ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 10


    เพราะเหตุว่า ปฏิสนธิจิต เป็นวิญญาณ ซึ่งเป็นปัจจัยแก่เจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น และเป็นปัจจัยแก่กัมมชรูป ซึ่งเกิดพร้อมกันในขณะนั้น

    ในขณะปฏิสนธิจิตขณะเดียวนั้นเอง ตัวปฏิสนธิจิต เป็นวิญญาณ เป็นจิตปรมัตถ์ ซึ่งเป็นปัจจัยให้กับเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมด้วย เกิดขึ้นพร้อมกัน และเป็นปัจจัยให้กัมมชรูปเกิดพร้อมกัน ในขณะอุปาทะของปฏิสนธิจิตนั้น

    กัมมชรูป ชื่อบอกแล้วว่า เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม ไม่ใช่รูปกลุ่มที่เกิดเพราะจิต ไม่ใช่รูปกลุ่มที่เกิดเพราะอุตุ ไม่ใช่รูปกลุ่มที่เกิดเพราะอาหาร

    แต่สำหรับปฏิสนธิขณะ คือปฏิสนธิกาล ถ้าปราศจาปฏิสนธิจิต กัมมชรูปเกิดไม่ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นความพิเศษ ของสภาพธรรมในขณะหนึ่งว่า ในขณะปฏิสนธิ คือในปฏิสนธิกาล เป็นขณะที่พิเศษต่างจากขณะหลังๆ ซึ่งขณะหลังๆ กัมมชรูปเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย โดยไม่ต้องอาศัยจิต ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น กัมมชรูปในขณะนั้นเป็นปัจจัย และปัจจยุปบัน คือเป็นปัจจยุปบันของปฏิสนธิจิต และเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เพราะเหตุว่า ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรม คือจิต และเจตสิก ไม่สามารถที่จะเกิด โดยไม่อาศัยรูปธรรม ตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ จนกระทั่งถึงจุติ

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงแต่ละขณะนี้ มีความพิเศษ มีความต่างออกไป ซึ่งเป็นความละเอียด ซึ่งจะต้องรู้ว่า ทุกอย่างเป็นเพราะปฏิสนธิขณะ ประมวลมาซึ่งปัจจัย และปัจจยุปบันของธรรมทั้งหลาย ซึ่งเกิดสืบต่อ ตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงจุติ โดยอนันตรปัจจัย

    เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตดับ เป็นปัจจัย ทำให้ภวังคจิตดวงแรกเกิดสืบต่อ ถ้ามีผู้ถามว่าเพราะอะไร ก็เพราะปฏิสนธิจิต และเจตสิกเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ให้ภวังคจิตเกิด จะไม่เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นเห็นสืบต่อทันที จะไม่เป็นปัจจัยให้โสตวิญญาณจิตเกิดขึ้น ได้ยินสืบต่อทันที แต่ต้องเป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ

    ปฐมภวังคจิตที่ดับไป ก็เป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยให้ภวังคจิตดวงที่ ๒ เกิดสืบต่อ ไม่มีใครจะไปบังคับ หรือว่าจะไปเปลี่ยนแปลง ความเป็นอนันตรปัจจัย ของปฐมภวังค์ ว่าเมื่อดับไปแล้ว ให้จิตดวงอื่น ซึ่งไม่ใช่ภวังคจิตดวงที่ ๒ เกิด

    นี่คือสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามปกติ ซึ่งไม่ใช่มีแต่ปฏิสนธิจิต และภวังคจิตเท่านั้น ยังมีการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยอนันตรปัจจัย

    ถ้ามีปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ แล้วมีภวังคจิตเกิดแล้วดับเท่านั้น ไม่มีใครเดือดร้อน ไม่มีใครเป็นสุข เป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่า ไม่ได้รู้อารมณ์ซึ่งทำให้เกิดความรัก หรือความชัง ซึ่งทุกคนก็เห็นได้ว่า ขณะที่นอนหลับสนิท ไม่เกิดความรัก ความชังใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่า ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    แต่อนันตรปัจจัย ทำให้เกิดการรู้อารมณ์ขึ้น การที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใหม่ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ตาม ให้ทราบว่าในขณะนั้น เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังคจิต เพราะเหตุว่าภวังคจิตมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ไม่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่อนันตรปัจจัย ทำให้วิถีจิตเกิดขึ้น เปลี่ยนจากอารมณ์ ของปฏิสนธิ และภวังค์ โดยเป็นการรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    สำหรับชวนวิถีแรก ข้อความในอภิธรรมัตถวิภาวินีฎีกา อธิบายปริจเฉทที่ ๔ แสดงว่า เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว แล้วภวังคจิตเกิด – ดับสืบต่อ หลายขณะแล้ว วิถีจิตแรกที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในภพภูมิใดๆ ทั้งสิ้น ต้องเป็นวิถีจิตทางมโนทวาร ซึ่งมีโลภมูลจิตเป็นชวนะ ต่อจากมโนทวาราวัชชนจิต

    สำหรับชวนวิถีแรก เป็นมโนทวารวิถี ซึ่งมโนทวาร ได้แก่ ภวังคุปัจเฉท เพราะเหตุว่า ถ้ายังไม่เป็นวิถีจิต กระแสของภวังค์ก็จะเกิด – ดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ แต่เวลาที่จิตจะเปลี่ยนอารมณ์ หมายความว่ารู้อารมณ์อื่น ต่างจากภวังค์ ภวังค์จะเป็นภวังคจลนะ คือเริ่มไหวที่จะเปลี่ยน หรือรู้อารมณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิต ภวังคจละนะเกิดขึ้นขณะหนึ่ง แล้วดับไป เป็นอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย ให้ภวังคุปัจเฉทเกิดขึ้น ภวังคุปัจเฉทะ คือภวังค์ดวงสุดท้าย ของกระแสภวังค์ เมื่อภวังคุปัจเฉทะเกิดแล้ว ที่จะยับยั้งไม่ให้จิตดวงต่อไป ไม่ให้เป็นวิถีจิตไม่ได้ เพราะเหตุว่า ภวังคุปัจเฉทะ เป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ให้วิถีจิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นการรู้อารมณ์ทางมโนทวาร มโนทวาราวัชชนะ เป็นวิถีจิต ที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ

    ถ้าเป็นทางปัญจทวาร คือทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกาย ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์ เป็นการรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวาร แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งสำหรับการเกิดขึ้น รู้อารมณ์ตามทวาร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ภาษาบาลีใช้คำว่า วิสยปวัตติ

    วิสย เป็นอีกคำหนึ่งของคำว่าอารมณ์ จะใช้คำว่าอารัมมณะ หรือวิสย หรือโคจร ก็ได้

    โคจรรูป คงจะเคยได้ทราบมาแล้วว่า หมายความถึงรูปที่เป็นอารมณ์ ๗ รูป คือ ทางตา ๑ รูป

    ทางหู ๑ รูป

    ทางจมูก ๑ รูป

    ทางลิ้น ๑ รูป

    ทางกาย ๓ รูป ได้แก่ ธาตุดิน ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง

    ธาตุไฟ ลักษณะที่เย็นหรือร้อน

    ธาตุลม ลักษณะที่ตึงหรือไหว

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตเกิดขึ้นเป็นไป โดยการรู้อารมณ์ตามทวาร เป็นวิสยปวัตตินั้น สำหรับทางปัญจทวาร แสดงไว้ว่ามี ๔ วาระ ที่ต่างกัน คือ บางขณะที่รู้อารมณ์ทางตา วิถีจิตเกิดมาก

