แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1439


    ครั้งที่ ๑๔๓๙


    สาระสำคัญ

    ลักษณะของจักขุปสาท

    โมหวิเฉทนี - รูปารมณ์ กระทบเฉพาะซึ่งจักขุเป็นลักษณะ

    ส.มหา.พราหมณสูตร - ยานนั้นเป็นของลามก เลว (ทำให้คนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นยานประเสริฐ)

    อถ.พราหมณสูตร - ญาณนั้นเป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๘


    ข้อความต่อไป อธิบายลักษณะของจักขุปสาทว่า

    ก็จักขุนี้ซึมซาบเยื่อนัยน์ตา ๗ ชั้น ราวกับน้ำมันอันบุคคลรดที่ปุยนุ่น ๗ ชั้น ซึมซาบชั้นของปุยนุ่นฉะนั้น อันธาตุ ๔ ซึ่งมีหน้าที่ดำรงไว้ ยึดไว้ ให้อบอุ่น และให้เคลื่อนไหว ทำอุปการะ ดุจขัตติยกุมารอันพี่เลี้ยง ๔ คนซึ่งมีหน้าที่อุ้มชู ให้อาบ ตบแต่ง และพัดวี ทำอุปการะฉะนั้น อันอายุบริบาลอยู่ อันสี กลิ่น และรสเป็นต้น แวดล้อม อันอุตุ จิต และอาหารอุปถัมภ์อยู่ มีขนาดเท่าหัวเล็นโดยประมาณ ยังความเป็นวัตถุและทวารให้สำเร็จอยู่ตามควรแก่วิถีจิตมีจักขุวิญญาณเป็นต้น

    ตั้งอยู่ในประเทศเป็นที่บังเกิดแห่งทรวดทรงสรีระของคนที่ยืนอยู่ในที่ตรงหน้า ท่ามกลางมณฑลคือบริเวณดำ อันล้อมรอบด้วยมณฑลขาวแห่งสสัมภารจักขุ ซึ่งเป็นก้อนเนื้อ ซึ่งตั้งอยู่ที่เบ้าตา อันเส้นด้ายคือเอ็นผูกล่ามไว้ที่มันสมองที่มีสีขาวบ้าง สีดำบ้าง สีแดงบ้าง มีมหาภูตแม้ทั้ง ๔ ที่เป็นสีขาวก็เพราะมีเสมหะสูงขึ้น เป็นสีดำ ก็เพราะมีดีสูงขึ้น เป็นสีแดงเพราะมีเลือดสูงขึ้น เป็นวัตถุแข็งขึงเพราะปฐวีธาตุสูงขึ้น หลั่งอยู่ก็เพราะอาโปธาตุสูงขึ้น ร้อนรุ่มอยู่ก็เพราะเตโชธาตุสูงขึ้น หมุนอยู่ก็เพราะ วาโยธาตุสูงขึ้น

    นี่คือตาของทุกคนในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางครั้งก็แข็ง เคลื่อนไหวไม่ค่อยได้ บางครั้งก็มีน้ำไหลออกมา เพราะว่าอาโปธาตุสูง บางครั้งก็รู้สึกร้อน อาจจะมีธาตุไฟหรือควันเข้าตา หรืออะไรก็แล้วแต่ และบางครั้งที่เป็นประจำ คือ หมุนอยู่ เพราะวาโยธาตุสูงขึ้น ที่ทุกคนกลอกตาไปมาซ้ายขวาได้ก็เพราะวาโยธาตุ ซึ่งคนอื่น ไม่สามารถจะทำได้เลย จะเอาเครื่องมือใดๆ ไปทำก็ไม่ได้ แต่วาโยธาตุทำกิจของตนเองได้ตามธาตุนั้นๆ โดยสะดวก

    สมจริงดังคำที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ ดังนี้ว่า

    บุคคลตามเห็นรูปทั้งหลายด้วยจักขุปสาทใด จักขุปสาทนี้เล็กละเอียด ประมาณเท่าหัวเล็น

    นี่คืออายตนะแรกที่จะทำให้เกิดการเห็น โดยกระทบกับรูปซึ่งเป็นสิ่งที่ กระทบกับจักขุปสาท ใน โมหวิจเฉทนี มีข้อความว่า

    รูป คือ รูปารมณ์ มีความกระทบเฉพาะซึ่งจักขุเป็นลักษณะ

    ไม่กระทบกับปสาทอื่นเลย

    มีความเป็นวิสัยของจักขุวิญญาณเป็นรสะ

    คือ เป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณ

    มีความเป็นโคจรของจักขุวิญญาณนั่นแลเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

