ความหมายของพหุลกรรม


    ขอกล่าวถึงเรื่องของพหุลกรรม ตามตัวอย่างในมโนรถปุรนี อรรถกถา นิทานสูตร ข้อความมีว่า

    ส่วนในกรรมทั้งหลายอันเป็นกุศลและอกุศล กรรมใดเป็นกรรมมีมาก กรรมนั้นชื่อว่า พหุลกรรม พหุลกรรมนั้นอันบัณฑิตพึงทราบด้วยสามารถการเสพบ่อยๆ อันตนได้แล้วตลอดกาลนาน

    เพราะฉะนั้นบางท่านก็ใช้คำว่า อาจิณณกรรม แต่ข้อความในอรรถกถาใช้ พหุลกรรม

    อีกอย่างหนึ่ง พหุลกรรมอันใดเป็นธรรมชาติมีกำลัง เป็นการทำด้วยความโสมนัสในกรรมอันเป็นกุศลทั้งหลาย เป็นการทำด้วยความเดือดร้อนใจในกรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลาย กรรมนั้นชื่อว่า พหุลกรรม

    ท่านที่เคยกระทำอกุศลกรรม และยังรู้สึกเดือดร้อนใจ ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นอกุศลกรรมที่มีกำลัง เป็นพหุลกรรม จึงทำให้แม้ว่ากรรมนั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว ก็ยังติดตามเดือดร้อนใจอยู่ ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศล ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศลก็ตรงกันข้าม คือ พหุลกรรมอันใดเป็นธรรมชาติมีกำลัง เป็นการทำด้วยความโสมนัสในกรรมอันเป็นกุศลทั้งหลาย กุศลกรรมนั้นก็เป็นพหุลกรรม คือ เป็นกรรมที่มีกำลัง

    ข้อความในมโนรถปุรณี ได้ยกตัวอย่างพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัย ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังได้ไปประเทศศรีลังกา ก็จะได้เห็นพระมหาสถูปใหญ่ ซึ่งชาวลังกาเรียกว่า พระมหาถูปะ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งกล่าวได้ว่ามากที่สุด และพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยเป็นผู้สร้างพระมหาถูปะนั้น และกุศลที่ท่านได้กระทำไว้ในพระศาสนามีมากทีเดียว แต่กุศลที่จะเป็นพหุลกรรมก็ได้แสดงว่า ในบรรดากุศลกรรมทั้งหลายที่พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยได้ทรงกระทำแล้วนั้น กุศลกรรมใดเป็นพหุลกรรม

    ซึ่งก็ขอเรียนให้ทราบเพิ่มเติมว่า อรรถกถาหลังพระมหินทรเถระนั้นมี ไม่ใช่มีแต่เฉพาะสมัยท่านพระมหินทรเถระซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชเท่านั้น เพราะเหตุว่าพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยเป็นหลานของพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ ซึ่งเป็นพระสหายของพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกทรงส่งพระโอรสและพระธิดาไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ประเทศศรีลังกาในสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ แต่พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยเป็นหลานของพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ เพราะฉะนั้นตัวอย่างในอรรถกถาก็มีแม้หลังพระมหินทรเถระด้วย ไม่ใช่มีเฉพาะในสมัยของพระเจ้ามหินทรเถระซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าอโศกเท่านั้น


    หมายเลข 2663
    9 ต.ค. 2566