กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญปัญญาจะทำให้รู้ความจริงของกุศลเป็นกุศล และอกุศลเป็นอกุศล และอกุศลแต่ละลักษณะก็เป็นสภาพของอกุศลธรรมแต่ละลักษณะ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ อมนุษย์ผู้จับเป็นไฉน

    ที่จะไม่ถูกอกุศลธรรมครอบงำนั้นยากนัก ไม่อย่างนี้ ก็ต้องอย่างโน้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ อมนุษย์ผู้จับเป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ ปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ เราจักได้เป็นเทวดาหรือเทพยเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ดูกร ภิกษุ นี้เรียกว่า อมนุษย์ผู้จับ

    พ้นจากโลกนี้แล้ว ก็ยังติดตามคิดไปถึงภพหน้า ชาติหน้า ตามข้อความที่ว่า ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ เราจักได้เป็นเทวดาหรือเทพยเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง

    ยังเป็นเรา หรือว่าเราเป็น ไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับหมดไป ไม่กลับมาอีกเลย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ คำว่า เกลียวน้ำวนๆ ไว้ เป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕ ดูกร ภิกษุ ความเป็นของเน่าในภายใน เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานปกปิดไว้ ไม่เป็นสมณะก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารีก็ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เป็นผู้เน่าในภายใน มีใจชุ่มด้วยกาม เป็นดุจขยะมูลฝอย ดูกร ภิกษุ นี้เรียกว่า ความเป็นผู้เน่าในภายใน ฯ

    ก็โดยสมัยนั้นแล นายนันทโคบาลยืนอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้นแล นายนันทโคบาลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่เข้าใกล้ฝั่งนี้ ไม่เข้าใกล้ฝั่งโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่ติดบนบก ไม่ถูกมนุษย์จับ ไม่ถูกอมนุษย์จับ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร นันทะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงมอบโคให้เจ้าของเถิด ฯ

    นายนันทโคบาลกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โคที่ติดลูกจักไปเอง ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ท่านจงมอบโคให้แก่เจ้าของเถิด นันทะ ฯ

    ครั้งนั้นแล นายนันทโคบาลมอบโคให้แก่เจ้าของแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มอบโคให้เจ้าของแล้ว ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค

    นายนันทโคบาลได้บรรพชาอุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็แลท่านพระนันทะอุปสมบทแล้วไม่นาน เป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระนันทะได้เป็น พระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ

    จบ สูตรที่ ๔

    ท่านผู้ฟังคงปรารถนาว่า เมื่อไรจะเป็นอย่างนายนันทโคบาล เพียงอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ได้ฟังพระธรรม มีความเข้าใจ และมีศรัทธาที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่จะไม่ติดฝั่งข้างโน้น และฝั่งข้างนี้ จนกระทั่งสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าในอดีตอนันตชาติของนาย นันทโคบาลไม่เคยฟังพระธรรมเลย ไม่เคยอบรมเจริญสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจมาก่อน ก็ย่อมจะไม่ถึงวันนั้น ที่จะเป็นนายนันทโคบาล ซึ่งชีวิตประจำวันก็คือเป็นคนเลี้ยงโค แต่ว่าได้อบรมเจริญปัญญามาที่จะเข้าใจในขณะที่ได้ฟังธรรม และเห็นคุณค่าของการที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท โดยสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    ถึงแม้ว่าในชาตินี้ยังไม่ใช่นายนันทโคบาล หรือว่ายังไม่สามารถที่จะเป็นอย่างนายนันทโคบาล แต่ก็สามารถที่จะอบรมเจริญสติ และปัญญาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะชิน จนกว่าจะชำนาญ จนกว่าจะรู้ทั่ว จนกว่าจะรู้ชัด จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในวันหนึ่ง ซึ่งจะต้องอาศัยชีวิตตามปกติตามความเป็นจริงแต่ละขณะนี่เอง

    สภาพธรรมทุกอย่างที่ทรงแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นในพระสูตรไหน หรือว่าใน พระวินัยปิฎก ในพระอภิธรรมปิฎก เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้เลย แต่สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะนั้น จนกระทั่งประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

    ท่านผู้ฟังเคยตั้งใจจะทำอะไรไหม ก็คงจะมีบ่อยๆ ทั้งความตั้งใจที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ในขณะที่ศึกษาปรมัตถธรรมก็ทราบว่า เป็นเจตนาเจตสิก ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะตั้งใจ จงใจ ขณะนั้นที่ศึกษาปรมัตถธรรมทราบว่า เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า เป็นเจตนาเจตสิก แต่นั่นก็ยังไกล ใช่ไหม เพราะเป็นเพียงสภาพธรรมที่ได้ศึกษา ได้เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น ตามตำราที่อ่าน หรือในขณะที่ฟัง

