ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 05


    ตอนที่ 5

    มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของสัมปฏิจฉนจิต หรือสันตีรณจิต หรือโวฏฐัพพนจิตบ้าง ในขณะนี้

    ไม่มีใช่ไหม แต่ถ้าเกิดพอในใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพที่พอใจ หรือว่าขณะนั้นเป็นความไม่แช่มชื่น เป็นลักษณะที่หยาบกระด้าง ประทุษร้าย เป็นความโกรธ ในขณะนั้นก็รู้ว่า ทันที่ที่เห็นก็โกรธ หรือว่าขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ

    หรือว่าทันทีที่ได้ยินเสียง ก็ขุ่นเคืองใจ ไม่ชอบในเสียงนั้น ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า จิตที่ทำชวนกิจ แล่นไปในอารมณ์ ด้วยความยินดี เป็นโลภมูลจิต เกิด – ดับสืบต่อกัน ตามปกติแล้ว ก็ ๗ ขณะ หรือว่าถ้าเป็นขณะที่ไม่พอใจ โทสมูลจิตไม่ได้เกิดขณะเดียว อย่างจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ แต่ว่าเกิด – ดับ ซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ตามปกติ จึงกระทำชวนกิจ และเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนสามารถจะรู้ได้ ในขณะที่จิตนั้น เป็นชวนจิต และข้อความในอรรถกถาบางแห่ง ก็ได้แสดงถึง ขณะที่ปัญญาเกิดขึ้น สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรมนั้น ในขณะที่เป็นชวนจิต

    เวลานี้ท่านผู้ฟังแยกไม่ออกแน่ใช่ไหม ระหว่างขณะไหนเป็นจักขุวิญญาณจิต ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ดับแล้วเร็วมาก ซึ่งขณะต่อไป ต้องเป็นสัมปฏิจฉนจิต ก็แยกไม่ได้ เมื่อดับไปแล้ว สันตีรณจิตเกิดต่อ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เมื่อสันตีรณจิตดับแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงต้องรู้ในขณะที่เป็นชวนจิต ไม่ว่าจะเป็นทางปัญจทวาร หรือมโนทวาร แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ก็ต้องเป็นทางมโทวารวิถี

    แต่ในขณะนี้ที่กำลังเห็น ถ้าชวนวิถีจิตไม่เกิด – ดับ ซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ท่านผู้ฟังจะไม่ปรากฏว่า มีการเห็นคือจักขุวิญญาณ ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ พอที่สติจะระลึก และศึกษาให้รู้ว่า ขณะนั้นสติระลึกที่ลักษณะของรูปธรรมหรือว่าระลึกที่ลักษณะของนามธรรม

    เพราะฉะนั้น สำหรับสภาพธรรมคือจิตและเจตสิก ซึ่งจะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัย จึงต้องเป็นเฉพาะในขณะที่เป็นชวนจิต ไม่ใช่ขณะเห็น ไม่ใช่ขณะสัมปฏิจฉนะ ไม่ใช่ขณะสันตีรณะ ไม่ใช่ขณะโวฏฐัพพนะ และสำหรับชวนจิตทั้งหมด คือสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์แล้วก็ได้แก่ อกุศลจิต และกุศลจิต

    สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกุศลจิตและอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ชวนจิตของพระอรหันต์เป็นกิริยาจิต ชวนจิตทั้งหมด จึงมี ๕๕ ดวง ซึ่งได้เคยกล่าวถึงโดยสังเขปแล้ว เมื่อจำแนกโดยชาติบ้าง โดยภูมิบ้าง

    สำหรับในวันนี้ เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟัง ได้ทราบว่า ชวนจิต ๕๕ ดวงนั้น ก็คือจิตที่เป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้างของปุถุชน และเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ และรวมโลกุตตรจิตทั้ง ๘ ดวงด้วย

