พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ท่านอาจารย์ แม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาทุกวันๆ ที่ยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต่างๆ บุคคลนั้นบุคคลนี้กำลังพูด กำลังร้องเพลง กำลังเคลื่อนไหว กำลังทำกิจ การงานต่างๆ ให้ทราบว่า ทั้งหมดเป็นบัญญัติทั้งนั้น

    ถ้าไม่รู้อย่างนี้ สติปัฏฐานจะไม่ระลึกตรงลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ ทางตาว่า เพียงชั่วขณะเดียว เมื่อขณะจิตที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นดับ ก็มีการคิดจำสิ่งที่ปรากฏทางตาเมื่อกี้ และก็มีรูปใหม่ปรากฏกระทบกับจักขุปสาท มีการทรงจำรูปใหม่ พร้อมทั้งคิดถึงลักษณะอาการของรูปใหม่โดยสัณฐาน ทำให้ปรากฏว่า รูปนั้นต่อกันเป็นคนกำลังเดิน หรือว่ากำลังทำกิจการงาน หรือว่ากำลังพูด หรือว่ากำลังร้องเพลง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของการคิดนึกที่เป็นบัญญัติทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ตราบใดที่มีนกร้อง นั่นคือบัญญัติ ตราบใดที่มีคนพูด ขณะนั้นก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ดังนั้น ขณะที่สติระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมจะสั้นสักแค่ไหน จะเร็วสักแค่ไหนที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงจะไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีนก ไม่มีวัตถุใดๆ ในสิ่งที่ปรากฏ

    และเคยคิดอย่างนี้ไหมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาพูดได้ไหม หรือว่าร้องเพลงได้ไหม หรือทำกิจการงานต่างๆ ได้ไหม ในเมื่อเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท เท่านั้นเอง ซึ่งนั่นคือสภาพที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ แยกสภาพปรมัตถธรรมที่ปรากฏแต่ละทวารออกไป เวลาที่กระทบสัมผัสก็อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว แต่เมื่อทั้ง ๖ ทวารรวมกัน ก็ทำให้มีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็วว่า มีคนจริงๆ ที่กำลังพูด แต่แท้ที่จริงแล้วไม่มีใครเลยนอกจากคนเดียว ตัวคนเดียวจริงๆ

    คำว่า ตัวคนเดียว นี่ก็ยังมาก เพราะยังเป็นตัว แต่ถ้าลดจำนวนลง จากคนมากมายที่เคยอยู่ร่วมบ้าน ร่วมสถานที่ ร่วมแผ่นดิน ร่วมโลก มาเป็น ตามความเป็นจริงแล้ว ก็อยู่คนเดียวจริงๆ คือ ในขณะที่เห็นไม่มีคน แต่เป็นจิตที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา และคิดนึกถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ถ้ากำลังพูด ก็คือพูดคนเดียว เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งก็เป็นเพียง สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น คิดก็คิดคนเดียว ทำอะไรก็ทำคนเดียวทั้งนั้น เพราะว่า จิตเกิดขึ้น เห็น รู้ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกับโลกของความเพ้อฝัน คือ ความคิดทุกขณะที่ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นโลกต่างๆ เหมือนกับความเพ้อฝัน เหมือนกับอยู่ในกระจกเงา ซึ่งมองดูแล้วเหมือนกับว่ามีสิ่งต่างๆ มากมาย แต่ความจริงแล้วอยู่คนเดียว ส่วนที่จะปรากฏเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่างๆ ก็เหมือนกับความคิดนึก

    รูปในโทรทัศน์ พูดได้ไหม ย่อลงไป ถ้าไม่เข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ย่อจากใหญ่ให้เป็นเล็กลงไปที่โทรทัศน์ รูปที่ปรากฏที่โทรทัศน์พูดได้ไหม ทุกคนรู้ว่าเป็นรูป กระทบสัมผัสก็เพียงแข็ง และมีสีสันต่างๆ และมีเสียง แต่ตัวรูปที่ปรากฏ ทางตานั้นพูดได้หรือเปล่า รูปในโทรทัศน์พูดไม่ได้ฉันใด รูปนอกโทรทัศน์คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ก็พูดไม่ได้ฉันนั้น

