ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 09


    ตลับที่ ๕

    ทรง.ก. ขณะนั้นต้องการฟังพระธรรมมากกว่า

    อ.จ. ขณะนั้นเป็นกุศล

    ทรง.ก. แต่ว่าเป็นการแสวงหาเหมือนกันนี่ครับ

    อ.จ. แสวงหากุศล ไม่ใช่แสวงหารูป

    ทรง.ก. ก็หมายความว่า แสวงหากุศล จิตก็เป็นกุศล

    อ.จ. แน่นอน เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เมื่อกล่าวโดยนัยของจิตปรมัตถ์ ได้แก่จิตทั้งหมด ๘๔ ดวง เว้นจิต ๕ ดวงคือ เว้นโทสมูลจิต ๒ ดวง เว้นโมหมูลจิต ๒ ดวง และเว้นทุกขกายวิญญาณจิต ๑ ดวง

    ถ้ากล่าวโดยนัยของเจตสิกปรมัตถ์ เว้นเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต และโมหมูลจิต ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    ถ้ากล่าวโดยนัยของรูปปรมัตถ์ รูปทั้งหมดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของเฉพาะโลภมูลจิต

    ถ้ากล่าวโดยนัยของนิพพาน นิพพานเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแน่นอน เพราะเหตุว่าเป็นอารมณ์ที่หนักแน่น เป็นที่พอใจของโลกุตตจิต และมหากุศลญาณสัมปยุตต์ และมหากิริยาญาณสัมปยุตต์ แต่นิพพานหรือโลกุตตร

    จิตทั้ง ๘ ดวง ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปของโลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน จึงควรที่จะรู้ว่า อะไรเป็นอารมณ์ของโลภะ และอะไรเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต เพราะเหตุว่า วันหนึ่งๆ กุศลจิตเกิดน้อยกว่าโลภมูลจิตมาก

    สำหรับโทสมูลจิตก็ดี โมหมูลจิตก็ดี หรือว่าทุกขกายวิญญาณ ไม่เป็นที่ปรารถนา เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    และสำหรับรูป ซึ่งทุกๆ ท่านพอใจแสวงหาอยู่เสมอ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รูปใดซึ่งกำลังเป็นที่พอใจ ขณะนั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย พอใจอย่างหนักแน่น ไม่ใช่เฉยๆ เพราะเหตุว่า ตั้งแต่ตื่นมา โลภะนับไม่ถ้วน แต่ยังไม่ปรากฏว่าปรารถนา หรือพอใจ หรือแสวงหาสิ่งใดเป็นพิเศษ ขณะใดที่รู้สึกว่าต้องการสิ่งใด พอใจสิ่งใด แสวงหาสิ่งใดเป็นพิเศษ ขณะนั้น ให้ทราบว่าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย และควรที่จะได้ทราบด้วยว่า เมื่อเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว เป็นอารัมมณธิปติปัจจัยของโลภมูลจิตเท่านั้นสำหรับรูป

    นี่เป็นประโยชน์ที่ว่า ท่านผู้ฟังจะได้ขัดเกลาการติดอย่างมากในรูป เพราะเหตุว่า อย่าเข้าใจผิดว่าบางรูปจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศล

    รูปเป็นอารัมมณปัจจัยของกุศลจิตได้จริง แต่ไม่มีสักรูปเดียวที่จะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตได้

    เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ถ้าเกิดพอใจรูป แล้วก็คิดว่าเป็นกุศล ควรที่จะได้ระลึกถึงอารัมมณาธิปติปัจจัยว่า ถ้าเป็นกุศลแล้วไม่ติด สละวัตถุนั้นได้ ขณะนั้นจึงเป็นกุศล แต่ว่าไม่ว่าจะพอใจในรูปใดก็ตาม และเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นกุศล ก็ขอให้พิจารณาว่า ถ้าเป็นรูปแล้ว และมีความพอใจอย่างมาก ในขณะนั้นต้องไม่ใช่กุศล

    ทรง.ก. ตรงนี้ก็น่าคิดอยู่ ที่อาจารย์กล่าวว่า รูปทั้งหมดไม่เป็นอารมณ์ของกุศล

    อ.จ. ขอประทานโทษ ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย อย่าลืมแยกกันว่า รูปเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ แต่รูปเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้

