ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    สัจจะที่ประเสริฐก็เป็นการรู้แจ้งนิพพาน หรือนิพพานนั่นเองเป็นสัจจะ คือ ไม่เลอะเลือน เปลี่ยนแปลง แปรปรวน เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่ถึงความเป็นสัจจะอย่างยิ่ง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง คือ ผู้ที่รู้แจ้งสิ่งที่ไม่เลอะเลือน ส่วนจาคะก็เช่นเดียวกัน บางครั้งก็สละวัตถุ บางครั้งก็สละกิเลส แต่ถ้าสละจริงๆ เป็นการสละอย่างยิ่ง เป็นการสละที่ประเสริฐ แล้วต้องสละอุปธิ คือ กิเลส และขันธ์ ไม่มีการยึดถือ สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง

    ข้อความต่อไป เรื่องความสงบอย่างยิ่ง มีว่า

    อนึ่งบุคคลนั้นแลยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงมีอภิชฌา ฉันทะ ราคะกล้า อาฆาต พยาบาท ความคิดประทุษร้าย อวิชชา ความหลงพร้อม และความหลงงมงาย อกุศลธรรมนั้นๆ เป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความสงบอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปสมะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ ก็อุปสมะนี้ คือ ความเข้าไปสงบราคะ โทสะ โมหะ เป็นอุปสมะอันประเสริฐอย่างยิ่ง

    ข้อที่เรากล่าวถึงดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่นเราอาศัยเนื้อความนี้กล่าวแล้ว

    คำว่า สงบ บางท่านเวลาที่อ่านพระสูตรอาจคิดว่า หมายความถึงสมาธิ แต่ความจริงไม่ใช่ ความสงบที่ประเสริฐ ความสงบที่แท้จริง คือ สงบจากกิเลสทั้งปวง ขออ่านตอนสุดท้ายให้จบ เพื่อจะได้ทราบว่า ในระหว่างที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมนั้น เมื่อทรงแสดงธรรมจบ ผลของพระธรรมเทศนาจะเป็นอย่างไรบ้าง ข้อความตอนสุดท้ายมีว่า

    ลำดับนั้นแล ท่านปุกกุสาติทราบแน่นอนว่า พระศาสดาพระสุคตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ จึงลุกจากอาสนะ ทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษล่วงเกินได้ต้องข้าพระองค์แล้ว ผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งข้าพระองค์ได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกพระผู้มีพระภาคด้วยวาทะว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ ขอพระผู้มีพระภาคจงรับอดโทษล่วงเกินแก่ข้าพระองค์ เพื่อจะสำรวมต่อไปเถิด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ เอาเถอะ โทษล่วงเกินได้ต้องเธอผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งเธอได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกเราด้วยวาทะว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ แต่เพราะเธอเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม เราขอรับอดโทษนั้นแก่เธอ

    ดูกร ภิกษุ ก็ข้อที่บุคคลเห็นโทษล่วงเกิน โดยความเป็นโทษแล้ว กระทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปได้ นั่นเป็นความเจริญในอริยวินัย

    ไม่ว่าใครทำผิด ถ้าสำนึกแล้วก็แก้ตัว หรือว่ากระทำคืน คือ จะไม่ทำอย่างนั้นอีกต่อไป นั่นเป็นความเจริญในอริยวินัย ไม่ใช่ผิดก็ปล่อยให้ผิดต่อไป อย่างนั้นจะถึงความเจริญในอริยวินัยไม่ได้ ไม่ว่าจะผิดพลาดพลั้งไปในเรื่องใดๆ ก็ตาม แล้วรู้ว่าได้กระทำผิด ก็ไม่กระทำต่อไป แล้วกระทำสิ่งที่ถูก เริ่มสิ่งที่ถูกต่อไป นั่นย่อมถึงความเจริญในอริยวินัยได้

    ท่านพระปุกกุสาติกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ ก็บาตรจีวรของเธอครบแล้วหรือ

    ท่านพระปุกกุสาติกราบทูลว่า

    ยังไม่ครบพระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ ตถาคตทั้งหลายจะให้กุลบุตรผู้มีบาตร และจีวรยังไม่ครบอุปสมบทไม่ได้เลย

    ลำดับนั้น ท่านปุกกุสาติยินดี อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไปหาบาตรจีวร ทันใดนั้นแล แม่โคได้ปลิดชีพท่านปุกกุสาติผู้กำลังเที่ยวหาบาตรจีวรอยู่ ต่อนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกันได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อปุกกุสาติที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ คนนั้นทำกาละเสียแล้ว เขาจะมีคติอย่างไร มีสัมปรายภพอย่างไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตรเป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตรเป็นผู้เข้าถึงอุปาติกเทพ เพราะสิ้นสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ เป็นอันปรินิพพานในโลกนั้น มีความไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

