ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 15


    ตลับที่ ๘

    อ.จ. เพราะฉะนั้น จิตสั่งไม่ได้ใช่ไหม ทีนี้ ถ้ามีท่านผู้ใดที่เข้าใจว่าจิตสั่ง เพราะเหตุว่า ดูเหมือนว่า พอบอกว่าจิตสั่ง ใครๆ ก็เข้าใจว่าถูก จิตสั่ง มิฉะนั้นแล้ว รูปจะเคลื่อนไหว ประกอบกิจการงานต่างๆ ไม่ได้ ทำให้ดูเหมือนเข้าใจว่าจิตสั่ง แต่ถ้าจะพิจารณาจริงๆ ก็จะต้องพิจารณาแม้แต่ในความหมายของคำว่า “สั่ง” ว่าที่ว่าสั่ง คืออะไร คืออย่างไร ที่ว่าสั่ง

    โกสล ที่ว่าจิตสั่ง ไม่ใช่ว่าผมเห็นด้วยหรอกครับ ไม่เห็นด้วย เพราะไปขัดกับหลักธรรมที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ว่าเท่าที่ผมได้ยินได้ฟังมา ในการบรรยายธรรมในสถานที่ต่างๆ ทางวิทยุก็ดี พอจะจับใจความได้ว่า ท่านผู้บรรยายธรรมเหล่านั้น ท่านใช้คำว่าจิตสั่ง เป็นต้นว่า ผมยืนอยู่อย่างนี้ เพราะจิตสั่งให้ยืน แต่ก็ขัดกับหลักธรรมอันนี้ แล้วท่านก็ถามว่า ที่โยมยืนอยู่นี้ ยืนได้อย่างไร เราเถียงท่าน ท่านก็ว่า โยมไปคิดดูก่อนก็แล้วกัน

    อ.จ. แต่ต้องพิจารณา แม้คำว่าสั่งๆ คืออะไร

    โกศล อย่างเหยียดแขน เพราะ จิตสั่งจึงเหยียดออก

    อ.จ. เดี๋ยว สั่งคืออะไร ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ ก็ต้องพิจารณาตั้งแต่แม้คำว่าสั่ง คืออะไร คืออย่างไร และเมื่อไร ที่ว่าสั่ง

    โกศล เคยเรียนถาม ท่านก็ว่า ไม่อธิบายในข้อนี้ แต่ท่านว่า ที่โยมนั่ง ไม่ใช่จิตสั่งหรอกหรือ ผมก็ว่าไม่ใช่

    อ.จ. จิตเป็นสภาพรู้

    โกศล ท่านก็ไม่อธิบาย พูดไปพูดมา ก็ตกลงกันไม่ได้ ท่านก็ว่า โยมเอาไปคิดดูใหม่ก่อน เดี๋ยวนี้ในวิทยุก็ยังพูดกันอยู่ และท่านก็มักจะพูดว่า จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นหัวหน้าของธรรมทั้งหลาย มีจิตเป็นประธาน ท่านอ้างอย่างนี้ แต่ผมเคยไปอ่านหนังสือ พบข้อความว่า ถ้าจิตสั่งได้ ร่างกาย ผม ก็คงไม่เปื่อยหงอก ไม่แก่ ความจริงสั่งไม่ได้

    อ.จ. เพราะเหตุว่า โดยมาก พอใช้คำว่าสั่ง ท่านจะเข้าใจความหมายว่าอะไร ที่ว่าสั่งนี้