    ท่านผู้ฟังให้ทาน ก็เป็นไปในเรื่องรูป ในขณะนั้นไม่ติด สามารถที่จะเป็นกุศล สละได้ เพราะฉะนั้น รูปจึงเป็นอารัมมณปัจจัย เป็นอารมณ์ของกุศจิต แต่รูปทั้งหมดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้ อันนี้เพื่อประโยชน์ที่ท่านจะได้ละคลายอกุศล ให้รู้ว่าขณะที่กำลังพอใจอย่างหนักแน่น ในรูปหนึ่งรูปใด ในขณะนั้นรูปนั้น จะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลไม่ได้

    ทรง.ก. รูปของพระพุทธเจ้าจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตก็ไม่ได้

    อ.จ. เป็นอารัมมณปัจจัยได้ แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยไม่ได้

    ทรง.ก. ก็น่าคิด ขณะที่มัทกุณทลี พระพุทธเจ้าเสด็จไปทำให้กุศลจิตของท่านเกิด

    อ.จ. ขณะนั้นกุศลจิตเกิดใช่ไหม รูปนั้นเป็นเพียงอารัมมณปัจจัย อย่าลืม แต่ขณะใดก็ตามที่เกิดติดในรูปนั้น ให้ทราบว่าในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตเสียแล้ว

    เพราะฉะนั้น การนอบน้อมเคารพสักการะ จึงต้องมีเหตุผลว่านอบน้อมเคารพสักการะในอะไร ในคุณธรรม ในพระคุณต่างๆ และถ้าเป็นการที่จะเกิดกุศลจิต ในขณะที่มีรูปเป็นอารมณ์ ก็จะต้องรู้ว่า ไม่ใช่ในขณะที่เป็นโลภมูลจิต ถ้าเกิดการติด หรือเกิดพอใจอย่างมาก อย่างหนักแน่น อย่างประทับใจ ก็ให้ทราบว่าในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

    จิตเกิด – ดับสลับกันเร็วเหลือเกิน และลักษณะของจิตที่คล้ายคลึงกัน คือกุศลจิตที่ประกอบด้วยศรัทธา และโลภมูลจิต ถ้าสติไม่ระลึกรู้ ก็อาจจะคิดว่าอกุศลจิตเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น ในเรื่องของปัจจัย จึงได้แสดงไว้ โดยละเอียดกว่านี้มากทีเดียว ว่าสภาพธรรมที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นปัจจัยให้เกิดจิตประเภทไหน ซึ่งเป็นปัจจยุปปันนธรรม

    “ปัจจัย” เป็นเหตุให้เกิดผล คือ “ปัจจยุปปันนธรรม”

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่ารูปทั้งหมด อย่าลืม เป็นอารัมมณปัจจัยของกุศลจิต แต่ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต มิฉะนั้น ก็จะหลงมีอกุศล แล้วก็เข้าใจว่าเป็นกุศลทั้งนั้น ท่านผู้ฟังชอบดอกไม้ชนิดไหน บางท่านก็อาจจะถามกันใช่ไหม ประเภทนั้นที่ชอบเป็นพิเศษ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เวลาที่ถวายดอกไม้บูชาพระรัตนตรัย ในขณะนั้น รูปนั้น เป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ แต่ขณะที่ชอบเหลือเกิน พอใจมาก ในดอกไม้ประเภทนั้น ในขณะนั้น ต้องอย่าลืม อารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต ยังจะให้เป็นกุศลไหม ในขณะนั้น กุศลในขณะที่บูชาพระรัตนตรัย แต่เวลาที่กำลังชอบมาก จริงๆ ในขณะนั้น ยังจะให้เป็นกุศลต่อไปอีกไหม หรือว่าในขณะนั้นเป็นอกุศลเสียแล้ว โดยที่ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย ถ้าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน เสียจนเกินไป ก็ขอให้เพียงแต่รู้ เพียงข้อสำคัญที่ว่า อารัมมณาธิปติปัจจัย

    โดยนัยของจิต ได้แก่ จิต ๘๔ ดวง เว้นจิต ๕ ดวง ซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนา

    ไม่เป็นที่พอใจ

    โดยนัยของเจตสิก ก็เว้นเจตสิกที่เกิดกับจิตเหล่านั้น

    โดยนัยของรูป รูปทั้งหมดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต แต่ไม่

    เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต

    โดยนัยของนิพพาน และโลกุตตรจิต ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูล

    จิต แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลกุตตรจิต และ

    มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต และมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต

    สำหรับโลกุตตรธรรม ๙ ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต สงสัยไหม ในเมื่อโลภมูลจิตหรือสภาพซึ่งได้แก่ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ติด พอใจ ไม่เว้นอะไรเลย นอกจากโลกุตตรธรรมเท่านั้น ทุกอย่างเป็นอารมณ์ได้ทั้งหมด

    โลภมูลจิตเกิดนับไม่ถ้วน เป็นไปในอารมณ์ต่างๆ ทุกขณะ ทุกวันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีอะไรก็พอใจได้ทั้งนั้น นอกจากโลกุตตรธรรมเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นอารมณ์ของโลภมูลจิต

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมในเรื่องของอธิปติปัจจัย

    เรื่องของปัจจัยเป็นเรื่องที่ละเอียด ยุ่งยากสลับซับซ้อน แต่ให้ทราบว่าเป็นชีวิตประจำวัน แต่ละขณะจิต จิตเกิดขึ้นดวงเดียว ขณะเดียว แล้วดับนี้ ผู้ที่ตรัสรู้ทรงทราบว่า อาศัยปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้จิตนั้นเกิดขึ้น เป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่คนที่ไม่รู้ ก็ไม่รู้ และถ้าจะศึกษาตามที่ทรงแสดง ก็รู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก สลับซับซ้อน และละเอียด ถ้าท่านผู้ฟังรู้สึกว่ายุ่งยากสลับซับซ้อน และละเอียดมาก ก็ให้ทราบว่านี่คือความจริง ของจิตของท่านทุกขณะ ยุ่งยากสลับซับซ้อน และละเอียดมาก ยากที่จะรู้ได้โดยถี่ถ้วน โดยละเอียดจริงๆ

    เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียด รวมทั้งปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตนั้นๆ ด้วย

    ชาญ อย่างปุถุชนเรานี้ ไม่มีใครหรอกที่ไม่มีอารัมมณาธิปติปัจจัย ทุกคนนั้นย่อมมีอยู่ เกิดขึ้นมา ให้เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่โลภมูลจิต แต่ทุกคนย่อมชอบต่างกัน ที่จะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยนี้ สะสมมาต่างกัน แต่อดีตชาติหรืออย่างไร จึงชอบอย่างนั้น

    อ.จ. นี่แสดงให้เห็นว่า ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย ที่จะต้องทราบว่าเพราะอะไร อารมณ์นั้นๆ จึงเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของบุคคลนั้น ของจิตในขณะนั้น ก็ต้องกล่าวถึงปัจจัยอื่นๆ ต่อไปอีก

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การศึกษาสภาพปรมัตถธรรม ทำให้รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และการรู้เรื่องของจิต เจตสิก รูป และสภาพของจิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นปัจจัย ทำให้จิตเจตสิกรูปนั่นเองเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ละเอียด แต่ว่าจะทำให้เข้าใจสภาพชีวิตประจำวันถูกต้องขึ้น ละเอียดขึ้น แม้ว่าจะเป็นความเข้าใจ ที่อาจจะเพิ่มขึ้น เพียงทีละเล็กละน้อยก็ตาม แต่ก็จะทำให้เข้าใจได้ว่า เพราะอะไรชีวิตจึงดำเนินไปอย่างนี้ ไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งทุกท่านอาจจะไม่เคยคิด เมื่อวานนี้ก็หมดไปแล้ว เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งกระทบสัมผัส คิดนึก แต่ก็ไม่ได้หมดไป สูญขาดไปเลย วันนี้ก็มีอีกแล้ว แล้ววันต่อๆ ไปก็มีอีกเรื่อยๆ เพราะอะไร

    ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมเหล่านี้เกิดขึ้น สภาพธรรมเหล่านี้ก็เกิดไม่ได้ และสภาพธรรมที่เกิดมีขึ้นก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะรู้สภาพที่เป็นปัจจัย ที่ทำให้จิต เจตสิก รูป เกิดในแต่ละขณะนี้ ซึ่งข้อความในอภิธรรมมัตถวิภาวิณีฎีกา ซึ่งอธิบายอภิธรรมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๘ เรื่องของปัจจัย มีข้อความว่า

