คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)


    พระผู้มีพระภาคทรงแทงตลอดในลักษณะของธาตุทั้งปวงตามความเป็นจริง ไม่ใช่มีแต่รูปธาตุ ถึงแม้อรูปธาตุหรือนิพพาธาตุ พระผู้มีพระภาคก็เป็นผู้ที่ทรงประจักษ์แจ้งในลักษณะของธาตุทั้งหลาย ซึ่งเป็นทศพลญาณประการต่อไป ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งโลกมีธาตุมิใช่อย่างเดียว และมีธาตุต่างๆ ตามความเป็นจริง ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งโลกมีธาตุมิใช่อย่างเดียว และมีธาตุต่างๆ ตามความเป็นความจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป

    ก็คงจะหมดข้อสงสัยได้ในพระพุทธวิสัย เพราะจะมีใครรู้แจ้งว่า โลกมิใช่มีธาตุอย่างเดียว แต่ว่ามีธาตุต่างๆ ตามความเป็นจริง

    โลภะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง โทสะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง โมหะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง นามธรรมแต่ละลักษณะก็เป็นธาตุแต่ละลักษณะ แต่ละชนิด รูปธรรมแต่ละลักษณะก็เป็นรูปธาตุแต่ละชนิด ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีปัญหาว่า จะยังมีธาตุอะไรที่หลงเหลือที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงประจักษ์แจ้ง

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์มีอธิมุตติต่างๆ กันตามความเป็นจริง (อธิมุตติ หมายถึงอัธยาศัยที่เลว และประณีต เป็นต้น) ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์มีอธิมุตติต่างๆ กันตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจกบันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป

    ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ถึงอัธยาศัยที่เลว และประณีตของบุคคลอื่นได้อย่างแท้จริง และอย่างละเอียด แม้แต่ตัวเอง ถ้าลักษณะของความโลภอย่างวิจิตรอย่างแยบยล ไม่เกิดขึ้น จะมีใครรู้ไหมว่า ขณะนั้นจิตมีสภาพอย่างนั้น แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงรู้อัธยาศัยทั้งเลว และประณีตของสัตว์โลกโดยละเอียด

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์ และบุคคลทั้งหลายอื่นมีอินทรีย์หย่อน และยิ่งตามความเป็นจริง ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดความที่สัตว์ และบุคคลทั้งหลายอื่นมีอินทรีย์หย่อน และยิ่งตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป

    ถ้าไม่ทรงมีพระญาณที่มีกำลังข้อนี้ ก็ไม่สามารถที่จะทรงอนุเคราะห์บุคคลที่สะสมอินทรีย์ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เช่น ท่านพระองคุลีมาล และพระสาวกองค์อื่นๆ ได้ อย่างเช่นข้อความตอนหนึ่งในอรรถกถาที่ว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งเจริญ อสุภกัมมัฏฐาน แต่ท่านไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่สามารถที่จะเกิดความสลดสังเวช ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงทราบถึงอดีตชาติของท่านว่า ท่านเคยเป็นนายช่างทอง เพราะฉะนั้น ก็ทรงเนรมิตดอกบัวทองคำ และให้เห็นความไม่เที่ยงของดอกบัวทองคำนั้น จิตของท่านก็สลด แต่บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้อัธยาศัยของบุคคลอื่นได้เลยว่า จะเกื้อกูลอย่างไรจึงจะทำให้อินทรีย์ที่สะสมมาพร้อมที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรมได้เกิดขึ้น

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 789


    นาที 04:48

    ข้อความต่อไป เป็นพระญาณซึ่งมีกำลังอีกประการหนึ่ง คือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว และความออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลายตามความเป็นจริง ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว และความออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลายตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก บันลือ สีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป

