แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1389


    ครั้งที่ ๑๓๘๙


    สาระสำคัญ

    อรรถสาลินี - ผลของวัณณมัจฉริยะ

    ธรรมมัจฉริยะ (ปริยัติธรรม และปฏิเวธธรรม)

    ส.ส.มัจฉริยสูตรที่ ๙

    ขุ.มหา.คุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๒ - ผู้ไปต่ำ ชื่อว่าผู้ตกต่ำ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๗


    . ขณะที่ทนไม่ได้นั้น มีคุณของคนอื่นเป็นอารมณ์ ใช่ไหม

    สุ. คุณของตน ต้องการให้ตนคนเดียว ถ้าเป็นมัจฉริยะ ทนไม่ได้เพราะควรจะเป็นของเราเท่านั้น ไม่ควรจะเป็นของคนอื่น

    . ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต

    สุ. ต้องเกิดกับโทสมูลจิต เพราะว่าขณะนั้นไม่สบายใจ ไม่ใช่ขณะที่กำลังเพลิดเพลินยินดีด้วยความร่าเริง เพราะฉะนั้น ลักษณะสภาพของจิตที่กำลังไม่สบายใจ ขณะนั้นต้องเป็นโทสมูลจิต ประทุษร้ายตนเองผู้ตระหนี่

    . โทสะนี่ประทุษร้ายต่ออารมณ์ ไม่ใช่หรือ

    สุ. โทสะเกิด ประทุษร้ายใคร ต้องตัวเองก่อน ใช่ไหม

    . โทสะ ไม่พอใจ ไม่ปรารถนาในอารมณ์

    สุ. เป็นสภาพที่ไม่ยินดี ไม่ต้องการ

    . ขณะนั้นมีคุณของตัวเองเป็นอารมณ์

    สุ. ไม่ต้องการให้คนอื่นเหมือนตน เพราะมีมัจฉริยะว่า ควรเป็นของตนเท่านั้น ไม่ควรเป็นของคนอื่น

    ลักษณะของริษยากับมัจฉริยะคล้ายคลึงกันมาก เพราะฉะนั้น ก็เกิดดับสลับกันได้ คนที่ยังมีความสำคัญตน ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ก็มีทั้งริษยา มีทั้งมัจฉริยะ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นริษยาหรือมัจฉริยะ ซึ่งเกิดสลับกันได้

    ความดีนี่น่าชม แต่มัจฉริยะชมไม่ได้ ทนไม่ได้ ในขณะนั้นเป็นลักษณะอาการของมัจฉริยะก็ได้ หรือเป็นลักษณะของริษยาก็ได้ ถ้าคิดว่าคนอื่นกำลังจะมีชื่อเสียง มีคนนับถือสักการะมาก เป็นสมบัติของเขา ใช่ไหม ก็ไม่พอใจที่จะให้เขาได้รับสมบัติอย่างนั้น แต่ถ้าคิดถึงตนว่า ควรจะเป็นของเราเท่านั้น คนอื่นไม่ควรจะเหมือนเรา ขณะนั้นก็เป็นมัจฉริยะ

    ผลของวรรณมัจฉริยะ ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

    ด้วยความตระหนี่ผิวพรรณแห่งสรีระ และการสรรเสริญคุณความดี และ ด้วยความตระหนี่ปริยัติธรรม (รวมธรรมมัจฉริยะด้วย) เขาย่อมจะพิจารณาผิวพรรณหรือสรรเสริญคุณความดีของตนเท่านั้น ในผิวพรรณหรือคุณความดีของคนอื่นก็จะกล่าวในข้อเสียนั้นๆ ว่า ผู้นี้จะสวยงามอย่างไร หรือจะมีคุณความดีอย่างไร

    เคยได้ยินคำอย่างนี้บ้างไหม เวลาที่มีใครชมใคร อีกคนก็บอกว่า ไม่สวย ไม่ดี ซึ่งขณะนั้นควรพิจารณาว่า เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดขึ้นทำให้ไม่สามารถจะทนได้แม้แต่การร่วมกล่าวคำชมด้วย ถ้าผู้นั้นเป็นคนที่ควรจะชมจริงๆ แต่คำพูดที่ออกมากลับเป็นว่า คนนี้จะสวยงามอย่างไร หรือว่าจะมีคุณความดีอย่างไร

