คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    บางคนคิดว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องอบรมเจริญปัญญา อยู่ไปๆ ในสังสารวัฏฏ์แล้วในที่สุดก็ย่อมหมดจดในเมื่อถึงที่สุดของสังสารวัฏฏ์ คือ ไม่ต้องเกิดเลย แต่นั่นเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง

    ในพระสูตรแสดงต่อไปว่า สมณพราหมณ์บางพวกก็มีความเห็นว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยการอุบัติในโลกต่างๆ บางพวกก็มีความเห็นว่า มีความหมดจดได้ด้วยอาวาส คือ ที่เกิดที่ต่างๆ บางพวกก็มีความเห็นว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยการบูชายัญ บางพวกก็มีความเห็นว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยการบำเรอไฟ แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่า พระองค์ได้ทรงประพฤติปฏิบัติข้อปฏิบัติทั้งหมดเหล่านั้นมาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่หนทางปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ตอนจบของพระสูตรนี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุรุษรุ่นหนุ่มผู้เจริญนี้มีเกศาดำสนิท ประกอบด้วยวัยหนุ่มอันเจริญ ประกอบด้วยปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่งสมกับวัยตน ต่อมาบุรุษผู้เจริญนี้เป็นคนแก่ เป็นคนเฒ่า ถือเอาซึ่งความเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยโดยลำดับ คือ มีอายุถึง ๘๐ ปีบ้าง ๙๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง โดยชาติ ย่อมเสื่อมจากปัญญาความเฉลียวฉลาดนั้นในภายหลัง

    นี่เป็นความเชื่อของคนส่วนมากที่คิดว่า วัยของสติปัญญาจะต้องเป็นวัยที่มี ผมดำสนิท แต่ว่าเวลาที่ล่วงกาลผ่านวัยลง เป็นคนแก่ เป็นคนเฒ่า มีอายุถึง ๘๐ ปีบ้าง ๙๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง โดยชาติ คือ โดยการเกิด ย่อมเสื่อมจากปัญญา ส่วนมากคิดกันอย่างนี้สำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาแล้ว ยิ่งล่วงกาลผ่านวัย เวลาของการสะสมปัญญา ปัญญาก็ยิ่งคมกล้าขึ้น ซึ่งสำหรับพระผู้มีพระภาคนั้น ถึงแม้ว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้ในกาลที่ยังมีพระเกศา ดำสนิท แต่เมื่อล่วงกาลผ่านวัยจนถึง ๘๐ ปี ซึ่งข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร ข้อนี้เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ก็บัดนี้เราเป็นคนแก่ เป็นคนเฒ่า ถือเอาซึ่งความเป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยโดยลำดับ อายุของเราแปดสิบปีเข้านี่แล้ว สาวกบริษัททั้ง ๔ ของเราในธรรมวินัยนี้มีอายุถึงร้อยปี เป็นอยู่ได้ตั้งร้อยปี ประกอบด้วย คติ สติ ธิติอันยอดเยี่ยม และปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง

    ดูกร สารีบุตร เปรียบเหมือนนักธนูผู้มั่นคง ได้รับการฝึกหัดแล้ว ช่ำชอง ชำนิชำนาญ เคยแสดงฝีมือมาแล้ว พึงยิงงวงตาลโดยขวางให้ตกลงด้วยลูกศรขนาดเบาโดยง่ายดาย แม้ฉันใด สาวกบริษัท ๔ ของเรา เป็นผู้มีสติอันยิ่ง มีคติอันยิ่ง มีปัญญาทรงจำอันยิ่ง ประกอบด้วยปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ฉันนั้น พวกเธอพึงถามปัญหาอิงสติปัฏฐาน ๔ กะเรา เราถูกถามปัญหาแล้ว พึงพยากรณ์แก่พวกเธอ พวกเธอพึงทรงจำคำที่เราพยากรณ์แล้ว โดยเป็นคำพยากรณ์ มิได้สอบถามเราให้ยิ่งกว่า ๒ ครั้ง

