แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1430


    ครั้งที่ ๑๔๓๐


    สาระสำคัญ

    อถ.เอก.ความเกิดขึ้นแห่งวิริยสัมโพชฌงค์

    อุปนิสสยปัจจัยมี ๓

    อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง

    อถ.ทุก.อัสสกชาดก


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๒๘


    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมให้ผู้ที่ยังไม่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ ได้พิจารณา เพื่อเป็นเครื่องอบรมบ่มนิสัยในอนาคต

    สำหรับภัยของการเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าได้พิจารณาแล้ว บางท่านย่อมเกิดความเพียรที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลส เพราะแม้จะมีความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานก็ตาม ก็ยังต้องอาศัยวิริยกถาให้เกิดความเพียร ที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม

    และทั้งๆ ที่เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรม สติก็ไม่ระลึกที่ลักษณะที่เป็นนาม หรือลักษณะที่เป็นรูป จึงต้องอาศัยพระธรรมเทศนาอย่างมาก เช่น การแสดงโทษภัยของการเกิดในอบายภูมิ ซึ่งถ้าได้พิจารณาจะทำให้เห็นว่า ในชาติที่เป็นมนุษย์ มีโอกาสที่จะเจริญกุศลทุกประการ ทั้งในเรื่องของทาน ศีล ในความสงบของจิต และในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการอบรมปัญญาให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ไม่มีโอกาสได้ฟังพระสัทธรรม ไม่มีใครชี้หนทางทำให้ปัญญาเจริญได้

    สำหรับธรรมที่เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นของวิริยะ ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต แสดงธรรม ๑๑ ประการ ที่เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งวิริยสัมโพชฌงค์ คือ ความพิจารณาเห็นภัยในอบาย ๑

    สำหรับข้อที่ว่า วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ผู้พิจารณาอบาย คือ การเกิดในอบายภูมิ ได้แก่ การเกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นดิรัจฉาน มีข้อความว่า

    ใครๆ ไม่อาจจะเจริญความเพียรให้เกิดขึ้น ในขณะที่กำลังได้รับความทุกข์ทางกายอย่างใหญ่หลวงได้ในนรก

    แม้แต่เป็นมนุษย์ เวลาที่เกิดทุกขเวทนามาก บางท่านก็กล่าวว่า ไม่สามารถระลึกลักษณะของสภาพของนามธรรมและรูปธรรมได้ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่ายังอบรมเจริญปัญญาและสติปัฏฐานไม่พอ แต่ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานมากพอที่จะมีกำลังแล้ว สติปัฏฐานย่อมสามารถระลึกได้

    แต่ในนรก สัตว์ในนรกได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลาอย่างมาก และปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบากด้วย เพราะฉะนั้น ไม่มีปัจจัยทำให้สามารถเจริญปัญญาได้

    สำหรับสัตว์ดิรัจฉาน เวลาที่ถูกจับด้วยแหและอวน เช่น พวกปลา ปู กุ้ง หรือเวลาลากเกวียน เช่น พวกโค หรือกำเนิดเป็นเปรต เวลาที่กระสับกระส่ายด้วย ความหิว ความกระหายตลอดพันๆ ปีบ้าง หรือว่าพุทธันดรหนึ่งบ้าง เหล่านั้น ย่อมไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้

    เพราะฉะนั้น ในอบายภูมิทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดในนรก เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต ย่อมไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้

    สำหรับอกุศลวิบากซึ่งทำให้ปฏิสนธิในภูมิ ที่มองเห็น ได้แก่ ภูมิดิรัจฉาน จะเห็นได้ว่า ไม่มีดิรัจฉานไหนที่สามารถเจริญกุศลได้เหมือนอย่างมนุษย์ เพราะแม้แต่การดำรงชีพอยู่ก็ด้วยความยากลำบาก ถ้าหิวก็ต้องแสวงหาอาหารตามกำลัง ไม่สามารถปลูกข้าว ต้มแกง ทำอะไรได้ และเวลาที่เจ็บป่วย จะมีการรักษาพยาบาลอย่างมนุษย์ก็เป็นไปไม่ได้

