แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1973


    ครั้งที่ ๑๙๗๓


    สาระสำคัญ

    ความต่างกันของปัญญาขั้นฟัง กับปัญญาขั้นสติที่ระลึก

    จงกรม หรือ จังกัมม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๓๓


    สุ. การประจักษ์แจ้งการเกิดดับต้องเป็นอุทยัพพยญาณ ซึ่งหลังจากที่อบรมเจริญสติปัฏฐานและวิปัสสนาญาณขั้นต้นๆ คือ นามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว ปัจจยปริคคหญาณเกิดแล้ว สัมมสนญาณเกิดแล้ว สติสัมปชัญญะสลับตามปกติ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นการแสดงว่า ไม่มีความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางเลย อุทยัพพยญาณจึงเกิดได้ ไม่ใช่เพียงการไปจ้องด้วยความต้องการ และคิดว่าจะประจักษ์การเกิดดับ เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟัง การพิจารณาในเหตุผล และการอดทนจริงๆ

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดบ่อยๆ เสมอๆ ว่า การรู้ลักษณะสภาพธรรมต้องรู้ให้ทั่วๆ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ธรรม คือ เมื่อเรารู้ทั่วขึ้น บ่อยๆ เนืองๆ ขึ้น เราจะเห็นความแตกต่างของแต่ละทวารมากขึ้น ถ้ายังไม่ทั่วจะไม่เห็นความแตกต่างของแต่ละทวารเลย เพราะฉะนั้น การพูดเรื่องสติปัฏฐาน ตลอดเวลาที่อาจารย์พูดมาตั้งแต่เริ่ม ก็เกิดประโยชน์ขึ้นมาในระหว่างนั้น ที่ว่ารู้ทั่วๆ ทุกทวาร จะทำให้รู้ลักษณะของแต่ละทวารบ่อยขึ้น มากขึ้น เมื่อบ่อยขึ้น มากขึ้น ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้เกิดการละ เกิดการที่จะละคลายสภาพธรรมต่างๆ เหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งทีละเล็กทีละน้อยอย่างนั้นจริงๆ

    สุ. ต้องค่อยๆ คลาย ไม่ติดข้องในนามธรรมใดรูปธรรมใดทั้งสิ้น ก่อนที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น ต้องเป็นความสมบูรณ์ของปัญญา ถ้าไม่ใช่ความสมบูรณ์ของปัญญา ก็เลิกคิดเลิกหวังที่จะไปทำหนทางใดๆ ที่ทำให้ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดดับอยู่

    การที่จะให้สติปัฏฐานเกิด ไม่ใช่การใช้วิธีหนึ่งวิธีใด นอกจากการฟังพระธรรม ความเข้าใจในพระธรรม และการเห็นประโยชน์ในพระธรรม เป็นสังขารขันธ์ที่จะ ปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดระลึก แล้วแต่ว่าจะลักษณะของนามธรรมใดรูปธรรมใด

    ถ. สติปัฏฐานที่จะเกิดหรือที่จะระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ ท่านอาจารย์ได้พูดถึงว่า เวลาโกรธ หรือเวลาร้อน เวลาหนาว เวลาหิว เวลากระหายอย่างนี้ ที่ไม่เป็นสติปัฏฐานเพราะเราไปคิดว่า เราโกรธ เราหิว เรากระหาย เรายืน เราเดิน เรานั่ง เรานอน อย่างนั้นใช่ไหม

    สุ. ธรรมดาเรื่องของความคิด เราคงไม่ไปนั่งคิดว่า เป็นเรา ถูกไหม แต่อนุสัยกิเลสที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรามีอยู่

    ถ. เป็นเราโดยไม่ต้องคิด และที่จะเป็นสติปัฏฐานต้องรู้อย่างไร

    สุ. หมายความว่า ฟังมา ใช่ไหม เข้าใจว่าลักษณะที่โกรธเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เวลาที่สติปัฏฐานเกิดก็คือขณะนั้นมีลักษณะสภาพธรรมปรากฏให้เข้าใจ ตรงตามนั้น เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับปัญญาของบุคคลนั้นว่าจะเข้าใจตรงตามนั้น หรือเปล่าว่า ลักษณะที่โกรธเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าขณะนั้นมีความเข้าใจว่า ลักษณะที่โกรธเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นคือสติสัมปชัญญะ เป็นสติปัฏฐาน เพราะว่ามีความโกรธกำลังปรากฏให้เข้าใจ ให้รู้ตามความเป็นจริง

