นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส อรรถกถาอัฏฐกวรรค กามสุตตนิทเทสที่ ๑ มีข้อความว่า

    ท่านพระสารีบุตรแสดงการอบรมเจริญบารมีเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถึงความเป็นพระอรหันต์ว่า เหมือนอย่างว่า มีนคร ๒ นคร คือ โจรนคร ๑ เขมนคร ๑

    ครั้งนั้น นายทหารใหญ่คนหนึ่งเกิดความคิดว่า โจรนครนี้ยังตั้งอยู่ตราบใด เขมนครย่อมไม่พ้นภัยอันตรายนั้น เราจะทำโจรนครให้ไม่เป็นนคร เขาสวมเกราะ ถือดาบเข้าไปยังโจรนคร เอาดาบฟันเสาระเนียดซึ่งเขายกขึ้นไว้ที่ประตูนคร ทำลาย ที่ต่อบานประตู และหน้าต่าง ถอนลิ่มสลัก ทำลายกำแพง ถมคู เอาธงที่ยกขึ้นเพื่อความสง่างามของนครลง เอาไฟเผานคร แล้วเข้าเขมนคร ขึ้นบนปราสาท แวดล้อมไปด้วยหมู่ญาติ บริโภคโภชนาหารที่มีรสอร่อย ฉันใด ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น สักกายทิฏฐิดุจโจรนคร นิพพานดุจเขมนคร ผู้อบรมเจริญภาวนาดุจนายทหารใหญ่ ที่คิดว่า เครื่องผูกคือสักกายทิฏฐิยังผูกพันอยู่ตราบใด ก็ยังไม่พ้นภัยตราบนั้น

    เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมที่จะต้องดับก่อน คือ สักกายทิฏฐิที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    ต้องเป็นปัญญาที่เห็นจริงๆ ว่า โจรนครกับเขมนครต่างกัน เขมนครนั้น สงบ แต่โจรนครนั้น เดือดร้อน วุ่นวาย กระสับกระส่าย เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะพ้น ความกระสับกระส่าย ความเดือดร้อน ความกังวล ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมนั้น อย่างมากอีก ๗ ชาติก็จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งไม่มี การเกิดอีกเลย ต้องเป็นผู้ที่เห็นว่า กิเลส และความทุกข์ทั้งหลายอยู่ที่อัตภาพ คือ ที่นามธรรม และรูปธรรมนี่เอง เพราะฉะนั้น การที่จะหมดกิเลส หมดทุกข์โดยสิ้นเชิง โดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉท ก็คือไม่มีนามธรรม และรูปธรรมอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นไปได้ ด้วยบารมีหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ วิริยบารมี

    ท่านที่คิดว่า เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เช่น ตัวไร ไม่มีเรื่องกังวล ไม่ยุ่งยากเหมือนเป็นมนุษย์นั้น ไม่ทราบว่าได้พิจารณาธรรมโดยแยบคายในเหตุผลด้วยวิริยะ ที่จะเห็นโทษของการเป็นสัตว์ดิรัจฉานละเอียดเพิ่มขึ้นอีกบ้างไหม

    ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และสามารถพิจารณาได้กว้างขวางโดยหลายนัย แม้ในเรื่องของวิริยเจตสิก ซึ่งจะทำให้เห็นความน่าอัศจรรย์ของสภาพธรรมทั้งหลาย ในขณะนี้ที่กำลังเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว และด้วยพระปัญญาที่พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ พระองค์ได้ทรงแสดงว่า ขณะจิตไหนมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย และขณะจิตไหนไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้ในขณะนี้เอง สามารถที่จะพิจารณาเรื่องของวิริยเจตสิกได้ ตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ คือ ขณะแรกที่จิตเกิดขึ้นในภพหนึ่งภูมิหนึ่ง เพื่อจะได้เป็นความละเอียดที่จะพิจารณา ให้เข้าใจว่า การเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานหรือเกิดเป็นมนุษย์อย่างไหนจะดีกว่ากัน โดยที่ทราบความละเอียดแม้ขณะปฏิสนธิซึ่งต่างกัน

    สำหรับปฏิสนธิจิตทั้งหมดมี ๑๙ ดวง ภูมิที่เกิดของจิตทั้งหมดมี ๓๐ ภูมิ ปฏิสนธิจิตที่เกิดในอบายภูมิมี ๔ คือ เกิดในนรก เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย มี ๑ ดวงเท่านั้น ไม่ว่าจะเกิดในนรกขุมไหน หรือว่าเกิดเป็นสัตว์ประเภทใด เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย ปฏิสนธิจิตต้องเป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ดวงเท่านั้นใน ๑๙ ดวงที่เป็นปฏิสนธิจิต

