ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 01


    ปัจจัย ๒๔

    ตลับที่ ๑

    ถ้าได้ศึกษาเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียดยิ่งขึ้น เท่าที่จะสามารถจะเข้าใจได้ในตอนต้น ก็จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ คิดว่าอยากจะกล่าวถึงเรื่องของปัจจัยบ้างตามสมควร เพราะเหตุว่า ถ้าได้ทราบเรื่องของปัจจัย ก็จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลายว่า สภาพธรรมแต่ละประเภทเกิดขึ้น เพราะมีปัจจัย ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ลอยๆ และสภาพธรรมที่เกิดแล้ว เป็นปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดในขณะนั้นพร้อมกัน หรือว่า เป็นปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นข้างหน้าในอนาคต แม้ในอีกแสนโกฏิกัปป์ ผัสสะในขณะนี้เองค่ะ ก็จะเป็นปัจจัยได้ถึงอย่างนั้น

    สำหรับเรื่องของปัจจัยนี้ ท่านผู้ฟังจะได้ยิน ได้ฟัง ตั้งแต่ที่เดียวว่า สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม ต้องอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ก็ได้ยินคำว่าปัจจัยบ่อย นับตั้งแต่รู้ลักษณะของสังขารธรรม แล้วสำหรับปรมัตถธรรม มี ๔ คือ

    จิตปรมัตถ์

    เจตสิกปรมัตถ์

    รูปปรมัตถ์

    นิพพานปรมัตถ์

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมนี้นั่นเอง เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพปรมัตถธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกันกับตน หรือว่า อาจจะเกิดขึ้นภายหลังที่สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยดับไปแล้ว

    ปัจจัยทั้งหมด โดยประเภทใหญ่ๆ มี ๒๔ ปัจจัย ไม่จำเป็นที่จะต้องฟังแบบท่อง หรือว่าตั้งใจที่จะจำชื่อทั้งหมด หรืออะไร แต่ควรที่จะเพียงเริ่มพิจารณา ศึกษาให้เข้าใจในเหตุผล ของสภาพธรรมที่กำลังศึกษา ให้ละเอียดขึ้น เพื่อเวลาที่ศึกษาต่อไป ปัจจัย ๒๔นี้ แต่ละประเภท ก็จะได้ศึกษาเมื่อถึงโอกาส เพราะเหตุว่า การที่จะศึกษาเรื่องปัจจัย จะต้องศึกษาถึงลักษณะของจิตแต่ละดวง ซึ่งเกิด - ดับสืบต่อกัน ถ้ายังไม่ทราบว่า จิตดวงไหน เกิดแล้ว ดับไป และเป็นปัจจัยอะไร ที่จะทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ปัจจัยของจิต ก็จะต้องรู้ลักษณะของจิตแต่ละประเภท แต่ละดวง แล้วจะรู้ว่า ในจิตแต่ละประเภท แต่ละดวงนั้น เป็นปัจจัยอะไรแก่เจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกัน หรือว่าแก่สภาพของจิต เจตสิก ซึ่งจะเกิดในภายหลัง เพราะฉะนั้น ในการที่จะพูดถึงเรื่องของปัจจัย เป็นเรื่องย่อ เพียงแต่จะให้คุ้นเคยกับชื่อ และให้เข้าในสภาพของปัจจัยนั้นๆ ตามควร

    สำหรับปัจจัยทั้งหมด ๒๔ ปัจจัย บางปัจจัยจะชินหูมาก เช่น

    ปัจจัยที่ ๑ เห-ตุปัจจัย

    ได้ยินคำว่าเหตุบ่อยๆ และเมื่อศึกษาโดยปรมัตถธรรม ก็ทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่เจตสิก ๖ ประเภทเท่านั้น

