กรรม ตอนที่ 11


    สำหรับผู้ที่เป็นมนุษย์ในชาตินี้ อาจจะเป็นคนที่พิการ บ้า ใบ้ บอด หนวกตั้งแต่เกิด เป็นสุคติปฏิสนธิด้วยสันตีรณกุศลวิบาก ไม่ประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุเลย แต่เมื่อจุติจิตดับแล้ว อาจจะเกิดในสวรรค์ก็ได้ ในมนุษย์ก็ได้ พ้นสภาพของการเป็นสุคติปฏิสนธิด้วยกุศลวิบาก แต่ก็จะปฏิสนธิด้วยติเหตุกะ คือ ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกก็ได้

    เพราะฉะนั้นเพียงภพหนึ่งชาติหนึ่งซึ่งปฏิสนธิกำหนดว่า จะเป็นบุคคลประเภทใด เมื่อสิ้นสุดสภาพของความเป็นบุคคลนี้ กรรมหนึ่งย่อมให้ผลทำให้ปฏิสนธิได้ แม้ในสุคติภูมิ หรือในอบายภูมิ ซึ่งเป็นกามาวจรภูมิสำหรับผู้ที่ไม่ได้เจริญฌาน ถ้าบุคคลในชาตินี้เป็นผู้ที่เป็นติเหตุกปฏิสนธิ เป็นผู้ที่ปฏิสนธิเกิดพร้อมด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก แต่ทำอกุศลกรรม หรืออนันตริยกรรม เวลาที่จุติจิตเกิดแล้วดับไป ถ้าอกุศลกรรมให้ผล ก็พ้นสภาพจากการเป็นบุคคลซึ่งประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกในขณะที่เป็นภวังค์ แล้วก็เกิดด้วยอกุศลวิบากในอบายภูมิ

    3470 ฌานไม่เสื่อมก่อนจุติจิตกับอนันตริยกรรม

    ถาม ผู้ที่ได้ฌาน แล้วจุติจิตเกิดขึ้นแล้ว ฌานจิตจะเกิดก่อนจุติจิต แต่ว่าท่านพระเทวทัตก็เคยได้ฌาน หลังจากนั้นแล้วเวลานี้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ท่านพระเทวทัตอยู่ในอเวจีมหานรก ก็หมายความว่าฌานจิตไม่ได้เกิดก่อนจุติจิต เพราะเสื่อมไป ใช่ไหมครับ ก็เลยอยากถามว่า ถ้าผู้ที่กระทำอนันตริยกรรมแล้ว เช่น ทำปิตุฆาต มาตุฆาต อย่างนี้เป็นต้น อนันตริยกรรมนั้นเสื่อมได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่อนันตริยกรรมจะเสื่อม จึงชื่อว่า อนันตริยกรรม หมายความว่า ให้ผลในชาติต่อไปโดยไม่มีกรรมอื่นคั่น และทำให้ปฏิสนธิเกิดด้วย เพราะว่าสำหรับอกุศลกรรมบางกรรมให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นชนกกรรมเกิด แต่บางกรรมให้ผลอุปถัมภ์ แต่ไม่ทำให้เกิด แต่เมื่อกรรมอื่นให้เกิดแล้ว กรรมนั้นก็อุปถัมภ์ให้กรรมนั้นให้ผลยืดยาวต่อไปอีก แต่สำหรับอนันตริยกรรมแล้วทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติจิต โดยไม่มีกรรมอื่นมาคั่นได้

    3471 ทำมรณาสัณณวิถีให้เป็นกุศลไม่ได้

    ผู้ถาม สำหรับบุคคลที่ไม่มีครุกรรม และอนันตริยกรรม ก่อนจุติจิตจะเกิดขึ้น ก็มีมรณาสันนวิถี เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรจึงจะทำให้มรณาสันนวิถีเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ มรณาสันนวิถีจะเกิดเมื่อไรถึงจะทำได้ รู้ได้อย่างไรว่ามรณาสันนวิถีจะเกิดเมื่อไร ในที่นี้ไม่มีใครรู้เลย เมื่อไม่มีใครรู้จะทำเมื่อไร ข้อสำคัญ คือ เมื่อไม่รู้ว่ามรณาสันนวิถีจะเกิดเมื่อไร เพราะฉะนั้นจะทำเมื่อไร ถ้ารู้ ซึ่งไม่มีทางจะรู้ ถ้ารู้จะทำได้ไหมคะ ก็ยังทำไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะเหตุใด เพราะถ้ารู้ว่ามรณาสันนวิถีจะเกิดเดี๋ยวนี้เอง ทำซิคะ จะทำอย่างไร ทำได้ไหมคะ

