ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 32


    เวลาที่จะศึกษาสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม รูปมีสมุฏฐาน ๔ คือ บางรูป มีกรรม เป็นสมุฏฐาน

    บางรูปมีจิต เป็นสมุฏฐาน

    บางรูปมีอุตุ เป็นสมุฏฐาน

    บางรูปมีอาหาร เป็นสมุฏฐาน

    แต่ละกลุ่มๆ รูปใดซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรม รูปนั้นไม่ได้เกิดเพราะจิต,อุตุ,อาหาร

    รูปใดซึ่งเกิดขึ้นเพราะจิต รูปนั้นไม่ได้เกิดเพราะกรรม,อุตุ,อาหารเป็นสมุฏฐาน

    เพราะฉะนั้น แต่ละรูปแต่ละกลุ่มของรูปก็ต้องมีสมุฏฐานของตนๆ

    และสำหรับปัจจัยที่ ๑๓ ปัจจัยนี้คือกัมมปัจจัย บอกแล้ว แสดงแล้วว่ารูปซึ่งต้องเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    และในขณะที่จิตเกิดขึ้นดวงหนึ่งๆ เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดแต่เฉพาะจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งจิตและเจตสิกเป็นจิตตุปาท เป็นสมุฏฐานที่จะให้รูปเกิดขึ้น เป็นจิตตชรูป

    ถาม ก็เจาะจงอยู่แล้วว่า กรรมเป็นปัจจัย แต่ทำไมจิตตชรูป จึงเป็นปัจจยุปบันนได้ล่ะครับ

    อ.สุจินต์ เพราะเหตุว่า เจตนาเจตสิกเป็นสหชาตกัมมปัจจัยของจิต ขณะนี้จิตเกิดขึ้นดวงหนึ่ง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง สำหรับทวิปัญญจวิญญาณจิต ไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป เพราะเหตุว่า เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน เพราะฉะนั้น จิตที่จะเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นได้ ต้องเป็นจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ ดวง เพราะเหตุว่า จิตซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง ได้แก่ทวิปัญจวิญญาณจิตเท่านั้น ซึ่งเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ไม่เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น อย่างโลภมูลจิตเกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ ดวง ในขณะนั้นเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น ที่โลภมูลจิตเกิด มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น จิตตชรูปเกิดเพราะจิตและเจตสิก เป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่เพราะจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว

    นี่ค่ะ ชีวิตประจำวันจริงๆ เชิญค่ะ

    ประวิทย์ ถ้าเป็นชวนจิต เจตนาในชวนจิตเป็นกัมมปัจจัยของรูปด้วยหรือเปล่า

    อ.สุจินต์ ต้องเจตนาเป็นกัมมปัจจัย

    แต่รูปเป็นรูปซึ่งเกิดเพราะจิตและเจตสิกทั้งหมด เพราะฉะนั้น จิตตชรูปในขณะนั้น ต้องเกิดเพราะเจตนาเจตสิก เป็นปัจจัยด้วย เพราะเหตุว่า ถ้าจะกล่าวโดยเป็นกัมมปัจจัย โดยเป็นสหชาตกัมมปัจจัย ใช้คำว่ากรรม แต่เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด ถูกไหมคะ เพราะเหตุว่า ในความหมายของสหชาตกัมมปัจจัย

    ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกไหมคะ ในเรื่องของสหชาตกัมมปัจจัย ถ้าจะให้จำง่ายๆ นะคะ เจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย แต่กัมมปัจจัยจำแนกออกเป็น ๒ อย่าง เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจกัมมปัจจัย ๒ อย่างให้ละเอียด คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นสหชาตกัมมปัจจัยแก่จิตและเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    นี่ตอนหนึ่งนะคะ และนอกจากจะเป็นปัจจัยให้ จิตและเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้รูปเกิดร่วมด้วย และรูปซึ่งเกิดในขณะนั้นคือจิตตชรูป

    เพราะเหตุว่า จิตเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้ นอกจากทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง ซึ่งแม้ว่า จะมีเจตนาเจตสิกเกิดกับทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงก็จริง แต่ว่าลักษณะสภาพของทวิปัญจวิญญาณเป็นจิตที่อ่อนไม่มีกำลัง เพราะเหตุว่าเกิดเพราะเจตสิกเพียง ๗ ดวงเท่านั้น เป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น แม้ทวิปัญจวิญญาณจะมีเจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย แต่ก็ไม่เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด

    เวลาที่จิตซึ่งมีกำลัง ซึ่งไม่ใช่ทวิปัญจวิญญษณเกิดขึ้น จะเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด แล้วก็มีเจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้น เจตนานั้นซึ่งเป็นกัมมปัจจัย ก็เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดด้วย

    ชื่อว่าจิตตชรูป แต่ก็เกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกทั้งหมด ซึ่งก็หมายความว่า ต้องเกิดเพราะเจตนาเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมด้วยเป็นกัมมปัจจัยด้วย แต่เป็นสหชาติกัมมปัจจัย

    ขณะที่กำลังนอนหลับ มีจิตตชรูปเกิดไหมคะ มี เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ นี่ต้องจำไว้เลยค่ะ สำหรับปฏิสนธิจิตไม่มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย หมดปัญหาไปแล้ว เพราะเหตุว่า ขณะปฏิสนธิดับไปเนิ่นนานแล้ว ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน แต่ในชีวิตประจำวันมีทวิปัญจวิญญาณ คือจิตเห็นทางตา จิตได้ยินทางหู จิตได้กลิ่นทางจมูก จิตลิ้มรสทางลิ้น จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย รวม ๑๐ ดวง เกิดอยู่บ่อยๆ เป็นประจำ จิต ๑๐ ดวงนี้เท่านั้น ในชีวิตประจำวัน ที่ไม่มีรูปเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่นอนหลับสนิท ก็ต้องมีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย

    ในขณะที่ฝันมีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วยไหมคะ มี

    ในขณะนี้ มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วยไหมคะ มี ในจิตต่างๆ เหล่านี้ ก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นกัมมปัจจัย

    เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกที่เป็นกัมมปัจจัยและเจตสิกอืนๆ และจิตเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด

    สำหรับสหชาตกัมมปัจจัย ก็คงไม่มีอะไรจะยุ่งยาก หมายความถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง ชื่อว่าสหชาตกัมมปัจจัย เพราะเหตุว่า เกิดพร้อมกันกับปัจจยุปบันน

    “นานักขณิกกัมมปัจจัย” ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัย ทำให้ปัจจยุปบันน คือผลของกัมมปัจจัยนั้นเกิดขึ้นต่างขณะกัน

    คือไม่ใช่เกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกเหมือนอย่างสหชาตกัมมปัจจัย แต่ว่าทำให้ผลของเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นกัมมปัจจัยเกิดขึ้นต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน จึงชื่อว่านานักขณิกกัมมปัจจัย เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้ผลคือวิบากจิต และเจตสิก และกัมมชรูปเกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อเจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบาก หรือเจตนาในจิตซึ่งเป็นกิริยา

    ถ้าเจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบากหรือกิริยาแล้ว ต้องเป็นสหชาตกัมมปัจจัย

    แต่ถ้าเป็นเจตนาในกุศลจิตและอกุศลจิตแล้ว ต้องเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย

    เพราะเหตุว่า เมื่อจิตและเจตนาเจตสิกอื่นๆ นั้นดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดขึ้นในภายหลัง ต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน

    มีข้อสงสัยอะไรไหมคะในเรื่องนานักขณิกกัมมปัจจัย

    สำหรับกรรมซึ่งเป็นนามธรรม เป็นเจตนาเจตสิกเป็นปัจจัย ทำให้ปัจจยุปบันนคือวิบากจิตและรูปเกิดขึ้น

    โดยมากทุกท่านมักจะเห็นผลของกรรม เฉพาะแต่รูป ไม่ได้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้ว สภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งรับผลของกรรม ซึ่งเป็นวิบากนั้น มี แต่เวลาที่ท่านผู้ฟัง มักจะพูดกันว่า นี่เป็นผลของกรรม หรือนั่นเป็นผลของกรรม ท่านก็จะนึกถึงในด้านของวัตถุ เช่นในเรื่องของรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ โภคสมบัติ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม หรือถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็มักจะคิดถึงในเรื่องของรูปธรรมเท่านั้น คือในเรื่องของรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ หรือว่า ความวิบัติของโภคทรัพย์ต่างๆ แต่ให้ทราบว่าสภาพธรรมที่เป็นปัจจยุปบันน เป็นผลของกรรม เป็นนามธรรมด้วย คือจิตและเจตสิกซึ่งเป็นวิบากจิต และรูปซึ่งเป็นผลของนานักขณิกกัมมปัจจัย