    ตั้งแต่อาวัชชนวิถี

    ถ้าเป็นทางตา ก็เป็นจักขุวิญญาณเกิดต่อ เป็นวิถีที่ ๒

    ต่อจากนั้นก็เป็นสัมปฏิจฉนจิต วิถีที่ ๓

    สันตีรณจิต เป็นวิถีที่ ๔

    โวฏฐัพพนจิต เป็นวิถีที่ ๕

    ชวนจิต เป็นวิถีที่ ๖

    และตทาลัมพนจิต เป็นวิถีที่ ๗

    มีวิถีจิตถึง ๗ วิถี จึงเป็น ตทาลัมพนวาระ

    ในขณะที่เป็นไปกับการเห็นครั้งหนึ่งๆ ท่านผู้ฟังอาจจะไม่ทราบเลยว่า ขณะนี้เป็นตทาลัมพนวาระหรือเปล่า แต่ทรงแสดงว่า ในการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางปัญจทวารครั้งหนึ่งๆ จะมีวิสยปวัตติ คือความต่างกันตามความมากน้อย ของวิถีจิต ซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ในขณะนั้น โดยอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยนั่นเอง

    ถ้าขณะใดมีการรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร แต่วิถีจิตไม่ถึง ๗ วิถี คือมีเพียง อาวัชชนวิถี และปัญจวิญญาณวิถี สัมปฏิจฉนวิถี สันตีรณวิถี โวฏฐัพพนวิถี ชวนวิถีเท่านั้น ไม่มีตทาลัมพนะ ขณะนั้นเป็น ชวนวาระ

    และบางครั้ง วิสยปวัตติ คือการเกิดขึ้นเป็นไป รู้อารมณ์นั้น ก็อาจจะมีวิถีจิตเกิดน้อยกว่านั้นอีก คือแม้ชวนะก็ไม่เกิด มีแต่ปัญจทวาราวัชชนวิถี และปัญจวิญญาณ สัมปฏิจฉน สันตีรณ และโวฏฐัพพนะ คือมีเพียง ๕ วิถีเท่านั้น วิสยปวัตติ การเป็นไปเกิดขึ้นของจิต ที่รู้อารมณ์ในขณะนั้น ก็เป็น โวฏฐัพพนวาระ เพราะเหตุว่า ชวนะไม่เกิด กุศลจิต อกุศลจิตไม่เกิดในขณะนั้น

    และบางขณะวิสยปวัตติน้อยกว่านั้นอีก คือมีแต่ภวังคจลนะเท่านั้น แม้ภวังคุปัจเฉทะก็ไม่มี เพราะเหตุว่า ถ้าภวังคุปัจเฉทะเกิดขึ้น จะต้องเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ให้วิถีจิตเกิด วิสยปวัตติที่ไม่มีวิถีจิตเกิดเลยนั้น เป็น โมฆวาระ เพราะเหตุว่า รูปที่กระทบปสาทนั้นดับไปก่อนที่วิถีจิตจะเกิดขึ้นได้

    มีท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไร ในเรื่องอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยบ้างไหม

    ทรง.ก. ที่ว่ารูปดับไปเสียก่อน ปกติ รูป อายุของรูปมี ๑๗ ขณะของจิต ในเมื่อจิตเกิด – ดับ ยังไม่ถึง ๑๗ ขณะ แล้วรูปจะดับไปก่อนได้อย่างไร หมายความว่า รูปเกิดก่อนจิตเกิดหรืออย่างไร

    อ.จ. แน่นอน เพราะฉะนั้น บางทีรูปเกิดก่อนหลายขณะ ก่อนที่วิถีจิต

    จะเกิด

    ทรง.ก. อยากจะทราบความต่างกันของคำว่า อนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ยังมองไม่ค่อยเห็นว่าต่างกันอย่างไร

    อ.จ. สภาพธรรมที่เป็นปัจจัย บางครั้งพระผู้มีพระภาคทรงแสดง ความต่างโดยพยัญชนะ เพื่อเน้นความเข้าใจ ที่ถูกต้อง ขอยกตัวอย่างเช่น นัตถิปัจจัย และวิคตปัจจัย

