กรรมเป็นเรื่องละเอียด


    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ และก็ต้องพิจารณามาก เพราะเหตุว่าเรื่องกรรมนั้นคงจะไม่ใช่วิสัยของคนทั่วๆไปที่จะเข้าใจได้โดยถ่องแท้ โดยละเอียด

    ข้อสำคัญที่จะต้องทราบก็คือว่า กรรมได้แก่เจตนาเจตสิกเท่านั้น แต่ถ้ากล่าวโดยนัยกว้าง กรรมก็ได้แก่จิตที่เกิดร่วมกับอกุศลเจตนาหรือกุศลเจตนา

    เพราะฉะนั้นบางครั้งจะพูดกว้างว่า อกุศลจิต แต่ถ้าโดยเจาะจงก็ต้องหมายถึงเฉพาะเจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต เช่น กายกรรม ๓ ปาณาติบาต การฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ในขณะนั้นต้องมีพยาปาท ต้องมีความไม่พอใจ ต้องมีความโกรธถึงขั้นรุนแรงที่สามารถจะกระทำปาณาติบาตได้ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความโกรธเพียงเล็กน้อย ความขุ่นใจนิดหน่อย จะไม่มีการฆ่าเลย เพราะฉะนั้นสภาพของจิตซึ่งประกอบด้วยโทสะจะต้องมีกำลังขึ้นจึงสามารถที่จะกระทำการฆ่าได้ เพราะฉะนั้นแม้ในขณะนั้นจะเป็นกายกรรม จะปราศจากพยาปาทได้ไหม และถ้าอ่านตามตัวหนังสือ พยาปาทก็เป็นมโนกรรม เพราะเหตุว่ากายกรรมมี ๓ คือ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ วจีกรรมมี ๔ คือ มุสาวาท ๑ ผรุสวาจา ๑ ปิสุณาวาจา ๑ สัมผัปปลาปวาจา ๑ มโนกรรมมี ๓ คือ อภิชฌา ๑ พยาปาท ๑ มิจฉาทิฏฐิ ๑

    เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินเพียงชื่อหรือตามตัวอักษร ก็ต้องคิดว่าในขณะใดมีความโกรธเป็นพยาปาท ขณะนั้นเป็นมโนกรรม แต่ถ้าจะพิจารณาถึงลักษณะสภาพของความโกรธหรือความผูกโกรธที่เป็นโทสะที่มีกำลังแล้ว ใช้คำว่าพยาปาทได้ เช่นเดียวกับโลภะ เป็นสภาพที่ต้องการอารมณ์ ยึด ติด ไม่สละอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ขณะที่มีความพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต แต่ยังไม่ใช่ทุจริต เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงความชอบ ความติด การไม่สละ แต่เมื่อใดที่มีการคิดเพ็งเล็งอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นทุจริต และมีการถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้มาเป็นของตน อันนั้นก็เป็นอกุศลกรรมที่เป็นอทินนาทาน แต่ว่าในขณะนั้นต้องพิจารณาว่ามีอภิชฌาไหม ต้องมี เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นแต่เพียงความต้องการหรือไม่สละในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ แต่ยังถึงขั้นถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน

    นั่นก็แสดงว่ามีความต้องการ มีอภิชฌา มีความเพ่งเล็ง อยากจะได้ทรัพย์สิ่งของของคนอื่น เพราะฉะนั้นถ้าจะติดที่คำว่ามีอภิชฌา ท่านผู้ฟังก็อาจจะเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นมโนกรรม เพราะใช้คำว่าอภิชฌา แต่ความจริงจะใช้คำว่า โลภะ จะใช้คำว่า อภิชฌาก็ได้ หรือจะใช้คำว่าโทสะ หรือคำว่าพยาปาทก็ได้ แต่ว่าการที่จะพิจารณาว่า เป็นกรรมที่เป็นกายกรรมหรือวจีกรรมหรือมโนกรรมก็ต้องเป็นความละเอียดกว่านั้น


    หมายเลข 3853
    16 ส.ค. 2558