    ผู้ถาม สติเกิด

    ท่านอาจารย์ งั้นสติเกิดเลย เพราะเหตุว่ามรณาสันนวิถีจะเกิดขณะไหนได้ทั้งสิ้น เมื่อรู้ว่ามรณาสันนวิถีจะเกิดขณะไหนได้ทั้งสิ้น แล้วสติจะเกิด สติก็ควรจะเกิดไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่ามรณาสันนวิถีอาจจะเกิดขณะหนึ่งขณะใดก็ได้

    ผู้ถาม พอจะมีเวลา มีวิธีที่จะเตรียมตัวไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ค่ะ

    ผู้ถาม ทำอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ สติเกิดเดี๋ยวนี้ซิคะ ถ้าไม่เกิด ก็ต้องฟังพระธรรม เป็นปัจจัย เป็นเครื่องปรุงแต่ง เป็นสังขารขันธ์ เพราะเหตุว่าสติอยู่ดีๆ ก็จะเกิดตามใจชอบไม่ได้เลย

    ผู้ถาม ถ้าเจริญมรณสติ จะช่วยได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ มรณสติคืออย่างไรคะ

    ผู้ถาม คือพิจารณาถึงความตายบ่อยๆ ครับ

    ท่านอาจารย์ หรือว่าขณะที่สติเกิดเดี๋ยวนี้ แสดงแล้วว่าเป็นมรณสติ เพราะเหตุว่าไม่ประมาทในความตาย สติปัฏฐานจึงระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที

    นี่แสดงแล้วว่าเป็นมรณสติอย่างยิ่ง โดยที่ไม่ต้องอ้อมค้อมไปนึกถึงความตายเสียก่อน นึกตั้งยาวนาน สติปัฏฐานก็ไม่เกิดได้ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็รู้โดยที่ไม่ต้องคร่ำครวญว่า มรณสติเป็นสิ่งที่จะเกิดเมื่อไร วันไหน ที่ไหน โดยอาการอย่างไร ก็ไม่รู้ ถ้ามัวแต่คิดอย่างนี้กับการที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที อันนั้นก็ต้องเป็นมรณสติอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าไม่ประมาทในการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านผู้ฟังเป็นห่วงว่าเมื่อใกล้จะจุติ เวทนาจะมีกำลัง แต่ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาจริงๆ สิ่งที่ห่วง เหลือที่จะห่วง ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้นก็ได้ พอถึงเวลาจริงๆ บางท่านก็เหมือนหลับแล้วตื่น ความตายเร็วยิ่งกว่ากระพริบตา เพราะว่าเป็นจิตขณะเดียวเท่านั้นเอง แต่การที่จะกระพริบตา จิตต้องเกิดซ้ำกันหลายขณะ รูปจึงจะกระทำการไหวเป็นการกระพริบตาได้ เพราะฉะนั้นจุติจิตจริงๆ ไม่น่ากลัวเลย

    3512 เลือกชนกกรรมก่อนตายไม่ได้

    ถาม ชนกกรรมหรืออาสันนกรรมที่ว่าจะให้ไปสู่ที่ดี ที่เป็นกุศล จิตต้องมีสมาธิเพียงพอ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เจริญกุศลเพื่อที่จะให้กุศลหนึ่งเป็นปัจจัย แต่ว่ากุศลนั้นจะเป็นปัจจัยหรือไม่เป็นปัจจัยไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ถ้ามีหนทางอย่างว่าพระผู้มีพระภาคต้องทรงมีพระมหากรุณาช่วยทุกคนว่า ก่อนจะจุติให้ทำอย่างนี้นะ เพื่อที่จะได้ไม่ไปสู่อบายภูมิ

    ถาม ที่เราถือสืบต่อกันมาให้ถืออรหังบ้างก่อนตาย ไม่ใช่วิธีที่ถูกหรือครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นแต่เพียงหนทางที่อาจจะทำให้ผู้ใกล้จะตายมีกรรมนิมิตอารมณ์เกิดขึ้นเพราะเสียงนั้นเตือนให้ระลึกถึงพระอรหันต์ เตือนให้ระลึกถึงสิ่งที่จะทำให้กุศลจิตเกิด