    นัตถิ แปลว่าไม่มี

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่จะเป็นนัตถิปัจจัยได้ ต้องเป็นปัจจัย ในขณะที่สภาพธรรมนั้นไม่มี ไม่ใช่ในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังมีอยู่ แต่ถ้าใช้แต่เพียงพยัญชนะว่า นัตถิปัจจัยเท่านั้น ก็อาจจะทำให้เข้าใจความหมายผิด หรืออาจจะทำให้เข้าใจไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้น แม้ในความเป็นปัจจัยของสภาพธรรม คือจิต และเจตสิกในขณะนั้นเอง ก็เป็นปัจจัยโดยเป็นวิคตปัจจัย หมายความ ไม่มีโดยความปราศไป ดับไป ไม่ใช่ว่า เพราะไม่เคยมี เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกนี้ เป็นอนันตรปัจจัย เมื่อดับไปแล้ว ทำให้จิตและเจตสิกดวงต่อไป เกิดต่อโดยเป็นนัตถิปัจจัย คือต้องเป็นสภาพที่ ไม่มีอยู่ในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้ว จิตดวงต่อไปจะเกิดไม่ได้

    แต่การที่จิตจะเป็นอนันตรปัจจัย โดยการทำให้จิตดวงต่อไปเกิด ในขณะนั้น ต้องเป็นนัตถิปัจจัยด้วย คือจะเป็นอนันตรปัจจัย ก็ต่อเมื่อเป็นสภาพที่ไม่มีอยู่ในขณะนั้น คือเป็นนัตถิปัจจัยด้วย เป็นสภาพที่ไม่มีในขณะนั้น ต้องเป็นสภาพที่ไม่มีโดยปราศไป คือโดยดับไป ไม่ใช่เพราะไม่เคยมีมาก่อนฉันใด

    สำหรับอนันตรปัจจัย หมายความถึง จิตและเจตสิก เป็นปัจจัย ทำให้ปัจจยุปบันนธรรม คือจิตและเจตสิกดวงต่อไป เกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย

    เพราะฉะนั้น สมนันตรปัจจัย แสดงถึงอนันตรปัจจัย ซึ่งทำให้จิตอะไรเกิดต่อ เช่นเมื่อภวังคุปัจเฉทจิตดับไป ต้องมีอนันตรปัจจัย จิตอื่นจึงจะเกิดต่อได้ แต่ว่าจิตที่จะเกิดต่อ ถ้าเป็นการกระทบอารมณ์ทางปัญจทวาร ภวังคุปัจเฉทะ เป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ให้ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดขึ้น ไม่เป็นปัจจัยให้จิตอื่นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น การเป็นอนันตรปัจจัย คือทำให้จิตดวงต่อไปเกิดสืบต่อ สมนันตรปัจจัยก็คืออนันตรปัจจัย เพราะเหตุว่า เป็นอนันตรปัจจัยที่ทำให้เฉพาะปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ ไม่ทำให้จักขุวิญญาณจิต หรือจิตอื่นเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ถ้าเป็นทางปัญจทวาร

    นี่คือสภาพธรรมที่เป็นปัจจัย ซึ่งผู้อื่นไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง หรือบังคับบัญชาให้เป็นอย่างอื่นได้ เพราะฉะนั้น อาจารย์รุ่นหลังบางท่านก็กล่าวว่า อนันตรปัจจัย เป็นปัจจัยที่ทำให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิดขึ้น สมนันตรปัจจัย คือจิตและเจตสิกดวงก่อน เป็นสมนันตรปัจจัย โดยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดต่อด้วยดี คือตามสภาพความเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ของจิตดวงก่อน ว่าเมื่อดับไปแล้ว จะเป็นปัจจัยให้จิตประเภทไหน ดวงไหน ชาติไหน เกิดขึ้น

    นักเรียน ที่อาจารย์บอกว่า เมื่อรูปเกิดขึ้น ดับไปแล้ว จิตยังไม่เกิด ขอให้อาจารย์ยกตัวอย่างให้ฟัง