    ควรทำสุตตมยญาณให้เกิดขึ้นว่า ธรรมเหล่านี้มีความพิเศษอย่างนี้ แล้วทำความพากเพียร เพื่อตรัสรู้ความพิเศษแห่งปัจจัยนั้น ด้วยจินตามยญาณ และภาวนามยญาณ

    คือเรื่องของการฟังให้เข้าใจเสียก่อน ในเรื่องความพิเศษของธรรมแต่ละชนิด ซึ่งเป็นปัจจัยแต่ละอย่าง เช่น เห-ตุปัจจัย ได้แก่เจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ๖ ดวง เพราะฉะนั้น ก็เป็นส่วนพิเศษของธรรม ซึ่งเป็นเจตสิก ๖ ดวง ซึ่งธรรมอื่นคือเจตสิกอื่นๆ ไม่สามารถจะเป็นเห-ตุปัจจัยได้ อย่างเจตสิก ๖ ดวงนั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นความพิเศษของธรรมพวกหนึ่ง ได้แก่ธรรมที่เป็นเหตุ และธรรมคือเจตสิก และจิต และรูป ต่างก็มีลักษณะที่พิเศษ ซึ่งทำให้เป็นปัจจัยที่พิเศษต่างๆ เมื่อได้เข้าใจแล้ว ทำความพากเพียร เพื่อตรัสรู้ความพิเศษแห่งปัจจัยนั้น ด้วยจินตามยญาณ ต้องมีการฟัง พิจารณา ตรึก จนกระทั่งเข้าใจ เพื่อตรัสรู้ความพิเศษแห่งปัจจัยนั้น ด้วยจินตามยญาณ และภาวนามยญาณ เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่า มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ก็ยังคงไม่รู้ไปเรื่อยๆ แต่เพราะรู้ จึงเข้าใจละเอียดขึ้น ว่าขณะใด สภาพธรรมใด เป็นปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมใด

    สำหรับปัจจัยที่ ๔ คือ “อนันตรปัจจัย” ท่านผู้ฟังจะต้องไม่ลืมความหมายของปัจจัย ว่าได้แก่สภาพธรรมซึ่งอุปการะ เป็นที่อิงอาศัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงปัจจัย ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นผล ที่เกิดเพราะปัจจัยนั้น สภาพธรรมที่เป็นผล ที่เกิดเพราะปัจจัยนั้น ภาษาบาลีใช้คำว่า ปจฺจยุปฺปนฺนธมฺ ซึ่งภาษาไทยใช้คำตามภาษาไทยว่า ปัจจยุปบันน ไม่ใช่ปัจจุบัน แต่เป็นปัจจยุปบันน

    ปัจจัยเป็นเหตุ เป็นธรรมที่อิงอาศัย เป็นธรรมที่อุปการะให้ปัจจยุปบันนธรรมเกิดขึ้น บางครั้ง ธรรมที่เป็นปัจจัย ก็ทำให้ปัจจยุปบันนธรรมเกิดพร้อมกับตน เช่นเห-ตุปัจจัย ได้แก่โลภเจตสิกเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกอื่น ซึ่งเป็นปัจจยุปบันน เกิดพร้อมกันในขณะนั้นแล้วดับไป

    นี่คือลักษณะของความพิเศษของเห-ตุปัจจัย ซึ่งทำให้ปัจจยุปบันนธรรมเกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกัน แต่สภาพธรรมบางอย่างที่เป็นปัจจัย ไม่ได้ทำให้ปัจจยุปบันนธรรมเกิดพร้อมกัน ในขณะเดียวกัน แต่ทำให้เกิดภายหลัง นานแสนนานก็ได้ เช่นกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุให้กระทำกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ถึงแม้ว่าจะดับไป นานแล้ว ไม่ได้ทำให้ผลเกิดขึ้นสืบต่อทันที อาจจะดับไปถึงแสนโกฏิกัปป์ก็ตาม แต่ก็ยังเป็นกัมมปัจจัย ที่จะทำให้จิต เจตสิก ซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้น พร้อมกับรูป ซึ่งเกิดเพราะกรรมนั้นเป็นปัจจัย

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความพิเศษ ความต่างกันของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    สำหรับ “อนันตรปัจจัย”

    อนันตร หมายความถึง สภาพที่เป็นปัจจัย ให้ปัจจยุปบันนธรรมเกิดขึ้น โดยไม่มีระหว่างคั่น แต่ไม่ใช่พร้อมกัน ในขณะเดียวกับที่ปัจจัยนั้นเกิด

    เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่า เมื่อดับไปแล้ว ทำให้จิตและเจตสิกอื่น เกิดสืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่น

    ไม่เหมือนอย่างกัมมปัจจัย ซึ่งกรรมดับไปนานแล้ว ก็ยังทำให้ปัจจยุปบันนธรรมเกิด แต่อนันตรปัจจัย ได้แก่ จิตและเจตสิก ซึ่งเกิดแล้วดับไป ทำให้ปัจจยุปบันนธรรม คือจิตและเจตสิกอื่นเกิดสืบต่อทันที โดยไม่มีระหว่างคั่น

    เพราะฉะนั้น อย่าลืม บางครั้งได้พูดถึงปัจจัย แต่ไม่ได้กล่าวถึงปัจจยุปบันนธรรม เช่น ในคราวก่อน ที่กล่าวถึงเรื่องอารัมมณาธิปติปัจจัย ได้กล่าวว่า สภาพธรรมใดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ แต่ไม่ได้แสดงโดยละเอียด ว่าทำให้ปัจจยุปบันนธรรม คือจิตกี่ประเภทเกิดขึ้น เพราะเหตุว่า ถ้ากล่าวถึงโดยละเอียดจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

    และสำหรับอนันตรปัจจัยนั้น มีปัจจัยที่คู่กันอีกปัจจัยหนึ่ง คือ “สมนันตรปัจจัย” ได้แก่สภาพของจิต ซึ่งเกิด – ดับสืบต่อกันโดยดี หรือว่าด้วยดีตามลำดับ ไม่สับสน

    เช่น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิด ดับไป เป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ จะไม่เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เห็นได้ทันที หลังปฏิสนธิ แต่เมื่อปฏิสนธิจิตดับไป จะเป็นอนันตรปัจจัย หรือสมนันตรปัจจัยให้ภวังคจิต ซึ่งเป็นวิบากจิต ซึ่งกรรมประเภทเดียวกันนั้นเอง ที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แล้วดับไปนั้น กรรมนั้นทำให้วิบากจิตทำกิจภวังค์ เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต

    เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตจะไม่เป็นอนันตรปัจจัยให้กับจิตอื่น นอกจากภวังคจิต ด้วยเหตุนี้ ท่านที่ศึกษาอภิธรรมมัตถสังคหะ ซึ่งรจนาโดยท่านพระอนุรทธาจารย์ จะเห็นได้ว่า ปริจเฉทที่ ๔ ทั้งหมด ที่ท่านพระอนุรุทธราจารย์รวบรวมไว้ มาจากอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ในคัมภีร์ปัฏฐาน ในคัมภีร์ที่ ๗ ของพระอภิธรรมนั่นเอง ซึ่งก็จะได้ขอกล่าวถึง เพื่อให้เห็นว่า อนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย เป็นการแสดงเรื่องวิถีจิตทั้งหมด ในปริจเฉทที่ ๔ ของอภิธรรมมัตถสังคหะ

    อภิธรรมมัตถสังคหะ ซึ่งท่านพระอนุรุทธาจารย์ได้ประมวลไว้ ๙ ปริจเฉท

    เริ่มตั้งแต่ปริจเฉทที่ ๑ คือ จิตตสังคหวิภาค เป็นการรวบรวมจิตทั้งหมด ทุกประเภท และจำแนกคือแสดงโดยชาติต่างๆ ภูมิต่างๆ อยู่ในปริจเฉทที่ ๑

    สำหรับปริจเฉทที่ ๒ ก็เป็น เจตสิกสังคหวิภาค ซึ่งรวบรวมเจตสิกทั้งหมดทุกประเภท

    ปริจเฉทที่ ๓ ปกิณณกสังคหวิภาค คือเอาสภาพธรรมเหล่านั้นมารวบรวม เป็นหมวดหมู่ เป็น ๖ หมวด ได้แก่

    เวทนาจำพวกหนึ่ง เป็นเวทนาสังคหะ แสดงว่ามีเวทนา ๓ มีเวทนา ๕ เกิดกับจิตกี่ดวง

    เหตุสังคหะ ๖ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ได้แก่จิตกี่ประเภท ชาติอะไรบ้าง