    มัจฉริยะที่ ๕ คือ

    ธรรมมัจฉริยะ

    คำว่า ธรรม ได้แก่ ปริยัติธรรมและปฏิเวธธรรม ในธรรมทั้ง ๒ ประการนั้น พระอริยสาวกทั้งหลายย่อมไม่ตระหนี่ปฏิเวธธรรม ย่อมปรารถนาการที่โลกพร้อมทั้งเทวดาได้แทงตลอดในธรรมที่ตนแทงตลอดแล้ว อนึ่ง ย่อมปรารถนาว่า ขอคนอื่นจงรู้ปฏิเวธนั้น ก็ชื่อว่าธรรมมัจฉริยะย่อมมีได้เฉพาะในธรรมอันเป็นตันติภาษา บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมอันเป็นตันติภาษา ย่อมรู้คัณฐะคือพระบาลีหรือกถามรรคคือ คำประพันธ์อรรถกถาแห่งบาลีที่ยังลี้ลับอันใด ย่อมเป็นผู้ไม่ประสงค์จะให้ผู้อื่นรู้คัณฐะหรือกถามรรคนั้น แต่ผู้ใดพิจารณาบุคคล ไม่ให้ด้วยการอนุเคราะห์ธรรม หรือพิจารณาธรรม ไม่ให้ด้วยการอนุเคราะห์ บุคคลผู้นี้ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ตระหนี่ธรรม

    แสดงให้เห็นว่า พระโสดาบันบุคคลดับมัจฉริยะเป็นสมุจเฉท ไม่มีการตระหนี่ว่า ให้ท่านเองเป็นผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเท่านั้น แต่ท่านย่อมปรารถนาให้บุคคลอื่นๆ ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย เพราะว่ายากแสนยากที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่เป็นสิ่งที่ควรจะหวงเลย ใครก็ตามที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ย่อมควรแก่การที่จะยินดีด้วย

    เพราะฉะนั้น ธรรมมัจฉริยะ หมายเฉพาะปริยัติธรรม คือ ผู้ที่ยังมีความ หวงแหนไม่ต้องการที่จะให้คนอื่นรู้ปริยัติธรรม เพราะว่าคำประพันธ์หรืออรรถกถาหรือบาลีที่ยังลี้ลับอันใด คือ บุคคลนั้นเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจได้ แต่ไม่อธิบาย ไม่ชี้แจงให้บุคคลอื่นได้เข้าใจด้วย ขณะนั้นชื่อว่าธรรมมัจฉริยะ แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่สมควรแก่การที่จะชี้แจงธรรม เพราะจะทำให้เกิดความทะนงตน ทำให้เกิดความโอ้อวด และทำลายศรัทธาของพุทธบริษัท ซึ่งย่อมเป็นโทษภัย ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้วไม่ชี้แจง ไม่แสดงธรรมส่วนละเอียดนั้น ก็ไม่ชื่อว่าธรรมมัจฉริยะ

    ธรรมมัจฉริยะ เป็นความรู้สึกที่ไม่อยากให้คนอื่นเก่งเท่า ทนไม่ได้ที่จะให้คนอื่นได้มีการศึกษาพระปริยัติธรรม หรือว่ามีความรู้ มีความสามารถเท่ากับตน เพราะฉะนั้น ถ้ามีความรู้ มีความสามารถ และผู้ที่จะรับคำชี้แจงไม่เป็นโทษ ก็ควรช่วยกันให้บุคคลอื่นได้มีความรู้มีความสามารถมากๆ เพราะยิ่งมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมากๆ ก็ยิ่งดี

    สำหรับผลของธรรมมัจฉริยะ คือ

    ย่อมจะเป็นผู้มีผิวพรรณทรามและเป็นใบ้น้ำลาย อีกนัยหนึ่ง ด้วยความตระหนี่ธรรม จะบังเกิดในนรกถ่านเพลิง

    . พระโสดาบันละมัจฉริยะได้เป็นสมุจเฉท แต่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขา เมื่อลูกหรือหลานตาย ก็ปล่อยโฮออกมาทันทีด้วยความโศกเศร้าเสียใจ เป็นอันว่า พระโสดาบันยังละไม่ได้ ใช่ไหม

    สุ. พระโสดาบันบุคคลละโทสมูลจิตไม่ได้ แต่ละอิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะได้

