พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ไม่ว่าจะฟังธรรมเรื่องใดๆ ก็ตาม หรือจะศึกษามากสักเท่าไรก็ตาม ก็เพื่อให้เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดจริงๆ เพราะว่าทุกคนต้องจากโลกนี้ไป โดยที่ไม่ทราบว่า จะเป็นวันไหน เพราะฉะนั้น ควรที่จะขวนขวายศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพื่อจะได้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ซึ่งเคยยึดถือมานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์

    ถ้าไม่ฟังพระธรรม ไม่พิจารณาเพื่อที่จะให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็จะยังคงยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏในชาตินี้ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งยากแก่การที่จะละคลาย ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้น จริงๆ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1664

    นาที 1.16

    ย่อยเหตุการณ์ใหญ่ ลงมาเป็นแต่ละขณะจิต เป็นทางตาเห็นขณะหนึ่ง และทางใจคิดเรื่องสิ่งที่เห็น ทางหูได้ยินวาระหนึ่ง และทางใจก็คิดเรื่องเสียงที่ได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สลับกับทางใจที่คิดตลอดเวลาจะรวดเร็วสักแค่ไหน ขอให้คิดถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้ยังไม่ประจักษ์แจ้งตามที่ผู้ตรัสรู้แล้วท่านประจักษ์แจ้ง แต่ด้วยการฟัง ค่อยๆ น้อม ค่อยๆ พิจารณา ไม่ต้องคิดถึงเหตุการณ์ทั้งหมด เพราะการที่ปัญญาจะเจริญได้ ก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละทาง

    บางท่านบอกว่า เริ่มจะเข้าใจที่ว่าผลของกรรมที่ได้รับในชาตินี้ต้องเกิดจากกรรมที่เป็นเหตุในอดีต เริ่มเข้าใจ แต่นั่นยังเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ แต่สามารถเข้าใจกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ไหมว่า นี่เป็นผลของกรรมที่เกิดจากเหตุในอดีต ในขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ก็เป็นผลของกรรมซึ่งเกิดจากเหตุในอดีต เพราะฉะนั้น ย่อยเหตุการณ์ ทั้งเหตุการณ์ลงมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แม้ไม่สามารถรู้ได้ว่ากำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นผลของกรรมอะไร หรือกำลังได้ยินเดี๋ยวนี้เป็นผลของกรรมอะไร แต่สามารถเห็นความต่างกันของวิบากจิตกับกุศลจิต หรืออกุศลจิต เช่น เห็นในขณะนี้อาศัย จักขุปสาท ซึ่งไม่มีใครสามารถจะทำให้เกิดขึ้นได้เลยนอกจากกรรม นี่เห็นกรรม

    ถ้าพิจารณาจะเห็นได้เลยว่า ที่เคยคิดว่าเป็นเราตั้งแต่เกิดจนตาย เคยยึดถือว่าเป็นเรา ไม่เคยพิจารณาเลยว่า รูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มาจากไหน หาเหตุซิว่าใครเอามาให้ อยู่ดีๆ ก็มีขึ้นมาในโลก แต่ตามความเป็นจริง กรรมเป็นปัจจัยให้รูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเกิดโดยละเอียดทีเดียว แตกย่อยออกไป ถ้าจะคิดถึงเฉพาะตา ก็ต่าง และห่างไกลจากหู ห่างไกลจากจมูก ห่างไกลจากลิ้น แม้ว่าจะอยู่ในส่วนของสรีระคือกายส่วนบน แต่ถ้าแยกออกเป็นกลุ่มๆ ของรูป ที่ละเอียดมาก จะเห็นได้ว่า มีรูปมากมาย

