ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 37


    ตลับที่ ๑๙

    มีธาตุอะไรเหลืออีกไหม วิญญาณธาตุ

    ข้อความในอรรถกถามีว่า วิญญาณธาตุมีหน้าที่บงการให้รูปธาตุเหล่านั้นทำกิจตามหน้าที่ของตน ในกรณีนั้นๆ แต่ว่าตามความเป็นจริง ลักษณะของวิญญาณธาตุเป็นสภาพธรรม เพราะช่างรู้ไปทั่ว ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกประการนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร สิ่งที่อยู่ข้างในเป็นอะไร และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอะไร เพราะฉะนั้น จึงมีความปรารถนา มีความต้องการ ที่ทำให้เกิดรูปต่างๆ ขึ้น กระทำกิจต่างๆ เหล่านั้น เพราะวิญญาณธาตุเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสมุฏฐานที่ทำให้เกิดรูปที่มีการเคลื่อนไหว และมีการบริโภคอาหาร

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม ในตอนนี้

    สำหรับอาหารปัจจัย ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอาหารซึ่งเป็นรูป ได้แก่กพฬีการาหาร คืออาหารซึ่งบริโภคเป็นคำๆ หรือนามธรรม ซึ่งเป็นอาหาร ได้แก่ผัสสเจตสิก มโนสัญเจตนาหารได้แก่เจตนาเจตสิก วิญญาณาหารได้แก่จิตทุกดวงที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ก็กระทำกิจของอาหารปัจจัย เพราะเหตุว่านำมาซึ่งผล ถ้าไม่มีอาหาร ผลก็เกิดไม่ได้ แต่เมื่อมีอาหารแล้ว ผลของอาหารย่อมต้องมี เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่า อาหารแต่ละประเภทคือ ทั้งรูปอาหาร และนามอาหารนั้น นำมาซึ่งผลชนิดใด

    ข้อความในปปัญจสูทนี มีว่า

    ถามว่า ก็ในข้อนี้ อาหารชนิดใด นำอะไรมา แก้ไขว่า อาหารที่เป็นคำๆ นำรูป อันมีโอชะรูปเป็นที่แปดมา ฟังดูเหมืนกับจะไม่เข้าใจ แต่ความจริง ทุกท่านก็จะทราบได้ว่า ในรูปร่างกายของแต่ละบุคคล สามารถที่จะแตกย่อยรูปออกได้ จนละเอียดที่สุด เล็กที่สุดเพียงใดก็ตาม กลุ่มของรูปที่ละเอียดที่สุดนั้น จะต้องมีรูปรวมกันทั้งหมด ๘ รูป ซึ่งมีโอชะรูปเป็นที่แปด

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็เข้าใจคำที่อรรถกถาแก้ว่า อาหารที่เป็นคำๆ นำรูปอันมีโอชะรูปเป็นที่แปดมา หมายความว่า เมื่อบริโภคอาหารแล้ว ก็ทำให้เกิดกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอาหารนั้นเองเป็นปัจจัย และในกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย กลุ่มหนึ่งๆ ก็จะมีรูปรวมอยู่ด้วยอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป สำหรับรูปที่เกิดจากอาหาร ไม่ใช่รูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่รูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่รูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดเพราะอาหารนี้ ก็มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา รวม ๘ รูป อย่างน้อยที่สุด ในรูปที่เกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย

    ท่านที่บริโภคอาหารไปแล้ว อาจจะไม่ทราบว่า รูปวันนี้ ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะอาหารที่บริโภคไปแล้วนั่นเอง แล้วก็มีรูปเกิดรวมกันอย่างน้อยที่สุด ในกลุ่มที่เล็กที่สุด ๘ รูป สำหรับนามอาหาร ๓ คือ ผัสสะเป็นผัสสาหาร เจตนาเป็นมโนสัญเจตนาหาร และจิตหรือวิญญาณเป็นวิญญาณาหารนั้น ผัสสาหารนำเวทนา ๓ มโนสัญเจตนาหารนำภพ ๓ มา วิญญาณาหารนำปฏิสนธินามรูปมา

