แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1385


    ครั้งที่ ๑๓๘๕


    สาระสำคัญ

    ส.นิ.อัสสุสูตร - ทุกข์ของแต่ละคนที่ประสบในสังสารวัฏฏ์

    ติณกัฏฐสูตร - สังสาระนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

    องฺ.ติก.วัชรสูตร - บุคคล ๓ จำพวก

    โทสมูลจิต ๒ ดวง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๗


    ในพระสูตร ได้กล่าวถึงความทุกข์ซึ่งแต่ละคนประสบผ่านมาในสังสารวัฏฏ์ เช่น ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อนมตัคคสังยุตปฐมวรรคที่ ๑ อัสสุสูตร ข้อ ๔๒๕ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน

    ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระอภิธรรมโดยละเอียดตลอดเวลา แต่ทรงแสดงธรรมที่จะเตือนให้บุคคลนั้นระลึกถึงการที่ถ้ากิเลสยังไม่ดับ ปัญญายังไม่เจริญ ก็ไม่สามารถพ้นไปจากการร้องไห้ หรือความโศกเศร้าต่างๆ ในสังสารวัฏฏ์ได้ จึงได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ที่เคยร้องไห้มาแล้วในสังสารวัฏฏ์ กับน้ำในมหาสมุทร สิ่งไหนจะมากกว่ากัน

    ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกข้าพระองค์ผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะการประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

    ผู้ที่เห็นทะเล ก็ควรจะระลึกได้ว่า น้ำตาของท่านในสังสารวัฏฏ์นั้น มากกว่าน้ำในมหาสมุทรอีก

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถูกละๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา โดยกาลนานนี้แหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

    พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดาตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

    พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบิดา ... ของน้องสาว ... ของธิดาเป็นต้น ความเสื่อมแห่งญาติ ... ความเสื่อมแห่งโภคะ ... ได้ประสบความเสื่อมเพราะโรค เป็นต้น ตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบความเสื่อมเพราะโรค คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะว่าสังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขาร ทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

    จบ สูตรที่ ๓

    ไม่ใช่ว่าภิกษุเหล่านั้นจะไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าจะเป็น ผู้เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็จริง แต่ถ้าไม่มีพระธรรมเทศนาที่ทรงเตือนให้ระลึกถึงสภาพของสังขารซึ่งเป็นทุกข์ สติย่อมไม่เกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และพระผู้มีพระภาคก็ไม่ได้ทรงอุปมาเพียงน้ำตากับน้ำในมหาสมุทรเท่านั้น ยังมีข้อความใน ติณกัฏฐสูตร ข้อ ๔๒๑ - ๔๒๒ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

    เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้วพึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเราโดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้น ไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่าหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

    เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน เหมือนฉันนั้น

    ข้อความต่อไป ใน ปฐวีสูตร ข้อ ๔๒๓ - ๔๒๔

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษปั้นมหาปฐพีนี้ให้เป็นก้อน ก้อนละเท่าเม็ดกระเบาแล้ววางไว้ สมมติว่า นี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดาของบิดาของเรา โดยลำดับ บิดาของบิดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนมหาปฐพีนี้พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

    ท่านผู้ฟังที่อยากจะรู้ว่า เมื่อไรโลกเราจะหมดไป ก็ควรคิดถึงที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ให้เอาดินมาปั้นเป็นก้อน ก้อนละเท่าเม็ดกระเบา และสมมติว่า นี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดาของบิดาของเรา จนกระทั่งหมดโลกนี้ แต่สังสารวัฏฏ์ก็ยังไม่หมด ก็จะต้องมีทุกข์สืบต่อไปอีก