    ถ. แต่ไม่ได้แยกเลย

    สุ. ต้องอบรมเจริญไปทุกครั้งที่โกรธ ทุกครั้งที่เห็น

    ถ. นึกว่าโกรธกับเรานี่อันเดียวกัน ไม่ได้แยกว่าความโกรธเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เวลาโกรธก็เราโกรธ ไม่ได้คิดว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อไม่แยก โอกาสที่สติปัฏฐานจะเกิดก็คงมีไม่ได้

    สุ. ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมจึงต้องละเอียด มิฉะนั้นแล้วถ้ามีคนตอบว่า โกรธไหม บอกว่าโกรธ ก็คล้ายๆ กับผู้นั้นรู้ตัวว่าโกรธ จึงเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นสติสัมปชัญญะ ซึ่งความจริงทุกคนรู้เวลาที่โกรธ แต่ในขณะนั้นที่ฟังมาว่า โกรธเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เอาไปไว้ที่ไหน ตอนฟังนี่เข้าใจ แต่เวลาโกรธก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ลักษณะที่โกรธปรากฏให้รู้ ถ้าสติเกิด ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่สามารถเข้าใจและรู้ว่า ลักษณะอาการโกรธในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือการที่จะต้องชิน กับลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ความรู้ความเข้าใจจากการฟังทั้งหมดแต่ละวันจะเป็นสังขารขันธ์ทำให้ขณะที่มีการระลึกได้ เริ่มเข้าใจ ต้องใช้คำว่า เริ่มเข้าใจ ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ เพราะว่าสะสมการที่ไม่เคยรู้ลักษณะของสภาพธรรมมานานแสนนาน และความรู้ขั้นการฟังก็เพียงเข้าใจขั้นฟังเท่านั้น แต่เวลาที่สภาพธรรมเกิด ไม่ได้เข้าใจอย่างนั้นเลย

    ด้วยเหตุนี้การอบรม การปฏิบัติ ก็คือ ในขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ และเวลาที่ สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้น สติระลึกในขณะนั้นจึงเข้าใจ แต่ต้องมีพื้นฐานจากความเข้าใจจากขั้นการฟังก่อน

    ถ. โดยมากจะอยู่แค่การฟัง เข้าใจแค่การฟัง

    สุ. ผู้นั้นก็ทราบว่า นั่นคือความเข้าใจขั้นการฟัง แต่ยังไม่เข้าใจจริงๆ ตอนที่สภาพธรรมปรากฏ

    ถ. เวลาธรรมเกิดจริงๆ ไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจสติต้องระลึกได้ ที่ส่วนใหญ่บอกว่า เข้าใจๆ เป็นความเข้าใจตามที่ได้ฟังมาเทานั้น จำได้เท่านั้น อย่าง เดินก็ดี ยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี กินก็ดี พูดก็ดี คิดก็ดี มีใครบ้างที่ไม่รู้ ทุกคนรู้ทั้งนั้น เดินเขาก็รู้ว่าเขาเดิน นั่งเขาก็รู้ว่าเขานั่ง นอนเขาก็รู้ว่าเขานอน อย่างนี้ท่านบอกว่า เป็นสติปัฏฐาน เป็นความเข้าใจขั้นฟังมาเท่านั้นเองว่า เดินรู้ว่าเดิน นั่งรู้ว่านั่ง เราฟังมาเข้าใจอย่างนี้ แต่ไม่ได้เข้าใจขณะนั้นที่ธรรมเกิดจริงๆ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้

    สุ. ขออนุโมทนาที่เห็นความต่างกันของปัญญาขั้นฟัง กับปัญญาที่จะต้องอบรม ซึ่งต้องอาศัยขั้นการฟังจริงๆ อย่างมาก

    ถ. การอบรมเจริญปัญญาขั้นเข้าใจขณะที่สภาพธรรมปรากฏเป็นเรื่องยากจริงๆ เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจขณะสภาพธรรมที่ปรากฏ เข้าใจโดยการฟังพอจะเข้าใจ แต่ที่จะเข้าใจในขณะที่สภาพธรรมปรากฏที่จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ ยากมาก

