แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1400


    ครั้งที่ ๑๔๐๐


    สาระสำคัญ

    การประพันธ์หรือการแสดงพระธรรม (สามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้)

    จุดประสงค์ของการที่จะฟังธรรม

    ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    ศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร คัมภีร์ ปุคคลบัญญัติ - บุคคลหาได้ยากในโลก ๒ จำพวก

    อถ.ปุคคลบัญญัติ - บุคคลหาได้ยากมีทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต

    ลักษณะของบุพพการี และกตัญญูกตเวที


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๘


    ข้อความต่อไปแสดงว่า ธรรมเป็นสภาพที่ละเอียด ไม่สามารถที่จะรู้แจ่มแจ้งได้เพียงอาการที่ปรากฏภายนอก เช่น เวลาที่เห็นคนน้ำตาไหล ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เกิดจากโรคภัย เจ็บตา หรือว่าเศร้าโศก เพราะฉะนั้น การประพันธ์หรือการแสดง พระธรรม และการฟังพระธรรมนั้น

    ท่านผู้มีปัญญา มีจิตใจบริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน มีริษยาเป็นต้น ร่วมประชุมกันสดับ ความส่งใจไปตามกระแสของพระธรรมนั้นๆ บังเกิดความชื่นชมอันใดขึ้นมา ความชื่นชมพอใจอันนั้น คือ รสะ หรือรสนั่นเอง เปรียบเหมือนคนทั้งหลายบริโภคอาหารที่ประกอบด้วยแกงต่างๆ อันปรุงอย่างอร่อย ย่อมชื่นชมพอใจรสต่างๆ ของอาหารนั้นๆ ฉะนั้น

    เพราะฉะนั้น รสพระธรรม คือ สภาพธรรมที่เป็นจริง แต่ต้องอาศัยการแสดงโดยนัยต่างๆ ประกอบกัน จึงจะปรากฏให้เป็นรสที่ควรชื่นชมยินดี เปรียบเหมือนกับแกงที่อร่อยที่สมมติชื่อว่าแกงชนิดนั้น แกงชนิดนี้ เช่น แกงเผ็ด แกงจืดก็ดี แยกประเภทตามชนิดของแกงเป็นแกงเนื้อ แกงปลาก็ดี แม้ว่ามีรสที่เป็นหลัก คือ รสเนื้อ หรือรสปลา แต่ต้องมีส่วนประกอบด้วย ถ้าแกงเผ็ดมีรสเผ็ดอย่างเดียว หรือแกงเนื้อก็มีแต่เนื้อ ไม่มีเครื่องปรุงอะไรๆ เลย อย่างนั้นก็จะขาดโอชา ฉันใด การแสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงก็ฉันนั้น คือ ต้องประกอบด้วยคำอุปมา และคำที่โน้มน้าวใจเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมนั้นๆ โดยถูกต้อง ให้สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ยิ่งๆ ขึ้นด้วย ซึ่งนี่คือจุดประสงค์ของการฟังธรรม ไม่ว่าจากบุคคลใดทั้งสิ้น

    ในเรื่องของทิฏฐิ ควรที่จะได้พิจารณา เช่น บางท่านแสดงธรรมให้ละคลายกิเลส ให้ดับกิเลส ไม่ให้ยึดมั่นสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แต่พร้อมกันนั้นก็มีข้อความที่สงสัยว่าชาติหน้ามีหรือไม่ ซึ่งแสดงความค้านกันเอง เพราะถ้าเป็นผู้ที่แสดงธรรมให้ขัดเกลากิเลส ให้ละคลายกิเลส ให้ดับกิเลส ต้องเป็นผู้ที่เชื่อว่า เมื่อยังมีกิเลสชาติหน้าต้องมี แต่ถ้าแสดงธรรมให้ขัดเกลากิเลส ให้ละคลายกิเลส แต่ไม่รู้ว่าชาติหน้ามีหรือเปล่า หรืออาจจะบอกว่าชาติหน้าไม่มี แต่ก็ให้ละคลายกิเลส ให้ดับกิเลส ซึ่งเป็นข้อความที่ค้านกัน เพราะผู้ที่จะแสดงธรรมให้ดับกิเลส ต้องเป็นผู้ที่เชื่อว่าชาติหน้ามี จึงต้องดับกิเลสเพื่อที่จะดับชาติหน้า ถ้าบอกว่าดับกิเลส แต่ชาติหน้าไม่มี อย่างนั้นจะดับทำไม ในเมื่อถ้าตายแล้วชาติหน้าไม่มี ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องดับกิเลส