    ชวนจิตทั้งหมด ๕๕ ดวงคือ

    อกุศลจิต ๑๒ ดวง

    มหากุศลจิต คือ กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง

    มหากิริยาจิต คือ กามาวจรกิริยาจิตของพระอรหันต์ ๘ ดวง

    รูปาวจรกุศลจิต ๕ ดวง

    รูปาวจรกิริยาจิต ของพระอรหันต์ ๕ ดวง

    อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง

    อรูปาวจรกิริยาจิตของพระอรหันต์ ๔ ดวง

    โลกุตตรกุศลจิต ๔ ดวง

    โลกุตตรวิบากจิต ๔ ดวง

    รวมเป็นชวนจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๕๔

    และหสิตุปปาทจิต คือจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเจตสิกอีกหนึ่งดวง รวมเป็นชวนจิตทั้งหมด ๕๕ ดวง

    สำหรับกุศลจิตในกามภูมิ คือไม่ใช่ฌานจิต ไม่ใช่รูปาวจรจิต ไม่ใช่อรูปาวจรจิต มี ๘ ดวง ชื่อว่า กามาวจรกุศล ๘ ดวง

    เวลาที่ท่านจะให้ทานก็ดี วิรัติทุจริตก็ดี หรือว่าจิตที่สงบเกิดขึ้น หรือว่าจิตในขณะนั้นกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ศึกษารู้ว่าเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมในขณะนั้น ก็เป็นกามาวจรกุศลจิตนั่นเอง เพราะเหตุว่า ยังไม่ใช่ฌานจิต ยังไม่ใช่รูปาวจรกุศลจิต หรือยังไม่ใช่อรูปาวจรกุศล ยังไม่ใช่โลกุตตรกุศล

    เพราะฉะนั้น สำหรับกุศล โดยภูมิ มี ๔ ภูมิ

    กามาวจรกุศลมี ๘ ดวง

    รูปาวจรกุศล ได้แก่รูปฌานจิต มี ๕ ดวง

    อรูปาวจรกุศล ได้แก่ อรูปฌานกุศลจิต มี ๔ ดวง

    โลกุตตรกุศล ได้แก่ โสตาปัตติมัคคจิต ๑ ดวง

    สกทาคามิมัคคจิต ๑ ดวง

    อนาคามิมัคคจิต ๑ ดวง

    อรหัตตมัคคจิต ๑ ดวง

    เป็น ๔ ดวง

    นี่เป็นกามาวจรกุศล ๘

    รูปาวจรกุศล ๕

    อรูปาวจรกุศล ๔

    และ โลกุตตรกุศล ๔ รวมเป็น ๒๑ ดวง

    ไม่จำเป็น ถ้าท่านผู้ฟังจะไม่นับก็ได้ แต่ให้เข้าใจว่า สำหรับจิตชาติกุศล มี ๔ ภูมิ เป็นชวนจิต นอกจากอกุศลจะเป็นชวนจิตแล้ว กุศลก็เป็นชวนจิตด้วย นอกจากนั้นกิริยาจิตของพระอรหันต์ก็เป็นชวนจิตด้วย เพราะเหตุว่า เมื่อมีการเห็นแล้ว ไม่มี เหตุปัจจัยที่จะให้เป็นกุศล อกุศล แต่ก็เป็นโสภณจิต ซึ่งกระทำชวนกิจ โดยความเป็นกิริยา โดยชาติกิริยา เพราะเหตุว่า จะไม่เป็นเหตุให้เกิดผล

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นมหากุศลจิต อย่างคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์ ก็เป็นมหากิริยาจิต แทนที่จะเป็นรูปาวจรกุศลจิต อย่างผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์ที่ได้รูปวจรฌาน ก็เป็นรูปาวจรกิริยาจิต และถ้าเป็นพระอรหันต์ที่ได้ถึงอรูปฌาน ก็เป็นอรูปาวจรกิริยาจิต แต่ว่าโลกุตตรจิตนั้นไม่มีชาติกิริยา

