แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2009


    ครั้งที่ ๒๐๐๙


    สาระสำคัญ

    เรื่องจิต เจตสิก กับอารมณ์

    กิจของจิต (จิตทุกขณะมีกิจการงาน)

    ปฏิสนธิจิตมี ๑๙ ประเภท

    อวิชชาและโลภะ


    สนทนาธรรมที่โรงแรมโบบินน่า เมืองโครักขปูร์

    วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๓


    ถ. นั่นคือสติเกิด

    สุ. ยัง นี่เรากำลังพูดถึงเรื่องกิจต่างๆ ของเจตสิกที่เกิดกับจิต จะแยก ให้เห็นความต่างกันของจิตกับเจตสิก

    ผัสสเจตสิกรู้อารมณ์โดยกระทบ ถ้าเขาไม่รู้ เขาก็กระทบไม่ได้ แต่ที่รู้ เขารู้เพียงกระทบเท่านั้นเอง รู้มากกว่านั้นก็ไม่ได้ นั่นเป็นหน้าที่ของผัสสะ ทันทีที่ ผัสสเจตสิกเกิดกระทบ เวทนาที่เกิดพร้อมกันก็รู้อารมณ์ มีความรู้สึกในอารมณ์ที่ ผัสสะกระทบ และจิตก็รู้อารมณ์นั้น แต่เวทนาเป็นสภาพรู้สึก อย่างอื่นจะรู้สึกไม่ได้นอกจากเวทนาเจตสิก เพราะฉะนั้น ที่เราดีใจ คือ เวทนาเจตสิก ที่เราเสียใจ ก็คือเวทนาเจตสิก ที่เราเฉยๆ ก็คือเวทนาเจตสิก

    สัญญาเจตสิกเกิดพร้อมกับเจตสิกอื่นและจิตทุกดวง มีหน้าที่จำอารมณ์ ทุกอย่างที่ปรากฏ นอกจากนั้นก็มีเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกันและทำหน้าที่ของตัว เช่น โลภะชอบในอารมณ์ที่จิตรู้ ถ้าจิตไม่เห็น จะชอบในสิ่งที่ไม่เห็นนั้นก็ไม่ได้ ถ้าจิตไม่ได้ยิน จะชอบในเสียงที่ไม่ได้ยินก็ไม่ได้ แม้โลภะก็ต้องเกิดกับจิต แต่จิต เป็นสภาพที่เป็นมนินทรีย์ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่เฉพาะในการรู้อย่างเดียว ส่วนเจตสิก ที่เกิดร่วมกันก็ทำกิจหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ต่างๆ กันไป

    ถ. และอารมณ์ที่ปรุงแต่งภายใน คือ ความคิดนึก

    สุ. ไม่ใช่ เราทิ้งความหมายที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาจากที่อื่นทั้งหมดเลย เอาเป็นว่าจิตเกิดขณะใด รู้อารมณ์ขณะนั้น ทางตา จิตเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เราจะเรียกว่าอะไรหรือไม่เรียกว่าอะไรเลยในขณะนี้ สิ่งนั้นก็เป็นอารมณ์ของจิตเห็น ทางหูเป็นจิตที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น เสียงเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน ทางจมูก กลิ่นเป็นอารมณ์ของจิตที่ได้กลิ่น ทางลิ้น รสต่างๆ เป็นอารมณ์ของจิตที่ลิ้มรส ขณะที่บอกว่า เค็ม ก็เพราะจิตลิ้มรสเค็ม ขณะที่บอกว่าหวาน จิตลิ้มรสหวาน ไม่ใช่เรา เป็นจิตที่สามารถจะลิ้มรสหวาน หรือรสเปรี้ยว รสเผ็ดก็แล้วแต่ ทางกายที่กระทบสัมผัส รู้สึกว่าอ่อนหรือแข็ง เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นั่นเป็นเวทนา แต่สภาพของจิต คือ กำลัง รู้อารมณ์ที่อ่อนหรือแข็ง หรือ เย็นหรือร้อน หรือ ตึงหรือไหวทางกาย ส่วนทางใจ มโนทวารวิถีจิตรับรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เขารู้อารมณ์ต่อจากทางตาที่เห็น ต่อจากทางหูที่ได้ยิน นอกจากนั้นแล้วเขายังคิดนึกด้วย ขณะที่เรากำลังคิดนึก เป็นเรื่องราวต่างๆ เช่น โครักขปูร์ ขณะนั้นเป็นจิตทางมโนทวารซึ่งกำลังมีคำ หรือบัญญัติเป็นอารมณ์ ไม่ใช่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์