    จิตทั้งหมด ไม่ใช่เหตุ เป็นนเหตุ

    รูปทั้งหมด ไม่ใช่เหตุ เป็นนเหตุ

    เมื่อกล่าวว่าเจตสิก ๖ ดวงเท่านั้นเป็นเหตุ

    นิพพาน ก็ไม่ใช่เหตุ เป็นนเหตุด้วย

    และเจตสิกอื่นอีก ๔๖ ดวง ก็ไม่ใช่เหตุ เป็นนเหตุ

    เพราะฉะนั้น เจตสิก ๖ ดวงคือ โลภเจตสิก ๑

    โทสเจตสิก ๑

    โมหเจตสิก ๑ เป็นอกุศลเหตุ ๓

    ถ้าโลภเหตุเกิดขึ้นขณะใด จะให้จิตเป็นกุศลไม่ได้ เพราะเหตุว่า โลภเหตุเป็นอกุศลเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุก็เช่นเดียวกัน

    สำหรับ อโลภเจตสิก ๑

    อโทสเจตสิก ๑

    อโมหเจตสิก ๑ เป็นโสภณเหตุ ๓

    ไม่ใช้คำแคบๆ ว่ากุศลเหตุ เพราะเหตุว่า เจตสิก ๓ ดวงนี้ สามารถจะเกิดกับกุศลจิตก็ได้ กุศลวิบากจิตก็ได้ หรือว่ากิริยาจิต ซึ่งเป็นโสภณ คือกิริยาจิตที่ดีงาม ประกอบด้วยเหตุที่ดีงาม เช่น จิตของพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีกุศลอีกต่อไป แต่จิตของท่าน ประเภทที่ประกอบด้วยจิตที่ดีงามมี เพราะฉะนั้น อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นโสภณเหตุ เพราะเหตุว่า เป็นกุศลก็ได้ เป็นกุศลวิบากก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้

    เมื่อกล่าวถึงผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกหนึ่ง ในอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ หรือในสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ก็จะทราบได้ว่า ผัสสเจตสิกไม่ใช่เห-ตุปัจจัย เป็นปัจจัยอื่นได้ แต่ไม่ใช่ในความเป็นเหตุอย่าง โลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะ

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า จะไม่ใช่เหตุ แต่เพราะผัสสะกระทบ จึงนำมาซึ่งผล เช่นเกิดความยินดี หรือความโกรธบ้าง ทำให้เกิดความประทุษร้ายบ้าง ทำให้เกิดอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจาบ้าง หรือกุศลกรรมทางกาย ทางวาจาบ้าง เพราะผัสสะเป็นผัสสาหาร เป็นอาหารปัจจัย แต่ไม่ใช่เป็นเห-ตุปัจจัย เพราะเหตุว่า ไม่ใช่เจตสิก ๖

    นี้คือปัจจัยที่ ๑ ที่ได้ยินบ่อยๆ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะในปิฎกไหน ถ้ามีคำพูดถึงเรื่อง เห-ตุปัจจัย ให้ทราบทันทีว่า ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง เจตสิกอื่น จะเป็นเห-ตุปัจจัยไม่ได้ และข้อความในพระไตรปิฎกก็ต้องสอดคล้องกันทั้งหมดด้วย

    ปัจจัยที่ ๒ คือ อารัมมณปัจจัย

    โลกนี้เกิดขึ้นเป็นไป แล้วมีภพมีชาติ สืบต่อไปเรื่อยๆ เพราะยังไม่ได้ดับเหตุ เพราะยังมีเห-ตุปัจจัย เป็นปัจจัยที่สำคัญ เป็นปัจจัยแรกที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ปัจจัยที่ ๒ ซึ่งสำคัญ คืออารัมมณปัจจัย ได้ยินได้ฟังบ่อยใช่ไหมคะ อารมณ์ คือสิ่งที่จิตรู้ สิ่งที่จิตกำลังรู้

    ทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณที่เห็น

    ทางหู เสียงที่กำลังปรากฏ เป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณที่กำลังได้ยิน

    แล้วในวันหนึ่งๆ นี้ ทุกท่านปรารถนาอารมณ์ต่างๆ

    ทางตา ก็ต้องการเห็นสิ่งต่างๆ

    ทางหู ก็ต้องการอยู่เรื่อยๆ ที่จะได้ยินเสียงต่างๆ

    ทางจมูก ก็ต้องการอยู่เรื่อยๆ ที่จะได้กลิ่นต่างๆ

    ทางลิ้น อร่อยอีกแล้วใช่ไหมคะ ต้องการที่จะได้รสต่างๆ

    ทางกาย ก็ต้องการที่จะกระทบสัมผัสต่างๆ

    ทางใจ ก็คิดนึกอยู่เสมอด้วยความต้องการ แม้จะไม่รู้ว่า ในขณะที่เพียงคิด ก็เป็นโลภมูลจิตแล้ว ที่คิดนะคะ อย่าลืม โลภมูลจิตเป็นประจำ ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือแม้ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ทางใจ คิดขณะใด ถ้าขณะนั้นไม่ใช่กุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ทั้งทาน ศีล หรือความสงบของจิต หรือสติปัฏฐาน ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ยินดีในอารมณ์ ที่กำลังปรากฏในขณะที่คิด