    ผู้ถาม ก็คือสตินั่นเอง

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่สติของบุคคลนั้นจะเกิดหรือไม่เกิด ก็ย่อมแล้วแต่กรรม

    ผู้ถาม สมมติว่าสติเกิดเพราะคำว่า “อรหัง” ผมก็นึกว่าเป็นผลดีด้วย มีแพทย์บางคนก็คิดว่า จรรยาแพทย์ในขณะนี้ควรจะเปลี่ยนหรือยัง เพราะว่าทุกคนห่วงคนใกล้จะสิ้นลมปราณให้แพทย์เยียวยาทุกครั้งที่มีอาการหนัก แพทย์ก็จะเอาเข็มทิ่มตามเส้นโลหิตต่างๆ ผู้ใกล้ตายก็พยายามสงบสติอารมณ์เพราะเรียนพระพุทธศาสนามาบ้าง แต่ทุกครั้งที่ถูกเข็มแทง ก็มีการกระเพื่อมของกาย ซึ่งหมายความว่าจิตก็ต้องกระเพื่อมด้วย

    ท่านอาจารย์ อันนี้คงเป็นเรื่องของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะว่าพอถึงเวลานั้นจริง ความสับสนความวุ่นวายทุกอย่างอาจจะเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นหรือไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ตามกรรมจริงๆ แต่ข้อสำคัญให้ทราบว่า มรณาสันนวิถีซึ่งเป็นชวนจิตสุดท้ายก่อนจุติจิตจะเกิด เร็วมาก ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ขณะนั้นจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เพราะแม้แต่ผู้หนึ่งผู้ใดจะกล่าวคำว่า “อรหัง” หรือจะมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ หรือจะมีกลิ่นธูป กลิ่นดอกไม้หอมๆ เพื่อให้กุศลจิตเกิด แต่ย่อมแต่กรรมที่จะเป็นชนกกรรมของบุคคลนั้นว่า จะเป็นกรรมใด ถ้าเป็นอกุศลกรรม ก็จะมีอารมณ์ที่ทำให้จิตเศร้าหมองเกิดขึ้น จิตเศร้าหมองในที่นี้ หมายความว่าเป็นอกุศลจิตเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต โมหมูลจิตก็ตามแต่ ทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ แต่ถ้ากุศลกรรมเป็นชนกกรรม แม้ว่ากำลังจะถูกเข็มแทงเจ็บปวด แต่กรรมนั้นก็ทำให้ชวนจิตที่เป็นชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตผ่องใสเป็นกุศล เพราะเหตุว่าก่อนที่ตายจริงๆ ไม่อยู่ในอำนาจของใครทั้งสิ้น นอกจากอำนาจของชนกกรรม ซึ่งเป็นกรรมเดียวเท่านั้นที่จะทำให้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเกิดปรากฏ และจิตที่กำลังมีอารมณ์นั้น จะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เพราะเป็นผลของชนกกรรม

    ไม่ใช่เตรียมตัวไว้ พอใกล้จะตาย ทุกอย่างเป็นกุศลหมด พยายามให้จิตเป็นกุศลหมด เมื่อใกล้ที่จะตาย เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่านิมิตต่างๆ หรืออารมณ์ที่ใช้คำว่า “กรรมอารมณ์” “กรรมนิมิตอารมณ์” หรือ “คตินิมิตอารมณ์” หมายถึงอารมณ์ที่ปรากฏจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางหนึ่งทางใดก็ได้ แล้วแต่ประเภทของอารมณ์นั้น เช่น ถ้าเป็นกรรมอารมณ์ ใครจะพูดว่า “อรหัง” หรือใครจะเอาเข็มแทง แต่จิตของบุคคลนั้นมีกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งเป็นชนกกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติจิต ชนกกรรมนั่นเองจะทำให้จิตของบุคคลนั้นนึกถึงกรรมที่เป็นกุศลที่ได้กระทำแล้วแม้กำลังถูกเข็มแทง หรือกำลังได้ยินคำว่า “อรหัง” ก็ตาม ถ้าเป็นกุศลกรรมก็จะทำให้บุคคลนั้นระลึกถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วที่เป็นกุศล แล้วกุศลจิตก็เกิด

