คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)


    สำหรับความต่างกันของพระพุทธรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ซึ่งเป็นผู้ที่หมดจดจากกิเลส คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดา ทรงเป็นผู้ชี้หนทางให้บุคคลอื่นประพฤติปฏิบัติตาม

    ข้อความใน สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุต มัชฌิมปัณณากส์ พุทธสูตร มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความต่างกันของพระองค์กับพระสงฆ์สาวกว่า

    พระนครสาวัตถี ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหลุดพ้นเพราะหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เทวดา และมนุษย์ต่างพากันเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา หลุดพ้นแล้วเพราะหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เราเรียกว่า ผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นจะมีอะไรเป็นข้อแปลกกัน จะมีอะไรเป็นข้อประสงค์ที่ยิ่งกว่ากัน จะมีอะไรเป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน เป็นแบบฉบับ เป็นที่อิงอาศัย ขอประทานพระวโรกาส ขออรรถแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกับพระผู้มีพระภาคทีเดียวเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิด ยังประชุมชนให้รู้จักมรรคที่ใครๆ ไม่รู้จัก บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้จักทาง ประกาศทางให้ปรากฏ ฉลาดในทาง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สาวกทั้งหลายในบัดนี้ เป็นผู้ที่ดำเนินไปตามทาง เป็นผู้ตามมาในภายหลัง อันนี้แลเป็นข้อแปลกกัน อันนี้เป็นข้อประสงค์ยิ่งกว่ากัน อันนี้ เป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา

    จบ สูตรที่ ๖

    ข้อความในพระสูตรนี้สั้น คงจะยังไม่สามารถที่จะทำให้เห็นความต่างกันของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสาวก ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบความละเอียดในพระไตรปิฎกบ้าง และในอรรถกถาบ้าง ซึ่งแสดงถึงพระคุณที่ต่างกันของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระสงฆ์ซึ่งเป็นสังฆรัตนะ

    ขอกล่าวถึง อุปมาลักษณะของพระรัตนตรัย ใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ได้อุปมาลักษณะของพระรัตนตรัย มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาค คือ พระพุทธรัตนะ เปรียบดุจพระจันทร์เพ็ญ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เปรียบดุจข่ายรัศมีแห่งพระจันทร์เพ็ญ พระสงฆ์เปรียบด้วยพื้นโลกที่มีความเร่าร้อน อันรัศมีแห่งพระจันทร์เพ็ญสาดส่องแล้ว คือ หมายถึงผู้ที่มีความเร่าร้อนอันสงบแล้วเพราะรัศมีแห่งพระจันทร์เพ็ญ

    ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เข้าใจลักษณะของความเร่าร้อนว่าคือ ทุกๆ ขณะที่เกิดจากกิเลส และการยึดถือสภาพธรรมเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญา เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงจนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่เปรียบด้วยพื้นโลกที่มีความเร่าร้อน อันรัศมีแห่งพระจันทร์เพ็ญสาดส่องแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    พระผู้มีพระภาคเปรียบด้วยพระอาทิตย์อ่อน พระธรรมซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว เปรียบด้วยข่ายรัศมีแห่งพระอาทิตย์อ่อนนั้น พระสงฆ์เปรียบดุจโลกที่มีความมืดมน อันพระอาทิตย์อ่อนนั้นขจัดแล้ว

    ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงเปรียบด้วยพระอาทิตย์อ่อน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นพระอาทิตย์ที่แรงกล้า ก็ย่อมจะเผาไหม้ ร้อน มีอันตราย แต่เมื่อเป็นพระอาทิตย์ที่อ่อน ก็ไม่ทำอันตรายเช่นนั้น

    พระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนบุรุษเผาป่า พระธรรมซึ่งเผาป่าคือกิเลส เปรียบดุจไฟไหม้ป่า พระสงฆ์เปรียบดุจภูมิภาคอันเป็นที่นาเพราะมีป่าอันไฟไหม้แล้ว และชื่อว่าเป็นบุญเขตเพราะท่านเผากิเลสได้แล้ว

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจมหาเมฆ พระธรรมเปรียบดุจน้ำฝน พระสงฆ์ซึ่งมีเรณูคือกิเลสสงบระงับแล้ว เปรียบดุจชนบทที่มีละอองคือฝุ่นอันสงบแล้วเพราะฝนตกลงมา

    พระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนนายสารถีผู้ฉลาด พระธรรมเปรียบดุจอุบายฝึกม้าอาชาไนย พระสงฆ์เปรียบดุจม้าอาชาไนยที่ได้รับการฝึกฝนดีแล้ว

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจผู้ถอนลูกศร เพราะทรงถอนลูกศรคือทิฏฐิทั้งหมด ขึ้นได้ พระธรรมเปรียบดุจอุบายเครื่องถอนลูกศร พระสงฆ์คือผู้ถอนลูกศรคือทิฏฐิได้แล้ว เปรียบเหมือนคนที่มีลูกศรอันถอนขึ้นแล้ว ผู้ถอนลูกศร เพราะถอนคือลอกฝ้า ในดวงตาคือโมหะขึ้นเสียได้ พระธรรมเปรียบดุจอุบายที่เป็นเครื่องลอกฝ้า พระสงฆ์ คือผู้ลอกฝ้าคือโมหะได้แล้ว และผู้มีนัยน์ตาคือญาณอันแจ่มใส เปรียบดุจคนที่มีนัยน์ตาอันแจ่มใสเพราะลอกฝ้าออกเสียแล้ว

    อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเปรียบด้วยนายแพทย์ผู้ฉลาด เพราะสามารถนำออกซึ่งตัวพยาธิคืออนุสัยกิเลส พระธรรมเปรียบดุจยาที่ผสมดีแล้ว พระสงฆ์ผู้มีอนุสัยคือพยาธิอันเป็นตัวกิเลสสงบดีแล้ว เปรียบดุจหมู่ชนซึ่งมีโรคอันสงบแล้วเพราะการใช้ยา

    พระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนผู้ชี้ทางที่ฉลาด พระธรรมเปรียบเหมือนทางอันดี และเปรียบดุจภูมิภาคอันเกษม พระสงฆ์เปรียบดุจหมู่ชนผู้ไปถึงภูมิภาคอันเกษม

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจนายเรือผู้ฉลาด พระธรรมเปรียบดุจเรือ พระสงฆ์ซึ่งเป็นคนเดินทางเปรียบดุจผู้ถึงฝั่งแล้วเพราะอาศัยเรือนั้น

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจหิมวันตประเทศ พระธรรมเปรียบตัวยาที่เกิดขึ้นที่ หิมวันตประเทศนั้น พระสงฆ์เปรียบดุจคนที่หายโรคเพราะบริโภคยา

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจคนให้ทรัพย์ พระธรรมเปรียบดุจทรัพย์ พระสงฆ์ซึ่งได้อริยทรัพย์มาโดยชอบ เปรียบดุจคนที่ได้ทรัพย์ตามความประสงค์

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจผู้ชี้ขุมทรัพย์ พระธรรมเปรียบดุจขุมทรัพย์ พระสงฆ์เปรียบดุจคนที่ถึงขุมทรัพย์แล้ว

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 786


    อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจบุรุษผู้ฉลาดซึ่งให้ความไม่มีภัย พระธรรมเปรียบดุจความไม่มีภัย พระสงฆ์ผู้ถึงความไม่มีภัยโดยส่วนเดียวแล้ว เปรียบดุจคนที่มีความไม่มีภัยแล้ว

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจผู้บอกความสบายใจคือโปร่งใจ พระธรรมเปรียบดุจความโปร่งใจ พระสงฆ์เปรียบดุจคนที่มีความโปร่งใจ

    พระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนมิตรดี พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายเครื่องแนะนำที่มีประโยชน์ พระสงฆ์เปรียบดุจชนที่ได้รับประโยชน์ของตนแล้วเพราะการดำเนินตามอุบายที่มีประโยชน์

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจบ่อเกิดแห่งรัตนะ พระธรรมเปรียบดุจรัตนะอันมีแก่นสาร พระสงฆ์เปรียบดุจคนที่ใช้สอยรัตนะอันมีแก่นสาร

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจผู้ให้พระราชกุมารสรงน้ำ พระธรรมเปรียบดุจน้ำอาบที่สะอาด พระสงฆ์เปรียบดุจผู้ได้อาบน้ำคือพระสัทธรรมแล้ว ดุจหมู่แห่งพระราชกุมารผู้สรงน้ำแล้ว