    ต้องแยกออกจริงๆ ว่า ทุกคนอยู่คนเดียว และกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา กำลังคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา และก็มีคำพูด ก็ยังคงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าไม่ได้พูดกับใคร นอกจากมีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น นี่คือความหมายของการ อยู่คนเดียวจริงๆ

    ถ้าย่อสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเราคนเดียว ก็จะเหลือเพียงขณะจิตเดียว ทางตาจะไม่ปนกับทางหู เพราะจะมีแต่เห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เมื่อรวมกับทางหูที่ได้ยิน และมีเสียงปรากฏ ก็กลายเป็นคนหนึ่ง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเคลื่อนไหว เป็นเสียงที่พูดออกมา แต่ความจริงไม่ใช่ ทางไหนก็ต้องทางนั้น คือ ทางตา ก็เพียงปรากฏ ไม่ได้พูดอะไร และเสียงทางหูก็ปรากฏ แต่สภาพของจิตที่กำลังคิด รวดเร็วมาก ทันทีที่วิตกวิจารคิดถึงคำใด เสียงก็เปล่งออกมาทันที เพราะว่าวิตก วิจารซึ่งเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตในขณะนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดวจีวิญญัติ คือ รูป ที่กระทบที่ฐานของเสียงทำให้เสียงนั้นๆ เกิดขึ้นตามวิตกวิจารนั้นๆ

    นี่คือชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนที่พูด สติสามารถระลึกรู้ได้ว่า ทำไมเสียงนี้ จึงปรากฏรวดเร็วตามที่จิตคิด แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะระลึกลักษณะสภาพของความคิด หรือจะระลึกลักษณะสภาพของเสียงที่กระทบหู หรือจะระลึกถึงลักษณะอาการเคลื่อนไหวของรูปที่ฐานที่ทำให้เกิดเสียง จนกว่าจะรู้ว่า ขณะไหนเป็นบัญญัติ และขณะไหนเป็นปรมัตถ์

    เมื่อรู้ว่าเป็นบัญญัติ ก็รู้ว่าเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน เพราะว่าเป็นเพียงความคิดทั้งหมด และสภาพธรรมจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม ก็เป็นแต่เพียงลักษณะของธรรม แต่ละอย่าง ซึ่งปรากฏทีละทวาร และดับไป ไม่ต่อกัน

    ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ จะรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจบไปพร้อมกับการดับของจิตแต่ละขณะ เรื่องเมื่อวานนี้จบแล้วเมื่อวานนี้ วันนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะย้อนกลับไปเป็นสุข เป็นทุกข์ ห่วงใย ขุ่นเคือง เศร้าหมอง กับเรื่องที่ ผ่านไปแล้ว เพราะว่าเป็นแต่เพียงการคิดย้อนไป และสร้างความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ด้วยความคิดนั้นๆ เท่านั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่หมดไปแล้วก็หมดไปเลย แม้แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็เป็นเฉพาะของเหตุการณ์ในวันนี้ ไม่ใช่เหตุการณ์เมื่อวานนี้ ไม่ใช่เหตุการณ์พรุ่งนี้ สิ่งใดที่เกิดวันนี้ก็จบวันนี้ หรือสิ่งใดที่เกิดขณะนี้ ก็ดับขณะนี้

    เพราะฉะนั้น เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เมื่อไม่เพลิดเพลินไปเป็นสุขเป็นทุกข์ ไปกับบัญญัติ เรื่องราวต่างๆ สติก็จะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็น ปรมัตถธรรม โดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นคำๆ แต่ศึกษา สังเกต พิจารณาที่จะรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นปรมัตถธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และลักษณะสภาพธรรมนั้นเป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้ จนกว่าปัญญาจะ ประจักษ์แจ้งถึงความสมบูรณ์ที่จะแยกขาดลักษณะของนามธรรมออกจากรูปธรรม ปรากฏโดยสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องรู้ความต่างกันของบัญญัติกับปรมัตถ์ และต้องรู้ว่า บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน

    . อาจารย์บอกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่พูด ไม่ร้องเพลง ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่ปรากฏทางหูก็ไม่ร้องเพลงเหมือนกัน ใช่ไหม

    สุ. เป็นเสียงที่ปรากฏ และดับไปเท่านั้นเอง

    . เพราะคนจะเข้าใจผิดว่า เสียงกำลังร้องเพลง เสียงเมื่อกี้เปรียบเทียบกับตา ก็ชัดหน่อย แต่เมื่อมาเปรียบเทียบกับทางหูจะนึกว่ามีร้องเพลง ฉะนั้น ทางหู ก็ไม่มีร้องเพลงเหมือนกัน

    สุ. มีเสียงที่เกิดปรากฏ และดับไป เสียงนั้นเป็นคนหรือเปล่า เป็นนก หรือเปล่า เป็นไก่หรือเปล่า ก็เป็นเพียงเสียง คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะกระทบกับโสตปสาท และดับ ๑๗ ขณะจิตนี่เร็วมากจึงไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น ไม่มี สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะพึงยึดถือได้ว่าเป็นของเรา หรือเป็นเรา หรือเป็นตัวตนของเรา สิ่งที่เกิด และดับไป เกิด และดับไป เกิด และดับไปอยู่เรื่อยๆ จะเป็นของบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ว่าบัญญัติคืออะไร บัญญัติก็ปิดบังไม่ให้รู้สภาพ ปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1669


    นาที 10.42

    . ที่ท่านทรงแสดงให้พิจารณา เช่น อานาปานสติ หรืออาการ ๓๒ เหล่านี้ ก็ตรงกับการเจริญสมถภาวนา

    สุ. มหาสติปัฏฐานกว้างขวางมาก ครอบคลุมทุกอย่าง ขณะนั้นจิตคิดอะไร ใครจะทำอะไร แล้วแต่สังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งของบุคคลนั้น แต่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมในขณะนั้น จึงจะเป็น สติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่ให้เลือก หรือไม่ใช่ให้เจาะจง

    บางท่านเมื่อได้ฟังเรื่องของสาธยายๆ ก็คงจะสงสัยว่า ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด ต้องท่องไหม หรือควรท่องไหม แต่ถ้าเข้าใจถูกแล้วไม่มีปัญหาเลย ใช่ไหม เพราะว่าการเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึกได้ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ทันทีที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ในขณะที่ท่อง หรือในขณะที่คิดว่าจะท่อง ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง รู้หรือไม่ว่าไม่ใช่ตัวตน ขณะที่กำลังคิด กำลังท่อง ก็เป็นนามธรรม ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่พิจารณาลักษณะของจิตในขณะที่กำลังคิด ขณะนั้นก็ต้องยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นเรา ซึ่งความจริงในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ หรือกำลังคิด ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ก็ดับไป ดับไป อยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ท่อง ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นในขณะที่สติระลึกได้ สังเกตลักษณะของสภาพธรรม แม้แต่ขณะที่กำลังคิดหรือท่อง ก็รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง นั่นจึงจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน

    ควรคิดถึงจุดประสงค์ที่จะท่องว่าเพื่ออะไร ทุกอย่างต้องมีเหตุผล ถ้าจะท่องท่องเพื่ออะไร เพื่อรอให้สติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่เพื่อรอให้สติปัฏฐานเกิด ทำไมต้องท่อง ในเมื่อสติระลึกทันทีได้

    ขณะนี้กำลังเห็น สติเกิดระลึกทันที กำลังได้ยินเสียงปรากฏ สติเกิดระลึกทันที ทำไมต้องรอให้ท่องก่อน และจึงจะระลึกรู้

    สติปัฏฐานเป็นขณะที่ระลึกรู้ แต่การท่องอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า ขณะนั้น เป็นการรอให้สติเกิดหรือเปล่า แทนที่จะระลึกทันทีที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหปติวรรค กันทรกสูตร ข้อ ๑ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา เขตนครจำปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น บุตรของนายควาญช้าง ชื่อเปสสะ และปริพาชกชื่อกันทรกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้สรรเสริญภิกษุทั้งหลายซึ่งนั่งสงบเงียบ ไม่มีความรำคาญด้วยมือ และเท้า และภิกษุ ทุกรูปไม่ได้คุยกันด้วยความเคารพในพระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร กันทรกะ ก็ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายผู้อรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบมีอยู่