    โกศล ก็แปลว่าบังคับบัญชา ให้ทำไปตามที่จิตต้องการ เข้าใจว่าอย่างนั้นนะครับ

    อ.จ. ต้องพูดหรือเปล่า ที่ว่าสั่ง ไม่ต้อง หรือต้อง จิตนึกหรือเปล่า

    โกศล นึกครับ

    อ.จ. รู้หรือเปล่า นึก คือรู้คำหรือเปล่า

    โกศล รู้ครับ

    อ.จ. ถ้าขณะนั้น จิตรู้คำ ก็ไม่ได้สั่งอะไร เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้คำ แล้วก็ดับ จิตมีลักษณะเดียว คือเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เพราะฉะนั้น การที่จะประจักษ์ลักษณะของจิต ที่จะว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องรู้ในอาการรู้ ซึ่งเป็นลักษณะของจิต มิฉะนั้น ไม่มีทางอื่น ที่จะเข้าใจในสภาพรู้ได้

    โกศล เคยโต้เถียงกับผู้บรรยายเหมือนกันว่า โดยสภาพของจิต จิตมีสภาพที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่จะไปสั่งอะไรได้ แต่ท่านก็ไม่ยอม ว่า สั่งนะ ที่โยมนั่งอยู่อย่างนี้ เพราะจิตสั่ง ฆราวาสก็เหมือนกัน ฆราวาสที่ท่านบรรยายธรรม ก็ว่าจิตสั่ง

    อ.จ. ในจิต ๘๙ ดวง และในวิถีจิตทุกขณะ ตรวจสอบได้ว่า จิตแต่ละขณะนั้น มีอะไรเป็นอารมณ์ แม้แต่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เพราะกรรมเป็นปัจจัย ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับจิต ดวงที่ใกล้จุติในชาติก่อน เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตกำลังมีอารมณ์นั้น เกิดขึ้นขณะเดียว แล้วดับ ไม่ได้สั่งอะไรใช่ไหม เพราะเหตุว่า เป็นสภาพรู้ แม้แต่กัมมชรูป ซึ่งเกิดเพราะปฏิสนธิจิต เป็นสหชาตปัจจัยในขณะนั้น กัมมชรูปเกิดพร้อมอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต คือทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด กัมมชรูปก็เกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ ขณะนั้น ก็ไม่ได้สั่งใช่ไหม ภวังคจิตก็มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต รู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต จะสั่งได้ไหม เพราะฉะนั้น ภวังคจิตก็สั่งไม่ได้ จนกระทั่งวิถีจิตแต่ละดวง ก็มีอารมณ์ และมีกิจการงานเฉพาะของจิตนั้นๆ ซึ่งเป็นสภาพรู้อารมณ์แต่ละขณะ

    โกศล ผมเองผมเข้าใจ และเห็นด้วย แต่ยังมีผู้ฟังอื่นที่เข้าใจไขว้เขวอีกมาก แม้แต่ในการสนทนาธรรม เขาก็ยังเถียงเรื่องจิตสั่งนี้ ปรมัตถธรรมก็มี ๔ คือจิต เจตสิก รูป นิพพาน นิพพานนั้น เราไม่ต้องพูดถึงหรอก ทีนี้เรื่องจิต เจตสิก รูป เป็นอีก ๓ ปรมัตถ์ ถ้าจิตเป็นผู้สั่ง อะไรเป็นผู้รับคำสั่ง เจตสิกหรือ เจตสิกก็ต้องเกิดพร้อมกับจิต แล้วจะไปรับคำสั่งจากจิตอีกอย่างไร และรูปก็เป็นอนารมฺณํ คือเป็นสภาวธรรมที่รู้อารมณ์ไม่ได้ เมื่อรูปรู้อารมณ์ไม่ได้ แล้วจะไปรับคำสั่งจากใครล่ะครับ

    อ.จ. และโดยเฉพาะ โดยสหชาตปัจจัย จิตเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดขึ้นพร้อมกัน ในอุปาทขณะของจิต เพราะเหตุว่า จิตเป็นสหชาตปัจจัย ทำให้จิตตชรูปเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ ไม่มีโอกาสจะสั่งเลย เกิดพร้อมกัน

