เมตตา ตอนที่ 10


    ขอให้รู้สภาพของจิตที่เป็นเมตตา และเปรียบเทียบดู ถ้าท่อง ขณะนั้นเป็นเมตตาจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเป็นแต่เพียงท่อง เพราะเท่าที่สังเกต หลายท่านท่องเก่ง แต่ท่องเสร็จ จบ ไม่เมตตาเลยทันทีที่ท่องจบ

    ผู้ฟัง เรื่องเมตตาผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก อย่างผมอยู่บ้านที่มีหลายหลังติดกัน หนูก็มาก เห็นหนูออกมาหากินตามเข่งขยะ ตามบ้าน ตามครัว เพื่อนบ้านเขาก็ฆ่า ตี เอาน้ำร้อนลวก ผมก็บอกว่า ปล่อยไปเถอะ อย่าไปฆ่าเลย หนูเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่รู้จักผิดชอบหรอก ชีวิตของหนูลำบาก ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันกว่าจะได้กินแต่ละมื้อ ต้องเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อนบ้านเขาบอกว่า ไม่ได้หรอก พวกหนูนำเชื้อโรคมา ต้องฆ่าให้หมด ก็ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไรดี

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า การอบรมจิตแม้ในขั้นของสมถภาวนา ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น การที่จะอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ย่อมยิ่งยากกว่า ใช่ไหม เพราะเพียงแต่ที่จะให้เมตตาจิตเกิดขึ้น ซึ่งน่าจะพิจารณาเห็นได้ชัดๆ ว่า ย่อมดีกว่าอกุศล แต่เมตตาก็ยังไม่เกิด และยังไม่ใช่การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพียงแต่ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า อกุศลเป็นสิ่งที่ควรจะขัดเกลา และกุศลเป็นสิ่งที่ควรจะอบรมเจริญ เพียงแค่นี้ และไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะในปัจจุบันชาตินี้ที่จะต้องอบรมจนกว่าจะเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยในการที่จะมีเมตตาจิตจริงๆ ได้มากขึ้น แต่ต้องอบรมนาน เพราะต้องใช้เวลาเป็นภพๆ เป็นชาติๆ เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสได้อย่างแท้จริง ไม่ควรที่จะขาดการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งจะเกื้อกูลให้ สติเกิดระลึกได้ในสภาพของอกุศลว่าเป็นอกุศล จึงจะเป็นปัจจัยให้กุศลอื่นๆ รวมทั้งเมตตาเจริญขึ้นได้

    มีท่านผู้ฟังที่ถามเสมอถึงระยะเวลายาวนานของกัปว่า จะมีระยะเวลานานเท่าไร เพราะการอบรมเจริญภาวนาในเรื่องของเมตตาก็ดี หรือว่าสติปัฏฐานก็ดี ไม่ใช่เป็นเรื่องของชาตินี้ชาติเดียว หรือว่าเพียง ๑๐ ชาติ ๒๐ ชาติ แต่ต้องเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสนชาติทีเดียว

    สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปัพพตสูตร มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ฯลฯ เมื่อภิกษุรูปนั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่งนานเพียงไรหนอแล

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่าเท่านี้ปี เท่านี้ ๑๐๐ ปี เท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ฯ

    ภิกษุรูปนั้นทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อาจอุปมาได้ ภิกษุ

    แล้วจึงตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุ เหมือนอย่างว่า ภูเขาหินลูกใหญ่ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่ง ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีมา (เป็นผ้าไหมที่เนื้อละเอียดบางมาก) แล้วปัดภูเขานั้น ๑๐๐ ปีต่อครั้ง ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น พึงถึงการหมดไป สิ้นไปเพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงการหมดไป สิ้นไป กัปนานอย่างนี้แล

    บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้ว มิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่พันกัป มิใช่แสนกัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