    สุ. ต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ ถ้าฟังเรื่องนามธรรมรูปธรรมเดือนหนึ่งไม่กี่ครั้ง อาทิตย์หนึ่งไม่กี่ครั้ง และจะให้มีความรู้ความเข้าใจในขณะที่กำลังเห็น หรือกำลัง ได้ยิน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ทุกท่านต้องเป็นพหูสูต คือ ฟังมาก ซึ่งบางท่านก็สงสัยว่าจะต้องฟังสักแค่ไหน พระไตรปิฎกกี่ปิฎก หรืออรรถกถาอย่างไร

    ไม่ต้องนับ แต่ในขณะที่ฟัง มีการพิจารณาอย่างแยบคายที่จะทำให้เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม และเมื่อมีความเข้าใจละเอียดขึ้นก็ทำให้มีการระลึกได้ว่า สภาพธรรมเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะที่กำลังเห็น ค่อยๆ เกิด ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เจริญขึ้น นี่คือความหมายของปฏิบัติ หรือภาวนา

    ถ. สติปัญญาที่ไม่ก้าวหน้า ไม่เจริญ ติดอยู่ที่แค่ความเข้าใจขั้นการฟัง

    สุ. ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่รู้ตัวตามความเป็นจริงว่า ปัญญาของแต่ละบุคคล หรือของท่านเองขั้นไหน และปัญญาที่ค่อยๆ ก้าวไปทีละน้อยๆ ผู้นั้นก็รู้อีกว่ามาจากไหน มาจากการฟัง และสติเกิดใหม่ๆ ระลึก ความเข้าใจก็ยังน้อยเหลือเกินจนเกือบจะสังเกตรู้ไม่ได้ เหมือนกับการจับด้ามมีด และค่อยๆ อบรมไป เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ ก็รู้ว่า นี่เป็นหนทางอบรมเจริญภาวนา ไม่ใช่ทางอื่น ถ้าทำทางอื่น หนทางอื่น ข้อปฏิบัติอื่น ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาแน่นอน

    ถ. คงต้องติดตามจริงๆ ทำเล่นๆ ไม่ได้

    สุ. หมายความว่า ไม่ใช่เป็นผู้ทอดทิ้งหรือละเลย

    ถ. ต้องมีวิริยะ แต่ไม่ใช่ไปนั่งเพียร นอนเพียร ต้องสนใจใฝ่ใจจริงๆ ไม่ใช่ฟังๆ ไป รู้ก็รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้ ตามบุญตามกรรม

    สุ. เมื่อมีศรัทธาแล้ว ก็อย่าให้ศรัทธานั้นถอย เป็นเรื่องละเอียดที่ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องละตั้งแต่ต้น ละอย่างไร คือ ไม่ได้กระตุ้นหรือส่งเสริมให้ไปทำอะไรที่ผิดปกติ นี่คือละความต้องการที่จะไปสู่การเข้าใจผิดในการปฏิบัติ เพราะว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ เครื่องพิสูจน์ คือ ปัญญาสามารถรู้ถูกต้องตามความ เป็นจริงไหม ถ้าไม่รู้ และจะไปทำอะไรเพื่อจะรู้ ไม่มีหนทางเลย เพราะว่าปัญญา เป็นเรื่องเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งต้องอาศัยการฟัง เมื่อฟังเข้าใจเรื่องสติสัมปชัญญะ จะทำให้รู้ความต่างกันของปัญญาขั้นฟัง กับปัญญาขั้นสติที่ระลึก และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และแม้ความเข้าใจมีเพียงเล็กน้อย ก็ไม่มีการกระตุ้นให้ไปแสวงหา หรือไปทำอย่างอื่นขึ้นมาให้มาก เพราะนั่นก็ไม่ใช่หนทาง

    หนทางจริงๆ คือ อดทน เริ่มเข้าใจความหมายของขันติคือตบะอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรที่จะอดทนเท่ากับการที่ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ใช่อยากจะเป็นพระโสดาบัน หรืออยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อยากจะให้วิปัสสนาญาณเกิด ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องอยากโดยที่ไม่รู้ว่า เหตุที่จะให้ปัญญาขั้นนั้นเกิดคืออย่างไร แต่ถ้าเป็นการรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง ละความต้องการ เพราะรู้เหตุว่าการที่ปัญญาแต่ละขั้นจะสมบูรณ์ขึ้น ก็เพราะมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม และเวลาใดที่สภาพธรรมปรากฏ สติมีการระลึก ก็จะค่อยๆ รู้ลักษณะของ สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น หนทางที่ถูกเป็นหนทางที่ละโลภะไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เป็นการทำให้โลภะเกิดมากๆ โดยที่ไม่รู้ ถ้าใครเกิดความต้องการ ให้ทราบได้เลยว่า ขณะนั้นหลงลืมสติแล้ว ไม่มีการระลึก ไม่มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ต้องเป็นอย่างนี้ไปทุกชาติ จนกว่าจะเป็นชาติที่เมื่อได้ฟังพระธรรมแม้สั้น แต่ก็สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงกับที่กำลังได้รับฟังธรรมนั้น

