แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1433


    ครั้งที่ ๑๔๓๓


    สาระสำคัญ

    องฺ.ทุก.พาลวรรคที่ ๓ - คน ๒ จำพวกนี้ย่อมกล่าวตู่ตถาคต

    อถ.ทุก.อรรถกถาสูตรที่ ๖

    มโนรถปุรณี - อธิบายสรณคมน์ ๒ ประเภท


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๘


    สำหรับศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยการพิจารณาไตร่ตรองโดยรอบคอบนั้น ทำให้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคได้

    อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต พาลวรรคที่ ๓ ข้อ ๒๖๘

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ย่อมกล่าวตู่ตถาคต ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนเจ้าโทสะซึ่งมีโทษอยู่ภายใน ๑ คนที่เชื่อโดยถือผิด ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ ย่อมกล่าวตู่ตถาคต ฯ

    การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคย่อมมีได้ ถ้าไม่พิจารณาพระธรรมโดยละเอียดลึกซึ้งจริงๆ เพราะแม้ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนก็ยังเข้าใจพระธรรมผิดได้ ขณะใดที่ เข้าใจผิด คิดผิด ปฏิบัติผิด คิดว่าคำสอนที่ไม่ถูกต้องนั้นเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นผู้ที่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค

    มโนรถปูรณี อรรถกถา อธิบายว่า

    บทว่า อัพภาจิกขันติ ได้แก่ กล่าวตู่ คือ กล่าวด้วยเรื่องไม่จริง

    บทว่า โทสันตโร แปลว่า มีโทสะตั้งอยู่ในภายใน

    จริงอยู่ คนเช่นนี้ย่อมกล่าวตู่พระตถาคต เช่น สุนักขัตตลิจฉวีกล่าวว่า อุตตริมนุสสธรรมของพระผู้มีพระภาคหามีไม่

    บทว่า สัทโธ วา ทุคคหิเตน ความว่า หรือว่าผู้ที่มีศรัทธาที่เว้นจากญาณ ถือผิดๆ กล่าวตู่พระตถาคตโดยนัยเป็นต้นว่า ขึ้นชื่อว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นโลกุตตระ ทั้งพระองค์ พระอาการ ๓๒ มีพระเกสาเป็นต้นของพระองค์ ล้วนเป็นโลกุตตระทั้งนั้น ดังนี้

    นี่เป็นการกล่าวตู่ด้วยโทสะประการหนึ่ง และด้วยศรัทธาซึ่งเว้นจากญาณ คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและพูดในสิ่งที่ไม่จริง เช่น สุนักขัตตลิจฉวีกล่าวว่า อุตตริมนุสสธรรมของพระผู้มีพระภาคหามีไม่

    เมื่อสุนักขัตตลิจฉวีไม่ใช่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมไม่สามารถรู้ได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นธรรมที่เป็นตามที่ทรงแสดงจริงๆ เช่น สังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป เมื่อ ไม่สามารถประจักษ์ได้ก็คิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่มีอุตตริมนุสสธรรม คือ ธรรมที่เหนือมนุษย์ธรรมดาที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม

    หรือในยุคนี้สมัยนี้อาจจะมีท่านที่เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่พระปัญญาที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้น คิดว่าพระองค์คงจะเหมือนคนธรรมดาๆ คำสอนก็สอนง่ายๆ ธรรมดาๆ ให้มีศีล และ ให้งดเว้นจากทุจริต ให้กระทำความดี โดยไม่ต้องอบรมเจริญปัญญาอะไรให้ยิ่งกว่านั้น

    บางท่านอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า พระผู้มีพระภาคสอนไม่ให้กินเนื้อสัตว์ โดยลืมพิจารณาว่า ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์นั้นติดในรสแค่ไหน ไม่ได้สำคัญที่เนื้อสัตว์ แต่สำคัญที่ความพอใจในรส เพราะว่ามีท่านที่พอใจในการที่จะไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่ชวนกันไปแสวงหาอาหารเจที่อร่อยๆ

