แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1410


    ครั้งที่ ๑๔๑๐


    สาระสำคัญ

    องฺ.ทสก.อวิชชาวิชชาสูตร - อวิชชาเป็นประธานเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย

    ประโยชน์ของการศึกษา - เพื่อรู้เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    อถ. เอก.อถ.เอตทัคควรรค - เรื่องของความคิด (ประวัติของท่านพระมหากัสสปะ)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๘


    วันนี้โมหะเกิดขึ้น ทั้งที่เป็นโมหมูลจิต และโมหเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต และโทสมูลจิตก็เพิ่มขึ้นๆ มีความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมอยู่เรื่อยๆ และจะให้คลายเร็ว ย่อมเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้

    บางท่านยังมีความพอใจที่จะไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ พอใจที่จะนั่งนิ่งๆ คิดว่าอยู่ตามลำพังแล้วจะสงบ ไม่วุ่นวาย ในขณะนั้นก็มีความพอใจที่จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ ก่อนที่จะละอวิชชาหรือความไม่รู้ได้ต้องรู้ว่าอวิชชา ความไม่รู้ มีมากและเป็นพื้น สามารถเกิดกับอกุศลธรรมได้ทุกประเภท แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ละเอียดย่อมไม่สามารถรู้ว่า หนทางใดเป็นทางที่จะละคลายและ ดับกิเลสได้ เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องเป็นผู้ที่สังเกตจริงๆ สังเกตแม้กาย วาจา และใจของตนเองว่า เป็นผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย หรือว่าเป็นผู้ที่มีอโยนิโสมนสิการบ่อยๆ

    อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อวิชชาวิชชาสูตร ข้อ ๑๐๕

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย ความไม่ละอายบาป ความไม่กลัวบาป เป็นของมีมาตามอวิชชานั้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีอวิชชาไม่เห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นผิด ผู้มีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิด ย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการกระทำผิด ผู้มีการกระทำผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด ย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิด ย่อมมีความตั้งมั่นผิด ผู้มีความตั้งมั่นผิด ย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมีความหลุดพ้นผิด ฯ

    ตลอดไปตั้งแต่ต้นจนถึงความหลุดพ้นผิด เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า การฟังพระธรรม การศึกษาธรรมนั้น เพื่อรู้เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ และละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จึงจะเป็นประโยชน์ของการศึกษา เพราะถ้าไม่รู้จุดประสงค์ของการศึกษา อวิชชาก็สามารถกำบังได้อีก ทำให้ไม่เห็นประโยชน์ว่าศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร แม้ในการสนทนาธรรม ซึ่งอาจจะมีในระหว่างมิตรสหาย ถ้าไม่พิจารณาบางครั้งอาจจะไม่รู้สึกว่า การสนทนาธรรมบางขณะไม่ได้เป็นไปเพื่อการเกื้อกูลจริงๆ แต่อาจจะเป็นการฟาดฟันทำลายผู้ที่มีความเห็นผิดหรือมีความเข้าใจผิดให้เห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่เป็นการเกื้อกูลด้วยการแสดงเหตุและผลจนถึงที่สุดโดยละเอียด

    นี่เป็นสิ่งซึ่งต้องเป็นผู้ละเอียด และต้องเป็นผู้ที่สังเกตแม้การคิด การพูด และการกระทำของตนเอง แม้แต่ในเรื่องของการศึกษาธรรมและการสนทนาธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้ามีความคิดผิด หรือการดำริผิด ย่อมเป็นเหตุให้วาจาผิด และการกระทำผิดได้ในชีวิตประจำวัน และถ้าชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างนี้ ก็เป็นการสะสมอกุศลเพิ่มขึ้น แทนที่จะเป็นการละคลายอกุศล

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย หิริและโอตตัปปะนั่นเองมีตามวิชชานั้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีวิชชาเห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นชอบ ผู้มีความเห็นชอบ ย่อมมีความดำริชอบ ผู้มีความดำริชอบ ย่อมมีวาจาชอบ ผู้มีวาจาชอบ ย่อมมีการกระทำชอบ ผู้มีการกระทำชอบ ย่อมมีการเลี้ยงชีพชอบ ผู้มีการเลี้ยงชีพชอบ ย่อมมีความพยายามชอบ ผู้มีความพยายามชอบ ย่อมมีความระลึกชอบ ผู้มีความระลึกชอบ ย่อมมีความตั้งมั่นชอบ ผู้มีความตั้งมั่นชอบ ย่อมมีความรู้ชอบ ผู้มีความรู้ชอบ ย่อมมีความหลุดพ้นชอบ ฯ

