แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1399


    ครั้งที่ ๑๓๙๙


    สาระสำคัญ

    คัมภีร์สุโพธาลังการ มี ๕ ปริจเฉท

    โอชคุณ คือ ความดื่มใจในพระธรรม

    ประพฤติเมินหน้าให้กับการเล่นหัว

    คุณของพระธรรม

    แสดงภาวะของโสโก คือ อาการเศร้าโศก

    ภาวะของการตัดความสงสัย


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๘


    ข้อ ๑๒๒ มีข้อความว่า โอชคุณ คือ ความดื่มใจ เป็นชีวิต เป็นหัวใจของการประพันธ์ หรือของการแสดงธรรม

    คือ ขณะที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ทรงแสดงขณะใด ขณะนั้นย่อมเป็นโอชคุณ คือ ความดื่มใจ

    ลองคิดถึงขณะที่ยังไม่เข้าใจธรรมเลย กับการที่เริ่มเข้าใจขึ้น กับขณะที่พิจารณาและซาบซึ้งเพราะเป็นสภาพธรรมที่พิสูจน์ได้ และอบรมเจริญปัญญาพร้อมสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นจริงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ขณะนั้นย่อมเป็นโอชคุณ คือ ความดื่มใจ เป็นเรื่องของจิตใจโดยเฉพาะ เป็นโอชะของใจ ซึ่งผู้ที่ไม่ได้ศึกษา หรือผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ ยากที่จะเข้าใจได้ว่า ลักษณะอย่างนั้นเป็นอย่างไร

    ข้อ ๑๒๕ ผู้ที่ได้ความดื่มใจในพระธรรมแล้ว แสดงความรู้สึกที่โน้มน้าวใจว่า แม้เมื่อข้าพระองค์ตายแล้ว ขอกระดูกหัวสมองจงถึงความเป็นธุลี เพราะธุลีเหล่านี้ จะนอนอยู่ใต้คู่พระบาทของพระชินเจ้าด้วยบุญ

    เป็นการแสดงความนอบน้อมอย่างยิ่ง และผู้มีปัญญาย่อมเข้าใจในศรัทธา แรงกล้าของผู้ที่กล่าวคำนอบน้อมอย่างนี้ได้ ซึ่งแต่ละคนที่จะแสดงความนอบน้อม ก็ต้องแล้วแต่ความรู้สึกซึ้งใจหรือว่าความดื่มใจในโอชคุณนั้นๆ

    ข้อ ๑๒๖ แสดงว่าการที่จะมีปัญญากล่าวคำที่โน้มน้าวใจผู้ฟังให้เกิดโอชคุณได้นั้น ต้องเป็นไปด้วยกำลังของการสะสมปัญญา ซึ่งผู้ที่มีปัญญาน้อยหรือท้อถอยก็หมดโอกาส คือ ไม่สามารถที่จะกล่าวคำที่โน้มน้าวใจให้ผู้ที่ได้สดับฟังเกิดโอชคุณขึ้นได้

    ข้อ ๑๓๖ แสดงการสะสมปัญญามามากว่า ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาธุชนทั้งหลายได้เห็นพระรูปสมบัติ ได้ฟังพระดำรัสอันไพเราะ พากันประพฤติเมินหน้าให้กับการเล่นหัว

    ยากสำหรับผู้ที่ปัญญายังไม่ถึงขั้นนี้ แต่สำหรับผู้ที่สะสมปัญญามามาก ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาธุชนทั้งหลายได้เห็นพระรูปสมบัติ ได้ฟัง พระดำรัสอันไพเราะ พากันประพฤติเมินหน้าให้กับการเล่นหัว เพราะว่ามองเห็นความไม่มีสาระ แต่เห็นสาระของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วยพระองค์เองอย่างไพเราะ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่สะสมปัญญามามากจริงๆ ที่จะเป็นอย่างนี้ได้ เพราะแม้ว่าจะได้ฟังพระธรรม แต่ก็ยังเล่นหัว และยังไม่ประพฤติเมินหน้าให้กับการเล่นหัว แสดงว่าจะต้องสะสมปัญญาอีกมากทีเดียว