    แต่ในขณะนี้ ความตั้งใจก็มี เจตนา ความจงใจก็มี และก็มีสภาพธรรมอื่นๆ อีกที่ทรงแสดงไว้ แต่ถ้าสติยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ขณะนั้นจะมีความรู้สึกว่า เป็นเราตั้งใจ เป็นเราคิด เป็นเราจงใจ แม้ว่าจะได้ศึกษาปรมัตถธรรมว่าเป็นเจตนาเจตสิก

    เวลาฟัง เข้าใจว่าเป็นเจตนาเจตสิก แต่เวลาที่สภาพของเจตนากำลังเกิดขึ้นกระทำกิจตั้งใจหรือจงใจ สติไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพที่กำลังจงใจ ตั้งใจในขณะนั้น ลืมแล้วว่า เป็นเจตนาเจตสิกตามที่ได้เคยฟังหรือว่าเคยศึกษา

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้เข้าใจชัดเจนว่า สภาพธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดนั้น สามารถที่จะเป็นปัฏฐาน เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้จนกระทั่งปัญญาประจักษ์แจ้งว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ

    ข้อสำคัญ คือ อย่าไปอยู่ในโลกของความฝัน คือกระทำอย่างอื่นขึ้นรู้ แต่ต้องอยู่ในโลกของความจริงในขณะนี้แต่ละขณะ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน เป็นขณะที่ระลึกรู้สิ่งที่กำลังมีแล้วในขณะนี้ ไม่ใช่พยายามที่จะให้สิ่งอื่นเกิดขึ้นต่อไป

    อะไรกำลังมีอยู่ อะไรกำลังมีแล้ว อะไรกำลังปรากฏ นั่นเป็นสิ่งที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีแล้ว กำลังมีอยู่ กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ แต่ไม่ใช่คิดว่า ประเดี๋ยวจะสงบ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านผู้ฟังได้ฟังเรื่องของมรณานุสสติ และเข้าใจจริงๆ ว่า จุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อเกื้อกูลให้พุทธบริษัทเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน แม้ว่าจะทรงแสดงเรื่องของมรณานุสสติ คือ เป็นผู้ที่ระลึกถึงความตาย ก็ไม่ใช่ให้เพียงระลึก และเกิดความสงบ แต่ว่าให้ระลึกเพื่อสติจะได้เกิดขึ้นเป็นสติปัฏฐาน ไม่ประมาท ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

    ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปฏิปทาสูตรที่ ๔ มีข้อความที่แสดงว่า ปฏิปทา คือ การดำเนิน เป็นหนทางตรงที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น มีหนทางเดียว คือ เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ข้อความมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่พักก่อด้วยอิฐชื่อนาทิกะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มรณสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันสิ้นไป กลางคืนเวียนมา ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมลงป่องพึงต่อยเราก็ได้ ตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลงก็ได้ อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้ ดีของเราพึงซ่านก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ ลมมีพิษดังศาตราของเราพึงกำเริบก็ได้ มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้ พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืนมีอยู่หรือหนอแล ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืนมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติ และสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย เปรียบเหมือนคนที่มีผ้าไฟไหม้ หรือศีรษะถูกไฟไหม้ พึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติ และสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแหละภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน ไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติ และปราโมทย์ หมั่นศึกษาทั้งกลางวัน และกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ฯ

    สำหรับข้อความต่อไปก็เป็นโดยนัยเดียวกัน คือ เมื่อกลางคืนนั้นสิ้นไปหมายความว่าชีวิตก็ปลอดภัยไปคืนหนึ่ง และกลางวันเวียนมาถึง ภิกษุนั้นก็ย่อมพิจารณาโดยนัยเดียวกัน

    ข้อความตอนท้าย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ฯ

    จบ สูตรที่ ๔

    ผู้ที่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่สงสัยเรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาว่า จุดประสงค์สูงที่สุด คือ อบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งใน วันหนึ่งๆ นั้น ย่อมมีทั้งการเห็น และการคิดถึงสิ่งที่เห็น แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไร สติ และปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสภาพธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลในขณะนั้น