    นี่เป็นเรื่องของความละเอียด ของการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง เมื่อสรุปประมวลแล้ว ชวนจิตมี ๕๕ ดวง เป็นกุศล อกุศล กิริยา และเป็นโลกุตตรวิบาก ๔ ดวงด้วย

    สำหรับโลกุตตรวิบาก ไม่เหมือนอย่างโลกียวิบากเลย ถ้าเป็นกุศลขั้นกามาวจร ไม่ได้ให้ผลทันที หลังจากที่กุศลจิตนั้นดับไป หรือว่าเป็นกุศลขั้นรูปาวจรก็ดี อรูปาวจรก็ดี เมื่อดับไปแล้ว บุคคลที่อบรมเจริญความสงบ จนกระทั่งฌานจิตเกิด ในภูมิที่เป็นมนุษย์ ยังไม่เป็นพรหมบุคคลไปทันที แต่ถ้ารูปาวจรกุศลนั้นไม่เสื่อม เกิดก่อนจะจุติแล้ว จะทำให้ปฏินธิจิตของบุคคลนั้น เป็นรูปาวจรวิบากจิต เกิดในรูปพรหมภูมิ เป็นรูปพรหมบุคคล หรือถ้าอรูปาวจรกุศลจิตเกิดก่อนจุติ ก็จะทำให้บุคคลนั้นเกิดในอรูปพรหมภูมิ เป็นอรูปพรหมบุคคล

    เพราะฉะนั้น กุศลอื่นทั้งหมด ไม่ได้ให้ผลทันที ที่กุศลจิตนั้นดับไป เว้นโลกุตตรกุศลจิตเท่านั้น ซึ่งเมื่อดับไปทันที โลกุตตรวิบาก คือผลจิตเกิดต่อ มีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกับ โลกุตตรมรรค เพราะฉะนั้น สำหรับโลกุตตรวิบากจิต ๔ ดวง กระทำชวนกิจ เพราะฉะนั้น จึงเป็นชวนจิตด้วย รวมแล้วก็เป็นชวนจิต ๕๕ ดวง

    สำหรับสภาพธรรมที่จะมีกำลัง ที่จะทำให้เป็นอธิปติปัจจัยได้ ต้องเป็นสภาพธรรม คือจิตและเจตสิกที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย อย่างน้อย ๒ เหตุ แต่จะไม่เกิดกับอเหตุกจิต ซึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และจะไม่เกิดกับโมหมูลจิต ซึ่งมีเหตุเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว สำหรับจิตซึ่งไม่เกิดร่วมกับเหตุ ที่เป็นอเหตุกจิต อุปมาว่า เหมือนสาหร่ายที่ลอยไปตามน้ำ แต่สำหรับจิตซึ่งมีเหตุเกิดร่วมด้วย เหมือนกับต้นไม้ซึ่งมีรากลึก

    ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นดอก เป็นใบ เป็นผล ที่จะงอกงามเจริญเติบโตได้ ก็เพราะเหตุว่า มีราก ฉันใด จิตที่จะมีกำลัง ก็จะต้องประกอบด้วยเหตุ แต่ถ้าไม่ประกอบด้วยเหตุแล้ว อุปมาเหมือนกับสาหร่ายที่ลอยไปในน้ำ ไม่มีรากที่จะหยั่งลึก ที่จะทำให้เกิดงอกงามไพบูลย์ได้ และนอกจากนั้น สำหรับที่จะเป็นสหชาตาธิปติได้ นอกจากเว้นหสิตุปปาทจิต ซึ่งเป็นอเหตุกจิต จิตยิ้มแย้มของพระอรหันต์ ซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุแล้ว แม้โมหมูลจิต ซึ่งมีเหตุเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว ก็ยังนับว่าเป็นจิตซึ่งไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้น จึงไม่มีสหชาตาธิปติปัจจัย