    และสำหรับปฏิสนธิจิตที่เหลือ ๑๘ ดวงนั้น เกิดในสุคติภูมิ เพราะว่า เป็นผลของกุศล ที่เป็นอย่างนี้เพื่อที่จะได้ทราบว่า ในขณะที่ปฏิสนธิในอบายภูมินั้น ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่เป็นความต่างกัน

    เพราะฉะนั้น บรรดาปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวงนั้น ๑ ดวงเกิดในอบายภูมิ ๑๘ ดวงเกิดในสุคติภูมิ และในปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง ๒ ดวงไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่อีก ๑๗ ดวง มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    นี่เป็นการที่จะพิจารณาละเอียดขึ้นถึงสภาพของจิตที่ปฏิสนธิ ซึ่งทำให้ แต่ละบุคคลต่างกันไปตามภพ ตามภูมิ แม้ว่าปฏิสนธิจิตในภูมิของสัตว์ดิรัจฉานซึ่งมีอยู่ในโลกนี้มีปริมาณนับไม่ถ้วน และปฏิสนธิจิตในภูมิของมนุษย์ก็มีปริมาณนับไม่ถ้วน แต่แม้กระนั้น ด้วยพระปัญญาของพระผู้มีพระภาค ก็ทรงสามารถประมวลสภาพของจิตที่ทำปฏิสนธิกิจในทุกจักรวาลว่า มีเพียง ๑๙ ประเภทเท่านั้น

    สำหรับปฏิสนธิจิตที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยนั้น มีเพียง ๒ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ๔ และ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำกิจปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในภูมิมนุษย์ หรือ ในสวรรค์ชั้นต้น คือ ชั้นจาตุมหาราชิกา

    แสดงให้เห็นว่า เมื่อกรรมได้กระทำไปแล้วต้องให้ผล ส่วนเจตสิกที่จะเกิด ร่วมด้วยกับปฏิสนธิจิตนั้น จำแนกไปตามประเภทของบุคคลที่เกิด เช่น ในอบายภูมิ อกุศลกรรมที่ทำแล้วทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้วยกายกรรม หรือวจีกรรม หรือมโนกรรม เมื่อให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะไม่ต้องอาศัยวิริยะเลย แสดงให้เห็นว่า ผลทั้งหลายเวลาที่จะเกิดขึ้นไม่ต้องมีการที่จะต้องไปพากเพียรใดๆ ที่จะให้ผลเกิด เมื่อเหตุสมควรแก่ผล ผลก็ต้องเกิด

    ขณะที่ทำอกุศลกรรม ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับอกุศลจิต ขณะที่เป็นเหตุต้องมีวิริยะเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อถึงกาลที่จะให้ผล ผลก็ต้องเกิด โดยไม่ต้องมีวิริยะเกิดร่วมด้วย

    สำหรับการเกิดเป็นมนุษย์ที่พิการตั้งแต่กำเนิด เป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อน เมื่อกุศลกรรมนั้นได้กระทำไปแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดผล คือ กุศลวิบาก ทำให้ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิตทำปฏิสนธิกิจเกิดขึ้นเป็นมนุษย์ หรืออาจจะเป็น เทพชั้นต้น โดยไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    แสดงให้เห็นถึงกรรม และผลของกรรม ซึ่งเมื่อเหตุได้กระทำไปแล้ว ผลต้องเกิด และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงโดยละเอียดว่า ถ้าปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากหรือกุศลวิบากจิตแล้ว ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เกิดในภูมิมนุษย์ และในภูมิสวรรค์ที่ไม่ใช่พิการตั้งแต่กำเนิด จะมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    แสดงให้เห็นความต่างกันตั้งแต่ปฏิสนธิ เพราะการที่จะมีวิริยเจตสิก เกิดร่วมด้วยกับการที่จะไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะเห็นชีวิตที่ต่างกัน ผู้ที่เกิดในนรกก็ดี เกิดเป็นเปรตก็ดี เกิดเป็นอสุรกายก็ดี เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ดี สามารถที่จะขวนขวายทำกุศลได้ไหม ก็เป็นไปได้ยากมาก ไม่เหมือนกับปฏิสนธิจิตที่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    อย่างสัตว์ดิรัจฉาน หรือกำเนิดอื่นในอบายภูมิ เกิดมาก็ต้องมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ แล้วแต่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทใด บางประเภทก็อาจจะขาดตาบ้าง หรือหูบ้างก็แล้วแต่ แต่เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องมีกรรมที่ทำให้มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งก็ควรที่จะพิจารณาว่า มีทุกข์อะไรบ้างในกำเนิดที่ต่างกัน