    โดยมากท่านผู้ฟังเข้าใจว่า ขณะที่กำลังพูด หรือขณะที่ฟังรู้เรื่องนั้น เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ถ้าท่านเข้าใจอย่างนั้น นั่นเป็นความเข้าใจของท่านเอง หรือว่าตรงกับพระธรรมวินัย ในพระสูตร ในพระวินัย ในพระอภิธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้

    เพราะฉะนั้น สำหรับเรื่องของท่านปุกกุสาตินี้ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งให้เห็นว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นเป็นปกติธรรมดา ขณะไหนก็ได้ ขณะที่กำลังเดินหาบาตรหาจีวรก็ได้ ขณะที่กำลังถูกโคขวิดก็ได้

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96


    นาที 7.43

    ธาตุมนสิการบรรพ ใน มหาสติปัฏฐานสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติโดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

    คนฆ่าโค หรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ขยัน ฆ่าโคแล้ว แบ่งออกเป็นส่วน นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติโดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้น ในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    จบธาตุมนสิการบรรพ

    ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติ

    ถ้าตรวจสอบเทียบเคียงในพระไตรปิฎก เป็นปกติทุกอย่าง จะเป็นสติระลึกรู้สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ไม่ต้องทำอะไรช้าๆ เพื่อที่จะให้สติเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ในขณะที่กำลังเป็นปกติ

    สำหรับโดยความเป็นธาตุ มีปรากฏให้รู้ได้ที่กายนี้โดยที่ไม่จำเป็นต้องไประลึกถึงโดยความเป็นปฏิกูล

    คำว่า ธาตุ หมายความถึงสภาพที่มีปรากฏแต่ละลักษณะตามความเป็นจริงของธาตุนั้นๆ

    ธาตุดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ธาตุดินมีลักษณะแข็ง ธาตุไฟ มีลักษณะเย็นหรือร้อน ธาตุลม มีลักษณะตึงหรือไหว

    เดินเมื่อยๆ เข้ามีตึงระลึกรู้ได้ เป็นธาตุแต่ละชนิดที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล สำหรับธาตุมนสิการบรรพก็โดยนัยเดียวกัน คือ เป็นสมถกัมมัฏฐานก็ได้ เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ได้ เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ของสมถภาวนาทั้งหมดนั้น เพื่อให้จิตแน่วแน่ตั้งมั่นคงอยู่ที่อารมณ์เดียว แต่จุดประสงค์ของการเจริญวิปัสสนานั้นเพื่อรู้ชัด แล้วละ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94


    นาที 11.44

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดศึกษาเรื่องสมถกัมมัฏฐาน จะมีธาตุมนสิการด้วย แต่ว่าสำหรับผู้ที่เจริญสมถกัมมัฏฐานนั้น เวลาที่ระลึกถึงธาตุหนึ่งธาตุใดใน ๔ ธาตุนี้ ก็มีความมุ่งหมายที่จะระลึกเพื่อให้จิตสงบอยู่ที่อารมณ์เดียว เพื่อให้จิตตั้งมั่นคง ไม่ใช่เพื่อการรู้ชัดแล้วละ

    สำหรับธาตุมนสิการ ถึงแม้ว่าจะเป็นโดยนัยของสมถภาวนาก็ตาม เป็นอารมณ์ที่ไม่สามารถจะทำให้จิตบรรลุถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เพียงแต่ให้จิตสงบได้ถึงขั้นอุปจารสมาธิเท่านั้น เพราะว่ามีลักษณะของธาตุเป็นอารมณ์ ลักษณะของธาตุนั้น มีแล้วก็หมดไป สิ่งใดที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่สามารถทำให้จิตตั้งมั่นคง จิตไม่สงบถึงขั้นที่จะให้ตั้งมั่นถึงอัปปนาสมาธิ