    ข้อ ๑๗๕ ชนเหล่าใดดูดดื่มพระรัศมีแห่งพระกายของพระองค์ด้วยพนม คือนัยน์ตา พระองค์แม้ว่าทรงกำจัดตัณหาได้ ไฉนเล่าจึงมิได้ทรงสามารถกำจัดตัณหาของชนเหล่านั้นได้

    โดยอธิบายว่า ธรรมดาการดื่มเป็นกิริยาของปาก และใช้สำหรับวัตถุที่เป็นน้ำ แต่ความงามของพระผู้มีพระภาคไม่ใช่น้ำ และตาก็ไม่ใช่ปาก แต่เป็นการพรรณนาให้เห็นว่า แม้พระองค์ทรงสามารถกำจัดตัณหาได้ ไฉนไม่ทรงสามารถกำจัดความ อยากดูอยากเห็นของคนเหล่านั้นได้

    เป็นการพรรณนาความสง่างามที่เลอเลิศของพระผู้มีพระภาคโดยอ้อมให้เห็นว่าชนเหล่าใดดูดดื่มพระรัศมีแห่งพระกายของพระองค์ด้วยพนมคือนัยน์ตา คือ การน้อมไหว้ด้วยนัยน์ตา และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่ไม่สามารถหมดความอยากดูอยากเห็นพระผู้มีพระภาคได้ ยังต้องเป็นผู้ที่มีความอยากดูอยากเห็น ซึ่งเป็นกิเลสและ เป็นตัณหา เป็นกามาสวะนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงมีผู้กล่าวว่า พระองค์แม้ว่าทรงกำจัดตัณหาได้ ไฉนเล่าจึงมิได้ทรงสามารถกำจัดตัณหาของชนเหล่านั้นได้ คือ ไม่ทรงสามารถกำจัดความอยากดูอยากเห็นของคนเหล่านั้นได้

    เป็นการแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาและปัญญาที่จะต้องอบรมต่อไป แม้ในสมัยนี้เอง

    ข้อ ๒๐๓ แสดงคุณของพระธรรมว่า พระชินเจ้าพระองค์นี้ทรงปรากฏแก่ฝูงชนผู้เร่าร้อนด้วยกิเลส เหมือนเมฆในหน้าแล้งปรากฏแก่ฝูงชนผู้เร่าร้อนด้วยความร้อนแห่งความแห้งแล้งฉะนั้น

    เวลาที่ร้อนมากๆ แล้งมากๆ เห็นเมฆแล้วรู้สึกอย่างไร คนที่เร่าร้อนด้วยกิเลส และได้ฟังพระธรรมก็ย่อมจะมีความรู้สึกอย่างนั้น คือ เห็นคุณของพระธรรมว่า เหมือนเมฆในหน้าแล้ง

    ข้อ ๒๕๕ แสดงว่า พระธรรมเทศนานี้ของพระจอมมุนีมีกิจเดียว คือ ประกาศประโยชน์อย่างยอดเยี่ยมยิ่ง จับใจคนทั้งปวง ย่อมยังใจของข้าพระองค์ให้ยินดีโดยแท้

    แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เลื่อมใสบุคคลโดยเหตุอื่น โดยที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจากบุคคลนั้นเลย เพราะฉะนั้น การที่จะเลื่อมใสในบุคคลใด ขอให้ฟังพระธรรมก่อน และพิจารณาพระธรรม เมื่อเป็นพระธรรมที่ถูกต้องควรเลื่อมใส จึงเลื่อมใส แต่ไม่ใช่เลื่อมใสโดยที่บุคคลนั้นยังไม่ได้แสดงพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วเลย

    ข้อ ๓๑๘ แสดงว่า ผู้ไม่สันโดษ ไม่เป็นนักพรตแท้

    ไม่ได้หมายความถึงภายนอก ที่จะเป็นนักพรตแท้ต้องหมายความถึงภายใน

    สภาพที่อาลัยคือตัณหายังกำจัดไม่ได้ ไม่เป็นสันโดษ

    แม้ภายนอกจะแสดงว่าสันโดษเพียงไรก็ตาม แต่ สภาพที่อาลัยคือตัณหายังกำจัดไม่ได้ ไม่เป็นนักพรตแท้ เพราะฉะนั้น สภาพที่ไม่มีอาลัย คือ สภาพที่ไม่ทำความเสื่อมเสียอันไม่มีที่สุดให้แก่ใครเลยนั้น เป็นสันโดษแท้ ได้แก่ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์