    ท่านที่กล่าวว่า เป็นสัตว์ดิรัจฉานดีกว่า ท่านก็เห็นความลำบากของ ชีวิตมนุษย์ว่า ต้องมีความกังวล และมีการขวนขวาย มีการแสวงหา มีการดำรงชีพ มีเรื่องที่จะต้องกังวลมากมายไม่เหมือนกับสัตว์ดิรัจฉาน แต่ขณะที่พิจารณาธรรม ก็ต้องเป็นวิริยเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิตที่จะพิจารณาธรรมให้ละเอียดกว้างขวางออกไปถึงชีวิตทุกชีวิตทุกภพว่า มีทุกข์อะไร ต่างกัน หรือเหมือนกันอย่างไร

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1880


    สำหรับทุกข์ มี ๓ ประเภท คือ ทุกขทุกข์ ๑ วิปริณามทุกข์ ๑ สังขารทุกข์ ๑

    ทุกข์ในโลกนี้จะไม่พ้นไปจากทุกข์ ๓ ประเภทนี้เลย และทุกคนที่เกิดมาต้องประสบกับทุกข์ทั้ง ๓ ประเภทนี้

    สำหรับทุกขทุกข์นั้น ได้แก่ ทุกขเวทนา ซึ่งอาศัยกายเกิดขึ้น เมื่อมีรูปร่างกาย คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่จะไม่ให้มีทุกขเวทนา เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปในกามภูมิ

    ถ้าในรูปพรหมภูมิ ไม่มีกายปสาท แม้ว่ามีรูปร่างกาย แต่ไม่มีกายปสาทที่จะกระทบกับโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น รูปพรหมบุคคลไม่มีความรู้สึกที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ทางกาย

    คิดดู ในขณะที่เป็นมนุษย์ จะดีไหมถ้าไม่มีทุกข์ทางกาย ไม่หิวเลย สบายมาก ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องปวด ไม่ต้องคัน ไม่ต้องเมื่อยขบ ตัดภาระกังวลไปได้มากมาย แต่ไม่สามารถเป็นไปได้อย่างนั้นเลย เพราะว่ากรรมทำให้กายปสาทรูปเกิดขึ้นเพื่อกระทบกับโผฏฐัพพะ ถ้าเป็นกุศลวิบากก็กระทบกับโผฏฐัพพะที่สบาย ถ้าเป็น อกุศลวิบากก็กระทบกับโผฏฐัพพะที่ไม่น่าสบาย ทำให้เกิดทุกขเวทนา และสภาพธรรมก็มีจริงพิสูจน์ได้ ขณะนี้ปวดเมื่อยเจ็บที่ไหนบ้างหรือเปล่า แม้เพียงเล็กน้อยนิดเดียว บางท่านพัดลมก็เป่าถูกผม ถูกหน้า คิดถึงเวทนาในขณะนั้นว่า สบาย หรือไม่สบาย ซึ่งก็พอที่จะให้สติระลึกรู้ทันในขณะนั้นว่า ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย เมื่อมีกายแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากทางกายเกิดขึ้น ต้องกระทบกับโผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจ แม้เพียงเล็กน้อย

    เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่พร้อมจะให้พิจารณา และสามารถ รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อรรถกถาทุติยเวทนาสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า

    ทุกขเวทนาเมื่อเกิดขึ้นก็ดี ถึงฐีติขณะ (ดำรงอยู่) ก็ดี คือ ขณะที่ยังไม่ดับ แตกดับไปก็ดี ย่อมเบียดเบียนทั้งนั้น

    นี่คือลักษณะของทุกขเวทนา ทั้งในอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ

    เหมือนลูกศรกำลังเสียบเข้าสรีระก็ดี หยุดอยู่ก็ดี กำลังถอนออกก็ดี ย่อมให้เกิดความเจ็บปวดทั้งนั้น

