แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1436


    ครั้งที่ ๑๔๓๖


    สาระสำคัญ

    วิถีจิตแรกทุกภพภูมิ ก็คือโลภชวนวิถี

    การให้ผลของกรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ (ต้องอาศัยรูป)

    ภูมิมี ๓๑ ภูมิ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๘


    . ฉะนั้น ผู้ที่เรียกว่า รู้อรรถรส รู้ธรรมรส ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม จนเข้าใจซาบซึ้ง และปฏิบัติตามพระธรรมนั้น

    สุ. ใช่ เพราะบางท่านก็กล่าวว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ได้ศึกษาในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก จะชื่อว่าเข้าใจในลักษณะของนามธรรมได้ไหม หรือว่าเข้าใจขั้นไหน เข้าใจเพียงขั้นฟัง และรู้ว่าสภาพรู้มี คิดได้ นึกได้ว่า นั่นคือสภาพรู้ เพราะว่าสิ่งที่ คิดไม่ได้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ พวกนี้ไม่มีสภาพรู้ ไม่ใช่สภาพรู้ ซึ่งนั่นเป็นเพียงการคิด และเข้าใจในขั้นคิด แต่ลักษณะของกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ ชนิดหนึ่ง เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ ความเข้าใจจะต้องเพิ่มขึ้นด้วย

    ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่า มีนามธรรมและรูปธรรม ไม่มีตัวตน แต่ขณะกำลังเห็นเป็นนามธรรมอย่างไร ที่จะให้เข้าใจคือสติปัฏฐานต้องเกิด ศึกษา ระลึกรู้ จนกระทั่ง รู้ว่านามธรรมคืออย่างนี้ สภาพรู้คืออย่างนี้ ธาตุรู้คืออย่างนี้

    . ถ้าอย่างนั้นผู้ที่จะได้อรรถรส ธรรมรสนี้ ต้องเป็นผู้ที่สติเกิดและประจักษ์ถึงลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมจริงๆ จึงจะได้อรรถรส ธรรมรส

    สุ. ต้องตามลำดับขั้น คือ ไม่ใช่ผู้ที่เผินว่า เป็นผู้ที่รู้แล้วว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ เท่านั้นยังไม่พอ ต้องในขณะกำลังเห็น และเป็นผู้ที่เข้าใจ เป็นผู้ที่พิจารณา เป็นผู้ที่ศึกษาจนกว่าจะประจักษ์แจ้งได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อยู่ในโลกนี้อาจจะเป็นผู้ที่มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เวลาจากไปสู่อบายภูมิ จะไม่มีอะไรจากชาตินี้ติดตามไปเลย สักอย่างเดียว

    ผู้ที่อยู่ในโลกนี้ ในชาตินี้ อาจจะเป็นผู้ที่มีความรู้สูง มีการศึกษามาก เป็นผู้ที่เฉลียวฉลาดในทางโลก แต่เมื่ออกุศลกรรมให้ผล จุติจิตเกิดและดับไป ปฏิสนธิจิต เกิดต่อในอบายภูมิ ความเป็นผู้ฉลาดใดๆ จะไม่เหลือเลย เพราะว่าปฏิสนธิจิตเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอเหตุกจิต เป็นอกุศลวิบากจิต

    อกุศลวิบากจิตนี้ไม่ต้องประกอบด้วยเหตุใดๆ เลย เพราะว่าเมื่อกรรมคือเหตุมี ได้แก่ โลภเหตุก็ดี โทสเหตุก็ดี โมหเหตุก็ดีเกิดขึ้น กระทำกรรมสำเร็จลงไปแล้ว ผลต้องเกิด เพราะฉะนั้น ผลที่เกิดขึ้นจากเหตุ สภาพของผลนั้นไม่ประกอบด้วยเหตุ เพียงแต่ว่าเมื่อเหตุมี ผลก็เกิดเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วย