    นี่คือสติปัญญาของคนในครั้งนั้น เมื่อฟังแล้วเข้าใจทันที และทรงจำได้ด้วย เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยคติ สติ และธิติ คือ ความทรงจำอันยอดเยี่ยม

    ข้อความต่อไป ท่านผู้ฟังจะเห็นพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม เว้นจากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากการหลับ และบรรเทาความเมื่อยล้า ดูกร สารีบุตร ธรรมเทศนาของตถาคตนั้นไม่รู้จักจบสิ้น บท และพยัญชนะแห่งธรรมของตถาคตนั้นไม่รู้จักจบสิ้น ความแจ่มแจ้งแห่งปัญหาของตถาคตนั้นไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อเป็นดังนั้น สาวกบริษัท ๔ ของเราเหล่านั้น จึงมีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี พึงกระทำกาละโดยล่วงไปแห่ง ๑๐๐ ปี

    ดูกร สารีบุตร ถ้าแม้พวกเธอจะพึงหามเราไปด้วยเตียงน้อย ความเป็นอย่างอื่นแห่งปัญญาเฉลียวฉลาดของตถาคต ย่อมไม่มีเลย

    ทำไมพระผู้มีพระภาคต้องตรัสถึงเตียงน้อยด้วย เพราะบางคนคิดว่า อะไรที่ เล็กๆ น้อยๆ ย่อมทำให้สติปัญญาน้อยลงไปด้วย ถ้าเป็นผู้ที่มีตระกูลใหญ่ มีทุกอย่างใหญ่ก็คิดว่า บุคคลผู้มั่งคั่งด้วยสมบัติใหญ่นั้นก็คงมีปัญญาใหญ่ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจะได้รับฐานะ คือ เป็นผู้ที่พึงหามไปด้วยเตียงน้อย แต่พระปัญญาของพระองค์ที่จะลดน้อยลงนั้น ย่อมไม่มีเลย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวคำใดว่า สัตว์ผู้มีความไม่ลุ่มหลงเป็นธรรมดาบังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวคำนั้นกะเราเท่านั้นว่า สัตว์ผู้มีความไม่ลุ่มหลงเป็นธรรมดาบังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้

    ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระนาคสมาละถวายงานพัดอยู่ ณ เบื้องปฤษฎางค์ ลำดับนั้น ท่านพระนาคสมาละได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมี อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้ามีโลมาอันพองเพราะฟังธรรมปริยายนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ชื่ออะไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร นาคสมาละ เพราะเหตุนี้แหละ เธอจงทรงจำธรรมปริยายนี้ไว้ว่า ชื่อว่า โลมหังสนปริยาย

    พระผู้มีภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระนาคสมาละมีใจชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.

    จบ มหาสีหนาทสูตร ที่ ๒

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ข้อปฏิบัติที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงนี้ ต้องเกิดจากการที่ทรงบำเพ็ญบารมี ตบะ และพรหมจรรย์อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่ของง่าย ผู้ที่เป็นสาวกต้องอดทนที่จะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ได้จริงๆ