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม ในเรื่องนี้

    ขณะนี้กำลังกล่าวถึงสหชาตาธิปติปัจจัย ว่าวิบากจิตทั้งหมด ไม่มีสหชาตาธิปติ เพราะเหตุว่า ไม่ใช่ชวนจิต แต่สำหรับโลกุตตรจิต เว้น คือถ้าเป็นโลกียวิบากทั้งหมด ไม่เป็นสหชาตาธิปติ แต่สำหรับโลกุตตรจิตทั้ง ๘ ดวง คือโลกุตตรกุศลจิต ๔ ดวง และโลกุตตรวิบากจิต ๔ ดวง ต้องมีสหชาตาธิปติปัจจัย เพราะเหตุว่า เป็นจิตที่มีกำลัง แม้ว่าโลกุตตรมัคคจิต คือโสตาปัตติมัคคจิต จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว

    ไม่เหมือนกับกุศลอื่น กุศลอื่น เช่นกามาวจรกุศล เกิด – ดับ ซ้ำกัน แล่นไปในอารมณ์ถึง ๗ ขณะ หรือว่า รูปาวจรกุศลจิต ในตอนที่เริ่มเกิด จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว แต่เมื่อเป็นผู้ที่ชำนาญแล้ว รูปาวจรกุศลจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นปฐมฌาน หรือทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตตฌาน ปัญจมฌาน จะเกิดมากมายหลายขณะ โดยที่ไม่มีภวังค์คั่น นับเป็นชั่วโมง นับเป็นวันได้ และสำหรับอรูปวจรกุศลจิต ก็เช่นเดียวกัน แต่สำหรับโลกุตตรกุศลจิต คือมัคคจิต ในสังสารวัฏฏ์ จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวเท่านั้น

    โสตาปัตติมัคคจิต ไม่เกิด ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๔ - ๕ - ๖ -๗ ครั้ง เพราะเหตุว่า โลกุตตรกุศลจิต กระทำกิจดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เมื่อกิเลสประเภทนั้นดับแล้ว กิเลสประเภทนั้นจะไม่เกิดมาให้มัคคจิตชนิดเดียวกันนั้น ดับลงไปอีก ไม่จำเป็นที่จะต้องดับซ้ำ เพราะเหตุว่า เป็นการปหานเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น โสตาปัตติมัคคจิต ในสังสารวัฏฏ์ จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มนุษย์ บรรลุเป็นพระโสดาบันในมนุษย์ โสตาปัตติมัคคจิตเกิด ๑ ขณะ แล้วดับ แล้วบุคคลนั้นจะเกิดในสวรรค์ ในรูปพรหม ในอรูปพรหม ก็ตามแต่ ไม่ต้องมีโสตาปัตติมัคคจิตที่จะดับกิเลสอีก เพราะเหตุว่า กิเลสที่โสตาปัตติมัคคจิตดับแล้ว ดับเป็นสมุทเฉท

    สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค ก็โดยนัยเดียวกัน

    เมื่อโสตาปัตติมัคคจิตดับแล้ว จิตอื่นจะเกิดไม่ได้ นอกจากโสตาปัตติผลจิต จะเกิดต่อ อาจจะเป็น ๒ ขณะ หรือ ๓ ขณะ แล้วแต่ประเภทของบุคคล แล้วสำหรับผู้ที่ได้ฌานจิต ที่ชำนาญคล่องแคล่ว ก็สามารถที่จะมีพลสมาปัตติ ซึ่งสามารถที่โสตาปัตติผลจิต จะเกิด – ดับ สืบต่อตามกัน

    องค์ฌาน แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ที่ได้ปฐมฌาน หรือทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน โสตาปัตติผลจิต ก็จะเกิด – ดับสืบต่อเป็นฌานจิต ชื่อว่าผลสมาบัติ แล้วแต่ว่าจะเป็นเวลานานมากน้อยเท่าไร โดยที่ภวังคจิตไม่คั่น

    แต่สำหรับโลกุตตรมัคคจิตก็ดี และโลกุตตรผลจิต ซึ่งโดยชาติ โลกุตตรมัคคจิตเป็นชาติกุศล และโลกุตตรผลจิตเป็นชาติวิบาก กระทำชวนกิจเป็นชวนจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้น ต้องมีสหชาตาธิปติปัจจัย โดยแน่นอน สำหรับโลกุตตรวิบาก

