กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ท่านผู้ฟังเห็นห้วงน้ำใหญ่หรือยัง เวลานี้อยู่ที่ไหน อยู่ในห้วงน้ำหรือเปล่า

    อยู่ในห้วงน้ำ คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในโผฏฐัพพะ ถ้าตราบใดยังไม่คิดที่จะข้ามฝั่ง ก็ยังคงจมอยู่ หรือติดอยู่ในฝั่งข้างที่เป็นที่น่ารังเกียจ แต่เมื่อไม่เห็นว่าน่ารังเกียจ อยากจะพ้นไหม ก็ยังไม่อยากที่จะพ้น จนกว่าจะเห็นว่า ฝั่งข้างนี้เป็นที่น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัย เรือ แพ หรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้นก็ไม่มี

    จะใช้อย่างอื่นได้ไหม ใช้วิธีอื่น หนทางอื่น พึ่งบุคคลอื่นได้ไหม ไม่ได้เลย ผิฉะนั้น เราควรจะมัดหญ้า กิ่งไม้ และใบไม้ ผูกเป็นแพ เกาะแพนั้น พยายามไปด้วยมือ และด้วยเท้า

    ขอให้คิดถึงความอดทนที่จะข้ามจากฝั่งข้างนี้ไปฝั่งข้างโน้น จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ด้วยมือ และด้วยเท้า ก็พึงถึงฝั่งโน้นได้ โดยความสวัสดี ครั้นแล้ว บุรุษนั้นทำตามความคิดของตน ก็ว่ายข้ามฟากถึงฝั่งข้างโน้นแล้ว เป็นพราหมณ์ขึ้นบกไป ฯ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 847

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้ออุปมานี้ เราสมมติขึ้นเพื่อจะให้รู้เนื้อความโดยง่าย ในข้อนั้นมีเนื้อความดังนี้ คำว่า อสรพิษที่มีฤทธิ์แรงกล้าทั้ง ๔ จำพวกนั้น เป็นชื่อแห่งมหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คำว่า เพชฌฆาตทั้ง ๕ คนที่เป็นข้าศึกนั้น เป็นชื่อแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ คำว่าเพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศเงื้อดาบอยู่นั้น เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ คำว่า บ้านร้างนั้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖ ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้บัณฑิตผู้ฉลาดมีปัญญาใคร่ครวญอายตนะภายใน ๖ นั้น ทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะปรากฏว่า เป็นของว่างเปล่า สูญทั้งนั้น ฯ

    คำว่า โจรผู้ฆ่าชาวบ้านนั้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖ ตาย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นที่พอใจ และไม่พอใจ

    จริงไหม ไม่เห็นว่าเดือดร้อนใช่ไหม แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตาย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นที่พอใจ และไม่พอใจ ขณะที่กำลังพอใจในรูป เดือดร้อนสักแค่ไหนด้วยความพอใจนั้น โดยมากมักจะเห็นความเดือดร้อนเพราะเห็นรูปที่ไม่พอใจ เพราะฉะนั้น อย่าลืมว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตาย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นที่พอใจ และไม่พอใจ ธรรมดาในขณะนี้ สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่ขณะอื่น อย่ารอ และอย่าเลือก ทางตาที่กำลังเห็น ตรัสไว้ ทรงแสดงไว้ ที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดตามความเป็นจริง

    หูย่อมเดือดร้อนเพราะเสียงเป็นที่พอใจ และไม่พอใจ

    เคยสบายเพลิดเพลินเพราะเสียงที่พอใจมานานแล้ว ต่อไปนี้ให้ทราบว่า ในขณะที่กำลังสบายเพลิดเพลินนั้น เดือดร้อนด้วยความพอใจนั้นเอง ไม่ใช่เดือดร้อนแต่เฉพาะได้ยินเสียงที่ไม่พอใจ แม้ขณะที่กำลังได้ยินเสียงที่พอใจก็ต้องทราบว่า เดือดร้อนแล้วเพราะความพอใจนั้น

    จมูกย่อมเดือดร้อนเพราะกลิ่นเป็นที่พอใจ และไม่พอใจ

    แทนที่จะรู้ว่าเดือดร้อนเพราะกลิ่นที่พอใจ กลับไปแสวงหากลิ่นที่พอใจ ใช่ไหม มีครบทุกอย่างแล้วไม่พอ ยังจะต้องมีกลิ่นหอมๆ ด้วย นั่นคือการไม่รู้ว่า เดือดร้อนเพราะกลิ่นที่พอใจ