    บางท่านก็คงจะคิดถึงความตาย ซึ่งจุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อให้คิดต่อไปให้สงบ แต่เมื่อคิดแล้ว เป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะยังมีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเพราะหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกถึงความตายแล้ว สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่มีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่สงสัย และไม่สนใจที่จะไปทำให้จิตสงบขึ้นจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ เพราะถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงว่า มรณสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 850


    นาที 17.15

    ไม่ควรเป็นผู้ประมาท แต่ก็ยากเหลือเกินในเมื่อมีอกุศลสะสมมามากมาย ทั้งโลภะบ้าง โทสะบ้าง เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยสติ การระลึกได้ เป็นผู้อารักขา การดำเนินชีวิตต่อไปในการที่จะเจริญกุศลยิ่งขึ้น

    สำหรับชีวิตในแต่ละชาติ จะเห็นได้ว่า ถ้าในทุกๆ ชาติที่เกิดมามีโอกาส ได้ฟังพระธรรม ถ้ายังไม่ละคลายอกุศลต่างๆ ในชีวิตประจำวันจริงๆ ด้วย ความตั้งใจมั่น ด้วยความเพียร ด้วยความอดทน ย่อมไม่ถึงกาลที่จะดับกิเลสได้ เพราะว่ากิเลสมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้น การที่กุศลแต่ละขณะจะเกิดได้ จะเจริญได้ ต้องอาศัยความเพียร และความอดทนต่อการที่จะไม่เป็นอกุศลในขณะนั้น

    ระหว่างความสนุกสนานเพลิดเพลิน กับการฟังพระธรรม จะเลือกอย่างไหน ถ้าไม่ใช่เรื่องความสนุกสนานเพลิดเพลิน เรื่องธรรมดาๆ ก็อาจจะเลือกฟังพระธรรม แต่ถ้าเป็นเรื่องสนุกสนานมาก เพลิดเพลินจริงๆ คิดดู ในขณะนั้นจะฟังพระธรรมหรือจะเลือกสนุกสนานเพลิดเพลิน

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้มีวิริยะ มีความตั้งใจมั่น และมีความอดทน

    อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อรรถกถาอาสีวิสสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

    ในคำว่า วิริยารมฺภสฺเสตํ อธิวจนํ นี้ เพื่อแสดงถึงการทำความเพียรทางจิต

    ท่านผู้ฟังคงเคยเพียรทางกายมามากแล้ว เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เป็นเรื่อง ความเพียรทางจิต เพราะว่าเป็นเรื่องของการอบรมเจริญกุศล

    พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้

    ผู้ยืนอยู่ฝั่งนี้อันน่ารังเกียจ ประสงค์จะข้ามห้วงน้ำ

    นี่เป็นคำอุปมาสำหรับทุกท่านที่ต้องการจะดับกิเลส ต้องการเป็นอริยบุคคล ต้องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อุปมาเหมือน ผู้ยืนอยู่ฝั่งนี้อันน่ารังเกียจ ประสงค์จะ ข้ามห้วงน้ำ ต้องเห็นความน่ารังเกียจของฝั่งที่อยู่นี้ก่อน คือ ความติด ความพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และปรารถนาที่จะละคลายความ น่ารังเกียจนี้

    พักอยู่ ๒ - ๓ วัน ค่อยๆ ตระเตรียมเรือ แล้วขึ้นเรือเป็นเหมือนเล่นน้ำ

    นี่เป็นชีวิตของทุกคนหรือเปล่า รู้ว่าหนทางนั้นคืออะไร แต่แม้กระนั้นทั้งๆ ที่ประสงค์จะข้ามห้วงน้ำก็พักอยู่ ๒ – ๓ วัน และบางคนก็ยิ่งกว่า ๒ – ๓ วัน พักไปเรื่อยๆ ๒ – ๓ อาทิตย์ ๒ – ๓ เดือน และบางคนขอเวลาไปถึง ๒ – ๓ ปี ที่จะพัก ที่จะไม่ศึกษาพระธรรม ค่อยๆ ตระเตรียมเรือ นี่ก็ช้า แล้วขึ้นเรือเป็นเหมือนเล่นน้ำ ก็เป็นเรื่องของความตามสบายๆ อยู่เรื่อยๆ

    แม้เมื่อเขาทำอย่างนั้น ก็ยังขึ้นเรือไม่ได้ ย่อมถึงความพินาศ ฉันใด ภิกษุ ผู้ใคร่จะข้ามห้วงน้ำคือกิเลสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ควรทำความเนิ่นช้าว่า เรายังเป็นหนุ่มอยู่ จักผูกแพคือมรรคมีองค์ ๘ ต่อเวลาเราแก่เสียก่อน