    เพราะฉะนั้น สำหรับสหชาตาธิปติปัจจัย ให้ทราบว่า เว้นโลกียวิบาก แต่ไม่เว้นโลกุตตรวิบาก เพราะเหตุว่าโลกุตตรวิบากเป็นชวนจิต แต่ท่านผู้ฟังจะเห็นเหตุผล ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอธิปติปัจจัย เป็นปัจจัยที่ ๓ ต่อจากเห-ตุปัจจัย และอารัมมณปัจจัย เพราะเหตุว่า วิบากจิตไม่สำคัญอะไรเลย ใช่ไหม ไม่มีแม้อธิปติปัจจัย ไม่มีสหชาตาธิปติปัจจัย กำลังนอนหลับสนิท ภวังคจิตของบางท่าน ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก คือปัญญาเจตสิก เพราะเหตุว่าเป็นผลของกุศล ซึ่งประกอบด้วยปัญญา ทำให้พื้นจิตเป็นจิตซึ่งมีปัญญาร่วมด้วย พร้อมที่จะเจริญเติบโตได้ พร้อมที่จะเจริญขึ้นในภายหลังได้ สำหรับผู้ที่ภวังคจิตมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ในขณะที่นอนหลับสนิท แม้ภวังคจิตของบุคคลนั้น จะมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย บุคคลนั้นทำอะไรได้ ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย ในขณะที่เป็นภวังคจิต เพราะฉะนั้น แม้ปัญญาจะเกิดกับภวังคจิต ก็ไม่เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย

    นี่เป็นเหตุที่วิบากจิตทั้งหมด ที่เป็นโลกียวิบาก ไม่สำคัญอะไรเลย ไม่สามารถที่จะเป็นอธิปติปัจจัยได้ แต่ชีวิตในวันหนึ่งๆ ขณะไหนสำคัญ ขณะที่เป็นชวนจิต สำคัญที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาค จึงทรงแสดงว่า สำหรับชวนจิต ขณะใด ฉันทะเป็นอธิบดี หรือวิริยะเป็นอธิบดี หรือปัญญาเป็นอธิบดี หรือจิตเป็นอธิบดี เพราะเหตุใด เพื่อที่จะให้เห็นว่า แม้ในขณะที่โลภะหรือขณะที่กำลังเป็นกุศล ซึ่งสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ปรากฏลักษณะ ที่เป็นหัวหน้า เป็นอธิบดี ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นสภาพธรรม ที่มีลักษณะเช่นนั้นเกิดขึ้น เพราะอาศัยสภาพธรรมใดเป็นอธิบดี เพื่อที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตา ของในขณะที่เป็นกุศลหรืออกุศลนั่นเอง

    ทรง.ก. อาจารย์กล่าวว่าสหชาตาธิปติ เว้นจิต ๓ ดวง คือหสิตุปปาท และโมหมูลจิต ๒ อยากถามอาจารย์ว่า กิริยาจิตในปัญจทวาราวัชชนะ กับโวฏฐัพพนะ เป็นสหชาตาธิปติได้ไหม

    อ.จ. ไม่ได้ทำชวนกิจ อย่าลืม เมื่อประมวลและสรุปแล้ว สหชาตาธิปติปัจจัยจะเกิดได้กับเฉพาะจิต ที่เป็นชวนจิตเท่านั้น เพราะฉะนั้น กิริยาจิตอื่น ที่ไม่ได้กระทำชวนกิจ ไม่มีสหชาตาธิปติปัจจัย