    จบ สูตรที่ ๕

    เพราะฉะนั้น การอบรมจิตซึ่งเป็นเรื่องของการภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาก็ดี หรือว่าวิปัสสนาภาวนาก็ดี ภาวนา คือ การอบรม และรู้ตามความเป็นจริงได้ในชีวิตประจำวันว่า ธรรมที่เป็นกุศลค่อยๆ เพิ่มขึ้นบ้างไหม ในวันนี้ ในเดือนนี้ ในปีนี้ ในชาตินี้ เทียบกับในกัปหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงกัปเดียว ซึ่งทุกท่านก็ท่องเที่ยวมาแล้วใน สังสารเกินกว่าแสนกัป และไม่ทราบว่าจะท่องเที่ยวไปอีกนานเท่าไร แต่ถ้าอบรมเจริญธรรมที่เป็นกุศลได้มาก ก็จะทำให้สังสารนี้สั้นลง

    ถ้ายังรู้สึกว่างเป็นการยากอยู่ ก็จะต้องมีความเพียร คือ ค่อยๆ อบรมไป ไม่ใช่ว่าจะเร่งรัด เพราะมีคำที่แสดงไว้ว่า ถึงแม้ว่าเป็นต้นไม้ที่ปลูกและจะให้ผลภายใน ๓ ปี ผู้นั้นก็ไปคิดคำนวณว่าใน ๓ ปีนี้จะต้องรดน้ำจำนวนเท่าไร และก็รดในวันนั้น ให้ได้จำนวนเท่านั้น แต่ต้นไม้นั้นก็ไม่สามารถที่จะออกดอกออกผลได้ แม้ว่าจะใช้น้ำจำนวนเท่ากับที่จะรดในเวลา ๓ ปี แต่รดเพียงชั่วเวลาเดียว หรือว่าวันเดียว หรือว่าเดือนเดียว ก็ไม่สามารถที่จะได้ผล ฉันใด การอบรมเจริญปัญญา ท่านที่เข้าใจว่า ต้องใช้ความเพียรมาก ความเพียรนั้นย่อมเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ใช่ความเพียรที่จะระลึกศึกษารู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับตามปกติ ตามความเป็นจริง

    การที่ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น เติบโตขึ้น รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม ต้องอาศัยกาลเวลาเท่าที่สามารถจะเป็นไปได้ ไม่ใช่ไปพากเพียรใช้ชั่วเวลาของชาตินี้ และคิดว่า ท่านสามารถที่จะเป็นพระโสดาบัน หรือว่าพระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า ในเวลาไม่นานเลย ท่านผู้นั้นก็ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย แต่ถ้าได้ทราบถึงอดีตชาติของแต่ละท่านที่สะสมมา ไม่น้อยเลย เป็นกัปๆ และไม่ใช่เพียง ๑,๐๐๐ กัปเท่านั้น แต่ว่ามากกว่านั้น

    อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เมตตาสูตรที่ ๑ มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดมุ่งหวังที่จะเจริญสมถภาวนาให้ถึงขั้นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ โดยไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่สามารถที่จะดับสังสารวัฏฏ์ได้

    ข้อความมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวก เป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจเมตตาฌาน และถึงความปลื้มใจด้วยเมตตาฌานนั้น ยับยั้งอยู่ในเมตตาฌานนั้น น้อมใจไปในเมตตาฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยเมตตาฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าพรหมกายิกา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กัปหนึ่งเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าพรหมกายิกา ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นพรหมกายิกานั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นพรหมกายิกานั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความพิเศษผิดแผกแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวก ผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ ในเมื่อคติอุบัติมีอยู่ ฯ

    ชาตินี้คงจะยังไม่ถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ แต่สามารถอบรมเจริญ สติปัฏฐานที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาติหนึ่งชาติใดข้างหน้าได้

