แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1428


    ครั้งที่ ๑๔๒๘


    สาระสำคัญ

    การให้ผลของอกุศลกรรม มี ๒ กาล

    กัมมปัจจัย คือเจตนาเจตสิก,องฺ.ทุก. ข้อ ๒๗๑ - คติ ๒ อย่าง (นรกและกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน)

    อถ.ทุก. กรรมอันปกปิด

    อถ.อาสีวิสสูตรที่ ๑ - โทษของการเกิด


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๒๘


    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงอกุศลจิตเป็นปัจจัยให้เกิดรูป คือ การกระทำต่างๆ ทางกาย ทางวาจา เพราะว่าเวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น แม้เป็นเพียงอกุศลเพียงเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นอกุศลกรรม คือ ยังไม่ได้เบียดเบียนประทุษร้าย แต่ก็เป็นปัจจัยทำให้กายวาจาไหวไปด้วยอกุศลจิตนั้น เช่น การทำกิจการงานใดๆ ก็ตาม ถ้าสติไม่เกิดจะไม่ทราบเลยว่า ขณะนั้นเป็นไปด้วยความต้องการที่จะกระทำ

    เพียงการนั่งอยู่และลุกขึ้น ก็ด้วยอกุศลจิต คือ ความต้องการที่จะลุกขึ้น เป็นโลภมูลจิต หรือกำลังยืนอยู่ เดินอยู่ และจะนั่งลง ก็เป็นไปด้วยอกุศลจิต หรือกำลังพูดคุยสนทนากัน ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ถ้าสติไม่เกิดจะไม่รู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตได้ คือ เป็นไปด้วยโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง หรือโมหมูลจิต เป็นส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน

    นี่เป็นสิ่งที่สติควรจะระลึก เพราะว่าได้ศึกษาเรื่องของอกุศลจิตแล้ว ซึ่ง วันหนึ่งๆ ก็มีอกุศลจิตมาก แต่เมื่อไรจะระลึกลักษณะของอกุศล ขณะไหนได้ทั้งนั้น ทันทีที่หยิบหนังสือพิมพ์ขึ้น ถ้าสติระลึกจะรู้ลักษณะของความต้องการในขณะนั้นว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    อกุศลซึ่งเกิดขึ้นแต่ละขณะแม้ว่าจะดับไป ก็จะสะสมสืบต่ออยู่ในจิตเรื่อยๆ เป็นปัจจัยให้มีอกุศลจิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งบางท่านอาจจะสงสัยว่า โลภะวันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือบางคนอาจจะไม่คิดเลย ก็มีโลภะไปตลอด ทั้งทางตา ที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน

    ถ้าก่อนๆ นี้ไม่เคยมีโลภะ หรือดับโลภะหมดแล้ว โลภะก็ไม่เกิด แต่วันนี้เอง ที่มีโลภะ ย่อมแสดงว่าโลภะเคยมีแล้วในอดีต สะสมสืบต่อเป็นปัจจัยทำให้โลภะในวันนี้เกิดอีก และโลภะวันนี้ที่เกิดแล้ว แม้ว่าจะดับ ก็ไม่ได้ดับสนิทเป็นสมุจเฉท ยังสะสมสืบต่อที่จะให้เกิดโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิตข้างหน้าอีกได้

    ในขณะที่สติระลึก ขณะไหนก็ได้ กำลังรับประทานอาหาร ถ้าสติระลึกจะเป็นลักษณะของอกุศลจิตในปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อใดอกุศลเหล่านั้นมีกำลังแรงจนล่วงทุจริตกรรมเป็นกายทุจริต วจีทุจริต หรือมโนทุจริตแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น

    การให้ผลของอกุศลกรรมมี ๒ กาล คือ ในปฏิสนธิกาล ขณะเกิดขณะหนึ่ง และในปวัตติกาล หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้ว เพราะฉะนั้น อกุศลกรรมที่ทำไปแล้ว มีโอกาสให้ผลทั้งทำให้ปฏิสนธิคือเกิดขึ้นในอบายภูมิ หรือเป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้นหลังจากที่ปฏิสนธิ