    มีมหาภูตรูป ๔ เป็นปทัฏฐาน

    จักขุปสาทจะเกิดตามลำพังโดยไม่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ไม่ได้เลย ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เพราะไม่รู้เรื่องของอายตนะทั้ง ๒ ว่า เพียงชั่วขณะที่จักขุปสาทเกิดและ ยังไม่ดับ กระทบกับรูปารมณ์ซึ่งเกิดและยังไม่ดับ ทำให้มีการเห็นเกิดขึ้นขณะหนึ่งๆ เมื่อไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ก็เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ทำให้มีเรื่องที่จะต้องเดือดร้อนวุ่นวายมาก ด้วยความพอใจในสิ่งที่เห็นบ้าง ด้วยความไม่พอใจในสิ่งที่เห็นบ้าง และเวลาที่พอใจในสิ่งที่เห็นก็อยากจะได้ แสวงหาด้วยประการต่างๆ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดความเห็นผิดและแสวงหาข้อปฏิบัติที่ผิด ด้วยความไม่รู้ได้ แม้ทางตาที่เห็น

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มัคคสังยุต พราหมณสูตร ข้อ ๑๒ มีข้อความว่า

    สาวัตถีนิทาน

    คือ เรื่องนี้เกิดที่พระนครสาวัตถี

    ครั้งนั้น เวลาเช้าท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้เห็นชาณุสโสณีพราหมณ์ออกจากกรุงสาวัตถีด้วยรถเทียมด้วยม้าขาวล้วน ได้ยินว่า ม้าที่เทียมเป็นม้าขาว เครื่องประดับขาว ตัวรถขาว ประทุนรถขาว เชือกขาว ด้ามประตักขาว ร่มขาว ผ้าโพกขาว ผ้านุ่งขาว รองเท้าขาว พัดวาลวิชนีที่ด้ามพัดก็ขาว ชนเห็นท่านผู้นี้แล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ยานประเสริฐหนอ รูปของยานประเสริฐหนอ

    เพียงเห็นสีขาวก็เข้าใจผิด นี่คือจักขุวิญญาณ เมื่อไม่รู้สภาพธรรม ไม่รู้หนทางที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ก็แสวงหาหนทางอื่นและเข้าใจผิดว่า ยานที่ประเสริฐ คือ ยานที่มีสีขาว

    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลเล่าเรื่องที่ เห็นชาณุสโสณีพราหมณ์ให้พระผู้มีพระภาคฟัง

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอริยมรรคมีองค์ ๘ ว่า เป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส ไม่ใช่รถขาวและทุกอย่างขาว และได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    อริยมรรคญาณนั้นมีธรรม คือ ศรัทธากับปัญญาเป็นแอก มีศรัทธาเป็นทูบ มีหิริเป็นงอน มีใจเป็นเชือกชัก มีสติเป็นสารถีผู้ควบคุม รถนี้มีศีลเป็นเครื่องประดับ มีฌานเป็นเพลา มีความเพียรเป็นล้อ มีอุเบกขากับสมาธิเป็นทูบ ความไม่อยากได้เป็นประทุน กุลบุตรใดมีความไม่พยาบาท ความไม่เบียดเบียน และวิเวกเป็นอาวุธ มีความอดทนเป็นเกราะหนัง กุลบุตรนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะ พรหมยานอันยอดเยี่ยมนี้ เกิดแล้วในตนของบุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้น เป็นนักปราชญ์ ย่อมออกไปจากโลกโดยความแน่ใจว่า มีชัยชนะโดยแท้

    แสดงให้เห็นว่า รถสีขาวและเครื่องประดับขาวทั้งหมด ไม่ใช่อริยญาณ

    อรรถกถา พราหมณสูตร มีข้อความว่า

    ชาณุสโสณีพราหมณ์ย่อมกระทำการประทักษิณนคร ๖ เดือนครั้งหนึ่ง โดยที่มีคนประกาศไปล่วงหน้าว่า แต่นี้ไปพราหมณ์นั้นจะกระทำประทักษิณนครโดยวันทั้งหลายประมาณเท่านี้ ชนเหล่าใดฟังการประกาศนั้นแล้วกำลังออกไปจากนคร ชนเหล่านั้นจะยังไม่หลีกไป

    คือ เมื่อได้ข่าวว่า ชาณุสโสณีพราหมณ์จะประทักษิณ แม้คนมีธุระที่จะออกไปนอกนครก็ยังไม่ไป