    กุศลกรรมที่กระทำไป ต้องประกอบด้วยอโลภเจตสิก และอโทสเจตสิก ขณะที่มีความโลภ ความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้น ขณะนั้นกระทำกุศลไม่ได้ แม้แต่ทานก็ สละให้ไม่ได้ การที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นก็ทำไม่ได้ เพราะว่ามีความเห็นแก่ตัว การปฏิบัติธรรมก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่ากำลังสนุกสนานรื่นเริง ไปเที่ยวสนุกสนานดีกว่าที่จะฟังพระธรรม หรือที่สติจะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีโลภะ โทสะ โมหะเป็นเหตุของอกุศล ทำให้เกิดอกุศลวิบาก อกุศลวิบากนั้นไม่ต้องประกอบด้วยเหตุ หรือเมื่อเป็นกุศลกรรม กุศลกรรมต้องประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ และบางครั้งก็ประกอบด้วยอโมหะ เมื่อกรรมสำเร็จลงไปและให้ผล ผลคือวิบากนั้นไม่จำเป็นต้องประกอบด้วยเหตุ เป็นอเหตุกกุศลวิบากจิตด้วย

    แต่ทางฝ่ายกุศล มี ๒ ประเภท คือ นอกจากจะให้ผลเป็นอเหตุกกุศลวิบากแล้ว ยังให้ผลเพิ่มอีกเป็นมหาวิบาก หรือสเหตุกวิบาก คือ วิบากที่ประกอบด้วยเหตุ และจำแนกคนที่เป็นสุคติบุคคลให้ต่างกันไปอีก คือ เป็นคนที่ประกอบด้วยปัญญาหรือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้น อเหตุกจิตที่เป็นวิบาก คือ ที่เป็นผลของกรรม มี ๑๕ ดวง อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวง เป็นวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นกิริยาจิต ๓ ดวง

    สำหรับอเหตุกจิตที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม เป็นอกุศลวิบาก ๗ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๘ ดวง

    แสดงให้เห็นว่า กรรม ทั้งกุศลและอกุศล เมื่อให้ผล ให้ผลเป็นวิบากจิตที่ ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอเหตุกวิบาก เช่น ทางตา ถ้าเป็นอกุศลวิบากก็เป็นจิตที่เห็นเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เห็นสิ่งที่ไม่ดี ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมทางตา ก็คือเป็น จักขุวิญญาณ เห็นสิ่งที่ดี เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาเท่านั้นเอง เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเห็นสิ่งที่ไม่ดี หรือเห็นสิ่งที่ดี จิตที่เห็นนั้นก็ ไม่ประกอบด้วยเหตุ และในวันหนึ่งๆ ก็เท่านี้เอง คือ อเหตุกจิตเกิด ทำกิจการงานมากมาย

    หลังจากปฏิสนธิจิตเกิดและดับไป ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ เป็นกระแสภวังค์ ขณะนั้นยังไม่ได้รับผลของกรรมหนึ่งกรรมใดทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะในขณะที่กำลังเป็นภวังค์ ขณะนั้นไม่รู้อารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น ในขณะที่นอนหลับสนิท ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ตาม ภพภูมิไหนก็ตาม ขณะที่เป็นภวังคจิต ไม่ใช่การรับผลของกรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    สำหรับวิถีจิตแรกที่เกิดทุกภพภูมิ คือ โลภชวนวิถี จะเกิดต่อจากภวังคจิต โดยมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน เพราะจะเปลี่ยนสภาพของจิตจากวิบากซึ่งทำ กิจภวังค์เป็นวิบากอื่นทันทีไม่ได้ เนื่องจากในขณะนั้นภวังคจิตกำลังทำกิจสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นอยู่ เป็นผลของกรรมนั้นที่จะทำให้ยังไม่ตาย ส่วนการที่กรรมใดให้ผลทางตาเห็นสิ่งใด ทางหูได้ยินเสียงอะไรนั้น แล้วแต่ว่ากรรมหนึ่งกรรมใดได้ปัจจัยพร้อมเมื่อไร ก็จะทำให้วิบากจิตนั้นๆ เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น วิถีจิตแรกทางมโนทวารของทุกภพภูมิ มโนทวาราวัชชนจิต ต้องเกิดก่อน จึงจะเป็นวิถีจิตได้ เพราะว่าวิถีจิตแรกต้องเป็นมโนทวาราวัชชนจิต หรือปัญจทวาราวัชชนจิต จะเป็นจิตเห็น จักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณทันทีไม่ได้