    เมื่อเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานแล้ว มีมหาภูตรูปเกิดด้วย และมีจักขุปสาทซึ่งเป็นกัมมชรูป คือ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม มีโสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ตามควรแก่ลักษณะของสัตว์นั้นๆ และมีโลภะ โทสะ โมหะมากๆ เหมือนมนุษย์ไหม ลองเปรียบเทียบดู เมื่อเกิดมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ดิรัจฉานประเภทใด มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และมีโลภมูลจิต มีโทสมูลจิต มีโมหมูลจิต เหมือนมนุษย์ไหม

    ถ้าเทียบกลับกัน ใครก็ตามซึ่งวันหนึ่งๆ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นโลภะไปทั้งวัน หรือเป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง จะต่างอะไรกับโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิตของสัตว์ดิรัจฉานไหม ถ้าเพียงเท่านี้ จะไม่มีความต่างกันเลย แต่การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของ กุศลกรรม จิตที่ปฏิสนธิเป็นกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น มีความต่างกันตั้งแต่ปฏิสนธิจิต ซึ่งจะทำให้กุศลจิตในอดีตที่เคยเกิดแล้วมีปัจจัยที่จะเกิดอีกได้มากกว่าผู้ที่เป็น สัตว์ดิรัจฉาน หรือผู้ที่เกิดในอบายภูมิ

    . เจตนาเจตสิกกับโทสเจตสิกเกิดร่วมกันไหม

    สุ. เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก

    . ตอนที่เกิดเจตนาเจตสิกที่จะล่วงเป็นอกุศลกรรม โทสะเกิดร่วมด้วยไหม

    สุ. เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น เกิดกับโลภมูลจิตด้วย โทสมูลจิตด้วย และโมหมูลจิตด้วย เวลาที่กรรมนั้นกระทำด้วยโทสมูลจิต โทสเจตสิกเป็นเหตุ แต่เจตนาเจตสิกเป็นกรรม

    . ต่างกัน

    สุ. ต่างกัน เป็นเจตสิก ๒ ดวงที่ต่างกัน ดวงหนึ่งเป็นเหตุทำให้สภาพของจิตนั้นเป็นโทสะ เป็นจิตที่หยาบกระด้างเพราะประกอบด้วยโทสเจตสิก และเมื่อเป็น จิตที่หยาบกระด้าง เจตนาที่ขวนขวายในขณะนั้นก็มีกำลังถึงกับกระทำทุจริตกรรมได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นทางกาย หรือทางวาจา

    สังเกตดูเวลาเป็นจิตที่หยาบกระด้าง ขณะนั้นเวทนาเป็นโทมนัสเวทนา ไม่สบายใจ และความหยาบกระด้างนั้น ถ้ามีกำลังก็จะกระทำทุจริตทางกายหรือ ทางวาจาได้ ถ้าไม่เป็นจิตที่หยาบกระด้างจะประทุษร้ายคนอื่นด้วยกายได้ไหม ถ้าไม่ใช่จิตที่หยาบกระด้างจะประทุษร้ายคนอื่นด้วยวาจาได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น สภาพของเจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย เป็นสภาพที่จงใจ ขวนขวายที่จะกระทำกรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมก็ตาม แต่สำหรับโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เป็นเหตุที่ทำให้จิตนั้นมีสภาพอย่างนั้น

    เจตนาเจตสิก เมื่อเป็นกรรมก็เป็นปัจจัยทำให้วิบาก คือ ผลของกรรมนั้นเกิดขึ้นข้างหน้า โดยเจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย

    สำหรับเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ เช่น อกุศลเหตุ ๓ ได้แก่ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก ไม่ใช่ว่าไม่เป็นปัจจัยเลยในขณะที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตที่กระทำกรรม แต่เมื่อเจตสิกซึ่งเป็นเหตุไม่ใช่ตัวกรรม เจตสิกที่เป็นเหตุนั้นจึงทำให้เกิดวิบากโดยเป็น อุปนิสสยปัจจัย หมายความว่าเป็นปัจจัยที่มีกำลังประกอบร่วมด้วยที่ทำให้อกุศลกรรมนั้นให้ผล