    ทรง.ก. หมายความว่าจิตที่ไม่เป็นสหชาตาธิปติปัจจัยรู้ไม่ได้ทั้งหมด

    อ.ส. ท่านผู้ฟังจะรู้ได้ไหม ตามความเป็นจริงใจชีวิตประจำวัน จักขุวิญญาณจิตเกิดขณะเดียวเท่านั้นแล้วดับ อย่าลืม ที่ดูเสมือนว่าเห็นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ดับเลย ตามความเป็นจริงแล้ว จักขุวิญญาณเกิดขึ้นขณะเดียวแล้วดับ สัมปฏิจฉนจิตเกิดต่อแล้วดับ สันตีรณจิตเกิดต่อแล้วดับ โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อแล้วดับ ชวนจิตเกิด – ดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ ทำให้รู้ว่า สิ่งใดกำลังปรากฏทางตา ถ้ามีแต่เฉพาะจักขุวิญญาณจิตเพียงขณะเดียวแท้ๆ โดยที่ชวนจิตไม่ได้รู้อารมณ์ คือสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วยทางปัญจทวาร จะพอที่จะให้รู้ได้ไหม ว่าสภาพธรรมใด กำลังปรากฏทางปัญจทวาร

    ทรง.ก. สำหรับผม ไม่รู้แน่ครับ

    อ.จ. เพราะฉะนั้น ในอรรถกถาจึงได้กล่าวว่า ที่จะรู้อารมณ์ได้ก็ตรงชวนวิถีจิต เพราะเหตุว่า เกิด – ดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ

    ทรง.ก. ก็หมายความว่า ทุกวันนี้ ที่เราเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสนี้ เกิดความรู้ว่าเห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ มีความพอใจ ไม่พอใจนั้น เป็นชวนจิตทั้งหมดหรือครับ

    อ.จ. ขณะที่มีความรู้ต้องเป็นชวนจิตแน่นอน ขณะที่พอใจหรือไม่พอใจ หรือเฉยๆ จะเป็นโลภมูลจิตก็ดี หรือโทสมูลจิต โมหมูลจิตก็ดี หรือมหากุศลจิต กามาวจรกุศลจิตก็ดี ขณะนั้นเป็นชวนจิตทั้งหมด

    ทรง.ก. แล้วเมื่อเราเห็นแล้ว เกิดความพอใจไม่พอใจนี้ จะรู้ได้หรือเปล่าว่าจะเป็นปัญจทวารวิถี หรือมโนทวารวิถี

    อ.จ. ถ้ามโนทวารวิถีไม่ปรากฏ ขณะนั้นจะไม่รู้ว่าเป็นมโนทวารวิถี มีมโนทวารวิถีเกิดต่อจากปัญจทวารวิถีทุกครั้ง เห็นครั้งหนึ่ง จะมีแต่ปัญจทวารวิถีจิตเกิดเท่านั้นไม่ได้ ได้ยินครั้งหนึ่ง จะมีแต่โสตทวารวิถีจิตเกิดเท่านั้นไม่ได้

    เมื่อปัญจทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ แล้วมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    คำว่า วิถีจิต คงไม่ลืมว่า ขณะใดที่ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่จุติจิตแล้ว เป็นวิถีจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเป็นจักขุวิญญาณวิถีจิต สัมปฏิจฉนะก็เป็นวิถีจิต สันตีรณะก็เป็นวิถีจิต จิตใดที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต แล้ว เป็นวิถีจิตทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ทางตามีการเห็นครั้งหนึ่ง บางครั้งเมื่อปัญจทวาราวัชชนวิถีจิตดับแล้ว จักขุวิญญาณจิตเกิด ดับแล้ว สัมปฏิจฉนจิตเกิด ดับแล้ว สันตีรณจิตเกิด ดับแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิด ดับแล้ว อารมณ์ดับ ชวนจิตไม่เกิด ขณะนั้นจะรู้ไหมว่าเห็นอะไร ในเมื่อชวนวิถีจิตไม่เกิด แต่ว่าปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดแล้ว จักขุวิญญาณจิตเกิดแล้ว สัมปฏิจฉนจิตเกิดแล้ว สันตีรณจิตเกิดแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้ว