    เพราะฉะนั้น เริ่มพิจารณาเห็นในขณะนี้ว่า รูปที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน อย่ายึดถือรวมกันเป็นก้อนเป็นแท่งรวมกันไปอย่างนั้น ซึ่งจะเห็นว่าเป็นก้อน เป็นแท่งใหญ่ และบางท่านก็เริ่มจะแยกออกเป็นส่วนๆ อย่างหยาบ คือ แยกเป็น ผมบ้าง ขนบ้าง เล็บบ้าง ฟันบ้าง หนังบ้าง แต่นั่นก็ยังแยกเป็นส่วนใหญ่ ถ้าแยกเฉพาะ เป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีอากาศธาตุคั่นอยู่อย่างละเอียดตลอดทั่วทั้งกาย และแต่ละรูปก็เกิดดับตามเหตุตามปัจจัยอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ว่า กำลังเห็นในขณะนี้ต้องเป็นวิบาก เพราะว่าบังคับไม่ได้เลยที่จะไม่ให้เห็น ทางหูก็บังคับไม่ได้ที่จะไม่ให้ ได้ยิน แต่หลังจากที่เห็นแล้ว จิตต่างกันไป บางคนเป็นกุศล บางคนเป็นอกุศล หลังจากที่ได้ยินแล้วก็ต่างกันไป คือ บางคนเป็นกุศล และบางคนก็เป็นอกุศล

    จะเห็นได้ว่า ส่วนใดที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เช่น เห็น และได้ยิน อาศัยรูปซึ่งเกิดจากกรรม คือ จักขุปสาท กระทบกับรูปารมณ์ คือ สิ่งที่กระทบตา เป็นปัจจัยให้เห็นสิ่งที่ดีหรือเห็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งการเห็นนั้นต้องเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ถ้าเพียงเข้าใจอย่างนี้จะทำให้รู้สภาพธรรมเพิ่มขึ้น ที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนในวันหนึ่งๆ แต่ต้องอาศัยการฟัง ต้องอาศัยการพิจารณา และอาศัย การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงด้วย

    ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ญาณกถา ข้อ ๗๖ มีข้อความว่า

    ชื่อว่าญาณ ด้วยอรรถว่า รู้ธรรมนั้นๆ

    ใช้คำว่า รู้ และขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ทางตาที่กำลังเห็น เห็นก็เป็นธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นธรรม ทางหู ได้ยินเป็นธรรม เสียงเป็นธรรม ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สภาพปรมัตถธรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุนั้น ชื่อว่าญาณ ด้วยอรรถว่า รู้ธรรมนั้นๆ ต้องรู้ทีละอย่าง ที่กำลังปรากฏ และสติระลึกศึกษาพิจารณาจนรู้ชัด และสภาพธรรมนั้นปรากฏตามความเป็นจริง จึงจะชื่อว่ารู้ธรรมนั้นๆ

    ส่วนในขณะที่ฟังพระธรรม

    ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดซึ่งธรรม ที่ได้สดับมาแล้วว่า ธรรมเหล่านี้ควรเจริญ (คือ ภาวนา) หรือธรรมนี้ควรรู้แจ้ง ควรทำให้แจ้ง เป็นต้น ชื่อว่าสุตมยญาณ

    การฟังมีหลายอย่าง ฟังแล้วไม่พิจารณาให้ถูกต้อง ให้เข้าใจว่าตรงกับ สภาพธรรมไหม ท่านผู้ฟังที่เขียนจดหมายถามมา ท่านก็เป็นผู้ที่อ่าน และท่านคงเป็นผู้ที่ฟังด้วย แต่การอ่าน และการฟังต้องรู้ว่า ฟังเรื่องของสภาพธรรม และเป็นเรื่องที่แสดงเหตุผลลักษณะของสภาพธรรมให้เกิดความเข้าใจขึ้นหรือเปล่า ถ้าเป็นเรื่องของธรรมที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น นั่นเป็นประโยชน์ จากการฟัง คือ ชื่อว่าสุตมยญาณ เพราะเป็น ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้ สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดซึ่งธรรมที่ได้สดับมาแล้วว่า ธรรมเหล่านี้ควรเจริญ

    เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแล้วเกิดปัญญาพิจารณาเห็นจริงว่า ควรที่จะได้อบรมเจริญขึ้น นั่นคือประโยชน์ของการฟัง

    ในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ไม่ใช่อบรมเจริญปัญญาแล้วไปเปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างที่ถามว่า ถ้าเห็นคนตกน้ำ ถ้ารู้ว่าเป็นนามเป็นรูปจะทำอย่างไร ทุกอย่างเป็นปกติเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนเลย และถ้าไม่รู้ว่าเป็นนามเป็นรูป จะทำอย่างไร ก็เหมือนกัน จะทำอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลว่า บุคคลนี้ จะทำอย่างนั้น บุคคลนั้นจะทำอย่างนี้ ตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสม เพียงแต่ผู้ที่ได้ฟังเรื่องของการอบรมเจริญภาวนาจะไม่ละโอกาสสักขณะเดียวที่สติจะเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั้ง ๖ ทาง

    สำหรับในขั้นต้น ทุกท่านเป็นผู้ตรงต่อตัวเองที่จะรู้ว่า ทั่วทั้ง ๖ ทางหรือยัง เพราะว่าสติย่อมไม่สามารถมีความชำนาญคล่องแคล่วตั้งแต่ตอนเริ่มที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมได้ทั่วทั้ง ๖ ทาง เพียงแต่ว่าขณะใดที่มีเหตุปัจจัยพร้อมที่สติ จะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น และไม่เลือกโอกาสด้วย ในระหว่างที่ช่วยคนตกน้ำ ก็ไม่แน่ว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น หรือในขณะที่ไม่ช่วย ก็ไม่แน่ว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดในขณะนั้น หรือแม้ในขณะนี้ ก็ไม่แน่ว่าสติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะว่าสติเป็นอนัตตา

    ไม่มีใครสามารถเจาะจง หรือเลือกให้สติเกิดตอนนั้นตอนนี้ หรือไปกลัวว่า เมื่อสติเกิดรู้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม จะไม่ช่วยคนที่ตกน้ำ

    ทุกอย่างเป็นปกติ ตามเหตุตามปัจจัย เพียงแต่สติจะระลึกลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าตามความเป็นจริง ทางตาที่เห็น เมื่อจักขุทวารวิถีวาระที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปแล้ว เร็วมากแค่ไหน คิดดู ภวังคจิตเกิดคั่น ไม่มีใครสามารถนับได้ว่ามากน้อยเท่าไร และมโนทวารวิถีจิตเกิด สืบต่อ รับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาวาระหนึ่ง ดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิต ที่เกิดต่อจากนั้น จึงจะเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้น ที่ทุกท่านกำลังนั่ง เห็น และรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทันที จะเริ่มรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมต้องเกิดดับอย่างเร็วที่สุด เมื่อเกิดแล้วดับไป สภาพธรรมอื่น ก็เกิดสืบต่อ เป็นไปอย่างรวดเร็วจนไม่รู้ว่าทางจักขุทวาร สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ยังไม่ใช่ขณะที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ แสดงให้เห็นว่า จิตเกิดดับสลับอย่างเร็วที่สุด คิดถึงสภาพอะไรก็ได้ที่เกิดดับๆ สืบต่ออย่างเร็วมาก จนกระทั่งปรากฏว่า เมื่อเห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นคนนั้น คนนี้ ฉะนั้น จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละทางตามความเป็นจริงมากเพียงไร จึงจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1665


    นาที 12.50

    เรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ รู้ยากว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงควรที่จะสังเกต ศึกษา แม้แต่เพียงเริ่มต้น อย่างเมื่อกี้ ที่มีเสียงดัง ขณะนั้นถ้าสังเกตจริงๆ จะรู้ว่า ทางตาไม่ได้ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขณะที่เสียงกำลังปรากฏ และกำลังได้ยินเสียงนั้น และถ้าสติเกิดในขณะที่กำลังมีเสียง ปรากฏ สภาพที่รู้เสียงไม่ใช่เรา ถ้ามีความสังเกตพิจารณาในขณะนั้น แม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายก็ไม่ได้ปรากฏเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้น ก็ไม่ได้สนใจว่าเป็นใคร หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นี่คือการเริ่มสังเกต