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า การที่กรรมแต่ละกรรมจะให้ผล ต้องมีปัจจัย อื่นๆ ประกอบด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะเพียงกัมมปัจจัยปัจจัยเดียว สภาพธรรมทั้งหลาย คือ จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันทั้งหมด เจตสิกแต่ละประเภทก็ทำกิจเฉพาะของตนๆ เช่น ผัสสเจตสิกกระทบ เวทนาเจตสิกรู้สึก สัญญาเจตสิกจำ เจตนาเจตสิกขวนขวาย ตั้งใจ จงใจ โลภะ โทสะ ก็เป็นเจตสิกซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้จิตประเภทนั้นเป็นลักษณะที่ติดข้อง หรือหยาบกระด้าง และเวลาที่ให้ผล ก็ย่อมร่วมกันให้ผล โดยเป็นปัจจัยต่างๆ ตามลักษณะหน้าที่ของเจตสิกประเภทนั้นๆ

    เมื่อกรรมเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น คือ เจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตเป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากเกิด เจตสิกอื่นๆ เป็นปัจจัยด้วยหรือเปล่า เป็นด้วย แต่ไม่ใช่โดยกัมมปัจจัย แต่โดยอุปนิสสยปัจจัย คือ เป็นปัจจัยซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง

    นิสสยะ แปลว่าที่อาศัย เพราะฉะนั้น อุปนิสสยปัจจัย คือ ปัจจัยซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังตามควรแก่สภาพของวิบากนั้นๆ หรืออกุศลนั้นๆ เพราะว่ากรรมที่จะให้ผล ต้องให้ผลตามควรแก่กรรมนั้นด้วย กรรมเป็นธรรมชาติที่ยุติธรรมที่สุดซึ่งคนอื่นมองไม่เห็น เพราะว่าเป็นสภาพที่ปกปิด แต่ธรรมทั้งหลายเป็นปัจจัยทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เป็นสังขารขันธ์เกิดขึ้นร่วมกัน

    เพราะฉะนั้น การที่กรรมจะให้ผล ต้องแล้วแต่ว่าโลภะมีกำลังแรงไหม โทสะมีกำลังแรงไหม ทำอกุศลกรรมด้วยความเพียรมากไหม และเจตนาในขณะนั้นมี มากน้อยแค่ไหนด้วย

    ถ. ถ้าอกุศลจิตเกิด แต่ยังไม่ได้ล่วงทางทวารต่างๆ จะทำให้เกิดวิบากในกาลข้างหน้าได้หรือเปล่า

    สุ. เป็นการสะสม

    ถ. กุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้วเป็นปัจจัยให้กับกุศลจิตที่จะเกิดต่อไป โดยปัจจัยอะไร

    สุ. อุปนิสสยปัจจัย

    อุปนิสสยปัจจัยมี ๓ คือ อารัมมณูปนิสสยปัจจัย อนันตรูปนิสสยปัจจัย และปกตูปนิสสยปัจจัย สำหรับปกตูปนิสสยปัจจัยนั้นกว้างขวางมาก เช่น กุศลก็ตาม อกุศลก็ตามที่ได้กระทำแล้วไม่สูญหาย จะสะสมสืบต่อเป็นปัจจัยที่มีกำลังทำให้กุศลหรืออกุศลประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นอีก หรือแม้แต่วิบาก คือ ผลของกรรม กรรมมีมาก แต่กรรมใดที่พร้อมให้วิบากเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยอุปนิสสยปัจจัย

    ถ. ในขณะที่คนประกอบงานอาชีพสุจริต เช่น นายช่างซึ่งตั้งอกตั้งใจซ่อมเครื่องยนต์ จิตในขณะนั้นเป็นอกุศลหรือเปล่า