    มีข้อสงสัยในเรื่องของนานักขณิกกัมมปัจจัยไหมคะ

    ถ้าทราบว่า เหตุคือเจตนาเจตสิกเกิดร่วมกับกุศลจิต หรืออกุศลจิต เป็นเหตุให้เกิดกายกรรม และวจีกรรม ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง มี แม้ว่าดับไปแล้ว ใครจะคิดว่าไม่ให้ผล ก็เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่า กรรมได้แก่เจตนาเจตสิก ซึ่งเกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิต แต่ถ้าเข้าใจว่ากรรมคือเจตนาเจตสิกที่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย ต้องเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม แม้ว่าดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัย ที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น ในภายหลัง ผู้นั้นก็ย่อมเป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องของกรรม และในเรื่องผลของกรรม ว่าเป็นสิ่งซึ่งเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะเหตุว่า เมื่อเหตุมี คือเมื่อปัจจัยมี ปัจจยุปบันนคือผลของเหตุนั้น ก็ต้องมีด้วย

    ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่ว่าในอากาศ ไม่ว่าในกลางทะเล ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ในระหว่างภูเขา ย่อมไม่มีภูมิประเทศที่สัตว์สถิตย์อยู่แล้ว จะพึงพ้นไปจากบาปกรรมได้ แม้นี้ชื่อว่า “กัมมนิยาม” นั่นเอง

    สำหรับเรื่องที่กระทำให้พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้คือ

    ไม่ว่าอากาศ ไม่ว่าในกลางทะเล ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ระหว่างภูเขา ย่อมไม่มีภูมิประเทศที่สัตว์สถิตย์อยู่แล้ว จะพึงพ้นไปจากบาปกรรมได้

    มีข้อความแสดงอยู่ว่า สำหรับที่ว่า ไม่ว่าในอากาศ คือ

    ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไฟไหม้บ้านใกล้ประตูเมืองสาวัตถุ ต่อนั้นกระจุกหญ้าติดไฟขึ้นไปสวมคอกา ซึ่งบินไปทางอากาศ กานั้นร้องตกตายบนแผ่นดิน

    ซึ่งเมื่อภิกษุได้กราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในพระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ข้อนี้มิใช่ผู้อื่นกระทำ เป็นกรรมที่เขาเหล่านั้นแหละกระทำไว้ แล้วได้ทรงนำเอาอดีตนิทาน คือเรื่องในครั้งก่อนมาตรัสแสดงว่า

    กาเป็นคนในชาติก่อน เมื่อไม่สามารถจะฝึกโคโกงตัวหนึ่งได้ ก็ผูก ใช้คำว่า เขน็ดใบไม้แห้งสวมคอ แล้วจุดไฟ โคตายด้วยไฟนั้นแหละ บัดนี้ กรรมนั้น ไม่อาจจะปล่อยกานั้น แม้ไปอยู่ทางอากาศ

    สำหรับในเรื่องของ ไม่ว่าในกลางทะเล ก็เป็นเรื่องของหญิงผู้หนึ่ง ซึ่งโดยสารมาในเรือลำหนึ่ง เรือลำนั้นไม่สามารถจะแล่นต่อไปได้ เพราะเหตุว่า หยุดนิ่งอยู่ในมหาสมุทร ทุกคนไม่ทราบว่า ทำอย่างไรจึงจะรอดชีวิตได้ ก็ได้เสี่ยงจับสลาก หาผู้ที่เป็นกาลกัณณี สลากนั้นก็ตกไปในมือของภรรยาของนายเรือ ซึ่งทำให้ผู้หญิงคนนั้นถูกจับโยนลงน้ำไป แต่นายเรือกล่าวว่า

    ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเห็นนางนี้ลอยอยู่ในน้ำได้ จึงให้เอาหม้อบรรจุทรายผูกคอ แล้วให้โยนลงไป ทันใดนั้นเอง เรือก็แล่นออกไปได้ เหมือนดังลูกศรซึ่งซัดไปฉะนั้น