    แม้ชนเหล่าใดหลีกไปแล้ว ชนเหล่านั้นย่อมกลับ ด้วยคิดว่า พวกเราจะได้เห็นสิริสมบัติของท่านผู้มีบุญ พราหมณ์ย่อมเที่ยวไปสู่นครตลอดวันใด ชาวเมืองทั้งหลายกวาดถนนในนครในกาลนั้น แต่เช้าตรู่

    เมื่อทราบว่าชาณุสโสณีพราหมณ์จะไปทางไหน คนก็กวาดถนนตั้งแต่เช้า

    เกลี่ยทรายลง โปรยด้วยดอกไม้ทั้งหลาย อันมีข้าวตอกเป็นที่ ๕ ตั้งหม้อน้ำ ให้ช่วยกันยกต้นกล้วยทั้งหลายและธงทั้งหลายขึ้น แล้วย่อมทำนครทั้งสิ้นให้อบอวลด้วยกลิ่นธูป

    เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่คิดว่า นั่นเป็นทางที่ควรจะกระทำ

    พราหมณ์ประทักษิณนครด้วยรถเครื่องประดับ คือ ด้วยรถเทียมด้วยม้า ๔ ตัวอันขาวล้วน รถมีล้อและซี่กงทั้งหมดได้หุ้มด้วยเงิน

    คือ ขาวหมด ไม่ว่าจะเป็นด้วยเงินหรือด้วยเครื่องประดับใดๆ ทั้งสิ้น

    สำหรับรถนั้น

    รถมี ๒ อย่าง คือ รถรบ ๑ รถเครื่องประดับ ๑

    รถรบมีสัณฐานสี่เหลี่ยมไม่ใหญ่นัก สามารถบรรทุกคนได้ ๒ คน หรือ ๓ คน รถเครื่องประดับนั้นเป็นรถใหญ่ คือ ยาวและกว้าง คนถือร่ม ถือวาลวิชนี ถือพัดใบตาล ย่อมอยู่ในรถนั้น ๘ คน หรือ ๑๐ คน สามารถที่จะยืนก็ได้ นั่งก็ได้ นอนก็ได้ตามสบายในรถนั้น และม้าขาวที่เทียมรถนั้นก็มีสีขาวตามปกติ แต่เครื่องประดับของม้าเหล่านั้นได้เป็นของที่สำเร็จด้วยเงินทั้งหมด

    รถชื่อว่าขาว เพราะหุ้มด้วยเงิน และเพราะประดับด้วยงาในที่นั้นๆ รถเหล่าอื่นหุ้มด้วยหนังราชสีห์บ้าง หุ้มด้วยหนังเสือบ้าง หุ้มด้วยผ้ากำพลเหลืองบ้าง ฉันใด รถของชาณุสโสณีพราหมณ์หาเป็นฉันนั้นไม่ เพราะว่าได้หุ้มด้วยผ้าอย่างดี เชือกอันหุ้มด้วยเงินและแก้วประพาฬ แม้ด้ามปฏักก็หุ้มด้วยเงิน แม้ร่มที่เขาให้ยกขึ้นในท่ามกลางรถก็ขาว ผ้าโพกทำด้วยเงินกว้าง ๗ นิ้วก็ขาว ผ้านุ่งขาว คือ มีสีดังก้อนฟองน้ำ ในผ้าเหล่านั้น ผ้านุ่งมีราคาห้าร้อย ผ้าห่มมีราคาพันหนึ่ง และรองเท้าสำหรับคนเดินทางหรือสำหรับคนผู้เข้าสู่ดงย่อมมีได้ แต่ว่าส่วนรองเท้านี้สำหรับขึ้นรถ เป็นเครื่องประดับเท้าที่ผสมเงิน

    จามรและพัดวาลวิชนีมีสีขาว มีด้ามทำด้วยแก้วผลึก ก็เครื่องประดับเฉพาะเท่านี้ขาวได้มีแล้วแก่พราหมณ์นั้นอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แม้เครื่องประดับของพราหมณ์นั้นได้ทำด้วยเงิน มีเป็นต้นอย่างนี้ว่า ก็พราหมณ์นั้นลูบไล้ด้วยเครื่องลูบไล้ขาว ประดับดอกไม้ขาว ที่นิ้วทั้ง ๑๐ สวมแหวน ที่หูทั้งสองใส่ต่างหู แม้พราหมณ์ ผู้เป็นบริวารของเขาประมาณหนึ่งหมื่น ผ้า เครื่องลูบไล้ ดอกไม้ และเครื่องประดับขาว ได้มีแล้วด้วยประมาณเท่านั้นเหมือนกัน

