ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 39


    ตลับที่ ๒๐

    ๑๗ ขณะจิตแล้วดับ เพราะฉะนั้น ทั้งจักขุปสาท ซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิด และรูปารมณ์ซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ เมื่อพ้น ๑๗ ขณะแล้ว ก็ดับหายไปเลย ไม่มีการที่กลับมาอีก เป็นปัจจัยเพียงให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เห็นชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ดับไป แล้วก็จิตก็เกิดสืบต่อ ตามเหตุตามปัจจัย

    ตราบใดที่อาหารปัจจัยยังไม่ดับ ก็เป็นสภาพธรรมซึ่งนำมาซึ่งผล คือนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ก็เป็นการที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงให้เห็น สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ชัดว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เป็นความจริง แต่ว่า ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ก็ยังไม่ทราบ แม้แต่ว่าแผลนั้นอยู่ตรงไหน แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นแผล เพราะเหตุว่า นำมาซึ่งทุกข์ ทุกข์ทั้งหลายนี้ ถ้าไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้นรส ไม่มีการรู้กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก จะมีได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นแผล นำความทุกข์ต่างๆ มาให้ ฉันใด การเห็นขณะหนึ่ง ก็นำเรื่องราวต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความทุกข์มากมายได้ การได้ยินแต่ละครั้ง การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็โดยนัยเดียวกัน

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม ในเรื่องนี้

    ข้อความต่อไป ในปปัญจสูทนี มีว่า

    เมื่อภิกษุนั้นครอบงำความยินดีในอาการเหล่านี้ (คือต้องทิ้งในผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร และกพฬีการาหาร) การที่เห็นภัยของอาหาร แล้วก็ละคลายความยินดีของอาหาร ก็จะทำให้รอบรู้อาหารหมดทั้ง ๔ อย่าง

    ซึ่งข้อความใน ปปัญจสูทนี มีว่า

    เมื่อภิกษุนั้น ครอบงำความยินดีในอาหารเหล่านี้อย่างนี้แล้ว ก็รอบรู้อาหารหมดทั้ง ๔ อย่าง การฟังธรรม ก็เพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญา พิสูจน์ความจริงว่า การรอบรู้อาหารต้องเป็นสิ่งซึ่งสามารถจะมีได้ ไม่ใช่เป็นธรรมที่เลื่อนลอย หรือว่าเป็นโมฆะ เพียงแต่แสดงไว้ แล้วก็ไม่มีบุคคลอื่นที่สามารถจะรู้ตามได้ เมื่อรอบรู้อาหาร ๔ อย่างนั้นหมดแล้ว วัตถุอันรอบรู้ทั้งสิ้น ก็เป็นอันรอบรู้

    จริงไหม ถ้าระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไหม ถ้าขณะใดที่ยังไม่แจ่มแจ้งในลักษณะของนามธรรม หรือในลักษณะของรูปธรรม ก็หมายความว่า ยังไม่ได้พิจารณาลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้ โดยตลอดทั่วถึง

    เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของอ่อน หรือแข็ง แล้วก็อาจจะพิจารณาว่า ที่อ่อนหรือแข็งปรากฏ เพราะขณะนั้น มีสภาพที่เป็นธาตุรู้อ่อนหรือแข็งในขณะนั้น แต่ว่าทางตานี้ นามธรรมเป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณานามธรรมและรูปธรรม โดยทั่ว ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ย่อมทำให้หมด หรือละคลายความสงสัยในลักษณะของนามธรรมทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งแม้ความคิดนึกใดๆ จะเกิดขึ้น ถ้าสติระลึกก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน แต่เป็นสภาพที่กำลังคิด หรือรู้เรื่องรู้คำในขณะนั้น เพราะฉะนั้นลักษณะของนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นทางตา ก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหูก็รู้ คือรู้เสียงที่กำลังปรากฏ ทางจมูกก็รู้ ทางลิ้น ทางกายก็รู้ คือรู้อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ระลึกได้ทันทีแล้วใช่ไหม ในขณะนี้ นามธรรมเป็นสภาพรู้ ในขณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏ เพราะสภาพรู้ ธาตุรู้ กำลังรู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาทั่วจริงๆ ผู้นั้นย่อมกล่าวได้ว่า รอบรู้อาหารปัจจัยทั้ง ๔ คือรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั่นเอง