    เมื่อพระภิกษุกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค พระองค์ก็ได้ทรงพยากรณ์อดีตกรรมของผู้หญิงนั้นว่า ในชาติก่อน หญิงนั้นก็เป็นหญิงคนหนึ่ง มีสุนักเลี้ยงตัวหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าผู้หญิงคนนี้ จะไปที่ไหน สุนักนั้นก็ติดตามไป จนกระทั่งพวกชาวบ้านพากันเยาะเย้ยว่า พรานสุนักของพวกเราออกแล้ว ซึ่งทำให้ผู้หญิงคนนั้นรู้สึกอึดอัด เพราะเหตุว่า ไม่สามารถห้ามสุนักนั้นไม่ให้ติดตามได้ ก็เลยเอาหม้อบรรจุทราย ผูกคนสุนัก โยนลงน้ำไป เพราะฉะนั้น กรรมนั้นจึงไม่ให้เพื่อจะปล่อยเธอลงในกลางทะเล ก็ต้องถูกหม้อบรรจุทราบผูกคอ แล้วโยนลงน้ำ

    สำหรับข้อความที่ว่า ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ระหว่างภูเขา

    พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงอดีตกรรมของภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งภิกษุรูปนี้อยู่ในถ้ำ แล้วมียอดภูเขาใหญ่ตกลงมาปิดปากถ้ำไว้ ในวันที่ ๗ ยอดภูเขาใหญ่ ที่ตกลงมาปิดประตูนั้นจึงได้กลิ้งออกไปได้

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสแสดงอดีตกรรมของภิกษุรูปนี้ว่า เคยเป็นเด็กเลี้ยงโคในชาติก่อน แล้วได้ปิดปากประตูขังเหี้ย ซึ่งเข้าไปในรู แล้วในวันที่ ๗ ก็มาเปิดให้ เหี้ยก็ตกใจกลัวตัวสั่นออกไป แต่เขาก็ไม่ได้ฆ่า เพราะฉะนั้นกรรมนั้นก็ไม่ได้เพื่อให้ปล่อยภิกษุนั้น ผู้เข้าไปสู่ซอกภูเขา นั่งอยู่ ยังติดตามให้ผลได้

    แม้นี้ชื่อว่า “กัมมนิยาม” นั่นเอง เพราะเหตุว่า นิยามมี ๕ อย่าง ได้แก่

    พืชนิยามหรือพีชนิยาม กำหนดที่แน่นอนของพืช ๑

    อุตุนิยาม กำหนดที่แน่นอนของฤดู ๑

    กัมมนิยาม กำหนดที่แน่นอนของกัมม ๑

    ธัมมนิยาม กำหนดที่แน่นอนของธรรมดา ๑

    จิตตนิยาม กำหนดที่แน่นอนของจิต ๑

    ตามข้อความในจิตตุปาทกัณฑ์ ในอัฏฐสาลินี

    ยังมีข้อสงสัยในเรื่องของ “กัมมปัจจัย” อีกบ้างไหมคะ

    หมอเพิ่ม ถ้าเปรียบเหมือนพืช นานักขณิกกัมมปัจจัยอย่างเดียวใช่ไหมครับ อาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายให้ละเอียดอีกครั้ง

    อ.สุจินต์ เพราะเหตุว่าเป็นเหตุให้เกิดผลคือวิบาก ต่างขณะกันเท่านั้นเอง หมายความถึง นิยาม ๕ อย่างใช่ไหมคะ ขอให้พูดถึงเรื่องของนิยาม ๕ อย่าง หรืออะไรคะ

    ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถาพระธัมมสังคิณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ ว่าด้วย นิยาม มีข้อความว่า นิยามมี ๕ อย่างคือ

    พืชนิยาม หรือ พีชนิยาม ๑

    อุตุนิยาม ๑

    กัมมนิยาม ๑

    ธัมมนิยาม ๑

    จิตตนิยาม ๑

    ในบรรดานิยามทั้ง ๕ นั้น การที่พืชนั้นๆ ให้ผล เหมือนกันกับพืชนั้นๆ เช่นดอกทานตะวัน หันหน้าไปหาพระอาทิตย์ ชื่อว่า “พืชนิยาม” คือเป็นธรรมดา หรือธรรมเนียมของพืชชนิดนั้นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง

    สำหรับ “อุตุนิยาม” มีคำอธิบายว่า การที่ต้นไม้นั้นผลิดอกผลและใบอ่อน พร้อมกันในสมัยนั้นๆ ชื่อว่า อุตุนิยาม หน้าทุเรียน หน้ามะม่วง ไม่สลับกัน นั่นคือ อุตุนิยาม