    ด้วยเหตุนี้ เมื่อปฏิสนธิแล้วบางคนก็มีทุกข์มากกว่าคนอื่นได้ แล้วแต่ว่า ได้กระทำอกุศลกรรมอะไรมาที่จะทำให้ได้รับวิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว

    บางคนอาจจะสงสัยว่า อกุศลจิตที่ดับไปนานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ยังสามารถเป็นปัจจัยทำให้อกุศลจิตในขณะนี้เกิดขึ้นอีก หรือสามารถเป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากในขณะนี้เกิดขึ้นทางตา คือ เห็นอารมณ์ต่างๆ ทางหูได้ยินเสียงต่างๆ ได้อย่างไร ในเมื่อตัวเหตุดับไปแล้ว

    ขอให้คิดถึงสิ่งที่เป็นรูปวัตถุ น้ำตาลมาจากไหน ต้องมีแหล่งที่ผลิตให้เกิดเป็นน้ำตาลขึ้น ใช่ไหม แต่ตอนที่เป็นต้นอ้อย ก็ยังไม่เห็นว่าจะเป็นเม็ดน้ำตาลขึ้นมาได้ ต่อเมื่อผ่านกรรมวิธีต่างๆ ได้เหตุปัจจัยต่างๆ จึงมีสิ่งที่เกิดจากต้นอ้อยคือน้ำตาลได้ ฉันใด วิบากจิตทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็สืบเนื่องมาจากการสะสมของอกุศลจิตและอกุศลกรรมในอดีตนั่นเอง

    หรือถ้ามองดูพืชพรรณไม้ต่างๆ จะเห็นว่า เป็นส่วนประกอบของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้นเอง แต่ทำไมจึงมีรสต่างกัน มีรูปต่างกัน มีกลิ่นต่างกัน เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเป็นสภาพที่วิจิตรยิ่งกว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และการสะสมของจิตของแต่ละบุคคลก็วิจิตรมากจริงๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น และมีการรับผลของกรรม จะเห็นได้ว่า ชีวิตของแต่ละคนนั้น ก็ต่างกันไปตามกรรมที่ได้สะสมมา

    สิ่งที่ควรเข้าใจเพิ่มเติม คือ เจตสิกที่เป็นเหตุ ไม่ใช่กรรม เพราะว่ากรรมได้แก่ เจตนาเจตสิก เวลาที่โลภมูลจิตเกิด มีทั้งเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นอัญญสมานาเจตสิก มีโลภเจตสิก และมีโมหเจตสิก ซึ่งเป็นอกุศลเหตุเกิดด้วย แต่สภาพที่เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้เกิดอกุศลวิบาก ต้องได้แก่เจตนาเจตสิก

    สำหรับอกุศลเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ คือ โลภเจตสิกก็ดี โมหเจตสิกก็ดี ไม่ใช่ว่า ไม่เป็นปัจจัย เป็นปัจจัยแต่ไม่ใช่เป็นกัมมปัจจัย ถ้าใช้คำว่า เหตุปัจจัย ต้องหมายถึงเจตสิกที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ผลเกิด แต่ถ้าใช้คำว่า กัมมปัจจัย ต้องหมายถึงเจตนาเจตสิกเป็นปัจจัยทำให้สภาพธรรมที่เป็นผลหรือวิบากเกิด

    เพราะฉะนั้น การที่เจตสิกแต่ละดวงต่างกัน ก็ทำให้การเป็นปัจจัยของเจตสิก นั้นๆ ต่างกันด้วย และเจตสิกซึ่งเป็นอกุศลเหตุก็เกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น แต่ไม่เกิดกับอกุศลวิบากจิต ฉะนั้น อกุศลวิบากจิตจึงไม่มีเหตุปัจจัยเกิดร่วมด้วย และถ้าศึกษาละเอียดต่อไปจะเห็นว่า วิบากฝ่ายกุศล มีเหตุปัจจัยเกิดร่วมด้วย

    ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียดขึ้น และคิดให้ละเอียดรอบคอบลึกซึ้ง จะเห็นสภาพที่เป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลายซึ่งเกิดร่วมกันได้

    เวลาที่อกุศลวิบากเกิดขึ้น มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม มี

    ถ้าศึกษาเรื่องของปัจจัยจะทราบว่า เจตนาที่เกิดกับวิบาก เป็นชาติวิบาก เป็นสหชาตกัมมปัจจัย เกิดร่วมกันกับเจตสิกอื่นๆ ทำกิจขวนขวายในกิจของวิบากนั้นๆ เท่านั้นเอง แต่ไม่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยที่จะทำให้ผลข้างหน้าเกิดขึ้น เพราะว่าวิบากจิตเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อวิบากเกิดขึ้นและดับไปก็จบ หมดเรื่องของวิบากนั้น เพราะวิบากไม่ใช่กรรมที่จะทำให้วิบากเกิดได้

    อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ข้อ ๒๗๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คติ ๒ อย่าง คือ นรกและกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง อันผู้มีการงานลามกพึงหวังได้

    ผู้ที่มีการงานลามก คือ ผู้ที่กระทำทุจริตกรรม

    ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อธิบายว่า

    บทว่า ปฏิจฉันนกัมมันตัสสะ ได้แก่ ผู้มีการกระทำอันเป็นบาป เพราะคนทั้งหลายย่อมทำบาปโดยอาการปกปิด แม้หากทำโดยอาการไม่ปกปิด บาปกรรมก็ได้ชื่อว่ากรรมอันปกปิดอยู่นั่นเอง

    มีใครเห็นกรรมในขณะนี้บ้าง หรือในขณะที่อกุศลกรรมทางกาย ทางวาจาเกิด เช่น ในขณะที่มีผรุสวาจา จะรู้ได้ไหมว่าขณะนั้นเป็นอกุศลกรรม มีเจตนาที่จะเบียดเบียนให้ผู้อื่นเกิดความเดือดร้อน ไม่สบายใจ เป็นทุกข์

    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่เห็นยาก รู้ยาก ว่าขณะนั้นเป็นกรรม เพราะในขณะที่อกุศลจิตเกิด มีอวิชชาหรือโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยทำให้ไม่สามารถรู้ความจริงในขณะนั้นได้ว่า เป็นอกุศลที่มีกำลังจนถึงกับเป็นอกุศลกรรมแล้ว หรือผู้ที่มีเจตนาทุจริต ไม่ว่าจะทำทุจริตใดๆ ก็ตาม คนทั้งหลายย่อมทำบาปโดยอาการปกปิด ไม่ต้องการให้คนอื่นรู้ในอกุศลกรรมที่ได้ทำ แต่ถึงแม้เป็นการกระทำที่เป็นไปโดยอาการไม่ปกปิด คือ ทำซึ่งๆ หน้า หรือว่าเปิดเผยก็ตาม บาปกรรมนั้นเอง ก็ได้ชื่อว่ากรรมอันปกปิด อยู่นั่นเอง เพราะขณะนั้นผู้ที่กระทำกรรมนั้นไม่เห็นว่าเป็นอกุศลกรรม และยังไม่รู้ว่ากรรมที่เป็นอกุศลกรรมนั้นจะให้ผลเมื่อไร โดยลักษณะใด แสดงให้เห็นว่า บาปกรรมได้ชื่อว่ากรรมอันปกปิดอยู่นั่นเอง

    ส่วนใหญ่เวลาที่ไปตอบปัญหาธรรมมักจะมีผู้ถามว่า ทำอย่างนี้ๆ จะบาปไหม นี่เป็นการยืนยันพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ว่าถูกต้อง คือ ไม่สามารถรู้ได้ว่า การกระทำนี้เป็นบาปหรือเปล่า เพราะว่าบาปกรรมได้ชื่อว่ากรรมอันปกปิดนั่นเอง