    และจะรู้ได้ว่า สิ่งที่เราเห็นทางตาว่าไม่เห็นดับไปเลย แม้ได้ฟังธรรมมา ไม่ว่านานสักกี่ปีก็ยังคงเห็นเป็นคนนั้นคนนี้อยู่เรื่อยไป ยังไม่สามารถแยกโลกที่ปรากฏทางตากับโลกที่คิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาออกจากกันว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้เลยนั้น ก็เพราะว่าคิด ถ้าไม่คิด เพียงไม่คิดเท่านั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง แต่เมื่อเกิดคิดขึ้นจะเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ และการเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วทำให้เห็นเป็นคนกำลังพูด พัดลม กำลังหมุน แต่คิดดู สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ดับในขณะที่เสียงปรากฏ ถ้าไม่เห็นอีก จะมีการเคลื่อนไหวของรูปที่เห็นเมื่อกี้ได้ไหม

    เห็น และมีการได้ยิน ขณะที่กำลังได้ยินเสียง จิตเห็นที่จริงแล้วต้องไม่มี ในขณะนั้น และถ้าได้ยินอยู่ตลอดเวลาโดยไม่พิจารณา ไม่นึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือไม่เห็น จะมีการเคลื่อนไหวของรูปเมื่อกี้ที่เห็นไหม แต่เพราะเมื่อเห็นแล้ว จิต คิดนึกจำสิ่งที่เห็น และเห็นอีก และจิตคิดนึกจำสิ่งที่เห็นอีก และเห็นอีก และจิตคิดนึกจำสิ่งที่เห็นอีก จึงปรากฏว่ารูปนั้นเคลื่อนไหว อาจจะเป็นคนที่กำลังพัดเพราะว่า ร้อนมาก แสดงให้เห็นว่า ต้องมีการเห็นหลายขณะซึ่งสลับกับการได้ยิน ซึ่งการได้ยิน ก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้น การเห็นอีกสืบต่อทำให้ปรากฏเป็นคนยืน คนพูด คนเคลื่อนไหว หรือวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเคลื่อนไหว แต่ให้ทราบว่า ในขณะนั้นการเกิดดับของสิ่งที่ปรากฏทางตาต้องเร็วสักแค่ไหน สลับกับเสียงซึ่งปรากฏทางหู หรือสลับกับแข็งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ทุกคนต้องมีกายปสาทที่กระทบกับสิ่งที่อ่อนบ้าง ร้อนบ้าง แข็งบ้าง ในขณะนี้ พิสูจน์ธรรมได้ ขณะที่กำลังรู้แข็ง ต้องไม่มีการเห็น นี่สำหรับผู้ที่ประจักษ์ลักษณะ ของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว แต่ผู้ที่ปัญญายังไม่ได้อบรมเจริญถึงขั้นที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ก็ยังคงเห็นด้วย และรู้แข็งด้วย แต่ควรที่จะ น้อมพิจารณาถึงความจริงว่า ขณะที่แข็งปรากฏ เห็นดับแล้ว คิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏ ทางตาซึ่งเกิดต่อทางมโนทวารวิถีก็ดับหมดแล้ว แข็งจึงปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าใส่ใจในลักษณะที่แข็ง จะเห็นสิ่งนั้นเคลื่อนไหวทางตาไหม

    ก็ต้องไม่เห็น ใช่ไหม ถ้ารู้แข็งแล้วไม่เห็นอีกเลย หลับไปเลย จะไม่มี การปรากฏการเคลื่อนไหวของรูปที่ปรากฏทางตา แต่เพราะเห็นแล้วคิด และอาจจะรู้อารมณ์ทางทวารอื่น และกลับมาเห็นอีก จำได้อีก เห็นอีก จำได้อีก ทางตาจึงปรากฏเสมือนว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ และกำลังเคลื่อนไหวด้วย