    สำหรับ “กัมมนิยาม” คือว่าการที่กรรมนั้นๆ ให้วิบากเหมือนกันกับกรรมนั้นๆ นั่นเทียว อย่างนี้คือ ถ้ากุศลกรรมประกอบด้วยปัญญา ก็ให้ผลเป็นวิบากที่ประกอบด้วยปัญญา หรือว่ากุศลกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ให้ผลคือวิบากที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

    นอกจากนั้นก็ได้แสดงเรื่อง “กัมมนิยาม” อีกอย่างหนึ่ง คือ วิบาก ย่อมเป็นไปตามกรรม ดังที่ได้กล่าวถึงแล้วที่ว่า มีไฟไหม้ใกล้ทวารกรุงสาวัตถี มีกระจุกหญ้าติดไฟขึ้นไปสวมคอกาที่บินไปทางอากาศ นั่นก็เป็น “กัมมนิยาม”

    สำหรับ “ธัมมนิยาม” คือในกาลที่พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ทรงถือปฏิสนธิ

    ในกาลที่ทรงออกจากครรภ์พระมารดา

    ในกาลที่ทรงตรัสรู้พระอภิโพธิสัมมสัมโพธิญาณ

    ในกาลที่พระตถาคตเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักร

    ในกาลที่ทรงปลงพระชนมายุสังขาร

    ในกาลที่ทรงปรินิพพาน

    หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว ชื่อว่า “ธัมมนิยาม”

    สำหรับ “จิตตนิยาม” มีข้อความว่า

    เมื่ออารมณ์กระทบกับปสาทรูป ใครๆ ที่จะเป็นผู้กระทำหรือผู้สั่งให้กระทำว่า “เจ้านะ จงชื่อว่าอาวัชชนะ ……………….. เจ้านะจงชื่อว่าชวนะ” ดังนี้ ย่อมไม่มี คือสภาพธรรมไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เป็นไปโดยธรรมดาของตนๆ นั่นเอง ตั้งแต่กาลที่อารมณ์กระทบกับปสาท จิตก็เกิด – ดับ สืบต่อกัน ชื่อว่า “จิตตนิยาม”

    ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกไหมคะ ในเรื่องนิยาม

    นิพัฒน์ ผมสงสัยเรื่องของกัมมปัจจัย กัมมปัจจัยมีเจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย ส่วนรูปและจิตไม่ใช่กัมมปัจจัย เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัย แบ่งเป็น ๒ อย่างคือ สหชาตกัมมปัจจัย หมายถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับเจตนาดวงอื่นๆ

    อ.สุจินต์ หมายความถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพราะเหตุว่า เกิดพร้อมกับปัจจยุปบันน เกิดพร้อมกับจิตและเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเจตนานั้นเป็นปัจจัย

    เหมือนอย่างผัสสะ ใช่ไหมคะ เกิดกับจิตทุกดวง

    เจตนา ก็ เกิดกับจิตทุกดวง

    แต่ เจตนาเป็นกัมมปัจจัย

    สำหรับผัสสะเป็นอาหารปัจจัย

    สภาพธรรมต่างกัน เป็นปัจจัยคนละอย่าง

    นิพัฒน์ สหชาตกัมมปัจจัยนี้ก็หมายเอา

    อ.สุจินต์ กัมม = เจตนาเจตสิก

    สหชาต = เกิดร่วมกันกับปัจจยุปบันน คือเกิดร่วมกันกับเจตสิกอื่นๆ จิตทุกดวงจะมีเจตสิกเกิดร่วมกันหลายดวง แต่เมื่อยกเจตนาเจตสิกเป็นปัจจัย จิตและเจตสิกอื่น ที่เกิดร่วมด้วย ก็เป็นปัจจยุปบันน

    เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงโดยกัมมปัจจัย เจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย จิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกันกับเจตนานั้น เป็นปัจจยุปบันน

    นิพัฒน์ สำหรับสหชาตกัมมปัจจัย ก็หมายถึงจิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับเจตนาเจตสิก

    อ.สุจินต์ ปัจจยุปบันนได้แก่จิตและเจตสิกอื่นๆ นอกจากเจตนาเจตสิก เพราะเหตุว่า เจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย

    นิพัฒน์ ตัวเจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย ส่วนเจตสิกอื่นและจิตที่เกิดร่วมกันกับเจตนาเจตสิกเป็นปัจจยุปบันน ของเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัย

    ส่วนนานักขณิกกัมมปัจจัย กระผมยัง

    อ.สุจินต์ คือเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรมเกิดต่างขณะกับปัจจยุปบันน หมายความว่าเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ปัจจยุปบันนคือวิบากจิตและกัมมชรูปเกิดในภายหลัง ไม่ใช่ในขณะเดียวกันกับที่กุศลจิตนั้นเกิดร่วมกับเจตนาเจตสิกนั้น มิฉะนั้นแล้ว คนที่กระทำกุศล ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นเทวดา ก็ต้องเป็นเทวดาทันที ในขณะที่ทำกุศล ถ้าเป็นขณะเดียวกัน แต่เพราะเหตุว่า นานักขณิกกัมมปัจจัย หมายความถึง เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรมเกิดต่างขณะกับปัจจยุปบันน ซึ่งเป็นผลของกรรมนั้น

    กรรมและผลของกรรมเกิดต่างขณะกันเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย

    นิพัฒน์ หมายถึงในชาติต่อๆ ไป

    อ.สุจินต์ ชาติไหนก็ได้ค่ะ จะเป็นชาตินั้น หรือในชาติต่อๆ ไปก็ได้ แต่ไม่เกิดพร้อมกับเจตนา ซึ่งเป็นกรรม ผลคือปัจจยุปบันนเกิดภายหลัง ไม่ใช่เกิดพร้อมกัน

    หมอเพิ่ม ผมเข้าใจว่า เจตนาดวงเดียวก็เป็นได้ทั้งสหชาตกัมมปัจจัยและนานักขณิกกัมมปัจจัย

    อ.สุจินต์ สำหรับที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิต เจตนาเจตสิกในขณะที่เกิดขึ้น เป็นสหชาตกัมมปัจจัย แล้วดับไป แล้วก็เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย เมื่อวิบากจิตเกิดขึ้นภายหลัง

    ประวิทย์ โลกุตตรผลจิตที่เกิดต่อจากโลกุตตรมัคคจิต เป็นปัจจยุปบันนของนานักขณิกกัมมปัจจัยของเจตนาเจตสิกในโลกุตตมัคคจิตใช่ไหมครับ

    อ.สุจินต์ เจตนาเจตสิกในโลกุตตรกุศลจิต คือโลกุตตรมัคคจิตเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยของโลกุตตรวิบากจิต เพราะไม่ได้เกิดพร้อมกัน

    ประวิทย์ แต่เจตนาเจตสิกในโลกุตตรวิบากจิตไม่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย

    อ.สุจินต์ ถ้าเป็นวิบากแล้วไม่ใช่นานักขณิกกัมมปัจจัย แต่เป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพียงเจตนาเจตสิกประเภทเดียว ก็ยังเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจความต่างกันของ กาลของปัจจัยโดยแท้จริงว่า ถ้าเกิดร่วมกับปัจจยุปบันน เป็นสหชาตกัมมปัจจัย ถ้าเกิดต่างขณะ คือเจตนาเจตสิกที่เกิด คือไม่ได้เกิดพร้อมปัจจยุปบันนแล้ว เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย

    เพราะฉะนั้น จิตทั้งหลาย เมื่อจำแนกออกโดยชาติคือ กุศล ๑, อกุศล ๑, วิบาก ๑, กิริยา ๑ ที่ต้องรู้เรื่องชาติของจิต โดยไม่สับสน ก็เพราะเหตุว่า จิตและเจตสิกซึ่งเป็นวิบาก เป็นผลของกัมมปัจจัย เพราะเหตุว่า ปัจจัยที่คู่กันได้แก่ กัมมปัจจัย และวิปากปัจจัย ถ้ามีกัมมปัจจัย แล้ว ก็ต้องมีวิปากปัจจัย ซึ่งเป็นผลของกัมมปัจจัย

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีเจตนาซึ่งเป็นเหตุ คือเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัย ก็ต้องมีวิบากคือจิตและเจตสิกซึ่งเป็นผลของเจตนานั้น

    มีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหมคะ

    ถาม อยากจะถามว่าเจตนาในสหชาตกัมมปัจจัยมีเท่าไรครับ ที่เป็นสหชาตกัมมปัจจัย เจตนาในนานักขณิกกัมมปัจจัยมีเท่าไรครับที่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย

    อ.สุจินต์ สหชาตกัมมปัจจัยได้แก่เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ๘๙ ดวง

    จบ เทปปัจจัย ๒๔ ตลับที่ ๑๖


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    25 ส.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