    ก่อนที่คุณมธุรสจะมาเมืองนี้ ไม่มีคำว่า โครักขปูร์ ใช่ไหม ที่คุณมธุรสจะคิด ในใจว่า โครักขปูร์ ต้องได้ยินคำนี้แล้ว และก็จำเสียงของคำนี้ด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่คิดนึกเป็นคำต่างๆ เพราะสัญญาเจตสิกจำเสียง และขณะนั้นจิตนึกถึงเสียง จึงเป็นเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะคิดอะไรทั้งหมดที่เป็นเรื่อง ขณะนั้นต้องเป็นความ จำเสียง ทุกอย่างเป็นอารมณ์ของจิตได้หมด

    ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ และสภาพที่ไม่ใช่ ปรมัตถธรรม คือ บัญญัติ เรื่องราวต่างๆ จิตสามารถจะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น จิตรู้รูปก็ได้ รู้เจตสิกก็ได้ รู้จิตก็ได้ รู้นิพพานก็ได้ รู้สมมติบัญญัติก็ได้

    ถ. ทางโลกอีก ที่บอกว่า คนนี้อารมณ์ร้ายจริง อารมณ์นี้คือตัวธรรมอะไร

    สุ. คิดดู มีจิต มีเจตสิก มีรูป มีนิพพาน เพราะฉะนั้น จะเป็นอะไร

    ถ. อารมณ์ร้ายก็ต้องเป็นเจตสิก

    สุ. เป็นเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต

    ถ. อย่างนั้นอารมณ์ทางโลก ก็ผิดกับทางธรรม

    สุ. ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ คือ ภาษาไทยเราบอกว่าวันนี้อารมณ์ดี หมายความว่าวันนั้นจิตเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ลิ้มรสที่ดี ทุกอย่างเป็นอารมณ์ดี แต่คนไทยเราใช้คำท้าย คือ อารมณ์ดี แต่ความจริงแล้วต้องเป็นจิตรู้อารมณ์ที่ดี

    ถ. ที่อาจารย์พูดถึงความนึกคิด ที่มีสัญญา …

    สุ. ถ้าคิดเป็นเรื่อง คือ สัญญาจำเสียง แต่ถ้าไม่คิดเป็นเรื่อง เราก็จำสี จำกลิ่น จำรส และคิดถึงได้เหมือนกัน

    ถ. มีสัญญาแล้วจะเกิดการปรุงแต่งไป ทำให้เกิดเป็นโลภะ โทสะ โมหะ

    สุ. กุศล อกุศลจิต

    ถ. ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ก็เป็นอนัตตา

    สุ. ธรรมทั้งหมด ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่เว้นเลย

    ถ. บางทีคิดนึกไป เพลิดเพลินไป ทำอย่างไรจึงจะเจริญสติให้ …

    สุ. เลิกใช้คำว่า ทำอย่างไรจึงจะเจริญ เมื่อศึกษาเข้าใจธรรมขึ้น ก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติระลึกตามที่ได้ฟัง และตามที่ได้เข้าใจแล้ว อย่างมากๆ ถ้าฟังนิดหน่อย และเราก็คุ้นเคยกับอวิชชามาตั้งแต่เกิด จะให้สติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ ก็เป็นไปไม่ได้ พยายามจะทำก็ไม่ได้ ต้องรู้เหตุว่า ถ้ามีความเข้าใจ ในเรื่องนามธรรมและรูปธรรม มีการฟัง มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น สังขารขันธ์ก็จะปรุงแต่ง ให้สติปัฏฐานเกิดระลึก

