ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 14


    หมายความถึง สภาพธรรมใด ซึ่งเป็นปัจจัย โดยเกิดขึ้นพร้อมกันกับปัจจยุปบันนธรรม ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องดับ แต่ให้รู้ว่าเป็นปัจจัยทันทีที่เกิด ในขณะที่เกิดขึ้น ต้องเกิดพร้อมกันกับปัจจยุปบันนธรรม คือธรรมซึ่งตนเองเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นด้วย ถ้าทราบความหมายของปัจจัยนี้ ก็ทราบได้เลยว่า สำหรับปรมัตถธรรม ๔ สภาพธรรมใดเป็นสหชาตปัจจัย

    นี้ เป็นเรื่องคิดและพิจารณา และก็ต้องตรงตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า สภาพธรรมที่เป็นสหชาตปัจจัย ได้แก่ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เหล่านี้ เป็นชื่อของเจตสิกแต่ละชนิด แต่ละประเภท

    ผัสสะเป็นเจตสิกซึ่งกระทบอารมณ์ ถ้าผัสสะไม่กระทบ จิตจะรู้อารมณ์นั้นไม่ได้

    เวทนาเป็นสภาพที่รู้สึก เป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ

    ถ้าผัสสะไม่กระทบ เวทนาจะเกิดรู้สึกในอารมณ์นั้นไม่ได้ แต่ทั้งผัสสะ ทั้งเวทนา หรือสัญญาเจตสิก หรือเจตนาเจตสิก หรือเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดกับจิตนั้น ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับอุปาทขณะของจิต ที่กล่าวว่าเกิดขึ้นพร้อมกัน ต้องหมายถึง ในทันทีที่จิตเกิด คือในอุปาทขณะของจิตนั่นเอง เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ นี่โดยสหชาตปัจจัย

    เพราะฉะนั้น จิตเป็นสหชาตปัจจัยของเจตสิกที่เกิดร่วงด้วย

    และเจตสิก เป็นสหชาตปัจจัยแก่จิต ซึ่งตนเกิดร่วมด้วย

    เพราะเหตุว่า ถ้าเจตสิกไม่เกิด จิตก็เกิดไม่ได้ หรือว่าถ้าจิตไม่เกิด เจตสิกก็เกิดไม่ได้ ทั้งจิตและเจตสิก ต้องเกิดด้วยกัน โดยสภาพของสหชาตปัจจัย เป็นปัจจัยโดยการเกิดขึ้นพร้อมกัน

    ก็ไม่ยากใช่ไหม ก็เป็นเรื่องของจิต เจตสิก ตามที่เคยได้ทราบแล้ว นอกจากจิตและเจตสิก เป็นสหชาตปัจจัย ไม่ใช่แต่เฉพาะจิตเท่านั้น ที่เป็นสหชาตปัจจัย เจตสิกที่เกิดพร้อมจิตก็เป็น “สหชาตปัจจัย” ของจิตด้วย

    นอกจากจิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยแล้ว ท่านผู้ฟังลองนึกดู ว่ามีอะไรอีก ซึ่งเป็นสหชาตปัจจัย อะไรบ้าง

    ปรมัตถธรรม มี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    เพราะฉะนั้น เมื่อจิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยแล้ว ยังมีสภาพธรรมอื่นอีกไหม ที่เป็นสหชาตปัจจัย สำหรับรูปปรมัตถ์ มีรูป ๔ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มหาภูตรูป ๔ ต้องเกิดพร้อมกัน แยกกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น

    ธาตุดินเป็นสหชาตปัจจัยให้ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เกิดขึ้นพร้อมกันทันที กับการเกิดของธาตุดิน

    ธาตุน้ำเป็นสหชาตปัจจัย คือเป็นปัจจัยให้ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม เกิดขึ้นพร้อมกันทันที ที่ธาตุน้ำเกิดขึ้น

    ธาตุไฟเป็นสหชาตปัจจัย ทำให้ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม เกิดขึ้นพร้อมกันทันที ในขณะที่ธาตุไฟเกิดขึ้น

    ธาตุลมก็เป็นสหชาตปัจจัย ทำให้ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ เกิดขึ้นพร้อมกันทันที ในขณะที่ธาตุลมเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น สำหรับสหชาตปัจจัย ปัจจัยและปัจจยุปบัน ต้องเกิดพร้อมกันทันที คือในอุปาทขณะนั่นเอง สำหรับมหาภูตรูป ๔ แยกกันไม่ได้เลย ต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน

    ขณะใดที่ธาตุดินเกิด จะไม่มีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเกิดพร้อมกันในขณะนั้นไม่ได้

    ขณะใดที่ธาตุไฟเกิด ขณะนั้นจะไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมเกิดพร้อมกันในขณะนั้นด้วยไม่ได้

    มหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ถ้าทบทวนเรื่องปัจจัยและปัจจยุปบันเป็นภาษาบาลี

    ในมหาภูตรูป ๔ นั้นเอง

    ปฐวีธาตุเป็นปัจจัย เตโชธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุเป็นปัจจยุปบัน

    ถ้าเตโชธาตุคือธาตุไฟเป็นปัจจัย ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุเป็นปัจจยุปบัน เพราะเหตุว่า ปัจจัยเป็นเหตุ ปัจจยุปบันนเป็นผล คือธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุนั้น เพราะฉะนั้น ก็ใช้ได้ทั้งภาษาไทย และภาษาบาลี เมื่อเข้าใจคำว่าปัจจัย สภาพธรรมซึ่งทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น สภาพธรรมใดก็ตาม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะสภาพธรรมนั้น เป็นปัจจยุปบัน เพราะฉะนั้น ปัจจัยก็ต้องคู่กับปัจจยุปบัน

    นี่ก็เป็นสหชาตปัจจัยประการหนึ่ง

    คือ มหภูตรูป ๔ เป็นสหชาตปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๔

    โดยยกมหาภูตรูป ๑ เป็นสหชาตปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๓

    หรือยก มหาภูตรูป ๒ เป็นสหชาตปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๒

    หรือยกมหาภูตรูป ๓ เป็นสหชาตปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๑ ก็ได้ ไม่ว่าจะกล่าวโดยนัยใดๆ ก็ให้ทราบว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ เกิดพร้อมกัน จึงเป็นสหชาตปัจจัย

    ที่ตัวนี่เองในขณะนี้ ไม่ใช่ที่อื่น และรวมทั้งมหาภูตรูปภายนอกด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะที่ตัวเท่านั้น ไม่ว่าที่ใดก็ตาม ซึ่งปรากฏลักษณะแข็ง เป็นลักษณะของปฐวีธาตุ เกิดขึ้นปรากฏ ให้ทราบว่า ในขณะนั้นต้องมีธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลม เกิดพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปภายในหรือรูปภายนอก

    มีข้อสงสัยไหม สำหรับประการที่ ๒ คือ นอกจาก

    ประการที่ ๑ คือจิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกันและกัน

    ประการที่ ๒ คือมหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกันและกัน

    ประการที่ ๓ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยแก่ปฏิสนธิหทยวัตถุ ถ้าได้ยินคำว่าวัตถุ หมายความว่ารูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต

    ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ รูปจะเกิดโดยที่ไม่มีจิตเป็นที่เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะใดที่จิตเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะต้องทราบว่า จิตประเภทนั้นเกิดที่รูปอะไร เพราะเหตุว่า รูปซึ่งเป็นทีเกิดของจิตมี ๖ รูป ได้แก่วัตถุ ๖ คือจักขุวัตถุ เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ที่กำลังเห็นในขณะนี้ จิตเห็นเป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดที่จักขุปสาท จักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุ ของจักขุวิญญาณจิต

    ขณะที่ได้ยิน โสตปสาทเป็นโสตวัตถุ คือเป็นที่เกิดของโสตวิญญาณจิตที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ เกิดที่โสตปสาท และดับที่โสตปสาท เพราะฉะนั้น โสตปสาทเป็นโสตวัตถุของโสตวิญญาณจิต ๒ ดวง

    ขณะที่ได้กลิ่น ฆานวิญญาณจิตเกิดที่ฆานปสาท เพราะฉะนั้น ฆานปสาทใด ซึ่งเป็นที่เกิดของฆานวิญญานจิต ในขณะนั้น ฆานปสาทรูปนั้น เป็นฆานวัตถุของฆานวิญญาณจิต ในขณะที่ได้กลิ่น แล้วก็ดับ ไม่เที่ยงเลย ชั่วขณะเล็กน้อยนิดเดียว ซึ่งจิตเกิดขึ้นกระทำกิจต่างๆ และเกิดที่ต่างๆ