    ขอกล่าวถึงข้อความในปริจเฉทที่ ๕ ใน คัมภีร์สุโพธาลังการ เพื่อประกอบเรื่องของอกุศลธรรมที่ได้กล่าวถึงแล้วบางประการ เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลาย มีภาวะ วิภาวะ และอนุภาวะ

    ภาวะ คือ สภาพแท้ๆ วิภาวะ คือ สภาพที่ปรากฏ อนุภาวะ คือ สภาพอื่นๆ ที่ปรากฏด้วย

    ข้อความในปริจเฉทที่ ๕ แสดงภาวะของโสโก คือ

    อาการเศร้าโศกชื่อโสกะ อาการมีความพินาศแห่งวัตถุที่พึงปรารถนาและถูก ทำร้ายเป็นต้นเป็นวิภาวะของโสกะนั้น มีการหลั่งน้ำตาและคร่ำครวญเป็นอนุภาวะ

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงสิ่งซึ่งเกิดร่วมกัน หรือว่าเกี่ยวเนื่องกันของลักษณะอาการของสภาพธรรมต่าง ๆ

    ภาวะของโกโธ คือ อาการกริ้วโกรธ ชื่อว่าโกธะ อาการมีกล่าวกระทบและด่าผู้อื่นเป็นต้นเป็นวิภาวะ อาการมีนิ่วหน้า หน้านิ่วคิ้วขมวดเป็นอนุภาวะ

    เพราะฉะนั้น เพียงเห็นอาการหน้านิ่วคิ้วขมวดก็รู้ถึงจิตใจในขณะนั้นได้ เพราะเป็นอนุภาวะของอาการกริ้วโกรธ คือ โกธะ

    ภาวะของอุตสาหะ คือ อาการองอาจ ชื่ออุตสาหะ อาการมีความเป็นคน กล้าหาญเป็นต้นเป็นวิภาวะ อาการมีความเป็นผู้กล้าหาญที่ชนทั้งปวงพึงรู้ได้ในเวลาต่อสู้กันเป็นอนุภาวะ

    เวลาที่มีความอุตสาหะ จะไม่มีการครั่นคร้ามท้อถอย เพราะฉะนั้น อาการที่องอาจนั่นชื่อว่าอุตสาหะ และ มีความเป็นคนกล้าหาญเป็นต้นเป็นวิภาวะ เป็นสภาพที่ปรากฏ และมีอาการ คือ ความเป็นผู้กล้าหาญที่ชนทั้งปวงพึงรู้ในเวลาต่อสู้กันเป็น อนุภาวะ ฉะนั้น บอกได้ว่าใครกล้าหาญในขณะใด จากภาวะ วิภาวะ และอนุภาวะ

    ภาวะของความกลัว คือ อาการกลัวชื่อภยะ วัตถุมีเสียงฟ้าร้องและสัตว์อันผิดปกติเป็นต้นเป็นวิภาวะ อาการมีเหงื่อไหลและเท้าสั่นเป็นอนุภาวะ

    บางท่านบอกว่ากลัวคนที่หน้าตาน่ากลัว นี่คือ วัตถุมีเสียงฟ้าร้องและสัตว์อันผิดปกติ คือ คนที่ท่าทางดุหรือน่ากลัว นั่นก็ผิดปกติ เป็นวิภาวะ คือ เป็นสภาพที่ปรากฏให้กลัว มิฉะนั้นจะไม่รู้ว่ากลัวอะไร ฉะนั้น เวลาที่กลัวไม่ว่าจะกลัวอะไรก็ตาม ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้กลัว ส่วนอนุภาวะของความกลัว คือ เหงื่อไหลและเท้าสั่น