    จริงอยู่ ภิกษุเมื่อทำอยู่อย่างนี้ แม้เวลาแก่ก็ยังไม่ถึง ก็ถึงความพินาศ แม้แก่ ก็ยังไม่ถึง ก็ไม่อาจทำได้

    บางคนขอเวลาว่า เอาไว้แก่เสียก่อน แต่ยังไม่แก่ ความแก่ยังมาไม่ถึง สิ้นชีวิตไปก่อนก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ที่รอไว้ ผลัดไป จะไม่ถึงโอกาสนั้นเลย และแม้ว่าบางคนถึงเวลานั้น ก็ไม่อาจทำได้

    ระหว่างที่ยังไม่แก่ก็ปล่อยให้กิเลสมากมายเพิ่มขึ้น เพิ่มพูนท่วมทับ เวลาที่แก่กิเลสก็เพิ่มขึ้นอีกเยอะแยะ อย่างนั้นแล้วปัญญาก็ต้องเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะฉะนั้น ก็ทำไม่ได้

    ควรระลึกถึงภัทเทกรัตตสูตรเป็นต้น แล้วรีบเร่งผูกแพคืออริยมรรคนี้ทันที

    คือ ไม่ให้รอกาลเวลาในการที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือวิริยารัมภกถา คำที่เตือนให้เป็นผู้ที่มีวิริยะ มีความเพียร มีความอุตสาหะ มีความอดทน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ก็บุคคลจะผูกแพ ควรมีมือเท้าบริบูรณ์

    จริงอยู่ คนมีเท้าเป็นโรคพุพอง หรือมีเท้าหงิกง่อย ไม่สามารถจะยืนได้ บุคคลผู้มีมือเป็นแผลเป็นต้น ไม่อาจจับใบหญ้าใบไม้เป็นต้นได้ฉันใด ภิกษุผู้จะผูกแพคืออริยมรรคนี้ก็ฉันนั้น พึงปรารถนาความบริบูรณ์ด้วยเท้าคือศีล และด้วยมือคือศรัทธา

    จริงอยู่ บุคคลผู้ทุศีลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่ตั้งมั่นในพระศาสนา ไม่เชื่อข้อปฏิบัติ ไม่อาจจะผูกแพคืออริยมรรคได้

    อนึ่ง แม้บุคคลผู้มือเท้าบริบูรณ์ แต่ไม่มีเรี่ยวแรง ถูกพยาธิเบียดเบียน ก็ไม่สามารถจะผูกแพได้ ต่อสมบูรณ์ด้วยกำลังเท่านั้นจึงจะสามารถฉันใด แม้คนมีศีล มีศรัทธาก็ฉันนั้น แต่เป็นคนเกียจคร้าน นั่งจมน่าเกลียด ก็ไม่สามารถจะผูกแพ คือมรรคนี้ได้ ผู้ปรารภความเพียรเท่านั้นจึงสามารถ ฉะนั้น ผู้ประสงค์จะผูกแพ คือมรรคนี้ จึงควรปรารภความเพียร

    ฟังดู ถ้าเป็นคนที่ไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะมีตัวตนที่จะทำ ความเพียรอีกแล้ว

    ฉะนั้น การฟังพระธรรม เมื่อฟังแล้วต้องพิจารณาให้สอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎกด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเท่านี้แล้วก็รีบร้อนจะไปปฏิบัติ จะไปทำความเพียร นั่ง ๑๐ วัน ๒๐ วัน นั่นไม่ใช่ความหมายของการอบรมเจริญปัญญา

    ความเพียร คือ เพียรอบรมเจริญปัญญา ซึ่งยากกว่า

    เพียรที่จะเข้าใจชีวิต สภาพธรรมแต่ละขณะในทุกๆ วันตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปนั่งเพียรทำ แต่เพียรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    และข้อความที่ว่า ก็บุคคลจะผูกแพควรมีมือเท้าบริบูรณ์ แสดงให้เห็นว่า การที่อริยมรรคจะเจริญขึ้นหรือจะเกิดได้ ไม่ใช่เป็นคนที่ไม่มีความเข้าใจถูกก็จะสามารถไปอบรมเจริญอริยมรรคได้ แต่ผู้ใดก็ตามที่จะผูกแพ ต้องเป็นผู้มีมือเท้าบริบูรณ์ จริงอยู่ คนมีเท้าเป็นโรคพุพอง หรือมีเท้าหงิกง่อย ไม่สามารถจะยืนได้ เพราะฉะนั้น ก็ผูกแพไม่ได้ ถ้าจะเป็นอย่างนั้น