    แสดงให้เห็นธรรมที่ตรงกันข้ามกัน คือ อวิชชา และวิชชา ถ้าเป็นเรื่องของปัญญา ย่อมมีความดำริชอบ แม้แต่การคิดนึกก็เป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ และเป็นการละคลายอกุศล ซึ่งในชีวิตประจำวันของแต่ละท่าน เมื่อท่านเป็นผู้ที่สังเกต กาย วาจา ใจของท่านเองในแต่ละวาระ แต่ละโอกาส ย่อมรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นไปด้วยอวิชชา และขณะใดเป็นไปด้วยวิชชา

    ในเรื่องของความคิด ใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถาเอตทัคควรรค มีข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงประวัติของท่านพระมหากัสสปะเกือบแสนกัปมาแล้วว่า

    ในสมัยของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าวิปัสสีนั้น พระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาทุกๆ ปีที่ ๗ ครั้นนั้นพระมหากัสสปะเกิดเป็นพราหมณ์ผู้มีผ้านุ่งอยู่ผืนเดียว นางพราหมณีภรรยาของท่านก็มีผ้านุ่งอยู่ผืนเดียวเหมือนกัน ทั้งสองคนมีผ้าห่มอยู่ผืนเดียวเท่านั้น จึงปรากฏไปทั่วพระนครว่า เอกสาฎกพราหมณ์

    เวลาพวกพราหมณ์ประชุมกันด้วยกิจบางอย่างก็ต้องผลัดกันไป เมื่อเอกสาฎกพราหมณ์ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคจักตรัสพระธรรมเทศนา ก็ให้นางพราหมณีไปฟังพระธรรมกับพวกอุบาสิกาในตอนกลางวัน ส่วนตัวท่านเองนั้นได้ไปเฝ้าฟังพระธรรมในตอนกลางคืน เมื่อท่านฟังพระธรรมอยู่ท้ายบริษัทนั้น ความปีติอย่างยิ่งเกิดขึ้นในปฐมยามนั่นเอง ท่านจึงดึงผ้าที่ห่มออกเพื่อจะถวายพระผู้มีพระภาค แต่ความตระหนี่ได้เกิดขึ้นชี้โทษถึง ๑,๐๐๐ ประการว่า ตนและภรรยามีผ้าห่มเพียงพื้นเดียวเท่านั้น ผ้าห่มผืนอื่นไรๆ ก็ไม่มี ก็ธรรมดาว่าไม่ห่มผ้าก็ออกไปข้างนอกไม่ได้ จึงตกลงใจไม่ต้องการถวายโดยประการทั้งปวง

    ครั้นเมื่อปฐมยามล่วงไป ปีติเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละก็ได้เกิดขึ้นกับพราหมณ์นั้นแม้ในมัชฌิมยาม พราหมณ์คิดเหมือนอย่างนั้น แล้วก็ไม่ถวายเหมือนอย่างนั้น ครั้นเมื่อมัชฌิมยามล่วงไป ปีติเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละเกิดขึ้นแก่พราหมณ์นั้นแม้ในปัจฉิม ยามพราหมณ์นั้นก็คิดว่า เป็นไรเป็นกันค่อยรู้กันทีหลัง ดังนี้ แล้วดึงผ้ามาวางแทบพระบาทพระผู้มีพระภาค แล้วงอมือซ้าย เอามือขวาตบลง ๓ ครั้ง แล้วบันลือขึ้น ๓ วาระว่า ชิตัง เม ชิตัง เม ชิตัง เม เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว

    สมัยนั้น พระเจ้าพันธุมราชประทับนั่งสดับพระธรรมอยู่ภายในม่านหลังธรรมาสน์ ได้ส่งคนเข้าไปสอบถามพราหมณ์นั้นว่า ทำไมกล่าวอย่างนั้น พราหมณ์นั้นก็กล่าวว่า คนอื่นนั้นขึ้นช้างและก็มีอาวุธ คือ ถือดาบและโล่หนังเป็นต้นไปรบ ได้ชัยชนะ ย่อมไม่น่าอัศจรรย์ แต่พราหมณ์นั้นได้ย่ำยีจิตตระหนี่แล้วถวายผ้าที่ห่มอยู่แด่พระผู้มีพระภาค เหมือนคนเอาค้อนทุบหัวโคโกงที่ตามมาข้างหลัง ทำให้มันหนีไป ชัยชนะจึงน่าอัศจรรย์

