แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2002


    ครั้งที่ ๒๐๐๒


    สาระสำคัญ

    อธิษฐานบารมี

    บารมี ๑๐ - เป็นอุปกรณ์ เป็นเครื่อง เป็นธรรมที่ส่งเสริมให้ถึงฝั่ง

    สํ.ม จุนทสูตร - ท่านพระสารีบุตรปรินิพพาน


    สนทนาธรรมที่สังกัสสะ

    วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๓๓


    ถ. มีสมาชิกอยากให้อาจารย์อธิบายเรื่องอธิษฐานบารมี

    สุ. อธิษฐาน หมายความถึงความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล เพราะว่า จิตใจของคนส่วนใหญ่อกุศลทั้งนั้น ทั้งวัน โอกาสของกุศลน้อยมาก เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีอธิษฐานบารมีเป็นผู้รู้ตัวว่ากิเลสยังมาก ต้องอาศัยความตั้งใจมั่นจริงๆ ใน การเจริญกุศล มิฉะนั้นแล้วจะพลาดให้อกุศลทุกที

    แสดงให้เห็นว่า ต้องเห็นความสำคัญของการที่จิตใจจะไม่หวั่นไหว เมื่อมี ความตั้งใจที่จะเจริญกุศล และมีโอกาสที่จะทำกุศล ความตั้งใจมั่นนั้นก็เป็นปัจจัย ทำให้กุศลนั้นเกิดและสำเร็จได้ แต่บางคนอยากทำกุศล หรือทั่วๆ ไปก็อยากได้กุศลมากกว่าอยากเป็นกุศล แสดงให้เห็นถึงความละเอียดที่จะต้องพิจารณาว่า สำหรับ ผู้ที่อยากเป็นกุศล มีฉันทะ มีความพอใจที่จะขัดเกลากิเลส นั่นเป็นผู้ที่ไม่ได้อยากได้กุศล

    ถ้าอยากได้กุศล ก็อยากจะมีมากๆ เยอะๆ เพื่ออะไร ก็เพื่อผลดี เพราะว่ากุศลย่อมเป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบากที่ดี เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ จึงจะเข้าใจในบารมี และเป็นผู้ที่ตรงต่อการสะสมบารมีด้วย แม้แต่อธิษฐานบารมี

    อธิษฐาน ไม่ได้หมายความว่า ขอ แต่หมายความถึงความไม่หวั่นไหว ความมั่นคงในการเจริญกุศล เพราะถ้าไม่มีความมั่นคง บางทีคิดที่จะให้ทาน แต่ไม่ให้ ง่ายที่สุด การไม่ให้ไม่ยากเลย แต่การที่จะให้นั้นสำเร็จลงไปได้ยากกว่า ถ้าเพียงคิดที่จะทำ แต่ไม่มีความมั่นคงคือไม่มีอธิษฐานบารมี การให้ก็สำเร็จไม่ได้ หรือแม้แต่บารมีอื่นก็สำเร็จไม่ได้ด้วย ด้วยเหตุนี้อธิษฐานบารมีจึงเป็นสิ่งที่อุปการะเกื้อกูลบารมีอื่นๆ มาก

    ถ. บำเพ็ญอย่างไรจึงจะเรียกว่า บำเพ็ญบารมี ถ้าบุคคลให้ทานและ หวังว่าจะได้ไปสวรรค์ หรือหวังจะมีโภคสมบัติมาก หรือหวังที่จะมีร่างกายที่แข็งแรง อย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างไรจะเรียกว่าเป็นบารมี