    . การที่ท่านทั้งสองร้องห่มร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้ว ไม่ใช่เพราะความเสียดายหรือ

    สุ. ความเสียใจที่ต้องพลัดพรากจากผู้เป็นที่รัก ไม่ใช่มัจฉริยะ ถ้าท่าน เป็นเศรษฐี และท่านก็ไม่อยากให้คนอื่นเป็นเศรษฐีเหมือนท่าน นี่คือมัจฉริยะ

    . แต่ลูกหลานก็เป็นของท่าน ใช่ไหม

    สุ. ลูกหลาน คือ ผู้เป็นที่รัก เมื่อพลัดพรากจากผู้เป็นที่รัก ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องโศกเศร้าเสียใจ

    . อาวาสมัจฉริยะ หมายถึงที่อยู่ที่อาศัย ที่ท่านบอกว่า เก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ เหมือนเก็บในนรก คำว่า นรก ในที่นี้หมายถึงอะไร ใครได้ ใครรับ

    สุ. นรกเป็นอบายภูมิภูมิหนึ่ง เพราะว่าอกุศลกรรมที่เป็นเหตุมี เพราะฉะนั้น เมื่ออกุศลกรรมบถใดครบองค์ ก็สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดใน อบายภูมิหนึ่งอบายภูมิใดได้ คือ เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ซึ่งทุกคนก็มองเห็นว่า ไม่ใช่มีแต่มนุษย์เท่านั้นในโลกนี้ สัตว์ดิรัจฉานก็มี ซึ่งการปฏิสนธิเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็เป็นผลของกรรม แต่ต่างกับกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น ดิรัจฉานเป็น ภูมิหนึ่งในอบายภูมิ ๔ นอกจากนั้น ก็มีเปรต มีอสุรกาย และมีนรกด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีมัจฉริยะที่ถึงกับทำให้กระทำอกุศลกรรมบถครบองค์ ก็ย่อมเป็นปัจจัยทำให้เกิดในอบายภูมิหนึ่งอบายภูมิใดได้ ไม่อย่างนั้นผลของกรรมก็ต้องไม่มี เมื่อผลของกรรมไม่มี ก็จะทำอกุศลกรรมกันเท่าไรก็ได้ แต่เพราะว่ากรรม เป็นเหตุให้เกิดผลตามควรแก่กรรมนั้นๆ คือ ถ้าเป็นกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิด กุศลวิบาก ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความ ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต อาทิตตวรรคที่ ๕ มัจฉริยสูตรที่ ๙ ข้อ ๑๔๘

    เทวดาทูลถามว่า

    คนเหล่าใดในโลกนี้เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ วิบากของคนพวกนั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขาจะเป็นเช่นไร ฯ ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉนข้าพระองค์จึงจะรู้ความข้อนั้น ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    คนเหล่าใดในโลกนี้เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือยมโลก ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ ก็เกิดในสกุลคนยากจน ซึ่งจะหาท่อนผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก คนพาลเหล่านั้นต้องประสงค์สิ่งใดแต่ผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้แม้สิ่งนั้นสมความปรารถนา นั่นเป็นผลในภพนี้ และภพหน้าก็ยังเป็นทุคติอีกด้วย ฯ

    เทวดาทูลถามว่า

    ก็ข้อนี้ข้าพระองค์เข้าใจชัดอย่างนี้ (แต่) จะทูลถามข้ออื่นกะพระโคดม ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า วิบากของชนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขาจะเป็นเช่นไร ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉนข้าพระองค์จึงจะรู้ความข้อนั้น ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า ชนเหล่านี้ย่อมปรากฏในสวรรค์อันเป็นที่อุบัติ หากถึงความเป็นมนุษย์ย่อมเกิดในสกุลที่มั่งคั่ง ได้ผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานโดยไม่ยาก พึงมีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหาสะสมไว้ บันเทิงใจอยู่ นั่นเป็นวิบากในภพนี้ ทั้งภพหน้าก็เป็นสุคติ ฯ