    เมื่อพระราชาทรงทราบดังนั้นก็รับสั่งว่า พวกเราไม่รู้สิ่งที่สมควรแก่ พระผู้มีพระภาค แต่พราหมณ์รู้ พระราชารับสั่งให้ส่งผ้านุ่งและผ้าห่มคู่หนึ่งไปพระราชทาน พราหมณ์นั้นก็มีความดำริถูก คือ เมื่อเห็นผ้าคู่นั้นแล้วก็คิดว่า พระราชานี้ไม่พระราชทานอะไรเป็นครั้งแรกแก่เราผู้นั่งนิ่งๆ เมื่อเรากล่าวคุณทั้งหลายของพระบรมศาสดาจึงได้พระราชทาน จะมีประโยชน์อะไรแก่เรากับผ้าคู่ที่อาศัยพระคุณของพระบรมศาสดาเกิดขึ้น ท่านจึงได้ถวายผ้าคู่แม้คู่นั้นแก่พระทศพลเสียเลย

    เมื่อพระราชาทรงทราบ ก็รับสั่งให้ส่งผ้าคู่ ๒ ชุดไปพระราชทาน พราหมณ์นั้นก็ได้ถวายผ้าคู่ ๒ ชุดนั้น พระราชาได้ทรงส่งผ้าคู่ ๔ ชุดไปพระราชทาน พราหมณ์ก็ได้ถวายแก่พระผู้มีพระภาคด้วยประการดังนั้น เพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุดพระราชาส่งผ้าไปพระราชทานถึง ๓๒ คู่ ลำดับนั้น พราหมณ์คิดว่า

    ซึ่งก็เป็นความคิดที่ถูกอีก จะเห็นได้ว่า ท่านสะสมการที่จะดำริถูก จนกระทั่งท่านเป็นเอตทัคคะในการเป็นผู้ทรงคุณ คือ ธุดงค์

    เอกสาฎกพราหมณ์คิดว่า การทำดังนี้เป็นเหมือนเพิ่มขึ้นแล้วถึงจะรับเอา ท่านจึงถือเอาผ้า ๒ คู่ คือ เพื่อประโยชน์แก่ตนเองคู่หนึ่ง เพื่อนางพราหมณีคู่หนึ่ง แล้วถวายเฉพาะพระผู้มีพระภาค ๓๐ คู่

    จำเดิมแต่นั้น พราหมณ์ก็เป็นผู้สนิทสนมกับพระผู้มีพระภาค

    วันหนึ่งพระราชาทรงสดับธรรมในสำนักของพระผู้มีพระภาคในฤดูหนาว ได้พระราชทานผ้ากัมพลแดงสำหรับห่มส่วนพระองค์มีมูลค่าพันหนึ่งกับพราหมณ์ แล้วรับสั่งว่า จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงห่มผ้ากัมพลแดงผืนนี้ฟังธรรม

    พราหมณ์นั้นก็มีความดำริชอบอีก ท่านคิดว่า เราจะประโยชน์อะไรกับ ผ้ากัมพลแดงนี้ ที่จะน้อมเข้าไปในกายอันเปื่อยเน่านี้ จึงได้ทำเป็นเพดานเหนือเตียงของพระผู้มีพระภาคในภายในพระคันธกุฎี แล้วก็ไป

    อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปพระวิหารแต่เช้าตรู่ ประทับนั่งในที่ใกล้ พระบรมศาสดาในพระคันธกุฎี ก็ขณะนั้นพระพุทธรัศมี ๖ สี กระทบที่ผ้ากัมพล ผ้ากัมพลก็บรรเจิดจ้าขึ้น พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็จำได้ จึงกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้ากัมพลผืนนี้ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ให้เอกสาฎกพราหมณ์

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    มหาบพิตร พระองค์บูชาพราหมณ์ พราหมณ์บูชาตถาคต