    ถ. ขณะที่เป็นเรื่องราวอยู่ จะเจริญอย่างไร

    สุ. ไม่ใช่เจริญอย่างไร ให้รู้ว่าคิดนึกก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง รู้ตั้งแต่ เดี๋ยวนี้เลยว่า กำลังคิดนึกเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา และรู้อย่างนี้บ่อยๆ สติก็จะระลึกได้ว่า ขณะที่กำลังคิดเป็นสภาพคิด สภาพคิดนั้นมีจริงๆ ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียง สภาพธรรมที่คิด

    ถ. ที่อาจารย์บอกว่าเวลาที่เรานอนหลับสนิท จิตตอนนั้นเป็นภวังคจิต ลักษณะของภวังคจิตเป็นอย่างไร

    สุ. ภวังคจิต คือ ขณะหลับสนิท

    ถ. ภวังคจิตของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

    สุ. ภวังคจิตเป็นจิตที่ทำกิจภวังค์ ขณะกำลังเห็น จิตทำทัสสนกิจ คือ จิตทุกขณะเขามีกิจการงานหน้าที่ เกิดมาเพื่อทำกิจและก็ดับ อย่างจิตเห็นจะทำกิจอื่นไม่ได้เลยนอกจากเห็น จิตได้ยินก็ทำกิจอื่นไม่ได้นอกจากได้ยิน จิตทุกขณะมีกิจหน้าที่ อย่างปฏิสนธิจิต จิตขณะแรกที่เกิดทำกิจสืบต่อจากชาติก่อน และเมื่อเป็นภวังคจิต ก็หมายความว่าดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ ยังตายไม่ได้

    ถ. ตอนหลับเป็นภวังค์ ก็เหมือนกับ …

    สุ. เป็นจิตที่เกิดดับดำรงภพชาติอยู่

    ถ. โดยที่ไม่รู้อารมณ์อื่น คือ เหมือนกับนิ่งเฉยๆ อยู่ เหมือนเครื่องที่เรา pause อยู่ ใช่หรือเปล่า

    สุ. ไม่ต้องไปเปรียบกับอะไรเลย ธรรมคือธรรม จิตเกิดแล้วดับ จิตเกิดแล้วไม่ดับ ไม่มี แม้แต่ภวังคจิตก็ต้องเกิดดับ และภวังคจิตมีอารมณ์เหมือนปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน เพราะฉะนั้น ไม่มีทาง ที่อารมณ์ของภวังคจิตจะปรากฏ เพราะว่าข้ามภพข้ามชาติ เรารู้ได้แต่เพียงว่า หลับสนิทคืออย่างนั้น คือ ไม่รู้อะไรเลย นั่นคือหลับสนิท ขณะที่หลับสนิท เราเรียกว่า หลับสนิท แต่ความจริง คือ ภวังคจิตเกิดขึ้นทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติ จนกว่าวิถีจิตทางหนึ่งทางใดจะเกิดขึ้น

    ถ. ลักษณะภวังคจิตของแต่ละคน …

    สุ. คือ จิตที่เกิดขึ้นทำกิจภวังค์ เหมือนกับปฏิสนธิจิตของทุกคนเกิดขึ้น ทำปฏิสนธิจิต นี่เรากำลังพูดถึงเรื่องกิจของจิต แต่เรายังไม่ได้จำแนกว่า ปฏิสนธิจิต มีถึง ๑๙ ประเภท และปฏิสนธิจิตของใครเป็นอะไรใน ๑๙ อย่าง