    พระ ในชีวิตประจำวันที่เจริญสติปัฏฐาน บางครั้งกิจวัตรประจำวัน เช่น ฉันอาหารบิณฑบาต หรือปัดกวาดเช็ดถูก็ดี บางครั้งรีบเร่งที่จะทำเพื่อไปเดินจงกรม เพื่อต้องการเจริญสติปัฏฐาน ขณะนั้นมีรู้สึกว่ามีความผิดปกติ และมีความเป็นตัวตน อย่างนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือเปล่า

    สุ. ในขณะที่กำลังกวาดเช็ดถู ขณะนั้นเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม ถ้าสามารถรู้ว่า นามธรรมมีลักษณะอย่างไร อย่างไหนเป็นรูปธรรม จะไม่เดือดร้อน ที่จะต้องไปจงกรมเลย เพราะบางท่านเข้าใจว่า การจงกรม คือ การเดิน ในขณะที่กำลังปฏิบัติ

    แสดงให้เห็นว่า ชีวิตไม่เป็นปกติเลย เพราะว่าแยกเป็นกำลังปฏิบัติ กับไม่ได้กำลังปฏิบัติ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะว่าการปฏิบัติไม่ใช่เราจะทำ

    ขณะใดที่สติสัมปชัญญะระลึกได้ว่า เคยได้ยินได้ฟังธรรม เคยเข้าใจมาแล้ว และขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ขณะก่อนหลงลืมสติ แต่ขณะนี้สติเกิด ไม่มีใครไปทำสติเกิด เหมือนกับไม่มีใครทำเห็น ทำได้ยิน ในขณะนี้เลย

    สติจะเกิดก็เพราะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนามธรรมและรูปธรรม เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้มีการระลึก และค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่มีการรีบเร่งทำอะไรให้เสร็จและจะไปทำอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นการปฏิบัติธรรม

    สำหรับท่านพระภิกษุท่านคงเข้าใจความหมายของจงกรม หรือ จังกัมมะ แต่สำหรับคฤหัสถ์ที่ได้ยินคำนี้ใหม่ๆ และยังไม่เข้าใจความหมายนั้นจริงๆ อาจจะเข้าใจผิดคิดว่า การจงกรมเป็นการเดินลักษณะพิเศษในขณะที่กำลังปฏิบัติ แต่ความหมายของจังกัมมะ หมายความถึงการก้าวไปตามลำดับ

    ก้าวไปตามลำดับ ก็คือการเดินนั่นเอง และสำหรับการเดินในชีวิตประจำวันของผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ย่อมเป็นผู้มีปกติที่จะระลึกลักษณะของ สภาพนามธรรมและรูปธรรม ไม่ว่าในขณะที่นั่ง ในขณะที่นอน ในขณะที่ยืน ในขณะที่เดิน และการเดินเป็นอิริยาบถที่มีประโยชน์มาก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอานิสงส์ของการเดิน ซึ่งทุกท่านก็คงจะทราบว่า การเดินเป็นการออกกำลัง การเดินมีประโยชน์ต่อร่างกาย คนที่เดินมากๆ จะเป็นผู้ที่แข็งแรง และสำหรับผู้นั่งมากก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถ ด้วยเหตุนี้จังกัมมะก็คือการเดินเปลี่ยนอิริยาบถ เวลาที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดนั่ง หรืออยู่ในอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใดนาน อาจจะนั่งหรือนอนก็ตาม