    สุ. เป็น ขณะใดไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบ หรือไม่เป็นไปในสติปัฏฐานคือการเจริญวิปัสสนาภาวนาแล้ว ขณะนั้นทั้งหมด เป็นอกุศลจิต แต่ไม่ใช่อกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ก็น่าคิดว่า สัตว์ดิรัจฉานเกิดมาแล้วก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ และมีโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต และมนุษย์เกิดมา ก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ถ้าจะปล่อยให้มีแต่อกุศลมากก็คงไม่ต่างกับ สัตว์ดิรัจฉานซึ่งมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ แต่ถ้าผู้ใดเจริญกุศล นี่เป็นสิ่งซึ่งทำให้ต่างกัน เพราะว่าโอกาสของการเกิดเป็นมนุษย์ควรจะเป็นโอกาสได้เจริญกุศล ตาถ้าเกิดในอบายภูมิไม่สามารถเจริญกุศลได้

    นี่ก็เป็นวิริยกถาที่แสดงให้เห็นว่า ควรเจริญกุศลทุกประการ เพราะว่าการเกิด การตายเป็นธรรมดาของชีวิต เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องตาย และทุกคนที่เกิดตายๆ ก็ต้องเป็นไปตามกรรม แล้วแต่ว่าในภพไหนชาติไหนจะเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม อย่างในชาตินี้ที่เกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม แต่ตอนที่จะจุติ คือ ตอนที่จะตาย ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่ากรรมใดจะให้ผล

    ทุกคนเคยเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานมาแล้วทั้งนั้น และทุกคนก็เคยเกิดในสวรรค์มาแล้วทั้งนั้น แต่ไม่รู้ว่าชาติไหนเป็นเปรต ชาติไหนเป็นสัตว์ในนรก ชาติไหนเป็น สัตว์ดิรัจฉานประเภทไหน แต่ถ้าคิดถึงสภาพของปรมัตถธรรมโดยไม่คิดถึงรูปร่าง อกุศลวิบากจิตไม่ว่าจะเกิดกับสัตว์ดิรัจฉาน เปรต สัตว์นรก อสุรกาย มนุษย์ หรือเทวดา สภาพของอกุศลวิบากก็เป็นอกุศลวิบาก คือ จิตซึ่งเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ไม่ดีทางตาเหมือนกันหมด

    ถ้าไม่คำนึงถึงรูปร่าง อกุศลวิบากจิตก็คือขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นกำเนิดอะไรทั้งนั้น โสตวิญญาณอกุศลวิบากก็ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ฆานวิญญาณอกุศลวิบากก็ได้กลิ่นที่ไม่ดี ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบากก็ลิ้มรสที่ไม่ดี ทุกขกายวิญญาณอกุศลวิบากก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ทำให้เกิดทุกขเวทนา สัมปฏิจฉันนอกุศลวิบากก็รับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ โดยรู้อารมณ์ที่ไม่ดี และสันตีรณอกุศลวิบากก็เกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ

    นี่คืออกุศลวิบากจิต ๗ ดวง ไม่ว่าจะเป็นในภูมิไหน รูปร่างหน้าตาไม่ต้องคำนึงถึง ก็เป็นเพียงสภาพของจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นผลของอกุศลกรรม

    ทุกคนจะเกิดเป็นดิรัจฉานอีกก็ได้ ใช่ไหม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ว่าใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน โอรสของพระเจ้าแผ่นดิน สมณพราหมณ์ เจ้าอาวาส ก็สามารถเกิดในอบายภูมิเมื่อเป็นผลของอกุศลกรรม

    เวลาที่ผู้เป็นที่รัก ที่เคารพนับถือ เช่น มารดาบิดา หรือว่าสามีภรรยา บุตร ตายจากไป เป็นของธรรมดาที่ทุกคนย่อมเศร้าโศกเสียใจถึงผู้เป็นที่รัก ซึ่งผู้ที่จากไปนั้นอาจจะไปเกิดในกำเนิดหนึ่งกำเนิดใด ภพหนึ่งภพใด ภูมิหนึ่งภูมิใด เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งประเภทใด แม้เป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ได้