    ชีวิตในวันนี้ ขณะนี้ ต่างกับเมื่อ ๕ ปีก่อน ๑๐ ปีก่อน ๒๐ ปีก่อนไหม ซึ่งเมื่อ ๑๐ ปีก่อน หรือ ๒๐ ปีก่อน หรือ ๕ ปีก่อน ก็ไม่มีท่านผู้ใดที่จะรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า เหตุการณ์ที่ท่านกำลังประสบอยู่อย่างนี้ จะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลย แต่ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นในขณะนี้ หรือในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า ๓๐ ปีข้างหน้า ๔๐ ปีข้างหน้า ๑๐๐ ปีข้างหน้า ๒๐๐ ปีข้างหน้า ๒,๐๐๐ ปีข้างหน้า ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ย่อมมีเหตุปัจจัยสะสมมาที่จะให้เกิดนามธรรม และรูปธรรมที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นในโลกนี้อีก หรือว่าในโลกอื่นต่อๆ ไป ซึ่งปัญญาที่สะสมแล้ว จะต้องคมกล้าที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่จะเกิดข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๒๐๐ ปี ๒,๐๐๐ ปี ถ้าท่านสะสมปัญญาในขณะนี้ไปเรื่อยๆ ที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจจะเห็นว่า ใหม่ และก็แปลก เปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น แต่ไม่ว่านามธรรมหรือรูปธรรมจะวิจิตรอย่างไร จะเป็นนามธรรม และรูปธรรมในโลกมนุษย์ หรือในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชั้นดุสิต สวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดก็ตาม หรือในพรหมโลก ถ้าท่านจะเกิดที่นั่น โดยเป็นผู้ที่สามารถอบรมความสงบได้จนถึงฌานจิต มีอัปปนาสมาธิ ที่ไม่เสื่อม แต่การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาจะต้องอบรมจนกระทั่งไม่ว่านาม และรูปที่เกิดขึ้นนั้นจะวิจิตรอย่างไร ก็สามารถที่จะรู้ลักษณะสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลของนามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ซึ่งเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อนท่านก็ไม่ทราบว่า ขณะนี้จะมีนามที่เห็นอย่างนี้ ได้ยินอย่างนี้ ได้กลิ่นอย่างนี้ ลิ้มรสอย่างนี้ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสอย่างนี้ แต่ปัญญาที่อบรมมาพร้อมพอที่จะรู้แจ้ง โดยการประจักษ์ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนหรือยัง

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะต้องรู้ด้วยตัวของท่านเองว่า อรรถ ความหมายของปัญญานั้น คือ ความเข้าใจ เริ่มจากการฟัง เข้าใจสภาพธรรม เรื่องของสภาพธรรม ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังฟัง เรื่องของเห็น เรื่องของได้ยิน เรื่องของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส และเมื่อมีความเข้าใจแล้วขั้นหนึ่ง สะสมไว้ ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดการระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดระลึกได้ในขณะที่เห็น หรือในขณะที่ได้ยิน หรือในขณะคิดนึก หรือขณะที่เป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ เป็นการอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าความสมบูรณ์ของปัญญาที่ได้อบรมแล้วนั้นจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม โดยความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 791


    นาที 12.40

    ขอกล่าวถึงข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เพื่อแสดงให้เห็นบุคคลผู้มีฉันทะใหญ่ยิ่ง ใหญ่หลวง ในการที่จะปรารถนาความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ข้อความมีว่า

    พึงทราบความที่ฉันทะเป็นความใหญ่หลวง ในบทว่า ฉนฺทตา นี้ โดยนัย มีอาทิดังต่อไปนี้

    บุคคลได้ฟังมาว่า ผู้ใดสามารถข้ามท้องจักรวาลนี้ทั้งสิ้น อันมีน้ำท่วมนอง เป็นอันเดียวกัน ด้วยกำลังแขนของตนเท่านั้นแล้วจะถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักข้ามถึงฝั่งได้ ไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย

    อนึ่ง บุคคลได้ฟังมาว่า ผู้ใดเหยียบจักรวาลนี้ทั้งสิ้น อันเต็มไปด้วยถ่านเพลิง ปราศจากเปลวไฟ ปราศจากควันไฟ ด้วยเท้าทั้งสองสามารถก้าวเลยไปถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักก้าวเลยไปถึงฝั่งได้ เขาไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย

    ไม่ท้อถอย ไม่แสดงความไม่พอใจแม้เล็กน้อย แม้จะได้ฟังมาว่า การที่จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะต้องข้ามท้องจักรวาลทั้งสิ้นที่มีน้ำท่วมนอง เป็นอันเดียวกันด้วยกำลังแขนของตนแล้วจะถึงฝั่งได้ เท่านั้นก็เป็นที่พอใจแล้ว ที่จะมีความเพียรถึงความเป็นพระพุทธเจ้า หรือผู้นั้นจะต้องเหยียบจักรวาลทั้งสิ้น ไม่ใช่โลกนี้โลกเดียว จักรวาลทั้งสิ้น อันเต็มไปด้วยถ่านเพลิงปราศจากเปลวไฟ ด้วยเท้าทั้งสองสามารถก้าวเลยไปถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักก้าวเลยไปถึงฝั่งได้

    ข้อความต่อไป

    อนึ่ง บุคคลได้ฟังมาว่า ผู้ใดทะลุจักรวาลนี้ทั้งสิ้นปกคลุมด้วยพุ่มไม้ไผ่หนาทึบ รกรุงรังไปด้วยป่าหนาม และเถาวัลย์ แล้วก้าวเลยไปถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักถึงฝั่งได้ เขาไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย

    อนึ่ง บุคคลได้ฟังมาว่า ผู้ใดที่หมกไหม้ในนรกตลอดอสงไขยแสนกัป จะพึงบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วไม่ย่อท้อเพราะทำได้ยาก กลับพอใจว่า เราจักหมกไหม้ในนรกนั้นแล้วบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า เขาไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าในการนั้นเลย

    พร้อมไหม และถึงแม้จะคิดว่าทำได้ แต่ยังไม่มั่นคง ยังจะต้องสะสมด้วยปัญญาอย่างละเอียดต่อไปจนกว่าจะถึงคุณสมบัติที่พร้อม ซึ่งเมื่อได้เฝ้า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยคุณสมบัติครบที่จะตั้งปณิธานได้ จึงจะ เริ่มตั้งปณิธานที่จะบำเพ็ญบารมี

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นการคิดชั่วครั้งชั่วคราว หรือคิดเล่นๆ หรือคิดว่าการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นได้โดยไม่ยาก แต่จะต้องเห็นจริงๆ ว่า ยากแสนยากกว่าจะได้บำเพ็ญบารมีที่จะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ตามปกติ สามารถที่จะละคลายดับอกุศลได้หมดเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    และสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็น อภินิหารใหญ่ สำเร็จเพราะ ธรรมสโมธาน ๘ ประการ คือ ความเป็นมนุษย์ ๑ ลิงคสมบัติ ๑ เหตุ ๑ เห็นพระศาสดา ๑ บรรพชา ๑ คุณสมบัติ ๑ อธิการ ๑ ความพอใจ ๑

    ความเป็นมนุษย์ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่เป็นมนุษย์ ปรารถนาไม่สำเร็จ

    ลิงคสมบัติ ต้องไม่เป็นสตรีในชาติที่ปรารถนาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เหตุ คือ ต้องถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ไม่ใช่เพียงแต่อยากนิดๆ หน่อยๆ แต่ต้องถึงพร้อมจริงๆ

    เห็นพระศาสดา คือ มีพระศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เฉพาะหน้า และความปรารถนาย่อมสำเร็จแก่ผู้ปรารถนาในสำนักของพระพุทธเจ้าซึ่งยังทรง พระชนม์อยู่ ไม่ใช่เมื่อปรินิพพานแล้ว ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ความปรารถนาย่อมไม่สำเร็จในสำนักของ พระเจดีย์ ที่โคนโพธิ์ ที่พระปฏิมา หรือที่สำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวก ของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุไร เพราะไม่มีอธิการ คือ วิสัยที่ทำยิ่ง มีกำลัง ความปรารถนาจะสำเร็จในสำนักของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะอธิการนั้นยังไม่ถึงความมีกำลังโดยความเป็นอัธยาศัยอันยิ่ง

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ได้พบพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ความคิด ความปรารถนาก็ยังไม่มีกำลังพอ