    นี่คือสิ่งที่จะต้องค่อยๆ สังเกต พิจารณา แม้เพียงได้ยินปรากฏ ถ้าใส่ใจ ในขณะนั้นจะรู้ว่า ไม่ได้สนใจในสีที่ปรากฏ จึงไม่ได้สังเกตรู้ว่าเป็นวัตถุ หรือเป็น บุคคลนั้นบุคคลนี้ ทั้งนิมิต และอนุพยัญชนะ

    เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ การที่สติเกิดเริ่มระลึกได้ เริ่มน้อมพิจารณาไป เรื่อยๆ โดยที่ว่าอาจจะมีลักษณะของสภาพธรรมอื่นเกิดแทรกคั่น และสติดับไป อย่างรวดเร็ว และก็นานมากกว่าสติจะเกิดอีก และสติก็ไม่ค่อยจะระลึกทางตา อาจจะระลึกทางกายบ้าง แต่ทางรสไม่ได้ระลึกเลยสำหรับบางท่าน ก็เป็นเรื่องปกติ ซึ่งแล้วแต่สังขารขันธ์ที่ได้ฟังเรื่องของธรรมจนกระทั่งเป็นสุตมยปัญญา หรือ สุตมยญาณ ก็จะรู้จริงๆ ว่า เป็นสิ่งที่ควรเจริญ และสติจะค่อยๆ เริ่มพิจารณาไป ทีละเล็กทีละน้อย

    แต่ต้องรู้จุดประสงค์ว่า การที่ระลึกทางตาก็เพื่อแยกลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏออกจากลักษณะอ่อนหรือแข็งที่ปรากฏทางกาย และต้องแยกกับลักษณะของรูปธรรมนามธรรมอื่นๆ ด้วย จึงจะปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้

    . เมื่อสติเกิด จะรู้ว่าเป็นสติปัฏฐานได้ไหม

    สุ. แน่นอน

    . และที่จะเป็นเครื่องตัดสินว่า เป็นสติปัฏฐานในขณะที่สติเกิดนั้น สติจะต้องระลึกรู้สภาวธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น คือ ต้องมีสภาวธรรมปรากฏด้วย

    สุ. ถูกต้อง

    . ไม่ใช่ระลึกเฉยๆ

    สุ. ไม่ได้ ทางตา สิ่งที่ปรากฏเป็นของจริง ระลึกได้

    . ผมสงสัยเรื่องของบัญญัติ มีผู้กล่าวว่า บัญญัติไม่เที่ยง จริงหรือเปล่า

    สุ. ก่อนอื่นที่จะเข้าใจสภาพธรรมได้ ต้องเข้าใจว่าบัญญัติคืออะไร การที่จะพูดถึงธรรมข้อหนึ่งข้อใด ต้องชัดเจนว่าหมายความถึงอะไร อย่างถ้าใช้คำว่า ปรมัตถธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ แล้วแต่ว่า จะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอะไรต่างๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง แม้ไม่ใช้คำใดๆ ก็ตาม ลักษณะนั้นมีจริง เช่น เห็น ไม่ต้องเรียกชื่อเป็นภาษาต่างๆ เห็นก็มี ปรมัตถธรรมที่มี มีเพียง ๔ ประเภท คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    ถ้าเข้าใจปรมัตถธรรมจะทำให้เข้าใจบัญญัติว่า บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม และรู้ว่า ที่ใช้คำว่า บัญญัติ ต้องไม่ใช่ปรมัตถธรรม ต้องไม่ใช่จิต ต้องไม่ใช่เจตสิก ต้องไม่ใช่รูป

    สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมเกิดขึ้น และดับไป ได้แก่ ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรมซึ่งเกิดดับ เพราะฉะนั้น บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่ใช่สังขารธรรม ไม่เกิด และจะดับได้ไหม