    นอกจากนั้น พระผู้มีพระภาคยังได้ตรัสไว้ใน ขีรสูตร ข้อ ๔๒๗ - ๔๒๘ ว่า

    น้ำนมมารดาที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนานนั้น ดื่มแล้วนั่นแหละมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ เพราะสังสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทุกข์ต่างๆ โดยนัยของพระสูตร ซึ่งแต่ละภพแต่ละชาติก็ต้องมีทุกข์ที่ไม่เหมือนกับชาตินี้เลย ชาติก่อนใครเคยมีทุกข์อย่างไหน ก็ ไม่เหมือนกับทุกข์ของชาตินี้แน่นอน และทุกข์นั้นก็ผ่านไปหมดแล้ว ทุกข์ในชาตินี้ก็ ใกล้จะจบสิ้นด้วยความตาย และจะต้องตั้งต้นทุกข์ของภพชาติต่อไปอีก แต่ไม่ว่าจะเป็นทุกข์มากมายในสังสารวัฏฏ์อย่างใด ขณะใดที่โทมนัสเวทนาเกิด ขณะนั้นต้องเป็นโทสมูลจิต ซึ่งโดยประเภทมี ๒ ดวง ได้แก่ โทมนัสสสหคตัง ปฏิฆสัมปยุตตัง อสังขาริกัง ๑ ดวง และ โทมนัสสสหคตัง ปฏิฆสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ๑ ดวง

    ทั้งๆ ที่ทุกข์มากมาย แต่ว่าโดยปรมัตถธรรม โดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ได้แก่ โทสมูลจิต ๒ ดวง

    บางท่านเป็นห่วงว่า ท่านฟังแต่ธรรมไปเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมเลย ซึ่งตามความเป็นจริงนั้น ขณะที่ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดขึ้น นั่นคือการศึกษาปรมัตถธรรมหรืออภิธรรมนั่นเอง เพราะว่านามธรรมและรูปธรรมเป็น ปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรม

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาความละเอียดของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ได้รู้ว่า ขณะใดเป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต และขณะใดเป็นจิตที่เป็นวิถีจิต ขณะใดเป็นจิตเห็นซึ่งเป็นวิบาก ขณะใดเป็นจิตที่เป็นกุศลและอกุศลซึ่งเป็นเหตุ ขณะนั้น คือ การศึกษาพระอภิธรรมนั่นเอง เพราะว่าสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดนั้น แสดงไว้ในอภิธรรมปิฎก และอภิธัมมัตถสังคหะทั้งนั้น

    ข้อความทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงแล้วนี้ คือ ปรมัตถธรรม หรืออภิธรรม ซึ่งกล่าวถึงสภาพธรรมโดยละเอียดต่างๆ และต้องรู้จุดประสงค์ของการศึกษาว่า การศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะหรืออภิธรรมปิฎกนั้นเพื่ออะไร

    ไม่ใช่เพื่อที่จะจำว่ามีจิตกี่ดวง มีเจตสิกกี่ดวงและเกิดกับจิตกี่ดวง แต่เพื่อ ปรุงแต่งเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อที่จะเข้าใจจริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้

    เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นจะรู้ไหมว่า มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ จะรู้ไหมว่า มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง และจะคิดหรือเปล่าว่า ในขณะที่กำลังได้ยิน เป็นจิตอะไร มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง แต่ว่าในขณะที่ สติปัฏฐานเกิด ปัญญากำลังพิจารณา ศึกษา สังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น การศึกษาปรมัตถธรรมส่วนละเอียด เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เมื่อสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ปัญญาที่เคยได้ยินได้ฟัง เคยพิจารณา เคยเข้าใจส่วนละเอียดของสภาพธรรมนั้นๆ จะช่วยทำให้พิจารณาได้ถูกต้องว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะพึงยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะว่าเป็นเพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้นที่ปรากฏ

    ต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการฟังธรรม หรือการศึกษาธรรมทั้ง ๓ ปิฎกด้วยว่า เพื่อประโยชน์ให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น และปัญญาสามารถรู้ชัดในลักษณะสภาพธรรมจนสามารถดับกิเลสได้

    สำหรับโทสมูลจิต ๒ ดวง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในวันหนึ่งๆ นั้น ควรรู้ว่า เกิดขึ้นเพราะอกุศลเจตสิกกี่ดวงเป็นปัจจัยบ้าง เพื่อเกื้อกูลไม่ให้ยึดถือโทสมูลจิตที่เกิดปรากฏในขณะนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน

    จะขอกล่าวถึงทีละดวง คือ

    โทสมูลจิตดวงที่ ๑ โทมนัสสสหคตัง ปฏิฆสัมปยุตตัง อสังขาริกัง เป็น โทสมูลจิตซึ่งเกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา เกิดเองตามปัจจัย โดยไม่อาศัยการชักจูง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๗ ดวง คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๒ ดวง เว้นปีติ อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง และโทสเจตสิก ๑ ดวง รวมเป็น ๑๗ ดวง แต่ถ้ามีอกุศลเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น อิสสาเจตสิก หรือมัจฉริยเจตสิก หรือกุกกุจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะเพิ่มขึ้นอีก ๑ ดวง เป็น ๑๘ ดวง

    สำหรับสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ได้แก่ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑ เจตสิกเหล่านี้ต้องเกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต มหัคคตจิต หรือโลกุตตรจิต จะต้องมี สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น โทสมูลจิตดวงที่ ๑ ต้อง มีสัพพจิตตสาธารณเจตสิกทั้ง ๗ เกิดร่วมด้วย

    สำหรับปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง คือ เจตสิกซึ่งเว้นไม่เกิดกับจิตบางดวง ตามควร ได้แก่ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ ฉันทเจตสิก ๑

    ปกิณณกเจตสิกทั้งหมดมี ๖ ดวง แต่เกิดกับโทสมูลจิตได้เพียง ๕ ดวงเท่านั้น คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ และฉันทเจตสิก ๑ เว้นปีติ เพราะปีติต้องเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา จะไม่เกิดร่วมกับโทมนัสเวทนาเลย

    อัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกที่สามารถเกิดกับจิตได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นชาติกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ไม่ว่าจะเป็นภูมิใดก็ตาม อัญญสมานาเจตสิกทั้งหมดมี ๑๓ ดวง เว้นไม่เกิดกับโทสมูลจิตเพียง ๑ ดวง คือ ปีติเจตสิก เพราะฉะนั้น อัญญสมานาเจตสิกจึงเกิดกับโทสมูลจิตได้ ๑๒ ดวง

    อกุศลสาธารณะเจตสิก ๔ คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑ ต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็น โลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต

    เพราะฉะนั้น โทสมูลจิต มีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๒ ดวง และมี อกุศลสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง เป็น ๑๖ ดวง นอกจากนั้นยังมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือ โทสเจตสิก ๑ ดวง รวมเป็น ๑๗ ดวง ถ้าอิสสา หรือมัจฉริยะ หรือกุกกุจจะไม่เกิดร่วมด้วย

    นี่เป็นขณะหนึ่งๆ ซึ่งโทมนัสเวทนาเกิดร่วมกับโทสมูลจิต

    ถ้าเป็นโทสมูลจิตดวงที่ ๒ ที่เป็นสสังขาริก ก็มีถีนเจตสิกและมิทธเจตสิก เกิดร่วมอีก รวมเป็น ๑๙ ดวง หรือ ๒๐ ดวง ถ้ามีอิสสา หรือมัจฉริยะ หรือกุกกุจจะเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่โทสมูลจิตที่เป็นสสังขาริกเกิดขึ้น จะต้องมีถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือ ไม่ต้องมีถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้แม้เป็นสสังขาริก

    . โสกะ ปริเทวะ อุปายาสะ เป็นอกุศลเจตสิกดวงไหนบ้าง

    สุ. ที่กล่าวถึงเมื่อกี้ คือ โทสมูลจิต ต้องมีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๒ ดวง เว้นปีติ และต้องมีอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง เกิดร่วมด้วย รวมเป็น ๑๖ ดวง และมีอกุศลเจตสิก คือ โทสเจตสิกอีก ๑ ดวง เกิดร่วมด้วย จึงเป็น ๑๗ ดวง ถ้าไม่มีอิสสา หรือมัจฉริยะ หรือกุกกุจจะ ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตได้เท่านั้น

    . ยังไม่เข้าใจว่า โสกะ ปริเทวะ อุปยาสะนั้น เป็นอกุศลเจตสิกดวงไหน

    สุ. ดวงเดียวหรือ

    . ดวงไหนบ้าง

    สุ. ถ้ากล่าวถึงความรู้สึกเสียใจ ขณะนั้นเป็นโทมนัสเวทนา เป็น เวทนาเจตสิก ถ้ากล่าวถึงความไม่สบายใจในขณะที่ร้องไห้คร่ำครวญ ทุกข์โศก ไม่มีใครรู้สึกสบายใจเลยในขณะนั้น ก็ต้องเป็นโทสเจตสิก

    . ในส่วนของอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ก็มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีโทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ เรียนถามว่า โสกะ ปริเทวะ จะเป็นดวงไหน

    สุ. ไม่เป็นอิสสา ได้ไหม ไม่เป็นมัจฉริยะ ได้ไหม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๑๓๘๑ – ๑๓๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 90
    28 ธ.ค. 2564