    ประการต่อไป บรรพชา คือ ต้องเป็น ผู้บวชในสำนักของดาบสหรือ ในสำนักของภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นกรรมวิริยวาที คือ ผู้เชื่อกรรม และผลของกรรม ไม่สำเร็จแก่ผู้ตั้งอยู่ในเพศคฤหัสถ์

    แม้แต่ในเวลาที่ตั้งปณิธานเพื่อจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ระหว่างเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต เพศบรรพชิตต้องมีความมั่นคงมากกว่า ด้วยเหตุนี้ถ้าไม่เป็น ผู้ที่บรรพชา ความปรารถนานั้นก็ไม่สำเร็จ

    ประการต่อไป คุณสมบัติ

    บทว่า คุณสมฺปตฺติ คือ ถึงพร้อมด้วยคุณ มีอภิญญาเป็นต้น

    ไม่ใช่อยากเท่านั้น

    เพราะความปรารถนาย่อมสำเร็จแก่บรรพชิตผู้ได้สมาบัติ ๘ มีอภิญญา ๕ เท่านั้น ไม่สำเร็จแก่ผู้ปราศจากคุณสมบัติตามที่กล่าวแล้ว เพราะเหตุไร เพราะสามารถค้นคว้าบารมีได้ พระมหาบุรุษบำเพ็ญอภินิหาร เป็นผู้สามารถค้นคว้าบารมีได้ด้วยตนเอง เพราะประกอบด้วยอุปนิสัยสมบัติ และอภิญญาสมบัติ

    ประการต่อไป อธิการ

    บทว่า อธิกาโร คือ มีอุปการะยิ่ง ผู้ใดแม้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติตามที่ กล่าวแล้ว แม้ชีวิตของตนก็สละแด่พระพุทธเจ้าได้ ย่อมทำอุปการะอันยิ่งในกาลนั้น อภินิหารย่อมสำเร็จแก่ผู้นั้น ไม่สำเร็จแก่คนนอกนี้

    อย่างตอนที่ท่านสุเมธดาบสได้ทอดกายลงระหว่างทางที่พระพุทธเจ้าจะ เสด็จผ่านซึ่งยังทำไม่เสร็จ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2076


    ประการต่อไป ความพอใจ

    บทว่า ฉนฺทตา คือ พอใจในกุศลด้วยความใคร่ที่จะทำ

    ต้องมีความปรารถนามาก พอใจมากในธรรมทั้งหลายที่จะทำให้ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น จะเห็นพระมหากรุณาคุณที่พวกเรา ได้มีโอกาสฟังพระธรรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พึงเห็นว่า บุญวิเศษอันเป็นมูลแห่งธรรมอันทำให้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งปวง เป็นความเจริญอย่างยิ่ง เป็นความงามอย่างยิ่ง เป็นความสง่าหาประมาณมิได้ โดยความเป็นไปปรารภพุทธภูมิอันเป็นอจินไตย และประโยชน์ของสัตว์โลก อันหาประมาณไม่ได้

    อนึ่ง พระมหาบุรุษพร้อมด้วยการบรรลุนั้นแล เป็นผู้ชื่อว่าหยั่งลงสู่การปฏิบัติเพื่อบรรลุมหาโพธิญาณ ย่อมได้สมัญญาว่า พระโพธิสัตว์ เพราะมีสภาพไม่กลับจากนั้น เพราะบรรลุความเป็นของแน่นอน

    เพราะฉะนั้น ท่านที่เป็นสาวกก็จะเห็นพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านไม่ต้องไปเหยียบย่ำจักรวาลที่ร้อนแรง หรือ ฝ่าขวากหนามรุงรังของจักรวาลที่เต็มไปด้วยไม้ไผ่หนาทึบ หรือจะต้องบำเพ็ญบารมีนานแสนนานถึงสี่อสงไขยแสนกัป แต่เป็นผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาจากบุคคลผู้เลิศ ผู้ประเสริฐ ซึ่งไม่มีผู้ใดเปรียบปาน เพียงแต่ท่านผู้ฟังจะเห็นประโยชน์ของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้เพื่อประโยชน์แก่ทุกคนที่จะให้พิจารณาเกิดปัญญาละคลาย ขัดเกลาอกุศลของตนเอง เพียงเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นสาวก