    ดูกร กันทรกะ อนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายผู้ยังต้องศึกษา มีปกติสงบ มีความประพฤติสงบ มีปัญญา เลี้ยงชีพด้วยปัญญามีอยู่ เธอเหล่านั้นมีจิตตั้งมั่น ดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

    นี่คือพระพุทธพจน์

    ดูกร กันทรกะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลก เสียได้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้

    ไม่มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ท่อง ใช่ไหม แต่ถ้าไม่ข้ามพยัญชนะ พิจารณาเห็นกายในกาย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา พิจารณาเห็นจิตในจิต พิจารณาเห็นธรรมในธรรม

    . คำว่า มีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ คำว่า จิตตั้งมั่น หมายถึงสมาธิ

    สุ. ถ้าจะเข้าใจว่า มีจิตตั้งมั่นในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ได้ไหม แม้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ให้พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม แต่ก็จะไปทำอย่างอื่น อย่างนั้นจะชื่อว่าตั้งมั่นหรือเปล่า จะไปให้สมาธิเกิดอย่างนี้ อย่างนั้นชื่อว่าพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมหรือเปล่า

    . จะหมายถึงว่ามีความรู้ความเข้าใจมั่นคงในสติ

    สุ. เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน

    . หมายความว่า อารมณ์ทั้งหลายที่ปรากฏ ก็รู้ว่าเป็นสภาวธรรมที่ …

    สุ. เป็นผู้ที่ไม่ทำอย่างอื่น นอกจากเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ตั้งมั่น ในการเจริญสติปัฏฐาน

    . เพราะอย่างนี้ สมัยนี้จึงคิดแบบวิธีที่จะให้สติเกิดตลอดเวลา กำหนดว่าจะต้องนั่งเท่านั้น จะต้องเดินเท่านี้

    สุ. ข้อความในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่ได้ตรัสอย่างนี้เลย เพียงแต่พิจารณากาย ไม่ได้บอกให้ทำอย่างอื่น พิจารณาเวทนา ขณะนี้มีกาย มีจิต มีธรรม พิจารณา สะสมการสังเกต การพิจารณา

    . ถ้าจิตจะตั้งมั่นได้ หมายความว่า ต้องตั้งมั่นอยู่ในกาย อยู่ในเวทนา ในจิต ในธรรมนี้เท่านั้น

    สุ. ตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ไปทำอย่างอื่น

    . เฉพาะในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ก็ครอบหมดอยู่แล้ว

    สุ. ใช่ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ตั้งมั่นในการเจริญ สติปัฏฐานก็อยากจะให้สมาธิเกิด หรืออยากจะท่อง หรืออยากจะทำอย่างอื่น มีวิธีต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้ตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่ามักจะอยากให้ได้ผลเร็ว

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1670


    นาที 19.30

    ข้อความต่อไปในพระสูตรนี้มีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายเปสสหัตถาโรหบุตรได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

    น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า สติปัฏฐานนี้ พระองค์ทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วง ความโศก และความร่ำไร เพื่อความดับแห่งทุกข์ และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ที่จริงแม้พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว ก็ยังมีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้อยู่ตามกาลที่สมควร ขอประทานพระวโรกาส พวกข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นธรรม ในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลก เสียได้

    น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าย่อมทรงทราบประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ ของสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์รกชัฏเป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์เดนกาก เป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์โอ้อวดเป็นไปอยู่อย่างนี้ ก็สิ่งที่รกชัฏคือมนุษย์ สิ่งที่ตื้นคือสัตว์

    ถ้าพิจารณาโดยละเอียด จะเห็นว่าเป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานตามปกติตามความเป็นจริง เรื่องของการพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ที่นายเปสสหัตถาโรหบุตรกล่าวว่า

    น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าย่อมทรงทราบประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ ของสัตว์ทั้งหลาย