    โกศล ขอบคุณครับ ที่ท่านอ้างอยู่ทุกวันนี้ ก็ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะฉะนั้น ที่เคลื่อนไหวอยู่นี้ เพราะจิตสั่งทั้งนั้น แต่ผมไม่เห็นด้วยหรอกครับ ผมมีความเห็นตามแนวทางที่อาจารย์บรรยายนี้

    อ.จ. เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ต้องเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น แต่เพื่อที่จะให้พิจารณาจนกว่าจะเข้าใจ แจ่มแจ้ง ถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้ามิฉะนั้นแล้ว การศึกษาธรรม จะไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่ใช่ศึกษาเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรม ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ และตรงตามลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ หรือประจักษ์แจ้งได้ เพียงแต่ให้ทราบว่า เป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วท่านผู้ฟังก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองจนกว่าจะเป็นความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง

    สำหรับเรื่องของสหชาตปัจจัย จะทำให้เข้าใจเรื่องของจิตและจิตตชรูป ว่าจิตเป็นสหชาตปัจจัย ของจิตตชรูป คือเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต

    สำหรับหมวดที่ ๕ คือมหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดอุปาทายรูป อย่าลืม นอกจากมหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดมหาภูตรูป ๔ โดยต่างก็เป็นสหชาตปัจจัยแล้ว ในหมวดที่ ๕ นี้ มหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดอุปาทายรูป ๔

    เพราะฉะนั้น นอกจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งเป็นมหาภูตรูป ๔ เกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นสหชาตปัจจัยให้สี กลิ่น รส โอชะ และอุปาทายรูปอื่น ในกลุ่มหรือในกลาปนั้น เกิดขึ้นพร้อมกัน กับมหาภูตรูปนั้น เพราะเหตุว่า มหาภูตรูปเป็นสหชาตปัจจัย ให้เกิดอุปาทายรูป

    ยังมีข้อสงสัยไหม ในเรื่องนี้

    สำหรับหมวดที่ ๖ ก็ได้กล่าวถึงแล้วว่า ในปฏิสนธิกาล หทยวัตถุเป็นสหชาตปัจจัย แก่ปฏิสนธิจิต แต่ในปวัตติกาล หทยวัตถุจะเป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดจิตไม่ได้ หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จิตดวงต่อๆ ไป ก็ต้องอาศัยรูปเกิดขึ้น ในขณะที่เป็นภวังคจิต ไม่เห็น ไม่ได้อาศัยจักขุปสาท ไม่ได้เกิดที่จักขุปสาท

    ในขณะที่เป็นภวังค์ ก็ไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น จิตก็ไม่ได้เกิดที่โสตวัตถุ ไม่ได้เกิดที่โสตปสาท เพราะฉะนั้น ในขณะที่เป็นภวังค์ จิตเกิดที่หทยวัตถุ ซึ่งไม่ได้เกิดพร้อมกับจิต เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า หลังจากปฏิสนธิขณะแล้ว ที่รูปจะเป็นปัจจัยได้ จะต้องเป็นปัจจัย เฉพาะในฐีติขณะ ไม่ใช่ในขณะอุปาทขณะ

    เพราะฉะนั้น สำหรับภวังคจิต จะอาศัยหทยวัตถุที่เกิดก่อนเป็นที่เกิด หรือแม้แต่จักขุวิญญาณจิตที่กำลังเห็นในขณะนี้ ก็ต้องอาศัยปสาทรูปที่เกิดก่อน เป็นที่เกิด

    รูปทุกรูป นอกจากปฏิสนธิขณะแล้ว จะเป็นปัจจัยโดยเป็นวัตถุก็ดี โดยเป็นทวารก็ดี โดยเป็นอารมณ์ก็ดี ได้เฉพาะในขณะที่เป็นฐีติขณะ แต่ในอุปาทขณะ รูปจะเป็นปัจจัยไม่ได้

    สำหรับสหชาตปัจจัย ยังมีข้อสงสัยไหม เป็นปัจจัยที่เท่าไร เท่าที่ได้ศึกษาแล้ว เป็นปัจจัยที่ ๖