    นี่ก็เป็นประเภทของอารมณ์ที่แสดงว่า จะเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิจิตต่อจากจุติจิต ปกติก่อนจุติจิตจะเกิดก็มีสีขณะนี้เป็นอารมณ์ มีเสียงทางหูเป็นอารมณ์ มีกลิ่นเป็นอารมณ์ได้ มีรสเป็นอารมณ์ได้ มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ได้ กำลังคิดนึกรู้เรื่องต่างๆ ทางใจได้ แต่ไม่ใช้คำว่า “กรรมอารมณ์” หรือ “กรรมนิมิตอารมณ์” หรือ “คตินิมิตอารมณ์” เพราะเหตุใด เพราะสำหรับ ๓ อารมณ์นี้เป็นอารมณ์ของจิตใกล้จะจุติ ซึ่งจะเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิจิตสืบต่อจากจุติจิตเท่านั้นเอง แต่ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอย่างนี้ ถ้าจุติจิตจะเกิดต่อจากจักขุทวารวิถี ก็คือกำลังเห็นเดี๋ยวนี้สบายๆ แล้วจุติจิตก็เกิด กระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ก็เป็นกรรมนิมิตอารมณ์

    หรืออาจจะเป็นเสียงทางหูที่กำลังได้ยินเรื่องของธรรมก็ได้ แล้วก็มีจุติจิตเกิด เพราะฉะนั้นขณะนั้นบุคคลนั้นกำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ เป็นกรรมนิมิตอารมณ์ที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตมีเสียงนี้เป็นอารมณ์ แล้วก็ทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิถ้ากุศลจิตเกิด

    เพราะฉะนั้นกรรมนิมิตอารมณ์ ก็คือชีวิตประจำวันธรรมดาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง หรือสำหรับผู้ที่ได้ฌานก็มีกสิณนิมิตเป็นอารมณ์ ซึ่งก็คือกรรมนิมิตนั่นเอง เพราะเหตุว่าเป็นนิมิตที่จะทำให้เขาเกิดในพรหมภูมิชั้นต่างๆ

    3513 สมบัติจริงๆ คือกรรม

    ท่านอาจารย์ เรื่องของภพภูมิต่างๆ ตราบใดที่ยังมีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม ก็ย่อมแล้วแต่ว่า กรรมใดจะเป็นชนกกรรม ถ้าเกิดในสวรรค์ เมื่อจุติจิตทำกิจเคลื่อนจากเทพบุตรในสวรรค์แล้ว เกิดในอบายภูมิได้ไหมคะ ได้

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า สำหรับกามภูมิทั้ง ๑๑ ภูมิ เกิดเป็นมนุษย์ เมื่อจุติแล้วก็อาจจะเกิดในกามสุคติภูมิ ภูมิหนึ่งภูมิใด ซึ่งอาจจะเป็นมนุษย์อีก หรือว่าในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดใน ๖ ชั้นก็ได้ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว ทำให้เกิดในอบายภูมิหนึ่งอบายภูมิใด คือ เกิดในนรก หรือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่เหมือนอย่างรูปพรหมบุคคล ถ้าผู้ใดอบรมเจริญฌานสมาบัติ มีวสีแคล่วคล่องชำนาญ จนกระทั่งฌานจิตเกิดก่อนจุติ ทำให้ปฏิสนธิเป็นพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ เมื่อจุติจากรูปพรหมภูมิบุคคลแล้ว จะไม่เกิดในอบายภูมิทันที แต่จะเกิดในกามสุคติภูมิ แล้วแต่ว่าจะเป็นทวิเหตุ หรือว่าติเหตุ หมายความว่าปฏิสนธิจิตนั้นประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก หรือว่าประกอบด้วย ๓ เหตุ คือ ประกอบทั้ง อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหะ คือ ปัญญาเจตสิกด้วย

    มีความสำคัญไหมคะ ในการที่ปฏิสนธิจิตจะประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปฏิสนธิจิตประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหะ คือ ปัญญาเจตสิก