    ผัสสะได้แก่เจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งกระทำกิจกระทบอารมณ์ รูปกับรูป ถึงแม้ว่าจะกระทบกัน แต่ก็ไม่นำมาซึ่งสภาพรู้ รูปกระทบรูป แต่ว่าขณะใดก็ตาม ซึ่งนามธรรมคือผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ ขณะนั้นย่อมนำผลคือจิต และเจตสิกอื่นๆ ให้เกิดร่วมกัน และรู้อารมณ์ที่ผัสสกระทบในขณะนั้น

    สำหรับการนำมาของนามอาหาร มี ๒ นัย คือโดยนัยของปฏิจจสมุปบาทนัยหนึ่ง และโดยนัยของปัจจัยอีกนัยหนึ่ง สำหรับ โดยนัยของปฏิจสมุปบาท ผัสสเจตสิกนำมาหรือว่าเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ๓ แต่ว่าถ้าโดยนัยของอาหารปัจจัย ผัสสะก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา และสัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมด้วย คือจิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกับผัสสะในขณะนั้น

    ข้อความในปปัญจสูทนี มีว่า ผัสสาหารที่มีผัสสะให้เกิดสุข เมื่อเกิดขึ้น ก็นำมาซึ่งสุขเวทนา เพียงสั้นๆ เท่านี้ ท่านผู้ฟังอาจจะคิด แล้วก็พิจารณา และสติปัฏฐานก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ พอรู้สึกเป็นสุขนี้ เคยมีไหม ความรู้สึกเป็นสุขเกิดขึ้น พิจารณาระลึกรู้หรือเปล่าว่า ทำไมสุขจึงเกิดได้ ถ้าปราศจากผัสสเจตสิก ซึ่งกระทบสิ่งที่จะทำให้เกิดสุข สุขย่อมเกิดไม่ได้ ถูกไหม แต่เวลาที่เกิดความรู้สึกเป็นสุขแล้วนี้ ลืมพิจารณาว่า เพราะผัสสะกระทบกับอารมณ์ ซึ่งนำมาซึ่งสุขเวทนา สุขเวทนาจึงเกิดได้

    เพราะฉะนั้นสุขเวทนาในขณะนั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะปัจจัย คือผัสสะกระทบกับอารมณ์ ซึ่งทำให้สุขเวทนาเกิด สุขเวทนาจึงเกิด แม้นี้ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแล้ว ถ้าพิจารณาเรื่อยๆ ในวันหนึ่งๆ จะยินดีกับผัสสะหรือว่าสุขเวทนา ซึ่งเกิดไหมเพราะผัสสะนั้นเป็นปัจจัย เพียงผัสสะไม่กระทบอารมณ์ ซึ่งทำให้สุขเวทนาเกิด สุขเวทนาก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นสุขเวทนา ซึ่งคิดว่าสำคัญ แล้วก็แสวงหามากมายนั้น แท้ที่จริงแล้ว ขึ้นอยู่กับผัสสะที่กระทบกับอารมณ์ที่ถ้าให้สุขเวทนา สุขเวทนาจึงเกิดได้

    สำหรับเวทนาอื่นก็โดยนัยเดียวกัน ขณะใดที่รู้สึกเป็นทุกข์เกิดทุกขเวทนาขึ้น ถ้าไม่พิจารณาก็ลืมว่า แท้จริงที่ทุกขเวทนาจะเกิดได้ ก็เพราะผัสสะกระทบกับอารมณ์ ซึ่งทำให้ทุกขเวนาเกิดนั่นเอง ถ้าขณะนั้นผัสสะไม่กระทบกับอารมณ์ที่ทำให้ทุกขเวทนาเกิด ความรู้สึกเป็นทุกข์ จะมีไม่ได้