    ปัจจัยต่อไป คือ ปัจจัยที่ ๗ อัญญมัญญปัจจัย ภาษาไทยเคยใช้ไหม คำนี้ อัญญมัญญ มีใช้ไหม ในภาษาไทย ไม่มี อาจจะมีคำคล้ายคลึง แต่ไม่ใช่ และความหมายคนละอย่าง

    สำหรับ “อัญญมัญญปัจจัย” หมายถึง สภาพธรรมที่ต่างอาศัยพึงพิงซึ่งกันและกัน จึงจะเกิดขึ้น และตั้งอยู่ได้ ซึ่งมีคำอุปมาว่า เหมือนไม้ ๓ อัน ซึ่งจะตั้งอยู่ได้ ก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ค้ำกันอยู่ไว้ จึงจะตั้งอยู่ได้ ฉันใด สำหรับสภาพธรรมที่เป็นอัญญมัญญปัจจัย ก็คือสภาพธรรมนั้น ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน

    ซึ่งมี ๓ หมวด คือ

    หมวดที่ ๑ จิตทุกดวง และเจตสิกทุกดวง เป็นอัญญมัญญปัจจัยซึ่งกันและกัน นี่แสดงให้เห็นแล้วว่า จิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกจะเกิดโดยไม่มีจิตไม่ได้ นอกจากนั้น นอกจากจะเป็นอัญญมัญญปัจจัยแล้ว ยังต้องเป็นสหชาตปัจจัย คือเกิดพร้อมกันด้วย

    หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ จิตและเจตสิก นอกจากจะเกิดพร้อมกัน คือเป็นสหชาตปัจจัยแล้ว ยังต้องเป็นอัญญมัญญปัจจัยด้วย คือต้องอาศัยซึ่งกันและกัน

    จิตต้องอาศัยเจตสิกหรือเปล่า อาศัย เพราะเจตสิกเป็นอัญญมัญญปัจจัยของจิต

    เจตสิกต้องอาศัยจิตหรือเปล่า อาศัย เพราะจิตเป็นอัญญมัญญปัจจัยของเจตสิก นี่หมวดที่ ๑

    หมวดที่ ๒ มหาภูตรูป ๔ เป็นอัญญมัญญปัจจัยของมหาภูตรูป ๔ ถ้าเข้าใจเรื่องสหชาตปัจจัยแล้ว

    หมวดที่ ๓ ปฏิสนธิจิต และเจตสิก ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นอัญญมัญญปัจจัยของปฏิสนธิหทยวัตถุ ดังที่ได้เรียนให้ทราบแล้ว

    ถ้าแสดงโดยปัจจัย ก็คือว่า นอกจากจะเป็นสหชาตปัจจัยแล้ว ยังเป็นอัญญมัญญปัจจัยด้วย มีเพียง ๓ หมวดที่เป็นสภาพธรรม ที่ต่างต้องอาศัยพึ่งพิงซึ่งกันและกัน

    อัญญมัญญปัจจัยต่างกับสหชาตปัจจัยไหม ต่าง

    เพราะเหตุว่า สภาพธรรมบางอย่างเกิดพร้อมกันจริง แต่ไม่ได้เป็นอัญญมัญปัจจัย เช่น จิตและเจตสิก เป็นสหชาตปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดขึ้น โดยสหชาตปัจจัย แต่ว่าจิตและเจตสิกไม่ได้เป็นอัญญมัญญปัจจัย ของจิตตชรูป เพราะเหตุว่า จิตตชรูปอาศัยจิตเกิด เพราะมีจิตเป็นสมุฏฐาน แต่จิตตชรูปไม่สามารถทำให้จิตเกิดได้ แต่เมื่อจิตเกิดขึ้น จิตนั้นเป็นสหชาตปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด แต่ว่าจิตตชรูปไม่ได้เป็นปัจจัยให้จิตเกิด เพราะฉะนั้น จิตตชรูปไม่เป็นอัญญมัญญปัจจัย ให้กับจิตและเจตสิก หรือจิตตชรูปไม่เป็นสหชาตปัจจัย ให้กับจิตและเจตสิก ถูกไหม แม้สหชาตปัจจัย จิตตชรูปก็ไม่ได้เป็นปัจจัย แต่จิตตชรูปเป็นปัจจยุปบันน เพราะเหตุว่า จิตและเจตสิก เป็นสหชาตปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด รูปนั้นเกิดเพราะจิต แต่จิตนั้นไม่ได้เกิดเพราะจิตตชรูป แต่จิตตชรูปเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน

    เพราะฉะนั้น สำหรับจิตตชรูป ไม่เป็นสหชาตปัจจัย เป็นสหชาตปัจจยุปบันน และไม่เป็นอัญญมัญญปัจจัย เพราะเหตุว่า จิตตชรูปไม่ได้เป็นปัจจัยให้จิตเกิด

    ถาม จิตเป็นอัญญมัญญปัจจัยของจิตตชรูปหรือเปล่า

    ไม่เป็น เพราะถ้าอัญญมัญญ หมายความว่า ทั้งปัจจัยและปัจจยุปบันน ต่างต้องอาศัยกันและกัน

    จิตตชรูปอาศัยจิต แต่จิตไม่ได้อาศัยจิตตชรูปเกิด

    จิตเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด แต่จิตตชรูปไม่ได้เป็นปัจจัยให้จิตเกิด

    เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยของจิตตชรูป แต่จิตและเจตสิกไม่ได้เป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่จิตตชรูป

    จิตตชรูปเป็นสหชาตปัจจัยของจิตหรือเปล่า ไม่เป็น

    จิตตชรูปเป็นรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น จิตตชรูปไม่ใช่สหชาตปัจจัยของจิต แต่เป็นสหชาตปัจจยุปบัน เพราะเหตุว่า จิตเป็นสหชาตปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด

    เป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ถ้าท่านผู้ฟังจะรู้สึกว่าละเอียดเกินไป ยังไม่อยากจะสนใจ ก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ให้ทราบว่า นี้คือสภาพธรรม ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน แต่ว่า แต่ละขณะนี้ จิต เจตสิกเกิด – ดับ รูปเกิด – ดับ และเพราะเป็นปัจจัยต่างๆ รูปในขณะนี้จึงเป็นอย่างนี้ หรือว่านามธรรมคือ จิตและเจตสิกในขณะนี้จึงเป็นอย่างนี้

    สำหรับอัญญมัญญปัจจัยนี้ก็ง่าย คือว่าปัจจยุปบันนจะต้องเป็นที่อิงอาศัย ให้เกิดปัจจัยด้วย ปัจจัยก็ต้องเป็นที่อิงอาศัยให้เกิดปัจจยุปบันนด้วย ถ้ามิฉะนั้นแล้ว เป็นได้เพียงสหชาตปัจจัย แต่เป็นอัญญมัญญปัจจัยไม่ได้

    ปัจจัยอื่นๆ ต่อไป ไม่ยากหรอก เพียงแต่ว่า เป็นเรื่องที่เคยได้กล่าวถึงแล้ว แต่ว่า เมื่อแสดงโดยชื่อ ก็ดูเหมือนยาก เช่น ปุเรชาตปัจจัย

    ปุเร แปลว่า ก่อน

    ชาต แปลว่า เกิด

    เพราะฉะนั้น ก็คือ สภาพธรรมที่เป็นปัจจัย โดยต้องเกิดก่อน ไม่ใช่เกิดพร้อมกัน เป็นปุเรชาตปัจจัย ไม่ใช่สหชาตปัจจัย ถ้าสหชาตปัจจัย คือต้องเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ ถ้าปุเรชาตปัจจัย คือจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยได้ต่อเมื่อเกิดก่อน