    เรื่องของฌานก็เป็นเรื่องที่ละเอียดสุขุมมาก แต่แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังทรงรู้ชัดซึ่งความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว และความออกแห่งฌาน แห่งวิโมกข์ แห่งสมาธิ และแห่งสมาบัติทั้งหลาย

    ถ้าจิตมั่นคงสงบถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิต ในครั้งแรกฌานจิตจะเกิดเพียงขณะเดียว ต่อจากนั้นจิตเป็นภวังค์ เนื่องจากยังไม่มีความชำนาญ แต่เพราะว่าฌานจิตเป็นอัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฝึกอบรมยิ่งขึ้น อัปปนาสมาธิจิตก็สามารถที่จะเกิดติดต่อกันโดยไม่มีภวังคจิตแทรกหรือคั่นเลย ในขณะที่อธิษฐานขอให้จิตเป็นฌานตั้งอยู่ ซึ่งแล้วแต่ว่าจะเป็นกี่ชั่วโมง หรือว่ากี่วัน ในขณะนั้นจะเป็นอัปปนาสมาธิจิตที่เกิดดับสืบต่อกันโดยที่ภวังคจิตไม่เกิดคั่น

    ขณะที่ทุกท่านกำลังเห็น และได้ยินในขณะนี้ มีภวังคจิตเกิดคั่นมาก แต่ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิจิตแล้ว จะเป็นสมาธิที่มั่นคง ถ้าเป็นปฐมฌานจิต ปฐมฌานจิตก็จะเกิดดับๆ สืบต่อโดยไม่มีภวังคจิตเกิดคั่นเลย แต่เวลาออกจากฌาน ภวังคจิตก็เกิดขึ้น โดยที่ฌานจิตดับไป ภวังคจิตเกิดต่อ นั่นคือ การออกจากฌานสมาบัติ

    แต่ถ้าเป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ คือ ผู้นั้นเป็นพระอนาคามีบุคคลหรือพระอรหันต์ ซึ่งได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตซึ่งเป็นอรูปฌานขั้นสูงที่สุด สามารถที่จะถึงนิโรธสมาบัติ คือ ดับจิตเจตสิกไม่มีนามธรรมเกิดเลย ซึ่งในระหว่างนั้นมีแต่รูปที่เกิดเพราะกรรม รูปที่เกิดเพราะอุตุ รูปที่เกิดเพราะอาหาร และเมื่อจิตไม่เกิด รูปที่เกิดเพราะจิตก็ไม่มี ชั่วระยะเวลาที่กำหนดของนิโรธสมาบัติซึ่งไม่เกิน ๗ วัน

    และขณะที่จะออกจากนิโรธสมาบัติ ก็คือ ผลจิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นพระอนาคามีบุคคลเข้านิโรธสมาบัติ อนาคามิผลจิตก็เกิด ถ้าเป็นพระอรหันต์เข้านิโรธสมาบัติ อรหัตตผลจิตก็เกิด ไม่ใช่ภวังคจิต นี่คือความต่างกันของการออกจากฌาน ซึ่ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบชัดในการออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลาย

    พระญาณที่มีกำลังข้อต่อไป เป็นเรื่องของการระลึกชาติ ซึ่งท่านผู้ฟังก็ได้ทราบว่า แม้ในปฐมยามของคืนที่จะตรัสรู้ พระองค์ก็ทรงระลึกชาติเป็นอันมาก เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก บันลือ สีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป

    สำหรับพระญาณที่มีกำลังต่อไป คือ การเห็น … ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ … ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนผู้ที่ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฎฐิ … ย่อมเข้าถึงสุ.คติโลกสวรรค์

