แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1955


    ครั้งที่ ๑๙๕๕


    สาระสำคัญ

    พุทธพจน์ คือปิฎก ๓

    ธรรมจักรเป็นชื่อแห่งเทศนาญาณ และปฏิเวธญาณ

    ธาตุวิภังคสูตร - สัจจะเป็นแกนสำคัญ เป็นบารมีในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    โลภสูตร

    สัจจะที่ถูกต้องต้องเป็นไปในกุศล

    จริยาปิฎก ปกิณณคาถา - ปฏิบัติด้วยสัจจะ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๓


    จริงอยู่ คำว่า ธรรมจักร นี้เป็นชื่อแห่งเทศนาญาณบ้าง แห่งปฏิเวธญาณบ้าง ใน ๒ อย่างนั้น เทศนาญาณเป็นโลกียะ ปฏิเวธญาณเป็นโลกุตตระ

    ถามว่า เทศนาญาณ ปฏิเวธญาณ เป็นของใคร

    แก้ว่า ไม่ใช่ของใครอื่น พึงทราบว่า เทศนาญาณและปฏิเวธญาณเป็นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

    สำหรับพระเถระทั้งหลาย ข้อความมีว่า

    พระเถระชื่อว่าย่อมประกาศตามธรรมจักรที่พระศาสดาทรงประกาศไว้ก่อนแล้ว เหมือนเมื่อพระศาสดาเสด็จไปข้างหน้า พระเถระเดินไปข้างหลัง ชื่อว่าเดินตาม พระศาสดานั้นฉะนั้น

    ไม่ใช่ว่าพระเถระทั้งหลายตรัสรู้ธรรมใหม่อื่นแล้วมาแสดง แต่พระเถระทั้งหลายที่เป็นสาวกนั้น ประกาศตามธรรมจักรที่พระศาสดาทรงประกาศไว้ก่อนแล้ว ซึ่งทุกท่านก็กำลังเดินตามพระผู้มีพระภาคเวลาที่ฟังพระธรรม และเข้าใจหนทางที่จะประพฤติปฏิบัติที่จะอบรมเจริญปัญญา

    ถามว่า ประกาศตามอย่างไร

    ตอบว่า ก็พระศาสดาเมื่อทรงแสดงว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สติปัฏฐาน ๔ อะไรบ้าง ชื่อว่าทรงประกาศธรรมจักร

    พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระนั่นแล เมื่อแสดงว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ชื่อว่าย่อมประกาศตามซึ่งธรรมจักร แม้ในสัมมัปปธานเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน มิใช่แต่ในโพธิปักขิยธรรมอย่างเดียว

    แม้ในคำว่า ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจจ์ ๔ เหล่านี้ อริยวงศ์ ๔ เหล่านี้เป็นต้น ก็พึงทราบนัยนี้เหมือนกัน

    ด้วยประการดังกล่าวนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่าทรงประกาศธรรมจักร พระเถระชื่อว่าประกาศตามพระธรรมจักรที่พระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว

    ก็พระธรรมอันพระเถระผู้ประกาศตามธรรมจักรอย่างนี้ แสดงแล้วก็ดี ประกาศแล้วก็ดี ย่อมชื่อว่าเป็นอันพระศาสดาทรงแสดงแล้ว ประกาศแล้วทีเดียว

    คือ ไม่ว่าใครจะประกาศ ก็เหมือนพระผู้มีพระภาคนั่นเองกำลังประกาศ เพราะแม้สาวกจะประกาศ ก็ประกาศตามที่ได้ทรงแสดงแล้ว เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ถ้าใครจะกล่าวถึงเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ลักษณะของโลภะ โทสะ ลักษณะของรูป ของสี ของกลิ่น ของรส ก็เหมือนกับพระผู้มีพระภาคนั่นเองทรงแสดงและประกาศแล้วทีเดียว

    ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณีก็ตาม อุบาสก อุบาสิกาก็ตาม เป็นเทพหรือเป็นท้าวสักกะก็ตาม เป็นมารหรือเป็นพรหมก็ตาม แสดงธรรมไว้ ธรรมทั้งหมดนั้น เป็นอันชื่อว่าพระศาสดาทรงแสดงแล้ว ทรงประกาศแล้ว