    ข้อความที่เกี่ยวกับเรื่องความกลัวแสดงว่า เวลาที่ความกลัวเกิดขึ้น คือ กลัว สิ่งที่ผิดปกติ ถ้ามีความเป็นปกติก็ไม่กลัว ไม่เกิดการประหม่า ไม่เกิดอาการใดๆ เลย พิจารณาดูจะเห็นว่า ไม่ว่าจะกลัวสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิดปกติ เช่น บางคนกลัวผี เพราะว่าผีผิดปกติจากคน กลัวเจ็บ เพราะว่าปกติไม่เจ็บ กลัวตาย เพราะว่าปกติมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตาย หรือบางคนกลัวคนที่มีคุณธรรมผิดจากปกติของตน เช่น พระเจ้าอชาติศัตรู แม้ว่าจะทรงเก่งกาจสักเพียงใดก็ตาม แต่ทรงเกรงกลัวคุณธรรมของพระผู้มีพระภาค ไม่กล้าไปเฝ้า

    ภาวะของการเกลียด คือ อาการเกลียด ชื่อชิคุจฉา อาการมีการเห็นสิ่งปฏิกูล มีเนื้อเน่าเป็นต้นเป็นวิภาวะ มีการปิดจมูกเป็นต้นเป็นอนุภาวะ

    สิ่งที่น่าเกลียดก็ได้แสดงไว้หลายอย่าง เช่น สิ่งที่เป็นตับ ไต ไส้ พุงต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ รวมทั้งกลิ่นต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้น มีการปิดจมูก เป็นต้นเป็นอนุภาวะ

    ภาวะของการพิศวง คือ อาการที่พิศวง ชื่อวิมหยา มีการเห็นวิมานและอุทยานของเทวดาเป็นวิภาวะ มีอาการอ้าปากเปิดตาและกล่าวสรรเสริญเป็นต้น เป็นอนุภาวะ

    ไม่มีใครเห็นวิมานและอุทยานของเทวดา แต่ขณะใดที่เห็นสิ่งใดที่น่าอัศจรรย์ ก็อาจจะมีอาการอ้าปาก เปิดตา หรือว่ากล่าวสรรเสริญ เป็นต้น

    ภาวะของการเหน็ดเหนื่อย คือ อาการเหน็ดเหนื่อย ชื่อสมะ อาการเดิน เป็นต้นเป็นวิภาวะ อาการมีเหงื่อออกเป็นต้นเป็นอนุภาวะ

    ไม่จำเป็นต้องเดิน ทำงานมาก หรืออาจจะพูดมาก วิ่งมาก ทำอะไรก็ได้ เล่นมากก็ได้ เป็นต้น ก็เป็นอาการที่ปรากฏของการเหน็ดเหนื่อย โดยที่มีเหงื่อออกเป็น อนุภาวะ

    ภาวะความเซื่องซึมแห่งใจ มีความง่วงเหงาหาวนอนเป็นต้นเป็นวิภาวะ อาการมีความหลับเป็นต้นเป็นอนุภาวะ

    นี่คือการแสดงลักษณะของสภาพธรรมที่มีปรากฏในชีวิตประจำวันต่างๆ

    ภาวะของความโหดร้าย คือ อาการที่โหดร้าย ชื่ออุคคัตตา มีการลงโทษอย่างรุนแรงเป็นต้นเป็นวิภาวะ อาการมีคำรามเป็นต้นเป็นอนุภาวะ

    เวลาโกรธ อาจจะไม่ถึงกับดุร้าย โหดร้าย แต่ขณะใดที่คำราม ขณะนั้นแสดงลักษณะของความโหดร้าย ซึ่งเป็นอนุภาวะของความโหดร้าย

    ภาวะของความเกียจคร้าน คือ อาการที่เกียจคร้าน ชื่ออลสัตตัง มีการพักผ่อนเป็นต้นเป็นวิภาวะ มีการบิดกายเป็นอนุภาวะ

    ขณะใดที่รู้สึกอยากจะพักผ่อน ขณะนั้นทราบสภาพของจิตได้ และมีการบิดกายเป็นอนุภาวะ

    ภาวะของการนอน คือ อาการนอน ชื่อว่าสุตตะ มีอาการหลับเป็นวิภาวะ อาการมีความยินดีในที่นอนสูงเป็นต้นเป็นอนุภาวะ

    ความจริงไม่จำเป็นต้องเป็นที่นอนสูง แต่ที่นอนสูงก็เป็นที่นอนที่น่านอน น่าจะหลับ แต่ถ้าง่วงจริงๆ อยากจะหลับจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นที่นอนสูง เป็นที่นอนเท่านั้นก็ได้