    ถ้าท่านผู้ใดเพียงแต่ต้องการที่จะถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ โดยที่ในขณะนั้นไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าจะไปเกิดในพรหมโลกถึง ๑ กัป ก็ยังต้องเกิดในอบายภูมิ เพราะยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น อย่าลืม การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญในชีวิต และการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั่นเองจะทำให้กุศลอื่นๆ เจริญขึ้น เนื่องจากสติสัมปชัญญะสามารถระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตตรงตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่า จิตประกอบด้วยเมตตาหรือว่า ไม่ประกอบด้วยเมตตา เมื่อมีปัจจัยที่จะให้เมตตาเจริญขึ้นเพราะมีปัญญารู้ในลักษณะของเมตตาและรู้ในเหตุที่จะให้เกิดเมตตา เมตตาก็ย่อมเจริญ พร้อมกับเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยกรุณาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยกรุณาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจกรุณาฌานนั้น และถึงความปลื้มใจด้วยกรุณาฌานนั้น ยับยั้งอยู่ในกรุณาฌานนั้น น้อมใจไปในกรุณาฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยกรุณาฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าอาภัสสระ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ๒ กัปเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าอาภัสสระ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระนั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระนั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง ฯ

    ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของผู้ที่มีใจประกอบด้วย มุทิตา โดยนัยเดียวกัน เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุภกิณหะ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ๔ กัปเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าสุภกิณหะ ฯลฯ

    ส่วนความต่างกันของผู้ที่เป็นปุถุชนและผู้ที่เป็นพระอริยะ คือ ผู้ที่เป็นปุถุชนย่อมเกิดในนรกบ้าง เดรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนผู้ที่เป็นอริยสาวก ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง นี่เป็นความต่างกันของผู้ที่ปุถุชน และผู้ที่เป็น พระอริยสาวก แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ประกอบด้วยเมตตาเหมือนกัน

    เรื่องของการอบรมเจริญเมตตา ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงเรื่องของสมถภาวนาด้วย ไม่ได้ทรงแสดงแต่เฉพาะเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานเท่านั้น

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า กว่าสติปัฏฐานจะเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถเป็นปัญญาที่ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ไม่ใช่เพียงชาติเดียว ๒ ชาติ ๓ ชาติ ๑๐ ชาติ ๑,๐๐๐ ชาติ ๑๐,๐๐๐ ชาติ หรือ ๑๐๐,๐๐๐ ชาติ แต่เป็นกัปๆ เพราะฉะนั้น ในระหว่างกัปๆ ก็ควรอบรมเจริญกุศลขั้นอื่นทุกขั้นด้วย ทั้งในขั้นของทาน ขั้นของศีล ขั้นของเมตตา ซึ่งล้วนเป็นบารมี และการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของเมตตา ซึ่งเป็นกุศลที่จะให้บุคคลที่ต้องการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทอบรมให้มีมากขึ้น เพิ่มขึ้น เจริญขึ้น ก็เพื่อละคลายอกุศลให้เบาบางลง ให้น้อยลง โดยต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การอบรมเจริญเมตตาเป็นเรื่องของจิตซึ่งเป็นกุศล มีความหวังดี มีความเป็นมิตร มีความรู้สึกเอ็นดู ใคร่ประโยชน์เกื้อกูลต่อบุคคลอื่น แม้ในขณะที่มองดูบุคคลอื่น สายตาที่มองดูก็ยังประกอบด้วยเมตตา แต่ถ้าไม่พิจารณาจะทราบไหมว่า ชั่วในขณะที่เห็นนี้ จิตประกอบด้วยเมตตาหรือเปล่า และเมตตากับบุคคลใดได้แล้วบ้าง และกับบุคคลใดยังไม่สามารถจะเมตตาได้