    ทุกท่านคิดเรื่องที่ท่านต้องการหรือเปล่าคะ ไม่ทราบเลยว่า เพราะต้องการจึงคิดเรื่องนั้น ถูกไหมคะ โดยทั่วไปในวันหนึ่งๆ ถ้าในขณะนั้น ไม่ใช่โทสมูลจิตที่คิด ก็ต้องเป็นโลภมูลจิต ให้เห็นความเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เพราะเหตุว่า ทุกท่านคิดเนืองๆ บ่อยๆ ด้วยโลภมูลจิต ซึ่งเป็นเหตุ แต่ว่าเหตุนั้นเอง ปรารถนาซึ่งอารมณ์ เพราะเหตุว่า โลภะเป็นสภาพที่ยินดีต้องการอารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ผัสสะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอารัมมณปัจจัย ให้เกิดจิตและเจตสิก ที่กำลังรู้ผัสสะได้ไหมคะ

    การศึกษานี้ พิจารณาในเหตุผล ถ้าเหตุผลถูก ตรวจสอบได้กับพระไตรปิฎก แต่ถ้าเหตุผลไม่ถูก กลับไปตรวจสอบกับพระไตรปิฎกไม่ตรง เพราะฉะนั้น อารัมมณปัจจัยหมายความถึงสิ่งซึ่งเป็นอารมณ์ เป็นปัจจัยให้เกิดจิตและเจตสิก ซึ่งกำลังรู้อารมณ์นั้น หรืออีกนัยหนึ่ง จิตและเจตสิกกำลังรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็นปัจจัย โดยเป็นอารมณ์ เป็นอารัมมณปัจจัยให้แก่จิต ที่กำลังรู้อารมณ์นั้น

    เพราะฉะนั้น อารัมมณปัจจัยก็ไม่ใช่อื่นไกลจาก สิ่งซึ่งเป็นอารมณ์ เพราะเหตุว่า สิ่งใดที่จิตกำลังรู้ สิ่งนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดจิตนั้น โดยเป็นอารมณ์ของจิตนั้น จิตไม่มีอารมณ์เกิดไม่ได้ จิตไม่รู้อารมณ์ เกิดไม่ได้ ข้อความในพระไตรปิฎก อุปมาจิต เหมือนกับคนที่มีร่างกายอ่อนแอ จะลุกขึ้น ก็ต้องอาศัยไม้เท้า หรือสิ่งที่จะช่วยพยุง คืออารมณ์ ฉัน ใด จิตจะปราศจากอารมณ์ไม่ได้ ฉันนั้น แม้เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แต่ก็ต้องรู้อารมณ์ จึงต้องอาศัยอารมณ์เกิดขึ้น ไม่มีอารมณ์เกิดไม่ได้

    ถ้าเสียงไม่เกิด จะให้จิตได้ยินเกิด เป็นไปได้ไหม เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ที่โสตวิญญาณจิตจะเกิด ก็เพราะเหตุว่า มีเสียงเป็นปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณ โดยเสียงนั้นเป็นอารัมมณปัจจัยของโสตวิญญาณ

    เพราะฉะนั้น อารัมมณปัจจัย ก็เป็นปัจจัยซึ่งสำคัญ เพราะเหตุว่า จิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ และเมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ก็มีการต้องการอารมณ์ แสวงหาอารมณ์ไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงอารัมมณปัจจัย เป็นปัจจัยที่ ๒ ซึ่งผัสสเจตสิก เป็นสภาพที่มีจริง และสามารถที่จะเป็นอารัมมณปัจจัย ของจิตที่กำลังรู้ลักษณะ ของผัสสเจตสิกในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็พิจารณาธรรมได้ว่า สำหรับตัวท่าน เฉพาะตัวท่าน ผัสสเจตสิกเป็นอารัมมณปัจจัยแล้วหรือยัง เป็นแล้วหรือยัง

