเถ้าไคลที่ชื้นแฉะ เช่นพวกหนอน พวกแมลงต่างๆ และสำหรับในภูมิมนุษย์ก็ทำให้เกิดในครรภ์ และสำหรับพวกเทพ และสัตว์นรก พวกอสุรกาย ก็ทำให้เกิดเป็นตัวสมบูรณ์ขึ้นทันที เป็นอุปปาติกกำเนิด

    4817 อรรถกถา ... กปิลสูตรที่ ๖

    สำหรับเรื่องที่ควรคิดถึงปฏิสนธิจิตที่จะเกิดต่อจากจุติจิตในชาตินี้ ขอกล่าวถึงเรื่องกรรมที่บางท่านประมาทแล้วในครั้งพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ

    ข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อรรถกถากปิลสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะเสด็จปรินิพพานแล้ว กุลบุตร ๒ พี่น้องออกบวชในสำนักแห่งสาวกทั้งหลาย ผู้พี่ชื่อว่าโสธนะ ผู้น้องชื่อว่ากปิละ ท่านทั้งสองมีมารดาชื่อว่าสาธนี มีน้องสาวชื่อว่าตาปนา ทั้งมารดา และน้องสาวนั้นบวชในสำนักนางภิกษุณี

    เห็นได้นะคะ ว่า บวชหมดทั้งครอบครัว ทั้งมารดา น้องสาว และบุตรชายทั้ง ๒ ก็ต้องเป็นผู้มีศรัทธามากทีเดียว แต่ควรจะไม่ประมาทในเรื่องของอกุศล

    ในบรรดาพระภิกษุทั้งสองนั้น พระผู้พี่คิดว่า เราจะบำเพ็ญวาสธุระ คือ ธุระเป็นเครื่องอบรมตน คือ วิปัสสนาภาวนา ดังนี้แล้ว ก็อยู่ในสำนักของอุปัชฌาย์ และอาจารย์ทั้งหลายเป็นเวลา ๕ ปี ไปสู่ป่า และได้บรรลุพระอรหัต

    พระกปิละคิดว่า เรายังหนุ่มอยู่ก่อน ในเวลาแก่แล้วเราจะบำเพ็ญแม้วาสธุระดังนี้ แล้วก็เริ่มคันถธุระ ได้เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกแล้ว พระกปิละนั้นมีบริวาร เพราะอาศัยปริยัติ เพราะอาศัยบริวาร ลาภก็เกิดขึ้น พระกปิละนั้นเมาด้วยการเมาในการที่ตนเป็นพาหุสัจจะ สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต มีความสำคัญว่าตนรู้ แม้ในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ กล่าวสิ่งที่เป็นกัปปิยะที่ภิกษุเหล่าอื่นกล่าวแล้วว่าเป็นอกัปปิยะ คือเป็นสิ่งที่ไม่สมควร กล่าวสิ่งที่สมควรว่าไม่สมควร แม้สิ่งที่เป็นอกัปปิยะเป็นกัปปิยะ แม้สิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ แม้สิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ

    ศึกษามาก แต่ถ้าเมาด้วยลาภสักการะ เพราะเหตุใดจึงกล่าวผิดจากที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้น่าคิดมากทีเดียว

    ต่อแต่นั้น พระกปิละนั้นอันภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักโอวาทอยู่ โดยนัยว่า คุณกปิละ ท่านอย่าได้พูดอย่างนี้ ดังนี้เป็นต้น ก็เที่ยวขู่ตะคอกภิกษุทั้งหลายด้วยคำทั้งหลายว่า พวกท่านเหมือนกับคนมีกำมือเปล่า จะรู้อะไร ดังนี้เป็นต้นอยู่นั้นแล

    ภิกษุทั้งหลายได้บอกเรื่องนี้ แม้แก่พระโสธนเถระผู้เป็นพี่ชายของท่าน แม้พระโสธนเถระนั้นก็ได้เข้าไปหาพระกปิละนั้นแล้วได้กล่าวว่า อย่าได้พูดแม้สิ่งที่เป็นกัปปิยะ ฯลฯ สิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ. พระกปิละนั้นก็ไม่สนใจคำของพระโสธนเถระผู้เป็นพี่ชาย

    ลำดับนั้น พระโสธนเถระได้กล่าวกะพระกปิละว่า

    ผู้อนุเคราะห์จะพึงพูดคำหนึ่งหรือ ๒ คำ ไม่พึงพูดให้มากไปกว่านั้น (เพราะว่าถ้าท่านผู้อนุเคราะห์จะพึงกล่าวให้มากไปกว่านั้น) ก็จะพึงมีโทษในสำนักของพระอริยะได้