    ถ้าท่านผู้ฟังมีโรคประจำตัว แต่ว่าเจริญสติปัฏฐาน จะทราบได้ว่า ทุกขเวทนานั้นก็เล็กน้อย ไม่ยั่งยืน เพราะเหตุว่า กำลังเป็นทุกข์อยู่ จะเจ็บจะปวด ได้ยินแล้ว ขณะที่ได้ยิน สติระลึก ขณะนั้นไม่เจ็บ ไม่ปวด ขณะที่กำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ เพราะเหตุว่าในขณะนั้น ผัสสะไม่ได้กระทบกับอารมณ์ ซึ่งจะทำให้ทุกขเวทนาเกิด ทุกขเวทนาก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ทุกขเวทนาก็ขึ้นอยู่กับผัสสะ ที่จะกระทบกับอารมณ์ ที่จะทำให้ทุกขเวทนาเกิด ฉันใด วันหนึ่งๆ ความรู้สึกเฉยๆ อทุกขมสุขคือไม่สุขไม่ทุกข์นี้ ก็มีอยู่เป็นประจำ พร้อมที่จะให้พิจารณาให้รู้ความจริงว่า ที่เฉยๆ นี้ ก็ไม่ใช่ว่าตั้งใจจะเฉยเอง แต่เป็นเพราะผัสสเวทนากระทบกับอารมณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยให้อทุกขมสุขเวทนาเกิด ไม่ใช่กระทบกับอารมณ์ ซึ่งทำให้สุขเวทนาเกิด หรือทุกขเวทนาเกิดนั่นเอง อทุกขมสุขเวทนาจึงเกิดได้ในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทั้งหลายนี้ พร้อมที่จะให้พิสูจน์ตามความเป็นจริง แม้แต่ในเรื่องของอาหารปัจจัย ซึ่งผัสสาหารนำมาซึ่งเวทนา ๓ ทุกขณะตั้งแต่เกิด จนกระทั่งตาย ให้ทราบว่า ไม่ว่าจะเป็นเวทนาประเภทใดๆ ทั้งสิ้น ย่อมเกิดเพราะผัสสะ เป็นอาหารปัจจัย

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมในเรื่องนี้ สำหรับมโนสัญเจตนาหาร ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถาทสกนิบาต กัมมสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

    บทว่า สนฺเจตนิกานํ ความว่า แห่งกรรมอันสัตว์ตั้งใจแล้วกระทำจนสำเร็จ ซึ่งก็หมายความถึงเจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต ถ้าแสดงโดยนัยของปฏิจสมุปบาท ก็ได้แก่ กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ซึ่งเป็นปุญญาภิสังขาร และอปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร แต่ถ้าโดยนัยของอาหารปัจจัยแล้ว หมายถึง เจตนาเจตสิกทุกดวงที่เกิดกับจิตทุกดวง

    สำหรับมโนสัญเจตนาหาร นำมาซึ่งกรรม คือกามภพ อันเข้าถึงซึ่งกามภพ ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นกรรมที่เป็นกุศลประเภทใด หรืออกุศลประเภทใดก็ตาม ยังเป็นไปเนื่องกับกาม คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นเจตนานั้นๆ ซึ่งเป็นไปในกาม ย่อมนำมาซึ่งการเกิดในภพคือกามภพ ไม่พ้นไปจากภพ ซึ่งเป็นภพของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าเป็นมโนสัญเจตนาหาร ซึ่งจักให้เกิดในรูปภพและอรูปภพ ก็ย่อมนำมาซึ่งภพ คือถ้าเป็นเจตนาที่เกิดกับรูปาวจรกุศล ก็ย่อมทำให้เกิดในรูปพรหมภูมิ ถ้าเป็นเจตนาที่เกิดกับอรูปาวจรกุศล ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดในอรูปพรหมภูมิ ด้วยเหตุนี้ มโนสัญเจตนาหาร ย่อมนำมาซึ่งภพ ๓ โดยประการทั้งปวงอย่างนี้

    สำหรับวิญญาณาหาร โดยนัยของปฏิจจสมุปบาท หมายความถึงปฏิสนธิจิต ย่อมนำมาซึ่งนามธรรม ได้แก่เจตสิกซึ่งเกิดกับปฏิสนธิจิต และกัมมชรูปซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่าถ้าปฏิสนธิจิตไม่เกิด เจตสิกที่จะเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตก็เกิดไม่ได้ หรือแม้กัมมชรูปก็ย่อมเกิดไม่ได้ แต่เมื่อปฏิสนธิจิตเกิด เจตสิกซึ่งเป็นวิบากเกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตนั้นจึงเกิด และกัมมชรูป ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมจึงเกิดได้

