อาสัณณกรรม


    สำหรับเรื่องของอาสันนกรรม คือ กรรมที่ทำเมื่อใกล้จะสิ้นชีวิต ถ้ากรรมอื่นที่เป็นครุกรรมไม่มี พหุลกรรมไม่มี กรรมนั้นก็ให้ผล

    ถ้าไม่มีเลยทั้งครุกรรม พหุลกรรม อาสันนกรรม ก็ยังไม่พ้นจากกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้กระทำแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะให้ผล คือ กรรมที่พ้นแล้วจากกรรม ๓ อย่างเหล่านั้น กรรมที่ไม่ใช่ครุกรรม ไม่ใช่พหุลกรรม และไม่ใช่อาสันนกรรม เมื่อได้กระทำไปแล้วครบองค์ก็เป็นเหตุให้ปฏิสนธิ

    เคยคิดถึงกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้กระทำบ้างไหมคะ มด ยุง ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังจะคิดว่าเล็กน้อยหรือเปล่า เพราะว่าเป็นตัวเล็กๆ และก็คงจะไม่มีใครเลยที่เกิดมาแล้วไม่เคยฆ่ายุง ฆ่ามด ฆ่านะคะ อย่าลืม วธกเจตนา เจตนาฆ่า มี การกระทำได้สำเร็จลงไปแล้ว แล้วก็รู้ว่าเป็นสัตว์ที่มีชีวิตจึงฆ่า

    เพราะฉะนั้นถ้ากรรมหนัก เช่น ครุกรรม ไม่มี กรรมที่มีกำลัง เช่น พหุลกรรมไม่มี กรรมที่ใกล้จะสิ้นชีวิต คือ อาสันนกรรมไม่มี ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ กรรมหนึ่งกรรมใดทำให้จิตที่เศร้าหมองหรือจิตที่ผ่องใสเกิดขึ้น ถ้าเป็นกุศลกรรมอย่างอ่อนๆ ที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตก่อนที่จะจุติผ่องใส ถ้าเป็นอกุศลกรรมอย่างเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้จิตเศร้าหมองเป็นอกุศลเกิดก่อนจุติ

    เพราะฉะนั้นถ้าอกุศลจิตที่เศร้าหมองเกิดก่อนจุติ ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ คือ เกิดในนรก หรือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย ถ้าเป็นผลของกุศล ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ คือ เกิดในมนุษยภูมิ หรือว่าในสวรรค์ ๖ ชั้นที่เป็นกามภูมิ

    เรื่องของกรรมทั้ง ๔ ยังมีข้อสงสัยไหมคะ การให้ผลโดยกาล และการให้ผลโดยประเภทของกรรม โดยลำดับของความหนักเบาของกรรม


    หมายเลข 2825
    15 ม.ค. 2567