    สำหรับในชาติที่ประกอบด้วยอโลภะ และอโทสะ จะไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้นพื้นฐานของจิตก็ย่อมไม่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าในชาตินั้นปฏิสนธิจิตไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นรูปพรหมบุคคลแล้ว จุติจากรูปพรหมเกิดในกามสุคติภูมิ เพราะเหตุว่าจะไม่เกิดในอบายภูมิทันที แต่ว่าเมื่อเกิดในกามสุคติภูมิแล้ว อาจจะเป็นทวิเหตุกบุคคล คือ ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิกเท่านั้น แต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมก็ได้ หรือเป็นติเหตุกบุคคล คือ ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาด้วย แต่ถ้าเป็นผู้ที่เกิดในอรูปพรหมภูมิ ปัญญามั่นคงกว่าจะได้ถึงขั้นอรูปฌาน เป็นอเนญชาภิสังขาร ไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้นเมื่อจุติจากอรูปพรหมก็จะเกิดในกามสุคติภูมิได้ แต่ว่าจะเป็นบุคคลที่เป็นติเหตุกะ คือ ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ และปัญญา

    เพราะฉะนั้นท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ ท่านจะมาจากภพภูมิไหนก็ไม่ทราบ ใช่ไหมคะ อาจจะมาจากภพภูมิอื่น และถ้าปฏิสนธิของท่านเป็นติเหตุกะ คือ ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ อาจจะมาจากอรูปพรหมภูมิก็ได้ เคยไปมาแล้ว แต่ว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมดีกว่าที่จะเป็นอรูปพรหมบุคคลโดยที่จะไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะเหตุว่าถ้าไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคลในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แล้วเกิดในอรูปพรหมภูมิ ไม่มีโอกาสที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล

    การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าจะต้องในภูมิที่มีขันธ์ ๕ และในภูมิที่เป็นกามสุคติภูมิ

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ เป็นกามสุคติภูมิ มีโอกาสที่จะฟังพระธรรมให้เข้าใจขึ้น เพื่อจะอบรมเจริญปัญญาให้มากขึ้น หรือว่าเกิดในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดใน ๖ ชั้น ก็มีศาลาสุธรรมาทุกชั้นที่จะได้ฟังพระธรรม ที่จะอบรมเจริญปัญญาให้มากขึ้น ถ้าไม่เพลิดเพลินในสมบัติ เพราะเหตุว่าอย่าลืมว่าแท้ที่จริงแล้ว สมบัติจริงๆ คือกรรม ไม่ใช่วัตถุสมบัติอื่นๆ

    3514 สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรม

    สำหรับผู้ที่อาจจะไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ว่ามีหรือไม่ ก็ขอกล่าวถึงข้อความใน

    อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ธรรมปริยายสูตร ข้อ ๑๙๓ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ฯ

    นึกถึงคราวที่จะรับผลของกรรม เพื่อที่จะระลึกได้ว่า กรรมใดเป็นอกุศล ก็จงรีบละเว้นเสีย เพราะเหตุว่าอกุศลในอดีตก็ได้กระทำมามากมายแล้ว และถ้ายังกระทำต่อไป ก็ต้องเป็นปัจจัยที่จะกระทำให้เป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้น

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือชุ่มด้วยโลหิต ตั้งอยู่ในการฆ่า และการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ที่มีชีวิตทั้งปวง บุคคลนั้นย่อมกระเสือกกระสนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรมของเขาคด วจีกรรมของเขาก็คด มโนกรรมของเขาก็คด คติของเขาก็คด อุบัติของเขาก็คด

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ นรกอันมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดเดรัจฉานอันมีปรกติกระเสือกกระสนของบุคคลผู้มีคติคด ผู้มีอุบัติคด ฯ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำเนิดดิรัจฉานอันมีปรกติกระเสือกกระสนนั้นเป็นไฉน คือ งู แมลงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงกำเนิดสัตว์เดรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้อื่นๆ ที่เห็นมนุษย์แล้วย่อมกระเสือกกระสน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย การอุบัติของสัตว์ย่อมมีเพราะกรรม อันมีแล้วด้วยประการดังนี้แล คือ เขาย่อมอุบัติด้วยกรรมที่เขาทำ ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรม ด้วยประการฉะนี้ ฯ

    เวลาจะทำอกุศล กระเสือกกระสนไหมคะ ยังไม่เป็นอกุศลกรรม เพียงอกุศลจิตก็กระเสือกกระสนกันวุ่นวายหมด ในการทำมาหากินเลี้ยงชีพ ในการทำทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นปกติในชีวิตประจำวันซึ่งจำเป็น แต่สำหรับอกุศลกรรม ไม่น่าจะจำเป็นที่จะกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ แต่ถ้าทำแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เรากล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ นรกอันมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดเดรัจฉานอันมีปรกติกระเสือกกระสนของบุคคล