    แต่บางท่านก็ไม่ค่อยจะยอมที่จะขจัดกิเลส หรือละคลายกิเลส

    ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ และรู้ว่าพระธรรมที่ทรงพระมหากรุณาแสดงเพื่อให้ แต่ละบุคคลที่ได้ฟังพิจารณาเห็นประโยชน์เพื่อประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะทำให้จิตใจอ่อนโยน เป็นผู้ว่าง่ายที่จะประพฤติตามพระธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งขึ้น แม้ในจาคาธิษฐานซึ่งเป็นเรื่องของการสละกิเลส ในเรื่องของศีล คือ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่น่าสังเกต และน่าที่จะขัดเกลา เพราะว่า ทุกคนก็มีกาย มีวาจา แต่อาจจะไม่ได้พิจารณากายวาจาของตนเองในวันหนึ่งๆ ว่า ขัดเกลาหรือเปล่า หรือยังเหมือนเดิม แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรมแล้ว

    สำหรับผู้ที่ขัดเกลาสละกิเลสทางกาย ทางวาจา ซึ่งเป็นไปในเรื่องของศีลนั้น ก็เป็นเหตุแห่งภวสมบัติ ซึ่งเป็นความดีงามของตนเอง คือ เป็นผู้ที่สำรวมกาย สำรวมวาจา การสำรวมกายจะสังเกตได้จากผู้ที่มีมารยาทงาม เป็นผู้ที่อ่อนน้อม ไม่แสดงความโกรธ ซึ่งจะสังเกตได้ คือ ไม่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจโดยหน้าบึ้ง หรือ ดุร้ายถมึงทึง แสดงกิริยาอาการหยาบกระด้าง นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าเกิดกุศลจิตขณะใด สภาพของกิริยาการกระทำทางกายก็เปลี่ยนด้วย

    สำหรับการสำรวมวาจา ก็จะต้องสละวาจาที่ไม่ดี เพราะว่าบางคนเป็นคนตรง ก็จริง แต่ตรงโดยที่ไม่พูดคำที่ไม่น่าฟังก็ได้ คือ ทั้งๆ ที่ตรง แต่ก็พูดคำที่น่าฟัง แทนที่จะพูดคำที่ไม่น่าฟังก็ได้ แต่บางคนก็ลืม สะสมมาที่จะเป็นคนตรงจนพูดคำที่ ไม่น่าฟังเพราะเผลอ และลืมที่จะสำรวมวาจา ลืมที่จะขัดเกลากิเลส ซึ่งถ้าขณะใด ที่มีทิฏฐุชุกรรม มีความเห็นถูกว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศลที่ควรละ ก็จะทำให้สะสมเป็นอุปนิสัยเพิ่มขึ้น

    ขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยสำหรับเรื่องของการสละกิเลส ในเรื่องของจาคาธิษฐาน ในเรื่องของศีล คือ กาย วาจา แล้วยังต้องเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    แม้เป็นชีวิตประจำวัน และคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ให้เห็นว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด จะต่างกับขณะที่อกุศลจิตเกิด ถ้าอกุศลจิตเกิด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่น่าดู เป็นไปในอกุศล แต่เวลาที่กุศลจิตเกิด จะสำรวม เรียบร้อย น่าดู ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    อย่างตาก็จะรู้ได้ว่า เวลาที่อกุศลจิตเกิด ล่อกแล่ก หลุกหลิก สอดส่าย หรือไม่ก็หาเรื่อง เป็นได้จริงๆ ตามองเห็นทุกอย่าง ถ้าเป็นผู้สำรวมตาก็จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นแม้แต่การดู ก็ดูอย่างไม่ล่อกแล่ก ไม่หลุกหลิก ไม่สอดส่าย และไม่หาเรื่อง เรื่องที่จะเกิดนี่ก็เพราะตาเห็น และเมื่อไม่สำรวมก็เห็นผิด เข้าใจผิด และเรื่องทั้งหมด ก็เลยผิด ทำให้เป็นเรื่องที่ใหญ่โตขึ้น นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการไม่สำรวมตา