    คนที่กำลังมีทุกขเวทนามากๆ จะรู้สึกซาบซึ้งทีเดียวในลักษณะการอุปมาทุกขเวทนาเหมือนลูกศร ย่อมให้เกิดความเจ็บปวดทั้งนั้น วันนี้อาจจะแข็งแรงดี แต่ไม่แน่ คืนนี้อาจจะปวดเจ็บที่หนึ่งที่ใด และก็พิจารณาถึงลักษณะของทุกขเวทนา ซึ่งเปรียบเหมือนลูกศร ไม่ว่าจะขณะที่เสียบ ขณะที่หยุดอยู่ หรือขณะที่ถอนออก

    สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถามหากรุณาญาณนิทเทส มีข้อความที่แสดงเรื่องของสภาพที่ไม่สงบในวันหนึ่งๆ เพราะว่ามีทุกข์ถึง ๓ อย่าง คือ ทุกขทุกข์ ๑ วิปริณามทุกข์ ๑ และสังขารทุกข์ ๑

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    บทว่า อวูปสันโต โลกไม่สงบ เพราะประกอบด้วยอุทธัจจะอันมีลักษณะ ไม่สงบ เปรียบเหมือนสภาพที่หมุนคว้าง

    ขณะที่จิตใจกำลังเป็นอกุศล ขณะนั้นไม่สงบเลย ขอให้นึกถึงภาพของ สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่กระสับกระส่ายไม่สงบถึงกับหมุนคว้าง แม้แต่ในความคิดก็อาจจะมีสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรืออาจจะเปรียบกับมฤคหรือเนื้อที่ถูกลูกศรแทง ในขณะนั้นจะหยุดอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องกระสับกระส่าย ทุรนทุราย หมุนคว้าง เพราะไม่ใช่มีแต่ทุกขทุกข์เท่านั้นเวลาที่ความทุกข์เกิด จิตใจขณะนั้นกระสับกระส่ายเดือดร้อน กังวล ไม่สงบ

    บทว่า สสัลโล โลกสันนิวาสมีลูกศร คือ เป็นไปกับด้วยลูกศรมีราคะเป็นต้น

    แสดงให้เห็นชีวิตของแต่ละคน ถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็นทุกข์ แต่เมื่อพิจารณาสภาพที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดจะเห็นได้ว่า โลกมีลูกศร คือ เป็นไปกับด้วยลูกศร เต็มไปหมด ลูกศรที่พร้อมจะเสียบอยู่ทุกขณะ มีราคะเป็นต้น

    ที่ชื่อว่าลูกศร เพราะให้เกิดความบีบคั้น เพราะเจาะเข้าไปในภายใน และเพราะนำออกยาก

    ใครที่ถูกลูกศร คิดดู จะบีบคั้นสักแค่ไหน เพราะว่าเจาะเข้าไปถึงภายใน เพียงแต่กระทบกายนิดหน่อยขีดข่วนก็ยังเจ็บแล้ว แต่ลูกศรไม่ใช่เพียงแค่นั้น เจาะ เข้าไปในภายใน และนำออกยากด้วย

    บทว่า วิทโธ คือ ถูกลูกศรเสียดแทงแล้วเช่นมฤคเป็นต้น บางครั้งถูกผู้อื่นแทง แต่โลกคือหมู่สัตว์นี้ ตนเองเท่านั้นถูกแทงตลอดเวลา

    กำลังรู้สึก หรือไม่รู้สึกเวลาที่อกุศลเกิดว่า ขณะนั้นเป็นลูกศร ซึ่งก็น่าจะรู้ว่า ถูกอะไรแทงบ้างในวันหนึ่งๆ ไม่พ้นลูกศร คือ

    บทว่า ปุถุสัลเลหิ ความว่า ลูกศรจำนวนมาก คือ ถูกลูกศร ๗ ลูก คือ ลูกศรคือราคะ ๑ ลูกศรคือโทสะ ๑ ลูกศรคือโมหะ ๑ ลูกศรคือมานะ ๑ ลูกศรคือทิฏฐิ ๑ ลูกศรคือกิเลส ๑ ลูกศรคือทุจริต ๑

    มีใครไม่ถูกลูกศร ๗ ลูกนี้บ้าง ไม่มี นอกจากจะเป็นผู้ที่ถอนลูกศรออกแล้ว คือ เป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้ถอนลูกศร คือ ยังไม่ได้เป็น พระอริยบุคคล จะมีสภาพเป็นอย่างไร

