แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1423


    ครั้งที่ ๑๔๒๓


    สาระสำคัญ

    ธัมมสังคินีปกรณ์ - วินิจฉัยข้อปกิณณกะแห่งจิต ๒ ดวง (โมหมูลจิต ๒ ดวง)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๘


    โมหมูลจิตดวงที่ ๒ อุเปกขาสหคตัง อุทธัจจสัมปยุตตัง เป็นสภาพของจิตที่มีกำลังอ่อนที่สุด แต่ก็มีอธิโมกขเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่ความสงสัย ไม่ใช่ความคลางแคลง แม้เป็นสภาพที่ไม่สงบ แต่ก็มีอธิโมกขเจตสิก คือ ปักใจ ในอารมณ์นั้นด้วยความไม่สงบได้

    ธรรมสังคณีปกรณ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ วินิจฉัยข้อปกิณกะ แห่งจิต ๒ ดวง คือ โมหมูลจิต ๒ ดวง มีข้อความว่า

    ก็เมื่อกล่าวถึงว่า ขึ้นชื่อจิตเวียนวนในอารมณ์มีกี่ดวง ดังนี้ ก็พึงตอบว่า มี ๒ ดวงนี้เท่านั้น

    บรรดาจิต ๒ ดวงนั้น อกุศลจิตที่เกิดร่วมด้วยวิจิกิจฉา ย่อมเวียนวนไปโดย ส่วนเดียว ส่วนดวงที่เกิดร่วมด้วยอุทธัจจะ เหตุที่ได้อธิโมกข์จึงได้ที่ตั้งอาศัยเวียนวนไป

    ข้อความในอรรถกถา ต้องพิจารณาถึงอรรถว่า ที่กล่าวอย่างนั้นหมายความว่าอย่างไร ซึ่งในอรรถกถาอุปมาว่า

    เหมือนแก้วมณี ๒ ดวง คือ ดวงกลมและดวงสี่เหลี่ยม เมื่อเขาปล่อยกลิ้งไปในที่ลาดเท แก้วมณีดวงกลมย่อมกลิ้งไปโดยส่วนเดียวทีเดียว ส่วนดวงสี่เหลี่ยม ตั้งแล้วตั้งเล่ากลิ้งไป ข้อนี้ฉันใด พึงทราบข้ออุปไมยเหมือนฉันนั้น

    ข้อความในอรรถกถามุ่งที่จะแสดงว่า โมหมูลจิตดวงที่ ๑ วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยอธิโมกขเจตสิก และโมหมูลจิตดวงที่ ๒ อุทธัจจสัมปยุตต์ ประกอบด้วยอธิโมกขเจตสิกนั้น อุปมาว่า โมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เหมือนกับแก้วมณีดวงกลม เพราะว่าไม่มีอธิโมกขเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อเขาปล่อยกลิ้งไปในที่ลาดเท แก้วมณีดวงกลมย่อมกลิ้งไปโดยส่วนเดียวทีเดียว คือ กลิ้งไปตลอด โดยไม่มีมุมเลย แต่โมหมูลจิตที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ซึ่งมีอธิโมกขเจตสิกเกิดร่วมด้วย เหมือนแก้วมณีดวงสี่เหลี่ยม ซึ่ง ตั้งแล้วตั้งเล่ากลิ้งไป คือ กลิ้งไปโดย ตั้งที่มุม เมื่อมีมุมและกลิ้ง อาการกลิ้งนั้นก็กลิ้งโดยตั้งที่มุม นี่เป็นเพียงคำอุปมา ให้เห็นลักษณะของอธิโมกขเจตสิก

    สำหรับอกุศลทั้งหลาย ย่อมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ เว้นโมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์ ซึ่งเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน จะให้ผลหลังจากปฏิสนธิแล้ว แต่ไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะว่าพระโสดาบันละอกุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ไปสู่อบายภูมิ

    พระโสดาบันบุคคลละจิต ๕ ดวง คือ โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขา ๒ ดวง เป็นอสังขาริก ๑ ดวง สสังขาริก ๑ ดวง และเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๒ ดวง เป็นอสังขาริก ๑ ดวง สสังขาริก ๑ ดวง พระโสดาบันบุคคล ดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ทั้ง ๔ ดวง ไม่เกิดอีกเลย และดับโมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ไม่เกิดอีกเลย