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมในเรื่องนี้

    ทรงเกียรติ เรื่องของนามอาหาร ๓ นี้นะครับ ก็แปลกอยู่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงว่า พรหมนี้อยู่ได้ด้วยปีติ ปีติน่าจะเป็นอาหารหนึ่งในอาหารทั้งหลาย ทำไมพระองค์ทรงแสดงว่า อาหารได้แก่เจตนากับวิญญาณกับผัสสะเท่านั้น ส่วนปีตินั้นไม่ทรงแสดงว่าเป็นอาหารครับ

    อ.สุจินต์ ภูมิที่ไม่ประกอบด้วยปีติมีไหมคะ สำหรับพรหม

    ทรงเกียรติ มี

    อ.สุจินต์ แต่พรหมภูมิซึ่งไม่ประกอบด้วยผัสสะหรือไม่ประกอบด้วยปฏิสนธิจิตมีไหม

    ทรงเกียรติ มี

    อ.สุจินต์ มีหรือ อสัญญสัตตาพรหม คะ ซึ่งก็ต้องเกิดขึ้นเพราะมโนสัญเจตนาหารนั่นเอง ถ้าไม่มีมโนสัญเจตนาหารซึ่งเกิดกับรูปปัญจมฌานกุศล อสัญญสัตตาพรหมก็เกิดไม่ได้ รูปปฏิสนธิก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แม้ในรูปพรหมภูมิ ซึ่งไม่มีปีติ ก็ยังมีอาหารปัจจัย คือมีผัสสาหาร และวิญญาณาหาร และมโนสัญเจตนาหาร

    ถาม วิญญาณาหารนี้เป็นอะไรครับ

    อ.สุจินต์ จิตค่ะ

    ถาม อาหารนี้ ก็มี รูปก็มี เจตสิก จิตก็มี ใช่ไหมครับ

    อ.สุจินต์ อาหารปัจจัยมี ๔ ที่เป็นรูปอาหาร ๑ คือกพฬีการาหาร ที่เป็นนามอาหารมี ๓ คือผัสสเจตสิก ๑ มโนสัญเจตนาหาร ได้แก่เจตนาเจตสิก ๑ วิญญาณาหาร ได้แก่จิต ๑ ซึ่งถ้ากล่าวโดยประเภท ผัสสะ ผัสสาหารได้แก่ผัสสะที่เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ก็ได้แก่ผัสสเจตสิก ๘๙ มโนสัญเจตนาหารได้แก่ เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง ก็เท่ากับเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ๘๙ วิญญาณาหารก็ได้แก่จิต ๘๙ นี่แสดงโดยความไม่แปลกัน ถ้าแสดงโดยความต่างกัน ก็โดยนัยของปฏิจสมุปบาท

    ถาม ถ้าจะว่าถึงความหมายนะครับ คำว่าอาหารในที่นี้ก็หมายถึงว่าเป็นธรรมชาติที่ทำให้ธรรมชาติอื่นเจริญขึ้นใช่ไหมครับ

    อ.สุจินต์ นำมาซึ่งผลค่ะ

    ถาม แปลว่า นำมาซึ่งผล

    อ.สุจินต์ ถ้าผัสสะเกิดแล้ว ที่จะไม่มีผลติดตามมา คือไม่มีเวทนาเป็นไปไม่ได้

    ถาม ทีนี้ การเจริญสติปัฏฐาน อย่างก่อนที่จะมาถึงขั้นนี้ คือพิจารณาปัจจัยต่างๆ นี้ จะต้องรู้ชัดในขั้นแรกคือ นามรูปปริจเฉทญาณเสียก่อนหรือเปล่าครับ