    เพราะฉะนั้น ก็พอจะทราบได้ใช่ไหม ว่าได้แก่อะไร ได้แก่ รูปที่จะเป็นปัจจัยให้จิตเกิดได้ รูปนั้นต้องเกิดก่อน นอกจากอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตเท่านั้น เป็นขณะพิเศษ ซึ่งรูปสามารถจะเป็นปัจจัยในอุปาทขณะ หลังจากนั้นแล้ว จะเป็นปัจจัยได้เฉพาะฐีติขณะทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น รูปทุกรูป จึงเป็นปุเรชาตปัจจัย เมื่อเป็นปัจจัยให้จิตเกิด

    นี่ก็ไม่ยากเลย ปัจจัยต่อๆ ไปไม่ยาก เพียงแต่ว่าต้องละเอียด เชิญค่ะ

    ถาม ….. (ไม่ได้ยิน) …..

    อ.จ. ก็เป็นเรื่องที่ควรรู้ เป็นนามเป็นรูป แต่ควรรู้ ก็เป็นเรื่องที่จะรู้ลักษณะของนามและรูปนั่นเอง แม้แต่การที่จะประจักษ์ การเกิด – ดับของรูป ก็ต้องทราบว่า ไม่ใช่ในอุปาทขณะ เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริง แต่ทำไมจึงว่า เกิด และ ดับ

    เพราะปรากฏเป็นอารมณ์ แต่ที่จะปรากฏเป็นอารมณ์ได้ ไม่ใช่ในอุปาทขณะ รูปมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต และถ้านับขณะย่อย คืออุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ ของจิตดวงหนึ่งๆ ก็เป็น ๕๑ ขณะย่อย ในอุปาทขณะของจิตนั่น เป็นอุปาทขณะของรูป เพราะฉะนั้น ที่เป็นฐีติขณะนั้น เป็น ๔๙ ขณะย่อย ซึ่งจะปรากฏ เพราะเหตุว่า รูปในขณะที่เป็นอุปาทะนั้น อ่อนมาก ไม่สามารถที่จะเป็นแม้ทวาร หรือวัตถุ หรืออารมณ์ได้

    ท่านผู้ฟังกล่าวว่า เรื่องของปัจจัยทั้งหมด ก็คือนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเอง ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะเหตุว่า ถ้าจะกล่าวว่า ศึกษาปรมัตถธรรม หรือจะกล่าวว่า ศึกษาปัจจัย ก็มีความหมายเดียวกัน เพราะเหตุว่า ปรมัตถธรรมนั่นเอง ต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นเป็นไป ทั้งนามธรรมและรูปธรรม แต่เพราะเหตุว่า แม้จะรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แต่การที่จะละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรม ว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล หรือเป็นเรา ก็เป็นเรื่องยากที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อรู้ว่าเป็นนามธรรมและ เป็นรูปธรรมแล้ว ก็จะหมดการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดนั้น สำหรับใคร สำหรับผู้ที่ไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล ซึ่งสามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้โดยรวดเร็ว และไม่ใช่สำหรับวิปปัญจิตัญญูบุคคล แต่สำหรับผู้ที่ต้องฟัง และพิจารณา และต้องอบรมเจริญปัญญาอีกนานทีเดียว กว่าจะประจักษ์แจ้งว่า นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และยิ่งรู้เรื่องของปัจจัยมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้มีเครื่องประกอบ ที่จะปรุงแต่ง ให้ปัญญา สามารถที่จะเกิดขึ้น ละการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ มิฉะนั้นแล้ว ถึงแม้ว่า สติจะเกิดบ้าง ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ที่จะดับความยึดถือ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ถ้าเครื่องประกอบ หรือสังขารขันธ์ยังปรุงแต่งไม่พอ ยังไม่ถึงกาลที่สมควร ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปเร่งรัด หรือทำอย่างอื่น นอกจากจะฟังพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยละเอียด และในขณะที่ฟังนี้เอง ก็อาจจะมีขณะซึ่ง สติปัฏฐานเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามที่กำลังได้ยิน ได้ฟัง ก็ได้ เพราะเหตุว่า เข้าใจแล้วว่า ไม่มีอะไรนอกจากนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เข้าใจแล้ว การศึกษาเรื่องของปัจจัยก็คือ การศึกษาปรมัตถธรรมนั่นเอง ซึ่งปรมัตถธรรม โดยย่อ ก็มีนามธรรมและรูปธรรม เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น การที่จะศึกษาเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมให้เข้าใจ ก็คือ ให้รู้ในสภาพที่เป็นปัจจัย ของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ศึกษาโดยจำนวน หรือโดยชื่อ ซึ่งในคราวที่แล้ว ก็ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ ๖ คือสหชาตปัจจัย และปัจจัยที่ ๗ คือ อัญญมัญญปัจจัย