    เพราะฉะนั้น พระโสดาบันบุคคลดับอกุศลธรรมที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดในอบายภูมิได้ แต่พระโสดาบันยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ฉะนั้น โลภะที่ พระโสดาบันยังไม่ได้ดับ โทสะที่พระโสดาบันยังไม่ได้ดับ และโมหะที่พระโสดาบันยังไม่ได้ดับ ไม่เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ

    พระโสดาบันยังมีโลภมูลจิตเหลืออยู่ ๔ ดวง คือ โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แต่ ไม่เป็นเหตุให้ไปอบายภูมิ พระโสดาบันยังมีโทสมูลจิต ๒ ดวงเหลืออยู่ แต่ไม่เป็นเหตุให้ประกอบอกุศลกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ พระโสดาบันมีโมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์ ซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ

    การคิดถึงเหตุผลที่โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จะต้องพิจารณาถึงธรรมที่พระโสดาบันละ เพราะว่าเมื่อพระโสดาบันละอกุศลจิต ๕ ดวง แสดงว่าอกุศลจิตที่พระโสดาบันยังมีเหลืออยู่ ๗ ดวง คือ โลภมูลจิต ๔ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง และโมหมูลจิต ๑ ดวง ไม่เป็นเหตุให้ไปอบายภูมิ ด้วยเหตุนี้ โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ จึงไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากเกิดได้

    . คนที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ตายแล้วอาจจะไปเกิดในอบายภูมิ เพราะว่ากรรมที่ทำในชาติก่อนๆ แต่ทำไมพระโสดาบันก็มีอกุศลกรรมในชาติก่อน ๆ ที่เคยทำ ซึ่งอาจจะต้องตกนรก ทำไมกรรมเหล่านั้นจึงไม่ให้ผล

    สุ. การที่กรรมมีโอกาสให้ผลได้ ก็เพราะว่ายังมีกิเลสอยู่เป็นปัจจัย แต่ถ้ากิเลสดับ ขันธ์ยังไม่ดับ ก็ยังมีปัจจัยให้อดีตอกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าขันธ์ดับหมด ปรินิพพาน ก็ไม่มีปัจจัยให้กรรมในอดีตให้ผลอีกได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าดับกิเลสหมด แต่ยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังมีปัจจัยให้วิบากเกิดจนกว่า จะถึงปรินิพพาน

    เมื่อปรินิพพานแล้ว ดับโดยรอบจริงๆ จะไม่มีกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดอีกได้ เพราะฉะนั้น การดับกิเลส ก็ดับกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดด้วย

    ถ้าอยากจะดับกรรม ก็ต้องดับกิเลส เพราะจะไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ แต่ถ้ากิเลสยังมี ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิด

    . ขณะที่เกิดอกุศลจิต หมายความถึงอโยนิโสมนสิการ

    สุ. เป็นอโยนิโสมนสิการ

    . ขณะที่มีโยนิโสมสิการ การพิจารณาธรรมโดยแยบคาย ในลักษณะที่เป็นตัวเป็นตน คือ เราศึกษาพระธรรมมาเราก็น้อมใจพิจารณา การโยนิโสมนสิการในลักษณะนี้ ช่วยกรุณาขยายความ

    สุ. ที่ว่าเป็นโยนิโสมนสิการในขณะที่กุศลจิตเกิด เพราะว่าไม่มีตัวเรา ที่จะทำได้ ถ้าทำได้ ก็ขอให้ทุกคนทำให้กุศลจิตเกิดมากๆ ใช่ไหม แต่ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิดแสดงว่าขณะนั้น คือ โยนิโสมนสิการ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่จิตเป็นกุศลเกิดขึ้น ต้องเพราะโยนิโสมนสิการ

    และขณะใดที่เป็นอโยนิโสมนสิการ คือ ทั้งๆ ที่ไม่อยากให้อกุศลจิตเกิด แต่ อกุศลจิตก็เกิด เพราะอโยนิโสมนสิการในขณะนั้น ซึ่งเป็นอนัตตา

    นี่คือความหมายของโยนิโสมนสิการ คือ ไม่ต้องไปทำ ไม่ใช่ว่าจะทำ โยนิโสมนสิการ ทำไม่ได้ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ ขณะใด ที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการ เพราะไม่มีใครอยากมีอกุศล แต่อโยนิโสมนสิการเกิดขณะใด ขณะนั้นเป็นอกุศล