    เพราะฉะนั้น การที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงธรรมเพื่อดับกิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ไม่ใช่เป็นเรื่องซึ่งใครก็ตามที่ไม่ศึกษาโดยละเอียดและเข้าใจโดยผิวเผินจะประมาณเอาเองว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเช่นนั้นๆ โดยที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

    สำหรับผู้ที่ไม่อยากให้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ ขณะนั้นก็เกิดความไม่พอใจในผู้ที่บริโภคเนื้อสัตว์ ถึงแม้ว่าข้อความในพระไตรปิฎกจะมีว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงห้ามการบริโภคเนื้อสัตว์ ผู้นั้นก็ไม่พอใจที่จะให้พระผู้พระภาค ไม่ทรงห้าม ตามอัธยาศัยของตนเอง

    นี่เป็นสิ่งซึ่งถ้าไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดจริงๆ ย่อมจะกล่าวตู่ พระผู้มีพระภาคได้

    และสำหรับผู้ที่มีศรัทธา แต่ขาดการพิจารณาโดยรอบคอบ ก็กล่าวตู่โดยผิดๆ เป็นต้นว่า ขึ้นชื่อว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นโลกุตตระทั้งพระองค์ พระอาการ ๓๒ มี พระเกสาเป็นต้นของพระองค์ ล้วนเป็นโลกุตตระทั้งนั้น นี่มีความเลื่อมใสศรัทธาจนไม่ได้พิจารณาโดยรอบคอบว่า รูปเป็นโลกุตตระไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เมื่อได้มีโอกาสเกิดมาได้ฟังพระธรรมแล้ว ต้องเป็นผู้พิจารณาโดยรอบคอบ เพื่อที่จะไม่กล่าวตู่พระธรรมด้วย

    สำหรับการเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศล แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะว่าการเป็นมนุษย์สั้นมาก ในยุคนี้สมัยนี้ก็ไม่เกิน ๑๐๐ ปี หรือถ้าจะเกินกว่านั้น ก็เป็นจำนวนที่น้อยมาก และเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้จริงๆ จะย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย เหมือนกับชาติก่อนที่จะย้อนกลับไปเป็นบุคคลก่อนก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อชาตินี้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้กล่าวคำถึงสรณคมน์ ซึ่งก็เฉพาะในขณะที่มีชีวิตอยู่ในชาตินี้เท่านั้น หลังจากสิ้นชีวิตลงแล้ว ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดที่ไหน จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเพื่ออบรมเจริญปัญญาอีกไหม จะมีโอกาสได้กล่าวคำถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งอีกหรือไม่

    มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต อรรถกถาสูตรที่ ๖ อธิกรณวรรคที่ ๒ มีข้อความว่า

    พราหมณ์ผู้หนึ่งไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลถามเหตุที่ทำให้เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก และเหตุให้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบแล้ว พราหมณ์มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง กล่าวสรรเสริญพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคว่า

    พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญดียิ่ง เพราะให้บรรลุคุณ เพราะให้เกิดศรัทธา เพราะให้เกิดปัญญา เพราะมีอรรถ มีพยัญชนะ เพราะบทตื้น เพราะอรรถลึก เพราะสะดวกหู เพราะถึงใจ เพราะไม่ยกตน เพราะไม่ข่มท่าน เพราะเย็นด้วย พระกรุณา เพราะตรัสด้วยปัญญา เพราะเป็นทางที่น่ารื่นรมย์ เพราะข่มศัตรูได้ เพราะสบายแก่ผู้ฟัง เพราะน่าพิจารณา และเพราะเกื้อกูล

    การที่จะกล่าวสรรเสริญพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ต้องแล้วแต่ความรู้สึก ความซาบซึ้งของบุคคลผู้กล่าว ซึ่งพราหมณ์ผู้นั้นได้กล่าวต่อไปว่า