    อ.จ. ธรรมดารูปก็เกิด แล้วมีอายุ ๑๗ ขณะ แล้วก็ดับ แล้วแต่ว่าจะกระทบกับปสาท แล้วก็เป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์นั้น มากหรือน้อยวิถีเท่านั้นเอง ตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครสามารถจะไปยังยั้งว่า รูปที่เกิดแล้ว ต้องให้วิถีจิตเกิดครบทั้ง ๗ วิถีก่อนแล้ว จึงดับ เพราะเหตุว่า รูปเองก็มีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะของจิต เพราะฉะนั้น ถ้ารูปใดเกิดแล้วกระทบ แล้ววิถีจิตยังไม่เกิด ภวังคจลนะก็เกิดแล้วก็ดับ ภวังคจลนะนั้นเอง ก็เกิดแล้วดับ ก่อนที่วิถีจิตจะเกิด เมื่อเป็นอย่างนั้น รูปก็ต้องดับก่อนตทาลัมพนจิตจะเกิดได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นชวนวาระ ถ้าตทาลัมพนะจิตยังไม่เกิด

    ประวิทย์ อยากจะเรียนถามเรื่องการเจริญสติ ขณะที่เป็นสี สมมติว่าสีปรากฏ เป็นจักขุทวารวิถี ถ้าหากปัญญาจะเกิดในชวนวิถี ปัญญาก็ต้องมีสีเป็นอารมณ์ใช่ไหม เพราะขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน

    อ.จ. ต้องมีรูปเป็นอารมณ์ สำหรับทางปัญจทวารวิถี ทางปัญจทวารวิถีจะมีนามเป็นอารมณ์ไม่ได้เลย

    วิทย์ ปัญญาในขณะนั้นจะรู้อะไรล่ะครับ

    อ.จ. รู้รูปที่กำลังปรากฏ ถูกต้อง รู้ได้ไหม

    วิท ขณะที่สัมปฏิจฉนะดับไป สัมปฏิจฉนะในขณะนั้นมีสีเป็นอารมณ์ แล้วชวนะก็ต้องมีอารมณ์เหมือนสัมปฏิจฉนะ

    อ.จ. ตลอดวิถี ทางปัญจทวาร จะเปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้ คือถ้าเป็นทางตา ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณจิต สัมปฏิจฉนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต และตทาลัมพนจิต มีรูปซึ่งยังไม่ดับไปนั้นเป็นอารมณ์

    วิท แล้วปัญญาในขณะนั้น เมื่อเป็นปัญญาจะต่างกับขณะที่ไม่เป็นสติปัฏฐาน

    อ.จ. มีหลายขั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ไม่ได้หมายความว่า ปัญจทวารวิถีจิตไม่เกิด ถูกไหม

    วิท ถูกครับ

    อ.จ. เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาที่ถึงขั้นของวิปัสสนาญาณ จะต้องรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งกำลังปรากฏในขณะนั้น ทีละอย่าง เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณ สำหรับตัววิปัสสนาญาณ ต้องเป็นการรู้อารมณ์ทางมโนทวารวิถี แต่อารมณ์ที่ปรากฏ จะปราศจากปัญจทวารวิถีไม่ได้ เพราะเหตุว่า ในขณะนั้น เสียงก็ปรากฏเป็นอารมณ์ให้ วิปัสสนาญาณ รู้ว่าไม่ใช่นามธรรม เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว ลักษณะของนามธรรมปรากฏ โดยสภาพที่เป็นนามธรรม เป็นเพียงธาตุรู้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นลักษณะของธาตุรู้ แต่ละชนิด และรูปธรรมในขณะนั้น ก็ต้องปรากฏ เพื่อแสดงความเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่นามธรรม วิปัสสนาญาณจึงประจักษ์ชัด แจ่มแจ้ง ในลักษณะที่ต่างกัน ของนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีปัญจทวารวิถีด้วย มิฉะนั้น รูปธรรมก็ปรากฏไม่ได้ แต่หลังจากที่ปัญจทวารวิถีดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิด รู้รูปธรรมนั้นเอง ต่อจากทางปัญจทวารวิถี เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถี สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ทั้งนามธรรม และรูปธรรม แต่ในขณะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะปราศจากปัญจทวารวิถีด้วย เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เกิดทางปัญจทวารวิถีก็มี ไม่ใช่ว่าไม่มี มิฉะนั้นแล้ว ขณะนั้นก็ต้องขาดตอนของปัญญาใช่ไหม