    บุคคลผู้มีมือเป็นแผลเป็นต้น ไม่อาจจับใบหญ้าใบไม้เป็นต้นได้ฉันใด ภิกษุ ผู้จะผูกแพคืออริยมรรคนี้ก็ฉันนั้น พึงปรารถนาความบริบูรณ์ด้วยเท้าคือศีล และด้วยมือคือศรัทธา

    จะเห็นได้ว่า ในบางพระสูตรแสดงว่าวิตกหรือวิตกเจตสิกเป็นเท้า และ ในบางพระสูตร เช่น ในพระสูตรนี้ แสดงว่าศีลเป็นเท้า เพราะว่าสำหรับศีลมีทั้งที่เป็นกุศลศีล และอกุศลศีล เช่นเดียวกับวิตกเจตสิกซึ่งเป็นปกิณณกเจตสิก เกิดกับจิตเกือบทุกดวง

    สำหรับชีวิตประจำวันของกามาวจรจิต เว้นจิตเพียง ๑๐ ดวงเท่านั้น ที่วิตกเจตสิกไม่เกิดร่วมด้วย คือ เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายวิญญาณ ๒ ดวง นอกจากนั้นแล้ววิตกเจตสิกเกิดกับจิตที่เป็นกามาวจรจิตทั้งหมด คือ ๔๔ ดวง เว้นเพียง ๑๐ ดวง เพราะว่ากามาวจรจิตทั้งหมดมี ๕๔ ดวง แต่ที่เป็นกุศลศีลหรือกุศลวิตก ต้องเป็นในขณะที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องการ เจริญกุศลแล้ว เท้า คือ ศีล และมือ คือ ศรัทธา

    แสดงให้เห็นว่า การเจริญกุศลแต่ละครั้งจะมีแต่เท้าไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจ การงานใดทั้งสิ้น ต้องมีทั้งมือ มีทั้งศีรษะ และมีทั้งอวัยวะต่างๆ ด้วย คือ ต้องอาศัยโสภณธรรมต่างๆ ได้แก่ โสภณเจตสิก เช่น ศรัทธา สติ ปัญญา เป็นต้น กุศลจึงจะเจริญได้ และข้อความต่อไปที่ว่า

    บุคคลผู้ทุศีลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่ตั้งมั่นในพระศาสนา ไม่เชื่อข้อปฏิบัติ ไม่อาจจะผูกแพคืออริยมรรคได้

    อนึ่ง แม้บุคคลผู้มือเท้าบริบูรณ์ แต่ไม่มีเรี่ยวแรง ถูกพยาธิเบียดเบียน ก็ไม่สามารถจะผูกแพได้ ต่อสมบูรณ์ด้วยกำลังเท่านั้นจึงสามารถฉันใด แม้คนมีศีล มีศรัทธาก็ฉันนั้น แต่เป็นคนเกียจคร้าน นั่งจมน่าเกลียด ก็ไม่สามารถจะผูกแพ คือมรรคนี้ได้ ผู้ปรารภความเพียรเท่านั้นจึงสามารถ ฉะนั้น ผู้ประสงค์จะผูกแพ คือมรรคนี้ จึงควรปรารภความเพียร

    เป็นความจริงไหม มือเท้าสมบูรณ์ ไม่ได้เป็นโรคอะไรเลย แต่ขี้เกียจ ก็ไม่สามารถจะผูกแพ คือ อริยมรรคได้ เพราะฉะนั้น แพไม่ใช่ขณะอื่น แต่เป็นขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อข้ามไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง

    การศึกษาพระธรรม จุดประสงค์เพื่อขัดเกลากิเลสทั้งหลายด้วยการเจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้น และการศึกษาพระธรรมทั้งหมดโดยตลอดก็เพื่อให้รู้ว่า แม้กุศลธรรม ก็ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้น กุศลธรรมทั้งหลายที่จะค่อยๆ อบรมให้เจริญขึ้น ก็ได้แก่ โสภณเจตสิกแต่ละชนิด ซึ่งต่างอาศัยกันเกิดขึ้น และค่อยๆ อบรมเจริญขึ้นๆ จนกระทั่งในที่สุดสามารถถึงขั้นบรรลุวิปัสสนาญาณ คือ การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามลำดับขั้น

    นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษา และการฟังพระธรรม คือ เพื่อกุศลทุกประการเจริญขึ้น จนถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และดับกิเลส

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1761


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 199
    8 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