    ในขณะที่ลิ้มรส ที่รสปรากฏ เพราะจิตเกิดขึ้นลิ้มรสที่ชิวหาปสาท ชิวหาวิญญาณจิตเกิดขึ้น ลิ้มรสที่ชิวหาปสาทรูป ซึ่งเป็นชิวหาวัตถุ เพราะเหตุว่า เป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ แล้วก็ดับ ขณะใดที่กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ขณะนั้น กายวิญญาณ เกิดที่กายปสาทรูป เพราะฉะนั้น กายปสาทรูปเป็นกายวัตถุ เป็นที่เกิดของกายวิญญาณในขณะนั้น แล้วก็ดับ แต่ในวันหนึ่งๆ ไม่ได้มีแต่จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตอื่นทั้งหมดนอกจากนั้น เกิดที่หทยรูป ซึ่งเป็นหทยวัตถุ คือเป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมด ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นอกจากจิต ๑๐ ดวง

    เพราะฉะนั้น ในปฏิสนธิกาล คือในขณะที่เกิด จิตจะเกิดโดยที่ไม่มีรูปเป็นที่เกิด ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต คือขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น กรรมเป็นปัจจัย ทำให้หทยวัตถุเกิด เป็นที่เกิดของปฏิสนธิจิต ในขณะนั้น การเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์ ซึ่งปฏิสนธิจิตก็ได้ดับไปนานแล้ว เพราะเหตุว่า เป็นจิตดวงแรก ขณะแรก ซึ่งเกิดขึ้น ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม กรรมหนึ่ง ถ้าเกิดในสุคติภูมิ ก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเกิดในทุคตภูมิ ก็เป็นผลของอกุศลกรรม

    และในภูมิซึ่งมีขันธ์ ๕ กรรมไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิต และเจตสิกเกิดเท่านั้น ยังมีกัมมชรูป ซึ่งถ้าเป็นในภูมิของมนุษย์ ซึ่งเกิดในครรภ์ ในทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จะมีกัมมชกลาปรวม ๓ กลาป กลาปหรือกลาปะ ในภาษาบาลี หมายความถึง กลุ่มของรูป เพราะเหตุว่า ที่รูปจะเกิดขึ้นเพียงลำพังรูปเดียวไม่มี อย่างน้อยที่สุดต้องมีรูป รวมกันเกิด พร้อมกัน ๘ รูป คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป ๔ และรูปซึ่งอาศัยเกิดกับมหาภูตรูปอีก ๔ คือ สี กลิ่น รส โอชะ อีก ๔ รูป เพราะเหตุว่า ไม่ใช่เป็นมหาภูตรูป แต่เป็นรูปซึ่งเกิดโดยอาศัยมหาภูตรูป

    รูปซึ่งเกิดโดยอาศัยมหาภูตรูป ชื่อว่า “อุปาทายรูป”

    เพราะฉะนั้น รูป ๘ รูป ไม่แยกจากกันเลย คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ และสี กลิ่น รส โอชะ อีก ๔ เป็น ๘ รูป

    และสำหรับรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ก็จะต้องมี “ชีวิตรูป” รวมอยู่ด้วย ซึ่งทำให้รูปนั้น มีลักษณะเป็นรูป ที่ทรงชีวิต เป็นลักษณะของรูปที่มีชีวิต ต่างกับรูปอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรม อีกรูปหนึ่ง เป็น ๙ รูป

    และสำหรับ ๓ กลาป จะประกอบด้วย รูปกลุ่มละ ๑๐ๆ

    คือนอกจากจะมี ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป

    มี สี กลิ่น รส โอชะ เป็นอุปาทยรูป

    มี ชีวิตรูป อีกหนึ่งรูป เป็น ๙ รูป

    มีกาย คือรูปซึ่งทำให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้น ที่ปรากฏ เมื่อเจริญเติบโตแล้ว แต่ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น รูปนั้นเล็กที่สุด ทั้ง ๓ กลาป หรือทั้ง ๓ กลุ่มของรูป เป็นรูปที่เล็กมาก แต่ให้ทราบว่า แม้จะเล็กเพียงหรก็ตาม ในกลุ่มหนึ่งๆ หรือกลาปหนึ่งๆ จะมีรูปรวมกัน ๑๐ รูป