    วิท แล้วปัญญาในขณะนั้น สมมติว่ารู้สี

    อ.จ. ก็มีสีเป็นอารมณ์ ลักษณะของสีในขณะนั้น ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    วิท ถ้าไม่ใช่เป็นวิปัสสนาญาณ สมมติว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่า

    อ.จ. ระดับที่ต่ำกว่า ก็สามารถจะพิจารณารู้ ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ หมายความว่า รู้สีนั้นเอง ไม่ใช่รู้อย่างอื่น ทางปัญจทวารต้องมีสีปรากฏ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะสงสัยเรื่องของการแยกขาดของปัญจทวารวิถี และมโนทวารวิถี ใช่ไหม เพราะเหตุว่า ปัญจทวารวิถีไม่ใช่มโนทวารวิถี แล้วก็มีภวังค์คั่น เพราะฉะนั้น จึงสงสัยในความต่างกัน แม้ของชวนจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เช่นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ในขั้นของสติปัฏฐาน ว่าจะเกิดได้ไหม ในทางปัญจทวารวิถี

    วิท ผมเข้าใจว่าเกิดได้ แต่ว่าสงสัยว่า ถ้าเกิดแล้ว

    อ.จ. ก็มีสีเป็นอารมณ์ อย่างรวดเร็วที่สุด สั้นที่สุด เล็กน้อยที่สุด

    วิท สมมติว่าปัญญาเกิดในจักขุทวาร จะทำให้รู้เรื่องไหมว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสี

    อ.จ. ขณะนั้นมีสีเป็นอารมณ์ พอไหม ขณะที่มีสีเป็นอารมณ์ แล้วรู้ว่าเป็นสภาพที่ปรากฏ เพราะเหตุว่า ทางจักขุทวารเอง ไม่สามารถที่จะเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นอะไรได้เลย ปกติก็เป็นอย่างนั้น แต่ต่าง เพราะเหตุว่า ถ้าปัญญาไม่เกิด โลภะเกิด โมหะเกิด แล้วดิฉันได้เรียนให้ทราบแล้วว่า แม้ในขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ อย่างนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ใช่เพียงลักษณะของนามธรรมเท่านั้นที่ปรากฏ รูปธรรมก็ต้องปรากฏ เพราะฉะนั้น จะปราศจากปัญจทวารได้ไหม

    วิท ถ้ายังไม่ถึงวิปัสสนาญาณ

    อ.จ. ยังไม่ถึง สติไม่เกิด อะไรเกิด ต้องเป็นโลภะ โมหะ แต่ไม่รู้ลักษณะของโลภะ โมหะ ในขณะที่เห็นเกิดขึ้น ใช่ไหม บางคนก็เข้าใจว่าไม่เป็นโลภะเลย เพราะไม่ปรากฏอาการที่พอใจ เพราะความไม่รู้ แต่เวลาที่สติเกิด ต่างกันใช่ไหม กำลังพิจารณาลักษณะสภาพของรูปที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะนั้น ต้องไม่ใช่โลภะ โมหะ

    วิท ขณะที่กำลังพิจารณาน่ะ คิดไม่ใช่หรือครับ

    อ.จ. พิจารณาโดยไม่คิด มีไหม ถ้ายังไม่มี ก็ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน

    วิท พิจารณาอย่างไรครับ ยังไม่คิด

    อ.จ. น้อมไปที่จะรู้ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงขั้นสติปัฏฐาน มีปัญญาขั้นฟัง