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาความละเอียดจริงๆ และเมื่อได้ฟังธรรม จึงสามารถเข้าใจได้ว่า ธรรมส่วนใดถูก ธรรมส่วนใดผิด ชาติหน้ามีจริงไหม ถ้าไม่มี ต้องดับกิเลสไหม

    ได้รับจดหมายจากท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ขอให้พิจารณาข้อความตอนหนึ่งของจดหมายฉบับนี้ ที่กล่าวว่า

    ... แต่ปัญญาบารมีของผมยังไม่คมกล้า คือ ปัญญายังไม่เร็ว ยังไม่ไว ยังไม่ละเอียด คือ ระลึกไม่ทันขณะปัจจุบัน กว่าจะระลึกได้ก็เป็นอดีตไปเสียแล้ว ...

    ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานไม่ต้องคิดถึงอดีตเลย ใช่ไหม กว่าจะระลึกได้ เป็นอดีตไปเสียแล้ว ไม่สำคัญเลย ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบัน ทำไมต้องคิดถึงอดีต ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานไม่คำนึงถึงเลยว่า ขณะที่แล้วไปนั้นสติไม่ได้เกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุใด ก็เพราะว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน คือ ระลึกได้ทุกขณะ เพราะว่ามีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทุกขณะ ไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วว่า ระลึกไม่ทัน ถ้าเป็นในลักษณะนั้น ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐาน เมื่อกี้ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องห่วงกังวล ต้องคิดว่าไม่ทัน ถ้าคิดว่าไม่ทันจะไม่ทันในขณะนี้อีก เพราะในขณะที่คิดสภาพธรรมที่ปรากฏก็ดับไปอีก

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน คือ สติระลึกทันที มีสภาพธรรมที่กำลังเป็นปัจจุบันทุกขณะ ขณะที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปแล้ว แต่ขณะที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นปัจจุบันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะไม่กล่าวว่า ระลึกไม่ทัน จะมีเพียงหลงลืมสติ หรือสติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ความละเอียดของการดับทิฏฐิ ความเห็นผิดในข้อปฏิบัติต่างๆ มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า ศึกษาพระธรรมเท่าไรจึงจะพอ กฎเกณฑ์มาอีกแล้ว คือ ต้องเท่านั้นเท่านี้ หรือต้องจบเล่มนั้น เล่มนี้ ปริจเฉทนั้น ปริจเฉทนี้ ตอนนั้น ตอนนี้ แต่อย่าลืมจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่ว่า ฟังพระธรรมเพื่ออะไร แม้แต่การที่ศึกษาธรรม เพื่ออะไร

    ถ้าถามว่า ศึกษาพระธรรมเท่าไรจึงจะพอ ดูเหมือนว่าพยายามศึกษาให้จบ เพื่อปฏิบัติ พอหรือยัง จะได้ปฏิบัติ ซึ่งนั่นไม่ใช่ความเข้าใจธรรมเลย เพราะฉะนั้น ต้องตั้งต้นใหม่จริงๆ ว่า ศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร ถ้าตอบได้ตรงก็ถูก แต่ถ้าถามว่าศึกษาเท่าไรถึงจะพอ ก็ไม่ตรง

    ศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจ เข้าใจอะไร เพราะทุกคนก็ศึกษา เพื่อเข้าใจทั้งนั้น แต่ศึกษาเพื่อเข้าใจอะไร ต้องให้ตรงอีก คือ เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เข้าใจอย่างอื่น

    บางคนอาจจะคิดว่า เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีในตำรา แต่นั่นไม่ใช่ความเข้าใจ นั่นเป็นเรื่อง ที่ศึกษาตำราก็เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจ จริงๆ ว่า ไม่ว่าจะศึกษาส่วนใดในพระไตรปิฎก ศึกษาน้อยหรือมากก็ตาม ก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เช่น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพียงเท่านี้ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอย่างนี้จริงๆ หรือยัง กำลังเห็นเป็นอนัตตาอย่างไร กำลังได้ยิน กำลัง ได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก กำลังกระทบสัมผัส กำลังสุข กำลังทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างไร ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ศึกษา คือ ฟังเรื่องของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกต่างๆ เพื่อเพิ่มความเข้าใจในลักษณะที่เป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น จะไม่มีคำถามว่า ศึกษาเท่าไรถึงจะพอ