    อรรถกถา ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก อัสสกชาดก ข้อ ๒๖๓ – ๒๖๔ มีข้อความว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารนั้น ทรงปรารภพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นทุกข์มากเพราะคิดถึงผู้ที่เคยเป็นภรรยาก่อนบวช พระองค์จึงได้ทรงโอวาทภิกษุนั้น โดยตรัสเล่าอดีตชาติของภิกษุรูปนั้นว่า

    ในอดีตกาล ภิกษุรูปนั้นเป็นพระราชาพระนามว่า อัสสกะ ครองราชสมบัติอยู่ในนครปาฏลิ แคว้นกาสี ทรงมีอัครมเหสีพระนามว่า อุพพรี ซึ่งมีพระรูปโฉมงดงามน่าดู มีพระฉวีเหนือมนุษย์ แต่ยังไม่ถึงวรรณะทิพย์ เมื่อพระนางอุพพรีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอัสสกะทรงเป็นทุกข์โทมนัสยิ่งนัก รับสั่งให้เชิญพระศพของพระนางอุพพรีลงในรางแล้วใส่น้ำมันหล่อไว้ ยกไปตั้งไว้ใกล้พระแท่นไสยาสน์ ทรงอดพระกระยาหารกันแสงคร่ำครวญ พระราชมารดา พระราชบิดา หมู่พระญาติ มิตรอำมาตย์ พราหมณ์ คหบดีเป็นต้น พากันทูลปลอบโยนเป็นต้นว่า อย่าทรงเศร้าโศกไปเลย มหาราช สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง แต่ไม่สามารถทำให้พระองค์คลายความเศร้าโศกได้ พระองค์ทรงคร่ำครวญรำพันอยู่อย่างนั้นล่วงไป ๗ วัน

    ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ (คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้) เป็นดาบส ในครั้นนั้นพระองค์เป็นดาบสสำเร็จอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ อยู่ที่หิมพานต์ เมื่อเจริญอาโลกกสิณตรวจดูโลกด้วยทิพยจักษุ ก็เห็นพระราชาทรงเศร้าโศกอย่างยิ่ง ก็คิดอนุเคราะห์ จึงได้เหาะไปในพระราชอุทยาน และนั่งในพระราชอุทยาน

    มาณพผู้หนึ่งไปที่พระราชอุทยานนั้น เห็นพระโพธิสัตว์ ก็ขอให้พระโพธิสัตว์ช่วยพระราชาให้พ้นจากความทุกข์ด้วย

    พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า เราไม่รู้จักพระราชา แต่ถ้าพระราชาเสด็จมาถาม เรานี่แหละจะทูลบอกที่ที่พระมเหสีไปเกิด จะให้พระนางตรัสสนทนากับพระราชาทีเดียว

    มาณพนั้นก็ได้ขอให้พระโพธิสัตว์นั่งรอ และได้ไปกราบทูลพระราชา เชิญเสด็จไปที่พระราชอุทยานที่พระโพธิสัตว์ผู้มีจักขุทิพย์รออยู่

    พระราชาทรงดีพระทัยที่จะได้ทรงเห็นพระนางอุพพรี จึงได้เสด็จไปที่ พระราชอุทยาน ไหว้พระโพธิสัตว์แล้วประทับนั่ง ณ ส่วนหนึ่งถามว่า

    ได้ยินว่าท่านรู้ที่เกิดของพระนางอุพพรีจริงหรือ

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า จริง

    พระราชาตรัสถามว่า เกิดที่ไหน

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระนางทรงมัวเมาในรูป อาศัยความเมา ไม่ทรงทำกรรมดี จึงไปเกิดในกำเนิดหนอนมูลโค

    พระราชาตรัสว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อ

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า ถ้าเช่นนั้นอาตมาจะแสดงพระนางแก่พระองค์ แล้วให้พูด