    ลักษณะของโมหมูลจิตที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ จะเข้าใจและรู้ได้ในขณะที่ เจริญสติปัฏฐาน ทำให้รู้ว่าขณะที่หลงลืมสตินั้นเป็นอย่างไร เวลาที่สติปัฏฐานเกิด จะต่างกับขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด

    ในขณะนี้ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดจะไม่รู้เลยว่า มีลักษณะของสภาพธรรมอะไรกำลังปรากฏบ้าง แต่เวลาที่สติกำลังเจริญ จะรู้ได้ว่า ในขณะนั้นมีลักษณะของ สภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งปรากฏเพียงสั้นๆ และเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเวลาที่สติปัฏฐาน ไม่เกิด จะไม่สังเกตเลย

    ในขณะนี้ มีเสียงเล็กๆ น้อยๆ ปรากฏไหม ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่ได้สังเกตในเสียงนั้น แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิดจะรู้ได้ว่า แม้เป็นเสียงเล็กน้อยสั้นเพียงไร หรือเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่ปรากฏเพียงสั้นๆ สติก็สามารถระลึกในลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้

    จะเห็นได้ว่า ในวันหนึ่งๆ มีสภาพธรรมที่เป็นปริตตารมณ์ คือ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายอย่างสั้นๆ แต่ไม่ได้สังเกต เพราะว่าไม่ได้สนใจ ต่อเมื่อใดที่สติปัฏฐานเกิดจะรู้ว่า แม้สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเกิดและหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็วนั้น ก็เป็นสติปัฏฐาน คือ เป็นสิ่งที่ปัญญาสามารถจะรู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของสติปัฏฐาน ตรงกันข้ามกับโมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์ ซึ่งเป็นจิตที่ยากจะรู้ได้ เพราะว่าไม่ได้ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก อื่นใด นอกจากอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ และอุทธัจจเจตสิก ๑ และประกอบด้วยอัญญสมานาเจตสิกตามสมควรเท่านั้น

    . สติปัฏฐานกับอายตนะสัมพันธ์กันอย่างไร

    สุ. อายตนะ หมายความถึงสภาพธรรมที่ประชุมกันทำให้เกิดการรู้อารมณ์ เช่น ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก ในขณะนั้นเป็นอายตนะ เพราะว่าจักขุปสาทมี แต่ในขณะใดที่ ไม่เห็น ขณะนั้นไม่ได้ประชุม คือ ไม่ได้กระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา การเห็นจึงไม่เกิดขึ้น

    โสตปสาท เป็นรูปที่สามารถรับกระทบเสียงได้ แต่ขณะใดที่ไม่ได้กระทบกับเสียง ขณะนั้นก็ไม่เป็นอายตนะ คือ ไม่ได้ประชุมกันที่จะให้เกิดสภาพรู้ขึ้น เพราะฉะนั้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งมีสภาพรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นอายตนะ แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    . วันหนึ่งๆ เราเป็นไปตามอายตนะมากมายเลยใช่ไหม

    สุ. ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดจะไม่ทราบเลยว่า สภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในวันหนึ่งๆ มากมายสักแค่ไหน เพราะถึงแม้ว่าเราจะแบ่งวันเวลาให้สั้นที่สุดจนกระทั่งถึงเสี้ยววินาทีที่รู้สึกว่าเล็กน้อยมากแล้ว สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นนั้น สั้นและเล็กน้อยยิ่งกว่านั้นอีก

    เช่น ทางตากำลังเห็น และทางหูกำลังได้ยิน เป็นเสี้ยววินาทีหรือยังในขณะนี้ ในขณะที่ทางตาเห็น และทางหูได้ยินในขณะนี้ มีสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ ทางจักขุทวารวิถีซึ่งเห็น ทางโสตทวารวิถีซึ่งได้ยิน ทางมโนทวารวิถีซึ่งรับรู้สิ่งที่ปรากฏ ทางตาต่อจากทางจักขุทวารวิถี หรือรับรู้สิ่งที่ปรากฏคือเสียงต่อจากทางโสตทวารวิถี และก็มีภวังคจิตคั่น ในขณะนี้เองซึ่งเหมือนกับเห็นและได้ยิน ซึ่งไม่สามารถแยกเป็นเสี้ยววินาทีได้ ก็ยังมีนามธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็วมากมาย ทั้งทางจักขุทวารวิถี ทางมโนทวารวิถี และทางโสตทวารวิถี ทางมโนทวารวิถี และภวังคจิตที่คั่นระหว่างวิถี วาระหนึ่งๆ