    ซึ่ง ข้อความต่อไป มีว่า

    ข้อที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุรอบรู้อาหารที่เป็นคำๆ แล้วก็เป็นอันรอบรู้ราคะ อันประกอบด้วยกามคุณ ๕ เมื่อรอบรู้ราคะ อันประกอบกับกามคุณ ๕ นั้น สังโยชน์ที่ทำให้เกาะเกี่ยวอยู่นั้น ก็ไม่มี เมื่ออริยสาวกรอบรู้อาหารแล้ว ก็เป็นอันรอบรู้เวทนา ๓ เมื่อรอบรู้เวทนา ๓ แล้ว เรากล่าวว่า สิ่งที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไม่มีแก่อริยสาวก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรอบรู้อาหาร คือมโนสัญเจตนาหารแล้ว ก็เป็นอันรอบรู้ตัณหา ๓ เมื่อรอบรู้ตัณหา ๓ แล้ว เราก็กล่าวว่าไม่มีอะไรที่จะทำให้ยิ่งขึ้นไปแก่อริยสาวก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรอบรู้อาหาร คือวิญญาณแล้ว ก็เป็นอันรอบรู้นามธรรมและรูปธรรม เมื่อรอบรู้นามธรรมและรูปธรรม เราก็กล่าวว่า สิ่งที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีแก่อริยสาวก

    เป็นไปได้ไหม ถ้าระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะรอบรู้ราคะ หรือตัณหา หรือความยินดีไหม ซึ่งปกตินี้ไม่รู้ แม้ว่าจะมีอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งๆ นี้ โลภมูลจิตเกิดมากมายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางหาย ทางใจ แต่ไม่รู้ ที่จะรู้ก็ต่อเมื่อสติระลึกรู้สภาพธรรม ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม แล้วจึงรู้ว่าขณะใดเป็นสภาพของโลภะ ความยินดี ความต้องการในขณะนั้น

    เวลาที่เห็นอาหาร สติระลึกได้ไหม กพฬิงการาหาร ที่จะรอบรู้อาหาร ที่จะรอบรู้โลภะ โลภะมี อย่าลืม เวลาที่เห็นอาหาร ที่โลภะมีแน่ๆ แต่ที่ไม่รู้ เพราะสติไม่ได้ระลึก แต่เวลาระลึก ลักษณะของสภาพธรรมใดปรากฏ ในขณะที่เห็นอาหาร ถ้าอาหารกำลังปรากฏ แล้วก็มีโลภะ มีความพอใจในอาหาร แล้วสติไม่ระลึกในขณะนั้น แล้วจะเห็นโละที่ไหนล่ะ ก็ไม่เห็น

    กำลังจะไปซื้อของ เห็นของที่ถูกใจ อยากจะซื้อ ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของโลภะ ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่น่าพอใจ แล้วจะไปรู้โลภะในขณะไหน เพราะฉะนั้น การที่จะรู้โลภะได้ ก็ในขณะเห็น ในขณะได้ยิน ในขณะได้กลิ่น ในขณะลิ้มรส ในขณะที่คิดนึกด้วยโลภะ เช่นชีวิตประจำวัน อย่างที่ว่านี้ ตื่นขึ้นมานี่ คิดถึงอะไร จะรู้ลักษณะของโลภะได้ไหม ในขณะนั้น เป็นโลภะหรือเปล่า สิ่งที่คิดว่าตื่นเป็นไหม ส่วนใหญ่ ตื่นขึ้นมาแล้ว เป็นกุศลจิต หรือเป็นอกุศลจิต