    อ.สุจินต์ ถูกต้องค่ะ

    ถาม ถ้าหากว่าไม่รู้ชัด จะผ่านถึงขึ้นนี้ได้ไหมครับ

    อ.สุจินต์ ถ้าไม่รู้ชัด แล้วจะรู้ในลักษณะที่เป็นปัจจัยได้อย่างไร แต่เมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมว่าเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรมแต่ละชนิดแล้ว เวลาที่สติระลึกนี้ ความรู้ก็เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ถาม แล้วขั้นแรกก็ต้องศึกษา และก็พิจารณาใช่ไหม การเจริญในขั้นนี้ด้วยอำนาจปัจจัยนี้

    อ.สุจินต์ เรื่องปัจจัย ขณะนี้สภาพธรรมใดปรากฏ นี่ก็คือเรื่องของสติล่ะ ถ้าเรื่องของหลงลืมสติ ก็ไม่ต้องมาสอบถามหรือพิจารณาว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมใดปรากฏ แต่พอเป็นเรื่องของสติแล้ว เป็นเรื่องที่จะระลึกรู้ว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมใดเกิดขึ้นปรากฏ

    ถ้าสติระลึก จะไม่มีการหยุดเลย ขอให้ท่านผู้ฟังลองพิจารณาในขณะนี้ ไม่ขาดการเกิดขึ้นเป็นไปของนามธรรมและรูปธรรม เห็น จะว่าหมดสิ้นไปแล้ว ได้ยินเกิดขึ้น จะว่าหมดสิ้นไปแล้ว คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้น หมดไปแล้ว อ่อนแข็งปรากฏ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ตราบใดที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าสภาพธรรมไม่มีอาหารปัจจัย ทำให้เกิดขึ้นปรากฏ ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้นได้ ถ้าเสียงไม่เกิดขึ้นปรากฏ จะรู้ลักษณะของวิญญาณาหาร หรือผัสสาหารได้ไหม ในเมื่อไม่มีสภาพธรรมใดปรากฏเลย จะรู้ลักษณะของเวทนาได้ไหม ในเมื่อไม่มีสภาพธรรมใดปรากฏเลย แต่เพราะเหตุว่าผัสสาหาร นำมาซึ่งเวทนา ๓

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ เวทนากำลังเกิดดับ สืบต่อแต่ละชนิด แต่ละลักษณะ บางครั้งเวทนาก็เป็นสุข บางครั้งเวทนาก็เป็นทุกข์ บางครั้งเวทนาก็ไม่สุขไม่ทุกข์ คืออทุกขมสุข ผู้ที่ไม่หลงลืมนี้ มีโอกาสที่จะศึกษารู้ลักษณะของปัจจัยได้ เพราะเห็นการเกิดขึ้นโดยไม่หยุด แสดงว่า เป็นผลของอาหารปัจจัย ถ้าผัสสะไม่กระทบเสียง เสียงไม่ปรากฏ ถ้าปัสสะไม่กระทบแข็ง แข็งไม่ปรากฏ ถ้าผัสสะไม่กระทบกับสิ่งที่น่าพอใจ โสมนัสเวทนาไม่ปรากฏ ถ้าผัสสะไม่กระทบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ โทมนัสเวทนา หรือทุกขเวทนาไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ป่วยไข้ได้เจ็บ ก็มีเวทนาที่จะระลึกรู้ได้ว่าเพราะผัสสะกระทบกับอารมณ์ที่ทำให้ทุกขเวทนาเกิด ทุกขเวทนาจึงเกิด ซึ่งก็ไม่ใช่เรา และก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาด้วย แล้วเวลาที่สภาพธรรมอื่นเกิดต่อ เช่นได้ยิน คนที่กำลังปวดๆ เจ็บๆ มีการได้ยินไหม หรือว่าไม่ได้ยินอะไรเลย ต้องมีใช่ไหม ในขณะนี้ก็มีเสียงปรากฏ เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของอาหารปัจจัยได้ว่า เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นมีขึ้น แสดงว่ามีอาหารปัจจัย จึงทำให้สภาพธรรมนี้เกิดขึ้นปรากฏได้