    ธาตุต่างๆ เป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าใครระลึกโดยลักษณะของความเป็นธาตุ จิตก็สงบ และถ้าเป็นการเจริญสมถภาวนาก็ทำให้จิตตั้งมั่นคงแน่วแน่ในอารมณ์นั้นได้ แต่ไม่ละ เป็นแต่เพียงความสงบ และตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์นั้นพอสมควร คือ ถึงขั้นอุปจารสมาธิ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะระลึกรู้ลักษณะของธาตุแล้วบรรลุถึงขั้นอุปจารสมาธิ บางคนก็เป็นเพียงแค่ขณิกสมาธิ บริกัมมสมาธิ ไม่ถึงอุปจารสมาธิ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องละเอียดที่ท่านผู้ฟังไม่ใช่เพียงแต่ดูชื่อว่า ปฏิกูลมนสิการก็ดี ธาตุมนสิการก็ดี ก็เป็นสมถกัมมัฏฐาน ฉะนั้น เมื่ออยู่ในมหาสติปัฏฐานแล้ว ก็ต้องไปทำแบบสมถกัมมัฏฐาน ไม่ใช่อย่างนั้นเลย วิธีเจริญก็ผิดกัน จุดประสงค์ก็ผิดกัน ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่อยู่ข้างนอก ความอ่อน ความแข็ง ความเย็น ความร้อน เคร่ง ตึง ไหว ไหล เกาะกุม ลักษณะต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้ยึดถือว่าเป็นร่างกายของเรา แต่ที่ระลึกรู้ลักษณะของธาตุภายในบ้าง ภายนอกบ้าง ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง เพื่อให้รู้ความเสมอกันของธาตุข้างนอกกับธาตุที่กายว่าไม่ต่างกัน เมื่อไม่ต่างกัน ทำไมจะยึดถือว่า เป็นร่างกายของเรา

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95


    นาที 14.40

    สำหรับเรื่องของธาตุทั้ง ๔ มีปรากฏตลอดเวลาทั้งภายในทั้งภายนอก แต่การละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นก็แสนยาก แล้วก็ไม่ใช่ยากแต่เฉพาะบุคคลในครั้งนี้ แม้บุคคลในครั้งพุทธกาลก็เช่นเดียวกัน สัตว์โลกในสมัยนี้ฉันใด ในครั้งพุทธกาลก็ฉันนั้น ไม่ต่างกัน คนในสมัยนี้มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ มีความเห็นผิดยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตนฉันใด คนในครั้งโน้นก็เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ อุปการะให้ท่านที่กำลังเจริญสติได้มีความเห็นถูก แล้วละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน

    และถึงแม้ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป ก็ไม่ใช่ว่าจะละคลายได้โดยง่าย ผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญูนั้นมีน้อย ผู้ที่เป็นวิปัญจิตัญญูนั้นมีน้อย ส่วนผู้ที่เป็นเนยยบุคคลนั้นต้องเจริญสติปัฏฐานมาก ระลึกรู้นามรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าจะชิน จนกว่าจะคลาย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะละคลายได้โดยรวดเร็ว ถ้าผู้นั้นไม่ได้สะสมอินทรีย์มาแก่กล้า

    มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มหาราหุโลวาทสูตร มีข้อความว่า

    ณ พระวิหารเชตวัน ซึ่งครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จบิณฑบาตในพระนคร สาวัตถี ท่านพระราหุลเป็นปัจฉาสมณะ ตามหลังพระผู้มีพระภาคไป และพระผู้มีพระภาคได้ทรงโอวาทท่านพระราหุล ทำให้ท่านกลับไป เพราะเห็นว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสโอวาทแก่ท่านแล้ว ท่านก็ควรที่จะเจริญสมณธรรม

    เมื่อท่านกลับจากที่นั้นแล้ว ท่านนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรได้เห็นท่านพระราหุลนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง แล้วบอกกับท่านพระราหุลว่า

    ดูกร ราหุล ท่านจงเจริญอานาปานสติเถิด ด้วยว่า อานาปานสติภาวนาที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ครั้งนั้นเวลาเย็น ท่านพระราหุลออกจากที่เร้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์

    เวลาที่อ่านพระสูตรตอนแรกๆ ก็อาจจะข้ามพยัญชนะ ไม่ค่อยได้คิดถึงเหตุผลว่า เพราะเหตุใดบุคคลนั้นจึงได้กล่าวกับบุคคลนั้นว่าอย่างนั้น แต่ว่าถ้าท่านอ่านซ้ำหลายๆ ครั้ง อาจจะเกิดความแจ่มแจ้งถึงเหตุถึงผลได้ และเข้าใจได้โดยตลอดว่า เพราะเหตุใดท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวกับท่านพระราหุลอย่างนั้น แต่เมื่อท่านพระราหุลออกจากที่เร้น ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วก็กราบทูลถามว่า

    อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์

    แสดงว่าท่านพระราหุล เจริญอานาปานสติภาวนาตลอดเวลาเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของรูป ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ท่านพระราหุลท่านก็ได้บรรพชาอุปสมบทเจริญสติปัฏฐานเป็นเวลานาน ไม่ใช่เป็นเวลาเล็กน้อย แต่ว่าท่านพระภิกษุในครั้งโน้นท่านมีศรัทธาออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต เจริญสติปัฏฐานกันวันแล้ววันเล่าทีเดียว แต่การที่จะละคลายการยึดถือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นเป็นสิ่งที่ยาก เป็นสิ่งที่ต้องเจริญเป็นเวลานาน

    พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะของรูป คือ ธาตุดินส่วนต่างๆ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อย่างในปฏิกูลมนสิการบรรพ ใน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยความว่า ส่วนต่างๆ เหล่านั้นเป็นปฐวีธาตุภายใน

    แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็ปฐวีธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด ปฐวีธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุเหมือนกัน ปฐวีธาตุนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในปฐวีธาตุ

    ต่อไปเป็นอาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ อากาศธาตุ

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ราหุล เธอจงเจริญภาวนา คือ อบรมจิตเสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

    ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้างลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

    ไม่ว่าจะเป็นท่านพระราหุล หรือท่านพระภิกษุในครั้งโน้นซึ่งมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีวิบากกรรมที่ได้สะสมที่จะได้รับกระทบอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เมื่อกิเลสยังมีเป็นเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แต่ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ จักไม่ครอบงำ ก็เพราะเหตุว่าผู้นั้นเจริญสติ

    ข้อความต่อไปเป็นอาโปธาตุ พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระราหุลโดยนัยเดียวกันว่า

    ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้างลงในน้ำ น้ำจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

    ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน การศึกษาพระไตรปิฎกก็เกื้อกูลความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้น เพราะไม่ว่าจะเจริญอบรมจิตใจให้เสมอด้วยน้ำก็เช่นเดียวกัน คือ ไม่ว่าจะกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ครอบงำจิตด้วยทิฏฐิ ตัณหา มานะได้

    สำหรับการเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟก็เหมือนกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

    เป็นปกติธรรมดา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น มากขึ้น การละคลายมากขึ้น จิตก็ย่อมจะเสมอกับแผ่นดิน เสมอกับน้ำมากยิ่งขึ้น เสมอกับไฟมากยิ่งขึ้น

    สำหรับเรื่องของการเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ก็โดยนัยเดียวกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

    ต่อไปเป็นการเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ซึ่งเป็นโดยนัยเดียวกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97


    นาที 24.50

    ที่ว่าอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ก็เพราะเหตุว่าอากาศนั้นแทรกซึมไปทั่วหมด อากาศจึงไม่ได้เลือกที่จะอึดอัด ที่จะระอา ที่จะแทรกซึมแต่เฉพาะสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ว่าเมื่อเป็นผู้ที่เจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ จิตก็มั่นคง ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

    ส่วนข้อความต่อไปก็เกื้อกูลกับท่านผู้ที่เจริญสติปัฏฐานด้วย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้

    เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสาได้

    เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จะละอรติได้

    เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จะละปฏิฆะได้

    เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้

    เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้

    ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคได้ให้ท่านพระราหุลเจริญอานาปานสติภาวนา พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

    ตามธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น เพราะได้ฟังธรรม เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ มีข้อความในพระสูตร แสดงให้เห็นความไม่เที่ยงของธาตุทั้ง ๔ เป็นธาตุมนสิการซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรู้

    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาหัตถิปโทปมสูตร ข้อ ๓๔๒ มีข้อความว่า

    สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ท่านพระสารีบุตรได้ กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้แล ในสมัยนั้นปฐวีธาตุอันเป็นภายนอกจะเป็นของอันตรธานไป

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ความที่ปฐวีธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยงจักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดาจักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดาจักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดาจักปรากฏได้ ก็ไฉนความที่แห่งกายนี้อันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้วว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลพอประมาณนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาจักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ความยึดถือด้วยสามารถ ตัณหา มานะ และทิฏฐิในปฐวีธาตุนั้นจะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่าชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ จะกระทบกระเทียบ จะเบียดเบียนภิกษุนั้นไซร้ ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่โสตสัมผัสสะนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกขเวทนานี้แลอาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไรจึงมีได้

    ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะจึงมีได้ ภิกษุย่อมเห็นว่า ผัสสะแม้นั้นแลเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนานั้นเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่าสัญญานั้นเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่าสังขารทั้งหลายนั้นเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่าวิญญาณนั้นเป็นของไม่เที่ยง จิตอันมีธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้นย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อมหลุดพ้น

    ต่อจากนั้น ภิกษุนั้นก็จะระลึกถึง กกจูปมสูตร คือ พระโอวาทเปรียบด้วยเลื่อย ที่ไม่ว่าโจรจะมาเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ก็ไม่ควรพยาบาท หรือโกรธเคืองในโจรนั้น เมื่อระลึกถึงพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อย

    ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมตั้งอยู่ด้วยดีไซร้ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 199
    8 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