แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1381


    ครั้งที่ ๑๓๘๑


    สาระสำคัญ

    ความยึดมั่นความโกรธ

    สาเหตุของทุกข์

    สัมโมหวิโนทนี ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส - ความมัวเมา

    ขุ.มหา.สารีปุตตสุตตนิทเทส - การถูกติ หรือการถูกตักเตือน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๗


    ข้อความต่างๆ ที่กล่าวถึงในพระไตรปิฎก ควรพิจารณาให้ละเอียดเพื่อจะรู้ว่า แต่ละท่านมีทุกข์ที่เกิดจากเหตุใดบ้าง ถ้าเป็นผู้มีความมัวเมา มีความสำคัญตน มากขึ้น ทุกข์ต้องเพิ่มขึ้น ขอให้พิจารณาย้อนไปถึงความมัวเมาต่างๆ ซึ่งจะเพิ่ม ความทุกข์ตามกำลังของความมัวเมานั้น ๆ

    สัมโมหวิโนทนี ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส มีข้อความที่แสดงถึง ความมัวเมาหลายอย่าง ได้แก่ ความมัวเมาในชาติ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร

    แม้กษัตริย์ก็ย่อมเป็นผู้ที่มัวเมาในชาติได้ว่า บุคคลอื่นเช่นเราไม่มี หรือ ไม่เหมือนเรา ถ้าเป็นผู้ที่มัวเมาอย่างนี้ ลองคิดว่าจะทำให้เกิดทุกข์ได้ไหม ในขณะที่มีความสำคัญตน ขณะนั้นเป็นความยินดีพอใจในสภาพของตนซึ่งมีความสำคัญ ถ้ามีการต้อนรับที่ไม่สมเกียรติ ก็ย่อมเป็นเหตุให้โทสมูลจิตเกิดได้แม้เพียงเล็กน้อย

    พราหมณ์ก็ย่อมจะมีมานะได้ เช่น เราเป็นพราหมณ์กัสสปโคตร เราเป็นพราหมณ์ภารทวาชโคตร เช่นเดียวกันถ้ามีผู้ที่เคารพนับถือน้อยไป ก็อาจเป็นเหตุให้ ขุ่นเคืองใจได้

    นี่เป็นเรื่องที่ทำให้โทสะเกิดทั้งนั้น แม้แพศย์ แม้ศูทร ก็อาจจะอาศัยตระกูลวงศ์ของตนทำให้เกิดมานะขึ้น และเมื่อมีมานะแล้ว ย่อมต้องการให้คนอื่นเห็นในความสำคัญของตน ถ้าขณะใดที่บุคคลอื่นไม่เห็นความสำคัญของตน ขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ คือ โทมนัสเวทนา ซึ่งเป็นโทสมูลจิต

    บางคนเป็นผู้มัวเมาในความไม่มีโรค มีมานะว่า เราไม่มีโรค คนอื่นนอกจากเรามีโรคมาก บางคนก็คิดว่า ขึ้นชื่อว่าพยาธิ แม้เพียงจะผ่านผิวของเราก็ไม่มี

    ลองคิดดูว่า ถ้าเป็นผู้มัวเมาถึงอย่างนั้น เวลาที่เกิดโรคขึ้นแม้ที่ผิวหนังเพียงเล็กน้อย ที่หน้า หรือที่อื่น จะรู้สึกอย่างไร ทุกข์เกิดไหม เกิดแล้ว วันหนึ่งๆ โทมนัสเวทนาเกิดแล้ว นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา ถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็นเลยว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดโทสมูลจิตหรือโทมนัสเวทนาได้

    บางคนก็เป็นผู้ที่มัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว ไม่ค่อยจะนึกถึงความแก่ ซึ่งเป็นของธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีความมัวเมา ไม่ได้คิดล่วงหน้าไว้เลยในเรื่องของความแก่ เมื่อถึงความแก่ชราก็จะเสียใจ

    บางคนเป็นผู้มัวเมาในชีวิต คิดว่าตัวเองจะต้องมีความสุขสบายตลอดไป ไม่ได้ตระเตรียมที่จะพบกับความทุกข์ยากลำบากหรือว่าภัยพิบัติต่างๆ เลย เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดภัยพิบัติขึ้น บุคคลนั้นจะมีความทุกข์โทมนัสมากกว่าผู้ที่ไม่มัวเมา

    บางคนเป็นผู้มัวเมาในลาภ เวลาที่มีลาภหรือได้ลาภก็เย่อหยิ่ง เห็นว่าคนอื่นมีลาภน้อยกว่า เพราะฉะนั้น ถ้าเสื่อมลาภ ก็ต้องโศกเศร้ามากกว่าผู้ที่ไม่มัวเมา หรือ ถ้าคนอื่นได้ลาภมากกว่า ก็จะเสียใจเพราะเคยเป็นผู้ได้ลาภมากกว่าคนอื่น เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจิตใจโดยละเอียดที่จะไม่ให้อกุศลเกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิด โทมนัสเวทนามาก