    ส่วนชนนอกนั้น ชื่อว่าตั้งอยู่ในฝ่ายของผู้ที่ชื่อว่าดำเนินตามรอยอย่างไร เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายอ่านลายพระราชหัตถ์ที่พระราชาทรงประทาน แล้วกระทำงานใดๆ งานนั้นๆ อันผู้ใดผู้หนึ่ง กระทำเองก็ดี ให้คนอื่นกระทำก็ดี เขาเรียกว่า พระราชาใช้ให้ทำอย่างนั้นเหมือนกัน

    ความจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนพระราชา พุทธพจน์คือปิฎก ๓ เหมือนลายพระราชหัตถ์ การให้โดยมุขคือนัยในพระไตรปิฎก เหมือนการทรงประทานลายพระราชหัตถ์ การให้บริษัท ๔ เรียนพุทธพจน์ตามกำลังของตนแล้วแสดง ประกาศแก่ชนเหล่าอื่น เหมือนอ่านลายพระราชาหัตถ์แล้วทำการงาน

    ในธรรมเหล่านั้น ธรรมที่ผู้ใดผู้หนึ่งแสดงก็ดี ประกาศก็ดี พึงทราบว่า ชื่อว่า ธรรมอันพระศาสดาแสดงแล้ว ประกาศแล้ว เหมือนผู้ใดผู้หนึ่งอ่านลายพระราชหัตถ์ ทำงานใดๆ ด้วยตนเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นทำก็ดี งานนั้นๆ ชื่อว่าอันพระราชาใช้ ให้ทำแล้วเหมือนกัน

    ถ. การที่เราฟังธรรม มีความเข้าใจ ได้เหตุปัจจัยในการเจริญสติปัฏฐาน ก็ถือว่าได้เดินตามพระธรรมจักรแล้ว ถูกไหม

    สุ. ใช่

    ถ. สำหรับเรื่องธรรมจักร ฟังแล้ว ก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง ระลึกรู้ สภาพธรรมตามความเป็นจริงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    สุ. ความปรารถนาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แม้ของพระโพธิสัตว์ ก็ต้อง เริ่มจากความปรารถนาอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น ทุกท่านต้องมีความปรารถนาจริงๆ ในชีวิตที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม มิฉะนั้นแล้วก็เหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ คือ มีชีวิตไป วันหนึ่งๆ โดยไม่รู้จุดประสงค์ของชีวิตว่าเพื่ออะไร แต่เมื่อรู้ว่าเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็จะไม่ทอดทิ้งละเลยเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ธาตุวิภังคสูตร มีข้อความที่แสดงว่า สัจจะเป็นแกนสำคัญ เป็นบารมีในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะว่าเป็นความจริงใจในการเริ่มสละกิเลสตั้งแต่ต้น

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    บทว่า สจฺจมนุรกฺเขยฺย ความว่า พึงรักษาวจีสัจจะตั้งแต่ต้น เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะ คือ นิพพาน

    จิตที่ซื่อตรงจริงใจต่อวาจาจริง ย่อมนำไปสู่ความจริงทั้งหมด เพราะว่า ผู้ที่รักความจริงเป็นผู้ที่แสวงหาความจริง จึงต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในความจริงตั้งแต่ต้น

    อย่างที่ท่านผู้ฟังบอกว่า ข้อปฏิบัติอื่นน่าตื่นเต้น แต่ข้อปฏิบัติที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติขณะนี้ไม่ตื่นเต้นอะไร ก็จะต้องเป็นผู้ที่แสวงหาความจริง เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จริง แต่ปัญญายังไม่รู้ตาม ความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

    บทว่า จาคมนุพฺรูเหยฺย ความว่า พึงพอกพูนการเสียสละกิเลสตั้งแต่ต้นเทียว เพื่อทำการสละกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค

    ธรรมต้องสอดคล้องกันตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ผู้ที่ต้องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อย่าลืม ต้องเป็นผู้สละกิเลส ถ้ายังไม่ยอมสละอะไรเลยสักอย่าง และอยากรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ย่อมไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ต้องเห็นโทษของกิเลส และพยายามสละกิเลสด้วย เพราะว่าการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเริ่มโดยการเป็น พระโสดาบันบุคคล สู่การเป็นพระสกทาคามีบุคคล สู่การเป็นพระอนาคามีบุคคล สู่การเป็นพระอรหันต์ซึ่งดับกิเลสหมด

    และการที่กิเลสจะดับหมดได้ ต้องจากการเริ่มสละตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงไหน ยังไม่เป็นอะไร แต่สามารถตระเตรียมการที่จะถึงความเป็น พระอรหันต์ที่จะดับกิเลสหมด โดย พอกพูนการเสียสละกิเลสตั้งแต่ต้นเทียว คือ ต้องเริ่มต้นสละกิเลสไปเรื่อยๆ

    บางท่านอยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ไม่อยากสละกิเลส เหตุกับผล ไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้น ก็เป็นไปไม่ได้เลย

    สัจจะที่ถูกต้อง ต้องเป็นไปในกุศล ต้องเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เป็นไปในความงมงาย ในความลุ่มหลง หรือไม่ใช่เป็นไปในเรื่องของอกุศล เพราะว่าสัจจะที่จะเป็นบารมี ต้องเป็นไปในการเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ถ้ามีสัจจะในทางที่เป็นอกุศล ยังคงต้องรักษาสัจจะนั้นต่อไปไหม ต้องพิจารณา เรื่องอกุศลเป็นเรื่องที่ยิ่งออกไปได้เร็วเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น อย่าไปเกรงกลัวว่าจะไปมีสัจจะในทางอกุศล จะไม่ทำตามสัจจะนั้นไม่ได้ ต้องพิจารณาว่า สัจจะนั้นเป็นอกุศล หรือเป็นกุศล ถ้าเป็นอกุศล ต้องกล้าออกจากอกุศลอย่างเร็วที่สุดด้วยความไม่ประมาท เพราะถ้าช้าจะทำให้ออกจากอกุศลนั้นยากขึ้น จนในที่สุดอาจจะสายเกินไปที่จะ ออกจากอกุศลนั้นได้ และอาจจะเป็นอย่างนี้ทุกๆ ชาติ

    มีไหม ท่านที่เคยมีสัจจะในทางอกุศล ต้องรีบออกจากสัจจะในทางที่เป็นอกุศล และเจริญกุศล

    บางท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังว่ามีบางสำนักบอกว่า ต้องนับถืออาจารย์ สำนักนั้นอาจารย์เดียวเท่านั้น และให้สัจจะว่า ต้องมีความนับถือในอาจารย์นั้นอาจารย์เดียว แต่ถ้าไม่ได้เกิดความรู้ความเข้าใจจากอาจารย์หรือสำนักนั้น และ จะมีสัจจะอย่างนั้น เป็นการถูกต้องไหม ไม่ใช่เพียงแต่นับถือ ยังต้องประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นเรื่องของความไม่ถูกต้อง ไม่ใช่สัจจบารมี

    ถ. สัจจะอย่างที่อาจารย์ว่ามีปรากฏแล้วทางภาคตะวันออก เป็นข่าวทางวิทยุโทรทัศน์ บอกว่า ถ้าจะบวชกับท่านต้องมีสัจจะ คือ ต้องตัดนิ้วสักนิ้วหนึ่งก่อน เพื่อตั้งสัจจะว่า จะบวชที่นี่และจะปฏิบัติสมณธรรม

    สุ. ถ้าไม่ใช่เรื่องการเจริญกุศล การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่สัจจบารมี

    พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่จริงใจต่อการอบรมเจริญบารมีเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จนในที่สุดทรงรู้แจ้งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุ คือ พระองค์ทรงมีอุปการะอย่างยิ่งยวดในหมู่สัตว์ และเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงประกอบด้วยพระคุณสูงสุดกว่าสรรพสัตว์ จึงทรงประกอบด้วยเสียงสรรเสริญสดุดีที่ไพบูลย์ยิ่งและบริสุทธิ์ยิ่งในไตรโลก และทรงมีผู้ภักดีต่อพระองค์อย่างจริงใจ