    ถ. ภวังคจิตนี่คือกิจของจิตหรือ

    สุ. เหมือนปฏิสนธิจิต ก็คือปฏิสนธิกิจ บางครั้งเราจะเรียกจิตตามกิจหน้าที่ ที่เขาทำ บางครั้งอาจจะเรียกตามอารมณ์ อย่างโลกุตตรจิต เราเรียกตามอารมณ์ เพราะว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์ จึงเป็นโลกุตตรจิต

    ถ. เวลาที่เราฝัน เรานอนอยู่เฉยๆ แต่เราก็ฝันไป อันนี้จิตเรา …

    สุ. รู้อารมณ์ทางมโนทวาร ไม่ใช่ภวังคจิต

    ถ. รู้อารมณ์ทางมโนทวาร แต่ในความฝันบางครั้งเราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย และเราไปฝันถึงสิ่งนั้น สิ่งนั้นมาจากไหน

    สุ. จำ ความจำของเรา ทุกอย่างที่เราเห็น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ถ. สมมติว่าเราไม่เคยเห็นในชาตินี้

    สุ. ไม่มีทาง เพราะว่าสิ่งที่เราเห็น คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา และเรานึกเอาเป็นเรื่องเป็นราวจากสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางตากี่ภพกี่ชาติเหมือนกันหมด คือ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ส่วนเรื่องราวเราคิดนึกออกมาจากสิ่งที่ปรากฏ

    ถ. สมมติว่าเราฝันถึงสถานที่ที่เราไม่เคยไปมาก่อน ตัวนี้จะมาจากไหน

    สุ. อย่างไรก็ตาม คือ การคิดนึกหลังจากเห็น จะก่อนหรือหลัง เคยหรือ ไม่เคยก็แล้วแต่ ให้ทราบว่า ต้องมีการคิดนึกหลังจากที่เห็น

    ถ. บางครั้งอยู่ๆ ฝันถึงสิ่งนี้ และเมื่อตื่นเราก็มาพบสิ่งนี้อีก

    สุ. ก็ไม่เป็นไร ให้เป็นเรื่องของการคิดนึก เป็นเรื่องของการละ เพราะว่าเรื่องล่อ มีมากเหลือเกิน เรื่องที่จะให้เราติด ทำไมอย่างนี้เป็นอย่างนั้น ทำไมอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ความจริงแล้วเป็นเรื่องของการสะสม บางคนสะสมสมาธิ บางคน สะสมฌานตั้งแต่ชาติก่อนๆ บางคนอาจจะเคยเหาะได้ สะสมอภิญญาอะไรมา และขณะนี้ก็หลงเหลือเศษเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ซึ่งเราไม่ควรสนใจ ข้อสำคัญที่สุด คือ การละ ต้องมาถึงจุดที่เราจะละ หรือเราจะติด อะไรก็ตามที่จะเป็นเรื่องติด ให้รู้ว่าเราถูกล่อ จะฝันแม่นสักเท่าไรไม่สำคัญ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    โจนาธาน ที่นั่งฟังอาจารย์อธิบายเรื่องธรรม ก็เข้าใจบ้าง และเห็นความสำคัญของการมีสติเกิดขึ้น แต่เวลาลุกขึ้นไปทานข้าว ลืมไปแล้ว เรื่องความสำคัญคือสติไม่เกิดขึ้นเลย อาจจะเป็นเพราะว่าสติยังไม่เจริญพอ ใช่ไหม

    สุ. คุณโจนาธานมีอวิชชามาก หรือมีวิชชามาก

    จ. มีอวิชชามาก

    สุ. ก็เป็นของธรรมดาที่อวิชชาเกิดบ่อย เพราะฉะนั้น เราจึงต้องสะสมวิชชาและกุศลธรรมทั้งหมด เพื่อที่จะได้เกิดบ่อยกว่าอกุศล