    มีข้อความบางตอนที่ควรจะได้พิจารณา คือ ผู้ที่มีความตระหนี่เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา หมายถึงเมื่อตระหนี่แล้วจะไม่อยู่เฉยๆ เวลาที่ความตระหนี่มีกำลังขึ้น จะทำให้เกิดการกีดกันด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง เช่น เวลาที่เห็นพระภิกษุไปบิณฑบาต ความตระหนี่อาจจะทำให้ถึงกับกล่าววาจาว่า มาขออะไรตั้งแต่เช้า เป็นไปได้ไหมอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า อกุศลจิตซึ่งไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่ถ้ามีความตระหนี่มาก มีกำลังรุนแรง วาจาก็กล่าวออกไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้ เพราะวาจาเกิดจากจิต ถ้าจิตเป็นกุศล วาจาก็เป็นกุศล จิตเป็นอกุศล วาจาก็เป็นอกุศล

    ท่านผู้ฟังที่ไม่เคยกล่าววาจาอย่างนี้ ก็รู้ได้ว่าท่านไม่เคยมีอกุศลจิตอย่างนี้ แต่ถ้าได้ยินใครกล่าววาจาอย่างนี้ ก็สะท้อนถึงสภาพจิตของบุคคลนั้นได้ว่า จิตใน ขณะนั้นเป็นอกุศลที่มีกำลัง ซึ่งดีแต่ว่าเขา ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้เลย แต่ก็ยังเป็นปัจจัยให้โทสมูลจิตเกิด ทำให้เกิดวจีทุจริตอย่างนั้นได้

    สำหรับผู้ที่ตระหนี่ ก็จะเกิดในสกุลคนยากจน เพราะเหตุจากความตระหนี่ของตน จะหาท่อนผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก แต่สำหรับผู้ที่ปราศจากความตระหนี่ ก็ตรงกันข้าม คือ เกิดในสกุลที่มั่งคั่ง ได้ผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานโดยไม่ยาก นอกจากนั้น ยังพึงมีอำนาจแผ่ไปใน โภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหาสะสมไว้ เพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่ตระหนี่ ใครๆ จึงอยากให้คนที่ ไม่ตระหนี่ เนื่องจากคนที่ไม่ตระหนี่ย่อมให้สิ่งอื่นกับคนอื่น คนที่เห็นความไม่ตระหนี่ของบุคคลนั้น ไม่ว่าเขาจะสะสมทรัพย์สมบัติอย่างไรมา เขาก็พอใจที่จะให้กับคนที่ไม่ตระหนี่

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ตระหนี่ มีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์แม้ของผู้อื่นที่หาสะสมมา บันเทิงใจอยู่ ด้วยความไม่ตระหนี่ของตน มีแต่ความสบายใจที่ไม่ตระหนี่ ไม่เดือดร้อนเลย ไม่ว่าคนอื่นจะได้ลาภหรือว่ามีผู้กล่าวสรรเสริญในคุณความดี

    . คนตระหนี่กับคนขี้เหนียว ก็เหมือนกัน และการขี้เหนียวนี่ไม่ใช่หวงไม่ให้คนอื่น แต่ตัวเองจะใช้จ่ายก็ประหยัดมาก การที่หวงสำหรับตัวเอง กินก็ของเลวๆ ใช้ก็ของเลวๆ อย่างนี้เป็นมัจฉริยะด้วยหรือเปล่า

    สุ. เป็น และเป็นอย่างมากด้วย เพราะแม้แต่ตัวเองก็ยังไม่ยอมใช้ อย่าว่าแต่คนอื่นจะมาแตะเลย

    . ถ้าเขาไปต่างจังหวัด ฐานะการเงินของเขาน่าจะนั่งรถไฟชั้นสอง นอน ตู้นอนด้วยก็ได้ แต่เขาเป็นคนขี้เหนียวซื้อตั๋วชั้น ๓ อดหลับอดนอน แต่ไม่เห็นเขาจะมีความทุกข์ใจอะไร ถ้าลูกหลานซื้อตั๋วชั้น ๒ ซื้อตู้นอนให้เขา เขากลับไม่สบายใจ รู้สึกเสียดายเงินที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เขาได้รับความสะดวกสบายได้หลับได้นอน แต่เขากลับไม่สบายใจเพราะความขี้เหนียวของเขา ถ้าไปนั่งชั้นสาม อดหลับอดนอน แต่เขารู้สึกสบายใจ