    ทรง.ก. ก็ต้องไม่รู้อะไรครับ

    อ.จ. เพราะฉะนั้น ที่กำลังเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ ที่จะศึกษารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ไม่ใช่จะไปเจาะจงรู้ที่ลักษณะของจักขุวิญญาณ แต่ขณะที่ชวนะกำลังรู้ ในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้นกำลังมีสีสรร วัณณะต่างๆ ขณะนี้เป็นอารมณ์ของชวนจิต ซ้ำกัน ๗ ขณะ และไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะวิถีเดียว หรือครั้งเดียว ของการเห็น เพราะเหตุว่า ในเวลานี้ จักขุวิญญาณในวิถีหนึ่ง ดับไปแล้ว มีภวังค์คั่น มีมโนทวารวิถีจิตคั่น แล้วก็มีจักขุวิญญาณเกิดอีก ทำให้ดูเหมือนไม่ดับ แต่ที่จะพิจารณารู้ ต้องในขณะที่เป็นชวนวิถีจิต

    ทรง.ก. ผู้ที่มโนทวารวิถียังไม่ปรากฏ ก็เลยไม่ต้องรู้เลยว่า ที่เห็นที่พอใจ ไม่พอใจ นั้นเป็นมโนทวารวิถี หรือปัญจทวารวิถี

    อ.จ. เมื่อไม่ปรากฏ ก็รู้ไม่ได้เป็นของธรรมดา แต่ศึกษาได้ เพื่อที่จะได้ปรากฏ เมื่อปรากฏแล้ว ก็รู้ แต่ถ้าไม่ปรากฏจะรู้ไม่ได้

    สำหรับชวนจิตหรือความหมายของชวนจิต ยังมีท่านผู้ใดสงสัยไหม

    ขอกล่าวถึงชวนวิถีจิต ชวนจิต ๕๒ ซึ่งมีฉันทะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยบ้าง มีวิริยะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยบ้าง หรือมีวิมังสาคือปัญญาเป็น

    สชาตาธิปติปัจจัยบ้าง โดยชาติ ๔ คือกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ขอกล่าวถึงโดยลำดับ

    กามาวจรกุศลเป็นกุศลซึ่งมีปรากฏอยู่ทั่วไป เพราะฉะนั้น มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่ามหากุศล “มหากุศล” หมายความว่า กุศลที่เป็นไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของการอบรมเจริญความสงบ หรือในเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นจิตระดับขั้น “กามาวจรกุศล” ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่า ยังไม่ใช่รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล ยังไม่ใช่โลกุตตรกุศล

    เมื่อกามาวจรกุศลเป็นไปมากมาย ทั้งในทาน ศีล ภาวนา ประเภทต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่ามหากุศลจิต ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แต่ละท่านมีฉันทะ ต่างกันในการกระทำกุศล แต่ละครั้ง มีวิริยะต่างกัน มีปัญญาในระดับขั้นต่างกันด้วย

    ถ้าจะกล่าวถึง กุศลที่แต่ละท่านกระทำในวันหนึ่งๆ ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีฉันทะ ในกุศลนั้นๆ แล้ว จะกระทำกุศลประเภทนั้นไหม ท่านผู้ฟังชอบกระทำกุศลอะไร นึกออกไหม ไม่ใช่ตัวตน แต่เพราะฉันทะ ความพอใจสภาพของเจตสิก ซึ่งพอใจที่จะกระทำกุศลประเภทนั้นๆ เป็นอธิบดี จึงเป็นปัจจัยทำให้กุศลนั้นเกิดขึ้น เช่นบางท่านเป็นผู้ที่สนใจ มีฉันทะในการเผยแพร่ธรรม พยายามขวนขวายหาสถานี เพื่อที่จะให้มีการออกอากาศ การบรรยายธรรม หรือบางท่านก็อาจจะมีฉันทะในการพิมพ์หนังสือธรรม แต่ว่าอาจจะไม่สนใจในกุศลเรื่องอื่น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    15 มี.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