    ไม่ใช่แต่เฉพาะตัวของชาณุสโสณีพราหมณ์ แม้แต่พราหมณ์บริวารหนึ่งหมื่นคนก็ประดับด้วยขาวล้วนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับตัว แสดงให้เห็นว่า เวลาคนที่มีบุญไปที่ไหน ก็มีบริวารไปเป็นหมื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีได้

    ชาณุสโสณีพราหมณ์สนานศีรษะแต่เช้าตรู่ บริโภคอาหารเช้าแล้ว ก็แต่งตัวด้วยเครื่องนุ่งห่มมีผ้านุ่งขาวเป็นต้น ลงจากปราสาทขึ้นรถ พวกพราหมณ์ก็ตบแต่งด้วยผ้า เครื่องลูบไล้ และดอกไม้ขาวทั้งหมด ถือร่มขาว แวดล้อมชาณุสโสณีพราหมณ์

    แต่นั้น ชนทั้งหลายย่อมโปรยผลาผลแก่พวกเด็กหนุ่มก่อน เพื่อการประชุมของมหาชน ต่อแต่นั้นย่อมโปรยเงินมาสก ต่อแต่นั้นจึงโปรยกหาปณะทั้งหลาย มหาชนย่อมประชุมกัน โห่ร้องและโยนผ้า

    พราหมณ์ย่อมเที่ยวไปสู่นครเพื่อมหาสมบัติ เมื่อชนทั้งหลายผู้มีความต้องการด้วยมงคลและต้องการสวัสดีเป็นต้น กระทำมงคลและสวัสดีอยู่ มนุษย์ทั้งหลายผู้มีบุญขึ้นไปบนปราสาทมีชั้นเดียวเป็นต้น เปิดช่องหน้าต่างเช่นกับปีกนกแก้วแลดูอยู่ แม้พราหมณ์ย่อมมุ่งตรงไปทางประตูทิศใต้ คล้ายจะครอบครองนครด้วยยศและ สิริสมบัติของตน

    เมื่อมหาชนเห็นรถนั้นก็กล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ยานเช่นยาน อันประเสริฐหนอ

    แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ธรรมดาว่า มนุษย์ทั้งหลายให้ทรัพย์แก่ผู้ที่กล่าวสรรเสริญแล้ว ย่อมให้ขับร้องเพลงขับสรรเสริญทาริกาทั้งหลายของตนว่า เป็นผู้น่ารัก น่าดู มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ดังนี้ แต่บุตรหลานเหล่านั้นก็หาเป็นผู้น่ารัก หรือมีโภคะมาก ด้วยเพียงการกล่าวสรรเสริญนั้นไม่ มหาชนเห็นรถของพราหมณ์อย่างนี้แล้วจึงกล่าวสรรเสริญอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ยานประเสริฐหนอ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ยานนั้นจะชื่อว่าเป็นยานประเสริฐด้วยเพียงการกล่าวสรรเสริญก็หามิได้ ที่จริง ยานนั้นเป็นของลามก เลว

    ดูกร อานนท์ แต่โดยปรมัตถ์ ญาณนั้นเป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เท่านั้นแล ก็อริยมรรคนี้ประเสริฐ เพราะปราศจากโทษทั้งปวง ด้วยว่าพระอริยะทั้งหลายย่อมไปสู่นิพพานด้วยอริยมรรคนี้ ดังนั้น จึงควรกล่าวว่าพรหมยานบ้าง ว่าธรรมยานบ้างเพราะเป็นธรรมและเป็นยาน ว่าเป็นรถพิชัยสงครามอันยอดเยี่ยมบ้าง เพราะไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่าและเพราะชนะสงครามคือกิเลสแล้ว

    นี่คือความต่างกัน ซึ่งเกิดจากเพียงการเห็น ก็ทำให้เกิดความเห็นผิด ข้อปฏิบัติผิด ความเข้าใจผิด เพราะคิดว่า สีขาวจะทำให้เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ หรือหมดกิเลส หรือเป็นมงคล แต่ความจริงแล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ที่จริง ยานนั้นเป็นของลามก เลว เพราะว่าทำให้คนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นยานประเสริฐ

    เพราะฉะนั้น การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่เกี่ยวกับเรื่องสีของเครื่องนุ่งห่ม แต่เมื่อใดที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ชื่อว่า ยานนั้นมีในผู้นั้นที่จะนำไปสู่การดับกิเลสได้