    รู้สึกว่าอยากจะพอ คือ ไม่อยากจะศึกษาต่อไป เพราะคิดว่าพอแล้ว แต่ตามความเป็นจริง ตราบใดที่ทางตายังไม่ปรากฏลักษณะที่เป็นอนัตตา ก็ศึกษาต่อไป เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าสติจะระลึก จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏ จนกว่ากิเลสจะดับ เพราะฉะนั้น จะไม่มีคำว่า ศึกษาเท่าไรจึงจะพอ ซึ่งทำให้ดูเหมือนกับว่าเป็นกฎเกณฑ์ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย

    การฟังของแต่ละท่าน อาจจะเคยฟังมาแล้วในอดีตอนันตชาติ ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าได้ฟังมามากน้อยเท่าไรแล้ว และในขณะที่ฟังนั้นเข้าใจเท่าไร สติระลึกลักษณะของสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏแล้วเท่าไร แต่เมื่อได้ฟังอีก ก็เตือน สามารถเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และถ้ามีปัญญาที่สะสมมาแล้วมาก ก็จะแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ โดยไม่มีกฎเกณฑ์ว่า ศึกษาเท่าไรถึงจะพอ ซึ่งคำตอบ คือ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์

    ไม่ว่าจะเป็นในขั้นของการฟังก็ต้องเข้าใจว่า ฟังเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีอยู่ในตำรา แต่ไม่รู้เลยว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นอย่างไร ตรงกับที่ทรงแสดงไว้อย่างไรบ้าง

    และในข้อของการปลีกตัวที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรม ในวันหนึ่งๆ ที่ทุกท่านกำลังฟังพระธรรมอยู่ในขณะนี้ เป็นการปลีกตัวแล้ว ถ้าสติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมในขณะนี้ ก็เป็นการศึกษาและปฏิบัติธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟัง สติย่อมเกิดได้

    ที่ว่าปลีกตัวศึกษาและปฏิบัติธรรม โดยนัยกลับกัน คือ ขณะใดศึกษาและสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นคือปลีกตัว ไม่จำเป็นต้องคิดว่ามีเวลาจำกัดที่จะต้องปลีกตัว แต่ถ้าเข้าใจความหมายจริงๆ จะรู้ว่า ขณะใดที่กำลังฟังและเข้าใจ ขณะนั้นปลีกจากความติด ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ขณะใดที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมพร้อมทั้งปัญญาน้อมพิจารณาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็ปลีกตัว ฉะนั้น ขณะใดที่ปฏิบัติธรรม ขณะนั้นคือการปลีกตัว

    สำหรับเจตสิกซึ่งเป็นอกุศลธรรมได้ ๗ จำพวก ได้แก่ โมหเจตสิก ซึ่งไม่เป็นอุปาทาน และไม่เป็นคันถะ แต่เป็นอวิชชาสวะ ๑ อวิชโชฆะ ๑ อวิชชาโยคะ ๑ อวิชชานิวรณ์ ๑ อวิชชานุสัย ๑ อวิชชาสังโยชน์ ๑ และโมหกิเลส ๑

    โลภะมากกว่าอกุศลเจตสิกอื่นๆ คือ เป็นอกุศลธรรม ๙ จำพวก ทิฏฐิ เป็นอกุศลธรรม ๘ จำพวก โมหะเป็นอกุศลธรรม ๗ จำพวก

    โทสะเป็นอกุศลธรรม ๕ จำพวก คือ พยาปาทกายคันถะ ๑ พยาปาทนิวรณ์ ๑ ปฏิฆานุสัย ๑ ปฏิฆสังโยชน์ ๑ และโทสกิเลส ๑ ไม่เป็นอาสวะ โอฆะ โยคะ อุปาทาน

    วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ความสงสัยในอริยสัจธรรม วิจิกิจฉาเจตสิกเป็นอกุศลธรรม ๔ จำพวก คือ วิจิกิจฉานิวรณ์ ๑ วิจิกิจฉานุสัย ๑ วิจิกิจฉาสังโยชน์ ๑ และวิจิกิจฉากิเลส ๑ วิจิกิจฉาไม่เป็นอาสวะ โอฆะ โยคะ อุปาทาน และคันถะ