    . ถ้าไม่เกิด ก็ไม่ดับแน่ๆ

    สุ. ต้องเข้าใจความหมายของบัญญัติก่อน

    . และบัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ไหม

    สุ. ไม่ได้ เพราะว่าสติปัฏฐานต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ เกิดปรากฏ และดับ จึงจะประจักษ์ว่า ลักษณะนั้นเป็นธรรมแต่ละชนิดซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพื่อวิปัสสนาญาณจะสมบูรณ์ถึงการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามลำดับขั้น ตั้งแต่วิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาซึ่งประจักษ์แจ้งในลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่ใช่บัญญัติ

    และสำหรับผู้ที่คิดว่า บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ขอให้แสดง วิธีเจริญสติโดยการระลึกรู้บัญญัติว่า ระลึกได้อย่างไร

    . เขาอ้างว่า ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานกล่าวถึงอาการ ๓๒ ว่า ให้พิจารณาอาการ ๓๒ และเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความละคลาย ขณะนั้นกล่าวว่า เป็นสติปัฏฐาน

    สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระอภิธรรมไว้เพื่ออะไร

    . เพื่อให้เข้าใจสภาวะตามความเป็นจริง

    สุ. เพราะฉะนั้น ส่วนที่เคยยึดถือว่ากาย ทรงแสดงว่าได้แก่ปรมัตถ์อะไร มิฉะนั้นแล้วจะต้องไม่มีปรมัตถธรรมเป็นเครื่องยืนยัน ใช่ไหม ส่วนที่เคยยึดถือว่า กาย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร

    . ได้แก่ รูปปรมัตถ์

    สุ. ได้แก่ รูปปรมัตถ์ ได้แก่ธาตุอะไร

    . ดิน น้ำ ไฟ ลม

    สุ. นี่ทรงแสดงไว้หรือเปล่า

    ถ. ทรงแสดงไว้

    สุ. เมื่อทรงแสดงไว้แล้ว ทำไมไม่ประกอบกันว่า แม้ใช้คำว่า ลมหายใจ หรืออิริยาปถบรรพ หรือการพิจารณาส่วนต่างๆ ของกายก็ดี ถ้าเป็นสติปัฏฐาน จะต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม เพื่อจะได้ถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม

    . ถ้าอย่างนั้นในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ว่าด้วยอาการ ๓๒ ที่ให้พิจารณา นี่มีประโยชน์อย่างไร

    สุ. สติปัฏฐานทั้งหมด เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม โดยตลอด จะเห็นได้ว่า รวบรวมธรรมทุกขั้น ทุกประเภท ทุกระดับ แม้แต่เรื่องของจิต ไม่ว่าจะเป็นฌานจิตก็เป็นสติปัฏฐาน หรือไม่ใช่ฌานจิตก็เป็นสติปัฏฐาน

    สำหรับผู้ที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แล้วแต่ว่าจะยึดถือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตาม ทั้งหมดที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย สติระลึก รู้ลักษณะของสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมเพื่อจะรู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ถ้าจะเอาผม ขน เล็บ ฟัน หนังมาเป็นการเจริญสติปัฏฐาน จะทำอย่างไร

    . ก็ให้พิจารณาผมโดยที่ตั้ง สัณฐาน สี กลิ่น ว่าเป็นของไม่งาม ทั้งหมดนี่เป็นบัญญัติ เมื่อพิจารณาแล้วเกิดความเบื่อหน่ายจริง แต่ไม่ทราบว่า เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

    สุ. ถ้าเป็นสติปัฏฐานขณะใด ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตรงตามความเป็นจริงของลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งต้องเป็นปรมัตถธรรม

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1666


    นาที 25.50

    . ในปฏิกูลมนสิการบรรพ มีเรื่องในอรรถกถาธรรมบทว่า พระที่สาธยายอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เรื่อยไปจนถึงเยื่อในสมอง ปรากฏว่า ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา และอุบาสิกาที่เรียน การสาธยายอาการ ๓๒ กับพระ ก็สำเร็จเป็นพระอนาคามี และสำเร็จก่อนด้วย อาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ... พวกนี้ก็เป็นสมมติบัญญัติทั้งนั้น ใช่ไหม