    ถ้าใครคิดถึงธรรมที่ได้ยิน ได้ฟัง ทันทีที่ตื่น แล้วก็ต่อไปอีกระหว่างที่ยังไม่หลับ นั่นก็แสดงว่ามีปัจจัยปรุงแต่งให้กุศลนี้เกิดมาก เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานเกิด จะรู้สภาพของจิตที่ผ่องใส ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ในขณะนั้น เพราะเหตุว่า กำลังพิจารณาลักษณะของสภาพธรรม และแม้ขณะนั้น ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องตรวจสอบผลของธรรม ถ้าเป็นโลภะเกิด แล้วสติระลึกรู้ลักษณะของโลภะ นั้นก็เป็นการถูกต้อง เพราะเหตุว่า ถ้ามิฉะนั้นแล้ว จะรู้ลักษณะของโลภะ ในขณะไหน ถ้าไม่รู้ในขณะที่โลภะกำลังปรากฏ อาหารอร่อย สติปัฏฐานเกิดได้ไหม ได้ รู้ลักษณะของโลภะ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นการรอบรู้โลภะนั่นเอง ว่าโลภะนี้เกิดขึ้น อาศัยรสทางชิวหาทวาร โลภะนี้อาศัยเกิดขึ้น โดยการเห็นทางจักขุทวาร หรือโลภะนี้เกิดขึ้น โดยอาศัยโสตทวาร ก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องรอบรู้ ถ้าไม่รอบรู้สภาพธรรมอย่างนี้ ก็จะไม่เห็นว่า ความยินดีในอาหารปัจจัยยังมีอยู่ตราบใด ก็จะต้องมีอาหารปัจจัยอยู่ตราบนั้น เพราะฉะนั้น เรื่องของการละนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องการไม่บริโภค หรือไม่รับประทานอาหาร แต่เป็นเรื่องละความยินดีในอาหาร และก็ไม่ใช่เฉพาะแต่เฉพาะกพฬิงการาหารเท่านั้น ต้องในอาหารทั้ง ๔ คือ ทั้งในผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหารด้วย

    ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหม ในเรื่องของอาหารปัจจัย ถ้าไม่มีข้อสงสัยในเรื่องของอาหารปัจจัย วันนี้ก็เป็นปัจจัยที่ ๑๖ คือ อินทรียปัจจัย ซึ่งภาษาไทย ใช้คำว่า อินทรีย์ หมายความถึง สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น อินทรียปัจจัยก็คือสภาพธรรมที่เป็นปัจจัย โดยเป็นใหญ่เฉพาะในกิจหน้าที่ของตนเท่านั้น ไม่ใช่เป็นใหญ่เหมือนอย่างอธิปติปัจจัย แต่ว่าสำหรับอินทรียปัจจัยนั้น สภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นปัจจัยเฉพาะเป็นใหญ่ ในกิจหน้าที่ของตน

    สำหรับการศึกษาเรื่องของปัจจัยทุกปัจจัย และธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็เพื่อที่จะให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งสามารถจะพิสูจน์ได้ ว่าพระธรรมที่ทรงแสดง เป็นความจริงอย่างนั้นหรือไม่ แม้อินทรียปัจจัย ก็ไม่พ้นจากชีวิตประจำวัน หรือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนี้เอง อาหารปัจจัยก็โดยนัยเดียวกัน คือเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ฉันใด อินทรียปัจจัย ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรมนั่นเอง

    สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ ที่จะพ้นจากลักษณะของนามธรรม รูปธรรม ไม่มี การที่จะรู้ว่า เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องไหม ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ต่อเมื่อมีสภาพธรรมในขณะนี้ปรากฏ แล้วสติไม่ลืมที่จะระลึก เพื่อที่จะรู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นลักษณะของนามธรรม หรือว่าเป็นลักษณะของรูปธรรม จึงไม่ใช่เรา และไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น การพิสูจน์ธรรมนี้ สามารถที่จะกระทำได้ ศึกษาได้ทุกขณะ เพราะเหตุว่า ไม่มีสักขณะหนึ่งขณะใด ซึ่งสภาพธรรมจะหยุดเกิด เพราะเหตุว่า มีปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    แต่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทั้งปวง ได้ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ว่าสภาพธรรมใดเป็นอินทรยะ คืออินทรีย์ คือเป็นใหญ่ เป็นปัจจัยแก่สภาพธรรมอื่น ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงโดยละเอียด ท่านผู้ฟังก็คิดว่ามีเราอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นรูปแต่ละรูปที่ประชุม รวมกันเป็นกลุ่มก้อน เพราะฉะนั้น ตราบใดที่รูปยังประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ก็เห็นว่าเป็นเรา และกลุ่มก้อนนี้ ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรม เช่นการเห็น ไม่ได้อยู่นอกตัว ไม่ได้อยู่นอกกาย การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ก็อยู่ที่ตัวทั้งหมด เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริง จึงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายการที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็โดยการที่ศึกษาโดยละเอียด ถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งแตกย่อยออกได้ โดยละเอียด เป็นนามธรรมแต่ละชนิด และเป็นรูปธรรมแต่ละชนิด สภาพธรรมซึ่งเป็นอินทรีย์นี้ ท่านผู้ฟังคงเคยจะได้ยินว่า มีหมวดธรรมที่แสดงลักษณะของอินทรีย์ ๒๒ แต่ว่าสำหรับอินทรียปัจจัยแล้วได้แก่อินทรีย์ ๒๐

    ก่อนอื่น ก็ขอกล่าวถึงอินทรียะ ๒๒ เพื่อที่จะให้ทราบว่า ได้แก่สภาพธรรมใด อินทรียะ ๒๒ คือ

    ๑. จักขุนทรีย์ ได้แก่ จักขุปสาท เป็นรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ โดยเป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณจิต และเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณจิต

    ในขณะนี้เองหรือเปล่า อินทรีย์ก็ไม่พ้นจากขณะนี้เลย

    จักขุนทรีย์ ได้แก่จักขุปสาท ซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นรูปธรรม ที่เป็นใหญ่ โดยเป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณจิต ซึ่งกำลังเห็น พร้อมกับเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกับจักขุวิญญาณจิต

    ถ้าปราศจากจักขุนทรีย์แล้ว จะไม่มีการเห็นเกิดขึ้นได้เลย เพียงเท่านี้ก็เห็นความเป็นใหญ่ของจักขุปสาทแล้ว ใช่ไหม โดยที่อาจจะลืมคิดว่า ทุกวันๆ ที่เห็นนี้ ไม่ได้คิดเลยว่า สภาพธรรมใดเป็นปัจจัย โดยเป็นใหญ่ให้เกิดการเห็นขึ้น แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็ทำให้ระลึกได้ว่าการะเห็นทุกขณะ ซึ่งมีอยู่เป็นประจำนั้น ต้องอาศัยจักขุปสาท เป็นรูปธรรม เป็นจักขุนทรีย์ เป็นใหญ่จริงๆ เพราะเหตุว่า ถ้าขาดรูปนี้แล้ว จะไม่มีการเห็นใดๆ ได้เลย

    อินทรียะ ที่ ๒ คือ

    ๒. โสตินทรีย์ ได้แก่ โสตปสาทรูป ซึ่งเป็นใหญ่ โดยเป็นปัจจัยแก่โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง พร้อมกับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ในขณะนี้ที่ได้ยินเสียง

    ๓. ฆานินทรีย์ ได้แก่ฆานปสาท เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ โดยเป็นปัจจัยแก่ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง และเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย

    ๔. ชิวหินทรีย์ ได้แก่ชิวหาปสาท ได้แก่สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ โดยเป็นปัจจัยแก่ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ในขณะที่ลิ้มรส

    ๕. กายินทรีย์ ได้แก่กายปสาท ที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ โดยเป็นปัจจัยแก่กายวิญญาณจิต ๒ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย

    อินทรีย์ ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้ามีแต่จิต ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้นรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทุกข์ก็เกิดไม่ได้ใช่ไหม มีรูปร่างกาย แต่ไม่มีกายปสาท ที่จะกระทบกับเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ทุกขเวทนาก็เกิดไม่ได้ ก็จะต้องหมดทุกข์ไป ในเรื่องของกายวิญญาณ แต่เพราะเหตุว่า มีรูปซึ่งกรรมเป็นปัจจัย ทำให้รูปนั้นเป็นใหญ่ ในการที่จะทำให้ ทวิปัญจวิญญาณจิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    อินทรีย์ที่ ๖ เป็นรูปธรรมคือ

    ๖.อิตถินทรีย์ ได้แก่ภาวรูป ที่ทำให้ปรากฏสภาพความเป็นหญิง

    อินทรีย์ที่ ๗

    ๗. ปุริสนทรีย์ ได้แก่ภาวรูป ที่ทำให้ปรากฏสภาพความเป็นชาย

    ๘ ชีวิตินทรีย์ ได้แก่สภาพธรรมที่รักษาสหชาตธรรมคือธรรมที่เกิดร่วมด้วย ที่เป็นไปในขณะนี้ ให้มีอายุ ให้มีชีวิต ให้ดำรงอยู่ ให้ตั้งอยู่ ในชั่วขณะนี้

    สำหรับชีวิตินทรีย์นั้น เป็นรูปตินทริยะ ๑

    และ เป็นนามตินทริยะ ๑ คือเป็นชีวิตินทริยเจตสิก ๑

    เพราะฉะนั้น ในอินทรีย์ ๒๒ นั้น จึงเป็นรูป ๗ เป็นนาม ๑๔ และเป็นชีวิตินทริยะ ๑ ซึ่งได้แก่ชีวิตรูป ๑ และชีวิตนาม ๑ นั่นเอง

    แต่เมื่อกล่าวโดยรูป ๒๘ แล้ว รูปที่เป็นอินทรีย์มี ๘ รูป

    มีท่านผู้ใดมีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม ในเรื่องของรูปที่เป็นอินทรีย์ ๘ รูป คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ อิตถินทรีย์ อิตถีภาวรูป ๑ ปุริสินทรีย์ ได้แก่ ปุริสภาวรูป ๑ และชีวิตินทรียะ ได้แก่ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม ซึ่งอุปถัมภ์รูปอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมด้วย ในส่วนนั้นให้เป็นรูปที่มีชีวิต มีอายุ ดำรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง

    มีข้อสงสัยไหม ในเรื่องของรูปที่เป็นอินทรีย์ สำหรับเรื่องของจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท เป็นอินทรีย์ด้วย และเป็นอินทริยปัจจัยด้วย เพราะเหตุว่า ทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น โสตวิญญาณเกิดขึ้น ฆานวิญญาณเกิดขึ้น ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น กายวิญญาณเกิดขึ้น

    แต่อิตถินทรีย์และปุริสินทรีย์เป็นอินทรีย์ แต่ว่าไม่เป็นอินทริยปัจจัย เพราะฉะนั้น ข้อที่จะต้องสังเกตก็คือ ในอินทรีย์ ๒๒ นั้น มี ๒ อินทรีย์ที่ไม่เป็นอินทริยปัจจัย ได้แก่อิตถินทรีย์ และปุริสินทรีย์

    มีข้อสงสัยไหม ในเรื่องของอินทรีย์ทั้ง ๒ ซึ่งไม่เป็นปัจจัย แต่ว่าเป็นอินทรีย์

    ข้อความในปัฏฐานแสดงว่า ภาวะรูปคือ อิตถินทรีย์ และปุริสินทรีย์ เป็นปัจจัยไม่ได้ เพราะเหตุว่า ธรรมที่จะเป็นปัจจัยได้นั้น จะต้องเป็นปัจจัยโดยทำให้ปัจจยุปบันนธรรมเกิดขึ้น โดยชนกสัตติ คือมีความสามารถที่จะทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น หรือเป็นปัจจัย โดยอุปถัมภ์ให้ปัจจยุปบันนตั้งอยู่โดยอุปถัมภกสัตติ หรือว่าเป็นปัจจัย โดยอนุบาลรักษาปัจจยุปบันนธรรมไว้ โดยอนุปาลกสัตติ