    ถาม ขอความกรุณาอาจารย์อ่านข้อความตอนท้ายซ้ำ ตอนที่ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องเขา

    ถาม ไม่เข้าใจข้อความที่ว่า ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องเขา

    ท่านอาจารย์ ผู้อุบัติแล้ว ถ้าเกิดมาแล้ว มีใครบ้างที่จะไม่ได้รับผลของกรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่คือการรับผลของกรรม เพราะผัสสะต้องกระทบ ไม่มีสัตว์บุคคลเลย แต่ว่าผัสสะเป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ และจิตที่เกิดพร้อมผัสสะนั้นก็รู้แจ้งในอารมณ์ที่ผัสสะกระทบ และเวทนาก็รู้สึกในอารมณ์ที่ผัสสะกระทบที่จิตกำลังรู้แจ้ง นี่คือการรับผลของกรรม

    ผู้ถาม ผัสสะอันเป็นวิบาก หมายความถึงผัสสะในจักขุวิญญาณ เป็นต้น ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ วิบากจิตทั้งหลายที่จะรับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เกิดเป็นสัตว์กระเสือกกระสนไหมคะ หนีมนุษย์ ตามข้อความที่ว่า

    ก็กำเนิดเดรัจฉานอันมีปรกติกระเสือกกระสนนั้นเป็นไฉน คือ งู แมลงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงกำเนิดสัตว์เดรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้อื่นๆ ที่เห็นมนุษย์แล้วย่อมกระเสือกกระสน

    หนีภัยค่ะ เพราะเหตุว่ากลัวภัยที่จะเกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้สัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกัน

    3515 ผลของกรรมมี นรกสวรรค์มี

    ขอกล่าวถึงกรรมสูตรที่ ๑ ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผลของกรรม มี และนรกสวรรค์ มี

    ข้อความในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต กรรมสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๙๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า พระผู้มีพระภาคเองตรัสว่า เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าว แต่เพราะเหตุว่าทรงรู้ว่า ความสิ้นสุดแห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น มี

    ทุกคนอาจจะคิดว่า ในชีวิตของแต่ละท่านวันหนึ่งๆ ก็ไม่ได้ทำกรรมอะไร แล้วทำไมสังสารวัฏถึงจะมียืดยาวออกไปไม่สิ้นสุด ก็ดูวันนี้ก็เหมือนไม่ได้ทำกรรมอะไร ทุกวันๆ แล้วจะมีเหตุปัจจัยอะไรที่จะทำให้ต้องเกิดอีก ตายอีก เกิดอีก ตายอีก เกิดอีก ตายอีก ไม่สิ้นสุด กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้ว ที่สัตว์ทั้งหลายตั้งใจกระทำสั่งสม

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ในชีวิตประจำวัน ถ้าคิดว่าไม่ได้กระทำกรรม ความจริงกระทำแล้ว บางอย่างเป็นกายกรรม บางอย่างเป็นวจีกรรม บางอย่างเป็นมโนกรรมที่ตั้งใจกระทำ แล้วก็ไม่สูญหาย กรรมทุกกรรมที่ได้กระทำแล้ว เกิดดับสะสมสืบต่ออยู่ในจิต เป็นเหตุที่จะให้วิบากเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น

    ถ้าวิบากยังไม่เกิด กรรมจะสิ้นสุดได้ไหมคะ เหตุมีแล้ว ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง สั่งสมไปอยู่เรื่อยๆ และถ้าผลคือวิบากของกรรมนั้นยังไม่เกิด จะถือว่ากรรม คือ ความตั้งใจกระทำกายกรรมบ้าง วจีกรรมบ้างเหล่านั้นที่สั่งสมอยู่ในจิต จะหมดสิ้นไปได้ไหม ในเมื่อผลยังไม่เกิดขึ้น ไม่ได้ค่ะ เมื่อเหตุ คือ กรรมได้กระทำ และสั่งสมแล้ว ทุกคนก็จะต้องคอยรับวิบาก คือ ผลของกรรมนั้นๆ โดยไม่รู้ตัวเลย ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึก ไม่พิจารณาว่า ได้กระทำอกุศลกรรมอะไรแล้วบ้าง หรือว่าได้กระทำกุศลกรรมอะไรแล้วบ้าง

    นี่เป็นเหตุที่ทุกท่านจะต้องพิจารณากาย วาจา ใจของตนเองอย่างละเอียดจริงๆ



    หมายเลข 3
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