    สำหรับพระญาณที่มีกำลังประการสุดท้ายของทศพลญาณ คือ

    … ตถาคตกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน …

    คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศกว่าบุคคลทั้งหลาย เพราะว่าแม้พระอรหันต์องค์อื่นดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ประกอบด้วยพระญาณ และพระบารมีที่ได้สะสมมา ที่จะถึงพร้อมด้วยทศพลญาณเช่นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ต่อจากนั้นก็เป็น เวสารัชชธรรม คือ ความไม่หวั่นไหวในบริษัททั้งหลาย ได้แก่ ขัตติยบริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท จาตุมหาราชิกบริษัท คือพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราช ดาวดึงสบริษัท มารบริษัท และพรหมบริษัท เป็นต้น

    ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสถึงพระญาณซึ่งทรงทราบกำเนิด ๔ ประการ ได้แก่ อัณฑชะกำเนิด การเกิดในไข่ ชลาพุชะกำเนิด การเกิดในท้องคือในครรภ์ สังเสทชะกำเนิด การเกิดในเถ้าไคล น้ำครำ หรือว่าในซากศพเน่า ในขนมบูด เป็นต้น โอปปาติกะกำเนิด คือ การเกิดสำเร็จเป็นตัว ได้แก่ นรก เปรต หรือว่าการเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ

    ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ตรัสถึงพระญาณที่ทรงรู้คติ ๕ ประการ คือ นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์ และเทวดา

    ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ตรัสถึงการที่รู้บุคคลทั้งหลายด้วยใจว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนี้เมื่อตายแล้วจะเกิดที่ไหน และทรงอุปมาว่า สำหรับการเกิดในนรกนั้น เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง การเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเปรียบเหมือนการตกในหลุมคูถ การเกิดเป็นเปรตเปรียบเหมือนการเกิดในหมู่ต้นไม้ที่เกิดในพื้นที่อันไม่เสมอ มีใบอ่อน และใบแก่อันเบาบาง มีเงาอันโปร่ง เพราะฉะนั้น ก็ย่อมจะไม่ร่มเย็นเป็นสุข ย่อมเป็นผู้ที่หิวกระหาย และทรมาน

    สำหรับการเกิดในมนุษย์ เปรียบเหมือนการเกิดในหมู่ต้นไม้ที่เกิดในพื้นที่ อันเสมอ มีใบอ่อน และใบแก่อันหนา มีเงาหนาทึบ เพราะฉะนั้น บุคคลที่มีความร้อนแผดเผา ก็มุ่งไปสู่ต้นไม้นั้น และก็เป็นผู้ที่ได้รับความสุข

    สำหรับการเกิดในสวรรค์ พระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนการเกิดในปราสาทที่มีเรือนยอดซึ่งฉาบทาดีแล้ว มีวงกรอบอันสนิท หาช่องลมมิได้ มีบานประตู และหน้าต่างอันปิดสนิทดี

    สำหรับผู้ที่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เปรียบเหมือนสระโบกขรณีที่มีน้ำอันใสสะอาด เย็นใสตลอด มีท่าอันดีน่ารื่นรมย์ เพราะฉะนั้น บุคคลที่มีความร้อนแผดเผาก็มุ่งไปสู่สระโบกขรณี และได้อาบดื่ม ระงับความกระวนกระวาย

    เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ระลึกถึงพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ทรงแสวงหาหนทางที่จะได้บรรลุข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งยากที่บุคคลอื่นจะกระทำได้เสมอกับพระองค์

    มหาสีหนาทสูตร ข้อ ๑๗๗ ถึง ข้อ ๑๘๕ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร อนึ่ง เราย่อมเข้าใจประพฤติพรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ เราเป็นผู้บำเพ็ญตบะ และเป็นเยี่ยมกว่าผู้บำเพ็ญตบะทั้งหลาย เราประพฤติเศร้าหมอง และเป็นเยี่ยมกว่าผู้ประพฤติเศร้าหมองทั้งหลาย เราเป็นผู้เกลียดบาป และเป็นเยี่ยมกว่าผู้เกลียดบาปทั้งหลาย เราเป็นผู้สงัด และเป็นเยี่ยมกว่าผู้สงัดทั้งหลาย