    จ. หมายความว่า เหตุที่ทำให้สติเกิดขึ้นเพราะการฟัง …

    สุ. ไม่จำเป็น ขณะนี้แม้สติจะไม่เกิด แต่ความเข้าใจธรรมสำคัญมาก ที่จะทำให้สติเกิดเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีการหวังรอคอยว่า เราต้องมาฟังธรรม เราต้องรีบมาฟังกันเพื่อสติจะได้เกิด ไม่ใช่อย่างนั้น

    จ. แต่ปรากฏว่า นั่งฟัง มีสติเกิดบ้าง ไม่นั่งฟังก็ไม่ค่อยเกิด

    สุ. อย่าลืม เครื่องล่อมาอีกแล้ว เขาจะล่อให้คุณโจนาธานเดินมาฟังธรรมเพื่อหวังว่าสติจะเกิด แต่จะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เป็นเรื่องละจริงๆ ยิ่งเจริญสติปัฏฐานยิ่งต้องรู้เรื่องละ และยิ่งเจริญสติปัฏฐานไป ต้องรู้ว่าโลภะเข้ามาเมื่อไร เป็นปกติจริงๆ ที่ว่า ปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้ไม่สนใจเรื่องสติที่นี่ สติที่โน่น สติที่นั่น แต่เมื่อสติเกิด คือ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ. ระหว่างฟังธรรมอาจารย์ เกิดสติหรือเปล่า

    สุ. จิตเป็นกุศลหรือเปล่า

    ถ. เป็น

    สุ. เวลาเสียงดังก๊อกแก๊กในครัว จิตเป็นกุศลหรือเปล่า

    ถ. ไม่เป็น

    สุ. ก็สามารถจะรู้ได้

    ถ. อาจารย์สอนเราเมื่อกี้ว่า สติต้องมีทาน ศีล ภาวนา อยากทราบว่า ในขณะที่เราฟังธรรม เราเกิดสติในข้อทาน หรือศีล หรือภาวนา

    สุ. สงเคราะห์ในข้อภาวนา เพราะถ้าไม่มีปัญญา เจริญภาวนาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องมีปัญญา ความเข้าใจถูกก่อน และขั้นภาวนาจึงจะเกิดได้

    ถ. ย้อนไปทางโลกอีกแล้ว ถ้าเราฟังอาจารย์สอนวิชาการอะไรก็ตาม ก็ตั้งใจฟัง อย่างนี้เกิดสติหรือเปล่า

    สุ. ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ถ. คงจะไม่เป็นอกุศล

    สุ. เป็นทานหรือเปล่าขณะนั้น

    ถ. ไม่เป็น

    สุ. เป็นศีลหรือเปล่า

    ถ. ไม่เป็น

    สุ. เป็นภาวนาหรือเปล่า

    ถ. ไม่เป็น

    สุ. ก็ต้องเป็นอกุศล

    ถ. แต่ก็เป็นทางที่ดีนี่ ทางโลก หมายความว่าเราก็ได้ปริญญา

    สุ. เราชอบใช่ไหม เราติดใช่ไหม กุศลหรืออกุศล

    ถ. โลภ อย่างนั้นทุกคนในโลกนี้ก็โลภกันหมด

    สุ. แน่นอน เรารู้ธรรมตามความเป็นจริง ถ้าโลภะก็ต้องเป็นโลภะ เราจะบอกว่าโลภะเป็นอโลภะไม่ได้ เมื่อเป็นอโลภะเราก็ต้องบอกว่านี่คืออโลภะ จะบอกว่าอโลภะเป็นโลภะไม่ได้ ธรรมคือความตรง

    ถ. ความแตกต่างก็คือตัวเนื้อหา

    สุ. โลภะทั้งนั้น

    ถ. ทางธรรมก็ถือเป็นโลภะเหมือนกันได้ไหม

    สุ. ธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เราต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่แล้วแต่ใครจะถือเอาตามใจชอบ ไม่ใช่ เราเกิดมาเรามีอวิชชา ความไม่รู้ในลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกวันตั้งแต่เกิด และเรายังติด พอใจในทุกสิ่งทุกอย่าง และเรายังยึดถือว่าเป็นเรา ของเรา