    ลิ้นย่อมเดือดร้อนเพราะรสเป็นที่พอใจ และไม่พอใจ

    พระผู้มีพระภาคตรัส ทรงแสดงไว้เพื่อที่จะให้ระลึกถึงความทุกข์ ความเดือดร้อนเพราะรสเป็นที่พอใจ และไม่พอใจ

    กายย่อมเดือดร้อนเพราะโผฏฐัพพะเป็นที่พอใจ และไม่พอใจ

    ถ้าขณะใดที่สติไม่เกิด จะเป็นอย่างนี้ไหม เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏพร้อมด้วยปัญญาที่กำลังศึกษา น้อมไปที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นจึงจะรู้ว่าสงบ เพราะไม่ได้เดือดร้อนด้วยความพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะที่กำลังเห็นรูป หรือว่าได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบโผฏฐัพพะ ที่จะเห็นว่าเดือดร้อนได้ ก็ต่อเมื่อขณะใดที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    คำว่า ห้วงน้ำใหญ่นั้น เป็นชื่อแห่งโอฆะทั้ง ๔ คือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ

    กาโมฆะ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ภโวฆะ คือ ความยินดีพอใจในภพ ในการเกิด ทิฏโฐฆะ คือ ความยินดีพอใจในความเห็นผิด ซึ่งรวมทั้งในการปฏิบัติผิดด้วย ถ้าไม่มีความยินดีพอใจ จะเห็นผิดว่าเป็นถูกไม่ได้ หรือว่าจะยังคงปฏิบัติผิดต่อไปไม่ได้ อวิชโชฆะ คือ ห้วงน้ำของอวิชชา การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ในโอฆะทั้ง ๔ ท่านผู้ฟังพอจะพิจารณาได้ใช่ไหมว่า ท่านอยู่ในห้วงน้ำไหน กามโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ หรือว่าแวดล้อมด้วยโอฆะทั้ง ๔ ยากแก่การที่จะข้ามไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เกษมที่ปลอดภัย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    คำว่า ฝั่งข้างนี้อันเป็นที่น่ารังเกียจเต็มไปด้วยภัยอันตรายนั้น เป็นชื่อแห่งร่างกายของตน คำว่า ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัยนั้น เป็นชื่อแห่งนิพพาน คำว่า แพนั้น เป็นชื่อแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ คำว่า พยายามข้ามไปด้วยมือ และเท้า เป็นชื่อแห่งวิริยารัมภะ คำว่า ผู้เป็นพราหมณ์ว่ายข้ามฟากถึงฝั่งโน้นแล้วขึ้นบกไป เป็นชื่อแห่งพระอรหันต์ ฯ

    จบ สูตรที่ ๑

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 848


    นาที 8.00

    ตามที่ท่านผู้ฟังได้ฟังเรื่องของมรณานุสสติแล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่า ประโยชน์สูงสุดของการระลึกถึงความตาย คือ เพื่อให้ไม่ประมาท ซึ่งความหมายของคำว่า ไม่ประมาทในที่นี้ ก็หมายถึงขณะนี้ ถ้าประมาท คือ สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

    ขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และสิ่งที่ปรากฏก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนด้วย เมื่อไหร่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา

    ยังไม่ชำนาญพอที่จะเห็นว่า ไม่ใช่คนที่กำลังนั่งอยู่ในห้องนี้ แต่ถึงกระนั้นสติก็เริ่มที่จะเกิดระลึกได้ ค่อยๆ น้อมไปที่จะรู้ว่า ในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่มีตัวตน และไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะทำวิปัสสนา แต่เป็นเจตสิก ๘ ประเภท ซึ่งโดยปกติแล้วคือมรรค ๕ องค์ หรือเจตสิก ๕ ประเภท ทำกิจในขณะที่เกิดขึ้น เช่น ในขณะนี้ที่ฟัง กำลังเห็น เป็นสภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้ ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ต่างขณะกับที่กำลังได้ยิน ซึ่งเวลาที่หลงลืมสติ จะไม่ระลึกอย่างนี้เลย แต่เวลาที่สติเกิด ไม่หลงลืม ในขณะที่กำลังเห็นนี้เอง เริ่มที่จะระลึกได้ รู้ว่าเป็นเพียงสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ตัวตนที่จะทำวิปัสสนา แต่มรรค ได้แก่ สติเจตสิก วิตกเจตสิกที่จรดในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ และสัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ ในขณะที่กำลังเห็น เพียรน้อมไปที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เจตสิกเหล่านี้ซึ่งเป็นมรรค กระทำกิจปฏิบัติธรรม เจริญขึ้น อบรมขึ้น จนกว่าจะชำนาญ ซึ่งไม่ใช่ตัวตนที่ชำนาญ แต่เป็นสติที่ชำนาญขึ้น ระลึก และไม่หลงลืมบ่อยขึ้น ขณะใดที่สติระลึกทางตา ยังไม่ชำนาญ ในครั้งต่อๆ ไปสติก็จะระลึกทางตาจนกว่าสติจะปฏิบัติธรรม คือ ปฏิบัติกิจของสติ และชำนาญขึ้น ว่องไวขึ้น เป็นพละ เป็นกำลัง สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมสืบต่อกันได้ ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่เห็น และเป็นทางใจที่คิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าจะเป็นทางหูที่กำลังได้ยิน และเป็นทางใจที่กำลังคิดนึกถึงความหมายของคำที่กำลังได้ยิน