    ดูกร สารีบุตร บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น วัตรต่อไปนี้เป็นพรหมจรรย์ของเรา โดยความที่เราเป็นผู้บำเพ็ญตบะ คือ เราเคยเป็นอเจลกคนเปลือย ไร้มรรยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานำมาให้ ไม่ยินดีภิกษาที่เขาทำเฉพาะ ไม่ยินดีภิกษาที่เขานิมนต์ เรานั้นไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากหม้อข้าว ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมธรณีประตูให้ ... ข้อความจากนี้ไป เป็นวัตรข้อปฏิบัติของผู้ที่บำเพ็ญตบะอย่างยิ่ง โดยลักษณะของ อเจลกะที่ไร้มรรยาท ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วทั้งหมด และ พระผู้มีพระภาคตรัสตอนท้ายว่า ดูกร สารีบุตร นี้แหละเป็นพรหมจรรย์ของเรา โดยความที่เราเป็นผู้บำเพ็ญตบะ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์นี้เป็นวัตรในความประพฤติเศร้าหมองของเรา มลทิน คือ ละอองธุลี สั่งสมในกายของเรานับด้วยปีมิใช่น้อยจนเป็นสะเก็ด เปรียบเหมือนตอตะโกมีละอองธุลีสั่งสมนับด้วยปีมิใช่น้อยจนเกิดเป็นสะเก็ด ฉันใด มลทิน คือ ละอองธุลี สั่งสมในกายของเรานับด้วยปีมิใช่น้อยจนเกิดเป็นสะเก็ด ฉันนั้นเหมือนกัน

    ดูกร สารีบุตร เราไม่ได้คิดที่จะลูบคลำปัดละอองธุลีนี้ด้วยฝ่ามือ หรือไม่ได้คิดว่า คนเหล่าอื่นจะพึงลูบคลำปัดละอองธุลีนี้ด้วยฝ่ามือ ดูกร สารีบุตร ความคิดแม้อย่างนี้ไม่ได้มีแก่เราเลย ดูกร สารีบุตร นี้แหละเป็นวัตรในความประพฤติเศร้าหมองของเรา

    มีใครจะทนได้ไหม ที่จะสะสมสั่งสมละอองธุลี คือ ฝุ่น ให้ติดตัวอยู่เป็นปีๆ โดยเป็นความประพฤติเศร้าหมองที่คิดว่า ข้อปฏิบัตินั้นจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จนกระทั่งเกิดเป็นสะเก็ดทั่วทั้งตัว

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ เหล่านั้น พรหมจรรย์นี้เป็นวัตรในความประพฤติเกลียดบาปของเรา เรานั้นมีสติก้าวไปข้างหน้า มีสติถอยกลับ ความเอ็นดูของเราปรากฏเฉพาะจนกระทั่งในหยดน้ำว่า เราอย่าได้ล้างผลาญสัตว์เล็กๆ ที่อยู่ในที่อันไม่สม่ำเสมอเลย ดูกร สารีบุตร นี้แหละเป็นวัตรในความประพฤติเกลียดบาปของเรา

    สำหรับในเรื่องต่อไป เป็นเรื่องของความสงัด ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะอยู่อย่างสงัดเพียงไรก็ตาม ถ้าไม่ใช่หนทาง ไม่ใช่ข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ เหล่านั้น พรหมจรรย์นี้เป็นวัตรในความสงัดของเรา เรานั้นเข้าอาศัยชายป่าแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ ในกาลใดเราได้พบคนเลี้ยงโค หรือคนเลี้ยงปศุสัตว์ หรือคนหาบหญ้า หรือคนหาฟืน หรือคนเที่ยวหาผลไม้เป็นต้นในป่า ในกาลนั้น เราก็เดินหนีจากป่าไปสู่ป่า จากชัฏไปสู่ชัฏ จากที่ลุ่มไปสู่ที่ลุ่ม จากที่ดอนไปสู่ที่ดอน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเราคิดว่า คนเหล่านั้น อย่าได้เห็นเราเลย และเราก็อย่าได้เห็นคนเหล่านั้นเลย