    สำหรับทางมโนทวาร ไม่มีจักขุวิญญาณ ไม่มีโสตวิญญาณ ไม่มีฆานวิญญาณ ไม่มีชิวหาวิญญาณ ไม่มีกายวิญญาณ ไม่มีสัมปฏิจฉันนะ เพราะว่าสัมปฏิจฉันนจิตเป็นวิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นสืบต่อจากจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณเท่านั้น สัมปฏิจฉันนจิตจะไม่เกิดทางมโนทวารเลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อภวังคจิตดวงสุดท้ายดับไป มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็น อเหตุกกิริยาจิตเกิดและดับไป โลภชวนะจะเกิด ยินดีพอใจในภพภูมิที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้นและดับไป หลังจากนั้นภวังคจิตก็เกิด ดำรงภพชาติสืบต่อไปอีกจนกว่า กรรมหนึ่งกรรมใดจะให้ผลทางทวารหนึ่งทวารใด

    การที่วิบากจิตจะเกิดขึ้นรับผลของกรรมหนึ่งกรรมใด ทางทวารหนึ่งทวารใด จิตดวงไหน หรือจิตประเภทไหนจะเกิดก่อน คือว่า วิบากจิตซึ่งเป็น จักขุวิญญาณจะเกิดต่อจากภวังคจิตทันทีไม่ได้ การที่จะเปลี่ยนการรับผลของกรรมจากทวารวิมุตติเป็นทวารหนึ่งทวารใด วิถีจิตไหนจะเกิดก่อน จิตประเภทไหนจะเกิดก่อน

    ก็คือปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ปัญจ แปลว่า ๕ อาวัชชนะ แปลว่า รำพึง หรือรู้ว่าอารมณ์กระทบที่ทวารหนึ่ง ทวารใดใน ๕ ทวาร

    เมื่อปฏิสนธิจิตดับ ภวังคจิตเกิดต่อ จากนั้นจึงเป็นวิถีจิต ซึ่งชวนวิถีแรกต้องเป็นชวนวิถีทางมโนทวารก่อน เพราะฉะนั้น ในภพหนึ่งชาติหนึ่ง วิถีจิตแรกที่เกิดต้องเป็นมโนทวาราวัชชนจิต เมื่อดับไปแล้ว โลภมูลจิตเกิดทำชวนกิจสืบต่อจาก มโนทวาราวัชชนจิต ๗ ขณะ และก็ดับ และเป็นภวังค์ต่อ ยังไม่ใช่การรับผลของกรรม จริงๆ เป็นแต่เพียงความยินดีพอใจในภพภูมิที่เกิด เพราะว่าวิบากจิตทางมโนทวาร มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมี แต่เวลาที่เกี่ยวกับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นเรื่องของวิบากทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแต่ละขณะจึงเป็นวิบากจิต คือ เป็นผลของกรรม

    แต่ก่อนที่วิบากจะเปลี่ยนจากภวังคจิตที่กำลังดำรงภพชาติสืบต่อความเป็นบุคคลนั้น ที่จะให้เกิดวิบากเพราะกรรมอื่นขึ้น ต้องมีวิถีจิตแรกซึ่งเป็นกิริยาจิต คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน ต่อจากนั้นจึงจะเป็นจักขุวิญญาณที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ หรือว่าโสตวิญญาณที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ หรือถ้าเป็นทางจมูกก็เป็นฆานวิญญาณที่กำลังได้กลิ่น ขณะที่รับประทานอาหารก็เป็นชิวหาวิญญาณที่กำลังลิ้มรส ขณะนี้ ที่กำลังกระทบสัมผัสก็เป็นกายวิญญาณ เป็นวิบากจิต เป็นการรับผลของกรรม ต่างหากจากภวังคจิต ซึ่งจะต้องเป็นไปทางทวารทั้ง ๕

    . ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงเรื่องของสมองว่า เกี่ยวกับจิต เจตสิก คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ อย่างไรบ้าง

    สุ. จิต เจตสิก เป็นสภาพรู้ และมีวัตถุ คือ รูปเป็นที่เกิด นี่คือตามที่ ทรงแสดง มันสมองก็เป็นรูป ซึ่งไม่ปราศจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชะ

    . จิต เจตสิก จะมีสัญญา ความจำ จะเปรียบเสมือนหนึ่งว่า จิต เจตสิกได้ใช้ให้มันสมองเก็บภาพ ความจำต่างๆ ได้ไหม

    สุ. ไม่มีตัวตนที่จะสามารถใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เลย แม้แต่จิตที่เกิดในขณะนี้ ก็ไม่ใช่ว่าไปอยู่ที่หนึ่งที่ใดมาก่อนและมาเกิดขึ้น แต่อาศัยเหตุปัจจัยพร้อมเมื่อไร จิตประเภทหนึ่งก็เกิดขึ้นทำกิจการงานของจิตประเภทนั้น และก็ดับ เท่านั้นเอง

    . ผมสงสัยว่า ที่แพทย์เขาทดลองให้ดู ใช้ไฟฟ้าจี้จุดๆ หนึ่งว่า จุดนี้จะบังคับให้มือนั้นมือนี้เคลื่อนไหว อีกจุดหนึ่งบังคับให้ขานั้นขานี้เคลื่อนไหว แต่ละจุดสามารถบังคับได้

    สุ. โดยสมมติบัญญัติ มีแขน มีขา มีมันสมอง มีปอด มีตับ มีม้าม มีหัวใจ แต่โดยปรมัตถธรรมก็เป็นรูป ซึ่งเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และ ส่วนผสมของรูปที่ในร่างกายก็เป็นปัจจัยให้เกิดจิตแต่ละประเภททางทวารต่างๆ แล้วแต่ว่าจะกระทบทางทวารไหน ถ้ากระทบกับกายปสาทก็เป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกทางกาย และเมื่อมีความรู้สึกทางกายเกิดขึ้น ก็มีสัญญาความจำในสิ่งที่ปรากฏ ทางกายชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้นเอง

    . จะกล่าวได้ไหมว่า สัญญา ความจำ เหมือนอย่างเลนส์ที่เก็บภาพในสมอง

    สุ. ไม่จำเป็นต้องเปรียบกับอะไรเลย ให้รู้ว่าสัญญาเจตสิกเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง และเกิดกับจิตดวงไหนก็มีอารมณ์เดียวกับจิตดวงนั้น แต่จิตเป็นสภาพรู้ ทำกิจรู้ สัญญาเป็นเจตสิกซึ่งเป็นสภาพจำ เวลาเกิดขึ้นก็จำหมายในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ และมีอารมณ์เดียวกับจิต

    ถ้าคิดทางวิชาการอื่น จะเต็มไปด้วยจิตประเภทต่างๆ ตามหลักของจิตวิทยา หรือไม่ตามหลักของแพทย์ก็จะมีรูปต่างๆ แต่ถ้าคิดโดยปรมัตถธรรมแล้ว ไม่มีอะไร พ้นไปจากจิต เจตสิก รูป

    มันสมองก็ต้องเป็นรูป ซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา และต้องมีกายปสาท เวลาที่กระทบสัมผัสกายปสาทก็ทำให้รู้ว่า ขณะนั้นรูปอะไรปรากฏ รูปเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ส่วนที่จะสมมติเรียกสิ่งที่ปรากฏนั้นว่าอะไร ก็แล้วแต่วิชาการต่าง ๆ

    แต่ละวิชาการ ก็ต้องแยกกัน ถ้าเป็นวิชาทางปรมัตถธรรม ไม่มีอะไรที่พ้นจากจิต เจตสิก รูป จะเรียกว่า มันสมอง ก็ต้องเป็นรูป เรียกว่า ปอด ม้าม หัวใจ เลือด กระดูก เอ็น ก็ต้องเป็นรูป เป็นมหาภูตรูป กับอุปาทายรูป

    การให้ผลของกรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องอาศัยรูป ปราศจากรูปไม่ได้เลย