    วันหนึ่งๆ ก็ลองคิดดูว่า จิตเจตสิกจะเกิดดับมากมายสักแค่ไหน จนกระทั่งไม่สามารถรู้ได้ว่ารวดเร็วแค่ไหนถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแต่ละอย่างในวันหนึ่งๆ ที่จะเห็นว่าเป็นอนัตตา ก็เพราะว่ายับยั้งไม่ได้ที่จะไม่ให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว อย่างที่ได้กล่าวถึงว่า แม้ในขณะนี้ที่จะรู้ว่า นามธรรมแต่ละขณะเกิดและดับไปรวดเร็วแค่ไหน ก็โดยการเห็นและได้ยินอย่างนี้ ระหว่างจักขุทวารวิถี คั่นด้วยภวังค์ มโนทวารวิถี คั่นด้วยภวังค์ และก็ถึงโสตทวารวิถี คั่นด้วยภวังค์ มโนทวารวิถี คั่นด้วยภวังค์ ไม่รู้เลย ใช่ไหม แต่ปรากฏเสมือนว่า ทั้งเห็นและได้ยินด้วย

    เพราะฉะนั้น แสดงว่านามธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่มีทางที่จะประจักษ์ในความไม่ใช่ตัวตน ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ และถ้ารู้ว่าไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป อยากจะดับสภาพธรรมเหล่านี้ให้หมด ไม่ให้เกิดอีกเลยหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับโยนิโสมนสิการ และอโยนิโสมนสิการ

    ถ้าเป็นอโยนิโสมนสิการ ไม่สนใจเลยที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าเป็นโยนิโสมนสิการ จะสนใจและเห็นความไม่มีสาระของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นมาเพียงเล็กน้อยนิดเดียวและดับไป แต่ถ้ายังไม่เห็นการเกิดดับจะไม่รู้เลยว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นสั้นและเล็กน้อยแค่ไหน และถึงแม้จะมีผู้ที่รู้สึกหน่ายต่อการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์วันแล้ววันเล่า ชาติแล้วชาติเล่า แต่ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถดับสภาพธรรมเหล่านี้ได้

    และการดับสภาพธรรม ต้องดับตามลำดับขั้นด้วย เช่น การที่จะดับผัสสเจตสิก หรือเวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิกเหล่านั้น ต้องดับผัสสเจตสิก ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ และผัสสเจตสิกที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ก่อน เพราะการที่จะดับกิเลสต้องดับเป็นลำดับขั้น

    สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล ดับทิฏฐิเจตสิก เพราะฉะนั้น ไม่มี โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เลย นอกจากนั้น พระโสดาบันบุคคลดับโมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ จึงไม่มีวิจิกิจฉาสัมปยุตต์เกิดอีกเลย

    สำหรับพระโสดาบันบุคคล ผัสสเจตสิกจะไม่กระทบกับความเห็นผิดอีกเลย ไม่มีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน หรือว่าเที่ยง แม้เวทนาเจตสิก สำหรับ พระโสดาบันบุคคลก็จะไม่เกิดขึ้นรู้สึกโสมนัสยินดีในความเห็นผิดอีกเลย แม้ สัญญาเจตสิกก็จะไม่จำหมายด้วยความเห็นผิดในสภาพธรรมอีกเลย แม้เจตนา หรือเอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ เจตสิกอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ จะไม่เกิดกับความเห็นผิด หรือมิจฉาทิฏฐิอีกเลย

    เพราะฉะนั้น การดับสภาพธรรม ต้องดับเป็นส่วนๆ ตามลำดับขั้นของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล แต่ผัสสะที่ไม่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์และโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ก็ยังคงเกิดต่อไป จนกว่าจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล พระอรหันต์ จึงสามารถที่จะดับสภาพธรรมทั้งหมดได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๓ ตอนที่ ๑๔๒๑ – ๑๔๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564