    ถ. หนูเคยไปเดินจงกรม หลวงพ่อท่านสอนให้กำหนดจิตที่เท้าในขณะที่ย่างว่า ซ้ายย่างหนอ ให้สติอยู่ที่เท้าว่า ซ้ายกำลังย่าง หรือขวากำลังย่าง ไม่ให้จิตไปกำหนดที่อื่น ถ้าจิตไปกำหนดที่อื่นก็ให้ไปกำหนดตามรู้ทันว่า เวลานี้จิตไปกำหนด ที่ไหน และให้ระลึกว่า รู้หนอ เมื่อสภาพนั้นหายไปก็ให้มากำหนดที่เท้าอีกว่า ซ้าย ย่างหนอ ขวาย่างหนอ สลับกับนั่งกำหนด พองหนอ ยุบหนอ ในขณะที่นั่งกำหนด ยุบหนอ พองหนอนั้น สภาพธรรมต่างๆ เกิดขึ้น คือ มีอาการทุรนทุราย บางทีขณะที่กำหนดพองนั้นยุบ กำหนดยุบนั้นพอง เพราะจิตมักจะนึกไปต่างๆ บางครั้งได้ยินเสียง หลวงพ่อท่านก็สอนให้กำหนดว่า รู้หนอ หรือได้ยินหนอ

    หนูไปรักษาศีล ๘ มา ๗ วัน กำหนดอย่างนั้นอยู่ ๕ วัน มีความทุรนทุรายมาก ในวันที่ ๕ หนูนั่งอยู่เป็นเวลาชั่วโมงเศษ เกิดความทุกข์เจ็บปวดและเหน็บชา ขณะนั้นมีความรู้สึกเหมือนใจจะขาด เพราะไม่กระดุกกระดิกร่างกาย คิดว่าจะทนเพื่อต้องการรู้ว่า จะได้อะไรขึ้นมาหลังจากนั่งมาเป็นเวลาชั่วโมงกว่า และความทุกข์ต่างๆ นั้น ปวดมากมาย พอทุกข์ถึงที่สุดเหมือนจะสิ้นชีวิต หนูก็มีความรู้สึกว่า ร่างกายนี้หายไปคือ เบามาก และมีความรู้สึกว่า ชีวิตนี้มีเพียงสิ่งที่ละเอียดมากและเบามาก ขณะนั้นมีความสุข ความทุกข์ต่างๆ หายไปหมด อยากถามอาจารย์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น คืออะไร

    สุ. ถ้าถามอย่างนี้ หมายความว่าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาของตนเองแน่นอน เพราะว่าไม่รู้ สิ่งนั้นคืออะไรก็ไม่รู้ ไปทำตั้ง ๗ วัน ผลคือสิ่งนั้นคืออะไรก็ไม่รู้

    ถ. ขณะนั้นมีความทุกข์มาก และอยู่ดีๆ ความทุกข์นั้นก็หายไป

    สุ. ความทุกข์นั้นเกิดจากอะไร

    ถ. นั่งนาน ความทุกข์เกิดจากขาเป็นเหน็บชาและปวดมาก เหมือนกับว่าทุกข์ถึงที่สุดแล้ว

    สุ. ทำให้ทุกข์ใหญ่โต จะได้เห็นทุกข์ที่ใหญ่โต แต่ขณะนี้ไตรลักษณะของสังขารธรรมหรือสังขตธรรม ทุกอย่าง อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นชั่วขณะและดับไป อย่างรวดเร็ว ทุกข์นี้ต้องปัญญาจึงจะประจักษ์แจ้งได้ ถ้าเป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของทุกข์นี้จะไม่มีคำถามเลยว่านี่อะไร เพราะว่าปัญญาต้องเริ่มตั้งแต่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติที่กำลังเห็นขณะนี้ ไม่ใช่ตัวตนแล้วเป็นอะไร

    ลักษณะที่เห็น อาการเห็น มีจริงๆ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริงๆ เมื่อไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เคยเห็นเป็นคน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ตั้งหลายสิบปี ตั้งแต่เกิดมาแล้วจะบอกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วเป็นอะไร ปัญญาต้องสามารถเข้าใจ รู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม แต่ละอย่างในขั้นของการฟังให้เข้าใจก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปกำหนดไว้ตรงเท้า ตรงตา ตรงหู ซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ผลคือไม่รู้ และต้องถามว่า นั่นคืออะไร

    ปกติธรรมดาอย่างนี้ ก็มีทุกข์อยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำทุกข์ใหญ่ๆ โตๆ ทุรนทุรายแทบจะขาดใจ และปรากฏว่าเกิดความสุขขึ้นมา พอใจในความสุขนั้น แต่ผลก็คือว่า ไม่รู้อะไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๘ ตอนที่ ๑๙๗๑ – ๑๙๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 147
    28 ธ.ค. 2564