    ดูกร สารีบุตร เปรียบเหมือนเนื้อที่เกิดในป่า เห็นมนุษย์ทั้งหลายแล้วก็วิ่งหนีจากป่าไปสู่ป่า จากชัฏไปสู่ชัฏ จากที่ลุ่มไปสู่ที่ลุ่ม จากที่ดอนไปสู่ที่ดอน แม้ฉันใด ดูกร สารีบุตร เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในกาลใดเราได้พบคนเลี้ยงโค หรือคนเลี้ยง ปศุสัตว์ หรือคนหาบหญ้า หรือคนหาฟืน หรือคนเที่ยวหาผลไม้เป็นต้นในป่า ในกาลนั้น เราก็เดินหนีจากป่าไปสู่ป่า จากชัฏไปสู่ชัฏ จากที่ลุ่มไปสู่ที่ลุ่ม จากที่ดอนไปสู่ที่ดอน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเราคิดว่า คนเหล่านั้นอย่าได้เห็นเราเลย และเราก็อย่าได้เห็นคนเหล่านั้นเลย

    ดูกร สารีบุตร นี้แหละเป็นวัตรในความประพฤติสงัดของเรา

    คงจะไม่มีใครประพฤติได้อย่างนี้ เพราะแม้ว่าจะอยู่ในป่า เพียงแต่มีคนผ่าน ก็หนีจากบุคคลนั้น จากป่าไปสู่ป่า จากชัฏไปสู่ชัฏ จากที่ลุ่มไปสู่ที่ลุ่ม จากที่ดอนไปสู่ที่ดอน คือ ไปสู่ทิศที่ไม่มีคนอยู่เลย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร เรานั้นแลเคยคลานเข้าไปในคอกที่เหล่าโคออกไปแล้ว และปราศจากคนเลี้ยงโค กินโคมัยของลูกโคอ่อนที่ยังไม่ทิ้งแม่ มูตร และกรีสของเรายังไม่หมดสิ้นไปเพียงไร เราก็กินมูตร และกรีสของตนเองเป็นอาหาร ดูกร สารีบุตร นี้แหละเป็นวัตรในโภชนะมหาวิกัฏของเรา (คือ เป็นอาหารที่เศร้าหมอง ที่ไม่มีอะไรที่จะเศร้าหมองยิ่งกว่านั้น)

    ดูกร สารีบุตร เรานั้นแลเข้าอาศัยแนวป่าอันน่ากลัวแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ นี้เป็นความน่ากลัวแห่งแนวป่านั้น บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งยังไม่ปราศจากราคะ เข้าไปสู่ป่านั้น โดยมากขนพอง ดูกร สารีบุตร เรานั้นแล ในราตรีที่หนาว ฤดูเหมันต์ตั้งอยู่ระหว่างเดือน ๓ ต่อเดือน ๔ เป็นสมัยมีหิมะตก ในราตรีเห็นปานนั้น [เรา] อยู่ในที่แจ้งตลอดคืน กลางวันเราอยู่ในแนวป่า ในเดือนท้ายฤดูร้อน กลางวันเราอยู่ในที่แจ้ง กลางคืนเราอยู่ในแนวป่า ดูกร สารีบุตร เป็นความจริง คาถาอันน่าอัศจรรย์เล็กน้อยนี้ที่เราไม่ได้ยินมาก่อน ปรากฏแก่เราว่า

    นักปราชญ์ผู้เสาะแสวงหาความหมดจด อาบแดด อาบน้ำค้าง เป็นคนเปลือย ทั้งมิได้ผิงไฟ อยู่คนเดียวในป่าอันน่ากลัว ดังนี้