    แม้แต่การที่จะเตือน หรือการที่จะกล่าว ถ้าพูดมากกว่าที่ควรจะพูด ก็อาจจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ คือ ไม่ได้เข้าใจเจตนาจริงๆ ของผู้พูด เพราะเหตุว่าในขณะที่กำลังเป็นอกุศล ก็ย่อมไม่เห็นว่า สิ่งใดถูก และสิ่งใดผิด สิ่งใดควร และสิ่งใดไม่ควร เพราะฉะนั้นท่านที่รู้สภาพธรรมแล้ว ท่านจึงกล่าวว่า

    ผู้อนุเคราะห์จะพึงพูดคำหนึ่งหรือ ๒ คำ ไม่พึงพูดให้มากไปกว่านั้น

    นี่ก็เป็นเรื่องความละเอียดของจิต ซึ่งจะต้องระวังว่า สำหรับผู้ฟัง ถ้าฟังแล้วก็เกิดอกุศลไปใหญ่โต เพราะฉะนั้นผู้พูดก็ยุติเสีย เพื่อจะไม่ให้ผู้ฟังเกิดอกุศลมากไปอีก

    ท่านพระโสธนะกล่าวว่า อาวุโส ท่านพระนั้นเองจะปรากฏด้วยกรรมของตนเอง ดังนี้แล้วก็หลีกไป.

    จำเดิมแต่นั้นมา ภิกษุทั้งหลายที่มีศีลเป็นที่รักก็ทอดทิ้งพระกปิละนั้นเสีย.

    พระกปิละนั้นเป็นผู้ประพฤติชั่ว มีภิกษุประพฤติชั่วแวดล้อมอยู่ วันหนึ่งคิดว่า เราจะลงอุโบสถ แล้วก็ขึ้นสู่อาสนะอันประเสริฐ จับพัดอันวิจิตร พอนั่งลงก็พูดขึ้น ๓ ครั้งว่า อาวุโสทั้งหลาย ปาติโมกข์ย่อมควรแก่ภิกษุทั้งหลายในที่นี้หรือ.

    ครั้งนั้น แม้ภิกษุรูปหนึ่งก็ไม่ได้พูดว่า ปาติโมกข์ย่อมควรแก่ข้าพเจ้า ทั้งก็ไม่ได้พูดว่าปาติโมกข์ย่อมควรแก่พระกปิละนั้น หรือแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น.

    ลำดับนั้น พระกปิละนั้นก็พูดว่า เมื่อปาติโมกข์พวกเราฟังก็ดี ไม่ฟังก็ดี ชื่อว่าวินัยไม่มีหรอก ดังนี้ แล้วก็ลุกขึ้นจากอาสนะ.

    พระกปิละนั้นทำพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะให้เสื่อมถอย คือ ให้พินาศแล้วด้วยประการฉะนี้.

    ในกาลต่อมา ท่านพระโสธนเถระก็ปรินิพพานในวันนั้นนั่นเอง. พระกปิละแม้นั้นก็มรณะแล้วก็บังเกิดในอเวจีมหานรก มารดา และน้องสาวของท่านที่มีความเห็นตามท่าน และด่าบริภาษภิกษุทั้งหลายที่มีศีลเป็นที่รัก เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็เกิดในนรก.

    ซึ่งในสมัยเดียวกัน ในขณะนั้นก็มีเรื่องของบุคคลอื่นที่ได้กระทำกรรมต่างๆ กันด้วย ซึ่งข้อความในอรรถกถากปิลสูตรมีว่า

    ก็ในกาลนั้น บุรุษประมาณ ๕๐๐ คนทำบาปกรรมทั้งหลาย

    เห็นได้ว่า กรรมของแต่ละชีวิต แต่ละชาติ แต่ละคนก็ต่างกันไป สำหรับบุรุษประมาณ ๕๐๐ คนทำบาปกรรมทั้งหลาย มีการฆ่าชาวบ้านเป็นต้น เลี้ยงชีวิตด้วยความเป็นโจร ถูกมนุษย์ชาวชนบทติดตาม หนีไปอยู่ ได้เข้าไปสู่ป่า ไม่เห็นที่กำบังหรือที่นั่งอะไรในป่านั้น ได้เห็นภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตรรูปหนึ่งซึ่งอยู่ในที่ไม่ไกล ไหว้แล้วก็กล่าวว่า ท่านขอรับ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของพวกกระผม.

    พระเถระกล่าวว่า ที่พึ่งเช่นกับศีลสำหรับท่านทั้งหลายไม่มี ขอให้ท่านทุกคนจงสมาทานเบญจศีล. โจรเหล่านั้นรับคำแล้วก็สมาทานศีล.



    หมายเลข 3
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