    สุ. เขาไม่อยากให้ทรัพย์ของเขาสาธารณะไปกับค่ารถไฟ

    . ใช่ แต่ตอนเขาขี้เหนียว เขาสบายใจ

    สุ. ตอนที่ไม่อยากนั้น เป็นตระหนี่ แต่ไม่ได้หมายความว่ามัจฉริยะจะเกิดอยู่ตลอดเวลา ขณะที่พอใจขณะใดเป็นโลภะ กำลังนั่งชั้น ๓ สบายใจ นั่นเป็นโลภะ แต่ถ้าเกิดไม่สบายใจขณะใด ขณะนั้นเป็นโทสะ คือ ถ้าใครจะให้เขาไปนั่งชั้น ๒ และเอาทรัพย์ของเขาไปสาธารณะกับค่ารถไฟ เขาก็ไม่มีความสุข

    ถ. แต่ตอนที่เขานั่งรถไฟชั้น ๒ ไม่สบายใจ ไม่สบายใจเพราะอะไร

    สุ. มัจฉริยะ ไม่อยากจะให้ทรัพย์ของเขาต้องเสียไปกับค่ารถไฟ เป็นทรัพย์ของเขา ต้องเอาไปให้คนอื่นเป็นค่ารถไฟเพิ่มขึ้น

    . ตอนที่นั่งชั้นสองไม่สบายใจ เป็นมัจฉริยะ

    สุ. ขณะที่ไม่สบายใจ ต้องเป็นโทสมูลจิต พอใจเป็นโลภมูลจิต ขณะที่ใดที่เป็นโลภมูลจิต ขณะใดที่เป็นโทสมูลจิต สังเกตได้จากความรู้สึก ถ้าสบายใจนั่งชั้น ๓ ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ถ้าไม่สบายใจนั่งชั้น ๒ เป็นโทสมูลจิต เป็นเรื่องสภาพของจิต

    ขุททกนิกาย มหานิทเทส คุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๒ ข้อ ๔๒ มีข้อความว่า

    คำว่า สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมอันไม่เสมอ มีความว่า คำว่า ตกต่ำ คือ แม้สัตว์ผู้ไปต่ำ ชื่อว่าผู้ตกต่ำ แม้ผู้มีความตระหนี่ ก็ชื่อว่าผู้ตกต่ำ ผู้ไม่เชื่อถือคำ ถ้อยคำ เทศนา คำสอนของพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ชื่อว่าผู้ตกต่ำ

    ผู้ไปต่ำ ชื่อว่าผู้ตกต่ำอย่างไร สัตว์ผู้ไปต่ำ คือ สัตว์ที่ไปสู่นรก ไปสู่ดิรัจฉานกำเนิด ไปสู่เปรตวิสัย ชื่อว่าไปต่ำ ผู้ไปต่ำอย่างนี้ จึงชื่อว่าผู้ตกต่ำ

    ทุกท่านจะไปต่ำ หรือจะไปไม่ต่ำ ก็พิจารณาได้จากข้อความที่กล่าวนี้

    เพราะฉะนั้น ท่านที่ตระหนี่ เป็นผู้ที่ไปต่ำ เป็นผู้ที่ตกต่ำ เพราะว่าเป็นผู้ที่ ไม่เชื่อถือคำ ถ้อยคำ เทศนา คำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงแสดงให้ละกิเลส ทุกประเภท น่าคิดว่า ทำไมพระโสดาบันละอิสสาและมัจฉริยะได้เป็นสมุจเฉท เพราะว่าวิปัสสนาญาณทุกๆ ญาณ ยกเว้นสัจจานุโลมิกญาณ เป็นกัมมัสสกตาญาณ

    การเป็นผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ด้วยความจงใจ หรือต้องการที่จะรู้เฉพาะสภาพธรรมบางอย่าง หรือไม่คิดว่าจะต้องสร้าง สภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดขึ้นก่อนจึงจะรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีกัมมัสสกตาญาณ ผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น จึงเป็นผู้ที่มีกัมมัสสกตาญาณ

    ขณะนี้กำลังเห็น ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงบังคับบัญชาได้ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ด้วยการศึกษาทราบว่า เป็นจักขุวิญญาณ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก ในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพที่เห็นจะรู้ได้เลยว่าบังคับบัญชาไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดี เสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงเล็ก เสียงใหญ่ เสียงเบา เสียงดังอย่างไรก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๑๓๘๑ – ๑๓๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564