    ในสมัยที่หิมะตก พระผู้มีพระภาคอยู่ในที่แจ้งตลอดคืน และกลางวันก็อยู่ในแนวป่าซึ่งไม่มีที่กำบัง สำหรับในฤดูร้อน กลางคืนอยู่ในป่า ส่วนกลางวันก็อยู่ในที่แจ้ง ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นการกระทำที่ยากแก่การที่จะบำเพ็ญเพื่อที่จะได้บรรลุ พระสัมมาสัมโพธิญาณ แต่ว่าเมื่อข้อปฏิบัตินั้นไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ข้อปฏิบัติทั้งหมดเหล่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ดูกร สารีบุตร เราย่อมสำเร็จการนอนแอบอิงกระดูกศพในป่าช้า พวกเด็กเลี้ยงโคเข้ามาใกล้เราแล้ว ถ่มน้ำลายรดบ้าง ถ่ายปัสสาวะรดแล้ว โปรยฝุ่นรดบ้าง เอาไม้ยอนที่ช่องหูบ้าง เราไม่รู้สึกว่ายังจิตอันลามกให้เกิดขึ้นในพวกเด็กเหล่านั้นเลย ดูกร สารีบุตร นี้แหละเป็นวัตรในการอยู่ด้วยอุเบกขาของเรา.

    ต้องเป็นผู้ที่มีความอดทน อดกลั้นอย่างยิ่ง ที่จะไม่รู้สึกเกิดอกุศลในการกระทำของเด็กเลี้ยงโคทั้งหลาย ซึ่งถ่มน้ำลายรดบ้าง ถ่ายปัสสาวะรดแล้ว โปรยฝุ่นรดบ้าง เอาไม้ยอนที่ช่องหูบ้าง แต่ถ้ามีใครทำแม้แต่เพียงประการเดียวกับท่าน จะเป็นอย่างไร ไม่ต้องทุกอย่าง เพียงแต่ถ่มน้ำลายรด หรือว่าถ่ายปัสสาวะรด หรือว่าเอาไม้ยอนที่ช่องหู ก็คงจะไม่ปล่อยให้คนนั้นกระทำการเช่นนั้นต่อไป

    ข้อความต่อไป เป็นการทนทุกรกิริยาโดยการที่ฉันโภชนะน้อยลงๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร เธอจะพึงมีความสำคัญว่า พุทราในสมัยนั้นชะรอยจะผลใหญ่เป็นแน่ ข้อนี้เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น แม้ในกาลนั้น ผลพุทราที่เป็นขนาดใหญ่นั่นเทียว ก็เหมือนในบัดนี้

    ดูกร สารีบุตร เมื่อเรากิน [อาหารเท่า] ผลพุทราผลเดียวเท่านั้น ร่างกายก็ถึงความซูบผอมยิ่งนัก อวัยวะน้อยใหญ่ของเราเปรียบเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมาก และข้อดำ เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง ตะโพกของเราเปรียบเหมือนรอยเท้าอูฐ เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง กระดูกสันหลังของเรานูนขึ้นเป็นปุ่มๆ เหมือนเถาสะบ้า เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง กระดูกซี่โครงของเราเหลื่อมขึ้น เหลื่อมลงเห็นปรากฏ เหมือนกลอนแห่งศาลาเก่าเหลื่อมกันฉะนั้น เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง ดวงตาของเราลึกเข้าไปในเบ้าตา เหมือนเงาดวงดาวปรากฏในบ่อน้ำอันลึกฉะนั้น เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง หนังศีรษะของเราอันลมถูกต้องแล้วก็เหี่ยวแห้ง เปรียบเหมือนน้ำเต้าขมที่ถูกตัดขั้วแต่ยังอ่อนอันลมแดดสัมผัสแล้ว ย่อมเป็นของเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง

    ดูกร สารีบุตร เรานั้นแล คิดว่าจะลูบคลำผิวหนังท้อง ก็คลำถูกกระดูกสันหลังทีเดียว คิดว่าจะลูบคลำกระดูกสันหลัง ก็คลำถูกผิวหนังท้องทีเดียว ดูกร สารีบุตร ผิวหนังท้องของเราติดกระดูกสันหลัง เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง เรานั้นคิดว่า จะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ก็ซวนล้ม ณ ที่นั้นเอง เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง เรานั้นเมื่อจะยังร่างกายให้คล่องแคล่ว ก็ลูบตัวด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนทั้งหลายมีรากอันเน่าก็หลุดจากกาย เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง.