    ท่านผู้ฟังก็คงจะเห็นการกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ๒,๕๐๐ กว่าปีในโลกมนุษย์ ในเทวโลก ในพรหมโลก เป็นคำสดุดีสรรเสริญอย่างไพบูลย์ยิ่งและบริสุทธิ์ยิ่ง ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงมีอุปการะอย่างยิ่งยวดในหมู่สัตว์ และเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นผู้มีผู้ที่ภักดีต่อพระองค์ อย่างจริงใจ

    ความภักดีในพระผู้มีพระภาค เป็นความภักดีของผู้เลื่อมใสมั่นคงยิ่ง ซึ่งใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อรรถกถาโลภสูตร มีข้อความว่า

    ... ความภักดีของบุคคลเหล่านั้น อันใครๆ จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร หรือพรหม ก็ลักไปไม่ได้

    เป็นความจริง บุคคลผู้ภักดีเหล่านั้น แม้ตนเองจะต้องเสียชีวิต ก็จะไม่ยอมทิ้งความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า หรือคำสั่งสอนของพระองค์ ก็เพราะต่างมีความภักดีอย่างมั่นคง ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ผู้ใดแลเป็นบัณฑิต เป็นผู้กตัญญูกตเวที ผู้นั้นย่อมเป็นกัลยาณมิตรและ มีความภักดีอย่างมั่นคง

    พิจารณาจิตใจของทุกท่านได้ว่า มีความภักดีของพระผู้มีพระภาคอย่างจริงใจ โดยไม่มีใครบังคับ

    ผู้ใดก็ตามที่มีความศรัทธา มีความเลื่อมใสในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าบุคคลอื่นจะพยายามเปลี่ยนความศรัทธาหรือความภักดี ของท่าน ท่านก็ไม่เปลี่ยนตราบจนสิ้นชีวิต เพราะว่าแต่ละบุคคลที่มีศรัทธามั่นคง ในพระรัตนตรัยแล้ว จะเป็นผู้ที่มีความภักดีต่อพระผู้มีพระภาคจนตลอดชีวิต ซึ่งจะ เห็นได้ว่า ไม่มีใครอีกแล้วที่จะได้รับความภักดียั่งยืนนานเท่าพระผู้มีพระภาค เพราะว่าความภักดีที่มีต่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นชั่วขณะ ชั่วกาล บางครั้ง ก็มาก บางครั้งก็น้อย บางครั้งก็ยาวนาน บางครั้งก็ชั่วเวลาไม่นาน แต่ความภักดีต่อ พระผู้มีพระภาคสำหรับพุทธบริษัท จะเห็นได้ว่า ทุกวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ มีการสวดมนต์ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ตั้งแต่เด็กจนโต จนตาย

    แสดงให้เห็นถึงพระคุณที่ทุกคนได้ประจักษ์ในความจริงใจที่พระผู้มีพระภาค ทรงอบรมเจริญบารมีเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และทรงมีอุปการะอย่างยิ่งยวดใน หมู่สัตว์ และเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

    พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า ภควา เพราะทรงมีคนภักดีอย่างมั่นคง เพราะพระองค์ทรงมีปกติแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ทั้งนี้เพราะ พระมหากรุณาบารมีที่ทรงใคร่ครวญที่จะทรงแสดงธรรมให้สัตว์ทั้งหลายบรรลุถึง ความมั่นคงในศีล ในสมาธิที่สงบจากกิเลส และในปัญญา พระองค์จึงทรงได้รับ ความภักดีอย่างจริงใจจากพุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ทรงได้รับความภักดี โดยมอบถวายปัจจัยไทยธรรมทุกสิ่ง ทั้งดอกไม้ ธูปเทียน ของหอม เครื่องสักการบูชา

    แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีความจริงใจ มีสัจจะ มีการแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์โลก เป็นผู้ที่ดับกิเลสหมด เพราะฉะนั้น ผู้อื่นย่อมสามารถเห็นพระมหากรุณาและพระปัญญาของพระองค์ได้ จึงมีความภักดีต่อพระองค์ โดยไม่มีใครมีผู้ที่ภักดีต่อเท่ากับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ก็น่าคิดว่า ท่านผู้ฟังภักดีต่อพระรัตนตรัยจริงๆ หรือว่า ภักดีต่อภิกษุบุคคล นี่ต้องคิด เพราะถ้าเป็นการภักดีต่อพระรัตนตรัยแล้ว ก็ต้องศึกษา เข้าใจพระธรรม และอบรมเจริญปัญญา เพื่อละคลายอกุศลของตนเอง

    แต่ถ้าภักดีต่อภิกษุบุคคล ซึ่งไม่ทำให้เข้าใจพระธรรม และไม่สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ การภักดีต่อบุคคลอื่นหรือแม้ภิกษุบุคคลนั้น ก็เพียงเพื่อหวังลาภบ้าง ยศบ้าง ตำแหน่งบ้าง แต่ไม่สามารถเกิดปัญญาที่จะทำให้เข้าใจในพระรัตนตรัยได้

    นี่เป็นความต่างกัน ความภักดีต่อพระรัตนตรัยกับความภักดีต่อภิกษุบุคคล ซึ่งไม่ทำให้เข้าใจพระธรรม อาจจะเพียงทำให้เกิดลาภบ้าง ยศบ้าง หรือสักการะ หน้าที่ตำแหน่งการงานต่างๆ บ้าง

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีข้อความว่า

    ความเป็นผู้ฉลาดในอุบายทำประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าปฏิบัติ ด้วยปัญญา การไม่ล่อลวงทำอุปการะสมาทานและไม่พูดผิดจากความจริงเป็นต้น แก่สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติด้วยสัจจะ

    นี่คือปฏิปทาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ความเป็น ผู้ฉลาดในอุบายทำประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย

    ประโยชน์ที่นี่ ไม่ใช่ให้เกิดโลภะ แต่เพื่อละคลายโลภะ และชี้ให้เห็นโทษของอกุศล และแสดงหนทางที่จะทำให้กุศลเจริญขึ้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นการไม่ล่อลวง แต่เป็นการทำอุปการะ สมาทาน และไม่พูดผิดจากความจริง ชื่อว่าปฏิบัติด้วยสัจจะ

    บางท่านแม้จะรู้ว่าข้อปฏิบัตินั้นไม่ทำให้ปัญญาเกิด แต่เมื่อหมู่คณะปฏิบัติ ก็ปฏิบัติตาม หรือเพื่อนฝูงชักชวนก็กระทำตาม เพราะว่าผู้ที่แสดงหนทางข้อปฏิบัตินั้นเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง หรือมีคนนับถือยกย่อง เพราะฉะนั้น เมื่อมีเพื่อนฝูงมิตรสหาย ที่มีความเห็นอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้นว่า ปฏิบัติแล้วจะทำให้เกิดปัญญา แม้จะพิจารณาเห็นว่าไม่ได้ทำให้เกิดปัญญาแต่ก็ยังตามไปปฏิบัติก็มี ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่า ถ้าไม่จริงใจต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว ย่อมมีความพอใจในลาภบ้าง ในยศบ้าง ในชื่อเสียงบ้าง และจะไปสู่ข้อปฏิบัติซึ่งไม่ทำให้ละกิเลส

    ถ้ามีผู้บอกว่า ปฏิบัติเลย ไม่ต้องศึกษา ไม่ต้องเข้าใจอะไรเลย กับมีผู้ที่บอกว่า ให้ศึกษาเข้าใจก่อน และควรพิจารณาว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลที่ถูกต้อง จะเชื่อใคร

    ต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยตนเอง และถ้าจะเชื่อใคร ก็ต้องพิจารณาว่า เพราะอะไร เพราะว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีชื่อเสียง หรือบุคคลนั้นเป็นผู้มีเหตุผลสามารถ ทำให้เข้าใจพระธรรมได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๖ ตอนที่ ๑๙๕๑ – ๑๙๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    28 ธ.ค. 2564