    ภูมิทั้งหมด มี ๓๑ ภูมิ เป็นปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีขันธ์ ๕ ๒๖ ภูมิ เป็นจตุโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีขันธ์ ๔ ๔ ภูมิ ได้แก่ อรูปพรหมภูมิ ๔ เป็นเอกโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีขันธ์ ๑ ๑ ภูมิ ได้แก่ อสัญญสัตตาภูมิ

    สำหรับภูมิที่มีขันธ์ ๕ ๒๖ ภูมินั้น ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษยภูมิ ๑ สวรรค์ ๖ รวมเป็นกามภูมิ ๑๑ ภูมิ และรูปพรหมภูมิ ภูมิของพรหมที่ยังมีรูป จึงเป็นภูมิ ที่มีขันธ์ ๕ อีก ๑๕ ภูมิ รวมเป็นภูมิที่มีขันธ์ ๕ ๒๖ ภูมิ

    บุคคลใดก็ตามที่เกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ และจะรับผลของกรรมนั้น ต้องอาศัยรูปทั้งสิ้น จะปราศจากรูปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กรรมเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นเพื่อรับผลของกรรม ไม่ว่าจะเป็นในอบายภูมิ ๔ เกิดในนรก กรรมก็ทำให้รูปเกิดขึ้นเพื่อที่จะรับผลของกรรม เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือว่าเกิดในกามสุคติภูมิ ๗ คือ เกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดในสวรรค์ ๖ ชั้น หรือเกิดใน รูปพรหมภูมิภูมิใดภูมิหนึ่งในรูปพรหมภูมิ ๑๕ ภูมิ ก็ต้องอาศัยรูปเป็นทางที่จะรับผลของกรรมตั้งแต่ปฏิสนธิกาล คือ ตั้งแต่เกิดขึ้น

    การอาศัยรูปเกิดขึ้นรับผลของกรรมทั้งหลายในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นั้น ตั้งแต่ ปฏิสนธิกาล คือ ตั้งแต่ในขณะที่เกิด เพราะว่ากรรมหนึ่งทำให้วิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ และถ้าเป็นกรรมที่เนื่องกับรูป ยังเป็นไปกับรูปอยู่ จะทำให้เกิดในภูมิซึ่งมีรูป เพราะฉะนั้น ในขณะที่กรรมนั้นทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมนั้นจะทำให้กัมมชรูปเกิดร่วมด้วย ทุกคนตอนเกิดเป็นมนุษย์ กรรมหนึ่งทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นกุศลวิบากเกิดพร้อมกับกัมมชรูป

    สำหรับในอรูปพรหมภูมิเท่านั้น ที่กรรมทำให้วิบากเกิดขึ้นรับผลของกรรม โดยไม่ต้องอาศัยรูป เพราะว่าอรูปพรหมไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย ตราบใดที่มีการเกิด ก็ต้องเป็นผลของกรรม แต่เมื่อเป็นผลของอรูปฌานกุศล จึงทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิซึ่งไม่มีรูปใดๆ เลย เพราะฉะนั้น การรับผลของกรรม คือ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นพร้อมเจตสิกเป็นอรูปฌานวิบาก เป็นผลของกรรม และในขณะที่เป็นภวังคจิตดำรงภพชาติการเป็นอรูปพรหมบุคคล ในขณะนั้นเป็นผลของอรูปฌานซึ่งไม่ต้องอาศัยรูปใดๆ ทั้งสิ้น ชั่วขณะนั้น เป็นการรับผลของกรรมโดยเกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล

    ถ้าใครสามารถระงับกิเลสทางหนึ่งทางใด และเกิดในภูมิซึ่งกิเลสนั้นถูกระงับ ไว้ได้จะทำให้การรับผลของกรรมน้อยลง เช่น ในรูปพรหมภูมิ ไม่มีการรับผลของกรรมทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะว่าไม่มีฆานปสาท ไม่มีชิวหาปสาท ไม่มีกายปสาท มีแต่การรับผลของกรรมเพียงทางตา ทางหู เพราะฉะนั้น ก็สบายขึ้น คือ ไม่ต้องลำบากเดือดร้อนเกี่ยวกับเรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย มีแต่เพียงจักขุปสาทที่เห็น และโสตปสาทที่ได้ยิน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๔ ตอนที่ ๑๔๓๑ – ๑๔๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564