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านรู้สึกว่า บางครั้งมีเมตตาต่อสัตว์เดรัจฉาน จะมีได้ง่ายกว่ามนุษย์ด้วยกัน เพราะบางทีในรถประจำทาง ถ้าเห็นเด็กเล็กๆ ก็ยังรู้สึกเมตตา แต่บางคนเห็นแล้วรู้สึกกลัว ซึ่งในขณะที่กลัว ไม่ใช่เมตตาในบุคคลนั้น เป็นความรู้สึกที่เกรงกลัว เป็นลักษณะของโทสมูลจิต ไม่ใช่สภาพของจิตที่อ่อนโยนหรือแช่มชื่น เพราะฉะนั้น เมตตาเป็นเรื่องที่ละเอียด แม้แต่เห็นก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้นจิตประกอบด้วยเมตตาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เมตตานี้ไม่ได้เกิดปัจจุบันทันด่วน แต่ติดตัวของบุคคลนั้นมาตั้งแต่อดีตชาติ อาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ที่เขาแสดงความเมตตา จิตเขามีอยู่แล้ว จึงได้แสดงออกมา เขาไม่ได้ดัดขึ้นเดี๋ยวนั้น

    ท่านอาจารย์ มีปัจจัยที่จะให้เมตตาเกิดขึ้น เมตตาก็เกิด แต่ยังไม่พอ ต้องอบรมเจริญให้มากขึ้น วันนี้เมตตามากไหม ทุกคนควรพิจารณาว่า วันนี้ท่านเมตตามากไหม เพิ่มขึ้นบ้างหรือเปล่า กุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญให้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เมตตาเพิ่มมากขึ้นอีกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าบุคคลผู้นั้นมีเมตตา เขาก็เจริญอยู่เสมอ เป็นหลักธรรม

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจะรู้ไหมว่า จิตในขณะนี้ประกอบด้วยเมตตา หรือไม่ประกอบด้วยเมตตา

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่า คนที่มีเมตตาแล้ว ต้องประกอบด้วยเมตตา

    ท่านอาจารย์ บุคคลในโลกนี้มีอุปนิสัยต่างๆ กัน ที่มีอุปนิสัยในการให้ทานเป็น ทานุปนิสัยก็มี ที่มีอุปนิสัยในการรักษาศีลเป็นสีลุปนิสัยก็มี แต่ว่าจะพอไหม การที่ให้ทานเพียงครั้งคราว และก็มีการวิรัติทุจริตเพียงครั้งคราว ควรอบรมเจริญกุศลให้เพิ่มขึ้นอีกไหม ของทุกคน ของแต่ละคนด้วย

    ผู้ฟัง แต่คนที่ไม่มีเมตตาจิต ผมก็เชื่อว่า เขามาศึกษาธรรมอย่างนี้ เขาก็คงเจริญเมตตา

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องเจริญด้วยความเข้าใจถูกจึงจะเจริญได้ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ผมก็เคยตั้งใจจะให้เมตตาเกิดตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี เพิ่งได้มาฟังอาจารย์เข้าใจแจ่มแจ้ง คือ จะพยายามอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าคนไหนไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน เมตตาย่อมเกิดยาก ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ที่บรรยายมา เพราะประสบกับตัวผมเอง อย่างข้างบ้าน มีเรื่องขัดใจกันอยู่ เขาโกงของผมไป เราก็ตัดใจแล้วว่า ช่างเถอะ ของในโลกนี้ก็อยู่แค่ในโลกนี้ ไม่ได้ไปไหน จากที่นี่ก็ไปอยู่ที่อื่น ไม่พ้นไปจากโลกนี้ อีก ๒ วัน เราก็ตาย แต่พอเห็นหน้าแล้วอดคิดอาฆาตไม่ได้ เมื่อได้ยินอาจารย์ ๒ อาทิตย์ที่แล้วมา พอมีสติรู้ทันทีเลย พอเห็นหน้าเขา มีสติรู้ทันที ความโกรธเกิดหรือไม่เกิด ระลึกได้ รู้ทันที มีเมตตาหรือไม่มี พอเห็นหน้าก็ขุ่นเคือง โทสะเกิด คนนี้เอาของเราไป แต่พอมีสติเราระลึกได้ว่า เรากำลังขุ่นเคือง แทนที่จะขุ่นเคือง เมตตาเกิดขึ้นทันที อภัยให้ คิดว่าเป็นพี่เป็นน้อง หรือเป็นญาติ ความเมตตาจะเกิดขึ้นทันที แต่ถ้าไม่มีสติ เจริญอีกสักร้อยปีพันปี ก็ไม่มีทางที่เมตตาจะเกิดได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อย่าลืม การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญในชีวิต และการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั่นเองจะทำให้กุศลอื่นๆ เจริญขึ้น เพราะสติสัมปชัญญะสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตตรงตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่า จิตประกอบด้วยเมตตาหรือว่าไม่ประกอบด้วยเมตตา และเมื่อมีปัจจัยที่จะให้เมตตาเจริญขึ้นเพราะมีปัญญาที่รู้ในลักษณะของเมตตา และรู้ในเหตุที่จะให้เกิดเมตตา เมตตาก็ย่อมเจริญ พร้อมกับเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน

    และผู้ที่จะเจริญเมตตา จะต้องเข้าใจจุดประสงค์ให้ถูกต้องด้วยว่า อบรมเจริญเพื่ออะไร เพื่อต้องการนิมิต เพื่อให้จิตสงบ เพื่อให้ถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ หรือว่าเป็นชีวิตปกติประจำวัน เพราะเมื่อยังมีสังสารวัฏฏ์อีกยาวนาน และไม่รู้ว่าเมื่อใดบารมีจะสมบูรณ์ถึงพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจ ก็ควรที่จะอบรมเจริญกุศล ทุกประการ เพื่อที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ถ้าท่านคิดว่าท่านจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ท่านไม่เจริญเมตตาเลย หรือท่านคิดว่าเมตตาเกิดยาก ก็เลยไม่อบรมเจริญให้เมตตาเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ก็ควรที่จะได้คิดว่า แม้เพียงเมตตาท่านก็ยังว่าเกิดยาก และปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะยิ่งยากกว่าสักแค่ไหนที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ควรท้อถอย ไม่ควรที่จะให้อกุศลมีกำลัง และคิดว่าเมตตาเกิดไม่ได้ ขอผ่านไป ซึ่งที่ถูกแล้ว ถ้าสติเกิดขึ้นในขณะนั้น ควรพิจารณาว่า เมตตาควรที่จะเกิดได้ ไม่ใช่เกิดไม่ได้ ถ้าค่อยๆ อบรมเจริญไป เมตตาก็ย่อมจะค่อยๆ มีกำลังขึ้น จนกระทั่งเป็นผู้ที่มีจิตใจสม่ำเสมอ ไม่ว่าด้วยกาย หรือด้วยวาจา หรือด้วยใจ ก็ประกอบด้วยเมตตา

    ผู้ฟัง ฟังดูแล้ว เมตตาเป็นเรื่องที่ดีมาก ทุกคนปรารถนาที่จะให้เมตตาเกิด แต่ก็ไม่เกิด ผมมีข้อสงสัยว่า เราจะทำอย่างไรที่จะให้เมตตาเกิด มีเหตุปัจจัยอะไรที่เราจะพิจารณาในขณะนั้น มีบ้างไหม

    ท่านอาจารย์ เห็นโทษของอกุศลขณะนั้นทันที เพราะอกุศลเกิด เมตตาจึงเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่เห็นโทษของอกุศล เมตตาก็ไม่เกิด

    ขุททกนิกาย ชาดก มหามังคลชาดก มีข้อความที่แสดงว่า อะไรเป็นมงคล ซึ่งทุกท่านต้องการมงคล ไม่ต้องการอวมงคล หรือว่าสิ่งที่ไม่ใช่มงคล ท่านต้องการมงคลจนกระทั่งบางครั้งท่านแสวงหา คิดว่ามงคลนั้นอยู่ที่วัตถุ พยายามหาวัตถุ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง และเข้าใจว่ามงคลจะเกิดจากการมีวัตถุสิ่งนั้น หรือจากการท่องคาถาต่างๆ แต่ใน มหามังคลชาดก แสดงว่า เมตตาเป็นมงคล ไม่ใช่อย่างอื่น ถ้ารู้อย่างนี้ ท่านที่ต้องการมงคล ไม่แสวงหาอื่นแล้ว ใช่ไหม เมตตาเกิดขึ้นขณะใด มงคลมีแล้วในขณะนั้น เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ท่านต้องการมงคลมากเท่าไร ขึ้นอยู่กับจิตใจของท่านที่ประกอบด้วยเมตตา ทางกาย ทางวาจา ทางใจ มงคลมากเท่าที่เมตตาเกิดขึ้น