    บางคนเป็นผู้มัวเมาในสักการะ คือ ของที่ผู้อื่นนำมาบูชา เอามาให้ด้วยเห็นความสำคัญ หรือว่าเห็นคุณความดีต่างๆ เห็นความยิ่งใหญ่ แต่เวลาหมดบุญ ไม่มีใครเหลียวแลเลย เพราะฉะนั้น ทุกข์โทมนัสย่อมมีมาก

    บางคนเป็นผู้มัวเมาในความเคารพ ถึงกับคิดว่า คนทั้งหลายไม่เคารพคนนั้นคนนี้ แต่ทำความเคารพเรา เขาเหล่านั้นเห็นเราแล้วย่อมไหว้ทำความเคารพ เป็นราวกับว่า ฉัตรติดตั้งอยู่ที่หิน นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาความละเอียดของจิตใจ เพราะทุกคนก็กระทำความเคารพเป็นประจำ แต่ถ้าใครสักคนไม่ทำความเคารพทั้งๆ ที่เคยทำความไม่เคารพ ก็อาจจะเกิดขุ่นใจ เคืองใจ นี่คือ ความสำคัญตน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่พิจารณาเห็นว่า เป็นโทษ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มัวเมามากย่อม คิดว่า การที่คนอื่นทำความเคารพตนเองนั้นเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ซึ่งยิ่งเพิ่มความสำคัญขึ้นอีก และเวลาที่คนอื่นไม่เคารพ ลองคิดดูว่าจะโกรธบ่อยๆ ไหม เวลาที่ไม่ได้รับ การเคารพ

    ข้อความในอรรถกถา แสดงความละเอียดต่อไปจนถึง ความเป็นผู้มัวเมาในความเป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นผู้ตัดสินปัญหาของหมู่คณะ หรือแม้ภิกษุที่ไปบิณฑบาตแล้วเดินนำก็มีมานะว่า ผู้อื่นตามตนไปเพราะตนเป็นหัวหน้า เพราะฉะนั้น ถ้าหมดสภาพของความเป็นหัวหน้าแล้วคนอื่นเป็นหัวหน้า ก็ย่อมทำให้เกิดโทมนัสได้

    นอกจากนั้น ก็มีผู้ที่มัวเมาในบริวาร ชอบที่จะมีผู้แวดล้อมมาก ถ้ามีน้อยลง จะรู้สึกอย่างไร และถ้าไม่มีเลยจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเป็นผู้ที่เคยมัวเมาในบริวาร

    นี่คือเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ในวันหนึ่งๆ ซึ่งสามารถที่จะกำจัดได้ ละคลายได้ ถ้าพิจารณาจริงๆ ว่า อกุศลใดเป็นเหตุให้เกิดโทมนัสเวทนานั้นๆ

    และก็มีผู้ที่มัวเมาในโภคสมบัติ

    สำหรับในเรื่องของลาภ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ได้มาเป็นประจำ ได้มาเป็นครั้งคราว แต่สำหรับโภคสมบัติ คือ เงินทองสำหรับใช้สอยเป็นประจำ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มัวเมาในโภคสมบัติซึ่งมีมาก และคิดว่ามากกว่าคนอื่น ถ้าน้อยลงก็ต้องเป็นเหตุให้เกิด ทุกข์โทมนัส

    นอกจากนั้น ก็มีผู้ที่มัวเมาในวรรณะ ได้แก่ ความสวยงามของร่างกาย หรือ ในคุณความดีที่มีผู้สรรเสริญ เช่น ความเป็นพหุสูต หรือมีศีล หรือเป็นผู้รักษาธุดงค์ ถ้าคนอื่นไม่รู้ ก็เสียใจ นี่ก็เป็นเรื่องของความมัวเมาทั้งนั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องติดหรือ มัวเมา เพราะถ้ามัวเมาแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์มากกว่าผู้ที่ไม่มัวเมา

    บางคนเป็นผู้มัวเมาในการศึกษา เป็นผู้มีการศึกษามาก

    บางคนเป็นผู้ที่มัวเมาในปฏิภาณ คือ ความฉลาดในการโต้ตอบ ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ถ้าคนอื่นไม่ยกย่อง ก็ขุ่นใจ

    บางท่านเป็นผู้ที่มัวเมาในรัตตัญญู คือ ความเป็นผู้เก่าแก่ ได้พบเห็นและสันทัดมาในกิจการต่างๆ ถ้าคนอื่นไม่เชื่อหรือไม่เห็นด้วยในความคิด ในความเห็น ในการงานนั้น ก็ขุ่นเคือง

    บางท่านซึ่งเป็นพระภิกษุ ก็เป็นผู้ที่มัวเมาในการถือบิณฑบาตเป็นวัตรว่า เป็นผู้ถือมาตั้งแต่บวช แต่คนอื่นนั้นเพิ่งจะถือก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลอื่นไม่ชื่นชมอนุโมทนาก็เสียใจ