    ส่วนกลุ่มหนึ่งเป็นกายทสก คือไดแก่กลุ่มของกายกลุ่มหนึ่ง และอีกกลุ่มหนึ่ง คือภาวทสก ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๔ ชีวิตรูป ๑ และอิตถีภาวะรูป ๑ (ถ้าเป็นเพศหญิง) หรือปุริสภาวะอีก ๑ (ถ้าเป็นเพศชาย) ในกลุ่มนั้น ก็เป็น ๑๐ รูป เรียกว่าภาวทสก

    และอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ชื่อหทยทสก ก็ต้องประกอบด้วยรูป ๑๐ รูป คือมหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อุปาทายรูป ๔ คือ สี กลิ่น รส โอชะ ชีวิตรูป ๑ เป็น ๙ และหทยวัตถุ ๑ คือรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตอีกหนึ่งรูป ในกลุ่มนั้นเป็นหทยทสก คือกลุ่มของหทัย ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต

    เพราะฉะนั้น กรรมทำให้กัมมชรูป ๓ กลุ่มเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ในอุปาทขณะ แต่ว่าถ้าจิต คือปฏิสนธิจิตไม่เกิด กัมมชรูป ๓ กลุ่มนี้เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น สำหรับปฏิสนธิจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัย ให้กัมมชรูป ๓ กลุ่มเกิดขึ้น ซึ่งก็ได้เป็นไปแล้ว พร้อมกันทันที ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

    โดยนัยเดียวกัน หทยวัตถุในขณะปฏิสนธิ ซึ่งเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต จึงเป็นสหชาตปัจจัยของปฏิสนธิจิต แต่กัมมชกลาปอีก ๒ กลาป ไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะเหตุว่า จิตไม่ได้เกิดที่กายทสก หรือภาวทสก แต่เกิดที่กลุ่มของรูป ที่เป็นหทยทสก

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมในเรื่องของสหชาตปัจจัยหมวดนี้ คือปฏิสนธิจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยให้แก่ ปฏิสนธิหทยวัตถุในอุปาทขณะ และ

    ปฏิสนธิหทยวัตถุ เป็นสหชาตปัจจัยให้แก่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในอุปาทขณะ

    ถ้าท่านผู้ฟังจะสังเกต ก็จะเห็นได้ว่า กล่าวถึงเฉพาะหทยวัตถุ ปฏิสนธิขณะ หมายความถึง ปฏิสนธิหทยวัตถุรูป รูปเดียว ที่เป็นสหชาตปัจจัยของจิต คือปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า รูปๆ เดียวที่เป็นสหชาตปัจจัยของจิต คือปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า รูปอื่น ขณะอื่น นอกจากปฏิสนธิขณะ ที่รูปจะเป็นปัจจัยให้เกิดจิตก็ดี หรือจะเป็นทวารให้จิตรู้อารมณ์ก็ดี หรือว่าจะเป็นอารมณ์ให้จิตรู้ก็ดี รูปทั้งหมดที่จะเป็นปัจจัยได้ในขณะอื่น นอกจากปฏิสนธิกาลแล้ว ต้องเป็นรูปในขณะฐีติขณะของรูป

    รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิด – ดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ในอุปาทขณะของจิต ถ้ารูปนั้นเกิดในขณะนั้น รูปนั้นไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้แก่จิตได้เลย เป็นทวารไม่ได้ เป็นวัตถุไม่ได้ เป็นอารมณ์ไม่ได้ นอกจากเฉพาะในปฏิสนธิกาล คือในขณะเกิดขึ้น ขณะเดียวเท่านั้น ซึ่งปฏิสนธิหทยวัตถุ เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตได้ ในอุปาทขณะของรูป นอกจากนั้นแล้วรูปจะไม่มีโอกาสเป็นปัจจัยในอุปาทขณะของรูปได้เลย รูปทุกรูปที่จะเป็นปัจจัย โดยเป็นทวารก็ดี โดยเป็นวัตถุ คือเป็นที่เกิดก็ดี หรือโดยเป็นอารมณ์ก็ดี จะต้องเป็นปัจจัยในฐีติขณะเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ในวีถีจิตว่า ขณะที่รูปเกิด กระทบภวังค์ ขณะนั้นจิตไม่สามารถที่จะรู้ หรือมีรูปนั้นเป็นอารมณ์ได้ทันที ต้องเป็นฐีติขณะของรูปเสมอ เว้นขณะเดียว คือในปฏิสนธิขณะเท่านั้น ซึ่งรูปสามารถจะเป็นปัจจัยได้ในอุปาทขณะ

    มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ไหม

    นิภัทร กระผมจะเข้าใจถูกหรือเปล่าไม่ทราบ ในขณะปฏิสนธิจิตเกิด อาจารย์ว่ามีรูปกลาป มีกายทสกกลาป ภาวทสกกลาป หทยทสกกลาป เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต

    อ.จ. ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ สำหรับผู้ที่เกิดในครรภ์ ถ้าเกิดเป็นโอปปาติกะ หรือในกำเนิดอื่น ก็จะมีกลาปมากกว่านี้

    นิภัทร อย่างในมนุษย์ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด รูป ๓๐ รูปนี้ ต้องเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต และรูป ๓๐ รูปนี้ ถือว่าเป็นสหชาตปัจจัยของปฏิสนธิจิต

    อ.จ. ขอประทานโทษ มีกลุ่มของรูป ๓ กลุ่ม เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตในอุปาทขณะ ปฏิสนธิจิตเป็นสหชาตปัจจัยของกัมมชรูป ๓ กลุ่ม นี่ตอนหนึ่ง ปฏิสนธิจิตเป็นสหชาตปัจจัย ให้เกิดกัมมชรูป ๓ กลุ่ม แต่ว่าในกัมมชรูป ๓ เฉพาะกลุ่มเดียว ปฏิสนธิหทยวัตถุ ในหทยทสกกลาป เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิตได้

    อีก ๒ กลุ่มไม่เป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัยแก่กัมมชรูป ๓ กลาป และปฏิสนธิหทยวัตถุ เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิต เฉพาะกลาปเดียว ละเอียด ที่จะต้องทราบ ว่ามี ๓ กลาป ซึ่งเป็นกัมมชรูป เกิดขึ้นเพราะปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย แต่ว่าใน ๓ กลาปนั้น เฉพาะปฏิสนธิหทยวัตถุรูปเท่านั้น ซึ่งเป็นสหชาตปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด กัมมชกลาปอีก ๒ กลาป คือภาวทสกกลาป และกายทสกกลาป ไม่เป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิต

    เกิดพร้อมกันจริง แต่ปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย กัมมชรูป ๓ กลุ่มเป็นปัจจยุปบัน แต่ใน ๓ กลุ่มนั้น กลุ่มหนึ่งคือ ปฏิสนธิหทยรูป เป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิต

    เพราะฉะนั้น เรื่องของปัจจัย ต้องแยกกับเรื่องของปัจจยุปบัน ถ้าจะเอาปัจจัยปนกับปัจจยุปบัน ก็จะทำให้เข้าใจสภาพธรรม คลาดเคลื่อน สภาพธรรมใดซึ่งเป็นปัจจัย ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า สภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดเพราะปัจจัยนั้น จะเป็นปัจจัยด้วย แม้ว่าสหชาตปัจจัย ปัจจัยและปัจจยุปบันจะเกิดพร้อมกัน แต่ก็ต้องทราบว่า ในสภาพธรรมซึ่งเกิดพร้อมกัน คือเป็นปัจจัย และปัจจยุปบันนั้น สภาพธรรมใดเป็นปัจจัย สภาพธรรมใดเป็นปัจจยุปบัน

    มีข้อสงสัยอะไรอีกไหม ถ้าไม่มีก็ขอเรียนถามว่า

    กัมมชรูปในขณะอื่นเกิดขึ้นเพราะอะไร คำถามไม่ยากเลย

    กัมมชรูปในขณะอื่นเกิดขึ้นเพราะอะไรเป็นปัจจัย

    กัมมชรูป ชื่อบอกแล้วใช่ไหม เพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่มีจิตเป็นปัจจัย เกิดได้ไหม กัมมชรูปในขณะอื่น ไม่มีจิตเป็นปัจจัย เกิดได้ไหม ได้ เพราะเหตุว่า รูปนั้นเกิดขึ้นเพราะกรรม เฉพาะในขณะปฏิสนธิเท่านั้นเอง ซึ่งจะต้องอาศัยจิตเป็นสหชาตปัจจัย แต่ไม่ใช่เพราะจิตเป็นสมุฏฐาน อย่าลืม กัมมชรูปยังคงเกิด เพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่ได้เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานเลย แต่ว่าที่กัมมชรูปในขณะแรก จะเกิดขึ้นได้ ในภูมิหนึ่งภูมิใด เป็นครั้งแรกทีเดียวนั้น ต้องอาศัยปฏิสนธิจิตเป็นสหชาตปัจจัย แต่ว่ากัมมชรูปนั้น ก็ยังคงเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น หลังจากขณะปฏิสนธิ คืออุปาทขณะของปฏิสนธิจิตแล้ว กัมมชรูปทั้งหมดเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยจิต

    ตัวอย่างในนิโรธสมาบัติ จิต เจตสิกดับ กัมมชรูปเกิด เกิด – ดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ นี่เป็นความต่างกันของ ผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคล หรือผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๔ คือเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สามารถที่จะดับจิต เจตสิกได้ ไม่เกิน ๗ วัน ในระหว่างนั้น จิต เจตสิกไม่เกิดเลย แต่กัมมชรูปเกิด เพราะฉะนั้น กัมมชรูปเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่ว่าเฉพาะในครั้งแรก ในภพนี้ ชาตินี้ ในปฏิสนธิขณะนั้น จะต้องอาศัยจิตเป็นสหชาตปัจจัย จึงจะเกิดได้

    อสัญญสัตตาพรหมบุคคล มีแต่รูปปฏิสนธิ ในขณะปฏิสนธินั้น มีกัมมชรูปเกิด ไม่ต้องอาศัยจิตสำหรับในภูมินั้น แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แม้รูปจะเกิดเป๋ญครั้งแรก คือแม้รูปนั้นจะเป็นกัมมชรูป คือรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม มีกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่ในขณะแรกที่จะเกิดในภพหนึ่ง ก็ยังต้องอาศัยปฏิสนธิจิตเป็นสหชาตปัจจัย

    มีข้อสงสัยอะไรไหม ในเรื่องของปฏิสนธิจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยของกัมมชรูป

    หมวดที่ ๔ สำหรับสหชาตปัจจัย จะมีสภาพธรรมอะไรอีกไหม ซึ่งเกิดพร้อมกัน

    จิตและเจตสิกเป็นหมวดที่ ๑

    มหาภูตรูป ๔ เป็นหมวดที่ ๒

    ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ และปฏิสนธิหทยวัตถุเป็นหมวดที่ ๓

    หมวดที่ ๔ คือ จิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป

    เรื่องของสหชาตปัจจัย ถ้าจะศึกษาโดยย่อ ก็ย่อมาก เพราะสภาพธรรมใดที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้น เป็นสหชาตปัจจัย แต่ถ้าจะศึกษาให้ละเอียด ก็จะต้องแยกออก เช่น

    จิตเป็นสหชาตปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดขึ้น ถ้าใช้คำว่าสหชาตปัจจัยแล้ว ก็หมายความว่า จิตตชรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานนั้น ต้องเกิดพร้อมกับจิตในอุปาทขณะของจิต จึงจะเป็นสหชาตปัจจัย ถ้าเกิดก่อนหรือเกิดหลัง ไม่ชื่อว่า สหชาตปัจจัย เพราะฉะนั้น รูปทั้งหมดที่เป็นจิตตชรูป จะต้องเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต

    และสำหรับจิต ซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดขึ้นนี้ ก็เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ อรูปวิบาก ๔ ปฏิสนธิจิต ๑ จุติจิตของพระอรหันต์ ๑ รวมทั้งหมดก็เป็นจิต ๑๖ ดวง ซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น

    มีข้อสงสัยไหม ในเรื่องนี้

    ขณะเห็น เฉพาะจักขุวิญญาณ ไม่เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด สัมปฏิจฉนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด มีใครสั่งหรือเปล่า

    และสำหรับเรื่องการที่จะเข้าใจว่า “จิตสั่ง” บางท่านดูเหมือนว่าเข้าใจ พอใครบอกว่าจิตสั่ง ก็เข้าใจ ว่าจิตสั่งให้รูปเกิด มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่มีการเดิน การพูด หรือการกระทำกิจการงานต่างๆ แต่ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ ให้เข้าใจจริงๆ ก็ต้องคิดตั้งแต่ว่า ที่ว่าจิตสั่ง สั่งนั้น คืออย่างไร ที่จะเรียกว่าสั่งคืออย่างไร มีใครพอที่จะตอบได้ไหมว่า สั่งคืออย่างไร ที่จะใช้คำว่าจิตสั่ง สั่งคืออย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    23 ส.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