    ข้อความใน มหามังคลชาดก ข้อ ๑๔๗๓ – ๑๔๘๒ มีว่า

    นรชนรู้วิชาอะไรก็ดี รู้สุตะทั้งหลายอะไรก็ดี กระซิบถามกันว่า อะไรเป็นมงคล ในเวลาปรารถนามงคล นรชนนั้นจะทำอย่างไร จึงจะเป็นผู้อันความสวัสดีคุ้มครองแล้ว ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ฯ

    ทุกคนรักชีวิต เป็นห่วงชีวิต อยากจะให้มีแต่ความสวัสดีทั้งชาตินี้และชาติหน้า เป็นผู้ที่มีความรู้สาขาต่างๆ แต่ก็ยังแสวงหาซึ่งมงคลว่า อะไรจะทำให้เกิดความสวัสดีที่จะคุ้มครองได้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เทวดาและพรหมทั้งปวง ทีฆชาติและสรรพสัตว์ทั้งหลาย บุคคลใดอ่อนน้อมอยู่เป็นนิตย์ด้วยเมตตา บัณฑิตทั้งหลายกล่าวเมตตาของบุคคลนั้นแลว่า เป็น สวัสดิมงคลในสัตว์ทั้งหลาย

    อย่าลืมสังเกตตัวเองว่า เป็นผู้ที่อ่อนน้อมอยู่เป็นนิตย์ด้วยเมตตาหรือเปล่า มงคลไม่ได้อยู่ที่อื่น บุคคลอื่น วัตถุอื่น แต่อยู่ในขณะที่กำลังอ่อนน้อมด้วยเมตตา

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้ใดประพฤติถ่อมตนแก่สัตว์โลกทั้งปวง แก่หญิงและชาย พร้อมทั้งเด็ก เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำชั่วร้าย ไม่กล่าวลำเลิกถึงเรื่องเก่าๆ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความ อดกลั้นของผู้นั้นว่า เป็นสวัสดิมงคล

    เพราะฉะนั้น พิจารณาได้ในชีวิตประจำวันว่า ถ้าตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว ไม่ใช่มงคล เช่น เวลาที่ไม่อดทนต่อคำชั่วร้าย หรือว่าลำเลิกถึงเรื่องเก่าๆ หรือว่าไม่ถ่อมตนแก่สัตว์โลกทั้งปวง ขณะใดที่เป็นอย่างนั้น ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา และไม่ใช่สวัสดิมงคล เพราะข้อความมีว่า ผู้ใดประพฤติถ่อมตนแก่สัตว์โลกทั้งปวง แก่หญิงและชาย พร้อมทั้งเด็ก

    พิจารณาให้ละเอียด เพราะว่าบางคนอาจจะไม่ถ่อมตนกับผู้หญิง หรืออาจจะไม่ถ่อมตนกับเด็ก แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตาจริงๆ ในขณะนั้นมีจิตใจที่อ่อนโยน ไม่หวังที่จะให้ผู้อื่นเดือดร้อนระคายเคืองขุ่นใจเพราะกิริยาหรือวาจาของตน เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ถ่อมตน และมีความเมตตา มีจิตที่อ่อนโยนแก่หญิงชาย พร้อมทั้งเด็ก ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีอายุน้อยกว่าก็ไม่ถือตนว่าเป็นผู้ใหญ่ เพราะบางครั้งถ้าพิจารณาจริงๆ เด็กบางคนก็เป็นผู้ที่รอบคอบ พิจารณาเหตุผลต่างๆ ได้ถูกต้องดีกว่าผู้ใหญ่บางท่านก็เป็นได้



    หมายเลข 3
    4 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