    ชาญ ผัสสะเป็นนามธรรม ก็เป็นอารมณ์ให้จิต ให้สติระลึกรู้เช่นกัน ก็เป็นอารมณ์ของสติจริง

    อ.จ. เวลาที่สติเกิด ระลึกรู้สภาพธรรมอะไร เคยระลึกรู้ลักษณะของผัสสะไหม

    ชาญ ไม่เคย

    อ.จ. เพราะฉะนั้น ผัสสะยังไม่เป็นอารัมมณปัจจัยแก่จิต เห็นไหมคะว่าต้องคิด ธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องคิด ไม่ใช่เรื่องท่องๆ แล้วไม่เข้าใจในเหตุผล เพียงแต่จำแล้วก็ลืมได้ แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ พิจารณาจริงๆ จะไม่ผิด สภาพธรรมทุกอย่างเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกได้ ปรมัตถธรรม ๔ คือ จิตปรมัตถ์ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ มีจริงๆ กำลังรู้ กำลังได้ยิน เป็นสภาพที่ได้ยิน เป็นสภาพที่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึกตรงลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ก็จะรู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นจิตได้ และสำหรับเจตสิกต่างๆ ก็มีลักษณะเฉพาะของเจตสิกแต่ละประเภท เช่นเวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก สัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำ โลภะเป็นสภาพที่ต้องการ โทสะเป็นสภาพที่หยาบกระด้าง

    เพราะฉะนั้น เมื่อเจตสิกแต่ละประเภท มีลักษณะอาการปรากฏขณะใด สามารถที่จะเป็นอารมณ์ คือให้จิตเกิดขึ้นรู้ลักษณะของเจตสิกนั้นๆ ได้ เพราะฉะนั้น จิตเป็นอารัมมณปัจจัยได้ เจตสิกทั้งหมดเป็นอารัมมณปัจจัยได้

    รูปเป็นอารัมมณปัจจัยได้ นิพพานเป็นอารัมมณปัจจัยได้

    เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมทั้งหมด เป็นอารัมมณปัจจัยได้ แม้นิพพานก็เป็นอารัมมณปัจจัยของโลกุตตรจิต นอกจากนั้น ธรรมอื่นซึ่งไม่ใช่ปรมัตถธรรม เช่นบัญญัติต่างๆ ก็เป็นอารัมมณปัจจัยด้วย จริงหรือไม่จริง

    เห็นอะไรคะ กำลังเห็นอะไร จะตอบว่าอย่างไรดี เห็นเก้าอี้ เก้าอี้เป็นบัญญัติใช่ไหม สำหรับสิ่งที่มีรูปร่างสัณฐาน ที่ปรากฏทางตา ลักษณะที่ใช้คำว่าเก้าอี้ นึกถึงคำว่าเก้าอี้ ขณะนั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นบัญญัติ แต่ก็เป็นอารมณ์ของจิตได้ทางใจ ไม่ใช่ทางตาที่เห็น ไม่ใช่ทางหูที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทุกชนิด ทั้งปรมัตถธรรม และบัญญัติธรรม เป็นอารัมมณปัจจัย ขณะที่จิตกำลังรู้สภาพธรรมนั้นๆ ที่กำลังคิดนึกทุกๆ วันนี้ คิดถึงอะไร คิดถึงปรมัตถธรรม หรือบัญญัติธรรม คิดถึงปรมัตถ์บ้างหรือเปล่า เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบได้ว่า ขณะที่จิตกำลังมีสิ่งใด กำลังรู้สิ่งใดเป็นอารมณ์ ขณะนั้นสิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัยแก่จิตนั้น

    เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิก เป็นอารัมมณปัจจัยได้ไหม ได้ เป็นหรือยัง ยัง ต้องรู้ตามความเป็นจริง เป็นได้ แต่ว่ายังไม่เป็น เพราะเหตุว่า สติยังไม่ได้ระลึกรู้ตรงลักษณะของผัสสเจตสิก เพราะฉะนั้น เพียงเข้าใจเรื่องของผัสสะ แล้วก็ใช้คำว่าผัสสะ แล้วนึกถึงชื่อว่าผัสสะ ในขณะนั้นให้ทราบว่ายังไม่ได้มีผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์ เพียงแต่ว่ามีบัญญัติธรรม คือสัญญาความจำในเสียง ของคำว่าผัสสะเป็นอารมณ์

    นี่คือสภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เพราะเสียงต่างๆ เป็นคำ และเสียงต่างๆ เป็นชื่อ เพราะเหตุว่า เวลาที่ทุกท่านมีการคิดนึกเกิดขึ้น ก็คิดนึกถึงคำ คิดนึกถึงชื่อ คือ คิดนึกด้วยสัญญาความจำในเสียงต่างๆ ที่ทำให้เกิดการนึกคิดถึงสัตว์ บุคคลต่างๆ ตามเสียงต่างๆ นั้น เช่น ได้ยินคำว่า “นก” คิดถึงสัตว์ชนิดหนึ่ง ได้ยินคำว่า “แมว” จะคิดถึงนกหรือเปล่า ไม่คิด เพราะเหตุว่า เสียงต่างๆ ก็เป็นคำที่ทำให้จำ หรือว่านึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งต่างๆ วัตถุต่างๆ

    ปัจจัยที่ ๓ คือ อธิปติปัจจัย

    ชื่อของปัจจัยต่างๆ ท่านผู้ฟังคุ้นหูในภาษาไทย แต่ว่ายังไม่ได้ทราบว่า โดยสภาพธรรมตามความเป็นจริง ได้แก่อะไร เช่น “อธิปติ” ในภาษาไทย ใช้คำว่า “อธิบดี” ธรรมที่เป็นปัจจัยโดยเป็นใหญ่

    ถาม คำว่าปัจจัย เห-ตุปัจจัย (เสียงเงียบไป)

    อ.จ. โดยทั่วไป เวลาใช้คำว่า เหตุปัจจัย เป็นคำไวพจน์ได้ หมายความว่า มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ถ้าจะกล่าวแยก ปัจจัยมีหลายปัจจัย ปัจจัยคือสภาพธรรมที่อุปการะ เกื้อกูล ให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย หรือว่าเกิดขึ้นในภายหลัง หรือในภายหน้า ต่อจากปัจจัยนั้นก็ได้ โดยที่ว่า ปัจจัยบางปัจจัยนั้น ไม่ใช่เหตุ คือไม่ใช่เจตสิก ๖ ดวง

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดโดยกว้างๆ จะใช้คำว่าเหตุ จะใช้คำว่าปัจจัย ความหมายเหมือนกัน เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกันได้ แต่ถ้าจะกล่าวโดยแยกปัจจัย ได้แก่ ธรรมใดๆ ก็ตาม ที่เกื้อกูลอุปการะ ให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น และปัจจัยนั้นมีหลายชนิด ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเหตุเท่านั้น ซึ่งได้แก่เจตสิก ๖ ดวง ที่เป็นเหตุ เห-ตุปัจจัย ยังมีปัจจัยอื่น ซึ่งแม้ไม่ใช่เจตสิก ๖ ดวง ก็สามารถที่จะอุปการะ ส่งเสริม อุดหนุน ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นได้ เพราะนอกจากเจตสิก ๖ ซึ่งเป็นเห-ตุปัจจัย ธรรมอื่นทั้งหมด คือปรมัตถธรรมอื่น เช่นจิต เจตสิก รูป นิพพาน และแม้บัญญัติ ก็เป็นปัจจัยได้ แต่ว่าสภาพธรรมอื่น นอกจากเจตสิก ๖ ไม่ใช่เห-ตุปัจจัย