    ซึ่งอาหารปัจจัยนี้ ในขณะจิตเดียว มีนามอาหารถึง ๓ ประเภท จิตเกิดดับนี้เร็วมาก แล้วก็มีอายุสั้น เล็กน้อยเหลือเกิด ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เห็นความเล็กน้อยของจิต แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติจริงๆ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะเห็นได้ว่าสภาพธรรมนี้ เปลี่ยนไปแต่ละอย่างๆ อย่างหนึ่งหมดไปแล้วก็จริงในขณะนี้ พิสูจน์ธรรมไปด้วย หมดไปแล้วก็จริง ขณะอื่นต่อไปเกิดขึ้นๆ ๆ ๆ อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่มีใครยับยั้งได้

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ผัสสะซึ่งเป็นผัสสาหาร เกิดกับวิญญาณาหาร และมโนสัญเจตนาหาร ในจิตที่เกิดปรากฏรู้อารมณ์ขณะหนึ่งๆ แม้ว่าจิตจะอายุสั้น เล็กน้อย เกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่า ในจิตดวงหนึ่ง มีนามอาหารถึง ๓ อย่าง คือ มีผัสสาหาร มีมโนสัญเจตนาหาร มีวิญญาณาหาร

    เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับสติปัญญา ของผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะรู้ลักษณะของปัจจัยได้ เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะ แล้วก็เห็นอาหารปัจจัย ซึ่งทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปไม่ขาดสาย จะสงบหรือยัง ที่ว่าไม่ยากน่ะ

    ถ้าสงบนะ ก็โดยการที่เห็นโทษหรือเห็นภัย แต่ในขณะที่บริโภคอาหาร รู้ว่าอาหารเป็นปัจจัยแก่รูปร่างกาย คือทำให้อาหารชรูปเกิดขึ้น แล้วก็อุปถัมภ์ร่างกายให้ดำรงอยู่ เท่านั้น เพียงรู้แค่นี้ แล้วจะทำให้กุศลเจริญได้ไหม ถ้าไม่เห็นภัยของอาหารปัจจัยว่า เพราะอาหารปัจจัยทีเดียว สภาพธรรมทั้งหลายนี้ จึงเกิดๆ ๆ โดยที่ไม่หยุดยั้งเลย ถ้าจะดับการเกิด ก็ต้องเห็นโทษเห็นภัยของอาหารปัจจัย จึงจะไม่มีนามธรรม และรูปธรรมเกิดต่อไปอีกได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม จึงต้องศึกษา แล้วก็พิจารณาให้ละเอียดขึ้นๆ เพียงแต่รู้ปัจจัยเท่านั้น ก็ยังไม่พอ ยังต้องเห็นโทษของอาหารปัจจัยด้วย เพื่อที่จะให้ละคลายความยินดีพอใจในอาหารปัจจัย

    ซึ่งสำหรับกพฬีการาหารนี้ ปกติแล้ว เป็นที่ยินดีใช่ไหม ยังไม่เป็นที่เห็นภัย ยังไม่เป็นที่เห็นว่า เพราะนำมาซึ่งผล ทำให้มีการเกิดขึ้น โดยที่ไม่หยุดเลย

    ข้อความใน ปปัญจสูทนี มีว่า

    ก็ในสิ่งเหล่านั้น เมื่อให้สำเร็จอาหารกิจ ด้วยอำนาจแห่งการค้ำชูเป็นต้นอย่างนี้ ก็ควรเห็นภัย ๔ อย่าง คืออะไร คือความยินดีในกวฬิงการาหาร ๑ การเข้าถึงผัสสะ ๑ การประมวลมาในมโนสัญเจตนา ๑ การตกไปในวิญญาณ ๑

    อย่าติดในคำ เวลาที่อ่านข้อความในอรรถกถา ถ้ามีคำว่าตก ประเดี๋ยวก็จะต้องคิดถึงการตกไปจริงๆ ซึ่งความจริงก็หมายความถึง การเกิดขึ้นนั่นเอง เช่น การประมวนมาในมโนสัญเจตนา ๑ การตกไปในวิญญาณ ๑ คือหมายควมมว่า มีการเกิดขึ้นของปฏิสนธิจิตนั่นเอง สำหรับโทษภัยของอาหาร ซึ่งเป็นกพฬีการาหาร