    อรรถกถามหากรุณาญาณนิทเทส แสดงว่า

    เป็นสภาพที่มืดตื้อ เพราะอวิชชาปิดกั้นไว้

    เวลานี้มองไม่เห็นว่าจะมืดแค่ไหน เพราะดูเหมือนว่ามีแสงสว่าง แต่ถ้าขณะใดปัญญาไม่เกิดรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ไม่มีปัญญา ขณะนั้นก็มืดตื้อเพราะอวิชชาปิดกั้นไว้ เห็นก็เหมือนเดิม เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และยังมีโลภะ มีโทสะ มีอกุศลต่างๆ ก็ยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ก็ดูเหมือนกับไม่มืด แต่ถ้าปัญญาเกิดขณะใดจะรู้ว่า ก่อนที่ปัญญา จะเกิดนั้นอยู่ในโลกของความมืดจริงๆ เพราะว่าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ผู้ที่มีอวิชชาจึงเป็นสภาพที่มืดตื้อ เพราะอวิชชาปิดกั้นไว้

    ถ้าอยู่ในห้องที่มืดตื้อ ทุกคนต้องพยายามแสวงหาทางที่จะออกจากความมืด เพราะว่าต้องมีความตกใจกลัวที่จะอยู่ในห้องที่มืดตื้อ หรือมีแต่ความมืดตื้อปกคลุมไว้ทั้งหมด ถ้าเป็นลักษณะนั้นจริงๆ จะเห็นภัย เห็นอันตราย และแสวงหาทางที่จะ ออกจากความมืด

    แต่ขณะนี้ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น จนกว่าปัญญาจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อมีอวิชชาต้องมืด เพราะว่ายังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง นอกจากอยู่ในที่มืดตื้อแล้ว ยังถูกใส่เข้าไปในกรงกิเลส นี่คือสภาพของคนที่เต็มไปด้วยอวิชชา และอกุศลทั้งหลาย

    นอกจากจะถูกใส่เข้าไปในกรงกิเลสแล้ว

    ยังถูกนำเข้าไปในฝักของอวิชชา มีสิ่งที่ห้อมล้อมอีก ถูกอวิชชาหุ้มห่อล้อมรอบ ดุจสัตว์ที่เกิดในฟองไข่ ฟองไข่ก็จะหุ้มห่อสัตว์นั้นไว้ทำให้สัตว์นั้นออกไม่ได้ ฉันใด คนที่ถูกใส่เข้าไปในกรงกิเลสก็จะต้องเป็นฉันนั้น

    ใส่เข้าไปในกรง และยังมีฝักของอวิชชาหุ้มห่อไว้เหมือนกับฟองไข่

    นอกจากนั้น

    สภาพที่ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้นั้น ก็ยังยุ่งดุจเส้นด้ายของนายช่างหูกที่เก็บไว้ไม่ดี ถูกหนูกัด ย่อมยุ่งเหยิงในที่นั้นๆ เป็นการยากที่จะตีราคาให้สมค่า

    คือ ไม่รู้จะตีราคาอย่างไร ถ้าเป็นนายช่างหูกที่เก็บด้ายไว้อย่างดี กลุ่มด้ายนั้นยังมีประโยชน์ที่จะใช้ได้ ตีราคาได้ แต่นี่นายช่างหูกเก็บไว้ไม่ดี ถูกหนูกัด และยุ่งเหยิงไปหมด ก็ยากที่จะตีราคาให้สมค่าได้

    และสำหรับผู้ที่มากไปด้วยความคิดผิด ความเห็นผิด การประพฤติผิด การปฏิบัติผิดนั้น

    เหมือนเส้นด้ายที่ยุ่งที่นายช่างหูกเอาไปคลุกน้ำข้าว แล้วขยำให้ติดกันเป็นปม

    นี่คือชีวิตจริงๆ ของแต่ละบุคคลที่จะพิจารณาว่า ชีวิตของใครเป็นอย่างไร และใครกำลังสางสิ่งที่ยุ่งเหยิงหรือสิ่งที่ไม่ตรงให้กลับกลายเป็นสิ่งที่ตรง และ มีประโยชน์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ไม่อาจรู้เหตุ และผลของสภาพธรรมทั้งหลายได้ เป็นผู้พลาดพลั้ง ยุ่งยาก วุ่นวายในปัจจัย คือ นามธรรม และรูปธรรม

    ทุกคนต้องมีการพลาดพลั้งโดยไม่เจตนา ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง บางทีก็มีความตั้งใจดีที่จะเป็นกุศล แต่ด้วยกำลังของกิเลสทำให้เกิดพลาดไปเสียแล้ว พลั้งไปเสียแล้ว ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง คือ ยุ่งยาก วุ่นวายในปัจจัยทั้งหลาย คือ ทั้งนามธรรม และรูปธรรมอยู่เรื่อยๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สัตว์อื่นนอกจากพระโพธิสัตว์แล้ว ที่สามารถจะประพฤติเหตุปัจจัยให้ตรงต่อการพ้นจากสังสารโดยธรรมดาของตน ย่อมไม่มี

    เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรมเพื่อเห็นทุกข์โทษภัยของสังสารวัฏฏ์ และมีวิริยะ ความเพียร ที่จะให้เกิดความเข้าใจสภาพธรรมยิ่งขึ้น

    นี่คือเรื่องของทุกขทุกข์ และเรื่องของกิเลสทั้งหลาย ซึ่งได้แก่วิปริณามทุกข์ คือ ความแปรปรวน ความเสื่อมของสุขนั่นเอง

    ทุกข์กาย ทุกคนหนีไม่พ้นเมื่อมีกาย แล้วแต่ว่าความเจ็บปวดมีเหตุที่จะเกิดขึ้นวันไหนก็เกิดขึ้น และเหตุในอดีตก็คือกรรมที่ได้กระทำแล้วซึ่งเป็นการเบียดเบียน การประทุษร้าย การฆ่า การทำร้ายบุคคลอื่นให้เจ็บหรือให้ตาย นั่นเป็นเหตุที่ทำให้ กายวิญญาณซึ่งเป็นอกุศลวิบากเกิดร่วมกับทุกขเวทนา แต่ไม่ใช่มีแต่เพียงทุกขทุกข์ ยังมีวิปริณามทุกข์ คือ ความแปรปรวนของสุข ทำให้ความรู้สึกที่เป็นทุกข์นั้นเกิดขึ้น

    สำหรับทุกขทุกข์ พิจารณาดูว่า การเกิดเป็นมนุษย์กับเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน อย่างไหนจะดีกว่ากัน เมื่อทุกข์กายเกิดขึ้น สัตว์ดิรัจฉานไม่สามารถรักษาตัวเอง จะหยิบยามารักษา มากิน มาทำอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น แต่มนุษย์มีทางที่จะเยียวยารักษาทุกข์ที่เกิดขึ้นให้เบาบางลงได้ แสดงให้เห็นว่า การเกิดที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย กับการเกิดที่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยนั้น ต่างกัน

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1881


    ทุกข์ประการที่ ๓ คือ สังขารทุกข์ ทุกข์ คือ การเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ พูดสั้นๆ อย่างนี้ ท่านที่ได้อบรมปัญญามาพร้อม สามารถจะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้จริงๆ เพราะว่าในขณะนี้เอง สังขารทุกข์ทั้งนั้น เห็นขณะหนึ่ง ได้ยินอีกขณะหนึ่ง แต่ผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดูเป็นธรรมดา ไม่เดือดร้อน ก็รู้อยู่ว่า เห็นดับ และได้ยินเกิด ไม่เห็นจะเป็นทุกข์ได้อย่างไร

    ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า แม้ว่าสังขารทุกข์มีจริง และกำลังเป็นสังขารทุกข์ คือ กำลังเกิดดับ แต่เพราะปัญญาไม่ได้รู้ว่า ปัญญาจะเจริญขึ้นก็เพราะรู้สังขารทุกข์นั่นเอง รู้ไม่ใช่รู้เพียงฟังว่าขณะนี้เป็นสังขารทุกข์ที่เกิดดับ แต่รู้ด้วยสติที่กำลังพิจารณาลักษณะของสังขารทุกข์ที่กำลังเกิดดับจริงๆ

    แม้ว่าสังขารทุกข์มี ก็ต้องมีการศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสังขารทุกข์ จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิด และดับ เพียงคำว่า เกิด ก็ดับแล้ว

    แสดงให้เห็นว่า ปัญญาต้องรู้จริงๆ ตรงนั้น ตรงสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่ต้องเริ่มรู้โดยเข้าใจก่อนว่า เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน พร้อม ที่จะเป็นฐานให้มีการระลึกรู้ได้ เพราะถ้าไม่มีการฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ และหวังรอว่าเมื่อไรสติจะเกิดมากๆ เป็นไปไม่ได้เลย

    วันนี้ใครจะคิดเรื่องอะไร ก็เป็นเพราะรู้เรื่องนั้นมากๆ ก็คิดเรื่องนั้นได้มากๆ แต่ถ้าไม่รู้เรื่องนั้นเลย ก็คิดเรื่องนั้นไม่ได้

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1882


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 199
    8 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