    พระราชาทรงเลื่อมใสว่า พราหมณ์รู้สิ่งที่เหมาะที่ควร เราไม่รู้ จึงได้พระราชทานสิ่งที่เป็นของเกื้อกูลแก่มนุษย์ทุกอย่าง อย่างละ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ให้เป็นของประทานชื่อว่าสัพพัฏฐกทาน แล้วทรงตั้งให้พราหมณ์นั้นเป็นปุโรหิต

    พราหมณ์นั้นคิดว่า ชื่อว่าของ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ก็เป็น ๖๔ ชนิด จึงตั้ง สลากภัต ๖๔ ที่ ให้ทาน รักษาศีลตลอดชีวิต จุติจากชาตินั้นไปเกิดในสวรรค์ จุติจากสวรรค์ก็เกิดในเรือนของกุฎุมพีในกรุงพาราณสี ในระหว่างกาลของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ พระผู้มีพระภาคทรง พระนามว่า โกนาคมนะ และพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ

    ชีวิตของท่านพระมหากัสสปะก็เป็นชีวิตที่น่าสนใจหลายๆ ตอน

    ในเรื่องต่อไป เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นโทษของการกระทำสิ่งที่ไม่สมควร คือ

    เมื่อพราหมณ์นั้นเจริญวัยก็ได้แต่งงานมีเหย้าเรือน ครั้นนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปบิณฑบาตในเรือนของเขา ในขณะที่ภรรยาและน้องสาวของเขากำลังทะเลาะกัน เมื่อน้องสาวถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็กล่าวมุ่งถึงภรรยาของพี่ชาย โดยตั้งความปรารถนาว่า ขอให้เราห่างไกลหญิงพาลเห็นปานนี้ ๑๐๐ โยชน์ ภรรยาของเขายืนอยู่ที่ลานบ้านได้ยินก็คิดว่า พระรูปนี้จงอย่าได้ฉันอาหารที่นางผู้นี้ถวาย จึงจับบาตรมาเทบิณฑบาตทิ้ง แล้วเอาเปือกตมใส่จนเต็ม น้องสาวจึงกล่าวว่า หญิงพาลเจ้าจงด่า จงบริภาษเราก่อนเถิด การเทภัตตาหารจากบาตรท่านผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมา ๒ อสงไขยเห็นปานนี้ แล้วใส่เปือกตมให้ ไม่สมควรเลย

    ครั้งนั้นภรรยาของเขาเกิดความสำนึกขึ้นได้ จึงกล่าวว่า โปรดหยุดก่อนเจ้าข้า แล้วเทเปือกตมออก ล้างบาตร ชโลมด้วยผงเครื่องหอม แล้วได้ใส่ของมีรสอร่อย ๔ อย่างจนเต็มบาตร แล้ววางถวายบาตรอันผุดผ่องด้วยเนยใส มีสีเหมือนกลีบดอกบัวอันราดรดลงข้างบนในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาว่า สรีระของเราจงผุดผ่องเหมือนบิณฑบาตอันผุดผ่องนี้เถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ

    ผลกรรมของภรรยาของพราหมณ์ซึ่งเป็นชีวิตชาติหนึ่งของท่านพระมหากัสสปะ ก็ได้ติดตามไปตามควรแก่โอกาสของกรรมนั้นๆ คือ

    สามีภรรยานั้นดำรงอยู่ชั่วอายุ แล้วเกิดในสวรรค์ จุติจากสวรรค์ในสมัย พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะในภัทรกัปนี้ อุบาสกผู้นั้นก็เกิดเป็นบุตรเศรษฐี มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในกรุงพาราณสี ฝ่ายภรรยาของเขาเกิดเป็นธิดาเศรษฐีเหมือนกัน เมื่อเจริญวัย พวกญาติได้นำธิดาเศรษฐีมาสู่สกุลของอุบาสกนั้น แต่ด้วยกำลังของกรรมซึ่งมีวิบากอันไม่น่าปรารถนาในชาติก่อน พอนางเข้าไปยังตระกูลของสามี ทั่วทั้งสรีระก็เกิดกลิ่นเหม็น ตั้งแต่ย่างเท้าเข้าไปภายในธรณีประตู เศรษฐีกุมารนั้นก็ส่งนางกลับไป เป็นอย่างนี้ถึง ๗ ครั้ง