    ถ. ผมมีความเห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน เมื่อ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องเห็นเป็นลำดับแรก เราก็ควรระลึกเรื่องเห็นก่อน เรื่องเห็นควรจะง่ายกว่าทวารอื่น

    สุ. สิ่งใดที่ปรากฏแล้วไม่รู้ ควรจะเจริญความรู้ แต่บังคับสติไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า เมื่อเป็นสิ่งที่เห็นอยู่แต่ยังไม่รู้ เมื่อไรสติจะเกิดระลึกว่า ควรรู้ในสิ่งที่กำลังเห็น หรือสติปัฏฐานอาจจะระลึกสภาพธรรมอื่นก็ได้

    . สภาพธรรม เรื่องเห็นอาจารย์ก็กล่าวมากที่สุด พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงแสดงเป็นอันดับแรก ผมเองก็เจริญสติปัฏฐานทางเห็นนี่มาก รู้สึกว่าเกิดได้ดีกว่าทางอื่น จะเป็นเหตุผลไหม

    สุ. แล้วแต่บุคคล

    . ถ้าเดินไปทำงาน พบพระ และระลึกได้ที่จะตักบาตร ที่คิดว่าจะ ตักบาตรนั้น เป็นสติขั้นทานแล้วใช่หรือเปล่า

    สุ. เป็นสติขั้นทาน เพราะว่าเกี่ยวกับการให้ ทาน คือ การให้

    . คิดต่อไปอีกว่า การให้ทานเป็นการขัดเกลาความตระหนี่ และอาหารนั้นก็เป็นประโยชน์ต่อพระภิกษุ ความคิดอย่างนี้เป็นปัญญาขั้นทานใช่หรือเปล่า

    สุ. ไม่จำเป็นต้องเจาะจงว่าเป็นขั้นไหน อย่างไร ขณะนั้นถ้าสติระลึกและ รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งย่อมจะดีกว่า เพราะถ้าจะวัดหรือเปรียบเทียบ อยู่เสมอจะไม่มีวันจบ กิจที่สำคัญที่สุด คือ สติระลึกลักษณะที่กำลังคิดและรู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จะดีกว่าไหม

    . ถ้าเอื้อมมือไปจะตีสัตว์เล็กสัตว์น้อย และระลึกได้ว่า จะไม่ทำลายชีวิตสัตว์เล็กสัตว์น้อยนั้น ความคิดอย่างนี้เป็นสติขั้นศีลได้หรือเปล่า

    สุ. ได้ ขณะนั้นเป็นสติที่เกิดพร้อมกับเจตนาที่คิดจะวิรัติทุจริต

    . ถ้าสวดมนต์ ขณะที่สวดมนต์ระลึกได้ถึงสภาพจิตที่สงบ และรู้ว่า แตกต่างกับเวลาที่ไม่ได้สวดมนต์ ที่ระลึกได้หรือคิดได้อย่างนั้น เป็นสติขั้นสมถะได้ หรือเปล่า

    สุ. ถ้าระลึกลักษณะของสภาพปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน แต่ขณะที่กำลังระลึกถึงพระพุทธคุณ ไม่ได้ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ที่กำลังคิด ขณะนั้นก็เป็นสมถภาวนา

    . ที่ทำงานมีการทำบุญกัน เราก็รวบรวมปัจจัยกันทำบุญไปแล้ว กลับมาบ้านคิดขึ้นมาได้ว่า เราควรจะมีอะไรติดไม้ติดมือเป็นอาหารเพื่อจะได้ถวายพระ ถือว่าเป็นสติในขั้นทาน ใช่ไหม

    สุ. ใช่

    . แต่ขณะนั้นยังระลึกไม่ได้ว่า นี่คงจะเป็นสติในขั้นทาน มาระลึกรู้ได้ ทีหลัง

    สุ. อย่างนี้ได้ไหม ขณะใดคิดที่จะให้ทาน หรือกำลังทำทานก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เมื่อไม่ใช่ตัวตนแล้วเป็นอะไร ก็ต้องเป็นจิตและเจตสิก ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ต้องเป็นโสภณเจตสิก ซึ่งจะขาดสติไม่ได้เลย ทุกขณะที่กุศลจิตเกิดจะต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เจตนาเจตสิกนั้นไม่จำเป็น เกิดกับอกุศลก็ได้ เกิดกับกุศลก็ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๔ ตอนที่ ๑๔๓๑ – ๑๔๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564