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจผู้ทำเครื่องประดับ พระธรรมเปรียบดุจเครื่องประดับ พระสงฆ์ผู้ประดับประดาแล้วด้วยพระสัทธรรม เปรียบดุจหมู่แห่งพระราชกุมารผู้ทรงประดับประดาแล้ว

    พระผู้มีพระภาคเปรียบด้วยต้นจันทน์หอม พระธรรมเปรียบด้วยแก่นจันทน์ที่เกิดจากต้นจันทน์หอมนั้น พระสงฆ์ผู้ระงับความกระวนกระวายได้โดยส่วนเดียว เพราะการนำพระสัทธรรมมาปฏิบัติ เปรียบดุจคนที่ระงับความกระวนกระวายได้แล้ว เพราะใช้จันทน์หอม

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจบิดาผู้ประทานมรดกคือพระธรรม พระธรรมเปรียบดุจมรดก พระสงฆ์ผู้ควรแก่มรดกคือพระสัทธรรม เปรียบดุจหมู่แห่งบุตรผู้ควรแก่มรดก

    พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจดอกปทุมที่แย้มบาน พระธรรมเปรียบดุจน้ำหวานที่เกิดในดอกปทุมนั้น พระสงฆ์เปรียบดุจหมู่ผึ้งผู้บริโภคน้ำหวานนั้น

    ก็บัณฑิตพึงประกาศพระรัตนตรัยนี้ ด้วยอุปมาทั้งหลาย ดังพรรณนามาฉะนี้ ดังนี้แล

    การที่กล่าวถึงพระคุณต่างๆ ของพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้น้อมระลึกถึงความประเสริฐของพระรัตนตรัย แล้วจิตสงบ ปราศจากอกุศลในขณะนั้น เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญกุศลนั้น มีทั้งขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถะ คือ ความสงบ และขั้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเป็นวิปัสสนา

    เพราะฉะนั้น สมถะไม่ใช่ขณะอื่น แต่คือทุกๆ ขณะที่จิตสงบได้ เวลาที่ฟังพระธรรมอาจจะไม่ได้สังเกตพิจารณาลักษณะสภาพของจิตว่า สงบหรือไม่สงบ ปราโมทย์หรือไม่ปราโมทย์ ปีติหรือไม่ปีติ แต่ถ้าสติเกิด สามารถที่จะรู้ลักษณะของความสงบของจิต ซึ่งขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลอื่นๆ เพราะฉะนั้นการที่จะฟังธรรมหรือการที่จะสวดมนต์ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งประพฤติปฏิบัติกันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ควรที่จะให้มีปัจจัยที่จะเกื้อกูลให้จิตสงบขึ้น โดยเข้าถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค พระคุณของพระธรรม และพระคุณของพระสงฆ์ด้วย

    และเมื่อเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาจะสามารถแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง แล้วยิ่งประจักษ์ในพระคุณทั้ง ๓ ยิ่งขึ้น เพราะขณะใดที่เข้าใจธรรม ก็รู้ในลักษณะสภาพความไม่เป็นภัยของธรรม ความโปร่งใจ ความสงบซึ่งเกิดจากการเข้าใจธรรม และเห็นคุณของพระผู้มีพระภาคผู้ประทานพระธรรมเป็นมรดกแก่สาวกของพระองค์ด้วย

    เพราะฉะนั้น การกล่าวถึงพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ก็เพื่อเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เกิดความสงบยิ่งขึ้นในขณะที่ฟังธรรม หรือว่าสวดมนต์ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย

    พระคุณของพระผู้มีพระภาคนั้น มีปรากฏทั่วไปในพระไตรปิฎก และในอรรถกถา ซึ่งผู้ที่เข้าใจในพระคุณนั้นแล้ว จะสรรเสริญพระคุณโดยอเนกปริยายเป็นอันมาก ไม่สามารถที่จะจบหรือสิ้นสุดลงได้ และมีการอุปมาพระคุณของพระผู้มีพระภาคโดยประการต่างๆ เช่น ครั้งหนึ่งท่านพระพุทธรักขิตเถระได้กล่าวถึงพระธรรม และสรรเสริญคุณของพระผู้มีพระภาคตลอดราตรีหนึ่ง ซึ่งครั้งนั้นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งได้เสด็จไปสู่สถานที่ที่พระเถระกำลังแสดงธรรม และสรรเสริญคุณของพระผู้มีพระภาค เมื่อหมดเวลาแสดงธรรมแล้ว พระราชาพระองค์นั้นได้ตรัสถามถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ท่านพระเถระแสดงว่า มีเพียงเท่านั้นหรือ หรือว่าจะมีโดยประการอื่นๆ อีก ซึ่งพระเถระรูปนั้นก็ได้กล่าวถึงพระคุณโดยการอุปมาว่า พระคุณทั้งหลายที่สาวกทั้งหลายสรรเสริญพระผู้มีพระภาคนั้น อุปมาเหมือนน้ำที่ลอดในช่องเข็มที่จุ่มในมหาสมุทร ส่วนพระคุณที่ไม่ได้กล่าวถึงหรือไม่ได้แสดงนั้น อุปมาเหมือนส่วนของน้ำในมหาสมุทรที่ไม่ได้ลอดช่องเข็มนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็เปรียบเทียบกันได้ว่า ไม่ว่าจะมีการพรรณนาพระคุณของพระผู้มีพระภาคมากสักเท่าไรก็ตาม ก็ยังเป็นส่วนน้อยของพระคุณของพระองค์ หรืออุปมาเหมือนนกเล็กๆ ซึ่งบินไปในอากาศ ส่วนของปีกของนกเล็กๆ ที่ถูกต้องอากาศนั้น เท่ากับส่วนที่บุคคลทั้งหลายสรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระคุณของพระองค์นั้นมีมากมาย อุปมาเหมือนส่วนของอากาศที่ไม่ได้ถูกปีกของนกเล็กๆ กระทบ

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงอนุสสติประการอื่นต่อจากพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งจะทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาถึงพระคุณของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาสีหนาทสูตร ข้อความบางตอนมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าด้านตะวันตกนอกพระนครเขตพระนครเวสาลี ก็โดยสมัยนั้นแล สุนักขัตตลิจฉวีบุตรเป็นผู้หลีกไปแล้วจากธรรมวินัยนี้ไม่นาน สุนักขัตตลิจฉวีบุตรนั้นได้กล่าววาจาในบริษัท ณ เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า

    ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง แต่ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อประโยชน์ใด ธรรมนั้นย่อมดิ่งไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม

    สมัยนี้คนที่คิดอย่างสุนักขัตตลิจฉวีบุตรคงจะมีมากทีเดียว เพราะส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดย่อมไม่ทราบว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเพื่อให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ถ้าใครคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อให้ประพฤติปฏิบัติเป็นเพียงกุศลขั้นทาน หรือขั้นศีล หรือขั้นความสงบ บุคคลนั้นก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ถึงพระปัญญาคุณที่ได้ทรงอบรมบารมีเพื่อประจักษ์สภาพธรรมที่เป็นอริยสัจ ที่ไม่เที่ยง ที่เป็นทุกข์ ที่กำลังเกิดดับ ที่เป็นอนัตตาในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง

    บางท่าน อย่างเช่น สุนักขัตตลิจฉวีบุตร มีศรัทธาที่จะบวชในพระธรรมวินัย แต่เมื่อไม่ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กำลังไม่เที่ยง กำลังเกิดดับในขณะนี้ สุนักขัตตลิจฉวีบุตรก็เข้าใจว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเกิดจากการเพียงค้นคิด ไตร่ตรอง ตรึกตรอง แต่ว่าเป็นประโยชน์ คือ เมื่อผู้ใดประพฤติปฏิบัติตามแล้ว ก็สามารถสิ้นทุกข์

    ซึ่งบางท่านอาจจะเข้าใจว่า เวลาที่มีความทุกข์ ฟังพระธรรมแล้วก็หมดทุกข์ ปลดเปลื้องทุกข์ไป เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มีประโยชน์เพียงเพื่อให้สิ้นทุกข์ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว พระธรรมที่ทรงแสดงโดยการตรัสรู้นั้น ทรงแสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เพื่อให้รู้แจ้งในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ และสามารที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    ครั้งนั้นแลเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวรเข้าไปในเมือง เวสาลีเพื่อบิณฑบาต ท่านได้สดับข่าวว่า สุนักขัตตลิจฉวีบุตรได้กล่าววาจาเช่นนั้นในบริษัท ณ เมืองเวสาลี ... ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวไปในเมืองเวสาลีเพื่อบิณฑบาตแล้ว กลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัต จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ...