    สำหรับปัจจัยที่ ๖ และปัจจัยที่ ๗ ท่านผู้ฟังยังมีข้อสงสัยอะไรอีกหรือเปล่า

    โดยชื่อสหชาตปัจจัย หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องดับ ว่าจะต้องดับพร้อมกันหรือเปล่า คำนึงถึงเพียงประการเดียว คือสภาพธรรมใดเป็นสหชาตปัจจัย สภาพธรรมนั้นต้องเกิดพร้อมกัน กับปัจจยุปบันนธรรม ซึ่งตนเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด ๖ หมวด

    ซึ่งขอทวน คือ

    หมวดที่ ๑ จิต ๘๙ และเจตสิก ๕๒ เป็นปัจจัยให้จิตทุกดวง และเจตสิกทุกดวงเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า จิตและเจตสิก ต้องเกิดพร้อมกัน จะเกิดแยกจากกันไม่ได้ เมื่อจิตต้องอาศัยเจตสิ ก เจตสิกต้องอาศัยจิต จิตและเจตสิก ซึ่งต่างอาศัยซึ่งกันและกันนั้น เป็นอัญญมัญญปัจจัย คือปัจจัยที่ ๗

    เพราะฉะนั้น ในปัจจัยที่ ๖ และที่ ๗ ก็คือ

    ปัจจัยที่ ๖ แสดงถึงสภาพธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยและปัจจยุปบันน เกิดพร้อมกัน

    สำหรับปัจจัยที่ ๗ อัญญมัญญปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยต้องอาศัยปัจจยุปบันนธรรม และสภาพธรรมที่เป็นปัจจยุปบันนธรรม ต้องอาศัยปัจจัย ต่างก็ต้องพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น เช่นจิตและเจตสิก เพราะฉะนั้น ก็เป็นเพียงชื่อ แต่ว่าสภาพธรรมในขณะนี้เอง นามธรรม และรูปธรรมเท่านั้นจริงๆ แต่ว่าเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ที่จะรู้ว่าเป็นปัจจัยแก่กันและกันอย่างไร ก็ควรที่จะได้ทราบด้วย เพราะเหตุว่า ผู้ที่ศึกษาธรรม เข้าใจแล้วว่า ธรรมทั้งหลายต้องอาศัยปัจจัย จึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ย่อมเกิดไม่ได้ทั้งสิ้น นี่เป็นสิ่งที่ทุกท่านทราบ แต่ควรจะเป็นผู้ที่ละเอียดกว่านั้น ว่า เมื่อกล่าวว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น เป็นไปทุกขณะจิต ต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ก็ควรที่จะได้ทราบละเอียดว่า ปัจจัยอะไร ในแต่ละขณะด้วย ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวว่า แล้วแต่เหตุปัจจัย หรือว่า ตามแต่เหตุปัจจัย หรืออาศัยเหตุปัจจัย แต่ต้องทราบว่า ปัจจัยอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    23 ส.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