    พระโคดมผู้เจริญให้ข้าพระองค์ผู้หันหลังให้พระสัทธรรม ตกอยู่ในอสัทธรรม ออกจากอสัทธรรมได้ เหมือนคนหงายของที่คว่ำ ทรงเปิดคำสอนที่ถูกมิจฉาทิฏฐิปกปิดจำเดิมแต่ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะอันตรธาน เหมือนเปิดของที่ปิด ทรงทำให้แจ้งซึ่งทางสวรรค์และนิพพานแก่ข้าพระองค์ผู้ดำเนินทางชั่วทางผิด เหมือนบอกทางแก่คนหลง ทรงประกาศธรรมแก่ข้าพระองค์ด้วยทรงชูประทีปคือเทศนา กำจัดความมืดคือโมหะที่ปกปิดพระรัตนตรัยนั้นแก่ข้าพระองค์ผู้จมอยู่ในความมืด คือโมหะ ไม่เห็นรูปแห่งพุทธรัตนะเป็นต้น เหมือนคนส่องประทีปน้ำมันในที่มืด เพราะทรงประกาศธรรมโดยปริยายเหล่านี้ เป็นอันทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย

    เมื่อพราหมณ์ชื่นชมพระเทศนาอย่างนี้แล้ว เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัยประกาศการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

    พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญดียิ่ง เพราะให้บรรลุคุณ เพราะให้เกิดศรัทธา เพราะให้เกิดปัญญา เพราะมีอรรถ มีพยัญชนะ เพราะบทตื้น เพราะอรรถลึก

    บทตื้น คือ เป็นสิ่งธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน แต่เป็นของจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โลภะ โทสะ โมหะ เมตตา อิสสา มัจฉริยะ สภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นสิ่งซึ่งบางท่านกล่าวว่า รู้แล้ว รู้หมดแล้ว พูดแต่เรื่องที่รู้แล้ว แต่ความจริง ไม่ได้พิจารณาในอรรถที่ลึกของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วยการตรัสรู้ของพระองค์

    ข้อความต่อไป อธิบายสรณคมน์ ๒ ประเภท คือ

    โลกียสรณคมน์ ๑ โลกุตตรสรณคมน์ ๑

    สำหรับโลกุตตรสรณคมน์ เป็นสรณคมน์ของพระอริยบุคคลผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ ในขณะมรรคจิต โดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ ด้วยกิจตัดขาดกิเลส

    เพราะฉะนั้น การถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะของ แต่ละบุคคลย่อมต่างกัน สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล เป็นโลกียสรณคมน์ ซึ่งหวั่นไหวและขาดได้ ไม่เหมือนกับโลกุตตรสรณคมน์ของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลซึ่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะมรรคจิต โดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยกิจตัดขาดกิเลส

    ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ จะถึงนิพพานได้ไหม จะสามารถดับกิเลสได้ไหม ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ทุกท่านเป็นผู้ที่ถึงโลกุตตรสรณคมน์ เป็นผู้ไม่หวั่นไหว เพราะว่าได้ประจักษ์แจ้ง อริยสัจธรรม ๔ ด้วยตนเอง และตัดขาดกิเลสได้ในขณะที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ในขณะแห่งมรรคจิต

    สำหรับโลกียสรณคมน์ มีได้ในขณะที่มีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ เพราะว่า

    สรณคมน์นั้น โดยอรรถ ได้แก่ การได้ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสัมมาทิฏฐิที่มีศรัทธาเป็นมูล

    นี่ต้องเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวคำว่า มีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ มีพระธรรมเป็นสรณะ หรือมีพระสงฆ์เป็นสรณะ แต่ไม่มีสัมมาทิฏฐิที่มีศรัทธาเป็นมูล

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มเห็นพระคุณของพระรัตนตรัย ต้องน้อมประพฤติปฏิบัติตามจริงๆ ไม่ใช่เพียงกล่าวคำ แต่ละเลยโดยที่ว่า ตอนเช้าก็กล่าว ตอนเย็นก็กล่าว แต่พระธรรมแสดงว่าอย่างไรบ้างในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ ก็ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดรอบคอบ

    ข้อความต่อไป อธิบายสรณคมน์ว่า

    สรณคมน์นั้นเป็นไปโดยอาการ ๔ คือ โดยการมอบตน ๑ โดยความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า ๑ โดยเข้าถึงความเป็นศิษย์ ๑ โดยการนอบน้อม ๑

    ใน ๔ อย่างนั้น ที่ชื่อว่าการมอบตน ได้แก่ การสละตนถวายแด่พระรัตนตรัยอย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอมอบถวายตนแด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์

    ที่ชื่อว่าความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า ได้แก่ ความเป็นผู้มี พระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้าอย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้ามีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นเบื้องหน้า ขอท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ ดังนี้

    ที่ชื่อว่าเข้าถึงความเป็นศิษย์ ได้แก่ การเข้าถึงความเป็นศิษย์อย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าเป็นอันเตวาสิกของพระพุทธเจ้า ของพระธรรม ของพระสงฆ์ ขอท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้

    ที่ชื่อว่าทำความนอบน้อม ได้แก่ ทำความเคารพอย่างยิ่งในพระพุทธเจ้า เป็นต้นอย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอกระทำอภิวาท การลุกขึ้นรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แด่วัตถุ ๓ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเท่านั้น ขอท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ ดังนี้

    เมื่อทำอาการ ๔ อย่างนี้แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นอันรับสรณคมน์แล้วทีเดียว

    สำหรับการนอบน้อมนั้น มี ๔ อย่าง คือ ด้วยอำนาจญาติ ๑ ภัย ๑ อาจารย์ ๑ ทักขิเนยยบุคคล ๑

    ใน ๔ อย่างนี้ สรณคมน์ย่อมมีได้ด้วยการทำความนอบน้อมแก่ ทักขิเนยยบุคคล มิใช่มีด้วย ๓ อย่างนอกนี้

    คือ ไม่ใช่เพราะด้วยอำนาจญาติ ด้วยอำนาจภัย หรือว่าด้วยอำนาจที่เป็น ครูอาจารย์ อย่างพวกเจ้าศากยะหรือพวกเจ้าโกลิยะก็ตามที่ไหว้พระผู้มีพระภาค ด้วยคิดว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระญาติของเรา ดังนี้ ไม่ใช่สรณคมน์

    อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดที่ไหว้ด้วยความกลัวว่า พระสมณโคดมเป็นผู้ที่พระราชาบูชา มีอานุภาพมาก เมื่อเราไม่ไหว้จะทำความพินาศให้ ดังนี้ ก็ไม่ใช่สรณคมน์ ส่วนผู้ใดที่เคยเล่าเรียนฟังคำสอนใดๆ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคสมัยที่พระองค์เป็น พระโพธิสัตว์ และถึงแม้ว่าพระองค์ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ฟังพระธรรม แต่ถึงอย่างนั้นก็ไหว้เพียงด้วยคิดว่า ท่านผู้นี้เคยเป็นอาจารย์ของเรา หรือว่าเป็นเพียงอาจารย์เท่านั้น ดังนี้ ก็ไม่ใช่สรณคมน์ แต่ผู้ใดไหว้ด้วยคิดว่า ผู้นี้เป็นอัครทักขิเนยยบุคคลในโลก ดังนี้ เป็นสรณคมน์

    สำหรับการไหว้ของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย โดยธรรมเนียมประเพณี ก็ไม่ทำให้การถึงสรณคมน์ขาด เพราะว่าการไหว้บุคคลอื่นของผู้ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาไหว้ได้หลายนัย คือ ไหว้ด้วยคิดว่าผู้นี้เป็นญาติของเรา คือ ไหว้ญาติย่อมไหว้ได้ หรือถึงจะไหว้เดียรถีย์ คือ ผู้ที่มีความเห็นผิด ไม่ใช่เป็นพุทธศาสนิกชน สรณคมน์ก็ไม่ขาด เพราะว่าตามมรรยาทหรือตามธรรมเนียม หรือเมื่อเป็นญาติ แม้ว่ามีความเห็นผิด ก็ไหว้ได้