    สุ. บารมี คือ การถึงฝั่ง ขณะนี้ทุกคนอยู่คนละฟากฝั่งกับพระนิพพาน ไม่ใช่อยู่ฝั่งเดียวกันเลย คนละฝั่ง เพราะว่านิพพานเป็นธรรมที่ดับกิเลส แต่คนที่อยู่ อีกฝั่งหนึ่ง เป็นฝั่งกิเลสทั้งนั้น ไม่ว่าจะไปทางไหนอย่างไรในชีวิต เมื่อมีอวิชชา จึงเกิดมา และมีโลภะพอใจในสภาพของขันธ์ที่เกิด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นปรากฏ เพราะฉะนั้น ความคิดในวันหนึ่งๆ ก็ต้องเป็นไปตามอวิชชาและโลภะทั้งสิ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าเป็นกุศล แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องเข้าใจว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต ถ้าเป็นกุศลจิตขณะนั้นไม่มีอวิชชา ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ นี่ก็แสดงให้เห็นความต่างกันของชีวิตประจำวันว่าเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีความต้องการในผลของทานก็หมายความว่า ยังอยู่ฝั่งของกิเลส ไม่ได้ต้องการข้ามไปสู่อีกฝั่งหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม เป็นฝั่งของการดับกิเลส

    ถ. จะไม่ให้ผลเลย หรือให้ผลน้อย

    สุ. ต้องทราบว่าผลคืออะไร ต้องการผลอะไร

    ถ. ผล หมายถึงไปถึงจุดที่เราต้องการ

    สุ. จุดอะไร

    ถ. เห็นธรรม

    สุ. ขณะนี้มีธรรม จะเห็นได้อย่างไร

    ถ. อาจารย์บอกว่า อย่างให้ทานโดยมีกิเลสนิดๆ หน่อยๆ หรือทำอะไร ไม่ค่อยจะถูกหลัก ต้องให้มีจุดๆ เดียวที่ปฏิบัติแล้วจึงจะได้ ซึ่งพวกเราโดยมาก ปฏิบัติไม่ถึงจุดนั้น ที่เราปฏิบัติกันมาก จะมีผลนิดหน่อยบ้างไหม

    สุ. พวกที่ปฏิบัติกันอยู่ ถ้าไม่มีปัญญาไม่มีทางถึง เพราะว่าต้องการ ให้ทานที่ทำอยู่ถึงนิพพาน ให้ศีลที่รักษาถึงนิพพาน แต่ไม่เข้าใจว่า ปัญญาถึง ไม่ใช่ทานหรือศีลถึง ต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความ เป็นจริง คือ ไตรลักษณะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งให้ทานสักเท่าไรก็ไม่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ เพียงแต่ว่าทาน เป็นอุปกรณ์ เป็นเครื่อง เป็นธรรมที่ส่งเสริมสนับสนุนให้มีกำลังพอที่จะสละกิเลสได้ เพราะว่ากิเลสเหนียวแน่นเหลือเกิน มีกำลังเหลือเกิน มีแรงที่จะฉุดทุกคนไปสู่อกุศล ทุกขณะจิต

    เพราะฉะนั้น มีธรรมอะไรที่จะเกื้อกูล ที่จะทำให้เป็นผู้ที่มีกำลังพอที่จะสลัด หรือสละกิเลสได้ แต่ต้องเป็นผู้มีปัญญา ไม่ใช่เพียงหวังว่าทานที่ให้จะทำให้ถึงนิพพาน หรือหวังว่าศีลจะทำให้ถึงนิพพาน ซึ่งนั่นไม่ใช่ปัญญาเลย ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจหนทาง และในขณะเดียวกันก็รู้ว่า ถ้าไม่มีบารมีก็ไม่สามารถดำเนินไปตามหนทางนั้นได้ เพราะกิเลสยังมีกำลังมากเหลือเกิน

    ถ. หมายความว่า ทำให้วิชชาเกิดขึ้น อวิชชาดับไป ก็จะถึงนิพพานเอง

    ถ. เนกขัมมบารมี กับปัญญาบารมี ต่างกันอย่างไร

    สุ. เนกขัมมะ คือ กุศลทุกประเภท สละอกุศล ปัญญาเป็นการละอวิชชา

    ถ. ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ถึงเหตุที่เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ คือ เมื่อครั้งที่ท่านพระสารีบุตรมากราบลาปรินิพพานกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่พระคันธกุฎีนี้ ท่านพระสารีบุตรได้พิจารณา ปลงอายุสังขารและท่านก็ทราบว่าจะมีอายุอีก ๗ วัน ท่านได้พิจารณาถึงผู้ที่มีพระคุณของท่านว่า นางพราหมณีสารีมีบุตรเป็นพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ แต่ยังไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย และพิจารณาว่านางควรจะได้ฟังพระธรรมของผู้ใดจึงจะได้รับประโยชน์

    ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากไม่กล่าวสรรเสริญ หรือกลัวผู้อื่นจะหาว่าเป็นการสนับสนุน หรือหน่วงเหนี่ยว แต่พระพุทธเจ้าทรงทราบจุดประสงค์ที่เป็นประโยชน์สูงสุด โดยท่านตรัสว่า สารีบุตร เธอจงรู้ประโยชน์ คำว่า ประโยชน์ ในทีนี้ ผมสงสัยว่า จะให้ท่านรีบกลับไปยังนาลกคาม

    สุ. ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับที่นี่ และธรรมดาของอัครสาวก ต้องปรินิพพานก่อน ถ้าทบทวนดู ก็คงเป็นในระยะนี้ที่เรามาถึงสถานที่ที่ท่าน พระสารีบุตรได้ทูลลาพระผู้มีพระภาค เพราะวันนี้เป็นวันที่ ๒๘ ต.ค. และวันเพ็ญ เดือน ๑๒ ท่านพระสารีบุตรปรินิพพาน เพราะฉะนั้น ก็ใกล้เคียงมากกับวันที่เรามาที่นี่ ซึ่งเป็นวันที่ท่านพระสารีบุตรได้มากราบทูลพระผู้มีพระภาคเพื่อทูลลาไปปรินิพพาน ที่บ้านเกิดของท่าน

    คิดว่าฟังเทปจะดีกว่า เพราะว่าเป็นเรื่องสถานที่นี้จากพระไตรปิฎก

    (เสียงท่านอาจารย์สุจินต์จากเทป)

    วันมาฆบูชาเป็นวันที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในขณะที่ ถวายอยู่งานพัดพระผู้มีพระภาคที่ถ้ำสุกรขาตา ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ทีฆนขปริพาชกซึ่งเป็นหลานของท่าน เพราะฉะนั้น วันสำคัญทางศาสนาจะเป็นอนุสสติได้หลายอย่าง คือ นอกจากจะระลึกถึงความสำคัญของวันมาฆบูชาแล้ว ยังระลึกถึงเหตุการณ์ในตอนบ่าย ตอนเย็น ซึ่งขณะนั้นทีฆนขปริพาชกได้ไปหา ท่านพระสารีบุตรเพื่อไต่ถามทุกข์สุขที่ท่านได้อุปสมบทในพระธรรมวินัยของ พระผู้มีพระภาค และท่านพระสารีบุตรก็ได้พาท่านซึ่งเป็นหลานไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และในขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ท่านพระสารีบุตรก็ถวายอยู่งานพัด ขณะที่ฟังพระธรรมนั้นเอง ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

    กาลเวลาก็ล่วงผ่านไป หลังจากที่ท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้วประมาณ ๔๕ ปี ชีวิตของพระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีทุกข์ใจ แต่มีทุกข์กาย แม้พระผู้มีพระภาค พระอัครสาวก และพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ไม่พ้นจากอดีตอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ ซึ่งอกุศลกรรมย่อมมีปัจจัยที่จะให้ผลได้ตราบที่ยังไม่ปรินิพพาน

    ขอกล่าวถึงการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร หลังจากที่ท่านบรรลุ พระอรหันต์ในวันมาฆบูชา ล่วงเลยไปประมาณ ๔๕ ปี ซึ่งข้อความใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อรรถกถาจุนทสูตร มีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี ก็ในสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ บ้านนาลกคาม ในแคว้นมคธ อาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา สามเณรจุนทะ เป็นอุปัฏฐากของท่าน ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานด้วยอาพาธนั่นแหละ

    ถ้าย้อนระลึกไปถึงที่แคว้นมคธ หรือเมืองสาวัตถี หรือแม้บ้านนาลกคาม ในอดีตก็มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ใน ๔๕ ปีนั้น มีทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งกุศลกรรม อกุศลกรรม มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่ย้อนกลับมาเกิดอีกเลย ไม่ว่าใครจะเกิดอยู่ ณ สถานที่นั้น ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    ข้อความใน อรรถกถา มีว่า