    บางคนก็เป็นผู้ที่มัวเมาในความไม่มีใครดูหมิ่น อาจจะเป็นผู้ที่มีความดี หลายอย่างจนกระทั่งคนอื่นไม่ติ แต่แม้กระนั้นก็ไม่ทำให้บุคคลนั้นไม่มีมานะได้ เพราะแม้ไม่มีใครดูหมิ่น ก็เป็นเหตุให้มีมานะ ทำให้เกิดความมัวเมาได้ว่า เราไม่เคยถูกใคร ดูหมิ่นเลย เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครติเตียนสักนิดเดียว จะรู้สึกเป็นอย่างไร อาจจะเป็นทุกข์หนักกว่าคนซึ่งรู้ตัวเองว่ามีหลายๆ อย่างที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าคนอื่นติ เป็นสิ่งที่ควรจะรับฟัง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรจะขุ่นเคืองใจ

    บางคนก็เป็นผู้ที่มัวเมาในอิริยาบถที่น่าเลื่อมใส ในกิริยามารยาทที่งาม ถ้าเกิดทำอะไรพลาดสักนิดเดียว จะเดือดร้อนไหมสำหรับผู้ที่มัวเมา เป็นต้นว่า ถือชามแกงและอาจจะตกไป หรือช้อนส้อมอาจจะตก ถ้วยแก้วอาจจะตก น้ำเปรอะพื้น อะไรอย่างนี้ ซึ่งไม่เคยกระทำมาก่อน เพราะเป็นผู้ที่มัวเมาในอิริยาบถ แต่ทุกสิ่ง ทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น จะไม่ต้องเป็นทุกข์มาก ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มัวเมา

    นอกจากนี้ ก็มีผู้ที่มัวเมาในอิทธิฤทธิ์ มัวเมาในยศ มัวเมาในศีล มัวเมาในฌานถึงกับคิดว่า คนอื่นไม่ได้ฌานในกาลแม้สักว่าการดื่มน้ำของไก่ คือ เก่งมากเลย คนอื่นสักนิดหนึ่งก็ยังไม่ได้ แม้แต่ชั่วขณะจิตเล็กๆ น้อยๆ ฌานจิตก็เกิดไม่ได้เลย

    บางคนก็มัวเมาในศิลปะ คือ ความสามารถในการงาน

    แต่ความมัวเมาไม่มีวันจบ ยังมีความมัวเมาต่อไปอีก แม้ในความมีทรวดทรงสูง ก็เห็นว่า คนอื่นมีทรวดทรงเตี้ยต่ำ หรือบางคนมีความมัวเมาในความมีทรวดทรงสันทัด ก็เห็นว่า คนอื่นสูงไป เตี้ยไปบ้างก็ได้ หรือเป็นผู้มัวเมาในความเป็นผู้มีทรวดทรงงาม ก็เห็นว่าคนอื่นมีรูปร่างแปลก ไม่น่าชม อะไรๆ ของเขาก็แปลกไปทั้งนั้น ไม่ว่าจะ เป็นคิ้ว เป็นตา เป็นจมูก เป็นปาก แต่ว่าทรวดทรงของเรางามน่าปลื้มใจ น่าเลื่อมใส ถ้าคิดอย่างนี้และเกิดอะไรขึ้นกับทรวดทรงงาม ก็ต้องเสียใจเป็นทุกข์อย่างมาก เพราะมัวเมามาก

    บางคนแม้ไม่ได้มีทรวดทรงงาม แต่ก็ยังมัวเมาในร่างกายที่บริบูรณ์ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แม้เส้นผมก็ไม่มีการที่จะไม่บริบูรณ์

    จะเห็นได้ว่า ยิ่งมัวเมาก็ยิ่งเป็นทุกข์ เพราะสภาพธรรมไม่สามารถดำรงอยู่ได้คงที่ ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดว่าคนอื่นไม่ดีเลย หรือคนอื่นดีกว่าเราไม่ได้ หรือแม้ว่าเขาจะดี ก็คิดว่าสู้เราไม่ได้ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ควรเห็นกิเลสของตนเองและพยายามขัดเกลา

    ต้องมีความตั้งใจจริง เมื่อเห็นความไม่ดีของตนเองแล้ว ต้องตั้งใจจริงๆ ที่จะขัดเกลาด้วย เพราะทุกคนก็รู้ตัวว่าไม่ดี ต้องมีบ้าง ใช่ไหม คงจะไม่มัวเมาไปทั้งวัน ทั้งคืน อาจจะมีสติระลึกได้ถึงความไม่ดีของตนเองบ้าง และถ้าเกิดสติระลึกได้ถึงความไม่ดีของตน ยังไม่พอ ยังต้องตั้งใจจริงๆ ที่จะขัดเกลาอกุศลนั้นๆ ด้วย

    นี่เป็นเรื่องของความทุกข์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า มาจากเหตุหลายอย่าง แต่มีทางที่จะเป็นผู้เบิกบานอิ่มเอิบในกุศล ลดคลายอกุศล ที่เป็นโทสมูลจิตลงได้ ถ้าพิจารณาเหตุที่จะให้เกิดโทสะของแต่ละคนโดยละเอียด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๑๓๘๑ – ๑๓๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564