    บางครั้งการไหว้ด้วยความกลัวภัย เช่น การไหว้พระราชา หรือไหว้บุคคลอื่น เพราะว่ากลัวภัย ไหว้ขอชีวิตต่างๆ อย่างนั้น สรณคมน์ก็ไม่ขาด

    การไหว้ครูอาจารย์ที่สอนศิลปะวิทยาอย่างหนึ่งอย่างใดให้ด้วยคิดว่า ผู้นั้นเป็นครูอาจารย์ สรณคมน์ก็ไม่ขาด

    ในสรณคมน์ ๒ อย่างนั้น โลกียสรณคมน์ย่อมเศร้าหมองโดยไม่รู้ โดยสงสัย หรือว่าโดยรู้ผิดเป็นต้นในพระรัตนตรัย ย่อมไม่มีผลรุ่งโรจน์ ไม่มีผลแผ่ไพศาล ส่วน โลกุตตรสรณคมน์นั้น ไม่มีเศร้าหมอง

    เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทในสมัยนี้ที่มีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ อาจจะไม่รู้ว่า การมีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะของท่านนั้น เศร้าหมองหรือไม่ ถ้าไม่ได้พิจารณาธรรมโดยละเอียด ไม่เข้าใจพระธรรม หรือเข้าใจพระธรรมผิด สรณคมน์ย่อมเศร้าหมอง เพราะว่าไม่ใช่การถึงสรณคมน์จริงๆ เช่น ถ้ายังเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงดับขันธ์ปรินิพพาน ยังประทับอยู่ที่หนึ่งที่ใด ซึ่งบางครั้งที่มีการถวายทาน ก็มีการถวายทานโดยมีพระผู้มีพระภาคเสด็จมารับทานที่ถวายด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ สรณคมน์นั้นก็เศร้าหมองโดยไม่รู้ โดยสงสัย และโดยรู้ผิด ย่อมไม่มี ผลรุ่งโรจน์ ไม่มีผลแผ่ไพศาล เพราะว่าไม่ทำให้ถึงโลกุตตรสรณคมน์ได้

    นอกจากนั้น โลกียสรณคมน์ยังมี ๒ ชนิด คือ ชนิดมีโทษ ๑ ชนิดไม่มีโทษ ๑

    นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ของแต่ละคน ซึ่งถ้าได้พิจารณาจะเข้าใจสภาพธรรมละเอียดขึ้นด้วยความเข้าใจพระธรรมนั่นเอง ถ้าเข้าใจพระธรรมละเอียด สรณคมน์ก็ย่อมเป็นสรณคมน์ที่ไม่มีโทษ แต่ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด ก็เป็นสรณคมน์ชนิดที่มีโทษ

    สำหรับสรณคมน์ขนิดมีโทษ ย่อมมีได้ด้วยการมอบตนในศาสดาอื่นเป็นต้น

    เปลี่ยนใจไม่นับถือพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งอาจจะมีได้ ในวันหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มั่นคงในเหตุผล ในสภาพธรรมจริงๆ

    อีกอย่างหนึ่ง คือ โลกียสรณคมน์ชนิดไม่มีโทษ ย่อมมีได้ คือ ย่อมสิ้นสุดลงด้วยการตาย

    ขณะนี้เป็นมนุษย์ มีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะชั่วในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อตายแล้ว ไม่สามารถรู้ได้ว่า จะมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะอีกหรือไม่ เพราะฉะนั้น การสิ้นสุดหรือการขาดสรณคมน์ด้วยความตาย เป็นสรณคมน์ที่ขาดโดยไม่มีโทษ เพราะว่าไม่มีผล ไม่มีวิบาก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๔ ตอนที่ ๑๔๓๑ – ๑๔๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564