    มีปัญญาขั้นตรึก เรื่องที่ได้ยินได้ฟัง แต่จะรู้ความต่างกันว่า ขณะใดที่สติระลึก ตรงลักษณะ ไม่ได้หมายความว่า คิดเกิดขึ้นทุกครั้ง เพราะเหตุว่า จิตที่คิดก็ดับ ใครจะคิดได้ตลอดเวลา ที่จะเป็นคำ ไม่ได้คิดเป็นเรื่อง เป็นคำอยู่ตลอดเวลา ลองกระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใดในขณะนี้ดู ว่ามีการคิดเป็นคำหรือเปล่า ในขณะที่ลักษณะแข็งกำลังปรากฏ ยังไม่ได้คิดเป็นคำว่าแข็ง ยังไม่ได้คิดเป็นคำว่า แข็งเป็นรูป ยังไม่ได้คิดเป็นคำว่า ที่กำลังรู้ว่าแข็ง สภาพรู้ในลักษณะที่แข็งนั้นเป็นนาม

    ไม่ต้องคิด แต่นามธรรมกำลังรู้แข็ง เป็นธาตุรู้ แข็งกำลังเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อเป็นเพียงลักษณะแข็ง ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งแข็ง แล้วเป็นของจริง ซึ่งกำลังปรากฏ ในขณะนั้น สภาพรู้กำลังรู้แข็ง โดยไม่ต้องคิดเป็นคำ

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานคือน้อมไปที่จะรู้ในลักษณะที่รู้ ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ และบางครั้งสติปัฏฐาน ก็น้อมไปที่จะไม่ยึดถือแข็ง ว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกว่าจะรู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะกระทบแข็งที่นี่ หรือจะไปกระทบหญ้าที่พระวิหารเชตวัน ไม่ว่าจะกระทบที่ไหน ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางกาย ก็แข็ง เป็นแต่เพียงธาตุแข็งเท่านั้น จึงจะไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล หรือวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้

    แต่การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล มีมาแสนโกฏิกัปป์ ก็ยังน้อยไป เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดระลึกที่ลักษณะที่แข็ง อย่าลืม ความเป็นตัวตน ซึ่งเคยสะสมมาเนิ่นนาน ยิ่งกว่าแสนโกฏิกัปป์ ทำให้มีความรู้สึกเหมือนว่า เรากำลังนั่ง แล้วก็กระทบแข็ง ความเป็นเรานี้ ไม่ได้ออก มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน ซึ่งกำลังนั่งอยู่ หรือจะยืนอยู่ก็ตาม แล้วกำลังกระทบแข็งด้วย เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตน ก็คือในขณะที่กำลังกระทบแข็ง แล้วความทรงจำในความเป็นตัวตน ที่จะนั่งอยู่ หรือยืนอยู่ หรือเดินอยู่ แล้วกระทบลักษณะที่แข็ง ต้องหมดสิ้น เหลือแต่เพียงอาการแข็ง และธาตุที่กำลังรู้แข็ง ในขณะนั้นเท่านั้น ชั่วขณะนั้นจึงไม่ใช่ตัวตน หรือสัตว์ บุคคล หรือเราอีกต่อไป

    เพราะเหตุว่า มีเพียงสภาพที่กำลังรู้ สิ่งเดียวคือแข็ง ไม่ใช่ไปจำเอาไว้หมด ทรงจำไว้ว่า ที่แท้ก็เป็นเราซึ่งกำลังยืนอยู่ หรือนั่งอยู่ แล้วรู้แข็ง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ไม่สามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนได้ แต่ทุกท่านที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน จะมีความรู้สึกว่า ตัวตนยังไม่หมด แม้ว่าแข็งปรากฏ ถูกไหม ยังมีความเป็นเรา ที่กำลังนั่ง กระทบแข็ง แต่ความเป็นเรา ที่กำลังนั่งกระทบแข็ง ต้องหมด สภาพธรรมจึงจะปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กระทบแข็ง ไม่ได้นึกใช่ไหม ไม่ต้องนึก เพราะฉะนั้น เวลาที่ใช้คำว่าคิด หมายความถึง นึกถึงเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ แต่ความเป็นจริง ขณะที่กระทบแข็ง ไม่ได้นึกถึงคำอะไรเลย เพราะฉะนั้น ปัญญาและสติก็คือ น้อมไปที่จะรู้ ไม่ได้หมายความว่า ให้คิดว่า แข็งเป็นรูป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    22 ส.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