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 790


    นาที 27.27

    ข้อความต่อไปใน มหาสีหนาทสูตร ขัอ ๑๘๖

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยอาหาร พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราย่อมเยียวยาอัตภาพด้วย [อาหารเท่าเมล็ด] ถั่วเขียว ฯลฯ พวกเราย่อมเยียวยาอัตภาพด้วย [อาหารเท่าเมล็ด] งา ฯลฯ พวกเราย่อมเยียวยาอัตภาพด้วย [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสาร ดังนี้ พวกเขาเคี้ยวกิน [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารบ้าง ข้าวสารป่นบ้าง ดื่มน้ำ [ประมาณเท่าเมล็ด] ข้าวสารบ้าง ย่อมบริโภค [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารที่จัดทำให้แปลกมีประการมิใช่น้อยบ้าง ดูกร สารีบุตร เราย่อมรู้สึกว่า กิน [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารเมล็ดเดียวเท่านั้น

    ดูกร สารีบุตร เธอจะพึงมีความสำคัญว่า ข้าวสารในสมัยนั้นชะรอยจะเมล็ดใหญ่เป็นแน่ ข้อนี้เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น แม้ในกาลนั้น ข้าวสารที่เป็นขนาดใหญ่นั้นเทียว ก็มีเมล็ดเท่าข้าวสารในบัดนี้ ดูกร สารีบุตร เมื่อเรากิน [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารเมล็ดเดียวเท่านั้น ร่างกายก็ถึงความซูบผอมยิ่งนัก อวัยวะน้อยใหญ่ของเราเปรียบเหมือนเถาวัลย์ที่ข้อมาก และข้อดำ เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง … ฯลฯ เรานั้นเมื่อจะยังร่างกายให้คล่องแคล่วก็ลูบตัวด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนทั้งหลายมีรากอันเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง.

    ข้อความต่อไปเป็นข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นว่า ข้อปฏิบัติทั้งหมดเหล่านั้น ไม่เป็นหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร ด้วยการปฏิบัติอย่างไม่มีใครสู้แม้นั้น ด้วยปฏิปทาแม้นั้น ด้วยความเพียรที่กระทำได้แสนยากนั้น เราก็ไม่ได้บรรลุธรรมอันยิ่งของมนุษย์ที่เป็น ญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะมิใช่ปฏิปทาที่เป็นเหตุบรรลุปัญญาอันประเสริฐ ปัญญานี้แล ที่ซึ่งเราได้บรรลุแล้ว เป็นของประเสริฐ นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ เป็นทางสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้กระทำอยู่ตามนั้น

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงความเห็นของสมณพราหมณ์พวกต่างๆ ซึ่งคิดว่าความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏฏ์

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏฏ์ ดูกร สารีบุตร ก็สังสารวัฏฏ์ที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไปโดยกาลยืดยาวช้านานนี้ เว้นแต่เทวโลกชั้นสุทธาวาส เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายนัก ดูกร สารีบุตร ถ้าเราพึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก

    บางคนคิดว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องอบรมเจริญปัญญา อยู่ไปๆ ในสังสารวัฏฏ์แล้วในที่สุดก็ย่อมหมดจดในเมื่อถึงที่สุดของสังสารวัฏฏ์ คือ ไม่ต้องเกิดเลย แต่นั่นเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 791


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 199
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