    กิจจสังคหะ ก็แสดงกิจของจิตว่ามี ปฏิสนธิ ภวังคกิจ อาวัชชนกิจ ทัสสนกิจ สวนกิจ ฆายนกิจ สายนกิจ ผุสสนกิจ สัมปฏิจฉนกิจ สันตีรณกิจ โวฏฐัพพนกิจ ชวนกิจ ตทาลัมพนกิจ จุติกิจ ทั้งหมดก็เป็น ๑๔ กิจ

    ต่อจากนั้นก็เป็น ทวารสังคหะ ๖ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ว่าจิตกี่ดวง เกิดทางทวารไหน

    อารัมพนสังคหะ ๖ ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    วัตถุสังคหะ ๖ ก็คือที่เกิดของจิต ได้แก่ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ หทยวัตถุ

    ปริจเฉทที่ ๔ คือ วิถีสังคหะ ทั้งหมดมาจากอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย กล่าวถึง วัตถุ ๖ ทวาร ๖ อารมณ์ ๖ วิญญาณ ๖ วิถี ๖ วิสยปวัตติ ๖ คือตทาลัมพนวาระ ชวนวาระ โวฏฐัพพนวาระ โมฆวาระ ทางปัญจทวาร และสำหรับมโนทวารอีก ๒ วาระ

    ปริจเฉทที่ ๕ เป็นวิถีมุตตสังคหะ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องวิถีจิต แต่กล่าวถึงเรื่องภูมิต่างๆ ปฏิสนธิต่างๆ กรรมต่างๆ และความเกิดขึ้นแห่งมรณะ คือความตาย

    ปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาค เป็นเรื่องของรูป ซึ่งรวบรวมโดยอาการต่างๆ

    ปริจเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค คือการรวบรวมวัตถุธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป เป็นอกุศลสังคหะหมวดหนึ่ง มิสกสังคหะ คือผสมกัน โพธิปักขิยสังคหะ สัพพสังคหะ นี่ก็เป็นการแสดงประเภทของธรรมนั้นๆ

    ปริจเฉทที่ ๘ ปัจจยสังคหวิภาค คือการแสดงสภาพความเป็นปัจจัยของธรรมทั้งหมด

    ปริเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค เป็นการแสดงสมถะ และวิปัสสนา

    จะเห็นได้ว่า ปริจเฉทที่ ๔ ทั้งหมด ที่ท่านพระอนุรุทธราจารย์รวบรวมไว้ มาจากอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยในคัมภีร์ปัฏฐาน ในคัมภีร์ที่ ๗ ของพระอภิธรรม นั่นเอง ซึ่งก็จะได้ขอกล่าวถึง เพื่อให้เห็นว่า อนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย เป็นการแสดงเรื่องวิถีจิตทั้งหมดในปริจเฉทที่ ๔ ของอภิธรรมมัตถสังคหะ

    สำหรับชีวิตในชาติหนึ่งๆ แบ่งออกเป็น ๒ กาล คือ ปฏิสนธิกาลกาลหนึ่ง และปวัตติกาล อีกกาลหนึ่ง

    สำหรับปฏิสนธิกาล คือในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว เป็นปฏิสนธิกาล หลังจากนั้นทั้งหมด คือตั้งแต่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว เป็นปวัตติกาล

    ทั้งหมดนี้ คืออนันนตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ทำให้จิตเกิด – ดับสืบต่อไม่สิ้นสุด จนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์ จึงจะไม่มีปัจจัยที่จะทำให้นามธรรมเกิดสืบต่อไปได้

    สำหรับปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว แต่แม้อย่างนั้น ในขณะของปฏิสนธิจิตนั่นเอง ประมวลมาซึ่งความเป็นปัจจัย และปัจจยุปบันนธรรมของรูปธรรม และอรูปธรรม คือนามธรรมทั้งหลาย ทั้งหมดตลอดชีวิต เหตุที่จะให้เกิดสุข ทุกข์ หรือการเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด การได้ยิน การได้ลาภ ได้ยศ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ หรือว่าสรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ แม้ในขณะนี้ เป็นผลของปฏิสนธิจิต ซึ่งประมวลมาซึ่งความเป็นปัจจัย และปัจจยุปบันนธรรมของรูปธรรม และอรูปธรรมทั้งหลาย

    ถ้ากล่าวโดยนัยของปฏิจจสมุปปาท ก็เป็นตอนที่ว่า

    วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป

    เพราะเหตุว่า ปฏิสนธิจิต เป็นวิญญาณ ซึ่งเป็นปัจจัยแก่เจตสิก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    22 ส.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