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร สุนักขัตตลิจฉวีบุตรเป็นบุรุษเปล่า มักโกรธ และวาจาที่เธอกล่าวนั่น ก็เพราะโกรธ ดูกร สารีบุตร สุนักขัตตะนั้นเป็นบุรุษเปล่า คิดว่าจักพูด ติเตียน แต่กล่าวสรรเสริญคุณของตถาคต แท้จริงข้อนี้เป็นคุณของพระตถาคตที่บุคคลใดกล่าวอย่างนี้ว่า ธรรมอันพระตถาคตแสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใด เป็นทางสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม ดังนี้

    บางท่านมีความแยบยลของกิเลสอกุศล อยากจะกล่าวติ แต่เพราะความฉลาด ไม่ให้รู้ว่ากล่าวติ ก็ทำเป็นสรรเสริญ แต่ว่าตามความเป็นจริง มีเจตนามุ่งหมายที่จะให้รู้ว่าเป็นการกล่าวติ ซึ่งสำหรับสุนักขัตตะนี้ คำพูดที่สุนักขัตตะกล่าวนั้น แท้จริงเป็นคุณของพระตถาคตที่ว่า ธรรมอันพระตถาคตแสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใด เป็นทางสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม ดังนี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็นความรู้โดยธรรมในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้

    สังเกตพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็นความรู้โดยธรรม เพราะว่าสุนักขัตตลิจฉวีบุตรผู้เป็นบุรุษเปล่า ไม่เข้าใจในอรรถของคำว่า ธรรม ซึ่งหมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ

    ถ้าผู้ใดเข้าใจอรรถของธรรม เวลาที่ฟังพระธรรมย่อมรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส การคิดนึก ความสุข ความทุกข์ ความชอบ ความไม่ชอบ สภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มีลักษณะจริงๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะฉะนั้น เวลาที่บุคคลนั้นเข้าใจในอรรถของคำว่า ธรรม ก็ย่อมฟังธรรม และเข้าใจธรรม คือ ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้

    แต่เมื่อไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ การที่จะสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ก็ไม่ใช่โดยความเข้าใจธรรม หรือโดยธรรม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็นความรู้โดยธรรม ก็เพราะว่าไม่ได้รู้อรรถของธรรม

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็นความรู้โดยธรรมในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

    นี่คือพุทธานุภาพซึ่งเป็นส่วนน้อยมากที่กล่าวถึง เพราะว่าไม่มีบุคคลใดสามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ยิ่งกว่าพระองค์ น่าอัศจรรย์ น่าเป็นไปได้ หรือว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ สำหรับสมัยนี้ มีคนที่ลูบคลำพระจันทร์ได้ไหม ไม่ยากแล้วใช่ไหมในการที่จะไปลูบคลำพระจันทร์ แต่ว่าสำหรับพระผู้มีพระภาค ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

    สำหรับผู้ที่อบรมเจริญฌานสมาบัติจนกระทั่งมีความชำนาญมาก สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ตามที่กล่าวแล้ว เช่น ทำคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

    แต่ไม่มีผู้ใดที่สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้เสมอกับพระผู้มีพระภาค

    สำหรับความชำนาญในฌาณสมาบัติของพระผู้มีพระภาค ในอรรถกถาแสดงว่า ในขณะที่ทรงแสดงธรรม แล้วประชาชนสาธุการนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าพลสมาบัติ เวลที่คนสาธุการจบ ก็ออกจากสมาบัติ และทรงแสดงธรรมต่อ หรือขณะที่หายใจเข้า เข้าด้วยสมาบัติหนึ่ง หายใจออก ออกด้วยสมาบัติหนึ่ง เพราะฉะนั้น ไม่ควรคิดเปรียบพระผู้มีพระภาคกับบุคคลใดๆ เลยทั้งสิ้น

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 787


    ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อจินติตสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แลไม่ควรคิด

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 788


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 199
    7 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