    เพราะฉะนั้น เราเต็มไปด้วยอวิชชาและโลภะ ไม่ว่าเราจะคิดก็เพราะอวิชชาและโลภะทำให้คิดไปอย่างนั้นๆ

    ถ. ถ้าเราฟังธรรมเพื่อตัวเรา ก็ไม่ใช่กุศลแล้ว

    สุ. เพื่อเข้าใจสภาพธรรม เพื่อปัญญารู้ธรรม

    ถ. ถ้าฟังเพื่อที่จะขึ้นสวรรค์ นั่นไม่เป็นกุศล ไปฟังเทศน์ นั่งหลับไปบ้าง เพื่ออยากจะไปสวรรค์ ไม่เป็นกุศล

    สุ. ต้องตรง จิตเป็นโลภะก็เป็นโลภะ จิตเป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล

    ถ. ปุถุชนที่เจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่เคยมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์เลยใช่ไหม

    สุ. พูดอย่างนี้ไม่ได้เลย ก่อนจะถึงปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ถ้าไม่มีความรู้ขั้นฟังว่าปรมัตถธรรมคืออย่างไร เจริญสติหรือสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมไม่ได้ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ปัญญาก็เจริญไม่ได้

    ในขณะนี้กำลังกระทบแข็ง มีจริงๆ ไม่ต้องเรียกว่าแข็ง ลักษณะที่แข็ง เป็นปรมัตถธรรม และสภาพที่กำลังรู้แข็งก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ที่อาศัยกาย จึงได้รู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง

    นี่ขั้นฟัง เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ต้องคล้อยตามหรือตรงกับความเข้าใจอันนี้ คือ เมื่อสติเกิดจะระลึกที่ไหน สติก็จะต้องระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมซึ่งกำลังแข็ง และสภาพที่กำลังรู้แข็งก็เป็นปรมัตถธรรมด้วย ไม่ใช่ว่าสติไม่ระลึกที่ปรมัตถธรรม แต่หมายความว่าขั้นฟังรู้ แต่ว่ารู้เรื่องของปรมัตถธรรม เช่น เห็น ขณะนี้ทุกคนกำลังเห็นและก็ฟังเรื่องการเห็น เข้าใจว่าเห็นเป็นจิตประเภทหนึ่ง เป็น ปรมัตถธรรม นี่คือทั้งๆ ที่กำลังเห็น แต่สติไม่ได้ระลึกที่ลักษณะเห็น เพราะว่ากำลังฟังและพิจารณาเข้าใจเรื่องเห็น แต่ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในขณะที่กำลังฟังเรื่อง จิตเห็น และจิตก็กำลังเห็นด้วย เพราะฉะนั้น สติของบุคคลนั้นระลึกที่ลักษณะที่ กำลังเห็น

    นี่คือความต่างกันของผู้ที่ฟังพระพุทธเจ้า และบางท่านสามารถรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันต์ บางท่านเป็นพระอนาคามี บางท่านเป็น พระสกทาคามี บางท่านเป็นพระโสดาบัน บางท่านวิปัสสนาญาณเกิด บางท่านเริ่มเข้าใจธรรม บางท่านก็ไม่รู้เรื่องเลย นี่ก็แล้วแต่ เพราะว่าสภาพธรรม ก็เป็นสภาพธรรม แต่การสะสมมาของสติปัญญาที่จะฟังและพิจารณาและเข้าใจ จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดหรือไม่เกิด และเมื่อเกิดแล้ว ปัญญาจะเข้าใจหรือรู้มากน้อยแค่ไหน ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๑ ตอนที่ ๒๐๐๑ – ๒๐๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    5 ม.ค. 2565