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ ทรงปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนได้เริ่มก่อพระเจดีย์สูงโยชน์หนึ่งด้วยอิฐทองสีแดง ทั้งหนา ทั้งแน่น มีราคาก้อนละหนึ่งแสน เศรษฐีธิดาเห็นผลกรรมของตนที่ถูกส่งตัวกลับถึง ๗ ครั้ง ก็ให้ยุบเครื่องประดับ แล้วให้ทำเป็นอิฐทองยาว ๑ ศอก กว้าง ๑ คืบ สูง ๔ นิ้ว ถือก้อนหรดาลและมโนศิลา และดอกบัว ๘ กำ ไปยังสถานที่สร้างพระเจดีย์ ขณะนั้นแถวก้อนอิฐแถวหนึ่งก่อมาต่อกันขาดอิฐแผ่นต่อเชื่อม นางก็ได้ให้อิฐทองก้อนนั้นแก่ช่าง ซึ่งช่างก็ได้ให้นางวางและต่ออิฐนั้นเอง และนางก็ได้บูชาด้วยดอกบัว ๘ กำ ตั้งความปรารถนาว่า ในที่ที่เราเกิด กลิ่นจันทน์จงฟุ้งออกจากตัว กลิ่นดอกบัวจงฟุ้งออกจากปาก แล้วนางก็ได้ไหว้พระเจดีย์ กระทำประทักษิณ แล้วกลับไป

    อยู่ต่อมา เศรษฐีบุตรเกิดระลึกถึงเศรษฐีธิดา ก็ได้ให้คนไปนำนางกลับไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในครั้งนั้นพร้อมกับที่นางเข้าไปในเรือน กลิ่นจันทร์และกลิ่นดอกบัวขาบก็ฟุ้งไปทั่วเรือน

    แสดงให้เห็นผลของกรรมต่างๆ ก่อนที่ท่านทั้งสองจะได้อบรมบารมีจนกระทั่งสามารถดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดม

    และแสดงให้เห็นถึงอวิชชาว่า เกิดขึ้นขณะใดเป็นเหตุให้มีความดำริผิด มีความคิดผิด เป็นอโยนิโสมนสิการ แต่ขณะใดที่วิชชาเกิดขึ้น จะทำให้ความดำริถูก วาจาถูก การกระทำถูก อาชีพถูก ความเพียรถูก การระลึกถูก ความรู้ถูก และการหลุดพ้นถูกต้องด้วย

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาเห็นโทษของอวิชชาว่า โมหเจตสิกเป็น อกุศลธรรม โดยประเภทแล้ว เป็น ๗ ประเภท คือ เป็นอาสวะ โอฆะ โยคะ นิวรณ์ สังโยชน์ อนุสัย และกิเลส เว้นไม่เป็นคันถะ และอุปาทาน

    สำหรับอาสวะ คือ สภาพของอกุศลธรรมซึ่งไหลไปสู่อารมณ์ต่างๆ อยู่เรื่อยๆ หมักดองสะสมและไหลไปสู่อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะใดที่สติไม่เกิด ขณะนั้นไม่เป็นกุศล รู้ได้เลยว่าขณะนั้นต้องเป็นไปเพราะโมหะ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จึงเป็นอาสวะ

    เมื่อเป็นอาสวะ ก็เป็นโอฆะ ทำให้จมอยู่ในห้วงน้ำ ทั้งข้างบน ข้างล่าง ข้างซ้าย ข้างขวา รอบตัว เต็มไปด้วยความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งพิสูจน์ได้ ในขณะนี้เอง ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส ทางใจที่กำลังคิดนึก ขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะใดที่สติไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นโมหะเป็นอาสวะ เป็นโอฆะ เป็นโยคะ เป็นนิวรณ์ เป็นสังโยชน์ เป็นอนุสัย เป็นกิเลส แต่ไม่เป็นคันถะ คือ ไม่ผูกไว้ และไม่เป็นอุปาทาน คือ ไม่ยึดมั่น เพราะเหตุว่าไม่รู้

    ธรรมดาที่จะยึดมั่นสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องรู้ในสิ่งนั้น เป็นความรู้ผิด และมีความ ชอบใจในความเห็นผิดนั้นจึงยึดถือ แต่ถ้าเป็นความไม่รู้ ก็ไม่สามารถยึดถือหรือติดได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๑๔๐๑ – ๑๔๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564