    มานเจตสิกเป็นอกุศลธรรม ๓ จำพวก คือ มานานุสัย ๑ มานสังโยชน์ ๑ และมานกิเลส ๑

    อุทธัจจเจตสิกเป็นอกุศลธรรม ๒ จำพวก คือ อุทธัจจนิวรณ์ ๑ อุทธัจจกิเลส ๑

    ถีนเจตสิกเป็นอกุศลธรรม ๒ จำพวก คือ ถีนนิวรณ์ ๑ ถีนกิเลส ๑

    อหิริกเจตสิกเป็นอกุศลธรรมจำพวกเดียว คือ อหิริกกิเลส

    อโนตตัปปเจตสิกเป็นอกุศลธรรมจำพวกเดียว คือ อโนตตัปปกิเลส

    อิสสาเจตสิกเป็นอกุศลธรรมจำพวกเดียว คือ อิสสาสังโยชน์

    มัจฉริยเจตสิกเป็นอกุศลธรรมจำพวกเดียว คือ มัจฉริยสังโยชน์

    กุกกุจจเจตสิกเป็นอกุศลธรรมจำพวกเดียว คือ กุกกุจจนิวรณ์

    มิทธเจตสิกเป็นอกุศลธรรมจำพวกเดียว คือ มิทธนิวรณ์

    สำหรับโทสมูลจิต ๒ ดวง คือ ที่เป็นอสังขาริก ๑ ดวง และสสังขาริก ๑ ดวง มีอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยได้ ๓ ดวง คือ อิสสาเจตสิก ๑ มัจฉริยเจตสิก ๑ กุกกุจจเจตสิก ๑ ซึ่งทั้ง ๓ ดวงนี้จะไม่เกิดพร้อมกัน แต่ขณะใดที่โทสมูลจิตเกิด อาจจะมีอิสสาเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ หรืออาจจะมีมัจฉริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ หรืออาจจะมีกุกกุจจเจตสิกเกิดร่วมก็ได้ หรืออาจจะไม่มีทั้งอิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะเกิดร่วมด้วยเลยก็ได้

    สำหรับลักษณะของกุกกุจจเจตสิก เป็นอกุศลธรรมประเภทนิวรณ์ประเภทเดียว เป็นสภาพที่รำคาญใจเดือดร้อนใจในอกุศลธรรมที่ได้ทำแล้ว และในกุศลธรรมที่ยังไม่ได้ทำ ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องที่เล็กน้อยมาก จนกระทั่งถึงเรื่องที่สามารถทำให้เกิดในอบายภูมิได้

    สำหรับความรำคาญใจเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะเป็นอกุศลจิตที่ไม่ใช่อกุศลกรรมที่ร้ายแรง แต่ก็ทำให้เกิดความรำคาญใจได้ เช่น อาจจะมีบางครั้งที่กิริยาอาการคำพูดไม่เหมาะควรในที่ต่างๆ กับบุคคลต่างๆ หรือแม้แต่เรื่องของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ก็อาจทำให้เกิดความรำคาญใจได้ เช่น ในที่ชุมนุมชน อาจจะเล็บยาวไป หรือแต่งตัวไม่เรียบร้อย แต่งตัวไม่สะอาด หรือมีความบังเอิญอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้รู้สึกเดือดร้อนใจ ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น แม้ว่าสิ่งนั้นจะเกิดและผ่านไปแล้ว ก็ยังอดรำคาญใจไม่ได้ นั่นเป็นลักษณะของกุกกุจจะในชีวิตประจำวัน

    แสดงให้เห็นว่า แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องของอกุศลกรรม แต่ก็ยังทำให้รู้สึกรำคาญใจได้ หรือว่าในการรับประทานอาหาร มีผู้คนมากมายและเกิดทำแก้วตก รำคาญใจไหม ไม่ใช่อกุศลกรรม แต่ถึงอย่างนั้นสภาพธรรมที่เป็นลักษณะของความรำคาญใจก็เป็นอกุศลซึ่งเกิดได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นกรรมที่เป็นอกุศลที่ร้ายแรงกว่านี้ก็ย่อมจะทำให้เกิดความรำคาญใจความขุ่นเคืองใจมากยิ่งกว่านี้

    บางครั้งอาจจะพูดไม่เพราะ ไม่เหมาะสมกับมารดาบิดา และภายหลังกุกกุจจะเกิดไหม นานไหม อาจจะทำให้เกิดความทุกข์ได้หลายชั่วโมง เพราะฉะนั้น เมื่อมีความรำคาญใจเกิดขึ้นขณะใด ควรเป็นข้อเตือนใจที่จะสังวร ไม่ทำให้กายวาจาเป็นไปในทางที่จะให้เกิดความรำคาญใจนั้นอีก โดยเฉพาะต่อผู้ที่มีคุณ