    สำรวมหู ก็จะสังเกตได้อีก ในชีวิตประจำวันมีเรื่องที่หูต้องได้ยินบ่อย ได้ยิน ได้ฟัง หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นผู้สำรวมหูก็ไม่สนใจซอกแซกฟังเรื่องไร้สาระ นี่ก็สังเกตได้ในชีวิตประจำวัน แต่ละคนต้องรู้จักตนเอง และเกิดสติสัมปชัญญะ ที่จะรู้ว่าขณะนั้นสำรวมหรือเปล่า ถ้าไม่สำรวม ซอกแซกแน่นอน สนใจที่จะฟังเรื่อง ไร้สาระ

    สำหรับจมูก ก็มีการสำรวมได้เช่นเดียวกัน คือ เป็นผู้ที่ไม่หมกมุ่น ไม่ติดข้อง ไม่แสวงหากลิ่นที่เย้ายวน หรือทำให้เดือดร้อนใจ บางคนติดกลิ่น และชอบกลิ่นมาก แม้แต่กลิ่นดอกไม้ จะต้องขวนขวายเดือดร้อน ทุกอย่างจะสังเกตได้ว่า ถ้ามีความสำรวมเพิ่มขึ้น ความเดือดร้อนทั้งหมดก็จะค่อยๆ เบาบางลง

    สำรวมกาย ก็ไม่จุ้นจ้าน ไม่ตลกคะนอง ไม่รังแก ไม่เบียดเบียน ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้จะเห็นได้ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ใจที่สำรวม คือ ใจที่ไม่กังวลหมกมุ่นคิดเรื่องที่ทำให้ใจไม่สบาย เพราะหลายคนเหลือเกินอยากจะเรียนให้ทราบว่า น่าจะมีความสุขมากๆ ไม่ควรที่จะมีอะไรที่ ไม่สบายใจเลย ดูเหมือนเป็นผู้ที่สบายพร้อม แต่กลับคิดถึงเรื่องที่ทำให้ใจไม่สบาย อยู่เรื่อยๆ ซึ่งถ้าขณะนั้นมีการรู้สึกว่าเป็นอกุศล ก็จะทำให้ไม่คิดในเรื่องที่ทำให้ ใจไม่สบาย คือ ไม่คิดเรื่องที่จะทำให้โกรธคนอื่น ไม่คิดที่จะริษยา ไม่คิดที่จะมานะ พร้อมที่จะเป็นผ้าเช็ดธุลี ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ วันหนึ่งๆ ก็เป็นผู้ที่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเป็นการสละกิเลส เป็นจาคาธิษฐาน

    ถ้าไม่มีความมั่นคงในการสละกิเลส เพียงแต่จะให้ทานวัตถุเพื่อประโยชน์สุข แก่บุคคลอื่น แต่ลืมคิดถึงตัวเองที่จะต้องขัดเกลา ก็ยากแก่การที่จะถึงฝั่งได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่ยังไม่มั่นคงในอธิษฐานธรรม ๔

    อธิษฐานธรรม ๔ อย่าง คือ เป็นสัจจาธิษฐาน ๑ เป็นจาคาธิษฐาน ๑ เป็นอุปสมาธิษฐาน ๑ และเป็นปัญญาธิษฐาน ๑ ซึ่งอธิษฐานธรรมทั้ง ๔ รวมบารมีอื่นๆ ไว้ทั้งหมด

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2077


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 199
    8 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