    ภาวะของการตกใจ คือ ความตระหนกแห่งจิต ชื่อตาสะ อาการมีคำรณ คำรามเป็นต้น (มีเสียงดังเกิดขึ้น) เป็นวิภาวะ อาการสะทกสะท้านเป็นต้นเป็นอนุภาวะ

    ภาวะของอาการเจ็บไข้ คือ อาการเจ็บไข้ ชื่อคิลานะ มีความคับใจและความอิดโรยเป็นวิภาวะ อาการมีความผิดสี ผิวเผือดเป็นต้นเป็นอนุภาวะ

    ภาวะของการไม่รอท่า (ขณะที่รีบด่วนรีบเร่งทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด) คือ อาการที่ไม่รอท่ากาลเวลา ชื่ออุสสุกกะ มีความต้องการเห็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์เป็นต้นเป็นวิภาวะ อาการมีความกระวีกระวาดเป็นต้นเป็นอนุภาวะ

    ภาวะของการถือตัวยิ่ง คือ อาการถือตัวยิ่งนัก ชื่อคัพพะ อาการมีความเป็น ผู้ยิ่งใหญ่เป็นต้นเป็นวิภาวะ อาการมีความดูแคลนเป็นต้นเป็นอนุภาวะ

    บางคนไม่คิดว่าตัวเองเป็นผู้ที่ถือตัว แต่ถ้าขณะหนึ่งขณะใดที่มีอาการคือความ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ให้รู้ว่าขณะนั้นมานะเกิดขึ้นแล้ว ที่คิดว่าไม่เป็นคนถือตัวเลย ถ้ามีอาการของความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ จะพูดไม่ได้เลยว่าไม่ถือตัว และมีอาการดูแคลนเป็น อนุภาวะ

    ภาวะของการตัดความสงสัย คือ อาการที่ตัดความสงสัยได้ ชื่อมติ อาการมีการชี้แจงเป็นต้นเป็นวิภาวะ อาการมีหน้าเบิกบานเป็นต้นเป็นอนุภาวะ

    ภาวะของการปราศจากความหลับ (บางคนนอนน้อย เพราะฉะนั้น มีภาวะของการปราศจากความหลับ) คือ อาการที่ปราศจากการหลับ ชื่อวิโพธะ อาการมีความฉงนไปรอบแห่งการนับเวลาเป็นต้นเป็นวิภาวะ อาการมีการขยี้ตาเป็นต้นเป็น อนุภาวะ

    เวลาที่นอนไม่หลับมักจะต้องดูนาฬิกาบ่อยๆ ว่ากี่ทุ่มกี่ยามแล้ว เพราะฉะนั้น มีความฉงนไปรอบแห่งการนับเวลาเป็นต้นเป็นวิภาวะ

    ภาวะของการหลับแห่งใจ อาการหลับแห่งใจ ชื่อนิททา อาการมีอันไม่คิด ไม่กระทำเป็นต้น เป็นวิภาวะ อาการมีหลับตาเป็นต้น เป็นอนุภาวะ

    ภาวะของคนที่เหลือเพียงลมหายใจเข้าออก ชื่อชฬยะ กิริยาที่หยั่งลงสู่ความหลับเป็นวิภาวะ อาการเป็นเหตุตั้งต้นของนิทราเป็นอนุภาวะ

    ภาวะของเหงื่อ ชื่อเสโท อาการมีการพักผ่อนเป็นต้นเป็นวิภาวะ กิริยามีความปรารถนาลมเฉื่อยๆ เป็นต้นเป็นอนุภาวะ

    สังเกตดูได้เวลาที่อยากจะให้มีลมเฉื่อยๆ เพราะว่าขณะนั้นมีเหงื่อ

    ภาวะของน้ำตา ชื่อว่าอัสสุ อาการมีความพิศวง ความเลื่อมใส และรมควัน เป็นต้นเป็นวิภาวะ อาการมีเช็ดนัยน์ตาเป็นต้นเป็นอนุภาวะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๐ ตอนที่ ๑๓๙๑ – ๑๔๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564