    ตำบลนาลกะเป็นที่อยู่ของสกุลของท่านพระสารีบุตร ท่านสามเณรจุนทะ เป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตร เวลาที่ท่านยังไม่ได้อุปสมบท ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านว่า สามเณรจุนทะ แม้เวลาที่ท่านเป็นพระเถระแล้วก็ยังเรียกอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สามเณรจุนทะ

    ท่านสามเณรจุนทะเป็นผู้อุปัฏฐากท่านพระสารีบุตรด้วยน้ำล้างหน้า ไม้สีฟัน

    และน้ำฉัน กวาดบริเวณ นวดหลัง และรับบาตรจีวร

    ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานในปีที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน แต่ปรินิพพานก่อนท่านพระมหาโมคคัลลานะ และก่อนพระผู้มีพระภาค

    ข้อความในอรรถกถาโดยย่อมีว่า

    ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่จำพรรษาแล้ว เสด็จออกจากหมู่บ้าน เวฬุวะไปเมืองสาวัตถี และประทับ ณ พระวิหารเชตวัน

    ท่านพระสารีบุตรแสดงวัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วไปที่พักกลางวัน เพื่อนเหล่าอันเตวาสิกในที่นั้นแสดงวัตรหลีกไปแล้ว ท่านจึงกวาดที่พักกลางวัน ปูแผ่นหนัง ล้างเท้าแล้วนั่งคู้บัลลังก์เข้าผลสมาบัติ

    ลำดับนั้น เมื่อท่านออกจากผลสมาบัตินั้นตามกำหนดแล้ว เกิดความปริวิตก นี้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายจักปรินิพพานก่อนหรือหนอ หรือว่าพระอัครสาวกปรินิพพานก่อน แต่นั้นรู้แล้วว่า พระอัครสาวกปรินิพพานก่อน แล้วจึงตรวจดูอายุสังขารของตน รู้แล้วว่า อายุสังขารของเราจักเป็นไปได้เพียง ๗ วันเท่านั้น จึงคิดว่า เราจะปรินิพพานที่ไหน

    ลำดับนั้นจึงคิดแล้วคิดอีกว่า พระราหุลปรินิพพานในดาวดึงส์พิภพ พระอัญญาโกณฑัญญเถระปรินิพพานที่สระฉัททันต์ เราจะปรินิพพานที่ไหน ดังนี้ จึงเกิดความสังเวชปรารภมารดาว่า มารดาของเราก็เป็นมารดาของพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เลย ท่านมีอุปนิสัย หรือไม่หนอ

    เมื่อท่านได้เห็นอุปนิสัยแห่งพระโสดาปัตติมรรคของมารดาของท่าน จึงตรวจดูว่า มารดาของท่านจักบรรลุด้วยเทศนาของใคร ทราบว่าจักบรรลุด้วยธรรมเทศนาของท่านเท่านั้น มิใช่ของใครอื่น และคิดต่อไปว่า ถ้าท่านพึงขวนขวายน้อย ก็จักมีผู้กล่าวว่า พระสารีบุตรเถระเป็นที่พึ่งของคนที่เหลือทั้งหลาย แต่ไม่อาจจะเปลื้องแม้เพียงความเห็นผิดของมารดาของตนได้ ท่านจึงตกลงใจจักเปลื้องมารดาของท่านจากความเห็นผิด แล้วปรินิพพานในห้องที่เกิดนั่นแหละ

    ท่านให้ท่านสามเณรจุนทะไปบอกภิกษุบริษัท ๕๐๐ รูปของท่าน ให้ทราบว่า ท่านจะไปบ้านนาลกะ ภิกษุทั้งหลายจึงเก็บเสนาสนะถือบาตรและจีวรไปสำนักของ ท่านพระสารีบุตร

    ท่านพระสารีบุตรเก็บเสนาสนะ กวาดที่พักกลางวัน และยืนที่ประตูพักกลางวัน ตรวจดูที่พักกลางวันคิดว่า บัดนี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย จะไม่มีการกลับมาอีกแล้ว

    ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ แวดล้อม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตข้าพระองค์ ขอพระสุคตทรงอนุญาต นี้เป็นกาลปรินิพพานของข้าพระองค์ อายุสังขารข้าพระองค์ปลงลงแล้ว

    ก็เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อตรัสว่า เธอจงปรินิพพาน ก็จะกลายเป็นสรรเสริญความตาย เมื่อตรัสว่า เธออย่าปรินิพพาน คนผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิก็จะยกโทษว่า กล่าวสรรเสริญคุณของวัฏฏะ ฉะนั้น จึงไม่ตรัสคำแม้ทั้งสอง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เธอจักปรินิพพานที่ไหน สารีบุตร

    เมื่อท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ จักปรินิพพานในห้องที่ข้าพระองค์เกิดในบ้านนาลกะ แคว้นมคธนั้น จึงตรัสว่า สารีบุตร เธอจงสำคัญเวลาในบัดนี้ ก็การเห็นภิกษุเช่นเธอ ของภิกษุผู้เป็นทั้งพี่และน้องของเธอจักหาได้ยากในบัดนี้ เธอจงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น

    ท่านพระสารีบุตรทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์ให้ท่านแสดงธรรม หลังจากที่ได้แสดงอิทธิฤทธิแล้ว ท่านจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วเหาะขึ้นไปแสดงปาฏิหาริย์หลายร้อยอย่าง แล้วปรารภธรรมกถา

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวธรรมกถาด้วยกายที่ปรากฏบ้าง ไม่ปรากฏบ้าง ด้วยกายเบื้องบน เบื้องล่าง หรือครึ่งกาย บางทีก็แสดงเป็นรูปพระจันทร์โดยไม่มีใครเห็น บางครั้งก็เป็นรูปพระอาทิตย์ บางครั้งก็เป็นรูปภูเขา บางทีก็เป็นรูปทะเล บางทีก็เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ บางทีก็เป็นเวสวัณมหาราช บางทีก็เป็นท้าวสักกมหาราช บางทีก็เป็นท้าวมหาพรหม

    เมื่อแสดงปาฏิหาริย์หลายร้อยอย่าง อย่างนี้ ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวธรรมกถา ชาวพระนครทั้งสิ้นประชุมกันแล้ว ท่านเหาะลงแล้ว ได้ยืนถวายบังคม พระบาทพระผู้มีพระภาค

    ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสกะพระเถระนั้นว่า

    สารีบุตร ธรรมปริยายนี้ชื่ออะไร

    ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า

    ชื่อสีหนิกีฬิตะ พระเจ้าข้า

    ท่านพระสารีบุตรได้เหยียดมือมีสีดังครั่งสด แล้วจับที่ข้อพระบาทเช่นกับ ลายเต่าทองของพระผู้มีพระภาค พลางกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์บำเพ็ญบารมีมาหนึ่งอสงไขยแสนกัป ก็เพื่อถวายบังคมพระบาททั้งสองนี้ของพระองค์ มโนรถของข้าพระองค์ถึงที่สุดแล้ว บัดนี้ แต่นี้ไปการประชุมกันในที่เดียวกันด้วยอำนาจปฏิสนธิจะมิได้มีอีกแล้ว

    คือ จะไม่มีการเกิดมาพบกันอีก

    สมาคมก็จะมิได้มี ความคุ้นเคยกันได้ขาดแล้ว ข้าพระองค์จักเข้าสู่ พระนิพพานที่ไม่แก่ ไม่ตาย เกษม มีสุข เย็นสนิท ไม่มีภัย ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จไปแล้ว ถ้าว่าพระองค์ไม่ทรงชอบพระทัยโทษไรๆ ของข้าพระองค์ที่เป็นไป ทางกายหรือทางวาจา ขอพระองค์ทรงอดโทษนั้นด้วย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นการไปของข้าพระองค์แล้ว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๑ ตอนที่ ๒๐๐๑ – ๒๐๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    5 ม.ค. 2565