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และ สภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้างเท่านั้น แต่ว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมก็ตาม อาศัยกันและกันเกิดขึ้น โดยปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง สภาพธรรมที่เกิดแล้ว จะไม่เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิด ไม่มี และสภาพธรรมใดก็ตาม ซึ่งเกิดแล้ว จะเกิดโดยปราศจากปัจจัย ที่จะทำให้เกิดขึ้น ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ทั้งนามธรรมและรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ต่างกันก็จริง แต่ว่าอาศัยกันและกันเกิดขึ้น เป็นไปโดยละเอียด โดยสภาพของลักษณะของธรรมนั้นๆ ซึ่งถ้าศึกษาโดยละเอียด ก็จะเห็นได้ว่า ขณะจิตหนึ่งๆ ซึ่งเกิดขึ้น จะมีปัจจัยหลายประการ ที่ทำให้เกิดขึ้น เช่นเห-ตุปัจจัย ที่ได้เคยกล่าวถึงแล้ว ได้แก่เจตสิก ๖ ดวง คือ

    - อกุศลเจตสิก ๓ ที่เป็นเหตุ ได้แก่ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก

    - โสภณเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะโลภะเท่านั้น มีเจตสิกอื่นเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า โลภเจตสิกที่เกิด เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย คือเป็นปัจจัยที่ทำให้จิต เป็นโลภมูลจิตเกิด และทำให้อกุศลเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น ทำให้ความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็ได้ ทิฏฐิเจตสิก หรือ ทำให้ความสำคัญตน มานะ เกิดร่วมด้วยก็ได้ นอกจากนั้น เวลาที่โลภเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิต และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมเกิดขึ้นพร้อมกันแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นด้วย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามปกติ ในชีวิตประจำวันนี้ แต่ละขณะที่เกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าได้ทราบถึงความละเอียด ซึ่งสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้น โดยอาศัยสภาพธรรมใดเป็นปัจจัยแล้ว จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ซึ่งแม้จะเป็นสภาพธรรมที่เกิด - ดับอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังต้องอาศัยความละเอียดของปัจจัยหลายปัจจัย สภาพธรรมนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า จะต้องศึกษาปริยัติ (ปรมัตถ) ธรรมละเอียดสักแค่ไหน จึงจะปฏิบัติ ซึ่งก็ขอเรียนให้ทราบว่า ที่ว่าเป็นปริยัติธรรมที่ละเอียดนี้ ไม่ได้อยู่ทีอื่นเลย แต่อยู่ที่ทุกท่านในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง เพียงแต่ว่า ท่านจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏที่ตัวท่าน แต่ละบุคคล ละเอียดแค่ไหน โดยไม่ละเอียด ก็ทราบว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง เช่นกำลังเห็น เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นนามธรรม เสียงเป็นรูปธรรม ได้ยินเป็นนามธรรม เป็นต้น นี่โดยความไม่ละเอียด

    แต่แม้กระนั้น ก็ยังยึดถือเห็น ยึดถือได้ยิน ยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่า เสียงที่ปรากฏทางหูว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นวัตถุ สิ่งต่างๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นนามธรรม และรูปธรรม ก็ยังไม่พอ

    เพราะฉะนั้น ที่จะปฏิบัติธรรม ไม่ใช่รอให้จบ ให้เรียนจบ หรือให้ละเอียดถึงขั้นนั้น ขั้นนี้ แต่ขณะใด ที่ศึกษาเรื่องสภาพธรรม ที่กำลังมีอยู่เกิดขึ้นปรากฏ และมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จะเป็นสังขารขันธ์ ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกได้ ตามที่เข้าใจแล้วว่า สภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ใช่ตัวตนนั้น สภาพธรรมใดไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นนามธรรมชนิดใด สภาพธรรมใดเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่า เป็นสภาพของรูปธรรมชนิดใด

    แต่แม้กระนั้น ทุกท่านก็กล่าวว่า หลงลืมสติมากเหลือเกิน ก็เพราะการฟัง หรือ การเข้าใจเรื่องสภาพธรรม ยังไม่ละเอียดพอ ยังไม่เป็นพหูสูตร ยังไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้ตรึก พิจารณาลักษณะของสภาพธรรม ตามที่ได้ยิน ได้ฟัง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่แจ่มแจ้งขึ้น ชัดเจนขึ้น เป็นสัญญาที่มั่นคง ทำให้ไม่หลงลืม แล้วสติก็สามารถที่จะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    แต่ถ้าตราบใดยังขาดการฟัง หรือว่าการเข้าใจความละเอียดของสภาพธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    24 ก.พ. 2566

    ซีดีแนะนำ