    ขณะนี้มีใครรู้ไหมว่า เป็นผลของกรรมอะไร ปกปิดไหม ทางตาที่กำลังเห็นนี้เป็นผลของกรรม แต่ไม่ทราบว่ากรรมอะไรที่ได้ทำแล้ว ในขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นวิบาก เป็นผล ก็ไม่รู้ว่าเป็นผลของกรรมอะไร และถ้าจะกระทำกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ทางกายหรือทางวาจาก็ตาม ก็ยังไม่รู้ว่ากรรมนี้จะให้ผลเมื่อไร ในลักษณะไหน จะให้ผลทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ หรือจะให้ผลหลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว

    นี่เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถรู้ได้ ผู้ที่เกิดมาด้วยความไม่รู้ทุกคน ย่อมไม่เห็นโทษของการเกิดเลยว่า ทันทีที่ปฏิสนธิจิตและกัมมชรูปเกิดนั้นมีโทษอย่างไร ใช่ไหม ทันทีที่เกิดไม่ว่าจะเกิดในภูมิไหนก็ตามก็ไม่รู้ว่า ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกัมมชรูปนั้น มีโทษอย่างไรบ้าง

    อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อาสีวิสวรรคที่ ๔ อาสีวิสสูตร ที่ ๑ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระสูตรนี้แก่ภิกษุผู้เจริญสมณธรรม มีทุกขลักษณะเป็นอารมณ์ ข้อความในอรรถกถามีว่า

    จริงอยู่ อุคฆฏิตัญญูบุคคลจักบรรลุพระอรหัตด้วยยกหัวข้อแห่งพระสูตรขึ้นเท่านั้น วิปัญจิตัญญูบุคคลบรรลุพระอรหัตด้วยการแจกหัวข้อธรรมโดยพิสดาร เนยยบุคคลกล่าวถึงพระสูตรนั้นบ่อยๆ ใส่ใจโดยแยบคาย คบหาเข้าใกล้กัลยาณมิตร จึงจักบรรลุพระอรหัต สำหรับปทปรมบุคคล พระสูตรนี้จักเป็นเครื่องอบรมบ่มบารมีในอนาคตแล

    พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนี้ ถ้าใครเป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคลที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์โดยเร็ว ก็สามารถบรรลุได้เพียงยกหัวข้อแห่งพระสูตรนี้ขึ้นเท่านั้น ถ้าเป็นผู้ที่ต้องอาศัยพระธรรมเทศนามากกว่านั้น คือ เป็นวิปัญจิตัญญูบุคคล จะบรรลุพระอรหัตด้วยการแจกหัวข้อธรรมโดยพิสดาร ถ้าเป็นเนยยบุคคลจะต้องกล่าวถึงพระสูตรนี้บ่อยๆ เพื่อให้ใส่ใจพิจารณาโดยแยบคายและต้องคบหาเข้าใกล้กัลยาณมิตร จึงจะสามารถบรรลุพระอรหัตได้ และสำหรับปทปรมบุคคล พระสูตรนี้จักเป็นเครื่องอบรมบ่มบารมีในอนาคต เพราะว่าพระสูตรนี้กล่าวถึงโทษของการเกิด

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บทว่า จัตตาโร อาสีวิสา ความว่า อสรพิษ (งู) ๔ จำพวก คือ กัฏฐมุขะ ปูติมุขะ อัคคิมุขะ สัตถมุขะ

    ไม่ได้อยู่ไกล กำลังอยู่ในตัวทุกคน แต่ยังไม่รู้ความจริงเท่านั้นเองว่า งู ๔ ตัวนั้นได้แก่ รูปซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต

    ในงู ๔ จำพวกนั้น ทั่วเรือนร่างของคนที่ถูกงูกัฏฐมุขะกัด จะแข็งกระด้าง เหมือนไม้แห้งในข้อต่อทั้งหลาย ข้อต่อจะแข็งกระด้างตั้งอยู่เหมือนเสียบไว้ด้วยหลาวเหล็ก

    ใครเคยมีอาการอย่างนี้บ้างไหม ข้อต่อในร่างกายเคลื่อนไหวไม่สะดวก เป็นเรื่องของธาตุดิน เป็นโทษของธาตุดิน ซึ่งให้โทษเหมือนกับงูกัฏฐมุขะ คือ งูปากไม้ กัด

    เรือนร่างของผู้ถูกงูปูติมุขะกัด ก็จะมีน้ำหนองไหลเยิ้มอยู่เหมือนขนุนสุกเน่า เป็นดั่งน้ำที่เขาใส่ไว้ในหม้อเกรอะ

    บางท่านอาจจะกำลังเป็นอยู่ แล้วแต่โรค เป็นพิษของธาตุน้ำ

    ทั่วเรือนร่างของผู้ถูกงูอัคคิมุขะกัด จะไหม้กระจายไป เป็นเหมือนกำขี้เถ้า และเป็นเหมือนกำแกลบ

    นี่เป็นโทษของธาตุไฟ

    ทั่วเรือนร่างของผู้ถูกงูสัตถมุขะกัด ย่อมขาดเป็นช่อง เป็นเหมือนสถานที่ฟ้าผ่า และเป็นเหมือนปากที่ต่อเรือนที่ถูกสว่านใหญ่เจาะ

    นี่เป็นโทษของธาตุลม

    อสรพิษทั้ง ๔ จำแนกโดยพิเศษด้วยประการฉะนี้

    ข้อความในพระสูตรนี้ยาว จะขอกล่าวถึงเป็นบางตอนเท่านั้น

    ข้อความต่อไป อุปมาว่า

    พระราชา คือ กรรม ทรงมอบอสรพิษทั้งหลายแก่บุรุษผู้เป็นโจร

    เมื่อได้ทำอกุศลกรรมไว้แล้วก็เหมือนกับผู้ที่เป็นโจร เพราะฉะนั้น เวลาที่ให้ผล กรรมนั้นก็เปรียบเสมือนพระราชา ซึ่งทรงมอบอสรพิษทั้งหลายแก่บุรุษผู้เป็นโจร

    แล้วทรงบอกกล่าวแก่เหล่าอสรพิษที่เขาวางไว้ในกะโปรงทั้ง ๔ กะโปรงว่า นี้เป็นผู้บำรุงเจ้านะ

    คือ บุรุษผู้เป็นโจรนั่นเองจะเป็นผู้ที่บำรุงเลี้ยงงูทั้ง ๔ ตัว

    ลำดับนั้นงูตัวหนึ่งก็เลื้อยออกมา เลื้อยขึ้นตามเท้าขวาของบุรุษนั้น แล้วพัน มือขวาตั้งแต่ข้อมือ แผ่พังพานใกล้ช่องหูขวา นอนกระทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้

    นี่เป็นเสียงของงู

    อีกตัวหนึ่งเลื้อยไปตามเท้าซ้าย แล้วพันมือซ้าย ในที่นั้นนั่นเอง แผ่พังพานที่ใกล้ช่องหูซ้าย แล้วนอนกระทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้

    ตัวที่ ๓ เลื้อยออกขึ้นไปตรงหน้า พันท้อง แผ่พังพาน ใกล้หลุมคอ นอนทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้

    ตัวที่ ๔ เลื้อยไปตามส่วนข้างหลัง พันคอ วางพังพานบนกระหม่อม นอนกระทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้

    ขณะนี้ครบทั้ง ๔ ตัว ตั้งแต่เท้าขวา เท้าซ้าย ที่หน้าท้อง ข้างหลังพันคอไว้หมด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๓ ตอนที่ ๑๔๒๑ – ๑๔๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564