    แต่สำหรับภาวะรูปทั้งสองนั้น เป็นใหญ่โดยเพียงทำให้ปรากฏสภาพความเป็นหญิง หรือเป็นชาย ซึ่งก็เกิดจากการสะสมของกรรมและกิเลสอย่างละเอียดเท่านั้น นี่ก็เป็นการที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นอินทรีย์ ถ้ามีการพิจารณา และรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของอินทรีย์ทั้งหลายแล้ว ย่อมสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ซึ่งข้อความในสัมโมหวิทโนทนี อรรถกถาพระวิภังคปกรณ์ อินทรียวิภังค์ วินิจฉัยโดยลำดับ มีข้อความว่า

    ในข้อนั้น พึงทราบการอธิบายดังนี้

    ด้วยการกำหนดธรรมที่เป็นภายใน จึงจะได้บรรลุอริยภูมิได้ และข้อความตอนท้ายมีว่า ภิกษุผู้มากด้วยความสลดใจ ตั้งอยู่ในอินทรียสังวร กำหนดรู้อินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเข้าที่สุดทุกข์ได้

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของอินทรีย์ ก็คือ

    อินทรีย์ที่ ๑ จักขุนทรีย์ ต้องรู้ตามความเป็นจริง ว่าลักษณะใดเป็นรูปธรรม ลักษณะใดเป็นนามธรรม แล้วถึงจะรู้ว่า ขณะที่กำลังพิจารณาเฉพาะทางตา สภาพธรรมอื่นปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะมีรูปอื่นรวมอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนไม่ได้ ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็จะยังคงยึดถือรูปนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ต่อเมื่อใด ที่สามารถที่จะแยกย่อยรูปออกโดยละเอียด และสติระลึกรู้ลักษณะของรูปทีละรูป ก็จะสามารถประจักษ์ว่า ลักษณะของสภาพที่ปรากฏนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม ในเรื่องนี้

    ภาวะรูปเป็นอินทรีย์ แต่ว่าไม่เป็นอินทรียปัจจัย เพราะเหตุว่า รูปเป็นเพียงรูปที่ทำให้รปรากฏสภาพความเป็นหญิง ก็เป็นอิตถีภาวรูป และถ้าเป็นปุริสภาวรูป ก็เป็นเพียงรูปที่ทำให้ปรากฏสภาพความเป็นชาย พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงสภาพธรรมทั้งหมดโดยละเอียด เป็นเรื่องซึ่งถ้าไม่พิจารณาจริงๆ นี้ ก็จะไม่ทราบว่ารูป ซึ่งแต่ท่านมีอยู่ คนละ ๒๗ รูป รูปใดบ้างที่เป็นอินทรีย์ และรูปใดเป็นอินทรีย์ด้วย และเป็นอินทรียปัจจัยด้วย

    สำหรับรูปที่เป็นอินทรีปัจจัย เป็นรูปที่ควรแก่การพิจารณา เพราะเหตุว่าจะทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจรอง จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าสู่ความสิ้นทุกข์ได้ เพราะเหตุว่าการที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าไม่มีจักขุนทรีย์ การเห็นไม่มี ก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง โสตินทรีย์ เป็นปัจจัยให้เกิดการได้ยินเสียง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ควรที่จะพิจารณาลักษณะของโสตินทรีย์ ซึ่งเป็นรูปธรรม และสภาพรู้ซึ่งเป็นโสตวิญญาณ และเสียงซึ่งเป็นรูปธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    13 ส.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