    สติจะเจริญขึ้น โดยการที่เกิดบ่อยขึ้น กระทำกิจของสติชำนาญขึ้น จนกระทั่งเป็นพละ เป็นการเจริญอบรมของมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่เป็นตัวตน หรือว่าเป็นบุคคลใดที่มีความสามารถที่จะทำวิปัสสนา ถ้ามรรคมีองค์ ๘ เหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกระทำกิจ ขณะนั้นก็จะไม่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ความหมายของความไม่ประมาท คือ ขณะใดที่สติเกิด และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด นั่นคือไม่ประมาท ซึ่งประโยชน์สูงสุดของมรณานุสสติ คือ เพื่อไม่ให้ประมาท โดยระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นการไม่ประมาทอย่างอื่น แต่ไม่ประมาทโดยสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    โดยความหมายที่เป็นประโยชน์สูงสุด ท่านผู้ฟังจะทราบได้ว่า ท่านเป็นผู้ประมาทหรือไม่ประมาท และเข้าใจความหมายของประมาทด้วยว่า ขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้นประมาท ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นไม่ประมาท

    เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกถึงความตาย ก็เพื่อที่จะให้เห็นว่า ความตายย่อมจะเกิดขึ้นได้ในวันหนึ่งวันใด ขณะหนึ่งขณะใด ช้าหรือเร็ว ชาติหน้าอาจจะเป็นขณะต่อไป หรือวันต่อไป หรือสัปดาห์ต่อไป เดือนต่อไป ปีต่อไปก็ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เพราะไม่มีเครื่องหมายให้รู้เลยว่า ชาติหน้าของใครจะเป็นเมื่อไร

    ถ้าพูดถึงชาติหน้า คือ หลังจากที่จุติ และจะมีการปฏิสนธิ ถ้าชาติหน้าจะเป็นระยะที่ใกล้ที่สุด สั้นที่สุด ก็คือในขณะนี้ ประโยชน์คือทำให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท โดยเมื่อระลึกถึงความตาย ก็เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้เป็นผู้ที่เจริญกุศลทุกประการ เพราะเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับสภาพธรรมที่เป็นกุศลให้เกิดขึ้นติดต่อกันได้ เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้นขณะใดขณะนั้นก็ย่อมเป็นอกุศลธรรม คือ เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง และวันหนึ่งๆ ก็มีมากเหลือเกิน แม้แต่ในขณะที่กระทำการกุศล ก็ไม่ได้หมายความว่า ตลอดเวลาเหล่านั้นอกุศลจิตจะไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะทราบได้ถึงขณะที่ต่างกันของอกุศลจิต และกุศลจิต เพราะปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้ชัดตามความเป็นจริงในขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ขณะที่ให้ทาน สติเกิด สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้ตามความเป็นจริงว่า อกุศลเป็นอกุศล ความยินดีพอใจในวัตถุทานที่ประณีต ถ้าเกิดขึ้นเป็นอกุศล และสติเกิดขึ้น จะรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า อกุศลจิตย่อมมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ แม้ในขณะที่กระทำการกุศล อกุศลจิตก็ย่อมเกิดได้ และการอบรมเจริญสติปัฏฐานต้องไม่ลืมว่า จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่มีจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงพร่ำสอนที่จะให้เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม และก็ทรงแสดงพระธรรมวินัยอย่างมากในเรื่องที่จะให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาทโดยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน สำหรับบรรพชิต พระผู้มีพระภาคยิ่งทรงพร่ำสอนให้เป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย และทรงแสดงธรรมโดยนัยต่างๆ เพื่อที่จะให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการที่จะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ชีวิตของคฤหัสถ์กับบรรพชิตก็ต่างกัน โดยเจตนาที่ต้องการจะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศที่ต่างกัน ดังนั้นการอบรมขัดเกลา และการแสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสำหรับบรรพชิต ก็ย่อมเป็นธรรมที่ละเอียดกว่าของฆราวาส ซึ่งใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ทารุขันธสูตรที่ ๑ มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับพระภิกษุ

    ข้อความมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาแห่งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่ง อันกระแสน้ำพัดลอยมาริมฝั่งแม่น้ำ คงคา แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นหรือไม่ ท่อนไม้ใหญ่โน้น อันกระแสน้ำพัดลอยมาในแม่น้ำคงคา

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    เห็น พระเจ้าข้า ฯ

    เป็นชีวิตปกติประจำวันจริงๆ เรื่องของการฟังธรรม เรื่องของการที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านผู้ฟังก็คงจะอยู่ริมแม่น้ำหลายครั้ง และคงจะเห็นท่อนไม้ใหญ่ที่กระแสน้ำพัดลอยมา แต่เมื่อไม่ได้ฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในขณะนั้น ก็ย่อมจะไม่ตรึกไปในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ว่าชีวิตประจำวันจะเป็นอย่างไร ขณะไหน พระผู้มีพระภาคก็ทรงชี้แจง แสดงธรรมให้ภิกษุสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามปกติ

    ข้อความต่อไป ท่านจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาจริงๆ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น จักไม่จมเสียในท่ามกลาง จักไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ท่อนไม้นั้นจักลอยไหลเลื่อนไปสู่สมุทรได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่ากระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคา ลุ่มลาดไหลไปสู่สมุทร ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เป็นผู้เสียในภายในไซร้ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ท่านทั้งหลายจักโน้มน้อมเอียงเทไปสู่นิพพาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าสัมมาทิฏฐิย่อมโน้มน้อมเอียงเทไปสู่นิพพาน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

    ดูเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งการอบรมเจริญสติปัฏฐานก็เป็นธรรมดา ตามธรรม หรือตามธรรมชาติของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ถ้าสติเกิดขึ้นในขณะนี้ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ มีการจรดในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมตรงลักษณะของรูปธรรม หรือมีการน้อมระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งกำลังเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ตรงลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ปัญญาจะไม่เจริญขึ้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ และที่จะไม่น้อม ไม่เทไปสู่พระนิพพาน ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่จะต้องค่อยๆ เป็นไปทีละเล็กทีละน้อย แล้วแต่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในวันหนึ่งๆ ในเดือนหนึ่งๆ หรือว่าในปีหนึ่งๆ ในภพหนึ่ง ในชาติหนึ่ง มากน้อยเท่าไร ก็เป็นเหตุที่จะทำให้ปัญญาศึกษา พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ และก็เพิ่มขึ้นจริงๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง ปัญญาย่อมคมกล้าสามารถที่จะน้อมไปสู่ลักษณะของนิพพานได้

    ข้อความต่อไป

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฝั่งนี้ได้แก่อะไร ฝั่งโน้นได้แก่อะไร การจมลงในท่ามกลางได้แก่อะไร การเกยบนบกได้แก่อะไร มนุษย์ผู้จับคืออะไร อมนุษย์ผู้จับคืออะไร เกลียวน้ำวนๆ ไว้คืออะไร ความเป็นของเน่าในภายในคืออะไร

    อย่าลืมว่า การฟังพระธรรมเพื่อให้เข้าใจจริงๆ ถ้าจะฟังเผินๆ จะไม่เข้าใจเลยว่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น จักไม่จมเสียในท่ามกลาง จักไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน

    ดูเหมือนกับว่าเข้าใจพอสมควรตามพยัญชนะที่ได้ฟังในเรื่องของท่อนไม้ที่ลอยอยู่ในน้ำ แต่ว่าเข้าใจจริงๆ ชัดเจนหรือเปล่าว่า จุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะละความเห็นผิด การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจึงได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเพื่อที่จะได้เข้าใจชัดเจนจริงๆ ว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาฝั่งนี้ก็ดี ฝั่งโน้นก็ดี หรือการจมลงในท่ามกลางก็ดี เป็นต้นนั้น หมายถึงอะไร ในขณะไหน

    ในขณะนี้หรือเปล่า เพราะพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรมทุกกาลตามความเป็นจริง ฝั่งนี้ ฝั่งโน้น หรือว่าการจมลงในท่ามกลาง การเกยบก เป็นในขณะนี้หรือเปล่า