    ข้อความใน คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ มีว่า

    บุคคลหาได้ยากในโลก ๒ จำพวกเป็นไฉน

    บุพพการีบุคคล ๑ กตัญญูกตเวทีบุคคล ๑ บุคคล ๒ จำพวกนี้ หาได้ยากในโลกนี้

    ข้อความใน อรรถกถา ปุคคลบัญญัติ วินิจฉัยในนิทเทสแห่งทุลลภบุคคล คือ ผู้หาได้ยาก แสดงว่า บุคคลหาได้ยากมีทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต คือ

    บุคคลผู้หาได้ยากนั้น ฝ่ายคฤหัสถ์ ๑ ฝ่ายบรรพชิต ๑

    ก็บรรดาคฤหัสถ์ทั้งหลาย มารดาและบิดาชื่อว่าบุพพการี คือ ผู้กระทำอุปการะก่อน ส่วนบุตรและธิดาผู้ปฏิบัติมารดาบิดาและกระทำการอภิวาทเป็นต้น แก่บิดามารดา ชื่อว่ากตเวที คือ ผู้รู้อุปการคุณอันบุพพการีกระทำแล้ว

    สำหรับบรรพชิตทั้งหลาย อาจารย์และอุปัชฌาย์ชื่อว่าบุพพการี อันเตวาสิกและสัทธิวิหาริกทั้งหลาย (ลูกศิษย์และผู้อยู่ร่วม) ที่ปฏิบัติอาจารย์และอุปัชฌาย์ ชื่อว่ากตเวที

    อีกนัยหนึ่ง บุคคลใดเมื่อผู้อื่นยังมิได้กระทำอุปการะเลย และไม่เพ่งเล็งถึงการที่บุคคลอื่นจะกระทำอุปการะแก่ตน แล้วกระทำอุปการะ ผู้นั้นก็ชื่อว่าบุพพการี เปรียบเหมือนบิดามารดาพวกหนึ่ง อาจารย์และอุปัชฌาย์พวกหนึ่ง บุพพการีบุคคลนั้นชื่อว่าหาได้ยาก เพราะความที่สัตว์ทั้งหลายถูกตัณหาครอบงำไว้

    ยากไหมที่จะอุปการะคนอื่น ไม่มีเวลา หรือไม่สามารถช่วยเหลือคนนั้นคนนี้ได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่คิดถึงคนอื่น ใคร่ที่จะสงเคราะห์หรืออุปการะโดยที่ไม่หวังการตอบแทน ใดๆ เลย ผู้นั้นเป็นผู้ที่ชื่อว่าหายาก แต่การที่บุคคลเป็นบุพพการี ชื่อว่าหาได้ยาก เพราะความที่สัตว์ทั้งหลายถูกตัณหาครอบงำไว้ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทำให้เป็นผู้ที่ไม่อุปการะบุคคลอื่น

    สำหรับกตัญญูกตเวทีบุคคล ข้อความใน อรรถกถา ปุคคลบัญญัติ แสดงว่า

    บุคคลใดรู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำในตน ประกาศอยู่ซึ่งอุปการะที่เป็นไปตามสมควรแก่อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้ว ผู้นั้นชื่อว่ากตัญญูกตเวที เปรียบเหมือนบุคคลผู้ปฏิบัติชอบในมารดาและบิดา หรือในอาจารย์และอุปัชฌาย์ทั้งหลาย กตัญญูกตเวทีบุคคลนั้นชื่อว่าหาได้ยาก เพราะความที่สัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาครอบงำไว้

    สำหรับผู้ที่เป็นกตัญญูกตเวทีบุคคล คือ ผู้ที่รู้อุปการคุณที่บุคคลอื่นกระทำในตนแล้วประกาศอยู่ คือ แสดงความรู้คุณความดีของบุคคลนั้นด้วยกาย ด้วยวาจา ทางกายอาจจะโดยความเอาใจใส่ เป็นธุระต้อนรับ เชื้อเชิญดูแลช่วยเหลือต่างๆ ทางวาจาก็เป็นปฏิสันถาร เป็นความเอื้อเฟื้อต่างๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๐ ตอนที่ ๑๓๙๑ – ๑๔๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564