    ข้อความในอรรถกถา มีว่า

    เพราะสัตว์ทั้งหลายกระทำซึ่งภัย คือความยินดีในอาหาร ที่เป็นคำๆ แล้ว เวลาถูกความหนาวเป็นต้นเบียดเบียน ก็กระทำการงานต่างๆ มีการนับด้วยแง่มือเป็นต้น เพื่อต้องการอาหาร ก็ไประสบทุกข์ได้น้อย คือบางพวก ถึงบวชในพระศาสนานี้แล้ว เมื่อแสวงหาอาหาร ด้วยการแสวงอาหารอันไม่ควร มีเวชกรรมเป็นต้น ก็ถูกติเตียนในโลกนี้บ้าง เกิดเป็นสมณเปรต ในโลกหน้าบ้าง

    โดยนัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในลักขณสูตร เป็นต้นว่า ถึงผ้าสังฆาฏิของผู้นั้น ก็ถูกไฟไหม้ลุกโพรงอยู่ ดังนี้ ควรทราบว่า ความใคร่ในอาหารที่เป็นคำๆ เป็นภัย คือเป็นของน่ากลัว ด้วยเหตุอันนี้ก่อน

    ไม่เคยมีใครจะบอกให้เห้นภัยในความยินดีในอาหารที่เป็นคำๆ เลยใช่ไหม ปรุงแต่งให้อร่อย มากๆ ให้รสดีๆ เท่าที่จะพอใจ มีการปรุงเติมอยู่เรื่อย มีการย้ายสถานที่รับประทานอาหาร

    ถ้าไม่ต้องบริโภคอาหารนี้ คงจะตัดเรื่องวุ่นวายในโลกไปได้อีกเยอะ หรือว่าเพียงแค่ละความยินดีในอาหารที่บริโภคลงบ้าง ก็จะตัดความยุ่งยากได้มากมายเหมือนกัน คือไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าพิจารณาเห็นว่า บริโภคเพราะเป็นเพียงอาหารปัจจัย จะตัดความกังวล จะตัดความยุ่งยาก จะตัดการแสวงหา จะตัดการทุจริต เพื่อที่จะได้อาหารที่ต้องการ เพราะเหตุว่า ทุกท่านี้ จะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ ถ้าปราศจากอาหาร แต่ถ้าปราศจากอย่างอื่น ก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะฉะนั้นที่สำคัญจริงๆ ย่อมเป็นอาหาร เพราะฉะนั้นถ้าติดในอาหารมาก จนกระทั่งถึงขั้นทุจริต ซึ่งย่อมจะเป็นไปได้ ถ้าอาหารไม่พอ ถ้าอาหารไม่ประณีต แล้วก็อยากจะได้อาหารที่ประณีตมากๆ ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้กระทำทุจริต โดยการแสวงหาปัจจัยที่จะได้อาหารนั้นๆ มา

    แม้เพศบรรพชิต ก็ได้รับทุกข์โทษภัยเพราะความยินดีในอาหาร ถ้าแสวงหาอาหารในทางที่ผิดแล้ว ย่อมได้รับการติเตียนในโลก และก็ได้รับภัยในโลกหน้า โดยการเกิดในอบายภูมิ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในลักขณสูตร ถึงสมณเปรต ซึ่งผ้าสังฆาฏิของผู้ที่เป็นเปรตนั้น ก็ถูกไฟไหม้ลุกโพลงอยู่ เพราะความยินดีในอาหาร

    ข้อความใน ปปัญจสูทนี แสดงว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องการบริโภคอาหาร อันเปรียบด้วยเนื้อแห่งบุตร ซึ่งในข้อนี้ มีอรรถโยชนาโดยสังเขป ด้วยคำอธิบายดังต่อไปนี้

    มีภรรยา สามี ๒ คน อุ้มลูกเดินทางกันดาร อันมีระยะทางร้อยโยชน์ ไปด้วยเสบียงเพียงเล็กน้อย เมื่อเดินทางไปได้ห้าสิบโยชน์ คือครึ่งหนึ่ง เสบียงก็หมด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    9 ส.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