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 849


    นาที 24.10

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ คำว่า ฝั่งนี้ เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖ คำว่า ฝั่งโน้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖

    พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น แสดงให้เห็นว่า ฝั่งนี้ หมายความถึงอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งทุกท่านกำลังมีในขณะนี้

    คำว่า ฝั่งโน้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖ รูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่ปรากฏทางกาย และสภาพธรรมที่ปรากฏทางใจ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน มีใครพ้นจากฝั่งนี้ และฝั่งโน้นบ้างไหม

    ถ้าจะเปรียบตัวท่านเสมือนท่อนไม้ที่ลอยอยู่ในสมุทร ลอยอยู่ในแม่น้ำ ไม่มีการที่จะพ้นไปจากฝั่งนี้ และฝั่งโน้น คือ เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวก็ได้ยิน เดี๋ยวได้กลิ่น เดี๋ยวลิ้มรส เดี๋ยวรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เดี๋ยวคิดนึก วันหนึ่งๆ ตั้งแต่เช้าจนค่ำ นี่คือ ฝั่งนี้ และฝั่งโน้น ซึ่งถ้าตัวท่านอุปมาเหมือนกับท่อนไม้ ก็จะเข้าใกล้ฝั่งนี้ และฝั่งโน้นอยู่ตลอดเวลา

    คำว่า จมในท่ามกลาง เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ

    ความยินดีพอใจ มีใครที่พ้นแล้วจากความยินดีพอใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้าง ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท ก็ย่อมจะต้องเป็นผู้ที่ยังติดอยู่ จมอยู่ในท่ามกลางของมหาสมุทร

    คำว่า เกยบก เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ

    อัสมิมานะ คือ ความสำคัญว่าเป็นเรา วันหนึ่งๆ มีจริงๆ หรือเปล่า อัสมิมานะ ท่านไม่เคยที่จะคิดถึงคนอื่น เป็นไปได้ไหม หรือว่าไม่เคยคิดสำคัญในตนเอง เป็นไปได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลาภ เรื่องยศ เรื่องสักการะ เรื่องสรรเสริญ ทำไมจึงต้องการ ถ้าไม่เห็นผิดว่าเป็นเราซึ่งควรจะต้องมีลาภอย่างบุคคลอื่นมี หรือว่า มียศอย่างบุคคลอื่นมี หรือว่ามีสักการะ การเคารพ นบไหว้ อย่างคนอื่นได้รับ หรือว่าเป็นการสรรเสริญอย่างที่คนอื่นได้รับ เพราะฉะนั้น การสำคัญในตนจะทำให้ท่านมีความติด มีความพอใจอย่างมากในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า คำว่า เกยบก เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ

    ดูกร ภิกษุ ก็มนุษย์ผู้จับเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ย่อมถึงการประกอบตนในกิจการอันบังเกิดขึ้นแล้วของเขา ดูกร ภิกษุ นี้เรียกว่า มนุษย์ผู้จับ

    ชีวิตตามความเป็นจริงในวันหนึ่งๆ นี้ แม้ว่าจะพ้นจากเพศคฤหัสถ์ไปสู่ เพศบรรพชิตแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะตัดขาดจากคฤหัสถ์ ไม่มีการเห็น ไม่มีการเกี่ยวข้องด้วยเลย ถ้าตราบใดที่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ย่อมถึงการประกอบตนในกิจการอันบังเกิดขึ้นแล้วของเขา ดูกร ภิกษุ นี้เรียกว่า มนุษย์ผู้จับ

    เป็นชีวิตจริงๆ ทุกๆ วัน ซึ่งทุกท่านจะต้องพิจารณาตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ขณะใดเป็นความสำคัญตนว่าเป็นเรา สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริงแล้ว เป็นเราได้ไหม เป็นเพียงสภาพรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นเพียงธาตุรู้เสียงที่กำลังปรากฏ

    ถ้าจะคิดนึกถึงบุคคลนั้นบุคคลนี้ หรือว่าจะคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในวันหนึ่งๆ ก็เป็นเพียงสภาพที่คิดนึกเท่านั้น ในขณะนั้นไม่เป็นเรา ไม่ใช่อัสมิมานะ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญปัญญาจะทำให้รู้ความจริงของกุศลเป็นกุศล และอกุศลเป็นอกุศล และอกุศลแต่ละลักษณะก็เป็นสภาพของอกุศลธรรมแต่ละลักษณะ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 850


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 199
    8 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