    พระโพธิสัตว์ได้ทำให้หนอนสองตัวออกจากก้อนโคมัยด้วยอานุภาพของตน โดยอธิษฐานว่า ขอให้หนอนสองตัวจงชำแรกก้อนโคมัยออกมาเบื้องพระพักตร์พระราชา หนอนสองตัวก็ออกมาตามนั้น

    พระโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงหนอนที่เคยเป็นพระนางอุพพรี จึงทูลว่า

    ข้าแต่มหาราช พระเทวีอุพพรีนี้จากพระองค์ไปแล้ว เดินตามหลังหนอนโคมัยมา ขอพระองค์จงทอดพระเนตรเถิด

    พระราชาตรัสว่า

    พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าสัตว์ที่เกิดในกำเนิดหนอนโคมัยเป็นพระนางอุพพรี

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า

    มหาบพิตร อาตมาภาพจะให้หนอนนั้นพูด

    พระโพธิสัตว์เมื่อจะให้หนอนพูดด้วยอานุภาพของตน จึงเรียกว่า แน่ะนางอุพพรี

    นางหนอนพูดว่า อะไรเจ้าคะ

    พระโพธิสัตว์ถามว่า ในอัตภาพที่ล่วงแล้วท่านเป็นอะไร

    นางหนอนตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นมเหสีของพระเจ้าอัสสกะ ชื่ออุพพรีเจ้าคะ

    พระโพธิสัตว์ถามว่า ก็เดี๋ยวนี้พระราชาอัสสกะยังเป็นที่รักของเจ้า หรือว่าหนอนโคมัยเป็นที่รักของเจ้า

    นางหนอนตอบว่า

    ท่านเจ้าขา พระราชาเป็นพระสวามีของข้าพเจ้าในชาติก่อน ครั้งนั้นข้าพเจ้าเที่ยวชื่นชมรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะกับพระราชานั้นในอุทยานนี้ แต่เดี๋ยวนี้ตั้งแต่ข้าพเจ้าไปต่างภพกันแล้ว พระราชาอัสสกะจะเป็นอะไรกับข้าพเจ้าเล่า

    แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในท่ามกลางบริษัทว่า

    ประเทศนี้ เราผู้มีความจงรัก ได้เที่ยวเล่นอยู่กับพระเจ้าอัสสกะผู้เป็นพระสวามีที่รัก ความสุขและความทุกข์เก่าถูกความสุขและความทุกข์ใหม่ปกปิดไว้ เพราะฉะนั้น หนอนจึงเป็นที่รักของเรายิ่งกว่าพระเจ้าอัสสกะอีก

    พระเจ้าอัสสกะได้สดับดังนั้นแล้ว ทรงแค้นพระทัย รับสั่งให้ย้ายพระศพ พระนางอุพพรีออกไป ทรงสรงสนานพระเศียร แล้วไหว้พระโพธิสัตว์ เสด็จเข้า พระนคร ทรงอภิเษกสตรีอื่นเป็นอัครมเหสี ทรงครองราชย์สมบัติโดยธรรม

    ฝ่ายพระโพธิสัตว์ถวายโอวาทพระราชาให้ทรงหายโศกแล้ว ก็ได้กลับไปยังป่าหิมพานต์

    พระผู้มีพระภาคทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ทรงประชุมชาดก เมื่อจบสัจธรรม ภิกษุผู้เป็นทุกข์เพราะคิดถึงผู้ที่เคยเป็นภรรยาได้บรรลุโสดาปัตติผล ภิกษุผู้เป็นทุกข์เพราะคิดถึงภรรยานั้นเป็นพระเจ้าอัสสกะในครั้งนั้น พระนางอุพพรีและหนอนในครั้งนั้นได้เป็นผู้ที่เป็นภรรยา (ของภิกษุนั้น) ในครั้งนี้ มาณพได้เป็นพระสารีบุตร ส่วนพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นดาบสในครั้งนั้น คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๓ ตอนที่ ๑๔๒๑ – ๑๔๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564