    ทุกท่านมีสิ่งที่เป็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ ในเมื่อมนุษย์รกชัฏเป็นไปอยู่อย่างนี้ มนุษย์รกชัฏ คือ มนุษย์ที่มากมายหนาแน่นด้วยกิเลส เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ของมนุษย์รกชัฏ คือ ขณะที่เป็นกุศล สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ของมนุษย์รกชัฏ คือ ขณะที่เป็นอกุศล

    เป็นชีวิตจริงๆ ของทุกคนที่ว่า มนุษย์รกชัฏเป็นไปอยู่อย่างนี้ คือ หนาแน่นด้วยกิเลสอย่างนี้ แต่พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ของ สัตว์ทั้งหลาย และยังทรงแสดงธรรม เพื่อก้าวล่วงความโศก และความร่ำไร เพื่อความดับแห่งทุกข์ และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

    และข้อความที่ว่า แท้จริงแม้พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว คนสมัยนี้ก็อาจจะคิดว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมหรือเป็นอุบาสกอุบาสิกา จะต้อง นุ่งผ้าขาว แต่ความจริงแล้วผ้าขาวเป็นเครื่องหมายของคฤหัสถ์ซึ่งต่างกับบรรพชิตเท่านั้น เพราะว่าบรรพชิตมีเสื้อผ้าที่เศร้าหมอง ได้แก่ จีวร ซึ่งต้องย้อมด้วยน้ำฝาด ทำให้เป็นผ้าที่หมดราคา ไม่เป็นที่ต้องการของโจรหรือผู้อื่นที่ต้องการจะลักขโมยเอาไป แต่คฤหัสถ์ผ้าขาวถือว่าเป็นผ้าที่สวยงาม และสำหรับเจ้าลิจฉวีเวลาไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ก็แต่งกายด้วยสีต่างๆ เหมือนกับเทพที่มีเสื้อผ้าอาภรณ์สีต่างๆ เพราะฉะนั้น ผ้าขาวเป็นเพียงเครื่องหมายของคฤหัสถ์ที่ต่างกับจีวรที่เป็นผ้ากาสายะของบรรพชิตเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า คฤหัสถ์จะต้องนุ่งห่มผ้าสีขาว

    และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำแนกบุคคล ๔ ให้นายเปสสะฟังแล้ว ก็ได้ตรัสถามว่า ในบรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ จำพวกไหนจะยังจิตของนายเปสสะให้ยินดี

    นี่คือพระธรรมที่ทรงแสดง ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งอัธยาศัยของสัตว์โลกโดยละเอียด โดยถี่ถ้วน จึงไม่ได้ทรงแสดงให้ท่อง หรือ ให้สาธยาย แต่ทรงแสดงบุคคล ๔ จำพวก และได้ถามนายเปสสะว่า ในบรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลพวกไหนที่เป็นที่ยังใจของนายเปสสะให้ยินดี

    พวกที่ ๑ คือ ผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายในการทำตน ให้เดือดร้อน

    พวกที่ ๒ คือ ผู้ที่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายในการทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน

    พวกที่ ๓ คือ ผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายในการทำตน ให้เดือดร้อน และทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายในการทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน

    พวกที่ ๔ คือ ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ที่ ประพฤติธรรม เป็นพระอรหันต์

    ซึ่งนายเปสสะได้กราบทูลว่า

    บุคคล ๓ จำพวกแรกไม่ยังจิตของเขาให้ยินดีได้ แต่บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบการขวนขวายการทำตนให้เดือดร้อน เขาไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบการขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว (หิว คือ โลภะ แต่ท่านผู้นี้ไม่มีความหิว) ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหม อยู่ในปัจจุบัน ย่อมยังจิตของเขาให้ยินดีได้

    เมื่อนายเปสสหัตถาโรหบุตรกราบทูลเหตุผลในการที่พอใจในบุคคลจำพวกที่ ๔ แล้ว ก็กราบทูลลาไป

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1670


    นาที 26.10

    ข้อความต่อไปใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหปติวรรค กันทรกสูตร ข้อ ๑ มีว่า