    สุ. ถูกต้อง

    . แต่ทำไมท่านสาธยายแล้ว ท่านบรรลุ

    สุ. ก็น่าคิด และควรคิดถึงพระสูตรอื่นๆ อีกมากมายด้วยว่า ผู้ที่ไม่ได้สาธยายทำไมท่านบรรลุ คิดว่าสาธยายแล้วจะบรรลุ แต่ก็ยังสงสัยว่าบรรลุได้อย่างไร ในสูตรอื่นๆ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ฟังธรรม ไม่ได้สาธยายอะไร ทำไมได้บรรลุเพียงการฟังธรรม และบางท่านกำลังทำอาหารอยู่ในครัว ไม่ได้สาธยายอะไร ทำไมถึงได้บรรลุ

    คำถามมีว่า ทำไมจึงได้บรรลุ

    เพราะฉะนั้น ตัดเรื่องสาธยาย ตัดเรื่องอื่นทั้งหมดได้ เพราะไม่ว่าจะยก เรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้นมา ก็เป็นปัญหาที่ว่าทำไมจึงได้บรรลุ ทำไมสาธยายจึงได้บรรลุ ทำไมไม่สาธยายจึงได้บรรลุ เพราะฉะนั้น ที่จะบรรลุได้ เพราะอะไรกัน

    . คงจะไม่เป็นเพราะสาธยาย

    สุ. ผู้ที่ไม่สาธยายทำไมบรรลุ จำนวนมากด้วย เพราะฉะนั้น อะไรกันแน่ ที่ทำให้บรรลุ

    . การพิจารณาที่ยกเอาผม ขน เล็บ แต่ละอย่างๆ มาแยกกระจาย พิจารณาแยกเป็นส่วนต่างๆ ทั้ง ๓๒ และเห็นว่านี่แหละเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้เป็นความคิด ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น หนทางที่ทรงแสดงไว้ และยืนยันว่าต้อง เป็นหนทางเดียวเท่านั้น คือ สติปัฏฐาน

    . ขณะที่ระลึกถึงผม หรืออาการ ๓๒ จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็แล้วแต่ ขณะนั้นถ้าสติจะระลึกรู้ ไม่ให้เป็นบัญญัติ จะเป็นอย่างไร

    สุ. ลักษณะอะไรปรากฏทางตา ลักษณะอะไรปรากฏทางหู ลักษณะอะไรปรากฏทางจมูก ลักษณะอะไรปรากฏทางลิ้น ลักษณะอะไรปรากฏทางกาย ลักษณะสภาพธรรมอะไรปรากฏเกิดขึ้นทางใจ

    . ต้องเอาลักษณะสภาวะ

    สุ. แน่นอนที่สุด ต้องเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเท่านั้น

    . คิดถึงผม ขน เล็บ นั่นไม่ใช่สภาวธรรม เป็นเรื่องคิดนึกถึงเรื่องราว คิดถึงชื่อธรรม

    สุ. วันหนึ่งๆ ความคิดของแต่ละคนมากมายนับไม่ถ้วน มีใครนับความคิดของท่านเองได้บ้างไหมว่า คิดเรื่องอะไรบ้างในวันหนึ่งๆ ก็นับไม่ได้ เมื่อนับไม่ได้ พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงวิธีอะไรหรือเปล่า ในเมื่อความคิดของแต่ละคนเกิดขึ้นโดยความเป็นอนัตตาจริงๆ โดยสังขารขันธ์ โดยการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น แต่ละขณะจิตเป็นสภาพธรรมที่ เป็นอนัตตา โดยขณะที่คิดเป็นเพียงสภาพของนามธรรมชนิดหนึ่งที่คิดเรื่องราวต่างๆ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1667


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 199
    8 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