    ครั้งนั้น เมื่อนายเปสสหัตถาโรหบุตรหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นายเปสสหัตถาโรหบุตรเป็นบัณฑิต ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นายเปสสหัตถาโรหบุตรมีปัญญามาก ถ้านายเปสสหัตถาโรหบุตรพึงนั่งอยู่ครู่หนึ่ง ชั่วเวลาที่เราจำแนกบุคคล ๔ จำพวกนี้โดยพิสดารแก่เขา เขาจักเป็นผู้ประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่ อนึ่งแม้ด้วยการฟังโดยสังเขปเพียงเท่านี้ นายเปสสหัตถาโรหบุตร ยังประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่

    นี่เป็นความต่างกันของประโยชน์ใหญ่ ๒ ท่าน ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    บทว่า บัณฑิต นั้น คือ ควรกล่าวว่าเป็นบัณฑิต เพราะทำกรรมใน สติปัฏฐาน

    ใครก็ตามที่ชื่อว่าบัณฑิต ไม่ใช่โดยเหตุอื่น แต่เพราะเป็นผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน จึงควรกล่าวว่าเป็นบัณฑิต เพราะฉะนั้น นายเปสสหัตถาโรหบุตรผู้นี้ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นบัณฑิต ย่อมแสดงว่าเขาต้องเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    แม้บทว่า มีปัญญามาก คือ มหาปัญโญ ก็ควรกล่าวว่า เป็นผู้มีปัญญามาก เพราะประกอบด้วยปัญญาพิจารณาถือเอาสติปัฏฐาน

    ไม่ใช่ถือเอาข้อปฏิบัติอื่น แต่ถือเอาสติปัฏฐาน คือ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม และข้อความที่ว่า

    ถ้านายเปสสหัตถาโรหบุตรพึงนั่งอยู่ต่อไปครู่หนึ่ง ชั่วเวลาที่เราจำแนกบุคคล ๔ จำพวกนี้โดยพิสดารแก่เขา เขาจะเป็นผู้ประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่ คือ พึงบรรลุโสตาปัตติผล

    น่าเสียดายที่พลาดโอกาสไปแล้ว เพราะว่าเขาได้กราบทูลลาไปก่อน

    ส่วนข้อความที่ว่า แม้ด้วยการฟังโดยสังเขปเพียงเท่านี้ นายเปสสะยังประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่นั้น

    ถามว่า ด้วยประโยชน์ใหญ่เป็นไฉน

    ตอบว่า ด้วยอานิสงส์ ๒ ประการ คือ ความเลื่อมใสในพระสงฆ์ ๑ และด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๑

    นี่คือประโยชน์ใหญ่ แม้ว่ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ข้อความในอรรถกถามีต่อไปว่า การที่นายเปสสะไม่บรรลุมรรคผลนั้น

    ถามว่า ก็แม้เมื่อตั้งอยู่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะมีอันตรายแก่มรรคผลหรือ

    ได้มีโอกาสได้เฝ้า ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ และเป็นผู้ที่พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เพราะฉะนั้น จะยังมีอันตรายต่อการบรรลุมรรคผลหรือ

    ตอบว่า มี แต่มิได้มีเพราะอาศัยพระพุทธเจ้าทั้งหลาย โดยที่แท้ย่อมมีได้เพราะความเสื่อมของกิริยา คือ การกระทำ หรือเพราะปาปมิตร คือ มิตรชั่ว

    นี่เป็นความรอบคอบที่ท่านอรรถกถา ซึ่งในพระไตรปิฎกก็ได้แสดงไว้ว่า ต้องเป็นผู้ที่รอบคอบ และเห็นโทษเห็นภัยของการที่จะเป็นผู้ที่เห็นผิด ประพฤติผิด

    คำอธิบายต่อไปมีว่า

    ชื่อว่ามีความเสื่อมของกิริยา

    อรรถกถาแสดงตัวอย่างว่า

    เมื่อคราวที่ท่านพระสารีบุตรได้ไปแสดงธรรมกับธนัญชานิยพราหมณ์

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1671


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 199
    8 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